รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ว่าด้วยคำบอกหน้าพาทย์แผลง


จาก คำบรรยายวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย โดย นายบุญธรรม ตราโมท พ.ศ.๒๔๘๑

อันคำบอกหน้าพาทย์แผลงนี้ คนเจรจาโขนและหนังใหญ่ในสมัยก่อนได้นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งแทนที่จะบอกปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์อะไรตรงๆ ก็แผลงบอกเสียอีกอย่างหนึ่งเพื่อลองเชาว์นักปี่พาทย์อีกชั้นหนึ่ง คำแผลงที่บอกนี้ มิได้แผลงด้วยตัวอักษรดังคำแผลงในอักษรศาสตร์ เป็นการแผลงด้วยคำต่อคำทีเดียว มีหลักอยู่ที่จะให้ความหมายของคำแผลงนั้นตรงกับชื่อหน้าพาทย์เท่านั้น ที่จริงก็เป็นคำบอกใบ้เรานี่เอง
สมัยก่อนๆ ถ้าผู้ใดทำให้ปี่พาทย์จนเพลงได้มากเท่าใด ก็มักจะเห็นกันว่าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยความรู้ความสามารถมากเท่านั้น ทั้งดูเหมือนจะเป็นที่น่าเกรงขามของบรรดาหมู่นักปี่พาทย์ด้วย ตลอดจนคนร้องส่งก็เช่นเดียวกัน แต่มาสมัยนี้เป็นสมัยที่นิยมความเรียบร้อยและความพร้อมเพรียงเป็นใหญ่ ความเห็นจึงออกจะเป็นไปในทางว่า ผู้ที่ทำให้ปี่พาทย์จนเพลงก็คือผู้นำมาซึ่งความไม่เรียบร้อยของการแสดงนั้น ถ้าเป็นคนร้องส่ง เมื่อร้องไปแล้วปี่พาทย์รับไม่ได้ ตัวผู้ร้องส่งเองก็เคอะเขิน ผู้ฟังก็ไม่ได้ฟังสิ่งที่ไพเราะ ถ้าเป็นคนเจรจา เมื่อบอกหน้าพาทย์ไปแล้ว ปี่พาทย์ทำไม่ได้ตัวโขนหรือหนังก็จะยืนเก้ออยู่โดยไม่มีเพลงที่จะรำ เป็นเครื่องขลุกขลักมาก คนดูก็ชักจะเบื่อ ฉะนั้นการบอกหน้าพาทย์แผลงจึงได้ศูนย์ไปจนเกือบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว จะมีอยู่บ้างก็ในต่างจังหวัดบางจังหวัดเท่านั้น แต่ก็น้อยตามที
อย่างไรก็ตาม การบอกหน้าพาทย์แผลงนี้ ย่อมเป็นการฝึกหัดใช้ความคิดฝึกฝนเชาวน์ให้ว่องไว ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องนำมาซึ่งความเจริญแห่งปัญญาได้อย่างหนึ่ง อันควรรักษาไว้
สี่ศอก – คำแผลงคำนี้ก็ใช้มาตราวัดทางยาขงไทยเรานี้เองเป็นที่ตั้ง คือ ...........๒ คืบ เป็น ๑ ศอก ๔ ศอก เป็น ๑ วา.........ฯลฯ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินคำบอกหน้าพาทย์แผลงว่า ๔ อก ผู้บรรเลงก็ต้องบรรเลงเพลงวา
การบอกคำแผลงให้ทำเพลงวานี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เคยทรงแผลงเป็นกิริยาอีกวิธีหนึ่ง คือเมื่อมีพระราชประสงค์จะให้ปี่พาทย์ทำเพลงวาก็ทรงกางพระพาหาเหยียดตรงออกไปข้างๆ ทั้งสองข้าง แทนที่จะรับสั่งด้วยพระโอษฐ์ เพราะการวัดความยาวของไทยเราในสมัยที่ยังไม่มีไม้วัดที่แน่นอนก็ใช้วิธีวัดด้วยการเหยียดแขนให้ตรงออกไปทั้งสองข้าง และนับจากปลายนิ้วกลางของข้อมือข้างหนึ่งมาถึงอีกข้างหนึ่งเป็นหนึ่งวา ฉะนั้นการที่ทรงแผลงเช่นนี้ ก็เป็นนัยเดียวกันกับคำที่บอกว่าสี่ศอกนั่นเอง
