รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
คัมภีร์นาฏยศาสตร์



วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์กันในด้านวัฒนธรรมหลายด้าน ซึ่งยังคงไว้ถึงกลิ่นอายของวิถีชีวิตและขนบต่างๆ แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งที่ไทยและอินเดียมีเหมือนกัน คือ ความเชื่อเรื่องการถือผี ซึ่งเทียบเคียงได้กับการนับถือเทพเจ้าของศาสนาฮินดู


จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นร่องรอยอารยธรรม จารึกภาษาบาลีสันสกฤต นิทานพื้นเมือง ศิลปวัตถุ ต่างๆ ก็ทำให้ทราบว่าไทยเราน่าจะได้มีการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวอินเดียโดยทางทะเลมาเป็นเวลานานแล้วก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากตำนานและนิยายหลายเล่ม เช่น มหาชนกชาดก สังขพราหมณชาดก และสุคันธีชาดก ล้วนแสดงถึงเรื่องราวของพ่อค้าชาวอินเดียตอนใต้ (ชาวทมิฬ) ที่เข้ามาแสวงหาโชคลาภในดินแดนสุวรรณภูมิ และหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช คือ ตำนานมหาวงศ์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ไทยและอินเดียน่าจะได้ติดต่อกันแล้ว ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป


ในประเทศไทยทางดินแดนตอนใต้ ได้มีการค้นพบพระพุทธรูปแบบหินยานและมหายาน ทำให้ทราบได้ว่าพระพุทธศาสนาได้มีการเผยแผ่มายังดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนก่อนแล้วจึงขยายเข้าไปยังแผ่นดินใหญ่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ดินแดนสุวรรณภูมทิอาจได้รับวัฒนธรรมอินเดียมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 (คือระยะเริ่มตั้งอาณาจักรฟูนาน-ตามจดหมายเหตุของจีน)


วัฒนธรรมอินเดียที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทยมีปรากฏอยู่ในหลายด้าน เช่นการรับลัทธิสมมติเทวราช เพื่อสร้างศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ความเชื่อและศาสนาต่างๆ ที่เข้ามาแบบผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวพื้นถิ่น ที่แม้ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็น เช่น แม้ว่าเราจะนับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็ยังมีการเซ่นไหว้ศาลพระภูมิอยู่ เป็นต้น แต่การนับถือศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ของชาวไทยที่รับเอามาเหล่านี้ เป็นเพียงแต่การรับเอาหลักกว้างๆ มาปรับปรน โดยมิได้ลงลึกในเชิงปรัชญาหรือความคิดที่ลึกซึ้งนัก ดังเช่น เชื่อว่าเทพเจ้าสามารถดลบันดาลได้ทุกสิ่ง การถือเรื่องนรกสวรรค์ เรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่า ไทยไม่เคยได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียโดยทางตรงเลย ในทางศาสนาเราได้รับพุทธศาสนามาจากลังกา ศาสนาพราหมณ์และศิลปะต่างนั้นก็ได้รับมาจากขอม ซึ่งเมื่อเราได้อำนาจปกครองเหนืออาณาจักรกัมพูชาจึงได้นำเอานักปราชญ์ราชบัณฑิตขอมมาไว้ด้วย จึงทำให้ได้รับเอาวัฒนธรรมินเดียที่ขอมดัดแปลงไว้แล้วมาใช้


สำหรับการศึกษาด้านนาฏกรรมที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมอินเดีย มีประเด็นที่คาบเกี่ยวอยู่ 2 ด้านที่จะต้องทำการศึกษา คือ ภาษาและวรรณคดี กับศิลปะแขนงต่างๆ


1. ด้านภาษาและวรรณคดี โดยเหตุที่ไทยรับเอาวรรณกรรมทางศาสนาที่มีช่วยเผยแพร่ศาสนาพุทธ จึงทำให้ต้องรับเอาภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้โดยได้รับอิทธิพลผ่านทางเขมร (พบในราชาศัพท์จำนวนมาก) และเป็นที่น่าสังเกตว่าเราใช้คำสันสกฤตมากกว่าคำบาลี ซึ่งเป็นเพราะเสียงสันสกฤตคคล่องลิ้นชาวสยามมากกว่า ในวรรณคดี เราได้รับวรรณคดีทางพุทธศาสนามากกว่าทางพราหมณ์ มีเพียงอิทธิพลบางอย่างที่วรรณคดีไทยรับเอาจากอินเดียมาใช้ เช่น เนื้อเรื่อง โครงเรื่อง และการดำเนินเรื่อง มีลักษณะคือไม่มีจุดหนึ่งจุดใดเป็นจุดเด่นของเรื่อง (Non-climax) ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ตามลำดับ แต่สำหรับเรื่องราวแบบไทยอาจมีโครงเรื่องไม่ซับซ้อนเท่าวรรณคดีอินเดีย แต่มีการพรรณนารายละเอียดที่วิจิตรงดงาม เพราะความที่คนไทยมักเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน


วรรณคดีไทยที่มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมวรรณคดีของอินเดีย เช่น เตภูมิกถา (ไตรภูมิพระร่วง) โองการแช่งน้ำ มหาชาติฉบับต่างๆ นันโทปนันสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง อนิรุทธคำฉันท์ และบทละครเรื่องอุณรุท และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหากาพย์รามายณะ ซึ่งกลายมาเป็นบทละครเรื่องรามเกียรติ์ของไทย


