ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund)

แผนการตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบริหารความมั่งคั่งแห่งชาติ” (Sovereign Wealth Fund นิยมใช้ตัวย่อ SWF) ที่เคยมีโครงการในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ถูกริเริ่มขึ้นมาอีกครั้งในรัฐบาลใหม่ที่มีคนตระกูลชินวัตร นั่งแท่นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เงียบหายไปช่วงหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤตซับไพร์มในช่วงปี 2551

ประเด็นเรื่องการฟื้นแผนกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ถูกหารือกันมาสักระยะหนึ่งแล้วในรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ทันทีที่การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสร็จสิ้น รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างๆ เริ่มเข้าทำงาน เราก็เห็นข่าวนี้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะหนึ่งในภารกิจแรกๆ ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็คือหารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องนี้

รู้จัก “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ”

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ (ถ้าแปลตรงตัวตามภาษาอังกฤษ Sovereign Wealth Fund) ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มีหลายประเทศในโลกที่ตั้งกองทุนนี้และมีผลการดำเนินงานที่ชัดเจน ตัวอย่างที่ใกล้ตัวคนไทยที่สุด คงเป็น “กองทุนเทมาเส็ก” ของประเทศสิงคโปร์ ที่เข้ามาซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากครอบครัวชินวัตร ในฐานะ “การลงทุน” เพื่อ “ความมั่งคั่ง” (ผลประกอบการและรายได้ของชินคอร์ป) กลับไปยังประเทศสิงคโปร์

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ จะเป็นกองทุนที่รัฐบาลของประเทศหนึ่งๆ เป็นเจ้าของ โดยกองทุนจะไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอย่างไรก็ได้ เช่น หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ส่วนพื้นที่การลงทุนจะไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ แต่เป็นการขยายตัวไปลงทุนทุกที่ในโลกที่มีศักยภาพที่จะทำกำไร (เฉกเช่นเดียวกับกองทุนของเอกชนทั่วไป)

แนวคิดเรื่องกองทุนความมั่งคั่งเกิดมาจาก “เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ” (foreign exchange reserve) ของประเทศต่างๆ ที่เก็บไว้เพื่อถ่วงดุลกับค่าเงิน (โดยเฉพาะเงินดอลลาร์) เกิดความไม่สมดุล เพราะสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกขาดดุลการค้าให้กับชาติตะวันออก และกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทำให้เงินดอลลาร์ (และเงินตราต่างชาติอื่นๆ) ไหลเข้ามาเก็บในคลังเงินทุนสำรองมากเกินความจำเป็น และส่งผลให้ค่าเงินของประเทศนั้น ๆ แข็งขึ้นจนอาจกระทบการส่งออก

แนวคิดเรื่องกองทุนความมั่งคั่งจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหา 2 อย่าง คือ

  1. ผันเงินทุนสำรองในคลังออกมาใช้ในต่างประเทศ เพื่อระบายปริมาณเงินต่างประเทศออกไป ช่วยพยุงค่าเงินของประเทศนั้นๆ ไม่ให้แข็งค่าเกินไป
  2. เป็นการต่อยอด “ความมั่งคั่ง” ของประเทศนั้นๆ ผ่านการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็มีผลตอบแทนมากกว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ประเทศแรกๆ ที่ริเริ่มกองทุนความมั่งคั่งคือ “คูเวต” ซึ่งได้ดุลการค้าจากน้ำมัน โดยกองทุนแห่งแรกของโลกคือ Kuwait Investment Authority ตั้งขึ้นในปี 1953 ปัจจุบันมีทรัพย์สินกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ยังมีกองทุนอีกประเภทหนึ่งคือ กองทุนจากเงินบำนาญของรัฐบาล (government pension fund เทียบได้กับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ของไทย) ที่นำเงินบำนาญไปลงทุนเพื่อให้งอกเงยกว่าเดิม ในกรณีนี้มีบางประเทศที่อนุญาตให้กองทุนบำเหน็จบำนาญสามารถไปลงทุนภายนอกประเทศได้ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญของประเทศนอร์เวย์ (Government Pension Fund of Norway)

