The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

ถ้าเขียน

การเขียนเป็นการสื่อสาร

และเนื่องจากจขบ.เห็น นมส. เป็นไอดอล ( จขบ.มีไอดอลแปลก ๆ จำนวนมาก ) จขบ.จึงเชื่อตามท่านว่าการเขียนให้อ่านรู้เรื่องมาก่อนการเขียนถูก เพราะการสื่อสารเป็นจุดประสงค์อันดับหนึ่งของการเขียน ว่าอีกอย่างคือเป็นพวกประโยชน์นิยมหน่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ควรพูดในที่นี้ด้วยว่า "การเขียนให้ถูกต้อง" ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "การสื่อสารให้รู้เรื่อง" ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นต้องเขียนผิด ก็ควรเขียนให้ถูกเพื่อการอ่านให้รู้เรื่อง และเพื่อการสื่อสารที่รู้เรื่อง

ด้วยเหตุว่าจขบ.เชื่อว่าการเขียนเป็นการสื่อสาร จขบ.จึงเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาวุ่นวายกับการเขียนนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเราเองทั้งสิ้น เพราะความจริงก็คือ ถ้าหากเราสื่อสารไม่รู้เรื่อง ความซวยมักจะมาตกที่เราก่อนตกที่คนอื่น เหมือนกับว่าเราพูดกับใครไม่รู้เรื่อง เราก็จะไม่ได้ของที่อยากได้ เมื่อไม่ได้ของที่อยากได้ก็เกิดความด๋อยในเลเวลต่าง ๆ ขึ้นเป็นที่โศกสลดแก่ตัวเอง และเมื่อไม่อยากโศกสลดแก่ตัวเอง ก็ควรจะทำให้มันรู้เรื่อง

ดังนั้น จขบ. จึงเห็นว่าการสอนกันที่ว่าการเขียนต้องมีต้น กลาง จบ จากนั้นก็ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทองว่าต้นกลางจบ ต้นกลางจบ เป็นการสอนที่ผิด เพราะสอนให้ท่องโดยไม่เห็นอรรถประโยชน์ของสิ่งที่ท่อง คนเราถ้าไม่ได้รางวัลในการทำกิจบางอย่างแล้วก็มักจะไม่ทำ หรือถูกบีบคอให้ทำ พอเลิกบีบคอแล้วก็จะลืม จากนั้นก็จะกลับไปเหมือนเดิม

จขบ.ยังเชื่ออยู่เหมือนเดิมว่าการเขียนเป็นการสื่อสาร ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการเขียนนั้น มีเป้าประสงค์สูงสุดอยู่ที่การสื่อสารทั้งสิ้น

อย่างแรกก็คือ ปรกติถ้าเราเขียนอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ถ้าหากไม่ทุบหัวบังคับให้อ่าน มนุษยชาติก็หาอยากอ่านของเราไม่ เพราะมนุษยชาติ ( ส่วนใหญ่ ) มิได้รู้จักมักจี่เรา และไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามสื่อสารมีความจำเป็นหรือเป็นที่สนใจของเขา

ดังนั้น ถ้าจะเขียนอะไรก็ตามให้มนุษยชาติอ่าน ควรจะมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะ hook ความสนใจของคนอ่านไว้ได้แต่ต้น วิธีที่นิยมใช้กันแพร่หลายมีอยู่สองอย่าง คือ

- การรวบรวมไอเดียทั้งหมดเอาไว้ที่ย่อหน้าแรก
- การตบหัวกบาลคนอ่านตั้งแต่ต้นด้วยประโยคที่ทำให้ช็อค ประมาณว่า "พระเจ้าตายแล้ว" ( คนเขียนก็ตายแล้วเหมือนกัน )

วิธีแรกนั้นนิยมใช้กับสิ่งที่เป็น non fiction ส่วนแบบที่สองมีใช้คละกันไป แล้วแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์

ด้วยเหตุผลที่ต้อง hook ความสนใจของคนอ่านนี้เอง การเขียนทุกประเภทจึงสมควรต้องมีสิ่งที่เรียกว่า intro ถ้าใครบอกว่าไอ้คนโน้นมันขึ้นมาตรงกลางเรื่องเลยไม่มีอินโทรสักหน่อย เราจะจำแนกเป็นสองเคสคือ หนึ่ง ไอ้กลางเรื่องนั่นแหละอินโทร เพราะเป็นการ hook ให้สงสัยไงว่ามันเริ่มยังไงจบยังไง และสอง ไอ้คนนั้นเขียนหนังสือไม่เป็น

เมื่อ hook ความสนใจของคนอ่านได้แล้ว ก็ยังมีความจำเป็นที่จะ hook ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะอ่านจบ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรมาบังคับขับไสให้คนอ่านของเราทนอ่านอะไรไปจนจบได้ วิธีการ hook คนอ่านให้อ่านเรื่องของเราไปจนจบจึงทำได้อย่างเดียวก็คือ การเขียนเรื่องให้รู้เรื่อง

โครงสร้างง่าย ๆ ให้อ่านรู้เรื่องของระบบการเขียนปัจจุบัน ในที่สุดแล้วมักจะตกอยู่ที่การสเตจไอเดีย กับการแบ่งย่อหน้า คือโดยทั่วไป ย่อหน้าหนึ่งควรจะมีประเด็นเดียว หรืออย่างน้อยหากมีหลายประเด็น ควรจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน

การสเตจไอเดียในย่อหน้าแต่ละย่อหน้า ควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับย่อหน้าข้างบนและย่อหน้าข้างล่าง ความเป็นเหตุเป็นผลกัน หรือความเป็นตัวอย่างของกันและกัน จะทำให้งานเขียนเป็นมีเอกภาพ นอกจากนั้น ยังมีอรรถประโยชน์คือทำให้ต้องอ่านต่อไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าย่อหน้าบนต่อกับย่อหน้าล่าง ( ด้วยวิธีใดก็ตาม ) ถ้าอยากอ่านให้รู้เรื่องก็ต้องอ่านต่อ และถ้ามันเกี่ยวกันไปได้เรื่อย ๆ อย่างมีศิลปะพอ คนอ่านก็อ่านต่อไปจนจบโดยไม่รู้ตัว

เรื่องอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงเสมอก็คือ คนเราส่วนใหญ่นั้นมีความทรงจำแบบที่เราเอง ( ขอย้ำว่าเราเอง ) เรียกว่า red herring หมายถึงจะจำสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาได้ดีเป็นพิเศษ ประมาณว่าถ้าเอารูปให้ดูร้อยรูป แล้วตรงกลางรูปทั้งร้อยนั้นเสือกมีรูปปั้นโผล่ขึ้นมาอันนึง คนเกือบทุกคนจะจำรูปปั้นได้ทันที และจะจำรูปปั้นไปได้อีกนานกว่ารูปอื่น ๆ ทั้งร้อยรูป