อนึ่ง อิทธิพลทางวรรณคดีสันสกฤตที่รับมาจากอินเดียโดยตรงเพิ่งนำเข้ามาใช้อย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงสืบสวนเรื่องราวทางวรรณคดีจากต้นแหล่งอารยธรรมหรือจากการค้นคว้าของชาวตะวันตก จนทำให้เกิดมีบทพระราชนิพนธ์วรรณคดีการละครแบบสันสกฤตหลายเรื่องในสมัยนั้น เช่น ศกุนตลา สาวิตรี ปรียทรรศิกา ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้จัก


2. ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ศิลปกรรมด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมนั้น ไทยได้รับมาโดยอ้อมผ่านอิทธิพลอาณาจักรขอมผสมผสานกับศิลปะขงอาณาจักรโบราณสมัยต่างๆ ดังปรากฏในรูปทรงสถูปและเจดีย์ เช่น เจดีย์ทรงระฆังที่ได้รับมาจากลังกา ปรางค์ต่างๆ ได้รับอิทธิพลจากขอมและเปลี่ยนแปลงจนมีรูปแบบไทยแท้ จิตรกรรมและประติมากรรมปูนปั้นของสมัยอยุธยาตอนต้นก็มีความคล้ายคลึงศิลปะอินเดีย ลวดลายเหล่านี้ต่อมาได้พัฒนามาเป็นตัวกนกที่มีความสำคัญและเป็นลักษณะเฉพาะแบบไทย


ในด้านนาฏกรรม สันนิษฐานกันว่าท่ารำของโนราบางท่ามาจากการเลียนแบบรำที่เทว-สถานจิทัมพรัม หรือรูปแบบการละครดั้งเดิมของไทยที่เรียกกันว่าละครชาตรีนั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับละครเร่ชนิดหนึ่งที่นิยมเล่นในท้องถิ่นอินเดียแคว้นเบงกอล เรียกว่าละคร “ยาตรา” นิยมเล่นเรื่อง “คีตโควินทร์” มีลักษณะตัวละครคล้ายคลึงของละครไทย คือ มีตัวพระ ตัวนางและตัวตลก


แม้ว่าจะรู้สึกว่าชาวสยามจะรับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างมาจากอินเดียก็ตาม แต่เรามักจะรับมาโดยกลั่นกรองจากชนชาติเดิมเจ้าของอาณาจักรที่อยู่ในดินแดนนี้มาก่อน เมื่อรับมาก็เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อพัฒนาให้มีรูปลักษณ์เฉพาะตนได้เป็นอย่างดี



คัมภีร์นาฏยศาสตร์

นาฏยศาสตร์ (Nātyaśāstra / नाट्य शास्त्र) ว่าด้วยหลักทฤษฎีของนาฏยศิลป์ โดยฌพาะส่วนที่เกี่ยวข้องคือดนตรีกรรมและนาฏกรรม เชื่อว่า แต่งขึ้น โดยพระภรตฤาษี (Bharatamuni) เนื้อหาในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ครอบคลุมเนื้อหาที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับศิลปะการแสดงได้อย่างกว้างขวางและน่าเชื่อถือ ประกอบด้วย การออกแบบเวที นาฏลีลา การแต่งหน้า งานช่างเวที และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักวิชาการดนตรี เพราะเป็นคัมภีร์เพียงเล่มเดียวที่กล่าวถึงองค์ประกอบทางดนตรีและเครื่องดนตรีในแต่ละช่วงเสียงไว้โดยละเอียด ดังนั้นคัมภีร์เล่มนี้จึงมีอิทธิพลโดยตรงต่อรูปแบบงานดนตรี นาฏยศิลป์และงานช่างในศิลปะอินเดีย และในปัจจุบันได้มีนักวิชาการทำการศึกษาคัมภีร์เล่มนี้อย่างลึกซึ้งและเกิดข้อโต้แย้งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างองค์ความรู้จากภูมิปัญญาตะวันออกอย่างเป็นหลักการ เช่น งานเขียน “อภินาวภารตี” ของ Abhinavagupta เป็นต้น องค์กรทางศิลปะหลายแห่งในอินเดียจึงได้ทำการศึกษาและให้การสนับสนุนการศึกษาคัมภีร์เล่มนี้อย่างกว้างขวาง



