เกิดมาทั้งทีต้องมีรสชาติ
Group Blog
 
All Blogs
 

พระนามเต็มของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ

รัชกาลที่ ๑

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฎวิสุทธิ์ รัตนมงกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "ด้วง"
รัชกาลที่ ๑ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "จปร" มาจาก "มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๒

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "ฉิม"
รัชกาลที่ ๒ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "อปร" มาจาก "มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๓

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยดโรมน สากลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีสุวิบูลย คุณอถพิษฐ ฤทธิราเมศวร ธรรมิกราชาธิราช เดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "ทับ"
รัชกาลที่ ๓ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "จปร" มาจาก "มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฎิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "มงกุฎ"
รัชกาลที่ ๔ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "มปร" มาจาก "มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุฒมพงษ์บรพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภ ผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรพรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศ มโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรามหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติ อาชาวศรัย พุทธาธิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "จุฬาลงกรณ์"
รัชกาลที่ ๕ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "จปร" มาจาก "มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิรวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศ์วิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพวงค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุดสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินค รวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "วชิราวุธ"
พระนามลำลอง "ทูลกระหม่อมโต"
รัชกาลที่ ๖ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "วปร" มาจาก "มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๗

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตรบุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถจุฬาลงกรณราชวรางกูร มหมกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธ อุต์กฤษฎานิบุณย์อดุลยฤษฎาภินิหาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ์ มงคลลคนเนมาหวัยสุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชาวุธ วิชัยยุทธศาสตร์โกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสุดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฏโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิศิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสยามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตนวิศิษฎศักดิ์อัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนามย่อ "ประชาธิปก"
พระนามลำลองว่า "ทูลกระหม่อมเอียดน้อย"
รัชกาลที่ ๗ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "ปปร" มาจาก "มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๘

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนมหา อานันทมหิดลสกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

(ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ ทรงได้รับการสถาปนาพระบรมอัฐิ เฉลิมพระนามเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลอดุลยเดช วิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร

พระนามย่อ "อานันท"
ชื่อเล่นที่สมเด็จย่าทรงเรียก "นันท์"
รัชกาลที่ ๘ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "อปร" มาจาก "มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช"

รัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

พระนามย่อ "ภูมิพล"
สมเด็จย่าทรงเรียก "เล็ก"
รัชกาลที่ ๙ มีพระปรมาภิไธยย่อว่า "ภปร" มาจาก "มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช"




 

Create Date : 28 มีนาคม 2551    
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:02:52 น.
Counter : 10984 Pageviews.  

ตราสัญลักษณ์ประจำองค์

ตราปรมาภิไธย ภปร.
ตราปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (ภปร.)




ตราปรมาภิไธย สก.
ตราปรมาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (สก.)




ตราปรมาภิไธย มฏก.
ตราปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมุฎราชกุมาร




ตราปรมาภิไธย สธ.
ตราปรมาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี (สธ)




ตราปรมาภิไธย จภ.
ตราปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวิลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (จร.)




ตราปรมาภิไธย กว.
ตราปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ (กว.)




พระนามาภิไธยย่อ"อร."
ตราพระนามาภิไธย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (อร.)




ตราปรมาภิไธย สล.
ตราปรมาภิไธย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (สล.)




ตราปรมาภิไธย พภ.
ตราปรมาภิไธย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พภ.)





ตรานามาภิไธย สภ.
ตรานามาภิไธย พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ (สภ.)





 

Create Date : 27 มีนาคม 2551    
Last Update : 28 มีนาคม 2551 10:04:33 น.
Counter : 25691 Pageviews.  

ฐานันดรศักดิ์ไทย

ฐานันดรศักดิ์ไทย


ฐานันดรศักดิ์สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
ฐานันดรศักดิ์ของพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เป็นฐานันดรที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทยที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เป็นฐานันดรที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินของประเทศไทย ที่ซึ่งยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชภรรยาเจ้า

ตามโบราณราชประเพณีไทย มีฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชภรรยเจ้า ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

พระอัครมเหสี
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระอัครมเหสี ที่ี่เคยรับพระราชทานตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้แก่

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุดลยเดชมหาราช

สมเด็จพระบรมราชินี
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระอัครมเหสี ทีไม่่ี่เคยรับพระราชทานตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้แก่

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระราชินี
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระอัครมเหสีีในพระเจ้าแผ่นดินที่ยังไม่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่

สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอุดลยเดชมหาราช

พระบรมราชเทวี
ฐานันดรศักดิ์ของพระอัครมเหสีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช มีฐานะรองลงมาจากพระฐานันดรศักดิ์สมเด็จพระบรมราชราชินีี ได้แก่
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

พระอัครราชเทวี
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระอัครมเหสีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
สมเด็จพระนางนาฏโสมนัสวัฒนาวดี บรมอัครราชเทวี ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมเหสีี
พระวรราชเทวี
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระมเหสี อยู่รองจากสมเด็จพระบรมราชเทวี ได้แก่

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6

พระราชเทวี
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระมเหสี อยู่รองจากพระวรราชเทวี ได้แก่

พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ในรัชกาลที่ 5

พระนางเธอ
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระมเหสี อยู่รองจากพระราชเทวี ได้แก่

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ในรัชกาลที่ 6

พระอรรคชายา
พระอรรคชายาเธอ
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระอรรคชายา อยู่รองจากพระนางเธอ ได้แก่

พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ในรัชกาลที่ 5
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ในรัชกาลที่ 5
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ในรัชกาลที่ 5

พระชายา
พระราชชายา
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระชายา อยู่รองจากพระอัครชายา ได้แก่

