รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขน



ปัญญา นิตยสุวรรณ
ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
________________________________________
ในการประกอบอาชีพการงานแต่ละชนิด ผู้ร่วมทำงานมักจะมีศัพท์เรียกขานกันเป็นที่รู้ในหมู่ผู้ร่วมงานนั้นๆ นานๆ ไปก็เลยกลายเป็นศัพท์เฉพาะวิชาชีพหรือการงานนั้นไปโดยปริยาย การแสดงนาฏศิลป์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ลิเก และการแสดงนาฏศิลป์ชุดต่างๆ ก็มีศัพท์สำหรับเรียกขานโดยเฉพาะเป็นที่รู่ของผู้ที่อยู่ในวงการแสดงตามที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการแสดงโขนดูออกจะมีศัพท์มากอยู่สักหน่อย ผู้เขียนอยู่ในวงการโขนมานานพอสมควร จึงพอจะทราบถึงศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงโขนอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นจึงขอเล่าถึงศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนเท่าที่สติปัญญามีอยู่ ให้ท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการนาฏศิลป์โขนและอาจจะไม่ทราบถึงศัพท์นั้นๆ ได้อ่านกันในครั้งนี้ ส่วนท่านที่ทราบแล้วและทราบดีกว่าผู้เขียนก็โปรดผ่านไปเสีย
ศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนมีตั้งแต่การเรียกตัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์ ไม่ว่าจะออกแสดงหรือไม่แสดงก็ต้องเรียกศัพท์อย่างนั้น จะยกตัวอย่างทางฝ่ายยักษ์เสียก่อน ดังนี้
ฝ่ายยักษ์ คือ ทศกัณฐ์และญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดจนไพร่พลมีศัพท์เรียกเป็นที่รู้อยู่หลายคำ เช่น
ยักษ์ตัวดี หมายถึง ผู้แสดงโขนหรือตัวโขนฝ่ายยักษ์ที่เป็นท้าวพญามหากษัตริย์ในเรื่องรามเกียรติ์ เช่น ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ กุมภกรรณ อินทรชิต เป็นต้น ในบรรดายักษ์ตัวดีนั้นแบ่งเป็น ยัก์ใหญ่ ยักษ์ต่างเมือง และยักษ์น้อย อีกด้วย
ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ ทศกัณฐ์ สหัสเดชะ ยักษ์ต่างเมือง คือ มังกรกัณฐ์ แสงอาทิตย์ สัทธาสูร วิรุญจำบัง ไมยราพณ์ เป็นต้น ส่วนยักษ์น้อย ก็คือ อินทรชิต ไพนาสุริยวงศ์ วิรุญมุข ที่เรียกว่ายักษ์น้อย คือยักษ์กุมาร ไพนาสุริย์วงศ์ เป็นยักษ์กุมารที่ไว้ผมจุก อินทรชิตนั้นถึงแม้ว่าหัวโขนจะมิได้ทำเป็นผมจุกแบบยักษ์กุมารแต่ทำให้ทรงมงกุฎยอดเดินหน หน้าของอินทรชิตก็ยังเป็นหน้ายักษ์แบบยักษ์กุมาร มีเขี้ยวตุ้ม หรือที่เรียกว่า เขี้ยวดอกมะลิ เหตุที่เรียกอย่างนั้น เพราะลักษณะเขี้ยวคล้ายดอกมะลิตูม
เมื่อมียักษ์ตัวดีแล้วก็มียักษ์เสนา นักวิชาการด้านนาฏศิลป์บางท่านยังแบ่งออกเป็น ยักษ์เสนา และเสนายักษ์อีกด้วย โดยอธิบายว่ายักษ์เสนาคือยักษ์ที่เป็นเสนาชั้นผู้ใหญ่ เช่น มโหธร เสนาบดีของทศกัณฐ์ฝ่ายกลาโหม และเปาวนาสูร เสนาบดีของทศกัณฐ์ฝ่านมหาดไทย ส่วนเสนายักษ์ก็คือพวกเสนาทั่วๆ ไป หัวโขนทำเป็นหัวยักษ์โล้น ไม่มีมงกุฎมีแต่กรอบพักตร์ หน้าสีต่างๆ สำหรับยักษ์เสนา คือ มโหธร หน้าสีเขียว มงกุฎน้ำเต้ากลม และเปาวนาสูร หน้าสีขาว มงกุฎน้ำเต้ากลมเช่นเดียวกัน
พวกยักษ์ที่มียศต่ำกว่าเสนายักษ์คือ พวกเขน ศัพท์ในการแสดงโขนเรียกว่า เขนยักษ์ นับเป็นไพร่พลยักษ์ระดับพลทหาร นอกจากจะมีเขนยักษ์แล้วยังต้องมีคนธงยักษ์ แต่เดิมวงการโขนเรียกผู้ถือธงนำทัพยักษ์ว่า คนธงยักษ์ ในสมัยต่อมาพิจารณาเห็นว่า มิใช่เป็นคนแต่เป็นยักษ์ จึงใช้ศัพท์เรียกเสียใหม่ว่ายักษ์ธง คือยักษ์ที่ถือธงนั่นเอง ยักษ์ธงมีศักดิ์ศรีดีกว่าเขนยักษ์ เวลาแต่งเครื่องก็จะดีกว่าเขนยักษ์ มิหนำซ้ำหัวโขนตัวยักษ์ธง ยังมีมงกุฎแบบยอดน้ำเต้าเตี้ยๆ ส่วนเขนยักษ์เป็นยักษ์โล้น เขียนสีแดงแทนผ้าพันรอบหัวโขน บางทีก็ใช้ผ้าสีแดงขลิบกระดาบสีทองพันรองหัวเขนยักษ์แทนการใช้สีเขียน
