รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
วิธีดูโขน


ธนิต อยู่โพธิ์

ภาษาท่า
การดูโขน ถ้าจะให้เกิดรสสนุก ก็ควรสนใจในบทบาทท่าเต้นท่ารำ เพราะท่าเต้นท่ารำนั้นเป็นหัวใจของโขน เท่ากับเป็นภาษาพูด การฝึกหัดโขนที่กล่าวมาโดยย่อและเฉพาะวิธีฝึกหัดเบื้องต้นในบทที่ ๙ นั้น ก็เท่ากับฝึกหัดแสดงภาษาโขนด้วยท่าทาง เช่นเดียวกับเราหัดภาษาที่เราแสดงออกด้วยคำพูด ถ้าเทียบกับภาษาที่เราใช้เป็นประจำวันก็จะเห็นได้ว่า ภาษาประจำวันของเรานั้น มิใช่มีแต่คำพูดซึ่งเปล่งเป็นเสียงออกมาทางปากประเภทเดียวเท่านั้น แต่อาจมีเป็นอันมากที่เรามิได้ใช้ปากใช้ลิ้นและอวัยวะเครื่องเปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูด หากแต่เราใช้ท่า คือ ใช้อวัยวะส่วนอื่น แสดงออกมาเป็นกิริยาท่าทางแทน เราก็สามารถรับรู้ภาษาและรู้ความหมายกันได้และท่าทางบางอย่างบอกความหมายได้รวบรัดดีเสียกว่าคำพูดที่เปล่งเสียงออกมาทางปากเสียด้วยซ้ำไป ลิ้น, ฟัน, ปุ่มเหงือก, จมูก, ลูกกระเดือก, หลอดคอ, ปอดและริมฝีปาก เป็นต้น เป็นอวัยวะเครื่องเปล่งเสียงให้เป็นคำพูดออกมาทางปากฉันใด อวัยวะของเราอีกส่วนหนึ่งเป็นต้นว่า ลำตัว, มือ, แขน, ขา , เท้า, ไหล่ ลำคอ, ใบหน้า และศีรษะ ก็เป็นเครื่องสำแดงกิริยาท่าทางออกมาเป็นภาษาได้ฉันนั้น นดูง่ายๆ เช่น คนไข้สามารถใช้กริยาท่าทางส่งภาษาออกมาให้รู้ความหมายได้เกือบทุกอย่าง ซึ่งเคยทราบว่าในต่างประเทศบางประเทศเขามีสมาคมใบ้ เมื่อถึงคราวประชุม มีสมาชิกร่วมประชุมกันนับร้อยๆ พันๆ และก็สามารถร่วมประชุมกันรู้เรื่องเป็นอย่างดี โดยมิต้องใช้เครื่องขยายเสียงให้เป็นที่รบกวนรำคาญด้วยซ้ำ สัญญาธงและสัญญามือนั้น ความจริงก็เป็นภาษาท่าอย่างหนึ่งนั่นเอง ตัวอย่างภาษาท่าที่เราใช้อยู่ประจำวันก็ยังมี เช่น เมื่อมีใครเอาของมายื่นส่งให้เรา แล้วเราส่ายศีรษะเร็วๆ หรือสั่นหัวของเรา ผู้ให้ก็ย่อมทราบดีว่าเราไม่เอาหรือไม่รับ หรือไม่ต้องการสิ่งนั้นและถ้าเรายกแขนข้างหนึ่งขึ้นแบฝ่ามือหันเข้ามาทางตัวเราแล้วโบกออกไปก็หมายความว่า นอกจากเราไม่ต้องการแล้วให้ผู้นั้นรีบนำเอาสิ่งของนั้นไปเสียให้พ้น แต่ตรงข้าม ถ้าเราผงกศีรษะของเราไปข้างหน้า คือ พยักศีรษะ หรือแบมือแม้ข้างเดียว หันฝ่ามือโบกเข้ามาทางตัวของเรา ก็หมายความว่า ให้ผู้นั้นนำเอาสิ่งนั้นเข้ามา เพราะเราต้องการและยินดีรับ หรือถ้าเราไปพบเพื่อนฝูงหรือใครๆ ก็ตาม ยืนหรือนั่งส่ายศีรษะไปมาช้าๆ หรือโคลงศีรษะ ตีหน้าเศร้าๆ แม้เขาจะไม่ออกปากพูด เราก็ได้ทันทีว่า เขาบอกว่า ไม่ไหว, แย่, เต็มที หรืออะไรเทือกนั้น
ภาษาท่าเหล่านี้ ถ้าเราลองย้อนรำลึกดู เราก็จะนึกได้ว่าเราใช้กันอยู่ทุกวี่ทุกวัน นอกจากนั้น กิริยาท่าทางของคนเราก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัว แม้ไม่ต้องพูดต้องบอกออกมาทางปาก แต่เมื่อเราเห็นกิริยาท่าทางด้วยสายตา เราก็ย่อมรู้เห็นได้เช่น คนนี้ท่าทางผึ่งผาย, คนนั้นท่าทางหลุกหลิก, คนโน้นท่าทางหยิ่งผยอง, คนนั้นท่าทางปึ่งชา, คนนี้ท่าทางกรุ้มกริ่ม, คนโน้นท่าทางจ๋องๆ, คนนั้นท่าทางกวนๆ, คนโน้นท่าทางภูมิฐาน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องมที่เราสังเกตรู้ได้ด้วยกิริยาท่าทางของเขาเป็นอย่างดี ภาษาท่าเหล่านี้ บางอย่างก็เป็นที่หมายรู้กันเป็นอันดี จนวางลงไว้เป็นแบบแผน เช่นท่าของพระพุทธรูปที่เรียกกันว่า พระปาง ล้วนมีท่าทางและอิริยาบถต่างๆ กัน มีปางลีลา, ปางห้ามญาติ, ปางประทานอภัย, ปางสมาธิและปางมารวิชัย