ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

นักธุรกิจห้ามยุ่ง'จริยธรรม-คอร์รัปชั่น'ต้องปฏิรูป



บ้านเมืองกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิรูปและการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามโรดแม็พที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ "ทีมข่าวเครือเนชั่น" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับการปฏิรูปและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

                "ต้องแบ่งแยกเด็ดขาดระหว่างธุรกิจกับการเมือง เพราะการเมืองคือการเข้ามาทำภารกิจหน้าที่ให้กับประเทศชาติ ส่วนคนที่ยังประกอบธุรกิจยังต้องการทำการค้าหากำไร  จึงไม่ควรเข้ามาอยู่ในการเมือง"

               จรัญ ตอบ บทสนทนาที่ว่าจะปฏิรูปประเทศกันอย่างไร และว่า...การเมืองเป็นเรื่องการคุมอำนาจและการเมืองเป็นคนวางกติกาและบริหารเพื่อให้ผู้เล่นคือผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อยู่ในขอบเขตกฎเกณฑ์กติกาที่ดีเพื่อให้อยู่ได้ มีดุลยภาพของประเทศและไปสู่จุดที่เหมาะสมและดีที่สุด คนที่เข้ามาในการเมืองต้องเป็นอย่างนี้

               "แต่บ้านเราไม่ใช่ ทุกวันนี้เราเข้าใจว่าเสรีนิยมแบบบ้านเรา ใครทำได้ก็ทำเอา สังคมทุนนิยมและเสรีนิยมแบบบ้านเราจึงเปิดโอกาสให้คนที่มีกำลังทรัพย์มากๆ ซึ่งก็คือภาคธุรกิจเท่านั้นและต้องเป็นธุรกิจรายใหญ่ด้วย ทุนนิยมใหญ่เข้ามาในการเมือง เห็นได้จากหัวหน้าพรรคการเมือง เจ้าของพรรคการเมืองที่มีเงินน้อย ก็กลายเป็นพรรคกระยาจกไป เงินร้อยล้านตอนนี้ยังน้อยไปในการทำพรรคการเมือง"

                จรัญ การแก้วัฒนธรรมการเมืองแบบทุนนิยมข้างต้นนั้นต้องอาศัยกติกาใหม่ โดย กฎเหล็กข้อแรก ที่ต้องเกิดขึ้นและมีความเห็นตรงกันเลยว่า การเมืองกับธุรกิจต้องแยกเด็ดขาดจากกัน ไม่มีทั้ง "นอมินี" หรือการส่งตัวแทน "แฝงตัว" เข้ามา เพราะคนเหล่านี้เข้ามาแล้วกอบโกย     

               จรัญ บอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กฎหมายของไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงไปจนถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องกำหนดไม่ให้พรรคการเมืองมีเงินสนับสนุนจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแหล่งเดียว ผู้ประกอบการ บริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ แต่ต้องจำกัดวงเงิน เพื่อป้องกันเข้ามาเป็นนายทุนพรรค และห้ามไม่ให้เข้ามาบริหารพรรคการเมือง ส่ง "หุ่นเชิด" ซึ่งเป็นตัวแทนของตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อเข้ามาก็ไม่ได้

               อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เสนอด้วยว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจะร่างขึ้นมาใหม่ในเวลาอันใกล้นี้ควรระบุชัดเจนลงไปเลยว่า ขอให้แยกอำนาจรัฐกับผู้ประกอบธุรกิจออกจากกัน เพราะผู้ประกอบธุรกิจการค้า คือคนที่มุ่งจะยืนอยู่ได้ในวงการธุรกิจที่ต้องหวังผลกำไรและต้องดูแลผู้ถือหุ้น ไม่ได้มุ่งดูแลประเทศชาติ ขณะที่คนที่จะมาคุมอำนาจรัฐ ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่หมายถึงระบบราชการเกือบทั้งระบบด้วย โดยเฉพาะข้าราชการระดับใหญ่ทั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ผู้พิพากษา กรรมการองค์กรอิสระทั้ง 7 องค์กร รวมถึง กสทช. 