ด้วยเหตุนี้ การเขียนจึงต้องมีการทิ้ง "รูปปั้น" ไว้เป็นระยะ ๆ

แต่ปัญหาก็คือ บางคนชอบคิดว่าการทิ้งรูปปั้นคือการทำตัวหนา ตัวเอน และตัวขีดเส้นใต้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นความเข้าใจที่ถูก แต่ในความเป็นจริงแล้วถูกเพียงส่วนเดียว เพราะแม้จะทำตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ แต่ถ้าหากข้อความที่สเตจขึ้นมานั้นไม่มีผลร้ายแรงพอให้จำ ไม่ช้าคนอ่านก็จะลืมเหมือนกัน ยิ่งทำหนา เอน เส้นใต้มากเท่าไร ก็ยิ่งเหมือนช่วยคนอ่านปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เห็นมากขึ้นเท่านั้น และในที่สุดแล้ว คนอ่านก็จะพาลชินกับเครื่องหมายต่าง ๆ ที่เราพยายามตะบี้ตะบันใส่เข้าไปเพื่อให้จำ เมื่อชินแล้ว ต่อให้อยากจำแค่ไหนก็จะลืม

วิธีการใส่เครื่องหมาย จึงจำเป็นต้องมีสิปปะเฉพาะตัว บางคนอาจจะใช้วิธีตัดย่อหน้าสั้น หรือบางคนอาจจะใช้ภาษาที่ทำให้จำได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องลองผิดลองถูกกันดู

แต่วิธีใส่ red herring ที่ดีที่สุด และง่ายที่สุดก็คือ การยัดมันเอาไว้ท้ายบทความ ด้วยคำพูดที่กระชับ และง่าย เพราะปรกติแล้ว คนเรามักจะชอบอ่านต้นกับจบ ส่วนตรงกลางละผ่าน ๆ การใส่อะไรไว้ที่ท้ายบทความ มักจะได้ประโยชน์ในการขีดเส้นใต้ไปด้วยในตัว และช่วยให้จำได้ดีขึ้น

เพราะอย่างนี้ถึงต้องมีสรุป เพราะมันง่าย และง่ายที่สุดในโลกยิ่งกว่าทำอะไรอื่นทั้งปวง

ป.ล. ความหมายของ red herring จริง ๆ นั้น หมายถึงสิ่งที่ดึงความสนใจไปจากสิ่งหลัก ( มาจากความคิดที่ว่าปลาเฮอร์ริ่งรมควันจะมีกลิ่นแรง ทำให้ไม่สามารถตามกลิ่นที่อยากตามได้ ) ดังนั้นจึงขอย้ำและย้ำอีกทีว่าการใช้คำนี้ในบทความทั้งหมดเป็นความหมายของเราคนเดียว ผิดจากความถูกต้องของภาษาอังกฤษ

เรามีภาษาของเราคนเดียวหลายอัน แต่ต้องระวังอย่าใช้ตาม เพราะถ้าไปใช้จริง ๆ จะผิดได้




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:39:25 น.
Counter : 400 Pageviews.  

ศัพท์หลายวันคำ: motif

motif หมายถึง...อืมม จะอธิบายว่ายังไงดี เอาเป็นว่ามันเป็น "ชิ้นส่วน" อย่างหนึ่งของเรื่องแต่งก็แล้วกัน และเป็นชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับ "ธีม" ดังนั้นบางคนจึงอธิบายว่ามันเป็น thematic ( เกี่ยวข้องกับธีม )

ธีมหมายถึง "แก่นเรื่อง" แก่นเรื่องหมายถึงความคิดรวบยอดของเรื่อง ซึ่งทำให้เรื่องทั้งเรื่องเป็นเอกภาพ เช่น ธีมเรื่องว่า "ความรักเท่านั้นจะเยียวยา" ส่วนเรื่องจะเป็นเรื่องตาพระเอกตบจูบกับนางเอกแสนดี หรือจะเป็นเรื่องความจงรักภักดีของน้องหมา หรือจะเป็นเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็แล้วแต่ เอาแค่มันเน้นการที่ความรักสามารถเยียวยารักษาทุกอย่างได้เป็นพอ

ส่วนโมถีบนั้นจะว่าเป็นส่วนหนึ่งของธีมก็ได้ แต่จะว่าทับซ้อนกับธีมก็ได้ เพราะโมถีบเป็นธีมที่ถูกจัดประเภทไว้แล้ว

อย่างเช่น โมถีบ "การผจญภัย" ( saga motif ) ซึ่งหมายความว่าเรื่องนี้หลักใหญ่ หรืออย่างน้อยก็ชิ้นส่วนที่ "มีความสำคัญ" บางชิ้น มันจะต้องอยู่ที่การผจญภัยแหง ๆ ส่วนผจญภัยแล้วได้เจออะไร ก็อาจจะแล้วแต่แก่นเรื่องอีกที เช่น "ชีวิตคือการผจญภัย" หรือ "การผจญภัยเจ๋งตอนผจญภัย ไม่ใช่ที่จุดหมาย" อะไรแบบนี้

โมถีบมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร ฉาก พฤติกรรม เช่น "โมถีบฮีโร่" นั้นมักจะพูดถึงการที่มีตัวละครตัวใดตัวหนึ่งมีลักษณะอันเด่นเด้งและกู้โลกมากกว่าตัวละครอื่น ๆ และเรื่องก็จะไปพันรอบ ๆ ตัวละครตัวนี้ ว่ามันเด่นเด้งขึ้นมายังไง ต้องพิสูจน์ตัวเองยังไง และกู้โลกได้ยังไง

โมถีบเป็นคำเรียกประเภทขององค์ประกอบในแก่นเรื่อง แต่บางทีแม้เรื่องที่มีโมถีบใกล้เคียงกัน ( เช่น ผจญภัยเหมือนกัน ) ก็อาจจะต่างกันฟ้ากับเหวได้

บางทีบางคนก็แต่งเรื่องตามลักษณะโมถีบทุกอย่าง เช่น เป็นฮีโร่แล้วก็เด้งและกู้โลก แต่บางคนก็แต่งล้อโมถีบ คือดึงโมถีบเข้ามาให้ตัวเอกเด่นเด้งกู้โลก แต่แกล้งเขียนตอนท้ายให้ในที่สุดมันก็ไปรวมหัวกับตัวโกงแทน และระเบิดโลกบึ้มหายไป

