รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 

ศรัทธาแห่งชาวสยาม

ธรรมจักร พรหมพ้วย

ชนในดินแดนสุวรรณภูมิแต่ดั้งเดิมในสมัย Primitive นั้น ก็คงจะหวาดกลัวในภัยจากธรรมชาติ เฉกเช่นเดียวกับสังคมและอารยธรรมในดินแดนอื่น สุดแท้แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อความหวาดกลัวนั้นจะแสดงออกในรูปของศรัทธาเช่นใด หลายพื้นที่ของดินแดนแห่งนี้นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เป็นเทวดายึดเหนี่ยวทางใจ เช่น การนับถือ “ผีฟ้า” และ “แถน” ซึ่งยังปรากฏอิทธิพลของความเชื่อเช่นนี้ในประเพณีไทย เช่น การจุดบั้งไฟบูชาพญาแถนในเทศกาลบุญบั้งไฟของชาวไทอิสาน หรือการถือผี เลี้ยงผีและฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวไทล้านนา เป็นต้น

เมื่ออาณาจักรในดินแดนแห่งนี้มีความเข้มแข็งและก่อรูปชัดเจนขึ้น ประกอบกับการติดต่อสมาคมกับชาวต่างชาติผ่ายการคมนาคมทางเรือ ทำให้นำเอาวัฒนธรรมหลักจากอารยธรรมแหล่งใหญ่กว่ามาเผยแพร่ในดินแดนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากดินแดนชมพูทวีปที่มีความหลากหลายทางศาสนา ลัทธิและความเชื่อมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมสถานภาพของผู้ปกครอง เช่น การนำศาสนาพราหมณ์เข้ามาของอาณาจักรจามปา-ขอม เพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองตามลัทธิเทวราชาในศาสนาพราหมณ์ จึงทำใประชาชนมีความเลื่อมใสในผู้ปกครองและยอมรับศาสนาดังกล่าวไปในตัว

นอกจากนั้น อีกศาสนาหนึ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับดินแดนในสุวรรณภูมิอย่างยิ่ง ก็คือ พุทธศาสนาซึ่งแม้ว่าจะเข้ามาภายหลังศาสนาพราหมณ์ก็ตาม หากแต่ได้ส่งอิทธิพลอย่างแพร่หลาย โดยในชั้นต้นนั้นพุทธศาสนาในลัทธิมหายานได้เข้ามาเผยแร่ก่อนลัทธิเถรวาท และต่อมาก็ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับศาสนาพราหมณ์และความเชื่อเรื่องผีตามคติท้องถิ่นอย่างแนบแน่นและกลมกลืนกันไปได้ด้วยดี

จนเมื่อสยามได้สถาปนาความเป็นรัฐของตนอย่างชัดเจนโดยแบ่งแยกตนเองออกจากจักรวรรดิของขอมที่ปกครองอยู่ โดยสถาปนารัฐสุโขทัยขึ้นเป็นรัฐแรก โดยในชั้นต้นก็ยังได้รับความเชื่อตามลัทธิพราหมณ์จากอารยธรรมขอมอยู่ โดยที่ต้องใช้พราหมณ์ทำพิธีสถาปนากษัตริย์จึงทำให้ลัทธิพราหมณ์ก็ยังคงอยู่ในมโนสำนึกของชนสยามในสมัยนั้น แม้ว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้มีการพยายามลดบทบาทของความเป็นเทวราชาลง โดยการทำให้ประชาชนเข้าถึงพระองค์ได้โดยตรงในการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” หากแต่ในชั้นหลังลัทธิความเชื่อแบบสมมติเทวราชก็ยังดำเนินต่ออย่างเข้มแข็งและมีรูปแบบที่มั่นคงอย่างสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา

อนึ่ง ในสมัยสุโขทัยนั้น ปรากฏหลักฐานการเข้ามาของพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิประเทศตามหนังสือ “มหาวงศ์” ซึ่งกล่างไว้ว่า เมื่อทำตติยสังคายนาแล้ว พระโมคัลลีบุตรดิสเถระให้จัดพระเถรานุเถระไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามนานาประเทศ แสดงนามไว้ในหนังสือมหาวงศ์ ๙ แห่ง ๑ ในนั้นคือ สุวรรณภูมิประเทศ โดยมีพระโสณะ องค์ ๑ กับพระอุตระ องค์ ๑ เป็นสมณทูต ซึ่งอาจเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความแพร่หลายในดินแดนแถบนี้

ความยิ่งใหญ่และแพร่หลายของพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิปรากฏหลักฐานว่า เมื่อพุทธศาสนาในดินแดนชมพูทวีปทั้งอินเดียและลังกาเกิดความเสื่อมลง ด้วยมูลเหตุที่ลัทธิฮินดูและอิสลามได้กลับเข้ามามีบทบาทในดินแดนนั้น จึงทำให้พุทธศาสนาในลัทธิ “สยามวงศ์” ได้ทำหน้าที่นำเอาหลักธรรมของพระสมณโคดมกลับไปยังดินแดนสิงหลทวีปอีกครั้ง ดังมีหลักฐานบันึกไว้ว่า ในปีมะเมีย โทศก (จุลศักราช ๑๑๑๒) พุทธศักราช ๒๒๙๓ พระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ มีรับสั่งให้สามเณรสรณังกรแต่งพระราชสาส์นเป็นภาษามคธถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฉบับ ๑ ถวายสมเด็จพระสังฆราชกรุงศรีอยุธยาฉบับ ๑ แล้งแต่งข้าราชการชาวสิงหลเป็นทูตานุทูต ๕ นาย ให้เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามากรุงศรีอยุธยา มีความตามพระราชสาส์นให้กรุงศรีอยุธยาจัดคณะสงฆ์ไปประดิษฐานสมณวงศ์ตามความประสงค์ของชาวสิงหล จึงจะเห็นได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น แม้ว่าการปกครองบ้านเมืองจะยึดถือตามขนบสมมติเทวราชยกย่องพระมหากษัตริย์เป็นดั่งมหาเทพในศาสนาฮินดูอวตารลงมาปกครองมนุษย์ หากแต่ความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็ทำให้ชาวสยามน้อมรับเอาหลักธรรมและยกย่องศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาที่สำคัญสูงสุด ดังปรากฏหลักฐานการสร้างวัดวาอารามและศาสนวัตถุจำนวนมากทั่วทั้งดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

ตราบจนกระทั่งในแผ่นกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน ศรัทธาเนื่องในพุทธศาสนาก็มิได้เสื่อมคลายลงไปแม้แต่น้อย นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงตีได้หัวเมืองล้านช้างแล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาเป็นหลักของแผ่นดิน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้ปกแผ่อย่างลงรากฝังลึกลงไปในทั่วทั้งแคว้น

ในขณะเดียวกันความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดูก็ยังมิได้จางหายไปจากสังคมไทย ด้วยอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาจึงทำให้ต้องมีพราหมณ์ในราชสำนักทำหน้าที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของพราหมณ์เท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการกำหนดธรรมเนียมพระราชพิธีต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือนและพระราชพิธีจรอื่นๆ ซึ่งได้แบบอย่างมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการผนวกพิธีสงฆ์เข้าปนไว้ในพิธีของพราหมณ์ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญต่อขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวไทยตราบจนปัจจุบัน ดั่งคำที่กล่าวกันเสมอว่า “พุทธกับไสยไปด้วยกัน”

ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการและการรับเอาแบบแผนวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก ทำให้กระบวนทัศน์และวิธีคิดของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แม้ความเชื่อและศรัทธาที่มีต่อศาสนายังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็มีผลในแง่ของการสร้างประเพณีและค่านิยมใหม่ขึ้น ในส่วนของพุทธศาสนามีการจัดระเบียบการศึกษาในคณะสงฆ์ไทยอย่างเป็นระบบขึ้นในรูปของวิทยาลัยสงฆ์แทนที่การสอบบาลีที่สนามหลวง ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ยังคงได้เค้ามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แต่ก็มีบ้างที่ปรับปรนรูปแบบไป เช่น การสร้างโบสถ์ไทยด้วยศิลปะยุโรป ดังเช่นที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือประเพณีการทำบุญในรูปแบบต่างๆ ที่ต่อมาได้ถ่ายโอนรูปแบบจากวัฒนธรรมหลวงสู่วัฒนธรรมราษฎร์มากยิ่งขึ้น หากแต่ความห่างเหินในการเข้าใจและเข้าถึงหัวใจและหลักการของศาสนากลับอ่อนด้อยลงสวนทางกับรูปแบบในการปฏิบัติบุญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก ทำให้ทุกคนมีเสรีภาพในการที่เลือกนับถือศาสนา เลือกศรัทธาในความเชื่อแบบต่างๆ ที่แม้อาจไม่ใช่ศาสนาหรือลัทธิ สังคมให้การยอมรับความเชื่อและศรัทธาที่แตกต่างกัน สื่อสมัยใหม่เปิดทางให้เราเห็นโลกที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและความเชื่อมากยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้พฤติกรรมศรัทธาของไทยปรับตัวจนถึงขั้นเบี่ยงเบน

เราลงทุนเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งบุญ เราสวดมนต์แต่ไม่เข้าใจในความหมายของสิ่งเราสวด เราไหว้พระในฐานะที่พระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่มิได้รำลึกถึงการตรัสรู้ถึงธรรมของพระสมณโคดม ฯลฯ ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ายิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าใด เรายิ่งห่างเหินจากหลักการและคำสอนในศาสนาต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น หนำซ้ำในสังคมไทยบางส่วนก็เกิดความไม่เคารพซึ่งกันและกัน และไม่ยอมรับในรูปแบบความเชื่อที่แตกต่าง ทำให้เกิดสงครามการเมืองภายในจนถึงเกิดกรณีการขอแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ขาดสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

การเข้าใจหัวใจของศาสนาบางครั้งอาจเป็นการยากในการเข้าถึง ทำให้คนไทยละเลยที่จะเอาใจใส่ในตัว “ธรรม” มุ่งมั่นแต่เพียงจะสะสมบุญโดยวิธีการด้านประเพณีในรูปแบบต่างๆ จนบางครั้งเลยเถิดไปจนถึงการ “สะสมบุญด้วยเม็ดเงิน” หรือบางครั้งก็หันกลับไปเชื่อถือความเชื่อเหนือธรรมชาติ เช่น การทรงเจ้าเข้าผี ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมของมนุษยชาติด้วยหวังเพียงเพื่อจะให้ดลบันดาลและปัดเป่าความลำบากยากแค้นให้ได้สุขสบายด้วยวิธีลัด

การถอยหลังทางความเชื่อในพฤติกรรมของคนไทยยังคงเป็นประเด็นที่น่าศึกษาสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าผลสุดท้ายมนุษย์ในสังคมไทยจะมีความเชื่อความศรัทธาเป็นไปในทิศทางใด แม้ว่าคำตอบนั้นจะยังไม่ชัดเจน เราก็ควรหวนกลับมาคิดว่าเรากำลังตกอยู่ในความเชื่อและศรัทธาในรูปแบบใด เพราะในปลายทางแล้วปัจเจกมนุษย์นั้นเองที่จะเป็น “ผู้กำหนด” และ “ผู้เลือก”




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2554 13:37:45 น.
Counter : 888 Pageviews.  

การวิจารณ์กับสังคมร่วมสมัย

มีผู้กล่าวอ้างอยู่เสมอว่า สังคมไทยอาจอ่อนด้อย ในวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ เพราะแม้แต่ในเรื่องศิลปะ ซึ่งศิลปินไทยมีความสามารถในการสร้างสรรค์อันโดดเด่น ก็ยังหานักวิิจารณ์ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะสร้างงานวิจารณ์ซึ่งมารองรับศิลปกรรมอันทรงคุณค่านี้ได้ยาก มีผู้ตีความไปไกลจนถึงขั้นที่ว่า ความอ่อนแของการวิจารณ์ในด้านศิลปะสะท้อนให้เห็นถึงการขาดพลังปัญญาที่จะวิจารณ์ชีวิตและสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดวิจารณญาณในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ของชีวิต




 

Create Date : 19 มีนาคม 2552    
Last Update : 19 มีนาคม 2552 10:15:21 น.
Counter : 714 Pageviews.  