ประวัติของคัมภีร์นาฏยศาสตร์


นาฏยศาสตร์ถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ทางด้านศิลปะการช่างละครที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่รอดเหลือมา เนื้อหาภายในประกอบด้วยคำบรรยาย 6,000 โศลก เชื่อกันว่าพระฤาษีภรตมุนีแต่งขึ้นในราว 200 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึง ค.ศ.200 แต่ก็ยังไม่ถืเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องยุคสมัยของคัมภีร์นี้ คัมภีร์นี้เชื่อว่าได้รับอิทธิพลอย่างมากจากพระเวทแขนงหนึ่งที่เรียกว่า “นาฏยเวท” ที่ได้มีการแต่งไว้มากถึง 36,000 โศลก และเป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับนาฏยเวทนี้หลงเหลือมามากเท่าใดนัก นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า นาฏยศาสตร์ น่าจะได้รับการแต่งขึ้นจากผู้เขียนหลายคนและเขียนขึ้นในหลายสมัยแตกต่างกัน ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของคัมภีร์เล่มนี้จะเป็นอย่างไร ความสำคัญลิทธิพลที่ส่งผลต่อผู้สร้างสรรค์ศิลปะทุกแขนงของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักบนหิน ไม้ และปูนขาว งานจิตรกรรมในผนังถ้ำและวิหาร ที่แสดงท่าทางการเคลื่อนไหวที่อาจส่งผลต่อแบบแผนการฟ้อนรำของนาฏยศิลปิ์นเดีย ดังเช่น ศิลปวัตถุรูปหญิงฟ้อนรำทำจากทองสำริด ในซากปรักหักพังของโมเฮนโชดาโร (Mohenjodaro) มีอายุ 4,000 ปี และภาพเขียนการฟ้อนรำในถ้ำนัชมาฮี (Najmahi) ทางอินเดียตอนกลางที่มีอายุประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว


แนวคิดและทฤษฎีที่ได้จากการศึกษา คัมภีร์นาฏยศาสตร์ มีการบันทึกเป็นภาษาสันสกฤตเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4-5 ดังฉบับที่ปรากฏในปัจจุบันความยาว 37 อัธยาย (บท) เป็นการบรรยายโดยร้อยกรอง (ยกเว้นอัธยายที่ว่าด้วยเรื่องของดนตรี ความหมายของรสและภาวะ ซึ่งอธิบายด้วยร้อยแก้ว) รวมความยาวของบทกวีทั้งสิ้น 5,596 โศลก/บท โดยมีหัวข้อที่สำคัญ คือ ระบำ ดนตรี ภาษา การประพันธ์บทละคร องค์ประกอบของศิลปะการละคร การผลิตการแสดง


การฝึกซ้อม การแสดงออกด้วยท่าทางเพื่อสื่อความหมายและอารมณ์ การวิจารณ์ละคร ผู้ชมละคร เป็นต้น บางครั้งที่การเขียนอ้างถึงความคิดเห็นและนักวิจารณ์ท่านอื่นด้วย ในคัมภีร์นี้ผู้เขียนคือภรตมุนีได้อ้างว่า สิ่งที่เสนอเกี่ยวกับศิลปะการละครนั้นได้เรียบเรียงเสียใหม่เพื่อให้กระชับและได้ใจความที่สั้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านร่วมสมัย ทั้งนี้น่าจะเข้าใจได้ว่าการเขียนตำรานาฏยศาสตร์เล่มนี้ได้เรียบเรียงจากเอกสารตำนานมากมายหลายฉบับที่มีเผนแพร่อยู่แล้ว โดยตั้งใจทำให้เป็นมาตรฐานฉบับที่น่าเชื่อถือที่สุด


ความน่าเชื่อถือของ คัมภีร์นาฏยศาสตร์ ไม่อาจมีใครปฏิเสธได้ เพราะในปัจจุบันคัมภีร์นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระเวทชุดที่ 5 ตามความเชื่อของชาวฮินดูที่ว่า พระพรหมเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ทรงถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ในพระเวททั้ง 4 เล่มแก่ภรตมุนี ผสมผสานปรุงแต่งจนกลายมาเป็น “นาฏยเวท” (Natya Veda) ซึ่งภายหลังเรียกว่า นาฏยศาสตร์ (Natya Satra) ความรู้ที่บันทึกไว้ในพระเวททั้ง 4 เล่ม ได้แก่


1. ฤคเวท (Rih Veda) ความรู้ทางปัญญา ภาษา และถ้อยคำ
2. สามเวท (Sama Veda) ความรู้ทางด้านลำนำ ทำนองเพลง และดนตรี
3. ยชุรเวท (Yajur Veda) ความรู้ทางด้านกิริยาท่าทางการแสดง
4. อถรรพเวท (Athara Veda) ความรู้ทางด้านการแสดงออกทางอารมณ์ ประกอบด้วยรสและภาวะ


ตามตำนานของชาวฮินดูเล่าว่า หลังจากที่พระภรตได้รับความรู้เรื่องนาฏยศาสตร์จากพระพรหมแล้ว ก็สร้างกลุ่มนางระบำที่เรียกว่า นางอัปสร กลุ่มผู้ขับร้อง และกลุ่มนักดนตรี เพื่อจัดการแสดงถวายพระอิศวร (ศิวะ) หลังจากทอดพระเนตรการแสดงแล้ว ทรงโปรดให้ศิษย์เอกชื่อ ตัณทุ (Tandu) สอนท่ารำเข้มแข็งแบบชาย เรียกลีลานี้ว่า “ตัณฑวา” (Tandava) ให้แก่ภรตมุนี และสอนลีลาท่ารำแบบอ่อนหวานนุ่นนวลที่เรียกว่า “ลัสยา” (Lasya) แก่พระนางปราวตีพระมเหสีแห่ง


