รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
การนำเสนอผลงานการออกแบบทางศิลปะการแสดง


ธรรมจักร พรหมพ้วย
________________________________________
การออกแบบทางศิลปะการแสดง
ในการสร้างงานใดๆ ก็ตาม ผู้ออกแบบการแสดงจะต้องสามารถอธิบายรายละเอียดของงาน ความหมายหรือสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้ผู้แสดงได้รับทราบอย่างละเอียด เพราะผู้แสดงจะเป็นผู้ถ่ายทอดผลงานทางความคิดให้ปรากฏแก่สายตาของผู้ชม ให้ได้รับรู้ถึงจินตนาการทางความคิดของผู้สร้างงาน ผู้ออกแบบการแสดงที่ดีจึงนิยมคัดเลือกผู้แสดงผลงานของตนด้วยตัวเอง เพื่อให้ตรงกับผลงานอันจะทำให้สัมฤทธิผลใกล้เคียงที่สุด และการที่ผู้ออกแบบการแสดงรู้จักผู้แสดงเป็นอย่างดี ก็จะเอื้อประโยชน์แก่ผู้ออกแบบการแสดงได้ โดยนำความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงมานำเสนอนั่นเอง ส่วนคุณสมบัติที่ดีของผู้แสดง ก็คือ การเคารพในความคิดของผู้ออกแบบการแสดง หมายความว่าผู้แสดงจะต้องเชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ออกแบบการแสดง แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้แสดงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้เลย ผู้แสดงควรสำนึกในมารยาทของการเป็นผู้ถ่ายทอดผลงาน การแสดงความคิดเห็นจะอยู่ในขอบเขตที่พึงกระทำได้ เช่น ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ออกแบบได้ เนื่องจากขีดจำกัดทางความสามารถ ความขัดแย้งของท่ากับทิศทางหรือความบกพร่องใดๆ ก็ตาม ผู้แสดงสามารถแจ้งหรือแนะนำแก่ผู้ออกแบบได้ โดยการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบเท่านั้น
ในการร่วมงานระหว่างผู้ออกแบบและผู้แสดง จำเป็นต้องอาศัยการถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการทำงาน ดังนั้นหากทุกคนรู้หน้าที่และขอบเขตของการทำงานแล้ว ผลงานการแสดงก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น
ในกระบวนการออกแบบการแสดงนั้น นอกเหนือจากการที่ผู้ออกแบบจะสามารถสื่อสารกับผู้แสดงได้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ในขั้นตอนการนำเสนองานเพื่อของบประมาณสนับสนุนการแสดง หรือเพื่อเสนอขายผลงานนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ออกแบบจะต้องสามารถอธิบายจินตภาพที่ได้วาดไว้ในสมองนั้น สื่อสารให้ผู้อำนวยการสร้าง ผู้ลงทุน ผู้ให้การสนับสนุนเชื่อถือในความคิด และเห็นคล้อยตามได้ว่าการแสดงนั้นจะประสบความสำเร็จและคุ้มค่าแก่การลงทุนจัดแสดงเพียงใด นักออกแบบการแสดงในประเทศอาจยังมีข้อด้อยในการนำเสนอในลักษณะ เพราะบางครั้งความเป็นตัวตน (Ego) ของผู้ออกแบบที่มีความเป็นศิลปินสูง ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำความเข้าใจในกระบวนการนำเสนอผลงานจะยังประโยชน์แก่ผู้ออกแบบได้เป็นอย่างดี

แรงบันดาลใจ (Inspiration)
นักออกแบบที่ดีจะนำเครื่องปรุงสำคัญสองอย่างเป็นฐานข้อมูลเพื่อการออกแบบ อย่างแรกคือแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่จะสร้างผลงานแบบใดแบบหนึ่งให้เกิดขึ้น และอย่างที่สองคือความเป็นเจ้าตำรับ (Originality) ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จะทำให้งานของเราสามารถแยกออกจากงานชิ้นอื่นๆ ได้
นักออกแบบจะได้แรงบันดาลใจจากการสังเกตสิ่งรอบตัว ด้วยความรู้สึกไวและซึมซับเอาสิ่งประทับใจรอบๆ ตัวเหล่านี้ลงไปสู่จิตใต้สำนึก หรือจากประสบการณ์ซึ่งเป็นแรงบันดาลที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เราจะเห็นความคิดวาบเข้ามาสู่ความคิดของเราเสมอ โดยที่เราไม่ได้หวังหรือตั้งใจมาก่อน
ด้วยเหตุที่ว่าแรงบันดาลใจนั้นจะต้องอาศัยสิ่งที่น่าประทับใจเป็นเชื้อ นักออกแบบจึงต้องใช้ความไวในการซึมซับโลกเข้าสู่ความรู้สึกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักออกแบบบางคนที่แรงกระตุ้นของเขาเกิดจากการที่ได้ท่องเที่ยวในที่ใหม่ๆ นักออกแบบางคนอาศัยความทรงจำ กล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้ว ยิ่งเราได้พบเห็น ได้ยิน ได้ดู ได้สัมผัสศิลปะการละคร การเต้นรำ บทกวีและดนตรีมากเท่าไหร่ เรายิ่งเรียนรู้มากเท่านั้น และถ้าเราพยายามทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ด้วย เราจะยิ่งสามารถออกแบบผลงานที่ปลุกความสนใจของผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนความเป็นเจ้าตำรับนั้น เกิดจากความเป็นตัวของตัวเองของนักออกแบบ ทุกวันนี้เราถูกหล่อหลอมด้วยอิทธิพลอย่างเดียวกันมาตั้งแต่เด็ก เพื่อร่วมชั้นในโรงเรียนประถมพูดถึงเรื่องราวที่ใช้อ้างอิงเรื่องเดียวกันเหมือนกับเด็กอื่นๆ ทั่วประเทศ และอาจทั่วโลก ซึ่งอาจจะมาจากโฆษณาเรื่องเดียวกันบนจอโทรทัศน์ การที่จะฝึกหัดนักออกแบบให้รู้จักดึงจินตนาการออกมาใช้ในการนฤมิตงานอาจทำได้ยาก แต่ก็อาจทำได้โดยการฝึก โดยการปรับหรือขยายจากสิ่งที่เขาเห็นอยู่เดิมตั้งแต่เด็ก