สมองในฐานะจัดการความคิด ความจำ อารมณ์และภาษา


เศษหนึ่งส่วนสี่เนื้อที่บนเปลือกสมองรับผิดชอบเกี่ยวกับการวัดความรู้สึก และควบคุมการเคลื่อนไหว ส่วนที่เหลืออีกเศษสามส่วนสี่ช่วยเรามีเหตุผล เชื่อมโยงประสบการณ์ในอดีตกับปัจจุบันและวางแผนในอนาคต หรืออีกนัยหนึ่งขั้นตอนของสติปัญญาความฉลาดยกระดับให้เราเหนือสัตว์นั่นเอง นอกจากนี้ แอสโซซีเอชั่น คอร์เทค (Association cortex) นี้ ยังช่วยให้เราตระหนักถึงตัวเราเองและสัมพันธ์กับโลกที่เราอยู่ ไม่มีสัตว์ชนิดใดจะมีแอสโซซีเอชั่น คอร์เทค ทำงานเท่ากับของมนุษย์
1. ความมหัศจรรย์ของความคิดและการวางแผน
แอสโซซีเอชั่น คอร์เทค บนพูหน้าของเปลือกสมองมีบทบาทหลักเกี่ยวกับความสามารถที่แก้ปัญหา วางแผน และเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่แปลกและมหัศจรรย์ที่ทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และมีความคิดสร้างสรรค์ศิลปะและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ เหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นถึงความสำคัญของเปลือกสมองพูหน้า คือ ถ้าส่วนนี้ถูกทำลายไป บุคคลนี้อาจยังมีความจำและคำนวณตัวเลขได้ แต่ไม่สามารถวางแผนในอนาคตและสร้างสรรค์กิจกรรมได้ เช่น เขาสามารถจำวันเกิดในวัยเด็กได้ แต่ก็ไม่สามารถวางแผนงานสนุกสังสรรค์ได้ นอกจากนี้ยังสูญเสียการกระทำที่เหมาะสมในสังคม โดยจะเริ่มพูดและกระทำในสิ่งไม่อันควรทั่วไปในสังคมทั่วไป ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่บางครั้งอาจมีอาการหดหู่ได้
ปี ค.ศ.1991 ไดมอน (Diamon) ได้ศึกษาพบปรากฏการณ์ในพัฒนาการขั้นต้นว่า ในเด็กเล็กๆ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิธีคิดและวิธีวางแผนในอนาคตไม่ดีเลย ซึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาการของสมองพูหน้ายังเจริญไม่เต็มที่ และการเชื่อมโยงของสมองพูหน้ากับสมองที่สำคัญของสมองที่สำคัญก็ยังไม่เกิดขึ้น
2. ความจำถูกเก็บไว้ได้อย่างไร
เช่นเดียวกับแอสโซซีเอชั่น คอร์เทค พูหน้าของสมองยังเป็นที่รวบรวมความจำทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเรา นั่นคือสิ่งที่เราเรีนรู้จากประสบการณ์ ตัวอย่างเช่น ถ้าพูหน้าสมองถูกทำลาย บุคคลนั้นจะจำเหตุการณ์ในอดีตได้ยากมาก แต่ความซับซ้อนของการเก็บความจำและการเรียกความจำกลับคืนมานั้นจะต้องประสานงานกับสมองส่วนอื่นด้วย เช่น ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จากการศึกษาพบว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคลืม (Amnesia) หรือสูญเสียความจำ เช่น วัตถุสิ่งของที่เคยเห็น มีพฤติกรรมเหมือนกับลิงที่ฮิปโปแคมปัสถูกทำลาย ฮิปโปแคมปัสมีหน้าที่สำคัญคือในการแปรเปลี่ยนข่าวสารใหม่ๆ ไปสู่ความจำที่ล้ำลึก กรณีตัวอย่าง ผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อ เอช เอ็ม (H.M.) เป็นผู้ที่สติปัญญาสูงกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อฮิปโปแคมปัสของเขาถูกทำลายเนื่องจากการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาอาการโรคลมชักของเขา ปรากฏว่า เอช เอ็ม จำได้แต่เฉพาะเหตุการณ์ก่อนผ่าตัดเท่านั้นและไม่สามารถจำของใหม่หลังผ่าตัดได้เลย เขาจำเลขที่บ้านใหม่ตัวเองไม่ได้ อ่านหนังสือพิมพ์แล้วอ่านหนังสือพิมพ์อีก เหมือนกับไม่เคยเห็นมาเลย
3. การเกิดอารมณ์
อารมณ์คือ ความรู้สึกภายในของบุคคลเป็นผลเนื่องมาจากการทำงานของสมองโดยที่บุคคลไม่สามารุควบคุมได้ ถ้าปราศจากอารมณ์แล้วชีวิตจะรู้สึกแห้งแล้งและจืดชืด เช่น อารมณ์โกรธหรือกลัวทำให้หมดกำลังใจหรือชอบทำลาย พูดง่ายๆ คือ เป็นแรงผลักดันให้เกิดปฏิกิริยา บางอารมณ์ เช่น ตื่นเต้น ยินดี รัก ช่วยกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา อารมณ์เหล่านี้เกิดจากสมองที่เป็นกลุ่มของเซลล์สมองที่อยู่ในศูนย์กลางสมอง คือ ระบบลิมบิค (Limbic system) ประกอบด้วย 1 ใน 5 ของสมองทั้งหมด นอกจากนี้แล้วบริเวณเปลือกสมองส่วนหน้าของพูหน้าหากถูกกระตุ้นจะเกิดอารมณ์กดดัน กลุ้มใจ ตื่นเต้น และกังวล แต่ถ้ากระตุ้นเปลือกสมองบริเวณขมับจะทำให้เกิดโทสะอย่างรุนแรง
มีการทดลองตัดเปลือกสมองของสัตว์ออก ปรากฏว่าสัตว์ยังคงมีอารมณ์ แสดงว่านอกจากเปลือกสมองแล้ว ยังมีสมองส่วนอื่นอีกที่ควบคุมอารมณ์ได้ คือ สมองส่วนทาลามัส และไฮโปทาลามัสนั่นเอง แต่ทาลามัสควบคมอารมณ์ในระดับที่เรายังนึกคิดได้มีทั้งอารมณ์ที่พึงใจและไม่พึงใจ แต่ไฮโปทาลามัสควบคุมอารมณ์ที่อยู่ใต้จิตสำนึก ถ้าหากบริเวณไฮโปทาลามัสถูกกระตุ้นอย่างแรง อาจทำให้มีสัญญาณถูกส่งต่อไปยังเปลือกสมองและทาลามัสทำให้เกิดอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้
4. สมองกับภาษา
ขบวนการทำงานของสมองต่อการใช้ภาษา ส่วนมากได้มาจากการสังเกตคนไข้ที่สมองถูกทำลาย เช่น เนื้องอก บาดเจ็บที่ศีรษะ เส้นเลือดในสมองแตก ผลที่ออกมาบุคคลนั้นจะพูดอย่างยากลำบาก เรียก Apasia
ปี ค.ศ.1860 โบรคา (Broca) สังเกตเห็นว่าเมื่อบริเวณสมองจุดหนึ่งทางด้านซ้ายของสมองพูหน้าถูกทำลายจะเชื่อมโยงกับการผิดปกติทางการพูด ออกเสียงไม่ถูกต้อง พูดช้า ต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก พูดเป็นคำๆ แต่ยังไม่เข้าใจภาษาพูดและภาษาเขียน จึงเรียกสมองบริเวณนี้ว่า Broca’s area
ปี ค.ศ.1874 คาร์ล เวอร์นิเค (Carl Wernicke) ชาวเยอรมันพบว่า หากด้านข้างของเปลือกสมองซีกซ้ายถูกทำลายเช่นกัน จะไม่สามารถเข้าใจคำพูด ได้ยินแต่ไม่ได้เข้าใจความหมายพูดได้ แต่ผิดพลาดในการใช้คำ และคำพูดค่อนข้างปราศจากความหมาย สมองบริเวณนี้เรียก เวอร์นิเค แอเรีย (Wernicke’s area)