จะทวนโมถีบหรือจะตามโมถีบ ก็สร้างเป็นเรื่องดีได้ทั้งนั้น

โมถีบเดียวกัน จะเป็นเรื่องดีลึกซึ้งกินใจ หรือจะเป็นเรื่องไม่ดีก็ได้ทั้งนั้น

โมถีบที่เราชอบโมถีบหนึ่งคือ "โมถีบคนบ้า" เป็นการใช้ตัวละครคนบ้าในเรื่อง

โมถีบคนบ้าของเรา หมายถึงการใช้คนบ้าเพื่อการเปิดโปงอะไรบางอย่างซึ่งคนดี ๆ เห็นว่ามันเป็นเรื่อง "ปรกติ"

แต่พอยัดคนบ้าเข้าไป เรื่องปรกติก็กลับถูกสงสัยว่ามันปรกติแค่ไหนหว่า

บางทีคนบ้าก็เห็นโลกชัดเจนกว่าคนดี และบางทีคนที่นึกว่าตัวเองบ้าอาจจะดีก็ได้ แต่เพราะดันตกไปอยู่ท่ามกลางคนบ้าเลยนึกว่าตัวบ้า ( เหมือนเรื่อง "บันทึกคนบ้า" ของหลู่ซวิ่น )

บางทีคนบ้าก็บ้าและบ้า และไม่รู้ว่าตัวเองบ้าแต่ก็บ้าต่อไป แต่ระหว่างที่บ้าก็ตบหน้าคนอ่านไปหลายผัวะ

บางทีเอาคนบ้าจริง ๆ ไปเทียบกับคนกึ่งบ้ากึ่งดี และทำเหมือนจะดี ก็รู้สึกว่าหลุดโลกไปเลยมันกว่าเป็นกอง




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:36:41 น.
Counter : 5559 Pageviews.  

ว่าด้วยภาษา "วิบัติ" ในอินเตอร์เน็ต ( บทความเก่า ๒ )

พูดถึงไอเดียที่ได้จากหนังสือวิชาการเล่มหนึ่ง

###

ว่าด้วยภาษาในอินเตอร์เน็ต

ตอนนี้มีหนังสือวางรออยู่เล่มหนึ่งชื่อ The Psychology of The Inter
net ยืมมาจากหอสมุดกลาง อ่านไปได้สองบท แต่ยังไม่ได้อ่าน
ต่อเพราะไม่ว่าง

มันอาจจะเป็นวิชาการไปสักหน่อย แต่ก็ทำให้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง
ที่ไม่เคยคิดมาก่อน

อย่างเช่นภาษาในอินเตอร์เน็ต

เราบ่นกันอยู่เรื่อย ๆ ว่าภาษาที่เกิดขึ้นนี้ช่างวิบัติ ถ้าหากใช้ในห้อง
แชทก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้าสมมุติว่ามาใช้ในบอร์ด บางคนเห็นก็ขัด
ตา ( เราก็ขัดตา แต่ความขัดตาเป็นความรู้สึกส่วนบุคคล ดังนั้น
ก่อนจะพูดถึงความรู้สึกส่วนตัวก็ควรจะพูดถึงสมมุติฐานก่อน )

เรื่องนี้มันตั้งอยู่ฐานการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล

ที่จริงแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ในการติดต่อระหว่าง
บุคคล เราจะใช้เวลาประมาณสามวินาทีแรก รวบรวมข้อมูลเกี่ยว
กับบุคคลที่เราติดต่อด้วย ในสามวินาที เราจะจัดเขาเข้า "ประเภท"
ที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น มันอาจจะเป็นประเภทอย่างหยาบ ๆ เพราะ
ยังไม่มีข้อมูลมาก แต่ถ้ามีโอกาสได้รู้จักไปเรื่อย ๆ ข้อมูลจะละเอียด
ขึ้น และมีความชัดเจนขึ้น

ทำไมเราถึงต้องจัดคนเข้าประเภท

ก็เพราะเราเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กว่า การติดต่อสื่อสารกับคน "แต่ละ
แบบ" นั้นต้องใช้กลวิธี "ที่แตกต่างกัน" ดังนั้นเพื่อให้เกิดการติด
ต่อสื่อสารที่ "ถูกต้อง" เราจึงค่อย ๆ รวบรวมข้อมูลชนิดของบุค
คล แล้วบันทึกวิธีการโต้ตอบที่ถูก

เราจะพบว่าวิธีการที่เราคุยกับคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แม้ว่าตัว
เราจะยังเป็นตัวเรา แต่คำที่ใช้ มุขที่ใช้ น้ำเสียงที่ใช้ ไม่เหมือน
กัน จำนวนก็คนที่คุย สภาพแวดล้อมที่คุย ทุกอย่างล้วนแต่เสริม
เข้าไปในรูปแบบการสื่อสารอันซับซ้อนของมนุษย์ทั้งนั้น และถึง
แม้จะทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นระบบที่เกิดจากการ
คาดเดาฝ่ายตรงข้ามและประมวลสภาพแวดล้อมแท้ ๆ ทีเดียว

ดังนั้นสามวินาทีแรกที่เห็นหน้า เราจึงต้องตัดสินใจว่าจะจัดคนคน
นี้เข้าประเภทไหน เพื่อจะได้สร้างรูปแบบการโต้ตอบที่ถูกต้อง อย่าง
ไรก็ตาม ไม่แน่ว่าประเภทที่จัดจะถูกเสมอไป อย่างเช่นเราเห็นคน
หน้าคล้ายเพื่อนเรา เราอาจจะนึกว่าไอ้นี่นิสัยเหมือนเพื่อนฉันแน่ ๆ
แต่บ่อยครั้งจะพบว่าไม่ใช่

ถึงแม้ว่าเราจะไม่พอใจที่คนอื่น ๆ มาจัดประเภทเรา ไม่ชอบให้ใคร
คิดว่าฉันเหมือนคนนั้นคนนี้ เพราะฉันเป็นฉันต่างหาก แต่สิ่งเหล่า
นี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พอถึงตัวเราเอง เราก็จะทำเหมือนกัน
การรู้จักคนต้องใช้เวลา

ในอินเตอร์เน็ต สามวินาทีแรกนี้หายไป

ประการแรก เพราะไม่เห็นหน้า
ประการที่สอง เพราะไม่ได้ยินน้ำเสียง
ประการที่สาม เพราะไม่เห็นกิริยาท่าทาง

ดังนั้น ในชั่วสามวินาทีแรกของเน็ต เราจึงมีข้อมูลน้อยมากที่จะ
ประมวลว่าบุคคลที่เราคุยอยู่เป็นอย่างไร

สิ่งที่พบบ่อยมากคือเราจะคิดว่าคนที่คุยด้วยนั้น "เย็นชา" กว่าที่เป็นจริง

คำเปล่าที่ขาดน้ำเสียงและกิริยาท่าทางประกอบมักจะเย็นชา วันนี้
ดูสามก๊ก มีคนมาเจรจา คำที่เจรจานั้นแรงมาก แต่คนพูดแกหัว
เราะตลอด น้ำหนักก็เบาลงไปมาก