จินตภาพ (Imaginary)
จินตภาพอยู่เบื้องหลังงานศิลปะส่วนใหญ่ เพราะศิลปินและนักออกแบบใช้จินตภาพแปลงความคิดของเขา แล้วแสดงออกมารูปแบบของศิลปะ อีกนัยหนึ่งจินตภาพอาจตั้งเป็นคำนิยามได้ว่า เป็นกิริยาของการสร้างภาพ เช่น ในการวาดภาพหรือเขียนภาพ ภาพอาจเป็นคน สถานที่ หรือสิ่งของ แต่อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ปลุกสิ่งอื่นๆ และความคิดได้ด้วย แนวคิดเกี่ยวกับจินตภาพอาจมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเราได้เข้าใจความแตกต่างของจินตภาพสองชนิด นั่นคือ จินตภาพจากภาพ และจินตภาพจากความคิด
จินตภาพจากภาพ จินตภาพที่เกี่ยวโยงอยู่กับสิ่งของจริงๆ ที่มีอยู่จริง หรือมีอยู่จริงในอดีตและคงอยู่ในความทรงจำของเรา ไม่มีคู่ใดที่จะเห็นในลักษณะเดียวกัน แม้แต่ศิลปินที่พยายามเขียนภาพเหมือนจริงก็มักจะได้รับอิทธิพลไม่น้อยจาก “สายตาส่วนตัว”
จินตภาพจากความคิด ภาพจากความคิดมักเป็นสัญลักษณ์ เป็นร่าง เป็นรูปทรง ซึ่งเป็นตัวแทนของบางสิ่งบางอย่างในใจของศิลปินมากกว่าสิ่งที่เห็นจริงๆ อีกนัยหนึ่งเป็นแนวคิดส่วนตัวของศิลปินเกี่ยวกับเรื่องราว จินตภาพจากความคิดเกิดจากอารมณ์ ความเพ้อฝัน หรือการคิดค้น
เรามักจะคิดว่าดวงตาเหมือนกล้องถ่ายรูป แต่ดวงตาของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องบันทึกภาพสมบูรณ์หรือภาพถอดเป็นกรอบๆ สิ่งเหล่านี้อาจเพิ่มเข้าเป็นความทรงจำ ฝันเพ้อเจ้อ ฝันหวาน ฝันร้าย หรือทัศนะส่วนตัว และกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับจินตภาพจากความคิด ปฏิกิริยาส่วนตัวต่อสิ่งเหล่านี้ บ่อยครั้งที่เกิดแสดงออกที่เป็นเอกลักษณ์
ที่กล่าวมานั้นเป็นหัวใจและขอบเขตของการออกแบบซึ่งเป็นแกนที่เราต้องค้นพบซ้ำแล้วซ้ำอีกในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะการแสดง และไม่ว่าจะในศิลปะสาขาใด และนากจากนั้นยังมีความผูกพันกับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือเสพย์งานศิลปะ หรือผู้ตัดสินชี้ขาดงานออกแบบ ผู้วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งเด็กหลังฉาก