               "คุณจะมาทำงานให้สังคม ประเทศชาติ คุณตัดขาดจากธุรกิจหรือยัง ถ้าคุณเห็นว่ายังไม่รวย ยังไม่พอ คุณอย่าเข้ามา คุณไปทำมาหากินจนรวยล้นฟ้าจนสะใจแล้วจึงค่อยเข้ามาช่วยทำงานงานให้สังคม"  จรัญ บอกว่า สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกติกาเหล่านี้ จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง และให้ตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งไม่ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและมีโทษทางอาญา  "ลองนึกดูซิ สมมุติว่าผมมีธุรกิจของผม ของเครือข่ายผมเต็มไปหมด นั่นหมายถึงผมมีคู่แข่ง แต่ผมเข้าไปคุมอำนาจรัฐ เป็นคนคุมกติกา ง่ายๆ ไม่ต้องให้ผมเป็นอะไรมาก แค่ให้ผมเป็นไลน์แมนคอยยกธงกีฬาฟุตบอล แต่ผมมีส่วนได้เสียกับทีมนั้น ทีมนี้ หรือแค่ไปเล่นพนันฟุตบอลไว้ แล้วผมคอยยกธง อย่างนี้ก็แย่แล้ว ดังนั้น คนที่มาคุมอำนาจรัฐต้องตัดขาดจากธุรกิจ เพราะเป็นคนที่จะมาวางกฎระเบียบจึงต้องเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ"

               ส่วน กฎข้อที่สอง ที่ต้องปฏิรูป จรัญ บอกว่า อยากให้ยกฐานะของหมวดจริยธรรมว่าด้วยจริยธรรมของนักการเมือง ข้าราชการ รวมทั้งคนที่ทำงานให้หน่วยงานของรัฐ ให้มีระบบที่บังคับได้จริง ไม่ให้เป็นหมันเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยทำให้เป็นบรรทัดฐานที่คนในสังคมรับรู้และเอาจริง มีระบบที่บังคับได้จริง โดยมีกลไกกระบวนการบังคับ มีทั้งกระบวนการเริ่มเรื่องในการตรวจสอบ และมีบทลงโทษชัดเจน
               "จริยธรรมมันมีประโยชน์ มันเป็นการป้องกัน เหมือนกับระบบประสาทที่เราเจ็บ เพราะว่าเราร้อน เราเจ็บ เราจึงชักมือกลับ และได้บทเรียนว่าไอ้นี่ร้อน จึงไม่ทำอีก และถ้าเห็นว่าเรื่องจริยธรรมเป็นประโยชน์มีคุณค่า ก็ให้มีการตั้ง "องค์กรอิสระขึ้นมาดูแลด้านจริยธรรม" โดยเฉพาะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อจัดระบบ สำหรับในรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการเขียนไว้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นคนดูแลเรื่องจริยธรรมแต่ทำไม่ได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าไม่มีฤทธิ์ ไม่มีดาบ ไม่สามารถลงโทษได้เอง"
               ส่วน กฎข้อที่สาม จรัญ ระบุว่า คือเรื่อง ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นต้องปฏิรูปใหญ่และกระบวนการยุติธรรมทุกระบบ ทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิรูปทั้งหมด

               "เพราะว่าในความจริงโลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ หยุดปฏิรูปเมื่อไหร่แย่เมื่อนั้น ต้องปฏิรูปปรับใหม่ ปรับขึ้นไปเพราะว่ามันไม่มีวันสมบูรณ์ เพราะว่าโลกจะเปลี่ยนไปเรื่อยเหมือนเชื้อโรคกับยา ใช้ยาอย่างเดิมอีกไม่ได้ ต้องเปลี่ยนให้ทันโลก ต้องปฏิรูปทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ทนายความ ราชทัณฑ์ คุมประพฤติ รวมไปถึงระบบการเรียนการศึกษา กฎหมายต้องปฏิรูปเพราะที่นั่นเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมตลอดสาย ที่ผ่านมาเราไม่ได้ผลิตนักยุติธรรม เราไม่ได้ผลิตคนที่จะไปดูแลสร้างสรรค์ความถูกต้องเป็นธรรมให้กับประเทศชาติ  สังคมหรือประชาชน เราผลิตนักกฎหมายไปทำมาหากินตามสาขาวิชาชีพที่แต่ละคนถนัด ไม่มีผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ตำรวจ เพื่อชาติ เพื่อส่วนรวม สาธารณประโยชน์"
               ทั้งหมดนี้คือ คำถ่ายทอดจากปากของคนระดับปรมาจารย์กฎหมายที่สังคมไทยให้การยอมรับ

ขอขอบคุณ




Create Date : 13 กรกฎาคม 2557
Last Update : 13 กรกฎาคม 2557 17:56:58 น. 0 comments
Counter : 1199 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]