พระอิศวร แล้วพระภรตจึงถ่ายทอดศิลปะการร่ายรำทั้งสองลีลาให้แก่ศิษย์ผู้อื่นจนแพร่หลายต่อไป ท่ารำที่พริศวรและพระนางปราวตีประทานให้เหล่านี้มีทั้งสิ้น 108 ท่า ชาวินดูเชื่อว่าเป็นท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การเคารพบูชา ดังมีหลักฐานปรากฏเป็นภาพจำหลัก ณ เทวสาถนจิทัมพรัม (Chidambaram) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย


การที่เกิดพระเวทที่ 5 นี้ขึ้นก็เพราะในสังคมชาวอารยันมีการแบ่งวรรณะเป็น พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และสูทร มีเพียง 2 วรรณะเท่านั้นที่จะสามารถศึกษาพระเวทได้ คือ พราหมณ์และกษัตริย์ วรรณะแพศย์และสูทร จึงถูกห้ามให้เข้าถึงพระเวทแม้แต่เพียงการฟัง เพราะถือว่าเป็นวรรณะต่ำ เมื่อพระอินทร์ต้องการให้คนวรรณะต่ำนี้ได้เข้าถึงพระเวทบ้าง จึงเกิดมีนาฏยเวทขึ้น


เนื้อหาหลักของคัมภีร์นาฏยศาสตร์ กล่าวถึงการฟ้อนรำที่ใช้ลีลาท่าที 3 ลักษณะ ได้แก่
1. นฤตตา (Nritta) การฟ้อนรำเพื่อสร้างสรรค์ความงามบริสุทธิ์ของท่ารำ
2. นฤตยา (Nritya) การฟ้อนรำเพื่อถ่ายทอดความหมายและอารมณ์ความรู้สึก
3. นาฏยา (Natya) การฟ้อนรำเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของวรรณกรรม


การฟ้อนรำมีรูปแบบเฉพาะตัวของมันเอง นั่นคือ ภาษาท่าทีของอาการต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกความหมายและเสริมแต่งความน่าดูน่าชม ภาษาของการฟ้อนรำแสดงโดยใช้มือและนิ้วแสดงท่าทางอาการต่างๆ เรียกว่า “มุทรา” (Mudra) และท่าที่แสดงสองมือ เรียกว่า “สัมยุตา มุทรา” (Samyuta Mudra) ท่วงท่าต่างๆ เหล่านี้ใช้สื่อความหมายดุจเดียวกับการใช้คำพูด การสื่อความหมายด้วยมุทรา ผู้แสดงต้องอาศัยการแสดงออกทางใบหน้าและอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายประกอบกัน และรวมทั้งอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ เรียกว่า “อภินายะ/อภินัย” (Abhinaya) ตามทฤษฎีแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ


1. การแสดงอารมณ์และภาวะด้วยเพลง และคำพูด
2. การแต่งหน้า แต่งกาย บ่งบอกความแตกต่างของตัวละคร
3. การแสดงออกซึ่งอารมณ์ภายใน เช่น ความเศร้าโศก ความสุข ความดีใจ ความเสียใจ
4. การแสดงการเคลื่อนไหวด้วยท่าทางต่างๆ


การแสดงใน 4 ลักษณะข้างต้น จะเห็นว่านาฏยศิลป์อินเดียให้ความสำคัญต่อการแสดงออกซึ่งอารมณ์แห่งความรู้สึกของนักฟ้อนรำ ท่ารำต่างๆ มักเน้นการถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ภายใน การที่ผู้รำจะได้รับคะแนนนิยมจากผู้ชมมากหรือน้อยนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้รำที่จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้สมจริงสมจังเพียงใด ตามทฤษฎีนาฏยศาสตร์ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์สามารถแสดงออกได้ 9 ชนิด เรียกรวมกันว่า “นวรส” (9 Rasa) ได้แก่


1. ศฤงคาร (Shringar) อารมณ์รักและความพึงพอใจ
2. วีระ (Vira) กล้าหาญ
3. กรุณา (Karuna) สงสาร เห็นใจ
4. เราทระ (Raudra) โกรธ
5. หาสยะ (Hasya) เย้ยหยัน ดูหมิ่น
6. ภยานกะ (Bhayanaka) ตกใจ กลัว
7. พีภัทสยะ (Bhibhasya) เกลียดชัง
8. อัตภูตะ (Adbhuta) แปลกประหลาดใจ
9. ศานตะ (Shanta) สงบใจ


อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นผลตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับรู้สภาพการณ์ บรรยากาศหรือเหตุการณ์บางอย่าง ซึ่งต้องอาศัยการแสดงออกของผู้ฟ้อนรำเรียกว่า “ภาวะ” การแสดงในเชิงนาฏศิลป์นี้ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ


1. ราคะ (Raga) หมายถึง ดนตรี หรือเพลงที่บรรเลง
2. ตาละ (Tala) หมายถึง จังหวะ


รวมแล้วกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ 3 อย่าง คือ ภาวะ – ราคะ – ตาละ นักวิชาการนาฏศิลป์อินเดียบางท่าน ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า คำหน้าของทั้งสามคำนั้นมีความสอดคล้องกับชื่อ ภรต (Brava – Raga – Tala = Brarata) ผู้รจนาคัมภีร์เล่มนี้นั่นเอง