คุณสมบัติในการออกแบบการแสดง
บางครั้งการออกแบบดูเหมือนเป็นงานที่ทำได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กว่าที่ออกมาเป็นผลงานการแสดงครั้งหนึ่งๆ นั้น จะต้องผ่านขั้นตอนมากมายซึ่งนักออกแบบจะต้องมีความรู้ความสามารถและลักษณะนิสัยที่สามารถผลักดันแนวความคิดเหล่านั้นออกมาเป็นการแสดงได้ ซึ่งคุณสมบัติของนักออกแบบที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วย
 มีแรงกระตุ้น (Motivation) คือ มี “ไฟ” ที่จะแก้ปัญหาให้ออกมาเป็นการแสดงที่มีความใหม่สด มีความฝักใฝ่ที่จะสร้างสรรค์ตลอดเวลา ไม่ใช่ทำไปวันๆ ตมเวลางาน
 มีรสนิยมที่ดี (Good taste) สามารถแยกแยะได้ว่าแค่นี้ตลก เลยจากนี้เรียกว่าลามก เป็นต้น ที่ต้องมีรสนิยมที่ดีนั้น เพราะนักออกแบบจะเป็นผู้กำหนดแนวนิยม () ของคนในสังคมว่าจะชอบหรือไม่ชอบอะไร
 มีความรับผิดชอบ (Responsibility) เพราะข้อผูกมัดด้านเวลา ว่าจะต้องเสร็จตามกำหนด (Deadline) ภายในงบประมาณที่กำหนด
 รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น รับตั้งแต่ลูกค้า เจ้านาย ลูกน้อง ผู้กำกับเวที ผู้ออกแบบท่าเต้น นักแสดง เป็นต้น
 มีความสามารถในการขาย (Salemenship) เพราะความคิดดีๆ ที่ขายไม่ได้นั้นก็ไม่ต่างอะไรไปกับความคิดเลวๆ ที่ขายไม่ได้ เพราะไม่ได้ออกมาเป็นงาน ไม่มีใครได้เห็น ความสามารถจะจูงใจลูกค้าให้ซื้องานออกแบบจึงเป็นเรื่องจำเป็น
 มีความรู้ในเชิงปฏิบัติการ (Theatrical Khow-How) เช่น ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรงละคร การประสานงาน การกำกับการแสดง การฝึกซ้อม ฯลฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อเวลาที่ต้องจัดการแสดงจริง
 มีความรู้ในเรื่องการตลาดเบื้องต้น (Basic Marketing) ในปัจจุบันศิลปะการแสดงได้เปลี่ยนรูปแบบที่ทำขึ้นเพื่อสนองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากขึ้น ทำให้การนำเสนอการแสดงต้องผานบริษัทจัดการแสดง (Organizer Company) ดังนั้นผู้ออกแบบจะต้องรู้ถึงภาพรวม งบประมาณและปัจจัยทางการตลาดในระดับพื้นฐานมาบ้าง เพื่อมิให้เกิดความเสียเปรียบในเชิงธุรกิจ

คุณสมบัติที่ดีของนักออกแบบการแสดงที่ได้กล่าวมานั้น เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่หากสามารถมีอยู่กับตัวแล้ว อุปสรรคอันจะเกิดตามมาเมื่อคิดออกแบบจะลดลง แต่ทักษะการฝึกฝนและเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นรวมทั้งการได้รับการอบรมจากสถานการศึกษาที่มีการจัดระบบที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเป็นเองได้โดยธรรมชาติ


กระบวนการออกแบบ
การออกแบบการแสดงคือการสื่อสารที่มุ่งบังคับการตอบสนอง การออกแบบจึงต้องมีกระบวนการที่เป็นขั้นตอนในการที่จะสรุปและเจาะจงข้อมูล ความรู้สึกและความประทับใจที่ต้องการให้กลุ่มเป้าหมาย () ได้รับรู้ รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลนั้น ซึ่งสามารถเขียนสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

ขั้นที่ 1
ปัญหาของลูกค้า
(Client’s Brief) รับทราบปัญหาจากลูกค้า เช่น ต้องการการแสดงในรูปแบบใด หรือต้องการเน้นการนำเสนอภาพลักษณ์ในส่วนใด
ขั้นที่ 2
ค้นคว้าและวิเคราะห์
(Research & Analyze) หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหา เช่น คู่แข่งทางการค้าทำในลักษณะไหน และกลุ่มผู้ชมเป้าหมายมีพฤติกรรมอย่างไร
ขั้นที่ 3
โจทย์การออกแบบ
(Design Brief) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว นำมาสรุปเพื่อเขียนเป็นโจทย์ที่จะใช้ในการออกแบบ โดยในโจทย์จะต้องระบุข้อมูลที่ต้องการจะสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย
ขั้นที่ 4
การออกแบบ
(Design) พยายามสื่อข้อมูลที่กำหนด โดยวางแผนไว้ในงานออกแบบว่าจะแทนข้อมูลนั้นๆ ด้วยการเสนอภาพการแสดงแบบใด เช่น การใช้อุปกรณ์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ หรือการให้ความหมายในสีของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
ขั้นที่ 5
การนำเสนอผลงาน
(Presentation) นำงานที่ออแบบแล้วไปเสนอให้ลูกค้าพิจารณา หากเห็นชอบผ่านไปขั้นที่ 5 หากไม่เห็นชอบกลับไปที่ขั้นที่ 2, 3 หรือ 4 ใหม่ ตามแต่กรณี
ขั้นที่ 6
การผลิต
(Production) สร้างแนวคิดออกมาเป็นผลงานตามที่ได้วางแผนไว้ในขั้นที่ 4 พร้อมทั้งระบุขั้นตอนในการจัดการแสดงโดยละเอียด