แน่นอนว่าประโยค “การลงทุนมีความเสี่ยง” ยังใช้ได้เสมอ ดังนั้นการอนุญาตให้กองทุนความมั่งคั่งออกไปลงทุนได้เฉกเช่นกองทุนเอกชน ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียเงินจากการลงทุนที่ผิดพลาด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กองทุนความมั่งคั่งจำนวนมากลงทุนในบริษัทการเงินของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Citigroup, Morgan Stanley, Merril Lynch  ซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 จนเกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนักว่านำเงินของประชาชนไปลงทุนสูญเปล่า

แต่กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันแนวทางการลงทุนผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ กลายเป็นธรรมเนียมที่หลายๆ ประเทศในโลกหันมาดำเนินกันอย่างจริงจัง และบางประเทศมีกองทุนมากกว่า 1 กองด้วยซ้ำ

กองทุนความมั่งคั่ง 10 อันดับแรกของโลก วัดตามขนาดของทรัพย์สิน มีดังนี้ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

  1. Abu Dhabi Investment Authority จากรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทรัพย์สิน 6.27 แสนล้านดอลลาร์ (ต้นกำเนิดมาจากน้ำมัน)
  2. Government Pension Fund of Norway จากนอร์เวย์ ทรัพย์สิน 5.5 แสนล้านดอลลาร์ (ต้นกำเนิดจากน้ำมัน)
  3. SAMA Foreign Holdings ของซาอุดีอาระเบีย ทรัพย์สิน 4.3 แสนล้านดอลลาร์ (ต้นกำเนิดจากน้ำมัน)
  4. SAFE Investment Company จากประเทศจีน ทรัพย์สิน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ เป็นกองทุนจากเงินทุนสำรองต่างประเทศ
  5. CIC Investment Corporation ของประเทศจีน ทรัพย์สิน 3.3 แสนล้านดอลลาร์ เป็นกองทุนจากเงินทุนสำรองต่างประเทศ เพิ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2007
  6. Hong Kong Monetary Authority Investment Portfolio จากฮ่องกง ทรัพย์สิน 2.9 แสนล้านดอลลาร์ เป็นกองทุนที่ดูแลโดยธนาคารฮ่องกง
  7. Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ของสิงคโปร์ ทรัพย์สิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ดูแลเงินทุนสำรองของสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1981
  8. Kuwait Investment Authority ของคูเวต ทรัพย์สิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ต้นกำเนิดมาจากรายได้จากน้ำมัน
  9. Temasek Holdings จากประเทศสิงคโปร์ ทรัพย์สิน 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นหนึ่งในบริษัทระดับโลกที่ได้เครดิตเรตติ้งระดับ AAA จากทั้ง S&P และ Moody’s
  10. Caisse de dépôt et placement du Québec กองทุนของรัฐบาลมลรัฐควิเบคในแคนาดา ทรัพย์สิน 1.5 แสนล้านดอลลาร์

ประเทศอื่นๆ ที่มีกองทุนความมั่งคั่ง ได้แก่ รัสเซีย กาตาร์ ออสเตรเลีย ลิเบีย อัลจีเรีย คาซัคสถาน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไอร์แลนด์ บรูไน ฝรั่งเศส อิหร่าน ชิลี บราซิล โอมาน เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น

ย้อนอดีตความพยายามตั้ง กองทุนความมั่งคั่งแห่งประเทศไทย (Thailand Investment Corporation)

บทความ รู้จักกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ตอบโจทย์ทิศทางประเทศไทย โดย ธิติ สุวรรณทัต ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ 22 สิงหาคม 2554 ได้เล่าประวัติความพยายามในการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย ไว้ดังนี้

แนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund : SWF ) ของประเทศไทยเริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมเมื่อสักประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว คือช่วงปี 2549-2550 ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ก่อนที่วิกฤติซับไพรม์จะปะทุขึ้นที่สหรัฐในปี 2551 ในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ SWFs จากประเทศต่างๆ กำลังผงาดขึ้นมาเป็นตัวละครที่สำคัญและมีบทบาทมากในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก

แต่ภายหลังจากที่วิกฤตการณ์ซับไพรม์ในสหรัฐลุกลามไปเป็นวิกฤติการเงินโลก ความเคลื่อนไหวของบรรดา SWFs ทั้งหลายก็เงียบไประยะหนึ่ง เพราะความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก อันเนื่องมาจากวิกฤติการเงินโลกที่อุบัติขึ้นในตอนนั้น