ถ้าพูดคำเดียวกันในเน็ต ซึ่งปราศจากทั้งเสียงหัวเราะ สีหน้า และ
กิริยาท่าทางจะต้องถูกฆ่าตายแน่ ๆ

ทีนี้จะมีคนถามว่า จดหมายล่ะ ไม่เห็นมีใครคิดว่าจดหมาย "เย็นชา"
เลย จดหมายก็ขาดทั้งสามสิ่งนั้นเหมือนกัน

ต้องบอกการว่ารูปแบบการสื่อสารทางเน็ตกับทางจดหมาย ไม่เหมือน
กัน

เน็ตนั้นรูปแบบการสื่อสารเกือบจะเท่ากับการพูด เพราะระยะเวลา
สั้น อาจจะคล้ายกับการพูดทางโทรศัพท์ ใกล้เคียงกับโทรศัพท์
หรือการพูดในที่สาธารณะมากกว่าจดหมาย

ลองคิดว่าคุยทางโทรศัพท์ ถ้าทักแล้ว คนคุยด้วยเงียบหายไปสัก
สิบวินาที เราจะเริ่มเดา

การเดาแบบนี้การติดต่อทางจดหมายไม่มี จดหมายเป็นรูปแบบที่
รอได้

เราจะเดาว่าเขาโกรธเราหรือเปล่า หรือกระทั่งเดาว่าคนคนนี้ไม่สุ
ภาพ ฉันทักแล้วทำไมมันไม่ทักตอบ จากนั้นคนใจร้อนหน่อยก็ถีบ
คนที่ตอบช้านั้นลงประเภท "ไม่มีมารยาท" ไป

เวลาคุย msn ถ้าทักไปแล้วสักพักคนไม่ตอบ เราจะเริ่มเดาเหมือน
กัน

ไม่อยู่หน้าคอมหรือ ไม่สนใจฉันหรือ เกลียดฉันหรือ โกรธฉันหรือ
ฯลฯ

ความเข้าใจผิดทางเน็ตจึงมีมาก

แต่ขณะเดียวกัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่ง และสามารถ
ปรับตัวได้โดยสัญชาตญาณ เมื่อรู้ตัวว่าการพูดทางเน็ตนั้นขาดน้ำ
เสียง สีหน้า กิริยาท่าทาง ก็หาวิธีชดเชย

เพราะแบบนี้ สัญลักษณ์เช่น :) ^^ ^^'' -.- หรือแม้แต่ 5555 จึง
เกิดขึ้นมา ( ที่จริงเราก็ไม่ได้หัวเราะก๊าก ๆ ขนาดนั้นเสมอไปใช่ไหม )
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อแสดง "สีหน้า" ของเรา ลดความเย็นชาใน
ข้อความลง

และภาษาก็เหมือนกัน บางครั้งเราจะพบว่าคำที่เขียนในเน็ตนั้น "เหมือน
ภาษาพูด" ภาษาพูดเปลี่ยนแปลงดีดดิ้นไปเท่าไร คำในเน็ตก็ยิ่ง
จะตามไปเท่านั้น

ที่เป็นแบบนี้เพราะเราพยายามจะสร้าง "น้ำเสียง" และ "ความไม่จริง
จังเกินไปนัก" ลงในคำเปล่าของการสื่อสารในเน็ต

ถามว่าทำไมจดหมายไม่เห็นต้องทำ

ตอบว่าจดหมายนั้น "บังคับ" คนอ่านให้อ่านอยู่แล้ว คนอ่านต้อง
อ่านยาว ๆ ความยาวของถ้อยคำย่อมเปิดช่องให้รู้จักคนเขียนมาก
ยิ่งขึ้น อารมณ์ก็สามารถ "บิวด์" ขึ้นมาได้

แต่คำในเน็ตนั้นสั้น ยาวมากคนจะไม่อ่าน ตอบไม่ว่องไว คนจะว่า
เชื่องช้าไม่ทันใจ

บางคนตอบช้ามาก ๆ อีกฝ่ายจะเดาว่าลังเล ไม่สุภาพ ด้วยซ้ำ

ดังนั้นขนบการเขียนในอินเตอร์เน็ต จึงไปใกล้เคียงกับสำเนียงพูด
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความหมายที่หลากหลายขึ้นในการสะกด
คำ คำว่า "ทรยศ" และ "ทอราโย้ดดดด" ให้ความรู้สึกต่างกัน ( เพราะ
เรารู้ในน้ำเสียง ) ดังนั้น จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ภาษาอินเตอร์เน็ต
วิบัติ" ขึ้นมา

เราไม่ได้สนับสนุนภาษาวิบัติ

แต่การกระทำของเราทุกคนต่างขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

บางครั้งเราต้องเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องเกิดขึ้น "ได้อย่างไร" ไม่
ใช่สักแต่ไปว่ากล่าว เพราะธรรมชาติมนุษย์ ยิ่งถูกว่ากล่าวจะยิ่ง
มีใจต่อต้าน

ถ้าหากเข้าใจที่ต้นเหตุแล้ว ปัญหาก็จะมีทางคลี่คลายไปได้มากกว่า

คำวิบัติทางเน็ตนั้นไม่ดีแน่ เพราะบางคนรู้จักคำวิบัติก่อนแล้วจึงรู้
คำถูก ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่รู้จักปรับตัว สักแต่ใช้ขนบเดิม ๆ ซึ่ง
เคยใช้ได้ในห้องแชทหรือ msn หรือแม้แต่เว็บบอร์ดที่มีคนรู้จักสนิท
กับสถานที่อื่น ๆ

ซึ่งแน่นอนว่าต้องถูกสังคม "ลงโทษ" ( ไม่สนใจ ดุว่า จัดประเภท
ให้เป็น "เด็ก" )

ใครที่ใช้ขนบผิดสถานที่ จะไม่ได้รับการยอมรับ นี่เป็นกฎสำคัญ
เหมือนเวลาอยู่ในห้องแชทยังพูดภาษาเป็นทางการเป๊ะ ๆ ก็จะถูก
คนหาว่าเย็นชาได้เช่นกัน




 

Create Date : 25 เมษายน 2549    
Last Update : 25 เมษายน 2549 9:47:40 น.
Counter : 942 Pageviews.  