กล่าวทางฝ่ายยักษ์แล้ว ก็ต้องกล่าวทางฝ่ายพระ คือพระรามและพระลักษมณ์กันบ้าง เนื้อเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนใหญ่กล่าวถึงการทำศึกกรุงลงกา โดยมีนายทัพฝ่ายธรรมะคือ พระรามและพระลักษมณ์ ตัวโขนฝ่ายพระจึงมักจะเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ชมการแสดงโขนว่าพระรามกับพระลักษมณ์ ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวพระรามก็คือ พระใหญ่ และเรียกพระลักษมณ์ว่า พระน้อย การที่ศัพท์ในการแสดงโขนเรียกพระรามว่าพระใหญ่และเรียกพระลักษมณ์ว่าพระน้อยนั้น เป็นเพราะว่าผู้แสดงเป็นพระรามตามปกติจะต้องตัวโตกว่าผู้แสดงเป็นพระลักษมณ์ ในเวลาคัดเลือกนักเรียนที่หัดโขนเป็นตัวพระก็มีกฎกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีรูปร่างใหญ่ให้หัดเป็นตัวพระราม ส่วนผู้ที่มีรูปร่างเล็กกว่าให้หัดเป็นตัวพระลักษมณ์ การเรียกว่าพระใหญ่พระน้อย นอกจากจะเรียกเพราะรูปร่างผิดกันตามที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกอย่างหนึ่งคือพระใหญ่นั้นเป็นพี่และพระน้อยเป็นน้อง ศักดิ์ศรียศถาบรรดาศักดิ์และบทบาทในเวลาแสดงโขนก็แตกต่างกันตามรูปศัพท์ที่เรียก ตั้วโผโขนบางรายยังถือโอกาสจ่ายค่าตัวพระใหญ่กับพระน้อยไม่เท่ากันเสียอีก คือให้พระรามซึ่งเป็นพระใหญ่มากกว่าพระลักษมณ์ซึ่งเป็นพระน้อย
ท่านที่รู้เรื่องรามเกียรติ์ หรือเคยชมโขนมาแล้วก็จะต้องทราบว่ากองทัพพระรามพระลักษมณ์ที่ยกไปรบทศกัณฐ์และพวกยักษ์ต่างๆ คือวานรหรือเรียกง่ายๆ ว่า ลิง ในบรรดาตัวโขนที่เป็นลิงยังมีการแบ่งชั้นกันอีก เช่น ลิงตัวดี หรือบางทีก็เรียกว่า ลิงพญา ได้แก่ สุครีพ หนุมาน ชมพูพาน นิลพัท นิลนนท์ องคต ฯลฯ เมื่อมีลิงตัวดีหรือลิงพญา เวลาเขียนบทโขนผู้เขียนจะใช้ศัพท์ว่าพญาวานร ก็ต้องมีลิงเสนาหรือเสนาลิง คำว่าเสนาลิงใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เข้าใจว่าคงจะให้เข้ากับเสนายักษ์ เวลาเรียกก็เรียกว่าเสนายักษ์เสนาลิง แต่ความจริงศัพท์ที่ถูกต้องที่ใช้เรียกเสนาลิงจะต้องเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ใน พ.ศ.๒๔๙๘ กรมศิลปากร จัดคณะนาฏศิลป์ไทยไปแสดง ณ สหภาพพม่า เนื่องในโอกาสที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นหัวหน้าคณะวัฒนธรรมไทยไปเยือนสหภาพพม่าในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ในเวลานั้นนายธนิต อยู่โพธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสังคีต กรมศิลปากร มีหน้าที่ต้องคุมคณะนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากรไปแสดง ก็จัดเตรียมการแสดงทั้งโขน ละคร ฟ้อนรำ มากมายหลายชุด พร้อมกันนั้นนายธนิต อยู่โพธิ์ ก็คิดการแสดงชุดใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อไปแสดงที่สหภาพพม่า คือ ระบำวีรชัยยักษ์และระบำวีรชัยลิง ผู้แสดงแต่งเครื่องเสนายักษ์และเสนาลิง คือ สิบแปดมงกุฎ กำหนดชื่อระบำทั้งสองนี้ว่า ระบำวีรชัยเสนายักษ์และระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฎ
พวกลิงสิบแปดมงกุฎเป็นลิงประเภทเสนา ในสมัยโบราณจึงเรียกว่าเสนาลิงดังได้กล่าวมาแล้ว ลิงที่มีศักดิ์ต่ำกว่าเสนาลิงหรือสิบแปดมงกุฎตามที่กล่าวไว้ในพงศ์เรื่องรามเกียรติ์ก็คือ เตียวเพชร ลักษณะการแต่งกายก็เหมือนสิบแปดมงกุฎ ต่างกันตรงที่เครื่องประดับศีรษะสิบแปดมงกุฎ หัวโขนที่ทำเป็นเกี้ยวสีทอง แต่เตียวเพชรทำเป็นผ้าตระบิดสีทองโพกศีรษะแทนเกี้ยว ในปัจจุบันนี้เวลามีการแสดงโขนะไม่จัดตัวแสดงเป็นเตียวเพชรกันแล้ว คงจะเป็นเพราะใช้ผู้แสดงมากไป หรือไม่ก็ซ้ำซ้อนกับสิบแปดมงกุฎ เช่นเดียวกับตัวโขนฝ่ายลิงที่ชื่อจังเกียงที่รองลงมาจากเตียวเพชรก็ไม่มีในเวลาแสดงโขน ถัดจากลิงสิบแปดมงกุฎลงไปก็เป็นเขนลิงและมีลิงธงถือธงนำทัพ เกี่ยวกับตัวโขนที่เป็นลิงถือธงนำทัพพระรามนี้ บางครั้งก็ใช้สิบแปดมงกุฎตนหนึ่งชื่อ ไชยามพวาน ถือธงนำทัพ ความจริงไชยามพวานจะถือธงนำทัพพระรามตอนยกไพร่พลข้ามมหาสมุทรตามที่พระอิศวรสั่งมาเท่านั้น ส่วนในเวลายกทัพไปรบกับฝ่ายยักษ์ทุกครั้งนั้นไชยามพวานไม่ได้เป็นผู้ถือธงนำทัพ ดังนั้นจึงมีลิงประเภทเขนลิงแต่มีศักดิ์เหนือกว่าเขนลิงมาเป็นผู้ถือธงเรียกกันว่า ลิงธง
ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวโขนในกองทัพฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิงยังมีอีก ๒ อย่างคือ ราชสีห์ ราชสีห์เป็นผู้ลากรถฝ่ายยักษ์ และม้าเป็นผู้ลากรถฝ่ายพระราม
ในการแสดงโขนแต่ละครั้งจะขาดตัวโขนพวกที่จะกล่าวถึงนี้ไปไม่ได้ เพราะมีความจำเป็นและสำคัญในการแสดงโขนมาก ศัพท์ที่ใช้เรียกตัวโขนพวกนี้คือ ตลกยกเตียง กางกลด ศัพท์ที่ใช้เรียกผู้แสดงโขนพวกนี้ถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงทุกประการ เพราะผู้ที่แสดงโขนเป็นตลกยกเตียง กางกลดนี้ จะทำหน้าที่ตามศัพท์ที่เรียกทุกประการ เวลาจะเคลื่อนย้ายเตียงจากซ้ายไปขวา ขวามาซ้าย หรือย้ายไปอยู่กลางโรง ผู้แสดงโขนพวกนี้จะออกไปแสดงเป็นตัวตลก ในเวลายกทัพไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยักษ์ ฝ่ายพระ ตลกพวกนี้จะต้องออกไปกางกลดให้ตัวนายทัพด้วย
เท่าที่เล่าถึงศัพท์ที่ใช้เรียกตัวโขนที่ผ่านมามียักษ์ พระและลิง ยังขาดตัวนางอีกอย่างหนึ่ง ตัวโขนจะสมบูรณ์ได้จะต้องมีผู้แสดงทั้งพระ นาง ยักษ์และลิง ตัวนางในการแสดงโขนถ้าเป็นยักษ์จะเรียกว่านางยักษ์ เช่น นางสำมะนักขา นางผีเสื้อสมุทร พวกนางฟ้า ได้แก่ นางวานรินทร์ นางบุษมาลี และนางมนุษย์ ก็คือ นางสีดา นางมณโฑ ส่วนนางยักษ์ประเภทที่มีลักษณะเป็นแบบนางมนุษย์ คือ นางเบญกาย นางตรีชฎา นางสุวรรณกันยุมา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนางกำนัล แต่งกายแบบเดียวกัน สวมกระบังหน้า และแสดงได้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยักษ์ หรือฝ่ายลิง ยังมีศัพท์เรียกฝ่ายนางเป็นการเฉพาะอยู่คำหนึ่งคือ นางปากกระทะ ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่านางปากระทะเป็นอย่างไร ผู้เขียนก็จะเรียนให้ทราบ
ในการแสดงโขนชุดไมยราพณ์สะกดทัพ ก่อนที่ไมยราพณ์จะสะกดทัพเป่ายาให้บรรดาไพร่พลวานร และพระราม พระลักษมณ์นอนหลับ ไมยราพณ์ต้องเข้าไปทำพิธีหุงสรรพยาเสียก่อน กว่าจะเสร็จกิจพิธีและได้สรรพยาสมความปรารถนา ไมยราพณ์ต้องร่ายมนต์หุงสรรพยาถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกเกิดเป็นสองนางขึ้นกลางกระทะยา ในตอนนี้จะมีนางกำนัล ๒ คน ออกไปนั่งในกระทะยาหน้าโรงพีของไมยราพณ์ พอไมยราพณ์ใช้พระขรรค์ทำท่าตัดคอสองนางเพราะไม่ถูกต้องตามตำรับที่ระบุไว้ในพิธี นางทั้งสองก็เข้าโรงไป นางที่ออกมานั่งในกระทะยาของไมยราพณ์ในตอนนี้เรียกเป็นศัพท์ว่า นางปากกระทะ
ยังมีศัพท์เรียกตัวโขนฝ่ายยักษ์ระดับเสนายักษ์อีกคำหนึ่ง คือ สองกองหรือสองกองคอยเหตุ ตัวโขนที่แสดงเป็นสองกองหรือสองกองคอยเหตุนี้ จะใช้เสนายักษ์แสดง ในบรรดาผู้ที่แสดงโขนเป็นเสนายักษ์ ถ้ามีฝีมือและความสามารถมากกว่าผู้แสดงคนอื่นๆ จะได้รับเลือกให้เหตุสองกองคอยเหตุ ตามเรื่องรามเกียรติ์สองกองคอยเหตุมีหน้าที่ลาดตระเวนอยู่แถวสนามรบ พอเห็นฝ่ายยักษ์มีชัยหรือพ่ายแพ้ และฝ่ายพลับพลากระทำการอย่างใดบ้าง ก็จะรีบไปเฝ้าทศกัณฐ์ทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ ในการแสดงโขนแต่ละครั้งหรือแต่ละคืนนั้นถ้าแสดงหลายศึก คือฝ่ายยักษ์หลายทัพออกไปรบ ผู้แสดงเป็นตัวสองกองคอยเหตุจะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องเต้นผ่านเวทีเป็นความหมายว่ารู้เรื่องยักษ์ตนใดตายจะได้นำเรื่องไปทูลทศกัณฐ์ นายทัพยักษ์ตายทีหนึ่งสองกองคอยเหตุก็ไปทูลทศกัณฐ์เสียทีหนึ่ง และผู้แสดงตัวสองกองคอยเหตุนี้ยังมีบทบาทที่จะต้องออกไปแสดงก่อนผู้แสดงตัวอื่นๆ ในระหว่างโหมโรงถึงเพลงกราวในอีกด้วย พอปี่พาทย์โหมโรงมาถึงเพลงกราวในผู้แสดงเป็นตัวสองกองคอยเหตุก็จะเข้าเฝ้าทศกัณฐ์ทูลว่าผู้ใดออกไปรบและล้มตาย ทศกัณฐ์จะได้มีบัญชาให้ยักษ์ตนอื่นออกรบต่อไป
เวลาที่ตัวโขนออกไปแสดงบนเวที จอกจากจะรำและเต้นไปตามบทแล้ว ถ้าเป็นการแสดงโขนหน้าจอที่แสดงบนเวทีกลางแจ้ง บางครั้งไม่ได้ซ้อมมาก่อน คนพากย์เจรจาหรือผู้บอกกับตัวแสดงซึ่งพอได้ยินศัพท์นั้นๆ ผู้แสดงโขนจะทราบได้ทันทีว่าให้ทำอะไร จะยกตัวอย่างให้ทราบดังต่อไปนี้