การนำเสนอผลงาน
ในเบื้องต้นนี้จะได้นำกล่าวถึงนิยามของการนำเสนอ การนำเสนอ เป็นวิธีการ/เครื่องมือ ในการติดต่อสื่อสาร (Communication) การถ่ายทอด (Delivery) ข้อมูล แผนงาน โครงการ ข้อเสนอ ฯลฯ จากผู้นำเสนอผลงาน กับผู้พิจารณาผลงานหรือจากผู้นำเสนอ ไปสู่บุคคล กลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ให้บุคคลกลุ่มเป้าหมายหรือผู้รับสาร เห็นด้วย คล้อยตาม สนับสนุน อนุมัติ ให้ดำเนินการ
จากคำอธิบายดังกล่าว พอจะพิจารณาถึงสาระสำคัญของการนำเสนอได้ว่า การนำเสนอ เป็นการถ่ายทอด การนำเสนอ (Delivery Technique) และเป็นการขาย (Selling Technique)
เนื่องจากการนำเสนอ เป็นเรื่องของการติดต่อสื่อสารจึงใคร่ขอเสนอองค์ประกอบของการสื่อสารพอสังเขป ซึ่งมีนักวิชาการได้เสนอแบบจำลองขององค์ประกอบของการสื่อสารไว้มากมาย หากเปรียบเทียบ การติดต่อสื่อสารกับการนำเสนอ ก็จะได้ดังนี้

การสื่อสาร การนำเสนอ
1. ผู้ส่งสาร 1. ผู้นำเสนอ
2. สาร 2. โครงการ/งาน/ข้อเสนอ
3.ช่องทางการสื่อสาร หรือสื่อ 3. วิธีการนำเสนอ การเขียน การพูด การบรรยายสรุป การใช้สื่อโสตทัศน์ต่างๆ
4. ผู้รับสาร 4. กรรมการบริหาร, ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ผู้บังคับบัญชา ผู้มาเยี่ยมชมกิจการ ลูกค้า ฯลฯ
5. ข้อมูลป้อนกลับ 5. การอภิปราย ซักถาม ของที่ประชุม

มีความเข้าใจร่วมกัน
การอนุมัติ/รับรู้/มีความรู้ /ได้รับความร่วมมือ ฯลฯ

เราขายอะไรในการนำเสนอ
- ขายความคิดสร้างสรรค์ / ความฝัน / จินตนาการ จากที่ได้กล่าวแล้วว่าการทำงานสร้างสรรค์หรือออกแบบการแสดงนั้น เป็นการสื่อสารจินตภาพให้ปรากฏแก่ผู้ฟัง ซึ่งผู้ฟังในที่นี้อาจเป็นผู้แสดง ผู้อำนวยการสร้าง (ที่จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการแสดงครั้งนั้น) ผู้สนับสนุน ดังนั้น การขายความคิดหรือที่เรียกกันภาษาตลาดว่า ขายไอเดีย จึงเกิดขึ้นในวงการนักออกแบบ ลูกค้า (คือผู้ที่ลงทุนสำหรับการแสดง) มีหน้าที่เป็นพระเจ้าที่จะเลือก ซื้อ หรือ ไม่ซื้อ แนวความคิดที่เราได้นำเสนอนี้
- ขายผลประโยชน์ที่ลูกค้าหรือผู้ลงทุนจะได้รับ การขายความคิดนอกเหนือจากที่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ออกแบบการแสดงแล้ว งานในบางส่วนอาจไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้ลงทุน เพราะผู้ลงทุนเห็นว่าการแสดงนี้จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้าหรือไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของผู้ให้การสนับสนุน ดังนั้นผู้ออกแบบน่าที่จะศึกษาผลประโยชน์ที่ลูกค้าหรือผู้ให้การสนับสนุนแต่ละบริษัทจะได้รับมาเป็นอย่างดี มิเช่นนั้นการพลาดโอกาสทางการเงิน อาจเป็นชนวนที่ทำให้การแสดงในฝันของคุณไม่อาจเกิดขึ้นได้
- ขายความสามารถของผู้กำกับการแสดง ผู้ออกแบบ และทีมงาน นอกเหนือจากพลังสร้างสรรค์แห่งนักออกแบบแล้ว การรวมคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะให้งบประมาณหรือไม่ บางครั้งความน่าเชื่อถือของบางบุคคลหรือบางองค์กรที่เป็นที่ยอมรับและเคยมีผลงานเป็นที่น่าประทับใจมาแล้ว จะเป็นแรงโน้มน้าวให้ผู้ลงทุนกล้าตัดสินใจที่จะร่วมให้การสนับสนุน แต่ทั้งนี้การรวมคณะทำงานที่มีความสามารถที่มีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการแสดงมาก หากเล็งเห็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่แม้ยังไม่มีชื่อเสียงมากนักและจะนำเข้าร่วมคณะทำงาน ควรแถลงให้ผู้ลงทุนทราบถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของคณะทีมงานที่รวบรวมขึ้นให้สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี

รูปแบบการนำเสนอ
- การนำเสนอด้วยลายลักษณ์อักษร ผลงานการแสดงที่สวยงามบนเวทีนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในวงการธุรกิจหากปราศจากการนำเสนอเนื้อหาที่ดี พึงระลึกว่า แม้ว่าในขณะที่เราชมการแสดงนั้น เราเปิดโอกาสให้ผู้ชมตีความการแสดงของเราได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อเราจะต้องนำเสนอก่อนที่สร้างเป็นการแสดงนั้น ผู้ลงทุนอาจไม่เข้าใจการตีความหรือการความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ลุ่มลึกได้ การอธิบายด้วยตัวการจัดทำเอกสารประกอบ หรือที่เรียกว่า Proposal จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจถึงความคิดของผู้ออกแบบได้ ทั้งยังช่วยเสริมให้การนำเสนอด้วยวาจาเป็นไปได้สะดวก เพราะผู้ฟังสามารถอานตามในเอกสารได้
- การนำเสนอด้วยวาจา ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะการพูดให้เห็นภาพ บุคลิกภาพ น้ำเสียง และปฏิภาณของผู้นำเสนอ จะช่วยให้ผู้ฟังสร้างภาพตามจินตนาการของผู้ออกแบบได้ ยิ่งทำให้เห็นภาพในความคิดได้ตรงกันเท่าใด ความสำเร็จทางการสื่อสารด้วยการสร้างภาพยิ่งเกิดผลสัมฤทธิ์มากเท่านั้น ทั้งนี้ควรจะผสมผสานการนำเสนอทั้งลายลักษณ์อักษรและการนำเสนอด้วยวาจาให้มีความสอดคล้องกัน มิเช่นนั้นการทำความเข้าใจตามลำดับการพูดอาจเป็นไปได้ยาก และผู้ออกแบบควรจดจำเอการที่ได้นำเสนอแก่ผู้ฟังไปนั้นได้เป็นอย่างดี อาจมีเอกสารอีกฉบับหนึ่งสำหรับใช้ประกอบการอ้างอิงขณะนำเสนอด้วยวาจาก็ได้

การเตรียมการเพื่อการนำเสนอ (Preparation)
- วิเคราะห์ผู้ฟังโดยละเอียด
Group Size (ขนาดของกลุ่มเป้าหมาย)
Age & Sex (เพศ และวัย ของกลุ่มเป้าหมาย)
Subject Knowledge (พื้นฐานความรู้ของกลุ่มเป้าหมายในเรื่องที่เราจะนำเสนอ)
Attitude (กลุ่มเป้าหมาย มีทัศนคติอย่างไร ต่อเรื่องที่เราจะนำเสนอ)
Believe & Prejudice (ความเชื่อ และ อคติ)
- วิเคราะห์เนื้อหาสาระประเด็นหลัก/ประเด็นเสริม(สนับสนุน)
- เตรียม อุปกรณ์/เครื่องมือ/ข้อมูล ตาราง แผนภูมิ แผนภาพประกอบ
- วัน เวลา สถานที่ ที่จะนำเสนอ
- นึกถึงคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นในที่ประชุมทุกแง่ทุกมุมและเตรียม แนวทางในการตอบปัญหา
- ซ้อมโดยจำลองสถานการณ์จริง
- จับเวลา จดประเด็นที่ขัดข้องและต้องแก้ไข แล้วปรับปรุงแก้ไข
- ซ้อมซ้ำจนเกิดความคล่องและมั่นใจ

ขั้นตอนการนำเสนอ
- กล่าวทักทายที่ประชุม แนะนำตนเอง
- บอกชื่อการแสดง วัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลัก
- ระบุถึงรูปแบบการแสดงและรายละเอียดประกอบอื่นๆ เช่น งบประมาณ หรือระยะเวลาเตรียมงานที่จำกัด
- เริ่มนำเสนอโดยใช้โสตทัศนูปกรณ์ ประกอบการนำเสนอ
- สรุป/ลงท้ายตามประเด็นแห่งวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- เปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือที่ประชุมอภิปราย/ซักถาม
- ตอบคำถามด้วยความมั่นใจตามแนวทางที่เตรียมมา
- กล่าวขอบคุณที่ประชุม

การใช้สื่อ (สื่อประเภทโสตทัศน์ หรือ โสตทัศนูปกรณ์) ในการนำเสนอ
การนำโสตทัศนูปกรณ์ที่มีความทันสมัยนั้น เป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับผลงาน ในอดีตนั้น การนำเสนอผลการการออกแบบทางศิลปะการแสดงมักจะต้องประกอบไปด้วย ภาพร่างการแสดง ภาพร่างเครื่องแต่งกาย ฉาก ระบบแสงเสียง หรือบางครั้งอาจต้องสร้างแบบจำลอง (Model) ซึ่งจำลองเวทีการแสดงให้เหลือขนาดย่อมที่มีลักษณะใกล้เคียงของจริงมากที่สุด หรือบางครั้งการนำเสนอตัวอย่างการแสดงส่วนหนึ่ง หรือการทดลองตัดเย็บเครื่องแต่งมาประกอบการนำเสนอจะช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพตามได้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิคได้พัฒนาขึ้น การสร้างผลงานสามมิติให้ปรากฏอยู่บนหน้าจอจึงสามารถทำได้โดยง่าย และมีโปรแกรมมากมายที่จะช่วยสร้างผลงานสามมิติเหล่านี้มากมาย ตลอดจนคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook/Laptop) ช่วยให้สามารถนำเสนองานได้แม้ในสถานที่ที่ไม่เอื้อต่อระบบเทคนิค โสตทัศนูปกรณ์เหล่านี้มีหน้าที่ช่วยในการนำเสนอดังนี้
- HOLD ATTENTION (ดึงดูดความสนใจ)
- CLARITY (กระจ่างชัด)
- PROVIDE COMMON EXPERIENCE (รับรู้ เข้าใจในสิ่งนั้นๆ ตรงกัน)
- OVERCOME SPACE&TIME (ขจัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของเวลาและสถานที่)

