The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

สมองสองซีกกับความเป็นจริงของนักเขียน: ฝึกสมองซีกขวา(1)

เมื่อกี้นี้ได้คุยกับพี่วัสส์ และพี่วัสส์ให้ความเห็นมาว่า ที่จริงแล้วก็มีคนที่เกิดมาเขียนได้และเกิดมาเขียนไม่ได้จริง ๆ เหมือนมีคนที่เกิดมาแล้วจะเป็นนักกีฬาได้ กับไม่ได้ เพราะการพัฒนาด้านสมองหรือร่างกายไม่เหมือนกัน คือถึงแม้ว่าฝึกกีฬาแล้ว ก็พัฒนาได้เพียงถึงระดับหนึ่ง ไปต่อไม่ได้อีก จะด้วยเหตุว่าร่างกายหรือสมองไม่เอื้อ หรือไม่มีความสนใจพอจะอดทนทำไปให้สุดก็แล้วแต่

พอพี่วัสส์บอกแบบนี้แล้ว ก็เห็นด้วย ดังนั้นจึงอยากจะบอกจุดยืนที่เราเขียนบทความนี้เอาไว้ก่อนว่า สำหรับเรา เราเชื่อว่า คนอยากเขียนควรจะได้เขียน ส่วนคนไม่อยากเขียน เราก็ไม่ได้คิดว่าเขาต้องเขียน ดังนั้นเวลาเราพูดถึงเรื่องความสามารถ เรื่องพรสวรรค์ เขาจึงคิดอยู่แต่ในขอบเขตของคนที่อยากเขียนเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงคนที่ไม่อยากเขียน

ส่วนเรื่องคนเขียนแล้วจะพัฒนาไปได้เพียงระดับหนึ่ง อันนี้อาจจะต้องคุยกันอีกที ตอนนี้กำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Mastery ซึ่งน่าสนใจมาก แต่ยังอ่านไม่จบจึงยังไม่ควรขยายต่อ เขียนเท่าที่รู้มาแล้วก่อนน่าจะดีกว่า

มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากอธิบายให้ฟัง คือการเขียนบทความเหล่านี้ก็เป็นการทดลองของเราเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงไม่ได้เขียนโดยมีข้อจำกัดแน่นอน และไม่ได้เขียนโดยคิดว่าจะต้องให้ได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ คนอ่านบางคนอาจจะรออยู่ว่าเมื่อไรยายนี่จะเขียนถึงเรื่องที่อยากอ่านเสียที แต่ยายนี่จนแล้วจนรอดก็ไม่เขียน ที่จริงคือเราไปตามจังหวะของเราเองอยู่ นึกถึงเรื่องอะไรที่ควรบอกก็บอกออกมาเลย ดังนั้นถ้ารออยู่แล้วไม่เขียนเสียที ให้บอกได้เลยว่าอยากคุยกันเรื่องอะไร เราอาจจะตอบไม่ได้ก็ได้ (แต่จะพยายามไปค้นหรือไปคิดไตร่ตรองดู) หรือคำตอบของเราอาจจะไม่ถูกใจก็ได้ แต่อยากให้ถือว่าคุยกัน เพราะเราไม่ได้รู้เรื่องทุกเรื่อง อย่างที่มีคนชวนคุยมาเรื่อย ๆ นั้น เราดีใจมาก เพราะชวนให้มีอะไรคิดดี ที่คุณยาคูลท์ชวนคุยมาบทความที่แล้ว ถึงจะตอบไปแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังคิดอยู่ เราคิดว่ายิ่งมีคนชวนคุยมุมของตัวเองจะยิ่งดี เพราะอาจจะทำให้เห็นอะไร ๆ มากขึ้น ส่วนเห็นอะไร ๆ มากขึ้นแล้วจะมีประโยชน์หรือไม่อย่างไรนั้น เราก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะประโยชน์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่การที่เราได้เขียน และได้คุยกับทุกคนนี้ ทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่างกระจ่างขึ้น ซึ่งเรารู้สึกดี

กำลังคิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อหัวข้อที่เขียนใหม่ แต่อาจจะทำเมื่อมีการจัดระเบียบทีหลัง ตอนนี้จะทำอย่างอิสระไปเรื่อย ๆ ก่อน

มีคนถามว่า เรื่องฝึกสมองซีกซ้ายนั้นพอรู้แล้ว แต่ฝึกสมองซีกขวาจะให้ทำอย่างไร อันนี้มีหลายฉบับ ซึ่งคงต้องเอาไปปรับใช้กันเอง จะบอกที่เรารู้มา และอธิบายสั้น ๆ ให้เข้าใจ แต่ถ้าอยากรู้มากขึ้นให้ไปเสิร์ชชื่อคนที่เราบอกไว้ หรือไม่ก็หลังไมค์มาหา จะให้รายชื่อหนังสือจริง ๆ ไปอ่านเพิ่มต่อ

คนที่เราอ่านเจอ และจำได้เป็นคนแรก ๆ ว่าพูดถึงการเขียนกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างนั้น คือ วิลเลียม ซาโรยัน (William Saroyan) ในหนังสือของซาโรยัน เป็นเรื่องของเขากับลูกชาย (ชื่อเรื่อง Papa You Are Crazy) ลูกถามว่าเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร ซาโรยันเอาเม็ดถั่วออกมาให้ห้าเม็ด บอกให้ไปนั่งดูเม็ดถั่วจนกว่าจะเห็นว่าแต่ละเม็ดมันเป็น individual มันแตกต่างกัน กระบวนการนี้อาจจะดูไร้สาระมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันคือการฝึกประสาทสัมผัสให้คมชัด ถ้าหากมองเม็ดถั่วให้ต่างกันได้แล้ว ต่อไปเดินไปท่ามกลางฝูงชนก็จะเห็นความต่างเหมือนกัน มองธรรมชาติก็จะเห็นความต่าง จะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่คนทั่วไปละเลย คนที่สัมผัสถึงสิ่งเหล่านั้นได้ เวลาเขียนหนังสือก็จะเขียนได้เป็นจริง จะเขียนได้ชัดเจน