เป็นต้น ท่าที่ใช้เป็นภาษาประจำวันของเรา ดังที่ยกมากล่าวข้างต้นก็เช่นกัน ย่อมมีทั้งท่ารับ, ท่าปฏิเสธ, ท่าแสดงความเคารพ เช่น ท่าไหว้, ท่าอัญชลี, ท่าคำนับ, ท่ากราบเบญจางคประดิษฐ์ และท่าอื่นๆ มีอยู่เป็นบัญญัตินิยม ซึ่งบางหมู่บางชุมนุม และบางชาติบางภาษา อาจใช้ในความหมายต่างแตกแผกเพี้ยนกันไปบ้าง ตามจารีตและประเพณีนิยมของชาตินั้นๆ ท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่า ภาษาที่ใช้แสดงออกมาด้วยกิริยาท่าทางนั้น มีมากเท่าๆ กับภาษาที่เปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูด และบางอย่างก็วิจิตรพิสดารเสียยิ่งกว่า จนแม้ภาษาพูดก็ไม่สามารถพรรณนาให้ดีได้เท่าเทียม
กิริยาท่าทางจึงนับเป็นภาษาส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับถ้อยคำที่เปล่งเสียงเป็นคำพูดออกมาทางปาก แต่ท่าทางต่างๆ ที่แสดงออกเป็นภาษาดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นอาจจำแนกได้ออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ท่าซึ่งใช้แทนคำพูด เช่น รับ, ปฏิเสธ, สั่ง, เรียก เหล่านี้ เป็นต้น
๒. ท่าซึ่งเป็นอิริยาบถและกิริยาอาการ เช่น ยืน, เดิน, นั่ง, นอน, เคารพและการกระทำอื่นๆ
๓. ท่าซึ่งแสดงถึงอารมณ์ภายในของคนเราว่ามีอยู่อย่างไร เช่น รัก, โกรธ, ดีใจ, เสียใจ, โศกเศร้า, ร่าเริง เป็นต้น
แต่ลักษณะของท่าที่ลองแยกออกให้เห็นเป็น ๓ ประเภทดังกล่าวนี้ ก็มีเหลื่อมล้ำคาบเกี่ยวกันอยู่ จะแยกให้เด็ดขาดลงไปทีเดียวก็หาได้ไม่ ในที่นี้จะไม่พยายามบรรยายถึงความเป็นมาของท่าและภาษาของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร และมีอยู่กี่ประเภท เพราะเป็นเรื่องพิสดารเกินกว่าที่จะนำมาพูดในที่นี้ แต่ท่านก็ย่อมทราบว่ากิริยาท่าทางของเรา ซึ่งได้ลองแยกไว้เป็น ๓ ประเภทดังกล่าวข้างต้น เป็นภาษาอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ภาษานาฏศิลป
แต่ในศิลปะทางนาฏกรรม เขาประดิษฐ์ดัดแปลงท่าต่างๆ ให้วิจิตรพิสดารและสวยงามยิ่งกว่าท่าธรรมดา โดยให้สอดคล้องประสานประสมกลมกลืนกันไปกับศิลปะที่เป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เพลงดนตรีและคำขับร้อง เป็นต้น แต่ก็ประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญ ๓ ประเภทดังกล่าวมาแล้วนั่นเอง นอกจากเพื่อเป็นส่งภาษาให้หมายรู้กันด้วยสายตาแล้ว ในศิลปะทางนาฏกรรม เขาจำเป็นต้องมุ่งให้เต้นและรำได้งดงงามและเป็นสง่า ที่เรียกกันว่า “สุนทรียรส” อีกด้วย เพราะความงดงามหรือสุนทรียรสเป็นหลักสำคัญของศิลปะ ถ้าประดิษฐ์ดัดแปลงท่าทางออกมาแล้ว ไม่เป็นไปทางแสดงความงาม ก็ผิดหลักศิลปะและต้องประดิษฐ์ดัดแปลงกันใหม่ ท่าเต้นท่ารำของโขนและละครรำของไทยเราก็ดี ท่าเต้นอันเป็นศิลปะบางชนิดของชาติอื่นก็ดี เป็นการประดิษฐ์โดยอาศัยหลักความงามของศิลปะดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นการส่งภาษาโดยเฉพาะของมัน อย่างที่เรียกว่า นาฏยภาษาหรือภาษานาฏศิลป กล่าวคือ Dance-Language ทุกท่าจึงมีความหมายแสดงออกมาเช่นเดียวกับคำพูดที่เราได้ยินได้ฟังด้วยหูของเรา แต่เป็นคำพูดที่พูดด้วย มือ แขน เท้า ขา ลำตัว ลำคอ ใบหน้า และศีรษะเป็นต้น มิใช่ด้วยอวัยวะเครื่องเปล่งเสียง เช่น ปากและลิ้น ด้วยเหตุนี้ การดูโขนจึงอยู่ที่ดู “ท่าเต้นท่ารำ” เพราะท่าเต้นท่ารำนั้น เป็นคำพูดของโขน โขนจึงพูดด้วยท่าเต้นท่ารำท่าทำบท ซึ่งเป็นภาษาท่า อันเป็นนาฏยภาษาหรือภาษานาฏศิลปของการแสดงศิลปะชนิดนี้

