รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
รำไทยสมัยราชนิยม รัฐนิยม และประชานิยม

ธรรมจักร พรหมพ้วย



นับเนื่องตั้งแต่สยามได้รับเอาลัทธิเทวราชแบบอินเดียผ่านทางอาณาจักรขอมและมอญ ครอบครองเหนือแผ่นดินแห่งนี้มาตั้งแต่ก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ระบบความคิดและความเชื่อของชาวไทยซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงชนกลุ่มเล็ก เกิดการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยนับถือภูติผีและสิ่งเหนือธรรมาชาติ มาเป็นระบบที่ต้องมีผู้นำ ซึ่งต้องดำรงตำแหน่งทั้งผู้นำทางสังคมและทางผู้นำทางจิตวิญญาณ
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ความคิดความอ่านของผู้คนในอดีตกาลจะนับถือยกย่องราชาให้เป็นเจ้าเหนือหัวอันเป็นที่เคารพรักของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ กิจการงานเมืองทั้งปวงจึงต้องปฏิบัติเพื่อเทิดทูนพระบารมีแห่งสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ไม่เว้นแม้งานศิลปะและการช่าง
ศิลปะการฟ้อนรำในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีลักษณะเป็นพิธีกรรมเพื่อขจัดความกลัวจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและการทำมาหากิน เช่น การฟ้อนรำเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ พึงใจ ไม่บันดาลให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ลมพายุ ฯลฯ
จนต่อมาเมื่อสังคมมีผู้ปกครองที่เป็นสมมติเทพ เสมือนเป็นพระนารายณ์อวตารลงมา เราจึงเปลี่ยนมานับถือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขแห่งปวงชน การฟ้อนรำจึงเปลี่ยนบทบาทเพื่อสนองพระผู้ปกครองให้เกิดความบันเทิงเริงใจ การฟ้อนรำถวายพระราชาจึงเสมือนการได้ถวายเทวดาสูงสุดด้วย (โดยเฉพาะตามลัทธิพราหมณ์ฮินดู ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสยามตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในส่วนสถาบันพระประมุขเองก็ได้ให้การสนับสนุนเหล่านาฏกรในพระบรมราชูปถัมภ์ บังเกิดเป็นศิลปะสกุล “หลวง” ที่มีความประณีต วิจิตร งามสง่าสมพระเกียรติ ฐานะของศิลปินเองก็ได้รับการยกย่อง บรรดาละครผู้หญิงของหลวงในอดีต จึงมักได้รับการอวยยศ ปูนบำเหน็จ หรือตั้งให้เป็น “เจ้าจอมหม่อมละคร” เพื่อสนองพระเดชพระคุณในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างสูงสุดเท่าที่พึงจะทำได้ จดหมายเหตุหรือพระราชพงศาวดารในอดีต จึงมักมีการกล่าวถึงสถานะและบทบาททางสังคมของศิลปินไว้ เช่น มีการพระราชทานศักดินา ให้แก่ “นายโรง” “ละคร” “โขน” หรือ “ระบำ” ให้มีศักดิ์และสิทธิ์เทียมชนชั้นมูลนาย
ในระยะเวลาหลายร้อยปีของราชอาณาจักรสยามที่ผูกพันกับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงทำให้วิจิตรศิลป์หลากสาขาเจริญรุ่งเรืองในปริมณฑลแห่งพระมหาเศวตฉัตร จวบจนถึงแผ่นดินในพระราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ศิลปะการฟ้อนรำยังคงได้รับพระมหากรุณาธิคุณดำรงไว้ในฐานะ “ราชูปโภค” แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในเอกสารมากมายที่กล่าวถึงละครผู้หญิงของหลวงหรือละครหลวง และมีการห้ามมิให้ผู้อื่นมีละครผู้หญิงไว้ในครอบครองด้วย (พระบรมวงศ์หรือมูลนายจะมีได้ก็แต่เพียงละครผู้ชายหรือโขน)
นับตั้งแต่ต้นกรุงจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความผันผวนอยู่ในวงการนาฏยศิลป์ตลอดเวลา ซึ่งล้วนต้องขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ในแต่ละรัชกาล ซึ่งบางพระองค์ก็โปรดปรานการละครมาก บางพระองค์ก็มิทรงสนพระทัย แต่ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีผลต่อสภาพนาฏยศิลป์โดยรวม เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มิทรงโปรดการละครฟ้อนรำ บรรดาละครหลวงต่างลอบออกมาภายนอก เพื่อถ่ายทอดวิชาให้กับสำนักละครเอกชนต่างๆ ทำให้ศิลปะชั้นสูงแบบหลวง ได้มีโอกาสเผยแพร่สู่ภายนอกจนได้รับความนิยมหลากหลาย เพราะถือว่าเป็นแบบ “พระราชนิยม” คือ เป็นที่พอพระราชหฤทัยและได้รับการขัดเกลาจากครูละครหลวงไว้อย่างประณีตที่สุดเท่าที่พึงทำได้ ดังนั้นเมื่อละครหลวงรูปแบบใดเกิดขึ้นใหม่จนเป็นที่นิยม ละครภายนอกก็ถือเอารูปแบบนั้นมาปฏิบัติตามด้วย เช่น การสร้างสรรค์กระบวนท่ารำกริชของเจ้าจอมมารดาวาด อิเหนา ละครหลวงในรัชกาลที่ 4 เลื่องลือมาว่ามีความงดงามหาผู้ใดเปรียบได้ ละครคณะอื่นๆ ก็ต้องแข่งขันโดยสร้างศิลปินหรือกระบวนท่ารำชุดเดียวกันให้งดงามเทียมกัน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ดู บ้างก็ต้องลักจำมาเพื่อให้สำนักตนได้มีโอกาสแสดงบ้าง บ้างก็ประดิษฐ์จนมี “ทาง” ในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างออกไป