ความแตกต่างในความสามารถของแต่ละบุคคล (Individual difference in ability)
การแยกความแตกต่างของความสามารถที่ได้รับจากกรรมพันธุ์ของมนุษย์แยกได้ยากกว่าระหว่างสัตว์และเด็ก บางครั้งเราจะไม่ใจในขีดจำกัดความสามารถของบุคคลที่เป็นผลทางกรรมพันธุ์ แต่ในบุคคลพวกที่จัดเป็นปัญญาอ่อน พวกฉลาดมากเรื่องความสามารถและความอดทนต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นบทบาทของกรรมพันธุ์มาก ดังตัวอย่างการทดสอบความสามารถในเด็ก จะพบว่าเด็กมีความสามารถบางอย่างแตกต่างกัน แต่ถ้าเราไปฝึกเด็กเหล่านี้ เด็กที่จัดว่าเป็นเด็กเก่งเมื่อได้รับการฝึกแล้วมาทดสอบความสามารถก็ยิ่งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถเพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่เราจัดในพวกไม่เก่ง ผลอันนี้อาจเป็นเพราะได้รับกรรมพันธุ์ในการเรียนสูงกว่าก็เป็นได้

วุฒิภาวะกับการเรียนรู้ (Maturation and Learning)
ความสำคัญของวุฒิภาวะสำหรับพัฒนาการทักษะและความสามารถต่างๆ เราพอจะอธิบายได้ดังนี้ คือ
1. พฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการฝึกฝนหรอได้รับการฝึกฝนเล็กน้อยก็ได้
2. เมื่อพัฒนายังไม่ถึงวุฒิภาวะแล้ว การฝึกฝนต่างๆ ก็ไม่เกิดผลหรือให้ผลเล็กน้อยเท่านั้น
3. ความแตกต่างในเรื่องของกรรมพันธุ์จะเป็นขีดจำกัดของวุฒิภาวะซึ่งจะทำให้การฝึกฝนทักษะบางอย่างไม่ได้ผล

จากข้อเท็จจริงต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า วุฒิภาวะเป็นตัวกำหนดอัตราพัฒนาการและเป็นตัวจำกัดพัฒนาการความสามารถของแต่ละคน เราจะพบว่า ก่อนที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะพัฒนาถึงวุฒิภาวะ การสอนให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จะไม่ได้ผล และเมื่อเขาไม่ได้รับกรรมพันธุ์ที่เกี่ยวกับความสามารถต่างๆ นั้น เจาก็จะไม่สามารถเรียนรู้ความสามารถนั้นได้ ในปัญหาเดียวกันนี่มาใช้กับการฝึกให้เด็กมีความสามารถต่างๆ เร็วกว่าวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น ย่อมจะทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้นการสอนเด็กให้เดิน พูด หรือมีทักษะต่างๆ จะไม่ได้ผลถ้ายังไม่พัฒนาถึงวุฒิภาวะของความสามารถนั้นๆ ขึ้นมาก่อน
และถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะได้บรรลุถึงวุฒิภาวะแล้วก็ตาม เราก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าการที่จะให้ได้ผลเต็มที่นั้นต้องอาศัยการเรียนรู้มากมาย หรือจะกล่าวว่า การเรียนรู้มีผลต่อการพัฒนาการการทุกด้านและตลอดชีวิตของบุคคล
นอกจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราก็ควรจะรู้ว่า การเรียนรู้ที่ให้ได้ผลดีที่สุดคือในเวลาที่เกิดวุฒิภาวะนั้น และถ้าละเลยเวลาของวุฒิภาวะแล้ว การเรียนรู้ก็จะยาก และบางครั้งก็ไม่เกิดการเรียนรู้เลย

พัฒนาการของการใช้ภาษา (Language Development)
ภาษาที่พูดกันในปัจจุบันนี้มีอยู่ด้วยกันหลายภาษา แต่ละภาษาเป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ดังนั้น แม้แต่สัตว์ก็ยังต้องมีภาษาที่ใช้สื่อสารภายในฝูงและระหว่างต่างสายพันธุ์กัน แต่ไม่มีสัตว์ชนิดไหนที่ใช้ภาษาพูดที่สลับซับซ้อนเหมือนมนุษย์เลย ฉะนั้น จึงมาพิจารณาถึงพัฒนาการทางการพูด

ปัจจัยในการพัฒนาการใช้ภาษา
พัฒนาการใช้ภาษา วุฒิภาวะและการเรียนรู้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งจะได้พิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้
ก. สติปัญญา
ข. เพศ
ค. สภาพแวดล้อมทางสังคม
โดยเฉพาะการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาทางการพูด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ “ภูมิหลังทางสังคม” (Socio-economic background) ข้อสรุปสำหรับการพัฒนาการทางภาษาก็คือ ยิ่งเด็กมีประสบการณ์มากเท่าใด และบิดามารดามีเวลาในการสอนเด็กมาก ก็ยิ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองและพัฒนาการทางภาษาดีมากขึ้นเท่านั้น
มีแนวคิดสำคัญที่อธิบายการเรียนรู้ภาษาอยู่ 3 ทฤษฎี คือ
1. ภาษาเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ มาจากความคิดของนักพฤติกรรมนิยมซึ่งอธิบายการเรียนรู้ภาษาโดยใช้กฎการเรียนรู้โดยเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่ได้รับรู้ แล้วเกิดการเลียนแบบคำและไวยากรณ์ที่ได้รับรู้บ่อยๆ แม้แนวคิดการเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญของการเรียนภาษา แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาอธิบายลักษณะต่างๆ ของภาษาได้ เช่น การเรียนไวยากรณ์และภาษาใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้รับรู้
2. ภาษาเป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมา โดยการพัฒนาทางภาษาเป็นสิ่งที่ถูกจัดวางไว้โดยกรรมพันธุ์ โดยผู้ค้นคิดแนวคิดนี้ คือ Noam Chomsky ซึ่งกล่าวว่า ภาษาไม่ใช่สิ่งที่ทำขึ้นเองได้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะถูกจัดไว้ในสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นและมีวุฒิภาวะในแบบที่กำหนดไว้ก่อนและมีสิ่งเร้าที่พอเหมาะ
3. ภาษาเกิดจากการรู้คิด (Cognition) โดยการเรียนรู้ภาษาต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการพัฒนาการรู้คิด

แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ภาษา
ภาษา (Language) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนประเภทของสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิตและการกระทำ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำหรับคิด สื่อความหมายและสื่อสารระหว่างบุคคล ภาษาต่างๆ มีระบบไวยากรณ์ต่างกัน ทำให้คนที่เรียนภาษาต่างกันมีความคิดต่างกัน เมื่อมีความคิดที่ต่างกันก็ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ต่างกัน
ในโครงสร้างของภาษาพูดมีระบบหน่วยเสียง (Phonemes) และระบบหน่วยคำ (Morpheme) หรือในภาษาเขียนก็มีระบบวลี (Phrase) และระบบประโยค (Sentence) ซึ่งซับซ้อนกว่า โดย วลีคือการนำคำมาเรียงกันเพื่อให้ได้ความหมายอย่างหนึ่ง ส่วนประโยคคือการเรียงคำที่มีความหมายสมบูรณ์ ทั้งวลีและประโยคมีหลักและวิธีเรียงคำที่สลับซับซ้อน ซึ่งทำให้ความหมายแตกต่างกันออกไป การใช้ภาษาจึงจำเป็นที่จะต้องผ่านขั้นตอนในการเรียนรู้มากมาย ดังนั้นการเข้าใจโครงสร้างของภาษา การเน้นความหมาย การเรียนรู้คำศัพท์ จึงเป็นพัฒนาการขั้นต้นของภาษา แต่พัฒนาการทางภาษาจะดำเนินต่อไปอีก ได้แก่ การผสมคำศัพท์ที่เรียนรู้แล้วเป็นประโยค ตั้งแต่ประโยคสั้นๆ จนในที่สุดสามารถเป็นประโยคยาวๆ และสลับซับซ้อนได้ และจากที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์จนกระทั่งถูกต้อง
ช่วงเวลาหนึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาสามารถอธิบายโดยการวางเงือนไขแบบกระทำ เช่น เมื่อเด็กเล็กสามารถออกเสียงอะไรได้ พ่อแม่ก็จะดีใจ ชอบ และยิ้ม โดยแสดงออกในลักษณะนี้ทุกครั้งเมื่อเด็กออกเสียงได้ถูกต้อง และใช้วิธีการเดียวกันนี้จนเด็กสามารถหัดพูดเป็นประโยคได้ ต่อมานักจิตวิทยาเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้โดยการสังเกต ในการรวมโฟนีมให้เป็นมอฟีมที่มีความหมาย แล้วรวมมอฟีมเข้าด้วยกันให้เป็นคำและประโยคที่มีความหมาย ทั้งแนวคิดของการวางเงื่อนไขแบบการกระทำและการเรียนรู้โดยการเลียนแบบ ไม่มีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งที่สามารถอธิบายการเรียนรู้ทางภาษาได้อย่างสมบูรณ์

อิทธิพลของการเรียนรู้ที่มีต่อพัฒนาการการรับรู้
การรับรู้ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางชีวภาพและประสบการณ์ การแยกปัจจัยทางภาพแวดล้อม พันธุกรรม วุฒิภาวะ ฯลฯ ที่มีผลต่อการรับรู้เป็นสิ่งที่ยากมาก ครั้งหนึ่งนักจิตวิทยาพยายามที่จะหาคำตอบว่า การรับรู้ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด หรือว่าเกิดมาจากการเรียนรู้ นักจิตวิทยากลุ่มเกสตอลท์พยายามที่จะเน้นเรื่องทฤษฎีกำเนิดนิยม (Nativism) ซึ่งหมายความว่าเราเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการรับรู้บางอย่าง ส่วนนักจิตวิทยากลุ่มประจักษนิยม (Empiricism) กลับเน้นความสำคัญในบทบาทของการเรียนรู้ ปัจจุบันนักจิตวิทยาการรับรู้เห็นตรงกันว่า ปัจจัยการเรียนรู้และปัจจัยโดยกำเนิดต่างก็มีความสำคัญต่อการรับรู้ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการรับรู้รูปและพื้นผิว สามารถในการมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ สำหรับปัจจัยทางด้านการเรียนรู้ เป็นหน้าที่ของของนักจิตวิทยาการับรู้ที่จะต้องศึกษาอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่มีต่อพัฒนาการทางการรับรู้ในเรื่องความคงที่ รูปแบบของสิ่งเร้า ฯลฯ รวมท้งอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าอเนกอนันต์ในช่วงพัฒนาการที่มีต่อการรับรู้

การเลือกรับรู้
พลังงานที่อยู่รอบตัวเรา เราไม่สามารถรับรู้ได้ทั้งหมด จะรับรู้เฉพาะพลังงานที่อยู่เหนอระดับเทรชโฮลด์เท่านั้น และเฉพาะพลังงานที่อยู่เหนือระดับเทรชโฮลด์นี้ก็มีมากมายเกินกว่าที่เราจะรับรู้ได้ในเวลาเดียวกัน อวัยวะรับความรู้สึกจึงต้องเลือกรับรู้ (Selective perception) การเลือกรับรู้จึงขึ้นอยู่กับ
1. อวัยวะรับความรู้สึก คือ เมื่อเกิดความคาดหวัง (Expectation) ว่าจะมีสิ่งเร้าเกิดขึ้น จึงเตรียมอวัยวะพร้อมที่จะรู้ (Perceptual set) เช่น ตั้งใจดู ตั้งใจฟังเสียง ตั้งใจดมกลิ่น ฯลฯ
2. สิ่งเร้า สิ่งเร้าบางตัวเรียกร้องความสนใจและทำให้เกิดการรับรู้ได้ง่ายกว่าสิ่งเร้าอื่น คุณสมบัติที่ทำให้สิ่งเร้าบางตัวถูกเลือกรับรู้มีดังต่อไปนี้
2.1. ความเปลี่ยนแปลงกะทันหัน
2.2. ความขัดแย้งหรือความแปลก
2.3. ความแรงหรือความเข้ม สิ่งเร้าที่แรงกว่า เข้มกว่า จะเรียกร้องความสนใจได้ดีกว่า ใช้มากในงานโฆษณา
2.4. ความซ้ำ ความซ้ำหลายๆ ครั้งจะเรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี
2.5. ความซับซ้อน สิ่งเร้าที่ซับซ้อนยุ่งยากจะเรียกร้องความสนใจได้ดีกว่า เพราะต้องใช้ความเอาใจใส่ ใช้สมาธิมาก ทำให้ความสนใจเราพุ่งไปที่สิ่งนั้นทั้งหมด ไม่เหลือไปยังสิ่งเร้าอื่น ส่วนสิ่งเร้าที่ง่าย ธรรมดา ไม่ต้องการความสนใจมาก ก็จะทำให้ความสนใจที่เหลือเบนไปสู่สิ่งเร้าอื่นได้

เพราะการเข้าใจภาษาท่ารำต้องมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เลย การเข้าใจเรื่องก็ลดลง แต่ไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องราวนะ แต่ไม่รู้รายละเอียด ทั้งที่โบราณคนดูทั่วไปรู้รายละเอียดตรงนี้ดีมาก เมื่อสังคมสื่อมันเปลี่ยน คนไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ภาษานี้แล้ว การแสดงแบบเก่าแต่คนดูเป็นคนรุ่นใหม่จึงจูนไม่ตรงกัน พอดูไม่รู้เรื่องก็เบื่อ คือเราอยู่ในกระบวนคิดที่ว่าต้องเปลี่ยนรูปแบบสื่อ เพื่ออยางนั้นอย่างนี้มานานพอสมควรแล้ว โลกมันจะหมุนกลับมาสู่อีกวิธีการหนึ่ง