ภาษาโขน
การที่เราเห็นผู้เล่นโขนออกมาเต้นและรำอยู่เป็นเวลานานๆ นั้น ก็คือ ผู้แสดงโขนกำลังพูดอยู่ตลอดเวลา มิได้หยุดเลย เขาพูว่าอย่างไรบ้าง ถ้าเรารู้ภาษาโขน เราก็ย่อมเข้าใจความหมายและรู้เรื่อง ยิ่งศิลปินผู้เล่นโขนเป็นผู้ได้รับฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีฝีไม้ลายมือในการส่งภาษานาฏศิลปด้วยแล้ว รสสนุกในการดูก็จะทวียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเราไปฟังนักพูดคารมดีหรือฟังนักเพลงฝีปากดีพูดและร้องฉะนั้น และถ้าเราดูโขนรู้เรื่องแล้ว บางทีเราจะเห็นว่า ดูโขนออกรสสนุกและไม่เบื่อ ทั้งอาจเกิดเสียดายที่หมดชุดหมดตอนเร็วไป แต่ทั้งนี้ เราต้องวางใจและตั้งแง่คิดเปลี่ยนประสาทรู้สึกของเราเสียใหม่ว่า เรากำลังดูภาษาท่าเป็นหลักสำคัญ เช่นเดียวกับเราไปดูหนังเงียบในเมื่อยังไม่มีหนังเสียง เราก็สามารถรู้ความหมายและเข้าใจเรื่องได้ด้วยท่าทางของผู้แสดงภาพยนตร์ เมื่อเราไปฟังนักพูดหรือนักร้อง เราก็ย่อมจะสำเหนียกว่า เขาพูดหรือร้องได้ชัดถ้อยชัดคำและมีน้ำเสียงไพเราะเพียงใด แต่เมื่อเราไปดูโขนและละคอนรำ เราก็จะต้องตั้งแง่คิดไว้ว่า ผู้เล่นโขนและละคอนรำคนใดจะส่งภาษาท่า คือ แสดงท่าเต้นท่ารำออกมาได้ชัดเจนและสวยงามเพียงใด นักเพลงคนใดที่ร้องได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่วไม่ติดขัด เขาก็ยกย่องนักเพลงคนนั้นว่า “มุตโตแตก” หรือ “หม้อโตแตก” ผู้เล่นโขนและละคอนรำคนใดที่เต้นและรำได้ถูกต้องงดงามดีเขาก็ยกย่องผู้เล่นโขนละครคนนั้นว่า “ตีบทแตก” ถ้าเทียบหลักศิลปะของชาวตะวันตก ก็ว่าผู้แสดงแปลความหมาย (Interpretation) ของเรื่องตอนที่ตนแสดงได้ถูกต้อง กล่าวคือ เข้าถึงบทอย่างที่เรียกว่า Attack his parts
แต่โดยเหตุที่โขนต้องเต้นและรำไปตามบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้องและเพลงดนตรีปี่พาทย์ ซึ่งในชั้นหลังนี้นับเป็นศิลปะส่วนประกอบที่สำคัญในการเล่นโขนโดยปรกติ เขาจึงจำแนกการเต้นการรำของโขนและละคอนรำออกเป็น ๒ ชนิด เรียกว่า รำหน้าพาทย์ อย่างหนึ่ง และรำบทหรือรำใช้บท อีกอย่างหนึ่ง