การสื่อความหมายด้วยภาษามือ (มุทรา) และการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีกฏเกณฑ์ที่กล่าวไว้อย่างละเอียด เป็นต้นว่า ใช้มือข้างหนึ่งหรือสองข้างสื่อความหมาย เช่น กลีบบัวค่อยๆ บาน หมู่ภมรโผผินบินมาดมกลิ่นบุปผา วิหคเหิรฟ้า มัจฉาในวารี มฤคีหลงป่า หรือสื่ออารมณ์ความรู้สึกเช่น สุขหรรษา อวยชัยให้พร บอกห้าม ชักชวน เป็นต้น แขนข้างหนึ่งอาจเคลื่อนไหวได้ 27 ลักษณะ การแสดงออกทางใบหน้ามี 24 ลักษณะ โดยอาศัยคิ้ว ตา จมูก แก้ม คาง ส่วนที่สามารถยักเยื้องไปด้านข้างและหน้าหลังประกอบอารมณ์ต่างๆ หลายลักษณะ เท้าใช้กระทบจังหวะทั้งช้า เร็ว หรือรัว ได้ทุกลักษณะอย่างคล่องแคล่ว


นอกจากจะวางกฎเกณฑ์ของท่ารำและการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ภรตมุนียังเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับฐานะทางสังคมของบุคคลหรือตัวละครแต่ละตัวด้วย โดยภรตมุนีได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าตัวละครใดมีการศึกษาจะต้องใช้ภาษาใด ขณะเดียวกัน
ภรตมุนียังได้กำหนดการใช้ดนตรีประกอบการแสดง รวมทั้งการแต่งกายและการใช้อุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น หน้ากาก ให้เหมาะสมกับตัวละครแต่ละตัวไว้เช่นกัน


ภรตมุนีได้อธิบายการจัดตั้งโรงละครและเวทีการแสดงไว้อย่างละเอียดเช่นกัน กล่าวโดยสรุป คือ ลักษณะของโรงละครสามารถสร้างได้ 3 รูปแบบ คือ
1. รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
2. รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือวงกลม
3. รูปสามเหลี่ยม


ไม่ว่าจะเป็นโรงละครรูปแบบใด เวทีการแสดงมีขนาดเหมาะสมกับเรื่องที่จะแสดง เป็นต้นว่า ถ้าเป็นเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเทพ เทวดา อสูรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ควรเป็นเวทียกระดับ 2 ชั้น เพื่อให้เทพปรากฏชั้นบน ขนาดของเวทีควรมีเนื้อที่กว้างใหญ่ หากเป็นเรื่องวงศ์วานกษัตริย์ราชสำนักควรมีขนาดปานกลาง ส่วนเวทีขนาดเล็กเหมาะสำหรับแสดงเรื่องราวของคนสามัญทั่วไป เวทีควรมีหลังคาและมีเสา 4 ต้นคานไว้ แต่ละต้นทาสีแตกต่างกัน 4 สี คือ ขาว แดง เหลืองและน้ำเงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอก 4 วรรณะ ได้แก่ พรามณ์ กษัตริย์ สามัญชน และโจร-กรรมกร นอกจากนี้เสา 4 ต้นยังหมายถึงคทาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระอินทร์ที่ใช้ปราบสูรนั่นเอง ในส่วนที่จัดไว้เป็นที่นั่งผู้ชมนั้นมีหลักเกณฑ์ว่าควรอยู่ในตำแหน่งและทิศทางที่สามารถมองเห็นและได้ยินเสียงบนเวทีอย่างธรรมชาติ ในกรณีที่กษัตริย์เสด็จทอดพระเนตรการแสดงพร้อมด้วยผู้ติดตาม ได้กำหนดให้จัดระเบียงด้านทิศตะวันออกเป็นที่ประทับของกษัตริย์และที่รับรองเหล่าเสนาบดี ขุนนาง อำมาตย์
ราชบัณฑิต ส่วนพระมเหสี นางสนม และนางในจะจัดให้อยู่ด้านซ้ายของกษัตริย์ สำหรับด้านหลังของเวทีกำหนดให้เป็นห้องแต่งตัวของผู้แสดงและห้องเก็บพัสดุอุปกรณ์การแสดงทั้งหมด


ในส่วนเนื้อเรื่องที่แสดงนั้นมีหลักเกณฑ์ว่า เรื่องราวจะต้องดำเนินไปพบสุขนาฏกรรม ละครอินเดียไม่นิยมเรื่องราวที่เป็นโศกนาฏกรรมโดยเด็ดขาด เพราะมนุษย์ควรมองโลกในแง่ดี การดำเนินเรื่องจึงมีสูตรเฉพาะให้เป็นไปตามขั้นตอน 5 ลำดับ ดังนี้
1. จุดเริ่มต้นของเรื่อง
2. ขั้นตอนที่แสดงความพยายาม
3. ขั้นตอนที่แสดงความหวัง
4. ขั้นตอนที่แสดงความมั่นใจ
5. จุดจบที่ลงเอยด้วยความเข้าใจ