ขั้นตอนการใช้สื่อโสตทัศนูปกรณ์
1. การวางแผน (Planning)
- กำหนดหัวเรื่องและวัตถุประสงค์ให้กระชับ
- เลือกสื่อ (สไลด์, แผ่นภาพโปร่งใส, คอมพิวเตอร์ เช่น PowerPoint, Authorware หรือ อื่นๆ ที่ Run บน Web Browser เป็นต้น) โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้รับชม และความพร้อมของสถานที่ที่จะนำเสนอว่ามีอุปกรณ์รองรับเพียงพอหรือไม่ การนำเสนอที่หรูหราเกินเนื้อหาที่ดี อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากฟังต่อจนจบ
- ประชุมผู้เกี่ยวข้อง (ในการผลิตสื่อเพื่อการนำเสนอในเรื่องนั้นๆ) เพราะการนำเสนอที่มีโสตทัศนูปกรณ์ อาจจำเป็นต้องมีผู้ช่วยนำเสนอ เพื่อให้การภาพสัมพันธ์กับการพูด ดังนั้นการซักซ้อมของผู้เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมการมาเป็นอย่างดี
- เวลาในการผลิต และเวลาสำหรับการนำเสนอ สื่อบางอย่างแม้จะเข้าใจง่าย แต่ต้องใช้เวลาในการผลิตมาก ต้องตัดต่อหรือหาข้อมูลมาโดยลำบาก การผลิตจึงใช้เวลามาก และควรคำนึงถึงความยาวของสื่อที่จะนำเสนอว่าจะไม่เบียดบังเวลาในการนำเสนอด้วยวาจาหรือการแสดงตัวอย่างสด
- ความสามารถทางเทคนิค บุคคลากรและอุปกรณ์ที่มีอยู่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะผลิตสื่อที่ดีได้หรือไม่ หากไม่มีความชำนาญเพียงพอการนำเสนอผ่านแผ่นกระดาษและวาทศิลป์ที่เฉียบขาด อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าโสตทัศนูปกรณ์ที่ดูด้อยค่า
2. การผลิต (Production)
ก่อนผลิตสื่อใดๆ ควรตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองว่า ใช้เสียงประกอบหรือไม่ จำเป็นต้องใช้ภาพเคลื่อนไหวหรือไม่ กลุ่มเป้าหมายใหญ่แค่ไหน ยุ่งยากในการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ (หากพบข้อผิดพลาด หรือข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง) ทำเองได้ทุกอย่างหรือไม่ บางอย่างที่ทำเองไม่ได้ มีใครจะช่วยเราได้หรือไม่ เราสามารถติดต่อกับเขาผู้นั้นหรือกลุ่มนั้น ได้ยากง่ายแค่ไหน วัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือต่างๆ เพื่อการผลิตครั้งนั้นๆ มีเพียงพอหรือไม่ เป็นของเราเองที่จะหยิบใช้โดยสะดวกหรือไม่ หรือว่าต้องหยิบยืมผู้อื่น ถ้ายืมมาแล้วเราใช้เองได้หรือไม่ หรือว่าต้องให้คนของเขามาเป็นผู้ใช้ หรือทำให้ จะผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกหรือไม่ ถ้ามี จะมีวิธีการอย่างไร ทุน และเวลาในการผลิตเพียงพอหรือไม่ มีปัญหาในการนำไปใช้หรือไม่ (เช่น อุปกรณ์ที่ต้องใช้ประกอบ, สถานที่ฯลฯ)
3. การนำเสนอ (Presentation)
การเสนอภาพการผลิตการแสดง (Production) ประกอบด้วยเขียนบท (Script) หรือ เขียน Storyboard ซึ่งเป็นเสมือน พิมพ์เขียวที่จะนำไปสร้างบ้านนั่นเอง การเขียนบทนั้น อาจมีตั้งแต่แบบง่ายๆ จนถึงยากๆ ที่มีความสลับซับซ้อน เช่นบทในการกำกับ เรื่องย่อ แก่นเรื่อง โครงเรื่อง Treatment บทสนทนาตัวอย่าง ภาพตัวอย่างการแสดงอาจจะเป็นแบบง่ายๆ หากเป็นสไลด์ประกอบเสียงแบบฉายเครื่องเดียวก็ยุ่งยากขึ้นมาอีก ถ้าเป็นสไลด์ แบบ Dissolve Control ที่ใช้สไลด์ 2-3 เครื่อง ก็ยุ่งยากเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นสไลด์ Multivision ที่ใช้เครื่องฉายหลายๆ เครื่องก็ยิ่งยุ่งยากมากขึ้น หรือหากผลิตเป็นวิดีทัศน์ (Video) ก็ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น หรือจะผลิตด้วยคอมพิวเตอร์เช่น เป็นการนำเสนอด้วยโปรแกรม Authorware Professional หรืออาจจะเป็น PowerPoint Presentation หรือ Multimedia Toolbook ก็แล้วแต่จะพิจารณาก็ต้องเขียน Storyboard ที่ค่อนข้างละเอียด เพื่อให้กลุ่มผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการผลิต และเข้าใจตรงกัน เป็นต้น
เมื่อได้บท หรือ Script หรือ Storyboard มาแล้ว ก็เป็นเสมือนลายแทง หรือ พิมพ์เขียว ของแบบบ้าน ที่จะนำไปสร้างบ้านกันต่อไปก็ทำการลงมือผลิตตามแผนที่ได้วางไว้ สิ่งที่ผู้นำเสนอจำนวนไม่น้อยเป็นห่วงก็คือ อยากจะนำเสนอทุกสิ่งทุกอย่าง บนจอภาพ แต่ใคร่เสนอแนะว่า อย่าอย่าใส่ข้อความและภาพเข้าไปมากมาย ยุ่งเหยิง เลอะเทอะ ควรใส่เฉพาะหัวเรื่องที่สำคัญๆ เป็นข้อๆ ส่วนรายละเอียด ต่างๆ นั้น ผู้นำเสนอควรจะใช้วิธีการ บรรยาย อธิบายรายละเอียดเอง