ป้องหน้า การป้องหน้าของตัวโขนเพื่อให้ดนตรีหยุดการบรรเลง เพื่อจะได้เจรจาหรือขับร้องดำเนินเรื่องต่อไป ตามธรรมดาในเวลาแสดงโขนนั้น ตัวโขนนอกจากจะทำท่าทางตามบทพากย์เจรจาและขับร้องแล้ว ยังต้องเต้นและร่ายรำตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ด้วย เพลงหน้าพาทย์คือการบรรเลงเพลงโดยไม่มีการขับร้อง เพลงหน้าพาทย์บางเพลงมีทำนองสั้นยาวตามที่กำหนดไว้ ตัวโขนร่ายรำตามทำนองและจังหวะของเพลงหน้าพาทย์นั้นๆ จนจบแล้วถึงไม่ป้องหน้าปี่พาทย์ก็ต้องหยุดบรรเลงอยู่ดีเพราะจบเพลง แต่เพลงหน้าพาทย์หลายๆ เพลง เช่น เพลงเชิด เพลงพญาเดิน เพลงฉิ่ง ฯลฯ มีทำนองเพลงที่สามารถบรรเลงวนไปวนมาได้หลายเที่ยว เมื่อตัวโขนร่ายรำหรือเต้นจนจบกระบวนท่าหรือว่าต้องการให้ดำเนินเรื่องต่อไป ก็จะยกมือซ้ายขึ้นป้องหน้า เป็นอาณัติสัญญาณให้ดนตรีหยุด
ถึง คำว่าถึงเป็นศัพท์ในการแสดงโขนอีกคำหนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่าตัวโขนเต้นหรือร่ายรำมาถึงที่หมายตามท้องเรื่องแล้ว ถ้าเป็นตัวยักษ์กับตัวลิงจะหันด้านข้างเหยียดแขนขวาออกไปแล้วทำท่าเก็บคือซอยเท้าถี่ๆ ยกขาขวาขึ้นแล้วยืดขาวางเท้าขวาลงและทำท่าขึ้นก็เป็นท่าถึง ส่วนตัวพระกับตัวนางจำทำท่ารำร่าย รำแล้วป้องหน้า
ล้ม ในเวลาทีแดงโขนถึงตอนยักษ์กับลิง หรือยักษ์กับยักษ์ หรือยักษ์กับพระ กำลังรบกันอยู่นั้น ถ้าคนพากย์โขนหรือผู้กำกับร้องสั่งออกไปจากในโรงว่า “ล้ม” ไม่ได้หมายความว่าให้ผู้แสดงโขนทำท่าล้ม แต่การสั่งให้ทำท่าตาย ส่วนใครจะเป็นฝ่ายตายก็แล้วแต่เรื่องที่กำลังแสดงอยู่ ถ้าไม่มีเสียงร้องลั่นจากในโรง ผู้แสดงจะทำท่ารบกันจนหมดกระบวนท่าแล้วอาจจะทำท่าล้มหรือท่าตาย หรือไม่ก็ป้องหน้าเพื่อให้คนพากย์เจรจาดำเนินเรื่องต่อไปว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ แต่ถ้าได้ยินเสียงว่าล้มละก็ ไม่จำเป็นต้องรบกันให้ครบทุกท่าก็ได้ ตัวโขนจะทำท่ารบท่าตายเลยทีเดียว เพราะผู้กำกับเห็นว่าได้เวลาพอสมควรที่จะยุติการรบกันแค่นั้น โดยไม่ต้องยืดเวลาอีกต่อไป
ในตอนรบกันนั้นยังมีศัพท์อักคำหนึ่งคือ “สองท่าตาย” หรือ “สามท่าตาย” ศัพท์คำนี้ใช้สำหรับเสนายักษ์รบสิบแปดมงกุฎมีอยู่ ๔ ท่า คือ ท่า ๑ ท่า ๒ ท่า ๓ และท่า ๔ ซึ่งเป็นท่าล้มหรือท่าตาย แล้วเสนายักษ์ก็ทำท่าเซเข้าโรง ในความหมายว่าตาย ในเวลาแสดงโขนถึงตอนเสนายักษ์รบสิบแปดมงกุฎนี้ ถ้าผู้กำกับการแสดงต้องการให้รบกันไปครบทั้ง ๔ ท่า จะให้เหลือเพียง ๒ ท่า หรือ ๓ ท่า ก็สั่งว่าสองท่าตาย หรือสามท่าตายผู้แสดงเป็นเสนายักษ์กับสิบแปดมงกุฎก็จะทราบความหมายและแสดงไปตามที่สั่ง
ปะทะทัพ เป็นศัพท์ที่ใช้สั่งในตอนที่กองทัพฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามประจันหน้ากัน เช่น ฝ่ายยักษ์ยกทัพวนรอบเวที ผู้กำกับการแสดงจะสั่งว่า “ปะทะทัพ” ทัพของฝ่ายพระรามก็ต้องออกจากในโรงเข้าปะทะกับทัพของฝ่ายยักษ์กลางเวที
สามโอด ศัพท์คำนี้มีความหมายว่าให้ตัวโขนทำท่าร้องไห้สามครั้งและดนตรีก็บรรเลงเพลงโอด ๓ ครั้ง การแสดงแบบนี้นิยมกันมากในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันนี้เป็นการเยิ่นเย้อและเปลืองเวลามากไป ทำให้คนดูเบื่อก็เลยเหลือเพียงโอดเดียว ตัวโขนทำท่าร้องไห้ครั้งเดียวและดนตรีบรรเลงเพลงโอดครั้งเดียวเช่นกัน อาจจะมีผู้สงสัยว่าการใช้ศัพท์คำนี้มาแสดงโขนมา “สามโอด” ดังกล่าวมานี้ มีอยู่ในการแสดงตอนใดบ้าง ผู้เขียนก็จะขอยกตัวอย่างเพียง ๒ ตอนเท่านั้น เพราะความจริงยังมีมากกว่าที่กล่าวถึง
การใช้ศัพท์ว่าสามโอด และการแสดงกับบรรเลงดนตรี ๒ ครั้งดังที่กล่าวมาแล้ว ตอนแรกก็คือตอนหนุมานพบกับมัจฉานุผู้เป็นลกของตนเกิดจากนางสุพรรณมัจฉา มัจฉานุไม่ทราบว่าหนุมานเป็นพ่อของตนจึงเกิดการรบกัน เมื่อทราบว่าเป็นพ่อลูกกันแล้ว หนุมานจะต้องลาจากไปสังหารไมยราพณ์ มัจฉานุมีความอาลัย อาวรณ์ไม่อยากให้บิดาจากไป หนุมานต้องหาทางเห่กล่อมให้มัจฉานุนอนหลับเพื่อจะได้หนีไป ในตอนนี้ปี่พาทย์จะทำเพลงเชิดฉิ่งและเพลงโอด ๓ ครั้ง หนุมานทำท่ากล่อมมัจฉานุนอนหลับ เมื่อเห็นว่าลูกหลับแล้วหนุมานจึงทำท่าแผลงฤทธิ์จะหักก้านดอกบัวแทรกายลงไปเมืองบาดาล