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

เจ้าจอมมารดา
เจ้าจอมมารดา
คือ ฐานันดรศักดิ์ของพระสนมเอกกับพระสนมโทที่มิใช่สมาชิกแห่งพระราชวงศ์ แต่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา สนองพระเจ้าแผ่นดินกับสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ไ้ด้แก่

เจ้าจอมมารดาตลับ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช

เจ้าจอม
คือ ฐานันดรศักดิ์พระสนมกับสนมที่มิใช่สมาชิกแห่งพระราชวงศ์ แต่ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา สนองพระเจ้าแผ่นดินกับสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ไ้ด้แก่

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา และพระราชสกุล
ลูกหลวง (ชั้นพระบรมวงศ์-พระราชโอรสธิดาของพระมหากษัตริย์)
เจ้าฟ้า
เจ้าฟ้า
เป็นฐานันดรศักดิ์ที่รองลงมาจากพระภรรยาเจ้า แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่

เจ้าฟ้าชั้นเอก
เป็นฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชโอรสธิดา ประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดินกับสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง คือภรรยาที่มีกำเนิดเป็นพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ขานพระนามโดยลำลองว่า ทูลกระหม่อมชาย และ ทูลกระหม่อมหญิง

เจ้าฟ้าชั้นโท
เป็นฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชโอรสธิดา ประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหสีชั้นหลานหลวง คือภรรยาที่มีกำเนิดเป็นพระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์ หรือพระมเหสีเทวีชั้นรองลงมาที่มีกำเนิดเป็นสามัญชนแต่ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นเจ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (มีพระกำเนิดเป็นสามัญชน--คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์)
นอกจากนี้ เจ้าฟ้าชั้นโทยังหมายถึงผู้ที่เป็นพี่น้องร่วมกับพระมหากษัตริย์ แล้วต่อมาได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ขานพระนามโดยลำลองว่า สมเด็จชาย และ สมเด็จหญิง

เจ้าฟ้าชั้นตรี
เป็นฐานันดรศักดิ์สำหรับเจ้าฟ้าที่พระมหากษัตริย์พระราชทานสถาปนาเป็นกรณีพิเศษ เช่น เจ้าฟ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 และ เจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาใน กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าฟ้าเป็นกรณีพิเศษ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร พระราชธิดาใน สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กับ พระอัครชายาเธอ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา ซึ่งทรงเป็นพระราชขนิษฐาใน พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ, พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

พระองค์เจ้า (ชั้นลูกหลวง)
พระองค์เจ้า
คือฐานันดรศักดิ์ที่รองลงมาจากเจ้าฟ้า คือพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวงได้แก่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
คือฐานันดรศักดิ์สำหรับ พระราชโอรส-ธิดา ซึ่งประสูติแต่พระเจ้าแผ่นดิน กับเจ้าจอมมารดาสามัญชน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฯลฯ

หลานหลวง (ชั้นพระอนุวงศ์-พระราชนัดดาของพระมหากษัตริย์)
1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โดยปกติแล้ว คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชนัดดาของพระเจ้าอยู่หัว จำแนกได้อีก ดังนี้

พระโอรส-ธิดา ใน เจ้าฟ้า กับ พระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้าที่เป็นชายาเอก (สะใภ้หลวง) เช่น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตมงคล
หม่อมเจ้าหลานเธอบางองค์ ซึ่งได้รับพระราชทานฐานันดรเป็นพระองค์เจ้าเป็นกรณีพิเศษ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
เจ้านายในชั้นนี้จะเรียกว่าพระองค์ชาย พระองค์หญิง แต่มียกเป็นบางกรณี ในบางวังอาจยกย่องเจ้านายในวังที่มีพระชันษาสูงแล้วเป็นพิเศษอาจเรียกว่าเสด็จพระองค์ชาย-หญิงเช่นเรียก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ว่า เสด็จพระองค์ชายใหญ่ เป็นต้น

2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระราชนัดดาของพระเจ้าอยู่หัว จำแนกได้อีก ดังนี้

พระโอรส-ธิดา ใน เจ้าฟ้า กับ หม่อมสามัญชน(ในบางกรณี) เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ หม่อมสมพันธ์ บริพัตร ณ อยุธยา(ราชสกุลเดิม ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)
พระโอรส-ธิดา ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (ชั้นลูกหลวง) กับ พระองค์เจ้า เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธินฤมล
หรือหม่อมเจ้าที่รับพระราชทานสถาปนาเป็นพิเศษ
กรณีได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพิเศษก็เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งประสูติเป็นหม่อมเจ้า (ส่วนพระโอรสธิดาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านั้น จะมีฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน คือหม่อมราชวงศ์) เจ้านายในชั้นนี้หากได้รับการสถาปนามาจากหม่อมเจ้าจะเรียกว่าท่านพระองค์ชาย ท่านพระองค์หญิง

หม่อมเจ้า หม่อมเจ้าหญิง
หม่อมเจ้า(ม.จ.)
คือฐานันดรศักดิ์ที่รองลงมาจากพระองค์เจ้า เป็นชั้นสกุลยศที่ต่ำที่สุดสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ โดยปกติแล้วฐานันดรนี้ จะได้แก่โอรสธิดาในเจ้าฟ้า กับ สามัญชน และ โอรสธิดาใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าที่ได้รับพระราชทานสถาปนาพระยศเป็นพิเศษในบางกรณี

เจ้านายชั้นจะเรียกกันโดยลำลองว่า ท่านหญิง ท่านชาย

ราชนิกุล และสายสัมพันธ์
บุคคลนับเนื่องราชราชสกุล ลำดับรองลงมาจากหม่อมเจ้า แม้มีคำนำหน้านามเป็นพิเศษอยู่ แต่ก็ถือเป็นสามัญชน