รำหน้าพาทย์
รำหน้าพาทย์ ได้แก่ การรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการเล่นโขน กล่าวคือ ผู้เล่นโขนต้องเต้นต้องรำไปตามจังหวะและทำนองเพลงดนตรีซึ่งมีบัญญัติเรียกอยู่ในวงวิชาการดนตรีอีกส่วนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เพลงที่มีชื่อเรียก เชิด, เสมอ, รัว, ลา, ตระ, คุกพาทย์, กราวนอก, กราวใน, แผละและโอด เป็น การที่นักเรียนฝึกหัดนาฏศิลปเริ่มต้นด้วยหัดรำ “เพลงช้า” และ “เพลงเร็ว” นั้นก็คือ รำหน้าพาทย์ นั่นเอง
ในการแสดงโขนและละครรำ เมื่อถึงตอนปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์เพลงหนึ่งเพลงใดในเรื่องแล้ว ผู้เล่นโขนจะต้องเล่นเต้นรำโดยถือรสนิยมหรือความหมายและจังหวะ ทำนองของดนตรีนั้นๆ เป็นหลัก เช่นเดียวกับทหารเวลาเดินแถวหรือทำเคารพผู้บังคับบัญชา ก็ต้องเดินและทำความเคารพโดยมีจังหวะ เราเองเมื่อเดินหรือแกว่งแขนไปมา แม้ทำด้วยความเคยชินโดยไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าเราลองนับ 1-2-3 กำกับไปด้วย เราก็จะเดินและแกว่นแขนให้ลงกับจังหวะนับของเรา การเต้นการรำตามทำนองเพลงที่เรียกกันว่า “ เพลงหน้าพาทย์” ก็ต้องทำตามรสนิยมและจังหวะทำนองเพลงดนตรี เพลงหน้าพาทย์ จึงอาจอธิบายได้ว่า เพลงที่มีปี่พาทย์เป็นหลักเป็นประธาน เพลงปี่พาทย์แต่ละเพลง ก็มีรสนิยมหรือความหมายและจังหวะทำนองเป็นแบบอย่างต่างกัน นายมนตรี ตราโมท ศิลปินเอก ในกรมศิลปากร ได้เอื้อเฟื้อเขียนอธิบายเพลงหน้าพาทย์บางเพลงมอบให้ไว้ ขอนำมาเสนอในที่นี่สัก 3 - 4 เพลง ดังต่อไปนี้
1. ท่านคงจะเคยได้ยินว่า “ นอก “ กับ “ใน” ซึ่งใช้ประกอบชื่อเพลงปี่พาทย์ของเราอยู่เนือง ๆ แล้ว คำทั้งสองนี้ ในภาษาดนตรีไทย นอกจากหมายถึงเพลงสำหรับประกอบละคอนนอกและละคอนในแล้ว ยังมีที่หมายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ระดับเสียง อันตรงกับกับภาษาของดนตรีสากลว่า Key ระดับเสียงนอกมีระดับเสียงสูงกว่าระดับเสียงใน 4 เสียง แม้ปี่ที่เรียกว่า ปี่นอกปี่ใน ก็เป็นเช่นนี้ เพลงทุก ๆ เพลงอาจบรรเลงในระดับเสียงนอกหรือในก็ได้ เมื่อบรรเลงในระดับเสียงนอกก็เรียกว่า “ทางนอก” หากบรรเลงในระดับเสียงใน ก็เรียกว่า “ทางใน” แต่เพลงที่เรียกว่า “กราวนอก” กับ “กราวใน” นั้น ไม่ใช่เป็นเพลงเดียวกัน และมิใช่เพียงแต่เปลี่ยนระดับเสียงบรรเลงเท่านั้น เพลงกราวนอกกับกราวในต่างกันเป็นคนละเพลงที่เดียว แต่ทำนองอันเป็นเนื้อแท้ของทั้งสองเพลงนั้น คงอยู่ในระดับเสียงอันเป็นทางนอกทางในพร้อมมูลอยู่ในตัว เพลงทั้งสองนี้เป็นเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบการตรวจพล ซึ่งได้แบ่งแยกชนิดของตัวโขนละคอนสำหรับประกอบไว้คนละประเภทเพลงกราวนอก มีทำนองรื่นเริง ฮึกเหิม ไว้สง่า แต่เป็นไปด้วยอาการงดงามและแคล่วคล่องว่องไว จึงจัดไว้สำหรับประกอบการตรวจพลของฝ่ายมนุษย์และวานร ส่วนเพลงกราวใน มีทำนองดำเนินมากไปในทางเสียงต่ำ กังวานกว้าง ทั้งทำนองเพลงก็แสดงถึงความรื่นเริงกล้าหาญอย่างแกร่งกล้าดุดันบึกบึน วิธีตีกลองของเพลงกราวในก็แสดงความใหญ่โตและอืดอาด จึงจัดไว้สำหรับเป็นเพลงประกอบการตรวจพลหรือการไปมาของฝ่ายอสูรยักษ์มาร ซึ่งนับว่าท่านนักปราชญ์โบราณได้คิดค้นส่วนอันเป็นอุปกรณ์ทั้งหลายเข้ามาผสมผสานกันอย่างได้ส่วนสัด และเข้าใจว่าเป็นศิลปที่จะไม่มีใครแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าหรือเท่าเทียมได้เลย
2. แต่ถ้าบรรเลงประกอบการไปมาของสัตว์จำพวกมีปีกที่เหินไปในกลางหาว เช่น พระยาครุฑในนิยาย หรือวิหคนกบินทั้งหลายแล้ว ท่านกำหนดให้ใช้เพลง “แผละ” ซึ่งจังหวะของเพลงอยู่ที่เสียงกลองเดินไป โดยสม่ำเสมอแต่ค่อนข้างเร็วนั้นเสมือนการกวักปีกขึ้นลงตามกิริยาโบกบินของวิหคซึ่งมีอาการฉวัดเฉวียนอยู่กลางเวหาท่ารำจึงแสดงถึงอาการถาบถลาร่อน และเล่นพลิ้วลมตามวิสัยการโบกบินของสัตว์จำพวกนั้น อันก่อให้เกิดศิลปแบบหนึ่งขึ้นในวงการนาฏศิลป