ไม่ได้ไม่เสีย สมัยก่อนนี้บ่อนการพนันโปและถั่วมีอยู่ทั่วๆ ไป แทบทุกหัวระแหง และทุกบ่อนก็มีมหรสพแสดงเป็นประจำอยู่ทุกวัน พวกมหรสพต่างๆ ถึงจะเป็นคนที่ชอบการพนันหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมได้ยินการไต่ถามถึงผลขอๆงการเล่นการพนันมาแล้วเสมอๆ และก็มีคำตอบอยู่ ๓ อย่างเท่านั้นคือได้เท่านั้นเท่านี้ เสียเท่านั้นเท่านี้และไม่ได้ไม่เสีย คำว่าไม่ได้ไม่เสีย หมายถึงว่าได้กับเสียเสมอเท่ากัน จึงนำมาใช้เป็นคำบอกหน้าพาทย์แผลงซึ่งหมายถึงให้ปี่พาทย์ทำเพลงเสมอ
ลูกกระสุน ลูกกระสุนคืออะไร? มีลักษณะอย่างไร? ถ้ามีคำถามเช่นนี้ ทุกท่านคงจะตอบได้ดีว่า ลูกกระสุนคือดินเหนียวปั้นตากแห้ว มีลักษณะกลมรอบตัว ไม่มีเหลี่ยม เมื่อเช่นนั้น คำบอกหน้าพาทย์แผลงที่บอกว่าลูกกระสุนก็คือแทนคำบอกว่ากลมนั่นเอง
ชวย หรือ ทวย เมื่อคนเจรจาบอกหน้าพาทย์ชวย หรือบางคนก็บอกว่าทวย ปี่พาทย์จะต้องทำเพลงเชิดเป็นประเพณีกันมาเช่นนี้ แต่ว่าคำแผลงคำนี้ตีความไม่ออกว่าจะอย่างไร ชวยตาม ปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ แปลว่าลมพัดอ่อนๆ พัดเรื่อยๆ ค่อยๆ ยกย่าง ดูไม่เห็นจะเข้ากันอย่างไรซึ่งจะหมายถึงเชิดได้ และทวยแปลว่าหมู่ เหล่า ไม่เท้าที่รับเต้าบางทีมทำเป็นรูปนาค บางที ก็เรียกว่าคันทวยก็มี ก็เป็นเช่นเดียวกัน หรือจะหมายความถึงการไปเป็นหมวดหมู่ ก็ไม่แน่นัก แม้แต่จะไปคนเดียว หรือรรบกัน ก็บอกชวยหรือทวยให้ทำเชิดได้ อีกประการหนึ่งการบอกหน้าพาทย์แผลงมิได้เอากิริยาของเรื่องมาบอก
ในคำพากย์เบิกหน้าพระของการแสดงหนังใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “พากย์สามตระ” เมื่อจบบทหนึ่งๆ ก็บอก “ทวย” ให้ปี่พาทย์ทำเชิดครั้งหนึ่ง และยังเรียกกันว่า ทวย ๑ ทวย ๒ และทวย ๓ คล้ายกับจะเป็นคำบอกว่าหมวดที่ ๑ – ๒ – ๓ นั้นเอง แต่ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่เรียกว่า ตระ ๑ ตระ ๒ และตระ ๓ เพราะเรียกรวมแล้วว่าพากย์สามตระ ที่เรียกทวย ๑ – ๒ – ๓ ก็หมายความว่า เชิดครั้งที่ ๑ – ๒ – ๓ นั้นเอง แต่ทวยทำไมแปลว่าเชิด เป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่
ข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าเข้าใจว่า คำบอกหน้าพาทย์แผลงให้ทำเพลงเชิดนี้ แต่เดิมคงบอกว่า “ชูไว้” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า “เชิด” และคำว่าชูไว้นี้ถ้าพูดเร็วๆ หรือฟังไม่ถนัดก็ฟังเป็นชวยได้ ผู้ตามหลังต่อๆ มาก็ทึกทักเอาเป็นชวยทีเดียว ซึ่งเข้าใจว่าถูกต้องกว่า จึงยังใช้อยู่ทั้งชวยและทวย ซึ่งก็ไม่ตรงกับคำแผลงเดิมทั้งคู่ ทั้งนี้เป็นแต่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น