ในวันที่ 3 มี.ค.2552 คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “บรรษัทบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย” หรือ Thailand Investment Corporation (TIC) เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย

ในเบื้องต้น สภาที่ปรึกษาฯเสนอว่า รัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินทุนประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินทุนประมาณร้อยละ 10 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (ในช่วงเดือน ม.ค.2552 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองอยู่ที่ประมาณ 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ ณ ปัจจุบัน เดือน ก.ค.2554 มีประมาณ 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และในอนาคตถ้าหากประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกก็สามารถนำเอารายได้ส่วนเกินตรงนั้นเข้ามาสมทบในกองทุนเพิ่มเติมก็ได้

นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯยังได้เสนอรูปแบบของการบริหารองค์กร TIC หรือ บรรษัทบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล TIC ที่ต้องได้รับการสรรหาอย่างโปร่งใสตามมาตรฐานสากลและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง พร้อมกับให้มี “คณะกรรมการนโยบายการลงทุน” และ “คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง” เพื่อจัดทำนโยบายการลงทุนและนโยบายการบริหารความเสี่ยงเสนอให้คณะกรรมการกำกับการดูแล TIC พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินงานต่อไป

ส่วนคณะผู้บริหาร TIC นั้น สภาที่ปรึกษาฯ เพียงเสนอแนะไว้กว้างๆ ว่า “คณะผู้บริหารจะต้องเป็นทีมงานมืออาชีพที่มีความสามารถและประสบการณ์การบริหารกองทุนและการบริหารความเสี่ยงดีเยี่ยม”

สำหรับการบริหารเงินทุนนั้น สภาที่ปรึกษาฯ เสนอว่าควรเป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Investment) ในต่างประเทศเท่านั้น และผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการบริหารจัดการลงทุนนอกจากเก็บเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มเติมแล้ว ก็อาจนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ได้เป็นบางส่วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ เสนอให้มีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของบรรษัทบริหารจัดการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศไทย พร้อมกับต้องมีการบัญญัติบทลงโทษคณะกรรมการ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ของ TIC ให้ชัดเจนเพื่อสามารถนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาได้ในกรณีที่มีการบริหารกองทุนอันไม่โปร่งใส นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ผิดพลาด ขาดทุน หรือทำให้กองทุนเสียผลประโยชน์

‘ธีระชัย’ เริ่มดันแผนตั้งกองทุนเต็มตัว

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2554 นายธีระชัยได้ฝากการบ้านใหญ่ 4 ข้อ ให้ ธปท. ไปหาคำตอบและเสนอกลับมาภายใน 1 เดือน (ไทยรัฐ)

  1. ปัญหาภาระหนี้ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund – FIDF) ที่ ธปท. เป็นคนดูแล และมีการแบ่งส่วนรับผิดชอบโดย ธปท. ชำระเงินต้น ส่วน ก.คลัง ชำระดอกเบี้ย แต่ที่ผ่านมา ก. คลัง ชำระดอกเบี้ยไปมากแล้ว ในขณะที่เงินต้นในภาระของ ธปท. ยังชำระไปไม่เยอะนัก
  2. การออกตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ออกเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก เพราะเป็นการกู้เงินจากประชาชนแบบอ้อมๆ จึงต้องหาวิธีกำกับดูแล โดยนายธีระชัยเสนอให้โอนความรับผิดชอบให้กับ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแล
  3. การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยมอบหมายให้ ธปท. ไปพิจารณาความเหมาะสม โดย ก.คลัง เสนอให้นำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วนแยกออกมาเป็นอีกบัญชี และออกกฎหมายรับรองสถานะของกองทุน
  4. กรอบเงินเฟ้อปี 2555 โดย ธปท. และ ก.คลัง จะต้องทำให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2554

วันถัดมาคือ 1 กันยายน 2554 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบาย 4 ข้อจาก รมว. คลัง ว่าจะรับไปศึกษา แต่จะต้องหารือกับคณะผู้บริหารของ ธปท. และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อน โดยกรณีของการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ จะต้องหารือกับคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลงบดุลของ ธปท. ก่อน (ไทยรัฐ)