3. แต่ถ้าการบรรเลงประกอบโขนละคอนขณะที่สำแดงเดช ตามปรกติก็กำหนดใช้เพลง “คุกพาทย์” เพราะเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่แสดงมหิทธิฤทธิ์ จังหวะของเพลงมีช้ามีเร็ว มีรุกเร้าเป็นตอน ๆ ทำนองเพลงกระตุ้นให้บังเกิดอารมณ์รู้สึกเสมือนว่าอาการในขณะนั้นวิปริต ประกอบด้วยเสียงฟ้าคำรามร้องและพุ่งแสงแลบแปลบปลาบ มีพายุปั่นป่วนผงคลีมืดคลุ้ม โลกธาตุแปรปรวนอย่างน่าสะพรึงกลัว เมื่อบรรเลงประกอบเข้ากับตัวรำ ก็ยิ่งกระตุ้นความรู้สึกให้แลเห็นเป็นว่า ตัวรำนั้นมีฤทธิ์มีอำนาจอย่างมหึมา หน้าโขนที่สวมก็ดูประหนึ่งเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นน่าครั่นคร้านขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์
4. แต่ถ้าเป็นการบรรเลงประกอบกิริยาร้องไห้คร่ำครวญ ก็ใช้เพลงโอด ซึ่งเป็นหน้าพาทย์สำหรับประกอบกิริยาร้องไห้ หรือตาย เพราะการร้องไห้ย่อมมีการสะอึกสะอื้น ถี่บ้าง ห่างบ้าง กระชั้นติด ๆ กันบ้าง และเวลาคนหรือสัตว์จะตาย ก็ ย่อมมีสะอึกหรือชักหรือกระตุก ตามแต่โรคที่จะทำให้ตาย ถี่บ้าง ห่างบ้าง กระชั้นติดๆกันบ้าง เช่นเดียวกับสะอึกสะอื้นในการ้องไห้ นักปราชญ์ทางดนตรีได้นำเอาระยะลุ่มๆ ดอน ๆ ของกิริยาสะอึกสะอื้น นี้เข้ามาบรรจุไว้ในเพลง และแต่ทำนองเข้าประกอบให้เหมาะสม ซึ่งจะฟังได้จากวิธีตีกลองประจำเพลงโอด ศิลปะที่ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยกลบซ่อนเสียงลึกเช่นนี้ จึงยากที่จะมองเห็นได้ แต่ผู้ที่ใช้ความพินิจพิจารณาโดยถ้วนถี่ ก็ย่อมจะเข้าถึงศิลปะได้ไม่ยาก
เมื่อรสนิยม และจังหวะทำนองของเพลงหน้าพาทย์ทางดนตรีมีอยู่แตกต่างกันดังนำมาเสนอเป็นตัวอย่างนี้ ท่าเต้นท่ารำตามเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปไทยแต่ก่อน ได้ประดิษฐ์และเลือกคัดจัดสรรขึ้นไว้ ก็ต้องให้ประสานสอดคล้องกันกับเพลง ถ้าเพลงหน้าพาทย์มีรสนิยมหรือความมหมายแสดงถึงการคึกคักตึงตังเกรี้ยวกราดดุเดือดของธรรมชาติหรือผู้มีมหิทธิฤทธิ์ เช่น เพลงคุกพาทย์ ท่าซึ่งเป็นอากัปกิริยาของผู้แสดง ก็ต้องตึงตังเผ็ดร้อนไปตามรสนิยมของเพลงนั้น ถ้ารสนิยมของเพลงไปในทางโสกเศร้า ท่าเต้นท่ารำก็ต้องแสดงให้เห็นเป็นโศกเศร้าตามไปด้วย ถ้ารสนิยมของเพลงไปในทางร่าเริงบันเทิงใจ ท่าเต้นท่ารำก็ต้องแสดงให้เห็นเป็นร่าเริงบันเทิง ใจไปด้วย ถ้ารสนิยมของเพลงเป็นไปในทางให้รู้สึกสง่าท่าภูมมิฐาน ท่าเต้นท่ารำและกิริยาอาการของตัวโขนละคอนก็ต้องประดิษฐ์ให้ผู้ดูเห็นเป็นสง่าท่าภูมิฐานไปด้วยจะประดิษฐ์และเลือกคัดจัดท่าโศกเศร้าไปให้ไว้ในเพลงซึ่งมีรสนิยมร่าเริง หรือจะประดิษฐ์และเลือกคัดจัดท่ากริ้วโกรธ ไปไว้ในเพลงซึ่งมีรสนิยมทางรัก ก็ย่อมจะไม่ถูกต้องกลมกลืนกัน และถ้าเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงนั้นยังไม่หมดจังหวะไม่สิ้นกระบวนเพลง ผู้เต้นผู้รำจะหยุดยืนเสียเลยก็ไม่ได้และไม่งาม ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปะก็ต้องประดิษฐ์คิดจัดท่าอันมีรสนิยมกลมกลืนกันสอดแทรกไว้ให้เต็มกระบวนเพลง นอกจากนั้น ท่าตัวโขนแต่ละตัวแต่ละประเภท ก็ยังจะต้องประดิษฐ์ดัดแปลงหรือเลือกคัดจัดท่าให้แตกต่างกันอีก เช่น ท่าของพระ, ท่าของนาง, ท่าของยักษ์, ท่าของลิงและท่าของตัวอื่น ๆ อันมีลักษณะนิสัยต่าง ๆ กัน ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปผู้เป็นโบราณบัณฑิต จึงประดิษฐ์สร้างสรรค์และเลือกคัดจัดท่า สอดแทรกไว้ด้วยลวดลายอันวิจิตรบรรจง และให้มีความหมายสอดคล้องต้องกันกับเพลงดนตรีปี่พาทย์เป็นอันดี พระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสเล่าถึง “การเล่นโขน” หรือ “วายังโอรัง” ของชวา เปรียบเทียบกับโขนของเรา แล้วทรงสรุปท้ายว่า “นับว่าเรื่องโขน (ของชวา) สู้ของเราไม่ได้แน่นอน บางท่าว่าออกจะคล้ายงิ้วเอาส่ง ท่ารำไม่มีอะไรที่จะต้องเรียนจากเขาเลย”