หม่อมราชวงศ์
หม่อมราชวงศ์ (ม.ร.ว.)
คือฐานันดรศักดิ์ที่รองลงมาจากหม่อมเจ้า เป็นคำนำหน้านามสำหรับโอรสธิดาในหม่อมเจ้า เรียกโดยลำลองว่า คุณหญิง คุณชาย ฐานันดรศักดิ์นี้ บัญญัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4

หม่อมหลวง
หม่อมหลวง (ม.ล.)
คือบุตรธิดาของหม่อมราชวงศ์ เป็นคำนำหน้านามขั้นสุดท้ายของเชื้อพระวงศ์ ในการเรียกโดยลำลอง ให้ใช้คำนำหน้าว่า "คุณ" ฐานันดรศักดิ์นี้ บัญญัติขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

ณ อยุธยา
ณ อยุธยา
คือคำต่อท้ายนามราชสกุลของผู้สืบสกุลต่อมาจากหม่อมหลวง ซึ่งให้เป็นที่รู้กันว่าเป็นสามัญชนผู้สืบเชื้อสายในราชสกุลรองจากชั้นหม่อมหลวงลงมา อนึ่ง บุคคลผู้มีนามสกุลต่อท้ายว่า ณ อยุธยา นั้นมิได้เป็นเจ้านายในพระราชวงศ์ (พระราชวงศ์หมายถึงหม่อมเจ้าขึ้นไป) และมิใช่เชื้อพระวงศ์ (หมายถึงสามัญชนผู้มีคำนำหน้านามว่า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง)

ในระยะแรก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า ณ กรุงเทพ[1] ต่อมาในปลายรัชกาล ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า ณ อยุธยา แทน ตามประกาศเรื่องแก้เครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชสกุล ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468[2]

หม่อม
หม่อม นั้น มีอยู่ 3 ลักษณะ ดังนี้

หม่อมราชนิกุล
คือ หม่อมราชวงศ์ หรือ หม่อมหลวง ที่รับราชการ มีความดีความชอบ กระทั่งได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น เช่น หม่อมอนุวัตรวรพงษ์ ซึ่งมีนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์สิงหนัด ปราโมช
เจ้าชาย เจ้าหญิง ที่ทรงต้องพระราชอาญาถูกถอดพระยศ เช่น หม่อมไกรสร (เดิมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษรณเรศ)
สตรีสามัญชนผู้เป็นภรรยาของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า ลงมาถึงชั้นหม่อมเจ้า เช่น หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ หม่อมไฉไล ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ฯลฯ
ชายผู้ดี ใช้เรียกกันอย่างลำลองใช้เมื่อครั้งกรุงเก่าและตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น หม่อมมุก พระสวามีในพระเจ้าน้องนางเธอ กรมหลวงนรินทรเทวีในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์

พระภรรยาของเจ้าชาย
มีทั้งหมด 3 ฐานันดร ได้แก่

พระชายา
พระชายา
คือฐานันดรศักดิ์สำหรับพระภรรยาของ เจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า ซึ่งเป็นเจ้าหญิงมาตั้งแต่กำเนิด เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ "พระชายา" ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ชายา
ชายา
คือฐานันดรศักดิ์สำหรับภรรยาของหม่อมเจ้า ซึ่งมีกำเนิดเป็นเจ้าเหมือนกัน เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา "ชายา" ในหม่อมเจ้าเศิกสงัด ชุมพล

หม่อม
หม่อม
คือคำนำหน้านามสำหรับภรรยาที่เป็นหญิงสามัญชนของเจ้าชาย เช่น หม่อมแจ๊กเควลิน จิตรพงศ์ ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์




 

Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2551 13:59:43 น.
Counter : 995 Pageviews.  

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้าแห่งการสาธารณสุข

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้าแห่งการสาธารณสุข

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมของ 84 ปีที่แล้ว ในแว่นแคว้นแดนไพรัชประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร มีขัตติราชนารีแห่งสยามประเทศองค์หนึ่ง ประสูติขึ้นท่ามกลางความชื่นชมโสมนัสแห่งสมเด็จพระราชบิดา...สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระราชชนนี...สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมถึงพระประยูรญาติแห่งพระบรมวงศ์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่ทรงทราบข่าวอันน่ายินดีนี้

หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล ทรงเจริญพระชันษาขึ้นท่ามกลางการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีเยี่ยมของสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีในสภาพแวดล้อมที่สงบสบายและเต็มไปด้วยธรรมชาติอันร่มรื่นในประเทศเยอรมันที่สมเด็จพระราชบิดาเสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์

ต่อมามินานก็ทรงมีพระอนุชาอีกสองพระองค์ ที่ในกาลต่อมา ได้ทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ ดังการณ์ที่ปรากฏเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎรได้อัญเชิญพระวงวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ทำให้พระองค์เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา...

และแม้ว่าขนบประเพณีแห่งสยามประเทศในขณะนั้น จะแยก "ฝ่ายใน" ขาดออกจากพระราชอำนาจด้านการปกครอง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็มิได้ทรงอยู่เฉย ซ้ำกลับทรงงานหนักอยู่ตลอดเวลา และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของสมเด็จพระอนุชาธิราชทั้งสองพระองค์ เพื่อยังประโยชน์สุขอันมหาศาลแก่ปวงชนชาวไทย

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอนั้นนับเป็นอเนกอนันต์ เพราะแม้ว่าจะทรงศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยโลซาน แต่ด้วยเพราะทรงงานทั้งศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง ทำให้ทรงพระปรีชาในหลายด้าน ทั้งพระราชกรณียกิจด้านอักษรศาสตร์ ที่ทรงเชี่ยวชาญ ด้านการประพันธ์ที่ทรงมีพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่ามากมาย