นอกจากความเคลื่อนไหวในฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว วันถัดมาคือ 2 กันยายน 2554 ได้มีผู้บริหารจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ 2 แห่งคือ ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เข้าพบนายธีระชัย ในโอกาสที่รับตำแหน่ง รมว.คลัง

นายธีระชัยได้เสนอประเด็นแก่ธนาคารโลกหลายอย่าง โดยขอให้ธนาคารโลกช่วยศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนความมั่งคังของประเทศไทยด้วย และชวนให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เข้ามาช่วยตั้งกองทุนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย ที่จะเริ่มในเร็วๆ นี้ (โพสต์ทูเดย์)

ผู้เชี่ยวชาญ หนุนตั้งกองทุนความมั่งคั่ง แต่ต้องกำหนดเกณฑ์ให้ชัด

ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงิน ต่างออกมาในทิศทางที่สนับสนุนการตั้งกองทุนความมั่งคั่งของประเทศไทย เพียงแต่จะต้องระมัดระวังในเรื่องกฎเกณฑ์ให้รัดกุม และไม่เปิดโอกาสให้บุคคลบางกลุ่มนำเงินกองทุน (ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาท) ไปหาประโยชน์ส่วนตัวได้

ในการสัมภาษณ์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท., อดีต รมว.คลัง และอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้ความเห็นเรื่องนี้กับ SIU ว่า

ถาม: เงินทุนสำรอง (reserve) ตอนนี้สูงมาก จะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า

ทั่วโลกเป็นแบบนี้หมด ผมพยายามติดตามดูนะ และยังไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร เหมือนกับเงินออมในครอบครัว ถ้าดูแลดีๆ ก็ไม่มีน่าจะมีปัญหาอะไร ฝั่งเอเชียก็ดูแลดี ไม่ให้เงินทุนสำรองมาทำให้ค่าเปลี่ยนจนมีปัญหาทางการค้า ความสามารถในการหารายได้ยังมี เงินสะสมยังอยู่ ผมไม่เห็นว่าการมีมากไปจะมีปัญหาอะไร

เรื่องดอลลาร์ค่าตกเป็นปัญหาของสหรัฐ ไม่ใช่ปัญหาของประเทศอื่น ต่อให้ค่าของ reserve ลดลงประเทศไทยก็ไม่ได้ ขึ้นกับประสิทธิภาพในการผลิต

ส่วนไอเดียเรื่อง Sovereign Wealth Fund เป็นไอเดียแบบของสิงคโปร์ ทำได้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ต้องออกกฎหมายให้ชัด แยกให้ชัดเจนว่าเป็นส่วนไหน ห้ามไปแตะส่วนที่เหลือ ไม่ใช่ไปดึงมาจาก reserve ตลอดเวลา

ประเด็นอยู่ที่ว่าใครทำ ต้องระวังไม่ให้หาประโยชน์เข้าตัวเอง เข้านักการเมือง เพราะเงินกองทุนมันหาประโยชน์ได้ มีเงินมากขนาดนั้น สมมติ 90,000 ล้านเหรียญ โอ้โห อำนาจมันมหาศาลเลยนะ นี่คือสิ่งที่ต้องระวัง

ด้านนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เขียนบทความ ถึงเวลาจัดตั้งกองทุน บริหารความมั่งคั่งแห่งรัฐหรือยัง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2552 และ 7 กันยายน 2552

เมื่อไรควรจะมีการตั้งกองทุนนี้ขึ้น? ในความเป็นจริงแล้วรัฐควรจะสำรวจงบดุลของประเทศว่ามีสินทรัพย์เท่าใด ทั้งนี้รวมถึงสินทรัพย์ในดิน (เช่น ก๊าซ น้ำมัน แร่) และสินทรัพย์ในอนาคต คือ รายได้จากภาษีด้วย และสำรวจหนี้สินว่ามีเท่าใด  ก่อนที่จะจัดแบ่งเป็นกลุ่มสินทรัพย์เพื่อบริหาร โดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน

มีข้อสังเกตว่า รัฐจะมองการจัดตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่งแบบเฉพาะกิจ และมักจะคิดตั้งกองทุนขึ้นมาเมื่อดุลการชำระเงินเป็นบวกมากๆ หรือเวลามีฐานะการคลังเป็นบวกมากๆ  หลายครั้งที่มีการจัดตั้งกองทุนบริหารความมั่งคั่งของรัฐ หลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่ส่งออก) เพิ่มขึ้นมาก เช่น ในช่วงทศวรรษ 1970 และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แสดงว่า รัฐจะพร้อมที่จะรับความเสี่ยงมากขึ้น เฉพาะเมื่อสินทรัพย์มีมากพอถึงจุดที่รัฐเห็นว่ามีเหลือเฟือเท่านั้น  ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า จุดไหนจึงเหมาะสม?