รำบท
ส่วนการรำอีกอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “รำบท” หรือ “รำใช้บท” นั้น ได้แก่การรำตามบทร้อง บทเจรจาและบทพาทย์ กล่าวคือ รำทำบทไปตามถ้อยคำ ซึ่งมีผู้ร้องผู้เจรจาและพาทย์อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้แสดงโขนจะต้องแสดงภาษาท่าไปตามคำนั้น ๆ จะลองนำภาษาท่าบางท่าของโขนมาอธิบายเป็นถ้อยคำเสนอไว้พอเป็นตัวอย่างแต่ขอได้โปรดทราบว่า การอธิบายท่าของอวัยวะร่างกายด้วยคำพูดหรือคำเขียนนั้นอาจไม่แจ่มแจ้งชัดเจนเท่ากับได้ดูเห็นด้วยตา ขอได้โปรดกำหนดนึกถึงท่าต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้ไปตามคำเป็นที่หมายรู้

1. ถ้าผู้เล่นโขนและละคอนรำ ทอดแขนไปข้างหน้า งอศอกนิด ๆตั้งข้อมือให้ฝ่ามือหันออกไปข้างนอก แล้วสั่นฝ่ามือไปมา หมายความว่า ปฏิเสธ หรือเท่ากับ พูดว่า ไม่มี, ไม่ดี, ไม่เอา,ไม่ใช่, ไม่รู้, ไม่กลัว, หรือคำปฏิเสธอื่น ๆ พวกเดียวกันนี้
2. แบมือทอดแขนกวักฝ่ามือเข้ามาหาตัว หมายความว่าเรียก ( ให้เข้ามาหา )
3. ม้วนมือแบโบกออกไป หมายความว่า สั่ง ( หรือบอกให้ออกไป)
4. แบมือทั้งสองทอดแขนออกไปข้างหน้า แล้วม้วนข้อมือพลิกแบผาย หงายฝ่ามือทั้งสองออกไปข้างหน้า หมายความว่า ตาย หรือวายวาง
5. แบฝ่ามือทั้งสองไขว้ข้อมือก่ายซ้อนกัน แล้วเอาฝ่ามือทั้งสองนั้นประทับไว้ที่ทรวงอก หมายความว่า รัก หรือ มีความรัก
6. แต่ถ้าเอาฝ่ามือทั้งสองที่ประทับอยู่ ณ ทรวงอกนั้น ตบลงถี่ ๆ ที่หน้าอก หมายถึงว่า กำลังเดือดเนื้อร้องใจ
7. เอามือทั้งสองไขว้โอบไว้ที่สะเอวของตนแล้วเดินช้า ๆ หมายถึงว่า กำลังมีทุกข์โศก
8. แต่ถ้ายกมือขวาขึ้นแล้วกางนิ้วหัวแม่มือออกไปจากนิ้วทั้ง 4 แล้วใช่ช่วงระหว่างนิ้วหัวแม่มือชี้คร่อมแตะไว้ที่หน้าผากอีกด้วย หมายความว่ากำลังร้องไห้
9. ทำตามข้อ 8 แล้วสะท้อนลำตัวขึ้นลงไปพร้อมกันด้วย หมายความว่า กำลังสะอึกสะอื้น
10. ใช้มือซ้ายจีบนิ้วยกขึ้นมาใกล้ริมฝีปากบน หมายความว่า ยิ้ม หรือ ดีใจ
11. ทำตามข้อ 10 แล้วสะท้อนลำตัวขึ้นลงพร้อมกันด้วย หมายความว่า กำลังหัวเราะ
12. ใช้ฝ่ามือมือหนึ่งมือใดสีไปมาที่ก้านคอตอนใต้หู ส่วนอีกมือหนึ่งกำนิ้วทั้งสี่ไว้แล้วชี้นิ้วฟาดแขนลงไปข้างหน้า พร้อมกับกระทืบเท้าลงไปบนพื้น หมายความว่าโกรธ