ว่าด้วยหนังฮีโร่ ( บทความเก่า ๑ )

บทวิเคราะห์หนังสือเรื่องอิงสง ( Hero ) เขียนมานานแต่ปางก่อน

###

เรื่องฮีโร่เป็นเรื่องของมือสังหาร ซึ่งมีความประสงค์สูงสุดที่จะฆ่าจ้าว
ครองรัฐฉิน ( ฉินอ๋อง ) เหตุที่จะฆ่าเป็นเพราะในเวลาดังกล่าวประเทศจีน
แตกออกเป็นรัฐต่าง ๆ จำนวนมาก แต่ละรัฐมีสภาพเป็นเหมือนประเทศ
เอกเทศ มีวัฒนธรรม ภาษาและตัวอักษรของตนอย่างชัดเจน แต่จ้าว
ครองรัฐฉินต้องการจะรวมทุกประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งย่อมหมาย
ความว่าจะทำให้รัฐเหล่านั้น "สิ้นชาติ" สูญเสียวัฒนธรรมที่มีมานั่นเอง

อันที่จริงเรื่องมือสังหารที่จะคิดจะฆ่าฉินอ๋อง ( ต่อมาคือจิ๋นซีฮ่องเต้ ) นั้น
มีคนทำมามากแล้ว ที่นิยมกันคือมือสังหารชื่อจิงเคอ ซึ่งเป็นคนมีชื่อ
บันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่มือสังหารในเรื่องฮีโร่ไม่ได้ชื่อจิงเคอ เป็น
คนไม่มีชื่อ อีกประการหนึ่ง เรื่องที่เล่าในหนังฮีโร่ก็ไม่ใช่เรื่องของมือสัง
หารฆ่าคน แต่เป็นเรื่องของมุมมอง

หนังเริ่มต้นเมื่อมือสังหารที่เรียกตนเองว่า อู๋หมิง ( ไม่มีชื่อ ) ได้เข้าพบ
ฉินอ๋องเพื่อรับรางวัลที่ได้ฆ่ามือสังหารอีกสามคนซึ่งฉินอ๋องเคยตั้งค่าหัว
ไว้ ฉินอ๋องถามเขาว่าฆ่ามือสังหารทั้งสามนั้นอย่างไร ครั้นแล้วเรื่อง
ในหนังฮีโร่ก็วนเวียนอยู่ที่การเล่าเรื่องชะตากรรมของมือสังหารและอู๋หมิง
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ค่อย ๆ เรียงซ้อนกันโดยเริ่มที่เรื่องโกหกสมบูรณ์แบบซึ่ง
อู๋หมิงเล่าให้ฉินอ๋องฟัง ครั้นแล้วฉินอ๋องก็โต้ตอบด้วยความคิดของตน
จนความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดค่อย ๆ กระจ่างขึ้นในใจคนดูทีละน้อย กระ
ทั่งในที่สุด "ความจริงที่จริงแท้" ก็ปรากฏ

หนังเรื่องนี้ นอกจากเรื่องที่เล่าซ้ำกันหลายรอบด้วยมุมมองของบุคคล
ต่าง ๆ แล้ว ยังใช้สีสัญลักษณ์มากเป็นพิเศษ เมื่อดูแล้วจึงเกิดความ
รู้สึกว่า "ความคิดก็มีสี" ขึ้นมา

ในตอนแรก เมื่ออู๋หมิงมาพบฉินอ๋อง ใจเขามีความครุ่นแค้นเกลียดชัง
เขาอยากฆ่าฉินอ๋องที่ทำลายแคว้นของเขา มีทั้งความโกรธ ความเกลียด
ความหวาดกลัวอยู่ในจิตใจ ดังนั้นเรื่องที่อู๋หมิงเล่าจึงเป็นเรื่องที่เต็มไป
ด้วยกิเลสตัณหาและเป็นสีแดงฉาน เป็นเรื่องที่ทุกคนในเรื่องมีอารมณ์
รุนแรง ทั้งยังเป็นอารมณ์ด้านลบอันประกอบด้วยความโกรธเกลียด โลภ
หลงและความโง่เขลาเบาปัญหา เมื่ออู๋หมิงเล่าเรื่อง เขาเห็นภาพของ
กองทัพฉินที่ยิงธนูสีดำสนิทเข้าสู่สำนักสอนคัดลายมือของแคว้นจ้าวว่า
เป็นเสมือนแคว้นฉินที่กำลังจะทำลายวัฒนธรรมของแคว้นจ้าวให้ย่อยยับ
ใจเขาคิดว่าต้องสู้ ต้องต่อต้าน ดังนั้นแม้ว่าธนูนับพันดอกจะพุ่งมา
ตัวเขาในเรื่องก็ออกไปปัดป้อง และคนในสำนักคัดลายมือนั้นก็ยังคง
คัดลายมือต่อไปไม่เลิกรา

ทว่าฉินอ๋องจับความผิดพลาดในเรื่องเล่าของอู๋หมิงได้ และชี้ช่องว่า
แท้จริงแล้วอู๋หมิงไม่ได้ฆ่ามือสังหารทั้งสาม ทว่ากลับร่วมมือกับมือสัง
หารเหล่านั้น ทำเป็นว่าฆ่า และมาขอรางวัลกับฉินอ๋อง เพื่อจะได้มีโอ
กาสเข้าถึงตัวฉินอ๋องต่างหาก ครั้นแล้วฉินอ๋องก็เล่าเรื่องราวในความ
คิดของตนให้อู๋หมิงฟัง

ความคิดของฉินอ๋องเป็นสีฟ้าเหมือนน้ำแข็ง ตัวละครทุกตัวในเรื่องเล่า
ของอู๋หมิงซึ่งเคยปล่อยเสื้อผ้าผมเผ้ารุงรัง ทั้งยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณ
หาเปลี่ยนมาใส่เสื้อสีฟ้า ทำผมแน่นหนาเรียบร้อย ซึ่งอาจเทียบได้กับ
ความเยือกเย็น สติอันดีเลิศ และความคิดอันเป็นระเบียบของฉินอ๋อง
ฉินอ๋องวิเคราะห์ "เรื่องจริง" ที่เกิดขึ้นด้วยใบหน้าเยือกเย็น ดังนั้นตัว
ละครในตอนเรื่องเล่าของฉินอ๋องจึงเต็มไปด้วยความเยือกเย็น ความ
รักและความชังของตัวละครเป็นไปอย่างอุดมคติและสวยงาม เหมือนน้ำ
แข็ง เหมือนน้ำนิ่งสีฟ้า

อู๋หมิงยอมรับว่าเรื่องที่ฉินอ๋องเล่ามีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง ทว่าก็มิได้ถูก
ต้องหมดสิ้น เพราะฉินอ๋องไม่เข้าใจตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องเล่านั้น ที่
ชื่อว่า ฉานเจี้ยน ( กระบี่หัก ) ฉินอ๋องถามว่าตนไม่เข้าใจอย่างไร อู๋หมิง
จึงได้เล่าความคิดของฉานเจี้ยนให้ฉินอ๋องฟัง