สิ่งที่ซาโรยันทำนี้ แม้เขาไม่รู้ตัว แต่ที่จริงแล้วเป็นการฝึกสมองซีกขวา โดยให้สมองซีกขวามานำสมองซีกซ้าย และฐานสมองบ้าง สมองซีกซ้ายจะเป็นตัวบันทึกเหตุการณ์และกฎเกณฑ์เดิม ๆ ไว้ ส่วนฐานสมองเป็นสมองส่วนที่พัฒนาเป็นส่วนแรกในการวิวัฒนาการ เป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน ตรงฐานสมองนี้ใช้คิดเกือบไม่ได้ มีแต่สัญชาติญาณ รู้แต่ว่าต้องมีชีวิตรอด เราจะเห็นว่าสัตว์เลื้อยคลานกินลูกตัวเองได้ไม่รู้สึกอะไร แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะไม่กินลูกตัวเองถ้าไม่จำเป็น ถ้าแมวที่บ้านทำลูกหายไป มันจะออกร้องตาม เศร้าโศกให้เห็นจริง ๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพัฒนาสมองชั้นกลางขึ้นมาแล้ว มีความรู้สึกแล้ว

ปรกติมนุษย์เราจะใช้ฐานสมองเวลาทำงานรูทีน เหมือนระบบออโต้ไพล็อต คือทำ ๆ ไปไม่ได้คิดอะไรเลย ถ้าเห็นใครทำงานแบบซังตาย หรือทำแบบไม่ใช้ความคิด นั่นแสดงว่าเขากำลังใช้ฐานสมองกับสมองซีกซ้าย (จดจำรูปแบบเดิม) ร่วมกันอยู่ ถ้าเขียนหนังสือด้วยฐานสมองกับสมองซีกซ้าย เวลาบรรยาย หรือเวลาเขียนบทสนทนา จะไม่ได้ใช้ประสบการณ์จริง แต่จะรูปแบบที่จำได้ต่อ ๆ กันมา (stock) หรือที่ทำแล้วเคยได้ผลดี พวกบทบรรยายที่ใช้จนเฝือ หรือเรื่องที่เขียนตามพล็อตจนเฝือนั้น (หมายถึงเขียนไปโดยไม่ได้คิดพิจารณา หรือไม่มีตัวตนของคนเขียนอยู่เลย...เราอธิบายให้เห็นชัดเจนไม่ถนัด แต่ถ้าลองนึกดูจากประสบการณ์การอ่านของตัวเอง บางทีอาจจะเห็นภาพกว่า) แสดงว่าใช้สมองซีกซ้ายกับฐานสมองเขียนอยู่ ถ้าเขียนอย่างนี้แล้ว ก็เขียนได้ ไม่ผิดกติกาอะไร แต่งานที่ออกมาจะไม่ "สด" เพราะเพียงแต่เขียนตามระบบออโต้ไพล็อตเท่านั้นเอง

อีกอย่างที่อยากบอกคือ แม้คนใช้สมองซีกขวามาก บางทีก็ยังใช้ระบบออโต้ไพล็อตในบางจุดเช่นเดียวกัน ไม่ได้ใช้สมองซีกขวาตลอดเวลา อันนี้ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น และไม่ได้บอกด้วยว่าเรื่องที่เขียนด้วยระบบออโต้ไพล็อตไม่ดี อ่านไม่ได้ เพียงแต่ถ้าไม่เอาสมองซีกขวาออกมาเลย เรื่องมันก็จะเป็นอย่างนั้น มันจะไม่มีวิญญาณ ไม่มีความสดอะไรเลย

พรุ่งนี้จะพูดถึงวิธีของจูเลีย คาเมรอน, นาตาลี โกลด์เบิร์ก, โดโรธีอา แบรนเด้ และแบรนด้า ยูแลนด์ (ที่จริงยังมีอีกคนหนึ่ง แต่หนังสือยังมาไม่ถึง จึงขอติดไว้ก่อน)

ในจำนวนคนที่บอกมานี้ มีของนาตาลี โกลด์เบิร์ก ที่แปลเป็นไทยแล้ว ชื่อเรื่อง "เชื่อในหัวใจ เขียนให้ถึงแก่น" ใครอยากอ่านไปหามาได้ แต่ถ้าถามเรา เราคิดว่านาตาลี โกลด์เบิร์กยังไม่คลิกเราเท่าโดโรธีอา แบรนเด้ กับแบรนด้า ยูแลนด์ แต่หนังสือแต่ละเล่มจะคลิกคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใครอ่านโกลด์เบิร์กแล้วถูกใจ เราก็ดีใจเหมือนกัน




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2551 2:33:59 น.
Counter : 1473 Pageviews.  

สมองสองซีกกับความเป็นจริงของนักเขียน: (นอกรอบ เขียนตอบคอมเมนต์)

ที่มีคนตอบบทความตอนที่แล้วนั้น เห็นว่าน่าสนใจเลยคิดว่าน่าจะเอามาลองคุยต่อกันดู

อย่างแรก คือมีความเห็นว่าคนที่เป็นนักเขียน จะต้องเป็นนักเขียน หมายความว่าเหมือนเกิดใต้ดาวนักเขียน (คงคล้าย ๆ ดาวโจรที่องคุลีมาลเกิด) ยังไงก็จะต้องเป็นนักเขียน ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นนักเขียน สุดท้ายจะไม่เป็นนักเขียน

อีกความเห็นหนึ่งคือ คนที่เป็นนักเขียนนั้นมีหลายระดับ แม้เขียนเรื่องเดียวกัน ก็มีนักเขียนที่แย่ ที่ดี ที่ยอดเยี่ยม ที่เป็นอัจฉริยะ อันนี้เป็นความเห็นของสตีเฟน คิง