แสวงหา การจะไปไหนๆ ถ้าไม่ต้องห่วงอะไรๆ ก็ย่อมไปได้โดยเร็ว แต่ถ้าเมื่อจะไปไหนแล้วยังต้องหาสิ่งโน้นสิ่งนี้อยู่ นุ่งกางเกงแล้วยังหาเข็มขัดไม่พบ แว่นตาอยู่บนหน้าผากเทียวหาในกระเป๋าเสื้อและลิ้นชักโต๊ะ หรือเมื่อเดินไปได้สักหน่อยดุมเชิ้ตหล่นหายเสียแล้วต้องเที่ยวเดินหาอยู่อีก ดังนี้การไปนั้นก็ย่อมช้าเป็นธรรมดาเพราะฉะนั้น เมื่อคำอกหน้าพาทย์แผลงว่าแสวงหา ปี่พาทย์จึงต้องทำเพลงช้า เพลงช้าบางท่านเข้าใจว่าควรจะทำเพลงฉิ่ง แต่การบอกหน้าพาทย์แผลงมิได้เอากิริยาอาการของเรื่องนั้นๆ มาบอกให้ทำหน้าพาทย์ประกอบ เป็นการบอกแผลงให้มีความหมายตรงกับชื่อหน้าพาทย์นั้นต่างหาก
นางพระยาดำเนิน นี่ก็เป็นคำบอกหน้าพาทย์แผลงอีกคำหนึ่งซึ่งประสงค์ให้ปี่พาทย์ทำเพลงช้า เช่นเดียวกับคำว่าแสวงหา คือถือกันว่านางท้าวนางพระยานั้น การที่จะทรงพระดำเนินไปไหนๆ ก็ย่อมไปโดยมารยาทอันแช่มช้า กรีดกราย ถึงแม้จะเสด็จโดยมีขบวนๆ นั้นก็ต้องเดินไปอย่างช้าๆ เพื่อให้สมแก่สภาพแห่งนางกษัตริย์เหตุดังนี้แหละคำที่บอกว่านางพระยาดำเนินจึงหมายถึงเพลงช้า
แม่ลูกอ่อนไปตลาด คำว่าแม่ลูกอ่อนนี้ ทุกท่านคงทราบดีว่าหมายถึงมารดาของเด็กอ่อน อันมารดาของเด็กอ่อนนั้นย่อมมีความห่วงใยในบุตรน้อยๆ ยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่การไปตลสาดเพื่อซื้อหาอาหารมาบริโภคก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นเมื่อแม่ลูกอ่อนจำเป็นต้องไปตลาด ก็จำต้องรีบไปเร็วๆ เมื่อถึงตลาดแล้วก็รีบซื้อโดยมิต้องพิถีพิถันมากนัก ครั้นซื้อเสร็จแล้วก็ต้องรีบกลับดังที่พูดกันเสมอๆ ว่ารีบไปรีบมา ทั้งนี้เพราะความเป็นห่วงบุตรจะหิวโหยหรือร้องไห้ ถ้าจะพูดโดยกิริยาอาการของแม่ลูกอ่อนที่ไปตลาดก็คือไปเร็วมาเร็วนั่นเอง เพราะฉะนั้น คำแผลงหน้าพาทย์นี้ก็หมายถึงให้ปี่พาทย์ทำ เพลงเร็ว ซึ่งเป็นคู่กับคำว่านางพระยาดำเนินที่กล่าวแล้ว
เหลืองอ่อน พอได้ยินคำนี้บางท่านก็คงนึกไปถึงนกขมิ้นทีเดียว เพราะได้ยินร้องส่งกันอยู่เสมอๆ ว่า “นกขมิ้นเหลืองอ่อน คงหมายถึงเพลงนกขมิ้นเป็นแน่ แต่มิใช่เช่นนั้น ที่จริงคำนี้ออกจะตรงและง่ายมาก สีที่เหลืองอ่อนๆ เราเรียกกันว่าอย่างไร? โดยมากเรามักเรียกกันว่าสีนวลมิใช่หรือ แล้วจะมีอะไรอีกเล่า คำแผลงที่บอกว่าเหลืองอ่อนก็หมายถึงความประสงค์จะให้ทำหน้าพาทย์ สีนวล เท่านั้นเอง