และโดยเฉพาะในด้านการสาธารณสุข ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้สมกับสายพระโลหิตทั้งจากฝั่งสมเด็จพระราชบิดาที่ทรงเป็นแพทย์และพระราชชนนีที่ทรงศึกษาและทรงอุทิศพระวรกายด้านการพยาบาลและด้านการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

มูลนิธิ พอ.สว. “พระราชมรดกแห่งพระปณิธาน”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นขัดสนในเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเมื่อยามเจ็บไข้ของตำรวจตระเวนชายแดนและราษฎรทั่วไปที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารเรื่อยมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ใช้ชื่อย่อว่า “พอ.สว.” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 โดยเชิญชวนนายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลเข้ามาเป็นอาสาสมัคร ในเบื้องต้น ประกอบด้วยแพทย์และพยาบาล อาสาสมัครจากโรงพยาบาลแมคคอมิค และโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ เป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์เดินทางไปทำการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านที่ห่างไกลทุรกันดาร

ต่อมาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับจนมี พอ.สว. ประจำจังหวัดรวม 51 จังหวัดทั่วประเทศ และเพิ่มภารกิจมากขึ้น จากการเป็นหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ก็มี “แพทย์ทางอากาศ” หรือ “แพทย์ทางวิทยุ” ช่วยรักษาทางวิทยุ ช่วยนำผู้ป่วยบางประเภทมารักษายังโรงพยาบาลจังหวัดหรือในกรุงเทพ ฯ พร้อมทั้งออกค่ารักษาพยาบาลให้ด้วย เป็นต้น และในปี พ.ศ.2517 ได้พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” (มูลนิธิ พอ.สว.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ด้วย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีในกิจการของ พอ.สว. มาตลอด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นหน่วยแพทย์ พอ.สว.จนกระทั่งเป็นมูลนิธิ พอ.สว. จะปรากฏเห็นกันโดยทั่วไปว่าทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ทรงนำหน่วยแพทย์ พอ.สว.ไปทำการตรวจรักษาผู้ป่วย ณ หมู่บ้านต่างๆ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดาร และในบางรายได้ทรงรับผู้ป่วยไว้ในพระราชานุเคราะห์ส่งต่อไปรักษา ณ โรงพยาบาลในส่วนจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ส่วนมาก จะเห็นว่าเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร บางแห่งไม่มีทางรถยนต์ มีแต่ทางเท้า แต่ก็มีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ และมาขอรับการตรวจอย่างเนืองแน่น ทำให้สุขภาพอนามัยของประชาชนในถิ่นทุรกันดารดีขึ้นตามลำดับ จำนวนผู้มาเฝ้าฯ กลับเพิ่มทวีขึ้น เพราะพวกเขาเจริญขึ้นทั้งทางสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่มากขึ้น แต่มารับการตรวจรักษาน้อยลง

จวบจนเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ กล่าวได้ว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว. ไม่ใช่เป็นเพียง “พระราชมรดก” แต่ทรงเห็นแก่สุขภาพอนามัย ความเป็นอยู่ ตลอดจนการศึกษาและการพัฒนา “คน” ของประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขตแดนที่มีความเจริญน้อยกว่าเป็นสำคัญ ด้วยพระเมตตาจะให้พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิต มีวิญญาณสมกับเป็น “คน” มีคุณภาพชีวิต มีครอบครัว มีสังคมที่มีความสุข เป็นน้ำพระหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง โดยมิได้คิดถึงพระองค์เองเลยสักนิดว่าจะต้องทรงงาน ต้องทรงตรากตรำพระวรกายมากเพียงใด เพียงเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นมีความสุขสมบูรณ์เท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ทรงดำรงพระองค์เป็นสมเด็จพระราชธิดาผู้สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชมารดาได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ อย่างวิเศษที่สุดแล้ว โดยส่วนเสี้ยวแห่งการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข ได้ถูกบอกเล่าผ่านความทรงจำอันตรึงแน่นในหัวใจของหนึ่งในผู้ที่เคยถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้านการแพทย์ “พอ.สว.” แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ถือกำเนิดจากน้ำพระราชหฤทัยอันมหาศาลแห่งสมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง ที่ถูกสืบต่ออย่างเข้มแข็งด้วยสองพระหัตถ์แห่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

เมื่อต้นเดือนตุลาคม ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยมินาน นายแพทย์ยุทธ โพธารามิก รองเลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว. เคยเล่าถึงพระราชจริยวัตรยามที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์พอ.สว.แห่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเอาไว้ว่า พระพี่นางฯ ทรงงานหนักมาก โดยในครั้งที่สุขภาพยังดีอยู่จะเสด็จเยี่ยมประชาชนและแพทย์อาสาในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย อีกทั้งไม่โปรดเสด็จเข้าตัวเมืองและประทับในโรงแรม แต่โปรดจะลงพื้นที่จริงในท้องถิ่นทุรกันดารเสียมากกว่า เวลาพระองค์ท่านรับสั่งทรงมีน้ำเสียงคล้ายสมเด็จย่า ตนฟังเวลาพระองค์ท่านรับสั่งยังเคยคิดเลยว่า เสียง (พระสุรเสียง) เหมือนกับสมเด็จย่าซึ่งทุกๆ ครั้งที่ได้มีโอกาสถวายรายงานและรับพระราชกระแสใส่เกล้าใส่กระหม่อมพระองค์มักจะมีรับสั่งเสมอว่า ขอให้แพทย์อาสาทุกคนยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก

“ท่านเสด็จมา นอกจากเยี่ยมประชาชนแล้ว ท่านยังเป็นกำลังใจให้แพทย์อาสาที่มีอยู่เป็นหมื่นเป็นแสนคนทั่วประเทศ เพราะแพทย์อาสาเป็นคณะแพทย์ที่ทำงานไม่มีเงินเดือน ทุกครั้งที่เสด็จมาจะมีของที่ระลึกส่วนพระองค์ เป็นเหรียญ โล่ หรือตราที่สมเด็จย่าเคยทำเอาไว้เป็นของที่ระลึกให้แก่แพทย์อาสาทุกคนเสมอ”

รองเลขาธิการมูลนิธิ พอ.สว. ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังว่า แม้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ พอ.สว.จะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่การดำเนินงานของ พอ.สว.ก็ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ เนื่องจากได้มีการวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้าไว้ถึง 1 ปี มีทีมงานแพทย์อาสาที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แพทย์เฉพาะทาง ทันตสาธารณสุข ในส่วนของงบประมาณก็มีเงินที่รับบริจาคอยู่ถึง 600 กว่าล้านบาท นอกจากนั้นในยังได้รับงบประมาณรายปีจากรัฐบาลอีก 36 ล้านบาทต่อปี

สำหรับความพระทับใจที่มีต่อสมเด็จพระพี่นางเธอฯ นั้น นพ.ยุทธ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในความตรงต่อเวลาของพระองค์ท่าน อย่างบางครั้งขบวนเสด็จจะไปถึงที่หมายเร็วกว่ากำหนด พระองค์ก็จะรับสั่งให้ชะลอรถ เพราะทรงเกรงว่าหากไปถึงก่อนเวลาเจ้าหน้าซึ่งจัดเตรียมงานและถวายการต้อนรับจะเดือดร้อนวุ่นวาย และขบวนเสด็จของพระองค์ก็เป็นขบวนที่เล็กมาก ไม่มีพิธีรีตอง พระองค์ท่านกลัวประชาชนจะเดือดร้อนเพราะรถติด ทรงเป็นห่วงประชาชนในทุกๆ เรื่อง

แม้ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พระองค์ท่านก็ยังทรงเสด็จไปโดยไม่หวั่นภยันตราย ในปี 2548 พระองค์ท่านได้เสด็จไปเยือน จ.ยะลา และทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปให้กำลังใจเหล่า พอ.สว.ซึ่งออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ ต.ยะรม อ.เบตง แต่เนื่องจากอากาศปิดทำให้ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินได้ จึงได้ทรงแจ้งให้ทีมแพทย์อาสามาเข้าเฝ้าและร้องเพลงถวายพระองค์ท่านที่เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา แทน

ในส่วนการทำงานของทีมแพทย์ พอ.สว.นั้น สมเด็จพระพี่นางก็จะทรงไต่ถามทุกข์สุขและปัญหาต่างๆโดยตลอด อีกทั้งยังทรงติดตามความคืบหน้าในการทำงานด้วย พระองค์มักตรัสถามว่าตอนนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น การคมนาคมก็สะดวกขึ้น ประชาชนในพื้นที่ต่างๆเขายังต้องการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อยู่ไหม พวกเราก็ทูลว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ยังต้องการอยู่ ที่ผ่านมาเวลาพระองค์เสด็จลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมประชาชนก็จะทรงเสด็จมาให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ พอ.สว.ด้วยทุกครั้ง ท่านมักทรงอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง

เสื้อสีเทา-กระเป๋าสีเขียว

แต่เดิมนั้นหน่วยแพทย์อาสาจะออกปฏิบัติการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ และไปเช้าเย็นกลับในวันเดียวกัน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะหลัก ในแต่ละหน่วยประกอบด้วย แพทย์ 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกรหรือพยาบาลที่มีความรู้เรื่องยา 1 คน พยาบาล 3 คน และอาสาสมัครสมทบ 1 คน ทั้งหมดนี้ อาสาทำงานโดยไม่มีรายได้ตอบแทน มีภูมิลำเนาหรือรับราชการอยู่ในจังหวัดนั้นๆ

อาสาสมัคร พอ.สว. ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าเสื้อสีเขียว มีเครื่องหมายของหน่วยอาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประชาชนจะเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า หมอกระเป๋าเขียว แม้แต่ผู้ที่มีอุดมการณ์ต่างกันในบางพื้นที่ ยังยกเว้นการทำร้าย "หมอกระเป๋าเขียว"

นายแพทย์คิมหันต์ ยงรัตนกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการมูลนิธิ พอ.สว. จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดแพทย์อาสาลำดับที่ 29 เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคยถวายงานรับใช้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในฐานะทีมแพทย์อาสาสมัคร พอ.สว. โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2527 กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของ พอ.สว. ในพื้นที่ของภาคอีสาน ทั้งที่จังหวัดบุรีรัมย์, ยโสธร, สุรินทร์ และนครราชสีมา นพ.คิมหันต์เล่าว่า ในอดีตนั้นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่การเดินทางคมนาคมมีความยากลำบาก ประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เช่นทุกวันนี้ ฉะนั้น ช่วงระยะเวลา 20 ปีก่อน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จึงนับว่ามีความสำคัญมาก

นพ.คิมหันต์ อธิบายต่อว่าสภาพพื้นที่ในภาคอีสานนั้น ปัญหาทางด้านสุขภาพที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ การออกตรวจรักษาโรคในพื้นที่ของหน่วยแพทย์ พอ.สว. เดือนละ 2 ครั้ง โดยไม่ซ้ำพื้นที่กันในแต่ละปีจึงไม่สามารถติดตามผลการรักษาได้ ในช่วงหลังจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นเดือนละ 2 ครั้ง แต่ออกหน่วยซ้ำพื้นที่เดิม ปีละ 12 จุดตรวจแทน ซึ่งการเสด็จออกพื้นที่แต่ละครั้งของสมเด็จย่า เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะทรงติดตามเสด็จด้วยเสมอแทบทุกครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ หนึ่ง ทรงออกเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามจุดตรวจในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล และการออกเยี่ยมสมาชิก พอ.สว. เพื่อพระราชทานของที่ระลึก รวมทั้งโล่แก่สมาชิกที่ออกทำงานในพื้นที่ครบ 30 ครั้งสำหรับแพทย์, 60 ครั้งสำหรับพยาบาล เป็นต้น

เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้ามารับช่วงเป็นประธานดำเนินงานมูลนิธิ พอ.สว. ต่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราฯ นั้น พระองค์ก็ได้ทรงยึดแนวทางปฏิบัติของพระราชชนนีเป็นแบบอย่าง ทรงออกเยี่ยมเยียนคณะทำงาน พอ.สว. อย่างสม่ำเสมอ ในพื้นที่ที่มีหน่วยงานของพอ.สว.ทั้ง 51 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทรงให้กำลังใจแก่อาสาสมัครสมาชิก ทรงติดตามดูผลการรักษาประชาชน รวมทั้งทรงดูแลผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์ ซึ่ง นพ.คิมหันต์อธิบายว่า สมัยก่อนนั้นยังมิได้มีการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมด เช่น ผู้ป่วยที่ถูกส่งไปรักษาตัวต่อในกรุงเทพฯ นั้น นอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าอาหารอีก ภารกิจของ พอ.สว. คือให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลส่วนที่เกินมานี้ด้วย นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลตามปกติ

ทว่า ในช่วงหลังภารกิจของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ได้เปลี่ยนจากการรักษาพยาบาลมาเน้นการให้บริการทางด้านทันตกรรมแทน เนื่องจากการคมนาคมที่ทันสมัย กอปรกับบริการด้านสาธารณสุขได้เข้าถึงในเกือบทุกพื้นที่แล้ว หน่วยแพทย์ พอ.สว. จึงต้องปรับบทบาทการทำงานให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

“เมื่อตอนสมเด็จย่าทรงเสด็จสวรรคต ก็มีแบบสอบถามพวกเรามาว่าอยากให้มูลนิธิ พอ.สว. ดำเนินการต่อไปไหม ซึ่งพวกเราทุกคนก็มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าอยากจะให้มีอยู่ต่อไป เพราะถึงแม้เรื่องสุขภาพโดยรวมจะมีบริการทางการแพทย์เข้าถึงแล้ว ด้วยการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น แต่บางโรคโดยเฉพาะสุขภาพอนามัยทางช่องปากก็ยังเป็นปัญหาอยู่ พวกเราสมาชิก พอ.สว.ก็ตั้งใจจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อสืบสานปณิธานที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานไว้ให้ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงทั้งสองพระองค์ ”

นพ.คิมหันต์กล่าวว่า แม้ยามที่ทรงพระประชวร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ยังทรงเป็นห่วงคณะทำงาน พอ.สว. “ขณะที่พระองค์ท่านประชวรท่านก็ยังไม่ทอดทิ้งพวกเรา ทรงให้ผู้แทนพระองค์คือ ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมอาสาสมัคร พอ.สว. ดังเช่นที่พระองค์เคยเสด็จเยี่ยมเป็นประจำทุกปี”

นพ.คิมหันต์กล่าวต่อว่า ตนเองมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2547 ที่กิ่งอำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ยังทรงแข็งแรง สดชื่น ทรงพูดคุยยิ้มแย้มอย่างเป็นกันเอง รวมทั้งรับฟังเพลงที่เหล่าอาสาสมัคร พอ.สว. ร่วมร้องถวาย หลังจากนั้น ยังพระราชทานโอกาสให้สมาชิก พอ.สว. ทุกคนร่วมถ่ายภาพกับพระองค์อีกด้วย

“จริงๆ แล้วถึงไม่มีพระองค์ท่าน พวกเราก็ยังคงทำงานกันอยู่ แต่พระองค์ท่านเป็นผู้รวมพลัง ทำให้เหล่าแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครทุกคนมีกำลังใจร่วมกันทำงานจนสำเร็จลุล่วง พวกเรารู้สึกเสียใจกับการจากไปของสมเด็จพระพี่นางฯ ก็หวังว่าจะมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นเสด็จลงมาทรงเป็นประธานดำเนินงานมูลนิธิฯ ต่อไป เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่อาสาสมัครมูลนิธิ พอ.สว. เช่นที่สมเด็จย่าและสมเด็จพระพี่นางฯ ท่านได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามพระปณิธานสืบมา”

*ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจาก โครงการเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:03:11 น.
Counter : 522 Pageviews.  

ย้อนรอยสายราชสกุล…ในพระบรมราชจักรีวงศ์ (จบ)

ย้อนรอยสายราชสกุล…ในพระบรมราชจักรีวงศ์ (จบ)

ช่วงเวลา 226 ปีที่ผ่านมา ราชวงศ์จักรีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติมาถึง 9 รัชกาล มีราชสกุลวงศ์สืบสายมาถึง 131 ราชสกุล ซึ่งในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่สมาชิกราชสกุลทั้งหมดจะมารวมกันในงานบำเพ็ญพระกุศลถวายพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันใกล้ชิดในวงศ์ที่สืบเชื้อสายจากต้นราชสกุลเดียวกัน มาร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ราชสกุลราชวงศ์จักรี

**สายราชสกุลวังหน้าในร.3

สำหรับกรมพระราชวังหน้าในสมัย รัชกาลที่ 3 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระนามเดิม “พระองค์เจ้าอรุโณทัย” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 17 ในรัชกาลที่ 1 และเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และประทับที่วังหน้าตลอดพระชนม์ชีพ ทรงมีพระราชโอรส 14 พระองค์ พระราชธิดา 6 พระองค์ และทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 5 ราชสกุล ดังนี้