สภาพการณ์นาฏศิลป์แบบพระราชนิยมดำเนินไปเช่นนี้จนกระทั่งชาวสยามได้รับแนวคิดและรูปแบบวัฒนธรรมจากดินแดนตะวันตก (ซึ่งถือว่ามีความศิวิไลซ์มากในขณะนั้น) ซึ่งส่งผลต่อความคิดทุกด้านไม่เว้นแต่การละครฟ้อนรำ ดังปรากฏการกำเนิดของละครพันทาง (ละครที่เล่นเป็นเรื่องราวของเชื้อชาติต่างๆ) หรือละครดึกดำบรรพ์ (ละครที่ได้รับรูปแบบจากการแสดง Tabault Vivant และ Opera ของตะวันตก) ซึ่งมีแสดงหลายคณะ เป็นที่น่าสังเกตว่าบทบาทของการละครฟ้อนรำได้เปลี่ยนจากความนิยมตามละครหลวงในพระบรมมหาราชวัง มาเป็นความนิยมตามละครข้างนอกของพระบรมวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ หรือเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เป็นต้น
บทบาทของนาฏยศิลป์เปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ละครหลวงต้องแตกแยกไปเนื่องจากไม่มีหน้าที่จะต้องเป็นราชูปโภคอีกต่อไป ความนิยมตามแบบพระราชนิยมก็เคลื่อนตัวออกสู่ภายนอก “รัฐบาล” กลายเป็นผู้มีหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติตัวของชาว “ไทย” ในยุคประชาธิปไตย ศิลปะการฟ้อนรำเริ่มถูกมองว่าต่ำต้อย เพราะเป็นการ “เต้นกินรำกิน” สะท้อนกรอบความคิดของผู้นำและประชาชนที่มีต่อศิลปะ จนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดนโยบายวัฒนธรรม “นิยมไทย” เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจคนในชาติให้หันกลับมาเล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมตนเองมากขึ้น ในด้านนาฏยศิลป์ก็มีการจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ (วิทยาลัยนาฏศิลปในปัจุบัน) และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ก็มีแนวคิดที่จะนำเอาการฟ้อนรำมาผนวกกับมรรยาททางสังคม จึงดำริให้มี “การรำโทน” และ “รำวงมาตรฐาน” (ได้ลักษณะจากการลีลาศเพื่อการสโมสรในประเทศตะวันตก ซึ่งหลายคนอาจยังจำได้ถึงหลักสูตรในการเรียนระดับมัธยมศึกษา) ด้วยการกำหนดวิธีการเช่นนี้จึงทำให้การฟ้อนรำผันแปรบทบาทไปตามความต้องการแห่ง “รัฐ” ก่อให้เกิดรูปแบบ “รัฐนิยม” และยังผลสืบเนื่องแนวทางปฏิบัติมาจนถึงนาฏยศิลป์ในสังกัดกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดรัฐ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแบบแผนการแสดงจากกรมศิลปากรเท่านั้นจึงจะได้รับการยอมรับ ยกย่องว่าถูกต้องงดงาม ซึ่งล้วนเป็นการบ่งบอกถึงการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดโดยอ้อมที่ยังผลต่อสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพียงไม่กี่สิบปีของนาฏยศิลป์ในระบอบประชาธิปไตย เป็นที่น่ายินดีว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้กระแสความนิยมในงานวัฒนธรรมไทย ได้หวนกลับมามีบทบาทในยุคที่ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น สถาบันการศึกษาเริ่มเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสตระหนักรู้ทางคุณค่าของงานศิลปะและวัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ เราจึงได้มีโอกาสเล่าเรียนรำไทยในบทบาทที่เป็น “กระแสของสังคม” ซึ่งเชื่อกันว่าการมีความสามารถพิเศษด้านวัฒนธรรมไทยจะได้รับการยอมรับนับถือ เช่น เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อต้องประกวดความสามารถพิเศษ หรือเมื่อสมัครงาน จึงทำให้การเรียนรำไทยเป็นไปตามกระแสวัฒนธรรม “ประชานิยม” (Popular Culture) แต่ก็น่าจะเป้นผลดีที่อย่างน้อยเราก็ทำให้เด็กไทยได้ภูมิใจในความเป็นชาติตัวเองบ้าง
เมื่อได้อธิบายถึงสภาพการณ์และบทบาทของการฟ้อนรำไทยมาตั้งแต่สมัยราชนิยม รัฐนิยม และประชานิยมแล้ว ทำให้เกิดข้อขบคิดสนุกๆ ขึ้นมาว่า ในอนาคตต่อไปรำไทย จะอยู่แบบ “อะไรนิยม” และ “ใคร จะนิยมรำไทย”




Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 0:10:32 น. 7 comments
Counter : 3044 Pageviews.

 


โดย: 3 IP: 203.113.71.107 วันที่: 13 มิถุนายน 2550 เวลา:21:02:23 น.  

 
ไม่รู้เรื่องเลยไรไม่รู้


โดย: .............. IP: 61.19.65.33 วันที่: 1 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:56:13 น.  

 


โดย: .............. IP: 61.19.65.33 วันที่: 1 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:58:05 น.  

 
ไม่รู้เรื่องเลยค่ะ


โดย: ฟ้า IP: 203.113.70.76 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:04:04 น.  

 


โดย: ควาย IP: 203.113.70.76 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:05:17 น.  

 
เนเธ„เนˆเธ™เธตเน‰เธเน‡เธกเธฒเน‚เธžเธชเธ•เนŒ


โดย: 999 IP: 117.47.15.96 วันที่: 10 กรกฎาคม 2551 เวลา:7:49:54 น.  

 
ชอบบล็อคคนี้มากมายค่ะได้รู้ข้อมูลนาฏศิลป์มากมายเลย

ทำให้ภูมิใจมากๆที่เกิดเป็นคนไทย


นู๋อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับรำวงมาตราฐานอะคะ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาทำไมต้องใช้คำว่ารำวงคะ มันมาจากภาษาอะไรเร้วก็แต่ละท่ารำเกิดยังไงคะ ทำไมกรมศิลปากรต้องใช้ท่ารำแบบนี้อะคะ นู๋อยากได้ข้อมููลทำรายงานอะคะ เอาเป็นความคิดเห็นของพี่ก็ได้นะคะ
รบกวนหน่อยนะคะเด๋วนู่มาวิเคราะห์เอง

ขอบพระคุณค้าnujaegja@hotmail.comเมลล์นู๋ค้านู๋ไม่ได้เป็นสมาชิกอะคะ


โดย: เด็กขี้สงสัย IP: 61.7.186.42 วันที่: 10 สิงหาคม 2553 เวลา:11:58:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.