ลักษณะเด่นของการแสดงนาฏศิลป์และละครอินเดียอีกประการหนึ่ง คือ นิยมใช้เทคนิคของการแสดงที่เกินจริงประกอบอยู่ในท่ารำหรือลีลาการแสดงออกท่าต่างๆ เพราะจะทำให้การสื่อความหมายและอารมณ์เป็นไปอย่างชัดแจ้งและประสบผลสำเร็จ แม้กระทั่งการเปล่งเสียงหรือการเจรจาของตัวละครก็เน้นเทคนิคที่เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นบทเจรจาร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ตาม ภรตมุนีได้วางกฎเกณฑ์การเน้นเสียงหรือเปล่งเสียงให้มีจังหวะหนักแน่นและมีน้ำเสียงสูงต่ำอย่างเคร่งครัด


ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์นาฏยศาสตร์ จึงเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนาฏศิลป์และการละครของอินเดียไว้อย่างละเอียดลออและครอบคลุมทุกเรื่อง ดังนั้น คัมภีร์นาฏยศาสตร์ จึงถือเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่วิวัฒนาการด้านศิลปะการแสดงของอินเดียในเวลาต่อมา แม้ในปัจจุบันรูปแบบของนาฏศิลป์อินเดียจะมีอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่เป็นแบบฉบับมาตรฐานและแบบพื้นเมืองประจำท้องถิ่นต่างๆ ก็ตาม แต่ก็ยังคงมองเห็นอิทธิพลของคัมภีร์นาฏยศาสตร์ และสามารถมองเห็นได้ถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างศิลปะการแสดงและศาสนาซึ่งส่งผลกระทบต่อกันอยู่ตลอดเวลา



หัวเรื่องต่างๆ ที่ปรากฏในนาฏยศาสตร์ (แบ่งตามอัธยาย/บท)
1. Origin of drama
2. Description of the playhouse
3. Puja (offering) to the Gods of the stage
4. Description of the class-dance
5. Preliminaries of a play
6. Sentiments (rasas)
7. Emotional and other states
8. Gestures of minor limbs
9. Gestures of hands
10. Gestures of other limbs
11. Cari movements
12. Different gaits
13. Zones and local usages
14. Rules of prosody
15. Metrical patterns
16. Diction of a play
17. Rules on the use of languages
18. Modes of address and intonation
19. Ten kinds of play
20. Limbs of the segments
21. Styles
22. Costumes and make-up
23. Harmonious performance
24. Dealings with courtezans
25. Varied performances
26. Success in dramatic performances
27. Instrumental music
28. Stringed instruments
29. Time measure
30. Dhruva songs
31. Covered instruments
32. Types of character
33. Distribution of roles
34. Descent of drama on the Earth

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้สรุปหัวข้อสำคัญจากนาฏยศาสตร์ไว้ดังนี้


1. กำเนิด
1.1. กำเนิดนาฏยศาสตร์
เกิดจากนาฏยเวท ที่มาจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ของศาสนาพราหมณ์
1.2. กำเนิดฟ้อนรำ
ครั้งที่ 1 เรียกว่า ตานฑวะ ตามาสิกะ
ครั้งที่ 2 เรียกว่า สนธยามฤต
ครั้งที่ 3 เรียกว่า นาทานตะ
1.3. กำเนิดละคร
เกิดจากพระอินทร์ทรงจัดงานเฉลิมฉลองอินทรธวัช (ธงของพระอินทร์) เรียกว่า อสูรปราชัย
1.4. กำเนิดโรงละคร
เกิดจากพระพรหม ให้พระวิษณุกรรมเนรมิตโรงละครที่มีระบบเสียงที่ดีขึ้น และมีการตรวจตราไม่ให้อสูรสามารถเข้ามาชมการแสดงได้ ต้องมีขนาดที่เหมาะสม เสียงชัดเจน มีการระบายอากาศดี


2. ภาวะและรส
2.1. ภาวะ คือ การแสดงออกของอารมณ์โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ ทางกายภาพ เพื่อให้เกิดความบันเทิงใจต่างๆ ที่เรียกว่า รส
2.1.1. สถายีภาวะ คือ ธาตุแท้ของจิตใจหรือของวัตถุ
2.1.2. วิภาวะ คือ อาการที่เกิดขึ้นภายใน
2.1.3. วยภิจารีภาวะ คือ สิ่งส่งเสริมที่นำมาปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึก
2.2. รส คือ ความรู้สึกที่เกิดในใจคนดูและผู้แสดง อันเป็นผลมาจากภาวะ มี 9 ชนิด


3. ตัวละครและผู้แสดง
3.1. ตัวละคร
- นายกะ – ตัวละครนำฝ่ายชาย (ตรงข้ามกับ ประตินายกะ – ฝ่ายตรงข้าม)
- นายิกา – ตัวละครนำฝ่ายหญิง
- ประกฤติ – ตัวละครอื่นๆ
และแบ่งตามลักษณะนิสัย สังคม และวัฒนธรรม เป็น อุตมะ – มัธยะ – อัธมะ
3.2. ผู้แสดง หรือ ประยุกตะ คือ ผู้มีหน้าที่ต่างๆ ในการแสดง ได้แก่ สูตรธาระ (นายโรง) นที (นางเอก) กวี (ผู้แต่งบท) ปาริปารศศวกะ (ผู้กำกับเวที) นายกะ (ผู้ที่แสดงประจำเป็นพระเอก) นายิกา (ผู้ที่แสดงประจำเป็นนางเอก) วิฑูษกะ (ตัวตลกชาย) วิตะ (นางยั่ว) ชีตะ (ผู้ติดตามตัวละครสำคัญ) ศการะ (ตัวเบ็ดเตล็ด)
ผู้แสดงต่างต้องมีคุณสมบัติทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ความสามารถในการใช้เสียง และสวมบทบาทที่เรียกว่า สาตวิกะ