ที่จริงเรื่องเกิดมาเป็นนักเขียนนั้น ในจุดหนึ่งเราก็เชื่ออยู่เหมือนกัน เพราะคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนไม่ได้เกิดมาอยากเขียนหนังสือ แต่อยากจะว่ายน้ำ จะให้มันกลายเป็นนักเขียนกระไรได้ แต่เราก็คิดด้วยว่า มีบางคนที่อยากเขียนหนังสือบ้าง (หรืออยากวาดรูป หรืออยากไปเป็นช่างอ๊อกเหล็ก อะไรก็ได้ทั้งนั้น) และเรามีความเชื่อส่วนตัวว่าคนเราอยากทำอะไร ชาติหนึ่งต้องได้ลองทำอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ว่าผัดไปเรื่อย ๆ บอกว่าจะทำตอนอายุหกสิบ เพราะจริง ๆ แล้วอาจจะตายตอนอายุห้าสิบเก้า หรืออาจจะตายพรุ่งนี้ แบบเดินออกไปเจอรถขนหมูชนตาย อะไรแบบนี้ก็ได้

เพราะอย่างนั้น เราจึง ไม่มี ความเชื่อว่าคนเขียนหนังสือได้คือคนเขียนหนังสือได้ ส่วนคนเขียนหนังสือไม่ได้ ก็คือคนเขียนหนังสือไม่ได้ และไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรามีความเชื่อว่าใครอยากเขียนคนนั้นต้องเขียน และต้องได้เขียน บางทีอาจจะเห็นว่าไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย กะหยิบปากกาขึ้นมา หรือเปิดคอม แต่บางที สำหรับบางคน การเริ่มเขียนนั้นยากมากจริง ๆ เป็นต้นว่าไม่มีเวลาเลย ต้องทำการต่าง ๆ ประมาณร้อยยี่สิบล้านอย่าง หรือบางคนมาเรียนอักษรเพราะอยากเป็นนักเขียน แต่พอเรียนวรรณกรรมเข้าไปมาก ๆ ก็เริ่มกลัว คิดว่าตัวเองเขียนไม่ดีอย่างเขา สู้อย่าผลิตขยะออกมาในโลกนี้ดีกว่า แล้วก็เลยล้มเลิกความคิดจะเขียนไป (คนอย่างนี้มีจริง ๆ เห็นมาเยอะแล้ว)

ถ้าถามว่า ถ้าไอ้คนนั้นจะผลิตขยะ แล้วให้มันผลิตทำไม เราก็นึกถึงตอนเรียนวิชาหนึ่ง โปรเฟสเซอร์บอกว่าจากการสำรวจ คนเขียนบทความวิชาการ (journal)มักบอกว่า "เดี๋ยวนี้มีบทความวิชาการเยอะเกินไปแล้ว" และ "บทความวิชาการเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรดี ๆ เลย" แต่พอถามว่าที่ตัวเองเขียนเป็นอย่างไร กลับตอบว่า "ฉันไม่ได้เขียนงานเยอะเกินไป" และ "งานของฉันเป็นงานที่ดี" ทุกคนตอบอย่างนี้เหมือนกันหมด แล้วไอ้ที่เยอะเกินไปกับไอ้ที่ไม่มีอะไรดี ๆ นั้นมันอยู่ตรงไหนกัน

ใคร ๆ ก็อยากทำอะไรเพื่อตัวเองทั้งนั้น ใคร ๆ ก็อยากเห็นว่าที่ตัวเองทำเป็นเรื่องดีทั้งนั้น อันนี้ไม่ใช่เรื่องของเขียนหรือไม่เขียนแล้ว แต่เป็นเรื่องของระบบกลั่นกรอง ถ้าหากไม่อยากให้มี "ขยะ" ออกมา เราก็ต้องการระบบบรรณาธิการที่แข็งแรง

ส่วนเรื่องระดับของการเขียนนั้น เราคิดว่าเรื่องมันมีอยู่ว่า มีคนที่เป็นเอตทัคคะในการเขียนเรื่องหินบนดาวอังคาร และมีคนที่เขียนเรื่องหินบนดาวอังคารได้แต่พอประมาณจริง แต่คำถามคือ คนที่เขียนได้แต่พอประมาณนั้น เขาเขียนเรื่องนี้เพราะอยากเขียนจริงหรือ แบบว่ามันบ้าเป็นโอตาคุเรื่องหินบนดาวอังคารซึมอยู่ในสายเลือดขนาดไหน หรือเขียนเรื่องหินบนดาวอังคารเพียงเพราะคิดว่าเออ บ.ก.อยากได้ (บ.ก.โลกไหนก็ไม่รู้) เออ คนอ่านอยากได้

เรามีความเห็นว่าคนที่ไม่ได้เขียนออกมาจากความปรารถนาของตัวเองจริง ๆ แต่เขียนเพราะคิดว่าคนอื่นอยากได้ จะเขียนได้เป็นประมาณ คือเขาอาจจะเขียนเก่งก็ได้ อาจจะดีกว่าคนอื่น ๆ ใน genre นั้นด้วยซ้ำก็ได้ แต่เขาจะรู้ตัวเองว่าเขาเขียนได้แต่เป็นประมาณ

ที่พูดอย่างนี้ ไม่ได้บอกเลยว่าจะต้องติสต์แตกแล้วเขียนแต่เรื่องที่ตัวเองชอบเท่านั้น เพื่ออุดมการณ์อะไรก็ไม่รู้ เราคิดว่าคนเราอยู่ในโลก ก็มีเวลาที่ต้องเลือก ก็มีเวลาที่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเอง ถ้ามีลูกสอง หมาสาม แมวอีกสี่ จะให้เขียนแต่เรื่องหินบนดาวอังคารแล้วปล่อยให้ลูกและหมาและแมว (และตัวเอง) กินแกลบกระไรได้