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:51:03 น.
Counter : 853 Pageviews.  

e-learning กับการศึกษาไร้พรมแดน

ธรรมจักร พรหมพ้วย

"จากกระดานชนวนมาถึงคอมพิวเตอร์" - คุณลองนึกภาพในวันเก่าๆ ที่เด็กไทยตัวน้อยนุ่งผ้าโจงกระเบนหนีบกระดานชนวนขอบไม้ไปศึกษาหาความรู้กับพระสงฆ์ใน "วัด" สถานการศึกษาแห่งแรกของไทยจวบจนปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) เชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกกลายเป็นทางด่วนสารสนเทศ (Information Superhighway) เกิดช่องทางสื่อสารของสังคมและการศึกษาในรูปแบบใหม่ อินเตอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนห้องสมุดโลก เป็นคลังความรู้ที่ไร้พรมแดน สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ จึงนำอินเตอร์เน็ตมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยใช้บริการของอินเตอร์เน็ตในการสื่อสารข้อมูล ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ในสังคมการศึกษาไทย จากการเรียนการสอนแบบตัวถึงตัวที่คุ้นเคย ครูบาอาจารย์ที่เราเคารพบูชา ทำให้มีประเพณี "การไหว้ครู" ก่อนที่จะทำการศึกษาเล่าเรียน หรือตำหรับตำราที่เราเคยกราบ พัฒนามาสู่เนื้อหาที่บันทึกลงเป็นฐานข้อมูลสำเร็จรูป กลายมาเป็นบทเรียนออนไลน์ เกิดเป็นระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เรียกว่า "e-learning" ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ในปัจจุบันที่พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ช่วยให้ผู้เรียนซึ่งอยู่ในจุดที่ห่างไกลจากผู้สอนสามารถที่จะเรียนเนื้อหาวิชาและหลักสูตรต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัดสถานที่และเวลา เป็นการสร้าง "โอกาส" ทางการศึกษา ไม่ว่านักเรียนจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็สามารถรับประโยชน์จากการศึกษาออนไลน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน แนวความคิดทางการศึกษาไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมๆ ที่ผู้เรียนเป็นเพียงแค่ผู้ฟัง และผู้สอนเป็นผู้ให้ และการเรียนการสอนต้องทำในสถานศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว (Synchronous) มาเป็นโมเดลของการเรียนรู้แบบใหม่ โดยที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหา บทเรียนได้ แบบที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ (Asynchronous) รูปแบบการศึกษาของ e-learning ที่เป็นลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ "สื่อ" สิ่งที่เพิ่มเติมมาจากระบบการสอนแบบดั้งเดิม สื่อนี้ก็คือระบบอินเตอร์เน็ต มิใช่หน้าหนังสือดังเช่นแต่ก่อน และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ การเรียนทางระบบออนไลน์นี้ หาได้เป็นการรับสาร (ความรู้) ผ่านสื่อแต่เพียงอย่างเดียวไม่ แต่ได้พัฒนามาไกลจนสามารถติดต่อกันได้ทั้ง 2 ทาง (Two-ways communication) ผู้เรียนสามารถโต้ตอบ ติดต่อ สอบถาม ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างผู้เรียนกับครู อาจารย์ผู้สอน และระหว่างผู้เรียนกับเพื่อนร่วมชั้น โดยมีเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่เป็นสื่อผสม (Multimedia) หลากหลายรูปแบบ เช่น Chat (ทั้งที่เป็นข้อความและผ่านทางเสียง) Web board e-mail Real-time Annotation Interactive poll เป็นต้น ในปัจจุบันนี้มีตลาดวิชาที่ใหญ่สุดของประเทศไทย คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เปิดทำการเรียนการสอนในระบบ e-learning ด้วยการเป็นสถาบันที่มีความเพียบพร้อมทางด้านเนื้อหาวิชาการและมีความเชี่ยวชาญในการสอนทางไกล (Distance learning) เริ่มด้วยการเปิดสอนวิชาภาษาไทยในปี พ.ศ.2544 ที่เว็บไซต์ //www.ru.ac.th/Thai language learning และได้พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันได้เปิดตัวเว็บใหม่ในหมวดการศึกษาชื่อ //www.ram.edu ซึ่งจะทำให้การศึกษาของไทยกลายเป็นบริการเพื่อชุมชน เปิดโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสนใจ สามารถลงทะเบียบเรียนทางอินเตอร์เน็ตได้ "ฟรี"

สังคมแบบไทยๆ ก็จะมีประชากรที่ความรู้ความสามารถเพียบพร้อมในการพัฒนาประเทศชาติ คนไทยทุกคนก็จะมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ในอนาคตข้างหน้าประเพณีการไหว้ครูของไทย อาจต้องเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาไว้ในพิธีด้วย




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:35:01 น.
Counter : 559 Pageviews.  

สื่อชะชำระใจ

ธรรมจักร พรหมพ้วย

ca•thar•sis \k€-"thär-s€s\ noun pl ca•thar•ses \-'sÈz\ [NL, fr. Gk katharsis, fr. kathairein to cleanse, purge, fr. katharos] (ca. 1775)
1 : PURGATION
2 a : purification or purgation of the emotions (as pity and fear) primarily through art
b : a purification or purgation that brings about spiritual renewal or release from tension
3 : elimination of a complex by bringing it to consciousness and affording it expression
©1997, 1996 Zane Publishing, Inc. All rights reserved.