ผัวตาย ผู้หญิงเมื่อสามีตายเราก็เรียกหญิงนั้นว่าแม่หม้าย และแม่หม้ายที่ผัวตายใหม่ ก็ย่อมคร่ำครวญหวลไห้ถึงผัวต่างๆ นานา เพลงแม่หม้ายคร่ำครวญนั้นก็เป็นเพลงช้าเพลงหนึ่งนั่นเอง แต่ถ้าเขาจะบอกตรงๆ ว่า เพลงช้า หรือ จะบอกแผลงว่า แสวงหา หรือ นางพระยาดำเนิน ดังที่กล่าวมาแล้ว ปี่พาทย์ก็ย่อมมีอิสระที่จะทำเพลงช้าเรื่องใดๆ ก็ได้ตามพอใจ แต่ในที่นี้เขาต้องการให้ทำเพลงช้าด้วยเพลงแม่หม้ายคร่ำครวญโดยเฉพาะ เขาจึงบอกเป็นคำแผลงว่าผัวตายเสีย เพลงแม่หม้ายคร่ำครวญนี้อยู่ในตอนกลางของเรื่องนกขมิ้น เรียกอีกชื่อหนึ่งว่านกขมิ้นตัวเมีย
สาดทราย เสียงที่ได้ยินจากการเอาทรายสาดจะดังอย่างไรก็ตาม แต่เรามักพุดกันติดปากว่าดังกราวๆ คนเจรจาจึงถือเอาคำสาดทรายนี้มาเป็นคำบอกหน้าพาทย์แผลงให้ปี่พาทย์ทำเพลงกราว กราว ณ ที่นี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ กราวนอกกับกราวใน ฉะนั้น ในเมื่อผู้บรรเลงได้ยินคำบอกสาดทราย ซึ่งเข้าใจว่ากราวแล้ว ยังจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนั้นอีกขั้นหนึ่งว่า ที่จะต้องทำเพลงกราวนั้นตัวอะไรจะออก มนุษย์หรือลิง ยักษ์อย่างไร ถ้าเป็นจำพวกมนุษย์หรือลิงก็ทำกราวนอก ถ้าเป็นจำพวกยักษ์ก็ทำกราวใน
บาทสกุณี ผู้บอกหน้าพาทย์แผลงเพลงนี้ได้ใช้ศัพท์ตรงๆ นี้เอง คือเมื่อบอกว่าบาทสกุณีก็หมายถึงจะให้ทำเพลงเสมอตีนนก แต่เพลงเสมอตีนนกนี้เป็นเพลงขั้นสูงเพลงหนึ่งที่นักนาฏศิลปและดุริยางคศิลปเคารพ ครั้นเห็นว่าคำแผลงคำนี้แปลได้ความโดยตรงและสุภาพน่าเคารพดีขึ้นจึงได้เรียกด้วยคำแผลงนี้กันอยู่เสมอๆ จนเวลานี้กลายเป็นชื่อเพลงโดยตรงไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อเวลาทรงเล่นโขนยังเคยรับสั่งเรียกหน้าพาทย์เป็นชื่อเดิมอยู่บ่อยๆ ว่าเสมอตีนนก ว่าโดยทั่วๆ ไป สมัยนี้เกือบจะไม่รู้จักกันอยู่แล้วว่าเสมอตีนนกคือเพลงไหน แต่ว่ารู้จักเพลงบาทสกุณี
(คำบอกหน้าพาทย์แผลงเท่าที่ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาก็ดูเหมือนจะมีอยู่เท่านี้ เพราะได้หมดความนิยมเสีย จึงยังมิได้มีใครคิดแผลงเพิ่มเติมขึ้นอีกถ้าหากการนิยมการบิอกหน้าพาทย์แผลงยังมีอยู่เรื่อยๆ มาจนบัดนี้ เข้าใจว่าคงจะมีครบหน้าพาทย์ทุกเพลง)



Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:44:39 น. 3 comments
Counter : 3055 Pageviews.

 


โดย: เอ๋ จันทบุรี IP: 125.25.8.55 วันที่: 26 พฤษภาคม 2550 เวลา:16:25:29 น.  

 
มีอะไรมาบอก (หิวข้าว)


โดย: บิ๋ว นาดสิน IP: 58.147.52.57 วันที่: 24 มกราคม 2551 เวลา:17:56:33 น.  

 
ขอบคุณคร้าบ เป็นประโยชน์มากเลย อีกไม่นานจะสอบเรื่องนี้ เลยมาหาความรู้ไว้ก่อนอะ กระจ่างละครับ


โดย: นศ.นศ. IP: 118.173.49.171 วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:22:06:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.