แต่บางที เราคิดว่าการค้นหาว่าตัวเองชอบอะไรจริง ๆ อยากเขียนอะไรจริง ๆ อาจจะเป็นเรื่องดีกว่าที่ตัวเองคิดไว้ เพราะเราคิดว่าคนที่เข้าไปถึงแก่นข้างในนั้นสำเร็จแล้ว มักจะเขียนเรื่องได้ดี มักจะมีเอกลักษณ์ มักจะไม่เหมือนใครอื่นอีกเลย (เพราะเราทุกคนเป็นปัจเจก) ความมีเอกลักษณ์นั้นเป็นความดีอย่างยิ่งในโลกศิลปะ (แม้ในโลกอื่นนอกโลกศิลปะก็ใช่) เมื่อเป็นเอกลักษณ์แล้ว ไม่มีคำว่าพอใช้ ไม่มีคำว่าดี ไม่มีคำว่าอัจฉริยะอีก มีแต่คำว่า นี่คือตัวเธอ นี่คือแบบของเธอเอง ไม่มีใครแทนที่เธอได้อีกแล้ว ดังนั้นบางทีบางเวลา ถ้าว่างจากการเลี้ยงลูกและหมาและแมวและตัวเองแล้ว ก็น่าจะลองคิดถึงตัวเองดูบ้างว่าจริง ๆ ชอบอะไรกันแน่

ที่บอกว่าเป็นเอกลักษณ์นั้น บางทีไม่ใช่เฉพาะเรื่องหินบนดาวอังคารเท่านั้น แต่อาจจะหมายความว่าเมื่อรู้แล้วว่าตัวเอง "ชอบอะไร" และ "เป็นอย่างไร" เราจะรู้ว่าเราจะขยายขอบเขตของเราต่อไปอย่างไหนได้ด้วย รู้ว่าจะทำอย่างไรกับตัวเอง รู้ว่าควรไปทางไหน ทำอะไร แม้ไม่เขียนเรื่องหินบนดาวอังคาร ไปเขียนเรื่องหินบนดาวพุธแทน ตัวเราที่เป็นตัวเรานั้นก็ไม่ได้หายไป

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าควรหาให้เจอว่าตัวชอบเขียนอะไรนั้น ไม่ได้หมายความว่าชอบแล้วจะตะบี้ตะบันเขียนไป โดยไม่ฝึกสมองซีกซ้ายของตัวเอง (รวมทั้งสมองซีกขวาด้วย) เหมือนคนชอบคุณทมยันตีมาก ก็เขียนเหมือนที่คุณทมยันตีเขียนทุกประการ แบบนี้เรียกว่ายังเป็นไข่ของนักเขียนอยู่ ยังไม่เป็นนักเขียน ต้องเริ่มเรียนด้วยการทำตามคนอื่นก่อน พัฒนาความสามารถขึ้นแล้ว มีเอกลักษณ์ของตัวเองแล้ว (อย่างน้อยในระดับหนึ่ง) จึงเรียกว่าเป็นนักเขียนได้

เรามีความเห็นว่าเป็นไข่ก็คือเป็นไข่ ต่อให้ไข่สวยฟองโต ก็เป็นไข่อยู่ดี ดังนั้นเราจึงไม่เรียกไข่ว่าลูกเจี๊ยบจนกว่ามันจะแตกออกมาจริง ๆ ทุกคนในโลกนี้เริ่มทำอะไร ต้องเป็นไข่มาก่อนทั้งนั้น ถ้าไม่ยอมเป็นไข่ อยากเป็นไก่ไว ๆ อาจถูกหลอกเอาไปทำไข่ต้ม (ให้คนอื่นขาย) และอาจไม่มีวันแตกเป็นลูกเจี๊ยบจริง ๆ แต่ถ้าไม่อยากเป็นลูกเจี๊ยบเสียแต่แรกไม่ใช่ความผิดเหมือนกัน เราก็ไม่เห็นเคยอยากเป็นลูกเจี๊ยบวิชาสกี หรือลูกเจี๊ยบวิชาบาสเก็ตบอล คนอีกมากมายก็ไม่ได้อยากเป็นลูกเจี๊ยบเขียนหนังสือเหมือนกัน

เรื่องที่พูดทั้งหมดวันนี้ อยากให้อ่านแล้วลองคิดตามด้วย บางทีอ่านไปแล้วอาจจะมีข้อแย้งอย่างนั้นอย่างนี้ได้มาก เป็นต้นว่า อะไรคือการวัดว่าเป็นนักเขียนแล้วดี ได้ตีพิมพ์หรือ ถ้าให้เขียนอ่านคนเดียวแล้วซุกไว้อย่างนั้น จะเขียนหนังสือไปทำไม หรืออะไรอื่น ๆ อีกหลายข้อ แต่ถ้าเราถามอย่างนี้ เราก็อยากให้ถามใจตัวเองเหมือนกันว่าสำหรับตัวเอง มาตรฐานของการเขียนหนังสือแล้วดีนั้นคืออะไร เราเป็นคนอย่างนี้จึงเห็นโลกอย่างนี้ คนอื่นย่อมเห็นโลกไม่เหมือนกัน อาจจะคิดว่ามัวแต่ค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเองจะไม่ทันกิน ตายไปก็ไม่มีคนรู้ สู้เขียนหนังสือออกมาให้โลกเห็นดีกว่า แม้เขียนได้เป็นประมาณก็ไม่เป็นไร ยังถือว่าประสบความสำเร็จอยู่

แต่ที่จริง บางทีกระบวนการหาเอกลักษณ์ กับกระบวนการได้ตีพิมพ์นั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนั่นเอง ฝรั่งเขาเรียกว่า ground breaking หมายความว่านักเขียนคนนี้เขียนดี ได้พิมพ์มานานแล้ว แต่เรื่องที่ออกมาใหม่นั้นดีเป็นพิเศษ ชัดเจน กระจ่าง เจ๋งยิ่งกว่าเรื่องอื่น ๆ ที่ออกมา นั่นหมายความว่านักเขียนได้สัมผัสอะไรบางอย่างแล้ว แต่จะสัมผัสได้ตลอดอาชีพการงาน จะเขียนทุกเรื่องหลังจากนั้นออกมาดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือจะไม่มีทางไปถึงขั้นนั้นอีก ก็ไม่มีใครบอกได้เหมือนกัน เราเพียงแต่จะอยากจะบอกว่า บางทีอะไร ๆ มันก็ไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างที่คิด และอะไร ๆ ก็ไม่ได้ขาวหรือดำ มันเทา ๆ ไปคิดให้มันตรง มันขาว มันดำ มันจะลำบากใจตัวเอง

มีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าลองคิดแล้วหาคำตอบให้ตัวเองอีกมาก เราเองก็คงคิดของเราเหมือนกัน เพราะเราก็หาอยู่ ไม่ใช่ว่าจบแล้ว เพราะถ้าจบแค่นี้แล้ว ก็แลดูชีวิตที่เหลือไม่มีความหมายอะไร ท่าทางจะน่าเบื่อ ๆ อย่างไรชอบกล

วันนี้มัวแต่สนใจความเห็น เพราะเป็นความเห็นที่น่าสนใจมาก ๆ ทำให้ต้องนั่งคิดอยู่นาน จึงไม่ได้พูดเรื่องสมองต่อ แต่ก็ดีเหมือนกัน เพราะประเด็นวันนี้ต่อไปถึงเรื่องสมองกับเอกลักษณ์และการพัฒนาเอกลักษณ์ (ถึงคนมีเอกลักษณ์แล้วก็แห้งขอดได้เหมือนกัน) ได้ ซึ่งจะเขียนถึงในโอกาสต่อไป




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2551 3:28:35 น.
Counter : 1347 Pageviews.  

สมองสองซีกกับความเป็นจริงของนักเขียน: ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ(2)

มีเรื่องที่เราเห็นแปลกอยู่เรื่องหนึ่ง คือ คนมักจะเข้าใจว่านักเขียนนั้น "ติสต์" (ในดีกรีแก่อ่อนต่างกัน) ซึ่งหมายความว่าลงเป็นนักเขียนขึ้นมาแล้ว อาจจะทำอะไรผิดมนุษย์มนา เช่นจู่ ๆ ก็ไปร้องไห้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและบอกว่าพระอาทิตย์สวยจังได้ โดยคนเห็นว่าเป็นความเพี้ยนเฉย ๆ ปล่อยมันไป

เรื่องติสต์นี้ เห็นว่าเป็นความเข้าใจที่แพร่ระบาดกันอยู่ ทำให้คนทั่วไปแทบมองว่าคนเขียนหนังสือ (หรือศิลปินอื่น ๆ) เป็นสิ่งมีชีวิตอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง เช่น ถ้าคนเขียนหนังสือร้องไห้ริมฝั่งเจ้าพระยาดังบอกไว้ข้างต้น แล้วเกิดมีคนเป็นห่วงไปถามว่า เป็นอะไร ร้องไห้ทำไม คนเขียนหนังสืออาจจะบอกว่าหนูเป็นนักเขียนซึ่งกลายเป็นอธิบายไปในตัวทันที (อ่อ มันเป็นนักเขียนเลยเพี้ยน) แต่ถ้าคนที่ร้องไห้นั้นบอกว่าหนูทำงานแบงค์ คนถามอาจจะถามต่อไป ได้ความว่ายายคนร้องไห้นี้อกหักรักคุดหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

ทีนี้มันมีคำถามอยู่ว่า คนทำงานแบงค์ร้องไห้เพราะพระอาทิตย์ตกแล้วสวย และคนเขียนหนังสือร้องไห้เพราะอกหักไม่ได้หรือ (ยิ่งเมื่อคิดว่า Kenneth Grahame ผู้เขียนเรื่อง The Wind in The Willows เป็นพนักงานแบงค์ยิ่งรู้สึกพิกล) ราวกับว่าคนทำแบงค์กับคนเขียนหนังสือนั้นเป็นคนละเผ่าพันธุ์กัน และรีแอคชั่นกับโลกไม่เหมือนกัน จริงอยู่ บางทีมันอาจมีอะไรต่างกันบ้างก็ได้ เพราะเราทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกันเลย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะมีคุณสมบัติอีกอย่างอยู่ในตัวไม่ได้เลย บางทีที่ไม่มีนั้นอาจจะเพราะคิดว่าตัวเองไม่มี ก็เลยไม่มีไปจริง ๆ ก็ได้ เช่น พนักงานแบงค์เห็นพระอาทิตย์สวยจริง ๆ แต่เนื่องจากเป็นพนักงานแบงค์แล้วควรเป็นคน sensible จึงไม่ได้ระเบิดน้ำตาออกมา (ส่วนอีนักเขียนก็อาจจะเว่อร์คิดว่าตัวเองเป็นนักเขียนแล้วต้องติสต์แตก จริง ๆ ไม่ได้เห็นสวยขนาดหรอก แต่ขอรีแอคชั่นมาก ๆ ไว้ก่อน)

เรื่องคนเขียนหนังสือติสต์แตกนั้น เป็นไปได้ส่วนหนึ่ง ว่าเป็นเพราะคนเขียนใช้งานสมองซีกขวาของตัว ซึ่งทำให้อ่อนไหวกับสภาพแวดล้อม ขี้สงสัย ช่างสังเกต และคิดอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน (เป็น "เด็ก") ดังนั้นการแสดงออกจึงดูเป็น "เด็ก" ไปด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจอย่างนั้น และไม่ได้มองว่าคนเขียนกำลังทำงานกับสมองส่วนสร้างสรรค์ของตน คือแทนที่จะมองว่า "ความติสต์" เป็นผลมาจากการใช้สมองซีกขวา ซึ่งเป็นปัจจัยของการเป็นศิลปินอย่างแท้จริง กลับคิดว่า "ความติสต์" เป็นปัจจัย แทนที่จะเป็นผล คือเป็นนักเขียนแล้วจึงติสต์ ไม่ใช่เป็นนักเขียนแล้วจึงใช้สมองซีกขวามากแล้วจึงแสดงออกแบบที่คนทั่วไปเรียกว่าติสต์

ด้วยเหตุแห่งความเข้าใจผิดนี้ จึงมีคนเขียนหนังสือ และคนอยากเขียนหนังสือจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติตัวแตกต่างไปจากเดิมเมื่อคิดว่าตัวจะต้องเป็นนักเขียน เช่นเกิดมาเคยใส่แต่เสื้อยืดกางเกงยีน ก็เกิดเฮี้ยนคิดว่าตูเป็นนักเขียนแล้วจะต้องใส่แต่ชุดชาวเขาเผ่ามูเซอ หรือเมื่อก่อนบ้านช่องเป็นบ้านธรรมดาอยู่มาแต่สมัยอาม่าอากง พอนึกว่าจะเป็นนักเขียนขึ้นมาแล้ว ก็ปิดม่านหน้าต่างหมดทุกบาน แล้วจุดอโรมาเธราปีหึ่งหั่งไปทั้งบ้านอะไรแบบนั้น