Catharsis มาจากภาษากรีก ซึ่งสามารถแปลได้ว่า "เป็นการทำให้บริสุทธิ์" หรือหมายถึงการที่คนดูนั้นได้ชำระล้างจิตใจจากชมละคร จากแนวคิดเรื่องประโยชน์ของละครสุขนาฏกรรมที่หลังจากที่ผู้ชมเมื่อได้ชมการแสดงจบแล้วจะได้รับความรู้สึกเหมือนได้ชำระล้างจิตใจ (Catharsis) และให้ความรู้สึกอันสูงส่งหรือความรู้สึกผ่องแผ้วในจิตใจ (Exaltation) มีผลทำให้เกิดความสงสารหรือความกลัว (Fear) อันจะนำผู้ชมไปสู่ความเข้าใจชีวิต
เฉกเช่นเดียวกับศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการทางใจ เป็นเรื่องของการแสดงออกที่เป็นความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ อารมณ์ที่ปรากฏให้เห็นในรูปผลงานหลากรูปแบบไม่ว่าจะเป็นดนตรี วรรณกรรม ทัศนศิลป์ นฤมิตศิลป์ นาฏยศิลป์ ศิลปะการละคร หรือภาพยนตร์ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะด้วยสื่อเหล่านี้ได้ ผู้ที่มีความนิยมชมชอบทางศิลปะถือได้ว่ามีความสำนึกในคุณค่าทางความงาม ผู้ที่มองคุณค่าของความงามออก ก็จะสามารถมองเห็นในคุณค่าของสิ่งอื่นๆ ด้วย
การจัดการสาธิตประกอบคำบรรยายเรื่อง “สื่อชะชำระใจ” นี้จึงจัดขึ้นเพื่อให้เข้าใจประโยชน์ของการเลือกเสพสื่อเพื่อการผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน และสามารถอยู่บนโลกใบเล็กที่รายล้อมด้วยสื่อศิลปะเหล่านี้อย่างมีความสุข
ความหลากหลายของสื่อที่รายล้อมในชีวิตประจำวัน ทำให้การเลือกเสพสื่อต้องใช้วิจารณญาณมากไปกว่าการใช้ความพึงพอใจและรสนิยมที่เป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อบันเทิงที่ต่างแข่งขันกันผลิตกันออกมาเป็นปริมาณที่มาก ผู้คนส่วนหนึ่งเลือกทางออกจากความตึงเครียดจากการทำงานโดยใช้สื่อเพื่อหลีกหนี (Escape) ความสับสนและวุ่นวายของชีวิตประจำวันที่จะหาเวลาและวันว่างสำหรับชีวิตได้น้อยลงทุกที
ความรู้สึกอย่างยิ่งที่ได้รับจากการผ่อนคลายด้วยสื่ออันดันแรกๆ ก็คือความสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟังดนตรีหรือชมภาพยนตร์ดีสักเรื่องๆ หนังสือและภาพยนตร์บางเรื่องแม้จะเศร้ารันทดสะเทือนใจจนผู้อ่านผู้ดูต้องหลั่งน้ำตา แต่สิ่งที่ได้คือความเข้าใจชีวิตและสัจธรรมบางอย่าง มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังปัญญาของผู้เสพสื่อนั้น
อริสโตเติล (Aristotle) ปราชญ์และนักการละครชาวกรีกได้บรรยายถึงคุณค่าของละครประเภทโศกนาฏกรรม (Tragedy) ไว้ในหนังสือโพเอทธิกส์ (Poetics) ว่าละครโศกนาฏกรรมนั้นนำมาซึ่งความรู้สึกสงสาร (Pity) และความกลัว (Fear) ความรู้สึกเช่นนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำผู้ชมไปสู่ “ความบริสุทธิ์ทางจิตใจ” หรือ “การชำระล้างจิตใจจนบริสุทธ์” (Catharsis) เพราะเมื่อผู้ชมได้ชมละครที่แสดงภาพชีวิตอย่างสมเหตุสมผลนั้น จะทำให้เกิดอารมณ์ร่วมและคล้อยตาม ผู้ชมจะสงสาร เข้าใจและเห็นใจในความทรมานของตัวละครในเรื่อง บางครั้งก็นำตนเองไปเปรียบเทียบกับตัวละคร (Identification) ทำให้กลัวว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดแก่ตนเองบ้าง เมื่อเกิดความรู้สึกสงสารและกลัวเช่นนี้ ก็ย่อมที่จะใช้ปัญญามองหาสาเหตุแห่งการเกิดปัญหานั้น และเมื่อค้นพบทางออกและเข้าใจแล้วก็เปรียบได้กับการได้เห็นแสงสว่าง (Enlightment) นำไปสู่การรู้ดีรู้ชั่วรู้สาเหตุแห่งทุกข์ ทำให้สามารถตัดสินใจเลือกทางเดินของชีวิตได้ถูกต้อง นำมาสู่ความบริสุทธิ์ทางจิตใจ
จากแนวคิดนี้จะเห็นได้ว่าการชมละครซึ่งเป็นสื่อประเภทหนึ่งนั้น แม้ว่าจะเป็นโศกนาฏกรรมที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดก็ดี ล้วนแต่มีคุณค่าในการยกระดับจิตใจ ซึ่งบางท่านก็อ้างว่าเป็นการปลงตกกับชีวิตเพราะมนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างก็มีความเดือดเนื้อร้อนใจเศร้าหมองอยู่ภายใน การได้สลัดอารมณ์ขุ่นมัวและระบายความเดือดร้อนออกมาภายนอกนั้นเท่ากับเป็นการชำระล้างจิตใจอีกทางหนึ่งเช่นกัน ด้วยเหตุนี้การแพทย์ในปัจจุบันที่เริ่มเห็นความสำคัญกับการเยียวยารักษาสภาพจิตใจและเน้นมิติทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้นนั้น ได้มีการนำเอางานศิลปะซึ่งเป็นสื่อแขนงหนึ่งมาใช้บำบัดรักษาจิตใจของผู้ป่วยหรือเด็ก แต่นอกเหนือการคุณสมบัติทางการบำบัดรักษาแล้ว การเสริมสร้างสุขภาพด้วยสื่อประเภทศิลปะก็เป็นอีกหาทางหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่และสุขภาวะทางกายใจดียิ่งขึ้น
ดังตัวอย่างการบำบัดรักษาด้วยเสียงเพลง หรือที่เรียกกันว่า ดนตรีบำบัดนั้นส่งผลโดยตรงต่อมนุษย์แม้ว่าจะมิได้ตกอยู่ในอาการป่วยไข้ก็ตาม ประเภทของดนตรีมีหลากหลายอารมณ์ ที่มีผลต่อการจรรโลงสุขภาพจิต ได้แก่ ดนตรีประเภทที่ให้ความสงบสุข (Soothing music) เช่น ดนตรีของ Kitaro, Enya หรืออาจจะเป็นประเภทเพลงทางศาสนา เพลงบรรเลงประเภท light Music หรือ Gtreen Music นั้น ทำให้เกิดความสดชื่น สบาย หรือถ้าอยากปลุกความสามัคคีก็ต้องเลือกฟังเพลงประสานเสียง เมื่อเสียงดนตรีมีความสำคัญเช่นนี้จึงทำให้มีผลสัมพันธ์กับอารมณ์ ระบบประสาท และภูมิคุ้มกันโรค คนฟังดนตรีจะเกิดอารมณ์สุขสดชื่น ทำให้เพิ่มระดับฮอร์โมน Endrophin อันเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและมีส่วนควบคุมการตอบรับของร่างกายที่มีต่อความเครียด อารมณ์และการหดตัวของผนังลำไส้