มัจฉานุรู้สึกตัวตื่นขึ้น จึงตรงเข้ากอดขาหนุมานแล้วร้องไห้ ในตอนนี้ปี่พาทย์จะบรรเลงเพลงโอดครั้งที่ ๑ แล้วบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งต่อ หนุมานโอบอุ้ม มุจฉานุกลับไปนั่งบนเตียงแล้วทำท่าปลอบประโลมและเห่กล่อมจนมัจฉานุนอนหลับ หนุมานค่อยๆ ลงจากเตียงย่องไปที่สระบัว พอทำท่าจะหักก้านดอกบัว มัจฉานุก็ตื่นขึ้น วิ่งเข้ากอดขาหนุมาน ทำท่าร้องไห้ ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงโอดครั้งที่ ๒ แล้วบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งต่อ หนุมานปลอบโยนแล้วแล้วพามัจฉานุไปนอนบนเตียงทำท่าเห่กล่อม จนมัจฉานุนอนหลับอีกครั้ง คราวนี้หนุมานทำท่าหักใจว่าจะต้องจากไปแน่นอน ตรงไปที่ดอกบัวทำท่าแผลงฤทธิ์หักก้านดอกบัวแล้วแทรกกายลงไปบาดาล โดยการเข้าโรงไป มัจฉานุตื่นขึ้นวิ่งมาที่ดอกบัวแล้วทำท่าร้องไห้ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโอดครั้งที่ ๓ แล้วบรรเลงเพลงเชิด มัจฉานุเห็นบิดาจากไปแล้วจึงจำใจเข้าโรง
การแสดงโขนตอนที่ใช้ศัพท์ว่าสามโอกที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นของฝ่ายยักษ์บ้าง เป็นตอนที่กุมภกรรณออกรบแล้วจับสุครีพหนีบรักแร้พามาใกล้จะถึงประตูกรุงลงกา ขณะนั้นหนุมานกับองคตติดตามข่าวมาช่วยแก้ไขให้สุครีพรอดพ้นไปได้ มิหนำซ้ำสามพญาวานรยังรุมกัดกุมภกรรณ ได้รับบาดเจ็บจนต้องหลบหนีเข้ากรุงลงกา ในระหว่างทางนั้นกุมภกรรณต้องร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด เวลาแสดงโขนในตอนนี้แหละที่มีศัพท์ว่าสามโอด กุมภกรรณจะออกจะออกมากลางเวทีด้วยท่าทางลุกลนหวาดระแวงว่าสุครีพหนุมานและองคตจะติดตามมาทำร้ายตนอีก ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิด พอกุมภกรรณใช้ฝ่ามือแตะจมูกเป็นความหมายว่าโดนสามพญาวานรกัด แล้วทำท่าสะดุ้งเพราะเจ็บแผล ปี่พาทย์ก็ทำเพลงโอด กุมภกรรณทำท่าร้องไห้ จากนั้นปี่พาทย์บรรเลงเพลงเชิดต่อ กุมภกรรณทำท่าตกใจลนลาน แล้วเอาฝ่ามือ แตะที่หูซ้ายและหูขวา และมองดูฝ่ามือทำท่าตกใจที่แลเห็นเลือด ก็ทำท่าร้องไห้ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโอด และเพลงเชิดต่อ ตอนนี้กุมภกรรณทำท่าเอาฝ่ามือแตะที่สีข้างทั้งซ้ายและขวาทำท่าเจ็บแล้วเอามือมาดู ทำท่าเห็นเลือดก็ซบหน้าร้องไห้ ปี่พาทย์บรรเลงเพลงโอดเป็นครั้งที่ ๓ ต่อจากนั้นกุมภกรรณจึงเข้าโรงไป เป็นอันจบตอนสามโอดของกุมภกรรณ
การแสดงโขนแบบศิลปะการแสดงโขนกลางแปลง โขนหน้าจอ นิยมแสดงชุดศึกต่างๆ นายทัพของฝ่ายยักษ์ก็คือ ทศกัณฐ์และญาติสนิทมิตรสหาย ส่วนนายทัพทางฝ่ายธรรมะก็คือพระรามและพระลักษมณ์ ก่อนที่จะถึงตอนทำสงครามคือรบกัน จะต้องแสดงการยกทัพของทั้งสองฝ่ายเสียก่อน เพลงที่บรรเลงประกอบการยกทัพทางฝ่ายยักษ์คือเพลงกราวใน เพลงที่บรรเลงประกอบการยกทัพฝ่ายพระรามคือเพลงกราวนอก การออกแสดงของตัวนายทัพและและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เช่น พวกพญาวานรนั้น เรียกว่าออกฉาก คำว่า “ออกฉาก” เป็นศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ทั้งๆ ที่ในสมัยก่อนการแสดงโขนจะแสดงกันกลางสนามหญ้าบ้าง บนเวทียกพื้นสูงมีจอผ้าขาวขึงอยู่ด้านหลังบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำฉากประกอบ เพิ่งจะมาทำฉากประกอบการแสดงโขนในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเรียกกันว่าโขนฉาก แต่ศัพท์ในการแสดงโขนคำว่าออกฉากสำหรับตัวโขนที่เป็นแม่ทัพหรือนายทัพนายกองออกตรวจก่อนจะยกทัพไปสนามรบมานานดังกล่าวแล้ว
ออกฉาก ศัพท์คำว่าออกฉากคงจะหมายถึงว่าตัวโขนออกจากที่บังสายตาคนดู คืออยู่หลังโรงในหารแสดงโขนหน้าจอ และอยู่ทางที่พักผู้แสดงในการแสดงโขนกลางแปลง คำว่าฉากคงจะมีความหมายว่าที่กั้นมิให้แลเห็นตัว เมื่อตัวโขนยังมิได้ออกมาปรากฏกายให้คนดูแลเห็นจึงเรียกว่าอยู่ในฉาก แต่พอออกมาแสดงจึงเรียกว่าออกฉาก แต่ก็น่าแปลกใจว่าในกรณีอื่นๆ ที่ตัวโขนออกมาเต้นหรือออกมารำบทอื่นๆ ที่มิใช่ตอนยกทัพตรวจพล เหตุใดจึงไม่เรียกว่าออกฉาก ถ้าเช่นนั้นความเข้าใจของผู้เขียนเกี่ยวกับคำว่าออกฉากคงจะใช้ไม่ได้