รีแอคชั่นตามอย่างหลังนี้ ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองสมองซีกขวาหรือความเป็นเด็กของตัวเอง แต่ทำเพื่ตอบสนองสังคม และความคาดหวังของสังคมซึ่งถูกส่งผ่านมายังตัวคนเขียน และคนรอบข้างของตัวคนเขียนนั้นเอง คือเข้าใจว่าเป็นนักเขียนต้องเป็นอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นจะดูไม่ดีรัศมีไม่จับ คนจะไม่เชื่อว่าเป็นนักเขียนจริง ๆ

เรื่องทำตามสังคมเป็นเรื่องธรรมดามนุษย์ ใครอยากทำบ้างย่อมไม่ผิดอะไร แต่ที่สำคัญกว่าคือ คิดจะเป็นนักเขียนแล้วได้ฝึกใช้สมองซีกขวาของตนขึ้นมาหรือยัง ได้พยายามมองโลกด้วยจินตนาการ ด้วยความอัศจรรย์ ด้วยความใส่ใจเช่นเดียวกับที่เด็ก ๆ ใส่ใจ ได้สังเกต ได้เล่นสนุก ได้คิดให้พ้นไปจากรูปแบบเดิม ๆ หรือยัง

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าแปลกเกี่ยวกับการเป็นคนเขียนหนังสือก็คือ ทั้งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่านักเขียนติสต์ แต่พอถึงเวลาที่ใครสักคนเกิดอยากเป็นคนเขียนหนังสือขึ้นมาแล้ว มักจะเริ่มต้นด้วยการไปเข้าคอร์สการเขียน หรือพยายามศึกษาเรื่องวรรณกรรม ตลอดจนการประกอบสร้างวรรณกรรม ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อสมองซีกซ้าย (ผู้ใหญ่ เข้าใจในระเบียบวิธี) แทนที่จะสนใจด้านที่เป็นความติสต์ของคนเขียนด้วย โดยมักคิดเอากันว่าความติสต์นั้นเรียนกันไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เขาเกิดมาเป็นอย่างนั้นเอง ตัวเราสิเป็นคนธรรมดา ชอบแต่จะเรียนวิธีแบบธรรมดา ๆ ไป

ผลที่ออกมาก็คือ คนที่เข้าคอร์สหรืออ่านหนังสือสอนเขียนแบบอิงตามหลักวิชาวรรณกรรมอย่างเดียวนั้น มักจะเรียนไปแล้วก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา คือรู้ทุกอย่าง แต่เขียนไม่ได้อย่างที่ตัวอยากเขียน ส่วนใหญ่จึงจบลงด้วยการปลงอายุสังขารว่าชาตินี้ไม่ได้เกิดมาเป็นคนเขียนหนังสือ เขียนไม่ได้หรอก ปล่อยให้คนที่เกิดมาเป็นแต่แรกนั้นทำไปดีกว่า

เรื่องนี้เปรียบแล้ว เหมือนคนมีขาสองข้าง แต่คิดว่าขาข้างซ้ายเดินง่ายกว่าขาข้างขวา คิดว่าขาข้างขวานั้นต้องเกิดมาเป็นติสต์จึงใช้เดินได้ ก็สู้ไปเรียนวิชาเดินด้วยขาข้างซ้ายมาเป็นอย่างดี เวลาเดินก็เขย่งกระโดดขาเดียวคล้าย ๆ ผีจีนไปเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้สองขาเดินตามปรกติ ไม่ช้าจึงเหนื่อยหมดแรงไปเอง แล้วก็เลยเกิดคิดว่าตูข้ามิได้เกิดมาให้ใช้ขาข้างขวาได้ ไม่เหมือนคนที่เขาเกิดมาเป็นติสต์แต่แรก จากนั้นจึงหมดกำลังใจเลิกเดินไปดื้อ ๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 3:00:12 น.
Counter : 458 Pageviews.  

สมองสองซีกกับความเป็นจริงของนักเขียน: ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ(1)

คนเรามีสมองสองซีก (แต่ว่ามีก้อนเดียว) จากการศึกษา พบว่า สมองซีกขวานั้นเป็นส่วนสร้างสรรค์ หรืออาจจะเรียกได้ว่า "สมองติสต์" ส่วนสมองซีกซ้ายเป็นสมองของเหตุผล สมองสองส่วนนี้ทำงานร่วมกันเพื่อทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกได้

ในการเขียนก็เหมือนกัน สมองทั้งสองส่วนนี้ก็ช่วยในการเขียน บางคนอาจจะเข้าใจว่า เวลาเขียนหนังสือซึ่งเป็น "งานศิลปะ" นั้น น่าจะใช้ "สมองติสต์" หรือสมองซีกขวามากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเขียนหนังสือใช้สมองซีกซ้ายด้วย เพราะถ้าไม่ใช้สมองซีกซ้ายเลย จะเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ ให้สื่อสารรู้เรื่องเป็นภาษาอย่างนี้ไม่ได้เลย

นอกจากเรื่องพื้นฐาน คือ สมองซีกขวาใช้คิด และสมองซีกซ้ายใช้แปรความคิดให้ออกมาเป็นตัวหนังสือบนกระดาษ (หรือในจอ) แล้ว ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองซีกขวาและสมองซีกซ้าย ยังนำมาใช้ช่วยในการเขียนหนังสือได้มากอีกด้วย เรียกว่าถ้าเข้าใจแล้ว จะสามารถเป็นนักเขียนที่ดีกว่าที่เป็นตอนนี้ได้ แต่นี่หมายความว่าต้องพยายามฝึกด้วย ถ้าเข้าใจเฉย ๆ ไม่ทำอะไร ก็เป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้เหมือนกัน