ความคิดของฉานเจี้ยนเป็นสีเขียว เป็นสีเดียวกับธรรมชาติและสรรพ
สิ่งทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะฉานเจี้ยน "เข้าใจ" ถึงความจริงของโลกและละ
วางแล้ว เขาบอกอู๋หมิงว่าไม่ควรสังหารฉินอ๋อง เพราะการกระทำเช่น
นั้นเท่ากับสูญเสียประโยชน์บางอย่างซึ่งจำเป็นแก่แผ่นดินจีน

ครั้นแล้วความคิดทั้งหลายก็หมดไป ทุกอย่างกลายเป็นสีขาว เพราะ
ความจริงนั้นเป็นสีขาว ส่วนสีเกิดเพียงในความคิดของคน สีเป็นเพียง
ตัวแทนมุมมอง ซึ่งอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ เป็นสิ่งที่ถูกดัดไปตามความ
ปรารถนาของแต่ละบุคคล เรื่องราวหลังจากนี้ล้วนแต่ดำเนินไปในรูปของ
"สีขาว" ซึ่งเป็นการถอยห่างจากความคิดของตัวละครในเรื่อง ปล่อยให้
เราเป็นเพียงผู้ชม และให้เราใส่ความคิดลงในสีขาวนั้นด้วยตัวเราเอง

นอกจากนั้น หนังก็ยังเสนอ "สีดำ" ขึ้นในความจริงสีขาวด้วย สีดำเป็น
สีชุดเครื่องแบบของแคว้นฉิน ฉินอ๋องอาจมีความคิดสีฟ้า แต่ตัวเขาใส่
เครื่องแบบดำ อู๋หมิงก็ใส่เครื่องแบบดำ และข้าราชบริพารตลอดจน
ทหารและกระทั่งอาวุธของแคว้นฉินก็เป็นสีดำ ข้าราชบริพารเหล่านั้นบอก
ฉินอ๋อง เขาร้องซ้ำซากว่าให้ฉินอ๋องฆ่าอู๋หมิงเสีย เสียงร้องของพวกเขา
กระแทกเหมือนคลื่นราวกับไม่ใช่ความจริง ราวกับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภาย
ในตัวฉินอ๋องเอง ราวกับเป็นคำร้องเรียกของกฏหมายและระเบียบต่าง ๆ
ที่ฉินอ๋องตั้งขึ้นเป็นเกณฑ์สำหรับปกครองแคว้นนั่นเอง

กฏระเบียบต่าง ๆ เป็นสีดำ

บางทีหนังอาจจะอยากบอกเราว่าความจริงเป็นสีขาว ทว่ากฏระเบียบ
เป็นสีดำ และในที่สุดแล้ว สีดำก็จะกลืนกินทุกสีเข้าไปภายใน สีดำย่อม
กลืนสีอื่น ๆ และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวมันเอง ฉินอ๋องปรารถนา
จะสร้างสังคมที่ราบคาบและเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นจึงต้องใช้สีดำเป็นเครื่อง
มือ

เมื่อพูดถึงสีดำนี้แล้ว ก็ให้นึกถึงเรื่องที่อ่านเจอในมติชนเมื่อหลายวันก่อน
เขาพูดถึงจางอี้โหมวที่เป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ เขาว่าเมื่อก่อนจาวอี้โหมว
มีแต่จะทำหนังต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์และเปิดโปงความชั่วร้ายของสัง
คมจีนในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม แต่บางทีเมื่อทำหนังเรื่องนี้ จางอี้โหมว
คงจะถูกซื้อตัวกระมัง เพราะเนื้อหนังที่ยกย่องการ "รวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง"
เพื่อ "กำจัดทุกข์เข็ญจากสงครามระหว่างรัฐ" นั้นดูเหมือนจะเป็นการยก
ย่องพรรคคอมมิวนิสต์ที่ควบคุมประเทศจีนทั้งประเทศให้ราบคาบอยู่ในกฎ
ระเบียบเดียวเหลือเกิน

แต่ในความคิดเห็นของเรา เราอยากจะตีความไปอีกอย่างหนึ่ง เราคิด
สังคมทุกสังคมก็เป็นสีดำทั้งนั้นเท่า ๆ กับที่สังคมทุกสังคมต้องมีกฏระ
เบียบของตนเอง ถ้าหากบุคคลไม่เคารพกฏระเบียบบางประการของ
สังคม เขาก็อาจล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และสร้างความเสียหายขึ้น
เราคิดว่ากฏถูกสร้างเพื่อให้ทุกคนมีบางอย่างเหมือนกัน และเพื่อให้สัง
คมสงบสุข

แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าหากพิจารณาตัวฉินอ๋องเอง เขาใส่เสื้อสีดำ แต่
ความคิดของเขาเป็นสีฟ้า ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจตีความได้ว่ากฏที่หนัง
สนับสนุนนั้นไม่ได้กินเข้าไปถึงแก่นไส้ของคนแต่ละคน อิสระทางความ
คิดยังคงเป็นไปได้ในสังคม และทำให้มนุษย์แต่ละคนแยกขาดจากคน
อื่น ๆ เป็นของที่ควรมีอยู่ ทั้งยังยอมรับได้แม้แต่ในสังคมสีดำ

เราอยากคิดว่าจางอี้โหมวอาจจะเริ่มเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เหมือนอย่างฉานเจี้ยน
แล้ว บางทีสีสันต่าง ๆ ฉูดฉาดมากมาย บางทีสีแดงที่แดงฉานอาจจะ
ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น บางทีการที่แต่ละสังคมมีกฏระเบียบของตน ดำ
เนินไปตามครรลองของตน บางทีการที่คนในสังคมมีความสุขอาจจะมี
ค่ายิ่งกว่าการร้องตะโกนต่อต้านไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อร้องไปแล้ว ก็ไม่
ทราบว่าผลที่ได้รับคืออะไร ความสะใจที่ได้เปิดโปง หรือว่าการชำระ
ความแค้น และเมื่อเปิดโปงชำระความแค้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก
นั้นคืออะไร ...เป็นเหมือนเฟยเซี่ย ( หิมะเหิน ) ในเรื่องที่กว่าจะเข้าใจก็
เมื่อสายไปแล้วใช่หรือไม่

...หรือว่าในขณะนี้เรากำลังเขียนบทความนี้ เราเพียงแต่ใส่สีให้จางอี้
โหมวโดยที่เราเองไม่รู้ตัว เราใส่สีให้โลกอย่างที่เราชอบ เหมือนอย่าง
คนเขียนมติชนใส่สีอย่างที่เขาชอบ บางทีจางอี้โหมวอาจจะแค่อยากบอก
ว่า โลกนี้แท้จริงแล้วเป็นสีขาว คนเราต่างหากที่สร้างสีอื่น ๆ ขึ้นมาใน
ใจของตน เราอาจใส่สีให้คนอย่างฉินอ๋อง ซึ่งรู้กันดีจากประวัติศาสตร์
แล้วว่าแท้จริงเป็นคนโหดเหี้ยม ให้กลายเป็นคนดีและเต็มไปด้วยอุดม
การณ์ได้ ความจริงสีขาว แต่คนเราป้ายสีให้มันด้วยความเป็นมนุษย์
ของเรา

บางทีเรื่องต่าง ๆ ในโลกอาจจะเป็นแค่เรื่องของมุมมองเท่านั้นเอง




 

Create Date : 25 เมษายน 2549    
Last Update : 25 เมษายน 2549 9:45:20 น.
Counter : 653 Pageviews.  