4. บทละคร หรือ รูปะ
รูปะ คือ บทประพันธ์เพื่อแสดงหรือบทละคร และเรียกการแสดงนั้นว่า รูปกะ ซึ่งจำแนกออกเป็น 10 รูปแบบ เรียกว่า ทศรูปกะ และมีที่สำคัญคือ นาฏกะ และ ประกรณะ
ส่วนบทละคร จำแนกตามเนื้อหาได้เป็น โลกธรรมี (เนื้อหาตามโลกความเป็นจริงของมนุษย์ เป็นไปตามธรรมดาโลก) และ นาฏยธรรมี (เรื่องที่ไม่เป็นธรรมดาโลก เช่น มีอิทธิฤทธิ์ เหนือธรรมชาติ หรือแต่งกายอย่างวิจิตรเหนือความเป็นจริง)


5. การเขียนบทละคร
5.1. สันธิ คือ การแบ่งขั้นตอนของโครงเรื่อง – โครงเรื่องหลัก
5.2. สันธยานกะ คือ การแบ่งสันธิออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้เกิดสถานการณ์ต่างๆ – โครงเรื่องรอง/ย่อย
5.3. ลักษณะ คือ กลวิธีในการนำฉันทลักษณ์มาใช้ในการแสดงออกทางสถานการณ์


6. การแสดงออก
6.1. วฤติ คือ วิธีแสดง 4 ประการ คือ ภารตี (แสดงด้วยวาจา) สาตวตี วฤติ (แสดงด้วยใจ อารมณ์) ไกศีกิ วฤติ (แสดงด้วยกริยาที่ประณีต อย่างอิตถีเพศ) อารภตี วฤติ (แสดงด้วยกิริยาที่ห้าวหาญ อย่างบุรุษเพศ)
6.2. โลกธรรมี คือ การแสดงที่สมจริงตามธรรมชาติ
6.3. นาฏยธรรมี คือ การแสดงที่อาสัยการเคลื่อนไหวและพูดจาที่ประณีต
6.4. อภินายะ คือ ปัจจัยที่ผู้แสดงสามารถทำให้ผู้ดูเข้าใจนิสัย ความคิดจิตใจและอารมณ์ของตัวละคร ประกอบด้วย องคภินายะ (สื่อด้วยร่างกาย) วาจิกภินายะ (สื่อด้วยวาจา) สาตวิก-
ภินายะ (สื่อด้วยใจผ่านร่างกายและวาจา) อาหารยาภินายะ (สื่อด้วยการแต่งกาย แต่งหน้า)


7. การฟ้อนรำ
7.1. ประเภทของการฟ้อนรำ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ นาฏยะ (ฟ้อนรำ+อารมณ์) นฤตะ (ฟ้อนรำล้วนๆ ไม่สื่อความหมาย) นฤตยะ (ฟ้อนรำที่สื่อความหมาย)
7.2. การใช้อวัยวะในการฟ้อนรำ ประกอบด้วยการเคลื่นไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้ง 3 ส่วน คือ อังคะ (หลัก - ศีรษะ มือ เอว อก ขา เท้า) อุปปังคะ (รอง – นัยน์ตา คิ้ว จมูก ริมฝีปากล่าง แก้ม และคาง) และปรัตยังคะ (อื่นๆ – ไหล่ หลัง หน้าท้อง)
7.3. โครงสร้างของการฟ้อนรำ มีการกำหนดท่ารำเป็นแม่บทไว้ 108 ท่า เรียกว่า กรณะ 108
กรณะ 1 ท่า ใช้ร่างกาย 3 ส่วน คือ สถานตะ (ตำแหน่งของศีรษะ ลำตัว) นฤตหัสกะ (ตำแหน่งของมือและนิ้วมือ) และจารี (ตำแหน่งของแขน ขา และเท้า) มีท่าเชื่อมเรียกว่า เรจกะ
กรณะ 2 ท่า ขึ้นไป รวมเป็น 1 มาตริกะ
มาตริกะ 3-4 หน่วยขึ้นไป รวมเป็น 1 องคาหระ
องคาหระ หลายหน่วย รวมเรียกว่า บิณธิพันธะ (รำชุด) รวมถึงการแสดงทั้งเรื่อง
7.4. คุณลักษณะของการฟ้อนรำ แบ่งเป็น ตาณฑวะ (การฟ้อนรำที่แสดงความเข้มแข็ง ตามแบบบุรุษเพศ) ลัสยะ (การฟ้อนรำที่แสดงความนุ่มนวล แบบอิตถีเพศ)