สืบเนื่องจากการออกฉากของตัวโขนที่เป็นแม่ทัพนายกองทั้งฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามตามที่กล่าวมานี้ ยังมีศัพท์ที่เกี่ยวกับการออกฉากอีก ๓ คำ คือ ออกฉาก ๑ ออกฉาก ๒ และออกฉาก ๓
ลักษณะการออกฉาก ๑ ฉาก ๒ และฉาก ๓ เป็นลีลาท่าทีของตัวโขนฝ่ายยักษ์ ฝ่ายพระและฝ่ายลิง เวลาที่ตัวโขนดังกล่าวนี้ออกรำหรือออกเต้นในหน้าพาทย์ เพลงกราวในหรือกราวนอก ซึ่งใช้ในตอนตรวจพลยกทัพไปสนามรบจะมีการออกมาแสดง ๓ ครั้ง รวมเรียกว่า ๓ ฉาก จะยกตัวอย่างฝ่ายยักษ์ เช่น ตอนศึกสามทัพ นายทัพยักษ์มีสามคน คือ สหัสเดชะ มูลพลัมและทศกัณฐ์ ในกรณีเช่นนี้ มูลพลัมจะออกฉาก ๑ ทศกัณฐ์ออกฉาก ๒ และสหัสเดชะออกฉาก ๓ แต่ถ้าเป็นศึกใดศึกหนึ่งซึ่งนายทัพมีเพียงคนเดียว เช่น ทศกัณฐ์ หรือกุมภกรรณ หรืออินทรชิต การออกฉากตรวจพลในสมัยโบราณจะออกทั้ง ๓ ฉาก แต่ในปัจจุบันนี้ต้องการความรวดเร็ว จึงออกเพียงฉากเดียว
ทางด้านฝ่ายพระ ในการตรวจพลก่อนจะยกทัพของพระรามและพระลักษมณ์นั้น สมัยโบราณพระรามออกฉาก ๑ พระลักษมณ์ออกฉาก ๒ แล้วพระรามและพระลักษมณ์ออกฉาก ๓ ด้วยกัน แต่ในปัจจุบันนี้นิยมให้พระรามและพระลักษมณ์ออกฉาก ๓ โดยให้พระรามออกรำก่อน แล้วพระลักษมณ์จึงออกตามและรำด้วยกัน
ฝ่ายพญาวานรก็มีการออกฉาก ๑ ฉาก ๒ และฉาก ๓ เช่นเดียวกัน ตามปกติในเวลายกทัพทางฝ่ายพระราม จะมีพญาวานรที่ออกตรวจพลอยู่ ๕ คน คือ สุครีพ หนุมาน ชมพูพาน องคตและนิลนนท์ ผู้ที่ออกฉาก ๑ คือ สุครีพ ต่อมาหนุมานกับชมพูพานออกฉาก ๑ อีก แล้วหลบฉากเข้าโรงไป ให้องคตกับนิลนนท์ออกฉาก ๒ แล้วก็หลบฉากเข้าโรงไปอีก ต่อไปเป็นการออกฉาก ๓ โดนหนุมานนำหน้าออกมาตามด้วย ชมพูพาน องคตและนิลนนท์ ต่อจากนั้นสุครีพก็จะออกเต้นรับ เมื่อทำบทใบ้ไต่ถามเรื่องกองทัพพร้อมที่จะยกไปรบแล้ว พญาวานรทั้ง ๕ ก็นั่งลงกราบไหว้พระรามที่จะออกตรวจพลต่อไป
หลบฉาก ศัพท์ในการแสดงโขน คำว่า “หลบฉาก” นี้ ผู้เขียนกล่าวถึงในตอนที่หนุมานและองคตทำท่าหลบฉากในตอนตรวจ หรือเรียกตามศัพท์โขนว่า “ออกกราว” การหลบฉาก ก็คือการที่ตัวโขนฝ่ายพระออกฉากในเพลงกราวนอกแล้วกลับเข้าโรงไป ปล่อยให้เวทีว่างชั่วขณะแล้วออกมาแสดงต่อ ทางฝ่ายยักษ์ก็มีการหลบฉากเช่นเดียวกัน
เท้าฉาก เป็นคำศัพท์ในการแสดงโขน หมายถึงการที่ตัวโขนใช้มือเท้าขอบประตูโรงโขน ในตอนออกฉากตรวจพลก่อนจะยกทัพ ครูอาคม สายาคม เคยเล่าว่า ในสมัยโบราณตัวโขนที่จะทำท่าเท้าฉากได้ก็คือพระรามหรือพระลักษมณ์ ในตอนที่เป็นนายทัพออกรบแทนพระราม ส่วนทศกัณฐ์หรือนายทัพฝ่ายยักษ์จะไม่ทำท่าเท้าฉากแล้วประเท้า เป็นกิริยาอาการอ่อนช้อยนุ่มนวลเหมาะสำหรับกิริยาของตัวพระมิใช่ตัวยักษ์ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นทศกัณฐ์หรือยักษ์ต่างเมือง เวลาออกฉากจะทำท่าเท้าฉากและประเท้ากันทุกตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตามการทำท่าเท้าฉากของพวกยักษ์ก็ยังมีทีท่าองอาจกว่าท่าเท้าฉากของฝ่ายพระ
เหยียบฉาก เป็นท่าทีหลังจากท่าเท้าฉากแล้ว ตัวโขนจะยกเท้าซ้ายเหยียบขอบประตูโรงโขนเวลาที่ตัวโขนไม่ว่าจะเป็นพระ ยักษ์ และลิง ทำท่าเหยียบฉาก ก็จะทำบทถามไพร่พลถึงความพร้อมเพรียงของกองทัพที่จะยกไปรบ เมื่อได้รับคำตอบว่าไพร่พลพร้อมแล้วจึงร่ายรำหรือเต้นตามกระบวนการตรวจพลต่อไป
การทำท่าใช้เท้าเหยียบฉากนี้ในสมัยต่อมามีการเหยียบคันกลดแทนเหยียบขอบประตูโรงโขน ตัวตลกที่ทำหน้าที่กางกลดให้ตัวนายทัพนั้น ตามปกติจะคอยกางกลดอยู่ทางด้านหลังตัวนายทัพ แต่ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลป์โขนบางท่านในสมัยปัจจุบัน ให้ตัวตลกที่กางกลดถือกลดไปนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของตัวพระรามแล้วเอาด้ามกลดวางไว้บนหัวเข่าของตน เมื่อพระรามออกแกมาก็จะใช้เท้าซ้ายเหยียบคันกลดแล้วร่ายรำเหมือนอย่างที่เหยียบขอบประตูโรงโขน บางครั้งผู้แสดงเป็นพระรามก็เหยียบหัวเข่าของคนกางกลดก็มี ซึ่งการเหยียบคันกลดหรือเหยียบหัวเข่าคนกางกลดดังกล่าวนี้ในสมัยโบราณไม่มี เพิ่งจะมามีในสมัยหลัง ถ้าผู้แสดงโขนในสมัยโบราณมาเห็นเข้า ก็จะต้องว่าผิด แต่เมื่อสมัยนี้นิยมแสดงกันจนเป็นที่คุ้นตาของผู้ชมแล้วก็เลยกลายเป็นถูกไป ถึงอย่างไรก็ขอให้คนดูโขนสมัยนี้ได้ทราบว่าการเหยียบฉากกับการเหยียบคันกลดและเหยียบหัวเข่าคนกางกลดนั้นมีความเป็นมาอย่างไร