กำภู องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำภู ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 6 ในเจ้าจอมมารดาคำ

เกสรา องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอานุภาพพิศาลศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเกสรา” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 9 ในเจ้าจอมมารดาคุ้มเล็ก

อิศรศักดิ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงษ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 12 ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี

อนุชะศักดิ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านุช ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 14 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาเฟือง

นันทิศักดิ์ องค์ต้นราชสกุล คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเริงคนอง ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 18 ในเจ้าจอมมารดาเอม

**สายราชสกลุในรัชกาลที่ 4

ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระอนุชาจจึงสด็จเสวยราชสมบัติแทน มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 43 ในรัชกาลที่ 2 กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา พระบรมราชินี พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ก่อนเสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชโอรส 39 พระองค์ และพระราชธิดา 43 พระองค์ ถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มีลูกเธอมากที่สุดในพระราชวงศ์จักรี โดยทรงมีพระราชโอรสสืบสายราชสกุลรวม 27 ราชสกุลดังนี้

จักรพันธุ์ องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 28 และที่ 3 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

ภาณุพันธุ์ องค์ต้นราชสกุลคือ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 45 และที่ 4 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

จิตรพงศ์ องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าจิตรเจริญ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 และที่ 2 ในพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย

นพวงษ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้านพวงษ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 1 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาน้อย

สุประดิษฐ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์” พระราชโอรสลำดับที่ 2 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาน้อย

กฤดากร องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร” พระราชโอรสลำดับที่ 17 ในเจ้าจอมมารดากลิ่น

คัคณางค์ องค์ต้นราชกสุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าคัดนางคยุคล” พระราชโอรสลำดับที่ 20 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง

ศุขสวัสดิ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าศุขสวัสดิ์” พระราชโอรสลำดับที่ 23 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาจันทร์

ทวีวงศ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ” พระราชโอรสลำดับที่ 24 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตลับ

ทองใหญ่ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่” พระราชโอรสลำดับที่ 25 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาสังวาลย์

เกษมสันต์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์” พระราชโอรสลำดับที่ 26 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาแพ

กมลาศน์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์” พระราชโอรสลำดับที่ 27 และที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง

เกษมศรี องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค” พระราชโอรสลำดับที่ 30 และที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาจันทร์

ศรีธวัช องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนสิริธัชสังกาศ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าศรีสิทธิธงไชย” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 33 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาบัว

ทองแถม องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทองแถมธวัลยวงษ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 34 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาสังวาลย์

ชุมพล องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 37 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง

เทวกุล องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงษ์วโรปการ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงษ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 42 และที่ 2 ในสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม)

สวัสดิกุล องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมติอมรพันธุ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในเจ้าจอมมารดาหุ่น (ภายหลังได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นท้าวทรงกันดาล)

จันทรทัต องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 51 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาโหมด

ชยางกูร องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพงษาดิศรมหิป มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไชยานุชิต”ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 54 และที่ 7 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง

วรวรรณ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวรวรรณากร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 56 ในเจ้าจอมมารดาเขียน

ดิศกุล องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 57 ในเจ้าจอมมารดาชุ่ม

โศภางค์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ พระราชโอรสลำดับที่ 59 ในเจ้าจอมมารดาเหม (ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นท้าวสมศักดิ์)

โสณกุล องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 61 ในเจ้าจอมมารดาวาด (ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นท้าววรจันทร์)

วัฒนวงศ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงษ์สิริพัฒน์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 63 และที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาบัว

สวัสดิวัตน์ องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 75 และที่ 6 ในสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม)

ไชยันต์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าไชยันตมงคล” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายลำดับที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาห่วง

**สายราชสกุลวงศ์วังหน้าในร.4

ส่วนสายราชสกุลที่สืบเชื้อสายในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคง (วังหน้า) นั้นกิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูรอธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 50 ในรัชกาลที่ 2 และที่ 3 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี อีกทั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 4 อีกด้วย

เมื่อรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชฯ ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชโดยทรงเฉลิมพระเกียรติยศเสมอเหมือนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 ดังปรากฏพระนามในแผ่นสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” และได้เสด็จดำรงสิริราชาสมบัติรวมระยะเวลา 15 ปี ทรงมีพระราชโอรส 29 พระองค์ และพระราชธิดา 29 พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 11 ราชสกุลดังนี้

สุธารส องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุธารส หรือที่บรรดาเจ้านายทั่วไปเอ่ยพระนามว่า “พระองค์วัน” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 10 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดากุหลาบ

วรรัตน์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวรรัตน์” หรือ “พระองค์โตใหญ่” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 12 ในเจ้าจอมมารดารเกศ

ภาณุมาศ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุมาศ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 18 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาเอี่ยม

หัสดินทร องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าหัสดินทร์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 19 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาหนู

นวรัตน์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเนาวรัตน์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 20 และที่ 4 ในเจ้าคุณจอมมารดเอม

ยุคนธรานนท์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคุนธร ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 23 ในเจาจอมมารดาแย้ม

โตษะณีย์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี ชาววังทั่วไปเรียกว่า “พระองค์โตเล็ก” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 34 และที่ 5 ในเจ้าจอมมารดากลีบ

นันทวัน องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านันทวัน ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 36 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาหนู

พรหเมศ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรหเมศ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 50 ในเจ้าจอมมารดาพรหมา

จรูญโรจน์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 53 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาช้อย

สายสนั่น องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสนั่น ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 55 ในเจ้าจอมมารดาอ่อน

**สายราชสกุลในรัชกาลที่ 5

เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” พระราชโอรสลำดับที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี จึงเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชโอรส 32 พระองค์ และพระราชธิดา 44 พระองค์ และที่ได้รับพระราชทานนามสกุลแล้วมีทั้งสิ้น 15 ราชสกุลดังนี้