ว่าด้วยสไตล์

บทความเก่า ไปขุดเจอเลยเอามารีไซเคิลซะหน่อย

###

อืมม์...บางทีบทความใหม่นี้มันอาจจะไม่เกี่ยวกับการเขียนโดยตรง แต่เราคิดว่ามาพูดกันแบบนี้ดีกว่า เพราะในที่สุดเรื่องเอกลักษณ์หรือสไตล์มันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล และมีปัจจัยอีกนับร้อยที่จะทำให้งานเขียนของใครไปอยู่ที่ไหน

เราจึงอยากจะพูดอะไรที่มันเข้าใจได้อย่างกลาง ๆ ไม่ต้องคิดเรื่องชื่อเสียง เรื่องงานของใครเป็นอย่างไร อยากจะให้แต่ละคนนึกถึงตัวเอง และถนนสายที่ตัวเองเดินไปมากกว่า

...

มีใครเคยอ่านเรื่อง "วัยกระเตาะตึ่งตึงตึ๊ง" บ้าง ( พูดชื่อเรื่องนี้ทีไรแล้วกระดากปากทุกที - -'' ) มันเป็นการ์ตูน ชื่อเรื่องเก่าจากญี่ปุ่นคือ "เปียโนของไค" หรือ "ป่าแห่งเปียโน"

เรื่องนี้เล่าถึงเด็กผู้ชายสองคน พระเอกชื่อไค เป็นอัจฉริยะด้านเปียโน แต่สภาพแวดล้อมหลายอย่างไม่อำนวย เช่น แม่เป็นโสเภณี บ้านก็ไม่มี ต้องอยู่ในชั้นสองของซ่องที่นอกเมือง ( แต่ไคเป็นคนไม่คิดมาก )

อีกคนชื่อชูเฮย์ ( จำไม่ได้ถนัดว่าชื่อนี้หรือเปล่า ถ้าผิดก็ขอโทษด้วย ) มีความสามารถด้านเปียโนสูงมาก และสภาพแวดล้อมดีมาก บ้านรวย พ่อก็เป็นนักเปียโนมีชื่ออยู่แล้ว

สองคนนี้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แต่มีคนหนึ่งอิจฉาอีกคนหนึ่ง

คือ ชูเฮย์อิจฉาไค ชูเฮย์กลัวไค ชูเฮย์พยายาม "หนี" ไค ( เราต้องเข้าใจนะว่าดวงใจมนุษย์มันซับซ้อน ไอ้การอิจฉา กลัว และหนี มันไม่ได้แปลว่าเราจะเกลียดเค้าหมดใจ ลองนึกถึงเพื่อนของเราเองดูก็ได้ มันคงมีบางครั้งแหละที่เรารู้สึกเกลียดเพื่อนที่เรารักที่สุดเหมือนกัน )

ถามว่าทำไม ทั้งที่ชูเฮย์มีโอกาสดีกว่าทุกอย่าง

เรื่องของเรื่องก็คือ ชูเฮย์นั้นฝึกเปียโนเสียจนกระทั่งเล่นแบบ "สมบูรณ์พร้อม ไม่ผิดสักโน้ต" ได้ ( มันไม่ใช่เรื่องปรกติของการเล่นดนตรีนะ ) คือมาถึงที่สุดยอดแล้ว

แต่ปัญหาก็คือ ในดนตรีที่ชูเฮย์เล่น บางอย่างมันขาดหายไป

...

จะบอกว่าชูเฮย์ไม่มี "สไตล์" มันก็บอกได้ไม่ถนัด เพราะว่า "ความดีพร้อม" นั้นก็จัดเป็นสไตล์อย่างหนึ่ง กระทั่งไคเองก็ใช่ว่าจะบรรลุถึงขั้นไม่ผิดเลยได้ แต่เวลาที่ไคเล่น ไคมีพลังอย่างล้นเหลือที่จะทำให้คนอื่นสนุก ทำให้คนอื่นรู้สึกตาม ชูเฮย์ไม่มี

เวลาที่ชูเฮย์เล่น ทุกคนจะรู้สึกว่า "เก่งจัง" แต่ไม่มีใคร "รู้สึก" อะไรเลย

เปียโนของชูเฮย์ "ว่างเปล่า"

ต่อให้เปียโนของชูเฮย์ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ถูกตามขนบ งดงามไพเราะ ต่อให้ในการแข่งขัน ชูเฮย์ชนะเลิศส่วนไคตกรอบแรก

แต่สิ่งที่ยังคงต้องยอมรับก็คือ คนฟังนั้นถูกกระตุ้นด้วยเสียงเปียโนของไค ทว่าเมื่อชูเฮย์เล่น ทุกคนก็แค่คิดว่า "เก่งจัง" "สมบูรณ์แบบจนเหลือเชื่อ"

และที่ร้ายกว่านั้นคือ "เล่นได้เหมือนเครื่องจักรเลย"

...