หนีฉาก ศัพท์นี้ใช้ในการแสดงโขน คำว่า “หนีฉาก” นี้ใช้ตอนที่ทศกัณฐ์สู้รบกับฝ่ายพระรามแล้วเกิดพลาดท่าเสียทีจึงต้องหลบหนีไปจากสนามรบ ฝ่ายพระรามก็ยกพลติดตามไป สมัยโบราณในการรบกันของฝ่ายยักษ์กับฝ่ายพระราม ไม่ว่ายักษ์ตนใดจะเป็นนายทัพจะไม่มีการหนีฉาก เว้นแต่ทศกัณฐ์ การหนีฉากของทศกัณฐ์คงจะเป็นการถ่วงเวลาการแสดงโขนให้ยาวขึ้น ขั้นตอนการแสดงโขนตอนหนีฉากอยู่ในระหว่างการรบกันของพระรามกับทศกัณฐ์ ถ้าเป็นการแสดงตามปกติ เมื่อพระรามรบกับทศกัณฐ์คนถึงท่าสุดท้ายแล้ว พระรามจะใช้คันศรหวดที่ก้นของทศกัณฐ์จนเซถลาไป ต่อจากนั้นทศกัณฐ์จะทำท่าป้องหน้า คนเจรจาอาจจะเจรจาดำเนินเรื่องต่อไปว่าพระรามแผลงศรไปถูกทศกัณฐ์ แต่ถ้าในระหว่างที่พระรามกับทศกัณฐ์กำลังรบกันอยู่นั้น ผู้กำกับการแสดงหรือคนพากย์เจรจาโขนร้องบอกออกไปว่า “หนีฉาก” ผู้แสดงเป็นพระรามและทศกัณฐ์จะทราบความหมายได้ทันที การแสดงท่าหนีฉากก็คือพระรามกับทศกัณฐ์เข้ารบกันแล้วทำท่าตีพลาด ทศกัณฐ์กระทืบเท้าเป็นสัญญาณ เสนายักษ์จะพากันหนีเข้าโรง พระรามใช้คันศรตี ทศกัณฐ์ก็จะใช้คันศรรับแล้วถอยเข้าโรงไป ท่ารบอย่างนี้เรียกว่าตีหนีฉาก เมื่อทศกัณฐ์หนีไปแล้ว พระรามจึงสั่งไพร่พลวานรติดตามไป
ต่อจากการตีหนีฉากแล้ว กองทัพทศกัณฐ์ก็จะออกมา โดยมีตัวตลกทำท่าแหวกไปข้างหน้า ตามความหมายว่าแหวกพงหญ้า เพราะกองทัพทศกัณฐ์หลบหนีข้าศึกเข้ามาในพงหญ้า เพื่อพรางตัวมิให้ฝ่ายพระรามแลเห็น ต่อจากนั้นกองทัพฝ่ายพระรามนำโดนหนุมานก็ติดตามออกมา จนทัพทั้งสองปะทะกัน ตอนนี้จะเป็นการรบท่าลอยสูง
ลอยสูง เป็นท่ารบอย่างหนึ่งของการแสดงโขนสมัยโบราณ ใช้เฉพาะพระรามรบทศกัณฐ์เท่านั้น ลอยสูงเป็นท่ารบพิเศษมีอยู่ ๒ ท่าท่าแรกพระรามเหยียบอยู่บนหน้าขาของหนุมาน ส่วนท่าที่ ๒ พระรามใช้เท้าขวาเหยียบบนท่อนแขนของทศกัณฐ์ ต่อจากนั้นพระรามก็จะลงจากท่าเหยียบแล้วเข้ารบกับทศกัณฐ์ต่อไปตามกระบวนท่ารบ เหตุที่เรียกท่ารบพิเศษนี้ว่าลอยสูงนั้น คงเป็นเพราะการขึ้นลอยของพระรามในท่าที่ ๒ สูงกว่าการขึ้นลอยตามปกติที่มีการขึ้นลอยอยู่ ๓ ลอย คือ ลอย ๑ ลอย ๒ และลอย ๓
เต้นผ่าน เป็นศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขน ตอนที่ฝ่ายยักษ์หรือฝ่ายลิง เต้นผ่านหน้าเวทีโดยไม่มีการพากย์เจรจา เช่น ตอนสองกองคอยเหตุจะไปเฝ้าทศกัณฐ์ หลังจากพระรามสังหารแม่ทัพยักษ์ตาย และพระรามยกทัพกลับไปแล้ว สองกองคอยเหตุจะออกผ่านหน้าเวทีแล้วเข้าโรง จากนั้นจึงตั้งทศกัณฐ์ดำเนินเรื่องต่อไป หรือฝ่ายลิงหลังจากรับบัญชาจากพระรามก่อนไปกระทำการตามบัญชาก็เต้นผ่านเวทีเสียรอบหนึ่ง เพื่อให้คนดูทราบว่ากำลังเดินทางไปทำการตามที่พระรามมีบัญชา การเต้นผ่านเช่นนี้บางครั้งก็เพื่อทำให้เวทีไม่ว่าง ในกรณีที่ยังไม่พร้อมกล่าวถึงฝ่ายยักษ์หรือฝ่ายพระ
แยก หรือแยกแถว ใช้ในตอนที่เสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎเต้นกันมาเป็นคู่ๆ แต่ถ้าผู้กำกับการแสดงต้องการจะให้ทำท่าถึง ซึ่งมีความหมายว่ากองทัพนั้นยกมาถึงที่หมายแล้วก็จะสั่งว่า “แยกแถว” เสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎที่เต้นกันมาเป็นคู่ๆ ก็จะแยกออกไปอยู่ทางด้านนอกแถวหนึ่งกับอยู่ทางด้านในแถวหนึ่ง
ทบแถว ใช้ในตอนที่เสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎเต้นแยกกันมาในลักษณะของการแยกแถวตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าผู้กำกับการแสดงต้องการให้เต้นเข้ามาเป็นคู่ก็จะสั่งว่าทบแถวเสนายักษ์หรือสิบแปดมงกุฎที่กำลังเต้นแบบแยกแถวกันอยู่ ก็จะทบแถวเข้ามาเต้นคู่กัน
ศัพท์ที่ใช้ในการแสดงโขนยังมีอีกหลายคำแต่เท่าที่เล่ามานี้ก็พอสมควรแล้ว จึงขอยุติเพียงแค่นี้...



Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:46:24 น. 10 comments
Counter : 5462 Pageviews.

 
ประวัติไชยาอำพวาน


โดย: อั้น IP: 58.181.206.37 วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:45:18 น.  

 


โดย: 1254564 IP: 61.7.172.39 วันที่: 31 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:27:39 น.  

 
ยังไม่ได้อ่านเลยคะ เพราะ มันยาว


โดย: อิอิ IP: 117.47.118.70 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2550 เวลา:18:11:40 น.  

 
อ่านทำไมวะงงO_oวะโคตรยาว


โดย: ไม่บอกวะ กิวกิ่ว IP: 125.26.34.29 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:04:57 น.  

 
ผมรักทุกคนนะอิอิ กิวกิ่ว...จู๊บๆ


โดย: โจโจ้*เพชรบุรี* IP: 125.26.34.29 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:08:04 น.  

 
สนุกค่ะถึงยังอ่านไม่จบก็เฮอะ อิอิๆๆ แต่หน้าจะมีรูปนะคะจะได้ดูไม่ยาวไปแต่ชอบสุดๆเลยค่ะ


โดย: peunza IP: 118.174.102.144 วันที่: 12 เมษายน 2551 เวลา:16:36:50 น.  

 
ยาวว่ะ


โดย: ปพน IP: 222.123.164.57 วันที่: 21 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:57:59 น.  

 
ข้อความยาวมากเลยค่ะ


โดย: บีม โบว์ IP: 58.8.193.128 วันที่: 5 ตุลาคม 2551 เวลา:11:28:10 น.  

 
มีประวัติของ18 มงกุฏกับประวัติท้าวจักรวรรดิ์ไหม ขอหน่อย


โดย: เด็กโขนราม IP: 125.24.166.203 วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:10:57:55 น.  

 
อ่านจนจบด้วยความสนุกสนานเนื่องจากว่าเป็นคนชอบดูโขนมาตั้งแต่เด็กๆค่ะขอบพระคุณสำหรับข้อมูลทำให้เข้าใจและจะดูโขนได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นค่ะ


โดย: รดา IP: 101.51.255.230 วันที่: 23 สิงหาคม 2566 เวลา:10:27:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.