บริพัตร องค์ต้นราชสกุลคือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์”ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 33 และที่ 2 ในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

จักรพงษ์ องค์ต้นราชสกุลคือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 40 และที่ 4 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ

มหิดล องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 69 และที่ 7 ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

จุฑาธุช องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 72 และที่ 8ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

ยุคล องค์ต้นราชสกุลคือ นายพลโท สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ายุคลทิฆัมพร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 41 และที่ 1 ในพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ

กิติยากร องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์” พระราชโอรสลำดับที่ 12 ในเจ้าจอมมารดาอ่วม

รพีพัฒน์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์” พระราชโอรสลำดับที่ 14 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาตลับ

ประวิตร องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงปราจิณกิติบดี มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม” พระราชโอรสลำดับที่ 15 ในเจ้าจอมมารดาแช่ม

จิรประวัติ องค์ต้นราชสกุลคือ จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช” พระราชโอรสลำดับที่ 17 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาทับทิม

อาภากร องค์ต้นราชสกุลคือ นายพล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์” พระราชโอรสลำดับที่ 28 และที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด

ฉัตรชัย องค์ต้นราชสกุลคือ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 35 ในเจ้าจอมมารดาวาด

เพ็ญพัฒน์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์” พระราชโอรสลำดับที่ 38 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดามรกฎ

วุฒิชัย องค์ต้นราชสกุลคือ นายพล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 42 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาทับทิม

สุริยง องค์ต้นราชสกุลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 46 และที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาโหมด

รังสิต องค์ต้นราชสกุลคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาไชยนาทนเรนทร มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 52 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง (สนิทวงศ์)

**สายราชสกุลวงศ์วังหน้า ในร.5

ส่วนผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากวังหน้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือ “หม่อมเจ้ายอชวอชิงตัน” แต่บรรดาเจ้านายทั่วไปเอ่ยพระนามว่า “หม่อมเจ้ายอด” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ลำดับที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเอม

กิตติพงษ์ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า สมเด็จกรมพระราชวังบรววิไชยชาญ ถือเป็นวังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์...ทรงมีพระราชโอรส 16 พระองค์ และพระราชธิดา 13 พระองค์ ทรงมีพระราชทายาทสืบสายสกุลรวม 9 ราชสกุลดังนี้

วิไลยวงศ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 4 ในเจ้าจอมมารดาเข็ม

กาญจนะวิชัย องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชาญไชยบวรยศ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากาญจนโนภาสรัศมี” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 5 ในเจ้าจอมมารดาปริกเล็ก

กัลยาณะวงศ์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 9 ในเจ้าจอมมารดาเลี่ยมใหญ่

สุทัศนีย์ องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 14 ในเจ้าจอมมารดา ม.ล.นวม ปาลกะวงศ์

วรวุฒิ องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ราชกุมาร ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 15 ในเจ้าจอมมารดาป้อม

รุจวิชัย องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารุจาวรฉวี ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 19 ในเจ้าจอมมารดาสมบุญ

วิบูลยพรรณ องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิบูลยพรรณรังษี (มิได้ทรงกรม) ทรงพระราชโอรสลำดับที่ 21 ในเจ้าจอมมารดาเขียวเล็ก

รัชนี องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส” ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 22 และที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเลี่ยมเล็ก

วิสุทธิ องค์ต้นราชสกุลคือ พระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรวิสุทธิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 27 ในเจ้าจอมมารดาสอาด

**สายราชสกุลในรัชากาลที่ 6

สำหรับสายราชสกุลในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นกิตติพงษ์ เล่าว่าเนื่องรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีพระมเหสีเทวีน้อย รวมทั้งสิ้น 3 พระองค์กับอีก 1 ท่าน แต่ไม่มีพระราชโอรสมาสืบเชื้อสายราชสกุล ทรงมีพระราชธิดา 1 พระองค์ที่ประสูติจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ

**สายราชสกุลในรัชกาลที่ 7

เมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระอนุชาทรงขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” ทรงเป็นพระโอรสลำดับที่ 76 ในรัชกาลที่ 5 และพระองค์ที่ 8 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

เป็นที่น่าเสียดายว่า พระองค์ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา ไว้สืบราชสกุล แม้แต่พระองค์เดียว แต่ทรงมีพระราชโอรสบุญธรรมที่ทรงพระเมตตาขอ เรืออากาศโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิสุประภาต มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าจิรศักดิสุประภาต” มาเลี้ยงดูตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สายพระโลหิตก็ตาม แต่พระองค์ทรงรักมากดุจดังพระราชโอรส ถึงกับพระราชทานนามสกุลส่วนพระองค์ “ศักดิเดชน์” ร่วมกับราชสกุลเดิม “ภาณุพันธ์” เป็น “ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์”ให้กับพระราชโอรสบุญธรรม

เรืออากาศโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิสุประภาต เป็นพระโอรสในจอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดช กับหม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา และจึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็นสายราชสกุลเพียงหนึ่งเดียวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์ต้นราชสกุล ศักดิเดชน์ ภาณุพันธ์ ด้วย

**สายราชสกุล ร. 8 และ ร. 9

ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. พ.ศ.2477 สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นจึงมีมติให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรีด้วยพระชนมายุเพียง 9 พรรษาเท่านั้น ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 2 ของพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนม์ได้ 21 พรรษาและไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสจึงไม่มีพระราชโอรสสืบสายสกุล

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระราชอนุชาธิราชได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม 4 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ , สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฎราชกุมาร , สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 28 มีนาคม 2551 11:03:27 น.
Counter : 624 Pageviews.  

1  2  3  

LowLow
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add LowLow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.