ผู้เขียนให้ความเห็นว่า จุดเหมาะสมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันระหว่างธนาคารกลางกับรัฐบาล โดยมีข้อควรคำนึงคือมีเงินทุนสำรองเพียงพอแล้วหรือยัง และจะนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ไหม

ประการแรก เงินทุนสำรองต้องเพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจให้หมุนเวียนไปอย่างไม่ติดขัด และสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  ต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติด้วย หากมองจากแนวคิดนี้ ก็จะดูแลให้มีอัตราส่วนของเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศระยะสั้น คือหนี้ที่ครบกำหนดในหนึ่งปี

กรณ์-คำนูณเตือน ตั้งได้แต่ต้องรอบคอบ-ผ่านสภา-ให้อิสระ ธปท. ดูแล

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายเรื่องกองทุนความมั่งคั่ง ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ดังนี้ (ข้อมูลจาก Manager)

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุนสำรองเงินตราที่มีอยู่ 3 บัญชี คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา, บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ ที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร ธปท. ก็คือ “เงินคลังหลวง” ในความหมายที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนท่านกล่าวไว้หลายครั้ง กรอบแนวคิดของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาตินี้โดยหลักคือนำสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราส่วนที่มี “มากเกินความจำเป็น” มาลงทุนให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ทุนสำรองเงินตรานี้ตามพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มีข้อจำกัดอยู่ว่าจะลงทุนได้แค่จากดอกผลที่ฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และลงทุนในหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันการเงินที่ไทยเป็นสมาชิกและมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเป็นไปเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุนสำรองเงินตราจะไม่มีความเสี่ยง แม้จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการไปลงทุนในนวัตกรรมทางการเงินและทางด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ในภาคเอกชน

“หลวงตาท่านต้องการปกป้องเงินใน “คลังหลวง” ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่ท่านรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษเท่านั้น ท่านต้องการให้บริหารเงินใน “คลังหลวง” ตามหลักพอเพียง ไม่เสี่ยง ไม่ใช่บริหารเพื่อ “ผลตอบแทนสูงสุด” สถานเดียว หลวงตาท่านต้องการให้บริหารเงินใน “คลังหลวง” อย่างคำนึงถึงลักษณะพิเศษของประเทศไทย ไม่ใช่เอาอย่างตามเยี่ยงประเทศอื่น ๆ แล้วก็อ้าง “โลกาภิวัตน์” ว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกทันประเทศอื่น สินทรัพย์ใน “คลังหลวง” นั้นสมควรเข้าใจว่า เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพ บุรุษ บุรพกษัตริย์ของสยามประเทศทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะมอบไว้ให้ชั่วลูกชั่วหลาน” นายคำนูณ ระบุ

โดยเมื่อปี 2452 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินจากท้องพระคลัง 12 ล้านบาท ให้มาตั้งเป็นทุนสำรองสำหรับรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง “เงินตราสยาม” กับ “เงินตราต่างประเทศ” ให้มั่นคง ไม่ให้ปะปนกับเงินในท้องพระคลัง เนื่องจากให้เป็นหลักประกันในการหนุนค่าเงินบาท และค้ำประกันชาติไทย จึงไม่เคยมีการนำออกมาทำธุรกรรมอื่นใดทั้งสิ้น สินทรัพย์ในคลังหลวงจึงเพิ่มพูนขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการแตะเงินในคลังหลวง จึงต้องรอบคอบอย่างถึงที่สุด อีกทั้งต้องให้สภารับรู้ ต้องให้สาธารณชนรับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจน และถ้ารัฐบาลพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่า และจะต้องเดินหน้าจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยแก้ไขพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ก็ขอให้เดินตามช่องพ.ร.บ.ที่ต้องผ่าน 2 สภา อย่าได้เลือกทางพ.ร.ก.ที่เป็นอำนาจของรัฐบาลทำไปก่อนแล้วมาขออนุมัติ 2 สภาภายหลัง ตนอยากฝากท่านนายกฯ ว่าให้สัญญาต่อสภาได้ไหมว่าจะไม่ทำในรูปพ.ร.ก.