ข้อควรคำนึงในการเลือกสื่อและอุปกรณ์
- ขนาดของผู้ฟัง หรือบุคคลกลุ่มเป้าหมาย
- สถานที่ในการนำเสนอ
- เวลาในการนำเสนอ
- เวลาสำหรับการผลิต
- งบประมาณในการผลิต


การเตรียมงานอุปกรณ์
- ตัดสินใจว่าจะนำอุปกรณ์อะไรไปใช้บ้าง
- เตรียมหลอดฉายสำรอง, ข้อต่อต่างๆ, สายเคเบิ้ลที่เกี่ยวข้อง, สายไฟสำหรับปลั๊กพ่วงที่มีความยาวพอสมควร ฯลฯ
- นำอุปกรณ์ที่ดีมีคุณภาพไปใช้
- ถ้าไปในที่ห่างไกลควรสอบถามเจ้าของสถานที่ว่ามีอุปกรณ์อะไรให้ใช้ได้บ้าง และคุณภาพเป็นอย่างไร ระดับไหน (ทราบยี่ห้อ รุ่น ด้วยยิ่งดี)
- ควรมีบัญชีรายชื่ออุปกรณ์ที่นำไปใช้

การร่างโครงเรื่องและเลือกภาพประกอบการนำเสนอ
- ร่างโครงเรื่องให้ตรงกับหัวเรื่อง
- ลำนำเรื่องโดยชักจูงใจ ชวนให้ติดตาม
- เสนอเรื่อง อธิบายเนื้อหาสาระให้กระจ่าง
- สรุปให้ได้ใจความชัดเจนและจับใจ
- ภาพที่ใช้ต้องตรงหรือใกล้เคียงกับเนื้อเรื่อง
- ภาพที่ใช้ต้องเหมาะสม ทันสมัย
- ใช้ภาพที่ดี มีคุณภาพ
- เรียงลำดับภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม

เทคนิคการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ
- ผู้ฟังและผู้นำเสนอควรเห็นกันได้ชัดเจนและทั่วถึง
- ผู้ฟังและผู้นำเสนอได้ยินเสียงชัดเจน
- ผู้ฟังและผู้นำเสนอต้องเห็นภาพบนจออย่างชัดเจน
- ผู้ฟังคือบุคคลสำคัญ

การซ้อมก่อนนำเสนอ
นักออกแบบที่เก่งกาจ มีประสบการณ์ ก็ไม่ควรประมาท เฉกเช่นเดียวกับการแสดงที่ดีนั้น ก็ต้องผ่านการักซ้อมมาหลายครั้งหลายหน จึงเกิดความช่ำชอง และสามารถนำเสนอให้ลุล่วงอย่างดีที่สุดได้
- ซ้อมให้ได้ในเวลาที่กำหนด
- ซ้อมการใช้สื่อ อุปกรณ์ต่างๆ ให้คล่อง
- ถ้าซ้อมในสถานที่จริงได้จะเป็นการดีมาก
- ซ้อมต่อหน้าผู้ที่จะให้คำแนะนำเราได้
- ซ้อมให้มั่นใจก่อนนำเสนอจริง
- มั่นใจในเรื่องที่นำเสนอ (มีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนั้น)
- มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ฟังหรือกลุ่มเป้าหมาย
- รู้จักผ่อนคลายอิริยาบถ
- อย่ากังวล ประหม่า
- เตรียมตัวเลือกเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม
- เตรียมบทสรุป เตรียมตอบคำถามด้วยความมั่นใจ สุขุม สุภาพ กำหนดเวลาสำหรับการณ์นี้ไว้ด้วย

ข้อบกพร่องที่พบเสมอในขณะนำเสนอ
- หลอดฉายขาด
- ติดขัด เช่นสไลด์ติดขัด คอมพิวเตอร์ขัดข้อง เสียงขัดข้อง ฯลฯ
- แสงสว่างรบกวน ภาพไม่ชัด ห้องไม่มืดพอเพื่อการใช้สื่อบางอย่าง
- เรียงลำดับภาพผิดๆ ถูกๆ ภาพกลับหัว กลับข้าง
- คำพูดไม่สัมพันธ์กับภาพ
- แสงสว่างจ้าบนจอ
- หันหลังให้ผู้ชม ผู้ฟัง มากเกินไป (บ่อยๆ )
- กรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์นำเสนอจากหลายๆ ไฟล์ หาไฟล์ไม่พบ ไม่รู้ว่า อยู่โฟลเดอร์ไหน
- สร้างโปรแกรมจากเครื่องอื่น แล้วนำมาติดตั้งยังเครื่องที่จะนำเสนอ Font เกี่ยวกับภาษาไทย มีปัญหา อ่านไม่ออก (ควรใช้เฉพาะ Font ในสกุล UPC สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows)
- สื่อ Power Point นั้นควรสะดวกอ่าน (Readability) บางครั้งการสร้างงานนำเสนอโดยดูจากจอคอมพิวเตอร์ก็ชัดดี อ่านออก แต่เมื่อนำขึ้น Projector แล้ว ไม่เกิด Readability คือ อ่านไม่ชัด เนื่องจาก จากการใช้สีพื้น กับสีของอักษร ไม่เหมาะสม