คราวนี้สมมติว่า เราไปดูโขนกำลังแสดงการรบระหว่างยักษ์กับลิง เมื่อเราเห็นยักษ์กระทืบเท้าแล้วชี้นิ้วตรงไปทางลิง ก็เท่ากับยักษ์เปล่งเสียงออกไปทางปากให้ได้ยินว่า “ เหม่!…” เมื่อยักษ์กวักมือโบกเข้ามาหาตัว ก็เท่ากับพูดท้าทายว่า “ มาซิวะ ๆ, มาสู้กัน” ถ้ายักษ์กำมือชูนิ้วชี้ แล้วตั้งแขนสั่งนิ้วชี้ไปมาหรือตีนิ้วอยู่ตรงหน้าของตน ก็เท่ากับพูดด้วยอารมณ์เคียดแค้นว่า “มึงๆ, ดีละๆ” และเมื่อลิงชี้นิ้วชี้ไปที่อกของตน แล้วเงยหน้าไปทางยักษ์ ก็เท่ากับถามยักษ์ว่า “มึงท้ากูนี่น่ะรึ ? “ ครั้นยักษ์พะยักหน้า ก็เท่ากับรับว่า “เออ, มึงน่ะแหละ” แล้วฝ่ายลิงก็จะยื่นแขนไปข้างหน้า ตั้งข้อมือตรงแบฝ่ายมือโบกสั่น ๆ ซึ่งเท่ากับตอบไปว่า “กูไม่กลัว ๆ” และท่าๆ อื่น ๆ ซึ่งใช้แทนภาษาอันมีความหมายทำนองเดียวกันนี้ แล้วทั้งสองฝ่ายก็ตรงเข้าสัปยุทธ์กัน เช่นนี้เป็นต้น ที่กล่าวมาว่า ท่านาฏศิลปของอินเดียที่แตกต่างกันนับด้วยพัน มากกว่าท่านาฏศิลปของชาติใด ๆ หมด