ส่วนนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว. คลัง ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 ว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในสมัยที่ตนเป็น รมว. คลัง ก็มีการคุยกับ ธปท. มาโดยตลอด แต่ต้องมีสิ่งที่ควรพิจารณา 2 ประการ (ข้อมูลจากเว็บไซต์สุทธิชัย หยุ่น)

1.จะมีเงินทุนสำรองเพียงพอในการดำเนินกองทุนหรือไม่ และใครเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หน้าที่ที่กระทรวงการคลังหรือฝ่ายการเมืองจะพิจารณา แต่ ธปท.จะเป็นผู้พิจารณา และไม่ควรให้ ธปท.ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว

ทั้งนี้ในส่วนเงินทุนสำรองที่นำมาลงทุนได้และทุนสำรองที่ถาวร ซึ่ง ธปท.จะเป็นผู้วิเคราะห์ว่าเพียงพอที่จะนำมาลงทุนในกองทุนหรือไม่ และนักการเมืองโดยเฉพาะ รมว.คลังที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อนั้น ทำให้เกิดความสับสน จึงไม่ควรเข้ามายุ่ง ไม่เช่นนั้นแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้วควรลดดีกรีทางการเมืองลง ไม่ควรมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

2.การลงทุนของกองทุนความมั่งคั่งควรเป็นการลงทุนในต่างประเทศ เพราะหากนำมาลงทุนในประเทศ และเกิดปัญหาจะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น ส่วนจะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าต้องระวังในส่วนของค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมัน ซึ่งหากนำเงินในส่วนดังกล่าวไปลงทุนจะกระทบต่อความมั่นใจของต่างชาติจะทำให้ลดการลงทุนหรือถอนเงินออก และต้องรักษารายได้ต่างประเทศมากกว่ารายจ่าย

สิ่งที่ปรากฎวันนี้คือนักการเมืองมาบอกว่า ควรไปลงทุนที่นั่นที่นี่ เป็นการชี้นโยบายไปยัง ธปท.และเป็นความพยายามแทรกแซงการทำงานของธปท. แทรกแซงอำนาจบางอย่างให้ประชาชนสับสน ทั้งที่ควรหารือกันก่อนแล้วค่อยอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ

ก้าวต่อไปของกองทุนความมั่งคั่ง เผือกร้อนในมือของ ธปท.

ถ้านับเฉพาะแนวคิดเรื่องการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง ถือว่าเป็นการนำทรัพย์สินของประเทศมาบริหารจัดการให้งอกเงยขึ้น และมีหลายประเทศในโลกที่ประสบความสำเร็จมากแล้ว ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณา และเมื่อดูจากกระแสตอบรับในหมู่นักการเมืองและผู้กำหนดนโยบาย ความคิดเห็นออกมาค่อนข้างตรงกันว่า “ควรตั้ง”

แต่การตั้งกองทุนความมั่งคั่งถือเป็นแนวคิดใหม่ที่ฉีกกรอบคิดเดิมๆ ว่า “เงินทุนสำรองควรเก็บไว้อย่างดี” อย่างสิ้นเชิง ทำให้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอีกมากว่า แนวคิดของมันคืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อป้องกันกระแสต่อต้านจากประชาชน

งานนี้ผู้ที่จะเป็นแกนหลักในการผลักดันก็คือหน่วยงานด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปจนถึงระดับรัฐบาลคือคณะรัฐมนตรี และผ่านการออกกฎหมายตามระบอบรัฐสภา

แต่บุคคลที่คงจะต้องทำงานหนักที่สุดในฐานะผู้คุมเงินสำรองต่างประเทศโดยตรง ก็คงหนีไม่พ้น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง




Create Date : 03 กันยายน 2557
Last Update : 3 กันยายน 2557 8:52:41 น. 0 comments
Counter : 1347 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ข่าวดี
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]