ข้อแนะนำ
- ซ้อมให้มั่นใจก่อนนำเสนอ
- ใช้ภาพเป็นแนวทางในการพูด
- ควรมี Monitor สำหรับตัวเอง เพื่อจะได้ไม่หันไปดูจอภาพบ่อยๆ
- การใช้ไมโครโฟนไร้สาย ตรวจสอบแบตเตอรี่ด้วยว่าใช้มานานเพียงใด ซึ่งอาจจะหมดขณะบรรยาย ควรเตรียมสำรองไว้ด้วย

ข้อแนะนำสำหรับการนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์
- หากมี คอมพิวเตอร์โน้ตบู๊ค (Notebook) ควรจัดทำทุกอย่างที่นำเสนอไว้ในโน้ตบุ๊ค แล้วใช้โน้ตบุ๊ค เครื่องนั้น ต่อเข้ากับ Projector เพื่อนำเสนอ จะปลอดภัยที่สุด แต่ต้องทดลองนำต่อกับ Projector ก่อนที่จะเริ่มเวลานำเสนอ
- หากจำเป็นต้องนำสิ่งที่จะนำเสนอใส่แผ่นดิสเก็ตต์ (Diskette) ไป จะต้องทำการติดตั้ง ลงในเครื่องที่จะนำเสนอ และทดลองใช้ดูก่อนที่จะนำเสนอจริง
- หากสิ่งที่จะนำเสนอใช้ความจุมากกว่าแผ่นดิสเก็ตต์จะเก็บได้ อาจใช้ วิธี Zip ขนย้ายไป หรือเขียนลงใน CD ก็ต้องทำการติดตั้งในเครื่องที่จะ นำเสนอ และทดลองใช้ก่อนนำเสนอจริง
- หากโปรแกรมที่นำเสนอ สร้างจากโปรแกรมที่ไม่ค่อยจะมีในคอมพิวเตอร์ ทั่วๆ ไป เช่น Authorware ควรทำการ Package program ใส่ CD-ROM ไปเพื่อนำเสนอ อย่าลืมศึกษาดูให้ดีว่า มีสิ่งแวดล้อมใดบ้างที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน บางทีอาจมีปัญหา เช่น เสียง ใช้งานไม่ได้ ภาพวิดีโอ ใช้งานไม่ได้ เป็นต้น
- ควรมีข้อมูลสำรองไว้ด้วย หากชำรุดเสียหาย จะได้แก้ปัญหาทัน

การนำเสนอผลงานการออกแบบทางศิลปะการแสดงนั้น มิได้เป็นเรื่องยากเกินกว่าที่นักออกแบบทุกท่านจะทำได้ หากคุณมีไฟที่สามารถรังสรรค์การแสดงได้งดงามเพียงนั้นแล้ว ขั้นตอนการนำเสนอ เป็นเพียงส่วนช่วยให้ผลงานของคุณได้มีโอกาสเปิดแสดงเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ ลองหันมาให้ความสนใจกับการนำเสนอ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลงานสร้างสรรค์ซึ่งจะช่วยสานภาพฝันของคุณนั้นให้เป็นจริงได้บนเวทีการแสดง

________________________________________
พิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อ 04/03/47 ๐๔/๐๓/๔๗ ๐๐:๐๕ น.



Create Date : 24 พฤษภาคม 2550
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:23:28 น. 3 comments
Counter : 13049 Pageviews.

 
ซาหวักลีฮ่าคุณแม่ นู๋เข้มาปาเลิมเปงคนแรกเลยน้าฮ้า ข้อมูงลีมีปาโหยกล่วย คิคิ ชอบ ชอบ เป็งกามลางจายให้คุณแม่น้าฮ้า งุงิ


โดย: o^o นู๋ไนท์ o^o IP: 124.120.162.151 วันที่: 13 มิถุนายน 2550 เวลา:2:24:34 น.  

 
น่ารัก


โดย: สีรี IP: 125.24.241.224 วันที่: 19 มกราคม 2551 เวลา:14:18:21 น.  

 
มีประโยชน์มากๆ แต่เจอเมื่อสายเพิ่งทำรายงาน "การจัดการการแสดง" ส่ง อ. วินิจ ไปอ่ะ เลยทำแบบตามความเข้าใจของตัวเอง ไม่ได้มีหลักการอะไรกับเค้าเลย โธ่...ถัง เวรกรรม จริงๆ รู้งี้ก๊อปไปส่งซะก็ดี ( จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไปนะ คราวหน้าจะมาก๊อปไปส่ง )


โดย: jimmy IP: 58.64.66.158 วันที่: 1 พฤศจิกายน 2551 เวลา:0:33:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.