เสียงดนตรีกับมนุษย์มีความสัมพันธ์กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวเพราะมนุษย์ผูกพันกันมาตั้งแต่อยู่ในท้องมารกา จวบจนกระทั่งถึงสาระสุดท้ายของชีวิตเลยทีเดียว เสียงแรกที่มนุษย์คุ้นเคยก็คือ “จังหวะ” ต้นกำเนิดของดนตรีดังจังหวะชีพจรหรือเสียงลมหายใจของแม่ตั้งแต่เมื่อเราอยู่ในครรภ์ ทุกอย่างของชีวิตและธรรมชาติล้วนมีจังหวะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำขึ้นน้ำลง พระอาทิตย์ขึ้นและตก จังหวะเหล่านี้ส่งผลต่อจิตใจและสมองของคนเราเป็นอย่างมาก ทั้งทำให้เกิดความสงบ มีความมุ่งมั่น ฮึกเหิม รู้สึกอบอุ่น คลายเหงา บันดาลความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นดนตรีจึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ ที่เรียกกันว่า “ดนตรีบำบัด” (Music Therapy) มีการค้นคว้าความสัมพันธ์ของดนตรีกับมนุษย์อย่างจริงจัง พบว่าดนตรีช่วยบรรเทาอาการของโรค และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะ รวมถึงอาการเจ็บปวดจากบางโรคและบำบัดความผิดปกติทางจิต
ไม่เพียงแต่เสียงดนตรีเท่านั้นที่สามารถบรรเทาและชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ ได้ วรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทใดก็ตาม นวนิยาย บทกวี หรือแม้แต่เรื่องสั้นบางเรื่องสามารถทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มคล้อยตามไปกับเรื่องราวของหนังสือ ความสุขที่ได้รับจากการอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอารมณ์แตกต่างกันก็ให้คุณค่าทางการชำระใจเฉกเช่นเดียวกับตัวอย่างละครโศกนาฏกรรมที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ในการสาธิตครั้งนี้ได้นำตัวของเรื่องสั้น 2 เรื่อง เป็นตัวอย่างให้ผู้รับสารได้ปล่อยวางจากอารมณ์แล้วจดจ่อกับเรื่องราวที่โลดแล่นผ่านทางตัวอักษรสักครู่ ก็จะเห็นได้ว่าเราได้หยุดและอยู่ในสมาธิ ยิ่งที่เรื่องเราได้อ่านนั้นเป็นเรื่องราวที่ดีต่อจิตใจ ไม่สร้างความหดหู่รำคาญใจ ก็จะช่วยจิตใจผ่องใสบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น แม้กระทั่งบทกวีที่มีลีลาของถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้อย่างเป็นจังหวะจะโคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว เช่น วรรณคดี ไปจนถึงกลอนเปล่า ก็อาจถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกดีๆ ผ่านทางฉันทลักษณ์อันสวยงามเหล่านั้นได้
การใช้กลิ่นเข้ามาเสริมสำหรับการเสพสื่อชำระล้างจิตใจนั้น บางครั้งการจัดสภาพแวดล้อม เช่น ที่บ้าน หรือที่ทำงาน ให้ปลอดโปร่งและสบาย ก็มีส่วนเสริมให้เมื่อเราอ่านหนังสือ ฟังเพลงหรือชมภาพยนตร์ที่บ้านอย่างมีความสุข การเลือกใช้สุคนธบำบัด (Aromatherapy) หรือกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยต่างๆ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เสริมให้จิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย
ไม่เพียงแต่การรับสื่อด้วยการอ่านและฟังเท่านั้น การเสพสื่อด้วยสายตา เช่น สื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ศิลปะการละคร การเต้นรำ ฯลฯ ก็มีคุณลักษณะในการที่จะชำระจิตใจได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะภาพยนตร์นั้น เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงและมีพัฒนาการและความหลากหลายมากมายให้เลือกเสพ เราอาจมีรสนิยมให้การชมภาพยนตร์แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะได้เมื่อเดินออกมาจากห้องมืดนั้น ความสุขใจและคล้อยตามไปกับภาพยนตร์ ฉากในภาพยนตร์บางเรื่องติดตาและติดตรึงในความรู้สึก ทำให้เมื่อกลับมาดูครั้งใดก็อดที่จะซาบซึ้งและประทับใจมิได้ ความรู้สึกเช่นนี้เองที่ทำให้สื่อภาพยนตร์เป็นสื่อกระแสหลักที่คนในสังคมสามารถเลือกเสพได้โดยสะดวกที่สุด เพราะมีสถานที่และประเภทของเรื่องราวให้เลือกชมได้มากยิ่งขึ้น จากความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการชมภาพยนตร์นี้ จึงได้นำเอาตัวอย่างภาพยนตร์หลายรสเพื่อให้หวนระลึกถึงความรู้สึกที่ได้เคยชมภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ มา เช่น หากกล่าวถึงความโหดร้ายของการเผชิญกับชะตากรรมของมนุษย์ตามแนวทางแห่งโศกนาฏกรรมแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “ไอ้ฟัก” ที่มาจากวรรณกรรมชั้นยอด “คำพิพากษา” ก็ทำให้เห็นภาพของการต่อสู้ระหว่างความเป็นจริงในจิตใจที่ขัดต้านกับสังคมภายนอก หรือเมื่อนึกถึงเรื่องราวความรักความผูกพัน ภาพยนตร์อย่าง “Love actually” หรือ “Nothing Hill” ต่างก็เคยทำให้รู้สึกอิ่มเอมกับความรักได้ หรือตัวอย่างภาพยนตร์ขำขันแบบสุขนาฏกรรม (Comedy) อย่าง “Patch Adam” ก็ทำให้อมยิ้มและหัวเราะกับความขบขันของตัวละครและเรื่องราวได้
นอกเหนือจากสื่อตัวอย่างเหล่านี้ยังมีสื่อที่สามารถชำระล้างจิตใจประเภทอื่นๆ ที่สามารถเลือกในชีวิตประจำวันได้ การชมละครโทรทัศน์ หรือได้มีโอกาสดูละครเวทีที่เป็นการแสดงสดสักเรื่อง การเที่ยวชมภาพวาดตามพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะหรือการได้มีโอกาสวาดภาพด้วยตนเอง การดูมหรสพทั้งไทยและสากล เช่น นาฏยศิลป์ร่วมสมัยที่สื่อเนื้อหาและแนวคิดใหม่ผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายและอารมณ์ เป็นต้น
การนำเอาตัวอย่างเหล่านี้มาสาธิตต่อเนื่องกัน แม้จะเป็นเพียงตัวอย่างขนาดสั้นที่ไม่อาจถ่ายทอดความรู้สึกอย่างต่อเนื่องได้ เพราะการรับรู้ ประสบการณ์ทางสุนทรียะและรสนิยมของแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกันออกไป การบรรยายนี้หากนำไปพัฒนาและปรับปรุงความต่อเนื่องให้สอดคล้องและง่ายต่อการทำความเข้าใจแล้ว การได้มีโอกาสบรรยายสาธิตตามองค์กรทางด้านสื่อและองค์กรทางสุขภาพจิต หรือแม้แต่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจก็จะเป็นผลดีไม่มากก็น้อยที่จะเสริมสร้างให้สุขภาวะทางจิตวิญญาณของบุคคลดีขึ้น สามารถบรรเทาการเกิดอาการเจ็บป่วยทางภายภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 3:33:20 น.
Counter : 1916 Pageviews.  

1  2  3  4  

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.