การประดิษฐ์ท่า
ท่ารำหน้าพาทย์และท่ารำบท ดังที่นำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างนี้ ความจริงก็ประดิษฐ์เลือกเลือกสรรค์ขึ้นมาจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญของมนุษย์ เช่นที่ เราใช้กันอยู่เป็นประจำวัน 3 ประเภท ดังได้กล่าวมาข้างต้นนั่งเอง แต่ที่มีท่า แผกเพี้ยนไปจากท่าธรรมดา ก็มุ่งความสวยงามตามแนวคิดของศิลปินไทย เช่น เดียวกับลวดลายจิตรกรรมที่ช่างศิลปประดษฐ์เขียนรวงข้าวและเครือเถาเป็นต้นนั้น ให้มีลวดลายแผกผิดไปจากรวงข้าวและเครือเถาจริง ๆแต่ผู้ที่เป็นช่างสังเกตก็ย่อมรู้ได้ว่าลวดลายกระหนกนั้นๆ ประดิษฐ์ดัดแปลงมาจากอะไร ท่าเต้นท่ารำของโขนและละคอนไทยก็เช่นกัน และเนื่องจากท่าและเพลงหน้าพาทย์บางอย่างบางชนิด โบราณบัณฑิตได้ประดิษฐ์และเลือกคัดสรรไว้เป็นเวลานาน และจดจำสืบต่อกันมาหลายชั่วคน บางท่าจึงเป็นการยากที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจกันได้ในสมัยนี้ เช่นเดียวกับลวดลายจิตรกรรมบางชนิด ก็ยากที่จะชี้แจงให้ทราบกันได้ว่าประดิษฐ์ขึ้นมาจากอะไร หน้าที่ของศิลปินผู้ฉลาดในยุคต่อมา ก็คือ รู้จักเลือกคัดจัดท่าหรือประดิษฐ์ดัดแปลงนำไปใช้ให้เหมาะสมแก่การแสดงอารมณ์ในท้องเรื่องและโอกาสอีกประการหนึ่ง ท่าของโขนและละคอนรำนั้น ผู้เล่นผู้แสดงจะแสดงจะเต้นรำและทำท่าประสมกลมกลืนกันไปกันไปกับจังหวะของคำพาทย์,คำเจรจา , คำขับร้องและเพลงหน้าพาทย์ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการเต้นรำ ท่าทางเหล่านั้นจึงแผกเพี้ยนไปจากกิริยาท่าทางอันเป็นธรรมดาสามัญ
ท่าเต้นท่ารำของผู้เล่นผู้แสดงโขนดังกล่าวมานี้ นับว่าเป็นนาฏศิลปชั้นสูงที่โบราณบัณฑิตของเราได้ประดิษฐ์เลือกคัดสรรไว้ และยกย่องกันต่อมาว่าเป็นนาฏศิลปที่วิจิตรบรรจงประจุลวดลายจิตรกรรมอันงดงาม ยากที่จะอธิบายด้วยถ้อยคำให้ละเอียดถี่ถ้วยและขัดเจน แ จ่มแจ้งได้ ที่นำมากล่าวไว้ในบทนี้ ก็เพียงเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจใคร่รู้เท่านั้น



Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:45:29 น. 11 comments
Counter : 3696 Pageviews.

 
ให้ข้อมูลเยอะดีครับ


โดย: M0B IP: 125.25.242.68 วันที่: 7 มกราคม 2551 เวลา:19:53:18 น.  

 
very good


โดย: บัว IP: 203.113.71.166 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:49:53 น.  

 
ชอบดูโขนมากเลยค่ะไอซ์


โดย: ไอซ์ IP: 118.175.177.209 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:13:08:10 น.  

 
ขอบคูณครับที่ให้ความรู้


โดย: b... IP: 202.149.25.225 วันที่: 31 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:13:48 น.  

 
ผมเล่นโขนลิงอยู่อะครับ....

ชื่อบอลกลาง.....อยู่ศศิอะครับ.....


โดย: บอลกลาง.... IP: 61.7.190.94 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2551 เวลา:6:49:16 น.  

 
เมื่อคืนไปดูโขนกรมศิลที่มาเล่นวัดแถวบ้านมาค่ะ
ไม่เคยดูมาก่อนเลย แปลกๆ ดูแรกๆยังงงๆอยู่บ้าง
แต่โดยรวมก็ชอบนะ เลยเข้ามาหาข้อมูลเพิ่มจนเจอ
เว็ปนี้ ได้ความรู้ความเข้าใจไปเยอะเลยค่ะ
ขอบคุณที่แบ่งปันนะเจ้าค่ะ


โดย: peijin IP: 202.5.83.234 วันที่: 22 ธันวาคม 2551 เวลา:13:59:17 น.  

 
ชอบโขนครับ


โดย: สองราศี IP: 58.10.84.226 วันที่: 11 มีนาคม 2552 เวลา:10:38:23 น.  

 
อยากได้เนื้อร้องหน้าพาทย์กราวในค่ะ


โดย: เมย์ IP: 192.168.1.3, 118.173.180.249 วันที่: 26 มิถุนายน 2552 เวลา:11:10:22 น.  

 
กราวในเป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ใช้ประกอบกิริยาของตัวโขนตัวละคร เดิมไม่มีการบรรจุคำร้อง
แต่เมื่อสมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงทำบทคอนเสิร์ต พรหมาสร์ ทรงบรรจุคำร้องด้วยเพลงกราวในในบทของตัวกาลสูรที่ว่า

บัดนั้น กาลสูรเสนีมีศักดิ์
รับสั่งบังคมทศพักตร์ ขุนยักษ์รีบเหาะระเห็จไป


โดย: จินตะหราวาตี วันที่: 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:25:42 น.  

 
จะยาวไปถึงไหนว่ะ


โดย: ทำไมกูต้องบอก IP: 118.174.24.10 วันที่: 25 ธันวาคม 2552 เวลา:21:05:07 น.  

 
ข้อมูลแยะเลย


สนใจมากค่ะ

ขอบคุณที่มีวิธีดูโขนและข้อมูลดีๆอย่างนี้

ขอบคุณค่ะ


โดย: ning IP: 125.26.93.32 วันที่: 23 กรกฎาคม 2553 เวลา:21:04:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.