มีอาจารย์สอนเขียนคนฝรั่งคนหนึ่ง ชื่อ Dorothea Brande แกพูดถึงเรื่องนี้มานานนมตั้งแต่ก่อนที่จะมีคนเข้าใจเรื่องสมองสองซีก แกบอกว่า ในตัวคนเขียนหนังสือนั้นมีบุคลิกอยู่สองอย่าง คือ "เด็ก" และ "ผู้ใหญ่" ถ้าแปลเป็นคำปัจจุบัน "เด็ก" คือสมองซีกขวา (สร้างสรรค์ สนุกสนาน ช่างคิดช่างสงสัย) ส่วน "ผู้ใหญ่" คือสมองซีกซ้าย (เข้าโลก เข้าใจกฎระเบียบ มีความรู้)

คุณแบรนเด้ แกบอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ (แม้แต่คนเขียนหนังสือส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ) ดังนั้นจึงมีความเข้าใจผิดในอาชีพนักเขียนมาก เช่น

๑. คนทั่วไป (หรือนักอยากเขียน) ที่มองมาจากข้างนอก จะเข้าใจว่าเป็นนักเขียนนั้นคือนั่งฝันกลางวันเอาแล้วเขียนออกมา แลดูเป็นอาชีพติสต์แตกที่สบายดี

๒. เวลาที่เราเขียนไม่ดีหรือเขียนแล้วตัน หมายความว่าเราบกพร่องในเรื่องต่าง ๆ เช่น พล็อตอ่อน บทสนทนาไม่ดี มีความเข้าใจเรื่องวรรณกรรมไม่พอ - ที่จริงความเข้าใจนี้ก็ถูกอยู่เหมือนกัน แต่ถูกแค่ครึ่งเดียว

๓. คนเขียนหนังสือที่เขียนแล้วตัน แสดงว่าไม่มีพรสวรรค์ ชาตินี้ไม่ควรคิดฝันอยากเป็นนักเขียน หรือพยายามจะเป็นนักเขียนต่อไปอีก (หรือถ้ายังอยากเป็นจะต้องพยายามทำตามข้อสอง ซึ่งเป็นวิธีแก้แค่ครึ่งเดียวเหมือนกัน)

ตอนนี้เรานึกถึงความเข้าใจผิดใหญ่ ๆ ได้สามข้อนี้ บทหน้าจะมาคุยต่อให้ลึกขึ้นอีก




 

Create Date : 24 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2551 3:00:36 น.
Counter : 1407 Pageviews.  

Horace's The Art of Poetry ( roughly translation )

เราไม่ได้แปลตรง มีที่ตัด และแปลแบบเอาแต่ความหมายอย่างเดียวไปเลย เพราะตอนนั้นต้องการสื่อความหมายเป็นประเด็นหลัก

ใครที่อยากอ่านฉบับเต็มให้ไปดาวน์โหลดที่นี้ได้เน้อ

//onlinebooks.library.upenn.edu/webbin/gutbook/lookup?num=5419

###

ท่านปิโซที่รัก หนังสือนั้นเหมือนภาพวาด หากท่านวาดรูปมนุษย์อันมีใบหน้างดงาม ทว่าให้มีร่างกายเป็นม้า และมีขนเช่นนก ความงดงามของใบหน้ามนุษย์แต่แรกย่อมหายไป และภาพทั้งภาพจะกลายเป็นสิ่งน่าขบขันด้วยเหตุนี้ ยามท่านแต่งหนังสือ พึงมีเอกภาพ และมีรูปร่างเดียว

ท่านอาจโต้ข้าพเจ้าว่า "แต่กวีและจิตรกรควรมีสิทธิในการจินตนาการหรือมิใช่" ท่านพูดถูกแล้ว ถึงกระนั้น จงอย่าเอางูไปผสมกับนก และอย่าได้เอาแกะไปผสานกับเสือ

ไม่ว่าหัวข้อของท่านจะเป็นสิ่งใด จงให้มันเรียบง่าย และสม่ำเสมอ

เหล่ากวีส่วนมากมักเข้าใจผิด คิดว่าจะทำให้ลึกลับ แต่กลับกลายเป็นไม่ชัดเจน อยากให้ได้ภาษาที่ราบรื่น แต่กลับต้องแลกมาด้วยจิตวิญญาณและความกระตือรือร้นของถ้อยคำ หมายเขียนให้ยิ่งใหญ่ ทว่ากลับกลายเป็นฟุ่มเฟือย และบางคน ด้วยกลัวนักว่าจะผิดพลาด ก็เขียนงกเงิ่นราวคลานบนพื้นดิน

ผู้ที่พยายามจะเขียนเรื่องโดยมีเนื้อหาหลากหลายเกินไป มักจบลงด้วยความไม่ลงตัว ประดุจเขียนให้ปลาโลมาปรากฏตัวกลางป่า

หากในขณะเขียนไม่มีความรู้สึกร่วม ไม่มีศิลปะและสุนทรีย์ จงอย่าเขียน หากจะเลียนอย่าง จงเลียนอย่างให้หมดสิ้น มีประโยชน์ใดที่จะงามเพียงเส้นผมและดวงตาดำขลับ แต่จมูกกลับคดงอ

จงเลือกหัวข้ออันท่านเขียนได้ คิดให้ดี และนาน ว่าบ่าของท่านแบกรับสิ่งใดไหว ผู้ที่เลือกหัวข้อได้ถูกต้อง จะไม่มีปัญหาด้านถ้อยคำหรือการจัดเรียง

การเรียงลำดับควรเป็นดังนี้: เขียนถึงสิ่งที่ควรเขียนทันทีที่ถึงเวลาที่ควรเขียน จงแสดงแง่มุมต่าง ๆ และใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

จงระวังถ้อยคำ นักเขียนที่ดีจะเลือกคำหนึ่งและละทิ้งอีกคำหนึ่ง ถ้อยคำนั้นมีชีวิต ย่อมแก่และตาย เติบโตและผลิบาน จงแยกแยะประเภทของเรื่องที่ท่านเขียน และใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมกับประเภท

อย่าหวังเพียงจะ "ดี" แต่จงหวังว่างานของท่านจะต้องมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ต้องทำให้ผู้ฟังคิดตามเห็นตาม ถ้าท่านประสงค์จะให้ข้าร้องไห้ ท่านผู้เขียนเองจงรู้สึกเศร้าโศกก่อน

การใช้ตัวละคร จงเข้าใจลักษณะตัวละครที่มีมาแต่เดิม อาคิลีสย่อมต้องเก่งกาจ หุนหัน ใจร้อน และหยิ่งทะนง สิ่งเหล่านี้คือความเป็นอาคิลีส และคือสิ่งที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าท่านเขียนถึงอาคิลีส

หากท่านใช้ตัวละครใหม่ที่ไม่มีมาก่อน จงทำให้ตัวละครนั้นสม่ำเสมอ และเสมอต้นเสมอปลาย

อย่าเป็นเช่นกวีที่โอ้อวดถึงสิ่งใหญ่โต "ข้าจะขับลำนำถึงชะตาแห่งวงศ์เำำพรียม และการล่มสลายของทรอย" หัวข้อที่ใหญ่โตเกินตัวมิใช่เรื่องง่าย และบางครั้งจะไม่ได้ให้ผลอย่างที่ปรารถนา จงเลือกหัวข้อที่ไม่ยากเกินไปนัก และหากมีความสามารถ จงเพิ่มเติมสีสันให้หัวข้อดังกล่าว งานของท่านมีใช่เอาควันมาจากกองไฟ ( อาศัยเล่าเรื่องที่ใหญ่โตเช่นมหากาพย์เพื่อให้ดูน่าสนใจ ) แต่เป็นการสร้างไฟจากควัน ( สร้างเรื่องที่เขียนได้ให้ยิ่งใหญ่ )

จงอย่าเร่งร้อนไปถึงวิกฤตของเรื่อง แต่ค่อย ๆ นำเขาเข้าสู่เรื่องเสียก่อน หากท่านปรารถนาจะให้ผู้ฟังฟังท่านจนจบไม่หนีไปไหน จงพิจารณากลุ่มผู้ฟัง และรู้จักดัดแปลง เวลาใช้ตัวละครและถ้อยคำจงระวัง ให้ผู้ฟังเป็นพวกของท่าน มิใช่ทำให้เขารู้สึกถูกดูถูก

ความลับของการเขียนที่ดีคือความ สมเหตุสมผล งานของท่านจงมีความเป็นจริงของชีวิต และจงเป็นธรรมชาติ ท่านจงดูชีวิต จงหาต้นแบบจากชีวิต และเขียนถ้อยคำซึ่งเป็นจริง บางครั้งงานจะดึงดูดผู้คนเพราะความเป็นจริงเหล่านี้ มิใช่ความงดงามของภาษาเลย

งานของกวี หากมิใช่เพื่อเงินมาเลี้ยงตัว เพื่อทำให้ผู้ฟังพอใจสนุกสนาน ก็เพื่อรวมสิ่งที่มีคุณค่ากับความเพลิด เพลินใจเข้าด้วยกัน หากท่านจะให้ข้อคิด จงให้อย่างสั้น ง่าย และรวบรัด จงแสดงให้ดูแทน ผู้ฟังของท่านจะรับได้อย่างรวดเร็ว และจดจำได้

ท่านผู้มีทั้งความรู้และคำอันอ่อนหวานซึ่งทำให้ผู้ฟังหลงใหล จะมีอำนาจทั้งทำให้ผู้ฟังพอใจ และสั่งสอนผู้ฟังเหล่านั้น

จงอย่าเลียนแบบผู้อื่น เพราะท่านจะทำได้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ท่านไม่สามารถเป็นคนผู้นั้นได้ และในโลกของหนังสือ ไม่มีผู้ใดยอมรับความครึ่ง ๆ กลาง ๆ

หากวันหนึ่งท่านเขียนหนังสือ จงนำไปให้ท่านเมซิอัสนักวิจารณ์อ่านเสียก่อน นำไปให้บิดาท่าน หรือข้า จากนั้นจงเก็บต้นฉบับไว้ที่โต๊ะ และเก็บไว้เช่นนั้นสิบปี งานซึ่งยังมิได้ตีพิมพ์นั้นยกเลิกได้เสมอ แต่คำอันกล่าวออกไปแล้วกลืนกลับมาไม่ได้

ข้าเชื่อว่าการศึกษาไม่อาจขาดสติปัญญา และสติปัญญาไม่อาจเกิดได้หากไม่ฝึกฝน นักกีฬาผู้อยากได้ชัยชนะย่อมต้องฝึกมาแต่เด็ก ละเว้นต่อสตรีและสุรา นักขลุ่ยผู้สามารถย่อมเคยตัวสั่นเทาต่อหน้าอาจารย์ แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้คนจะพูดว่า "ข้าแต่งกวีนิพนธ์อันเลิศ ไม่ทราบว่าทำได้อย่างไร เพราะไม่เคยเรียนมาก่อน" ก็ตาม ( ซึ่งโฮเรซไม่เชื่อและไม่เห็นด้วย )

นักวิจารณ์ที่ดี และมีเมตตาแท้จริงจะทำลายประโยคที่อ่อน สาปแช่งประโยคที่หยาบ จะขีดฆ่าประโยคที่ไม่ดีเสียย่อยยับ จะดึงทึ้งคำประดับอันไม่จำเป็นทิ้ง จะบังคับท่านให้เขียนใหม่จนกว่าจะชัดเจน ด่าว่าประโยคซ้อนไม่จำเป็น และชี้ให้ท่านเห็นสิ่งที่ควรเปลี่ยน เขาจะไม่พูดว่า "เหตุใดข้าต้องทำให้เพื่อนลำบากใจด้วยเรื่องเล็กน้อยเล่า" เพราะ "เรื่องเล็กน้อย" เหล่านี้ จะนำไปสู่กวีผู้ไม่ต่างจากเศษขยะไร้ค่า ซึ่งหลงตนเพราะถูกสรรเสริญมากเกินไป




 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 22:07:13 น.
Counter : 437 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.