เราเสพงานศิลปะเพราะอะไร

เพราะว่ามัน "โดน" ใช่มั้ย เพราะว่าในแง่ใดแง่หนึ่ง มันกระทบลงไปในจิตใจของเรา และทำให้เรารู้สึกพอใจ

เราตามงานของศิลปินคนหนึ่งตลอดเพราะอะไร

เพราะอะไรบางอย่างที่เขาสื่อมัน "โดน" เราใช่มั้ย

และคำตอบก็เป็นอย่างเดียวกันสำหรับศิลปินที่เราเกลียดและไม่ตาม

ก็เพราะมีอะไรบางอย่างในตัวเค้าที่มัน "ไม่โดน" เรา

( แต่ขอให้จำไว้ว่าอะไรที่เราชอบ คนอื่นก็มีสิทธิ์ไม่ชอบ และอะไรที่เราไม่ชอบ คนอื่นก็มีสิทธิ์ชอบ ดังนั้นเรามีสิทธิ์บอกว่าเราไม่ชอบเพราะอะไร แต่ไม่มีสิทธิ์ไปบอกให้คนอื่นเลิกชอบของสิ่งนั้นเหมือนเรา )

สมมุติว่ามาต่อที่ชูเฮย์

เปียโนเพอร์เฟคมันก็คือเปียโนเพอร์เฟค

แต่ถามจริง ๆ ในแง่ศิลปะ ฟังเปียโนเพอร์เฟคไปแล้วได้อะไร

มันสัมผัสตรงไหนในจิตใจ

คำตอบคือไม่ มันไม่ได้สัมผัสเลย

ชูเฮย์ผิดหรือที่เป็นอย่างนั้น คำตอบก็คือไม่อีก

ที่จริงก็คือ ชูเฮย์ฝึกแทบตายกว่าจะทำอย่างนั้นได้ ฝึกจนชนิดที่ลมหายใจเข้าออกเป็นเปียโน...เปียโน...เปียโน

แต่ว่าเมื่อชูเฮย์มองไค เขาก็รู้ว่าเขาทำอย่างไคไม่ได้ มันไม่ใช่ความผิด แต่มันเป็นความรู้สึกที่แย่...แย่มาก ๆ ทั้งที่พยายามแทบตาย ซ้อมดนตรีไม่ได้หยุดหย่อน จนเพอร์เฟค แต่มันไม่มีวันเป็นเหมือนไค ไม่มีทางไปจนตลอดกาล

( และไคก็ซ้อมมากมายมหาศาลเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าฝีมือตกมาจากสวรรค์ )

พอรู้ว่าตัวเองไม่ได้ทางสู้ได้ ชูเฮย์เลยไปเมืองนอก คิดว่าตัวเองจะไปถึงระดับโลก จะหนีจากไคไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องคิดอีกว่าที่ใดที่หนึ่งในญี่ปุ่น มีคนแบบไคอยู่ คนที่มีสไตล์อันโดดเด่น คนที่เป็นอัจฉริยะ คนที่ตัวเองไม่มีวันเอื้อมถึงได้

แต่ว่าต่อให้หนีไปไกลถึงเมืองนอก ในทีสุดชูเฮย์ก็ยังฝันร้ายถึงเปียโนของไค ฝันถึงความว่างเปล่าในตัวเอง

ฝันว่าตัวเองไร้ความสามารถ

...

แต่ว่าชูเฮย์ไร้ความสามารถหรือ

ก็เปล่า

ชูเฮย์จำเป็นต้องหนีไคหรือ ก็ไม่ใช่อีก ชูเฮย์ไม่จำเป็นต้องหนีใคร สิ่งที่ชูเฮย์ควรทำไม่ใช่การหนีหรือการไล่ตามใคร เพราะที่จริงแล้ว เอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น ถึงอย่างไรมันก็ไม่มีวันไปถึงตลอดกาล เราก็เป็นได้แค่ตัวเราเอง ถึงเลียนแบบเหมือนแทบตาย เราก็ไม่มีวันกลายเป็นเขาได้

ที่จริง ถ้าหากชูเฮย์อยากจะพอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น อยากจะยืนอยู่ด้วยตัวเอง อยากจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า และไม่ต้องวิ่งหนีไค ไม่ต้องคอยคิดว่าไคจะอยู่ที่ไหน แล้วตัวเองอยู่ที่ไหน

ชูเฮย์ต้องค้นหาตัวเองให้พบ

อะไรคือสิ่งที่เราควรจะหาให้พบ

ไม่หรอก มันบ่งบอกออกมาอย่างชัดเจนไม่ได้ สมมุติว่าเป็นเราคนเขียนหนังสือ สิ่งที่เราตามหามันอาจจะแฝงอยู่ในภาษา อยู่ในวิธีการ อยู่ในธีมที่แสดงออก หรืออาจจะอยู่ในอะไรอย่างอื่น มันบอกชัดเจนไม่ได้ ให้ใครชี้ให้เห็นก็ไม่ได้

แต่เราบอกได้ว่ามันอยู่ในตัวเรา

มีนักเขียนลูกครึ่งจีนอเมริกัน ชื่อเอมี่ ตัน เธอเขียนแต่เรื่องความสัมพันธ์แม่ลูกที่แม่เป็นจีน และลูกเป็นลูกครึ่งจีนอเมริกัน ปัญหาที่เกิดจากช่องว่างทางวัฒนธรรม ทางวัย กี่เรื่อง ๆ ของเอมี่ ตันก็เป็นเรื่องอย่างนี้ แต่กี่เรื่อง ๆ คนอ่านก็ซื้อ ซื้อมาอ่านแล้วก็ร้องไห้ ร้องไห้แล้วก็ซื้อเล่มใหม่อีก

นี่คือการค้นพบตัวเอง

เราไม่ใช่คนอื่น ไม่มีวันกลายเป็นคนอื่นไปได้ ชูเฮย์จะไม่มีวันกลายเป็นไค ต่อให้อยากเปลี่ยนแค่ไหน ชูเฮย์ก็ได้แต่พบว่าตัวเองเป็น "ต้นไม้ในเรือนกระจก" ที่พ่อแม่รักมาก เป็นคุณหนูแสนรวย และมีความเป็นอยู่อันเพียบพร้อม เกิดมาไม่เคยลำบาก มือไม่เคยแม้แต่จะด้าน

แต่การเป็นอย่างนั้นมันไม่ได้ผิด ไม่ได้ผิดพอ ๆ กับคนที่ต้องทนทุกข์มากมายในชีวิต

คนเราทุกคนค้นหาตัวเองจากสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น และค้นพบวิธีการที่ถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมาอย่างดีที่สุดได้

ที่เราพูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเขียนเรื่องที่ใกล้เคียงกับชีวิตของเรา เราอยากบอกว่ามันไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว และสไตล์หรือทัศนคติของมนุษย์ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แต่ว่าทันทีที่เราค้นพบตัวเอง เรารู้ว่าเราเป็นใคร อยากจะบอกอะไรให้โลกรู้ และด้วยวิธีการไหน ตอนนั้นนั่นละ เราจะพบที่ทางของตัวเอง พบพื้นดินอันมั่นคงที่เรายืนได้

ตอนนั้นนั่นละ ที่เราจะพบความสงบในตัวเอง พบว่าไม่ต้องไปขันแข่งกับหรอก ไม่ต้องหนีใครหรืออิจฉาใคร เพียงแต่ทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ที่ตัวเองคิดว่าใช่ ไปจนดีที่สุดจนสุดกำลังปัญญาของเราเองก็พอ




 

Create Date : 08 มีนาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:21:25 น.
Counter : 445 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.