8. เสียงและคำพูด ใช้ภาษาแบ่งตามกลุ่ม อธิภาษา (ภาษาของมหาบุรุษ) อารยะภาษา (ภาษาของผู้ทรงเกียรติ) ชาติภาษา (ภาษาของสามัญชน) ยูนยันตรีภาษา (ภาษาของสัตว์)
ภาษาสันสกฤต ให้ใช้พูดเฉพาะวีรบุรุษ (ผู้มีจิตใจสูง) สัญญาสี (ผู้สละกิเลส) นักพรต ภิกษุ พระราชินี คณิกาชั้นสูง ศิลปินหญิง นางอัปสร
ภาษาปรากิต ให้ใช้พูดเฉพาะพระเอกที่ปลอมตัว และตัวละครที่มีศักดิ์ไม่สูงพอที่จะใช้ภาษาสันสกฤต


9. ดนตรี
9.1. สวาระ เกิดจากการเปล่งเสียงของมนุษย์เป็นสูงต่ำ มีที่มาจาก ลำคอ และศีรษะ รวมถึงเสียงที่มาจากการบรรเลงพิณวีณา
9.2. อาโตธยะ เกิดจากเครื่องดนตรี 4 ประเภท คือ ตาตะ (เครื่องสาย) สุษิระ (เครื่องเป่า) ฆนะ (เครื่องกำกับจังหวะ) และอวนัทธะ (เครื่องตี) มีการกำหนดห้วงเวลาของดนตรีที่เรียกว่า ตาละ ซึ่งเป็นหัวใจของนาฏยศาสตร์
9.3. ปฏะ คือ เกิดจากการผสมผสานของสวาระและตาละ เป็นเพลงที่ถูกเรียบเรียงขึ้นอย่างเป็นระเบียบ ไพเราะ มีการเลือกสรรธุรวา (เนื้อร้อง) เพื่อให้ได้ดี


10. โรงละคร
10.1. ประเภทโรงละคร เรียกโรงละคร ว่า นาฏยคฤหะ โดยที่เล่าไว้ว่า พระวิศวกรรมมาเนรมิตโรงละคร 3 รูปแบบ คือ วิกฤษณะ (รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า) จตุรัศระ (รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) และตรัยศระ (รูปสามเหลี่ยม)
10.2. ขนาดโรงละคร มี 3 ขนาด คือ ชเยษฐะ (ใหญ่) มัธยมะ (กลาง) และขนิษฐะ (เล็ก) และมีขนาดแปรไปตามรูปแบบโรงแต่ละแบบด้วย
10.3. การก่อสร้างและการแบ่งพื้นที่โรงละคร ต้องมีการเลือกพื้นที่ก่อสร้าง โดยคำนึงถึงคุณลักษณะของดิน มีพิธีกรรมป้องกันอัปมงคล แบ่งพื้นที่สัมพันธ์กับรูปแบบโรง กำหนดพื้นที่แสดงให้เหมาะกับฉากและทางเข้าออกของตัวละคร


11. ความสำเร็จของการแสดง
11.1. ความสำเร็จของการแสดง เรียกว่า สิทธิ ประกอบด้วย ปาตระ (ความสามารถของผู้แสดง) ประยูรกะ (องค์ประกอบที่ผสมกันจนเหมาะสม) และสัมฤทธิ (การประดับดาฉาก อุปกรณ์ และเครื่องแต่งกาย) และเนื่องจากการแสดงมีสภาวะร่วมระหว่างผู้แสดงและผู้ชม ความสำเร็จของการแสดงจึงมาจากทั้ง 2 ฝ่าย
11.2. ความล้มเหลวของการแสดง มีเหตุ 2 ประการ คือ ความไม่ถึงพร้อมของสภาวะทั้งผู้แสดงและผู้ชม และเหตุการณ์อันคาดไม่ถึง เช่น ไฟไหม้ โรงละครพัง เป็นต้น รวมถึงข้อผิดพลาดซ้ำๆ
11.3. การแข่งขันในการแสดง มักประกอบด้วยความอิจฉาริษยาอันนำมาซึ่งการทำลายล้างกัน การแข่งขันจึงควรต้องกรรมการตัดสินในด้านต่างๆ และต้องไม่นำข้อบกพร่องจากเหตุสุดวิสัยมาพิจารณาตัดสิน
11.4. คนดู ต้องมีคุณสมบัติที่เรียกว่า สิทธิ คือ มีความสงบ สะอาด มีจินตนาการ เข้าใจ เห็นใจ ไม่มีอคติ สามารถเรียนรู้และรับรู้ภาวะและรสได้เป็นอย่างดี มีปฏิกิริยาตบสนองอย่างเหมาะสม

รายการอ้างอิง

กรุณา กุศลาสัย และ เรืองอุไร กุศลาสัย, วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย – อินเดีย. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2543
นิยะดา (สาริกภูติ) เหล่าสุนทร, ความสัมพันธ์ระหว่างละครไทยและละครอินเดีย. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.
มาลินี ดิลกวณิช, ระบำและละครในเอเชีย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543.
สุรพล วิรุฬห์รักษ์, นาฏยศิลป์ปริทรรศน์. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2544.

เรียบเรียงโดย ธรรมจักร พรหมพ้วย / สาขาวิชานาฏกรรมไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กันยายน 2551




Create Date : 16 กันยายน 2551
Last Update : 18 กันยายน 2551 19:06:33 น. 1 comments
Counter : 40882 Pageviews.

 
ขอบคุณครับสำหรับความรู้ดีๆ


โดย: ปุราณ (ปุราณ ) วันที่: 17 กันยายน 2551 เวลา:20:39:27 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.