The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

โอดิสซุส - ยูลิซิส

เราติดเรียกว่ายูลิซิส กษัตริย์แห่งอิธากา

เป็นคนที่เราชอบ

เขานับยูลิซิสเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง แต่ในความรู้สึกของเรา ยูลิซิสเป็นนักการเมือง

ยูลิซิสไม่เคยมองโลกเป็นเส้นตรง ความคิดเรื่องอุดมคติก็ไม่เหมือนคนอื่น ๆ ยูลิซิสสามารถยุติปัญหาได้ด้วยการประนีประนอมเสมอ และทุกคำที่ยูลิซิสพูด ทุกคนก็ฟัง

คราวแย่งนางเฮเลน ยูลิซิสก็ไปด้วย แต่เมื่อเห็นว่ามีคู่แข่งมาก จึงเสนอกับพระราชาพ่อของเฮเลนว่าตัวจะช่วยแก้ปัญหาว่าที่ลูกเขยให้ ขอข้อแลกเปลี่ยนอย่างเดียว คือขอให้ตัวได้แต่กับเพเนโลปี ลูกพี่ลูกน้องของเฮเลน

จะว่าขี้ขลาดก็ขี้ขลาด แต่เอาเข้าอีกที เราก็รู้สึกว่าสายตาของยูลิซิสนั้นมองกว้างกว่าคนอื่นมาก และเพเนโลปีเองก็เสียหายตรงไหนเล่า อยู่ครองรักกันมาได้จนแก่เฒ่า ตัวยูลิซิสหลงทางกลางทะเลเป็นสิบ ๆ ปี เพเนโลปีก็ซื่อสัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง

เทียบกับเฮเลนแล้วเป็นอย่างไร

ยูลิซิสไม่มีความคิดอยากทำสงคราม เขาเรียกไปทำสงครามกรุงทรอย ยูลิซิสก็แกล้งเป็นบ้า ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเอาตัวอะไรแปลก ๆ มาเทียมคันไถแล้วเอาเมล็ดอะไรแปลก ๆ หว่าน ไถนาที่ไม่มีวันปลูกพืชผลได้ คนเขาต้องเอาเทเลมาร์คัสลูกชายทารกมาวางตรงหน้าทางคันไถผ่าน จึงจับผิดยูลิซิสได้ว่าไม่ได้บ้าจริง เพราะยูลิซิสเบี่ยงไถไม่ให้โดนลูก

ยูลิซิสไปศึก คนอื่นรบกันแทบตาย ยูลิซิสคิดกลม้าไม้

เวลากลับบ้านพบนางไซเรน ยูลิซิสสั่งให้ทุกคนเอาขี้ผึ้งอุดหู แต่ตัวเองยังมีใจอยากรู้ว่าเพลงไซเรนเป็นอย่างไร ก็ไม่เอาขี้ผึ้งอุดหู กลับบอกให้คนบนเรือมัดตัวไว้กับเสากระโดง ไม่ว่าอาละวาดอย่างไรก็อย่าได้ปล่อย



เราคิดว่ายูลิซิสเป็นคนพิเศษ สายตาของเขาเห็นไกลไปกว่าคนยุคเดียวกันเห็น และเพราะว่าเป็นคนอย่างนี้ จึงมีคนตีความไว้มาก ทั้งเป็นตัวเจ้าเล่ห์ร้ายเพทุบาย และเป็นพระเอกแบบแสบน่ารัก

ที่เราจำได้แม่นคือตัวยูลิซิสในละครฟิลอคธีธิสของโซโฟเคลส เขาตีความว่ายูลิซิสเป็นนักปกครอง เป็นนักการเมือง

และเป็นตัวร้าย

การเอาจะเอาชนะทรอยได้ ต้องใช้ธนูของเฮอร์คิสลิส ซึ่งปัจจุบันอยู่ในครอบครองของฟิลอคธีธิส แต่ตอนที่ลงเรือมาทรอย ฟิลอคธีธิส ( ถ้าจำไม่ผิด ) ถูกงูกัดเป็นแผลสาหัส แล้วแผลเน่าเปื่อยเหม็นไปทั่วจนพวกกรีกตัดสินใจทิ้งไว้ พอถึงเวลาต้องใช้ธนูจริง ๆ พวกกรีกก็รู้ว่าฟิลอคไม่มีทางให้แน่ ๆ ยูลิซิสจึงสอนให้เนออปโตเลมุสลูกของอคิลิสไปหลอกเอาธนูมา

แต่พอเนออปไปเจอฟิลอคจริง ๆ ก็สงสาร และเกิดสับสนว่าควรจะ "ทำร้ายคนคนหนึ่งเพื่อช่วยคนที่เหลือทั้งหมด" อย่างที่ยูลิซิสสอนมาหรือไม่

เราจำได้แม่น ช่วงที่ทะเลาะกันในประเด็นนั้น ยูลิซิสพูดออกมาชัดเจนว่า "ข้าเป็นนักปกครอง การกระทำทั้งปวงเพื่อให้คนในปกครองของข้าสามารถอยู่ได้ราบรื่น เป็นสิ่งที่ข้าจะทำ ส่วนคุณธรรมเป็นแค่ของฟุ่มเฟือย ( luxury ) คนที่อยู่ในสภาพจะมีคุณธรรมได้เท่านั้น จึงควรคิดถึงเรื่องคุณธรรม"

แน่นอน ละครย่อมไม่สนับสนุนความคิดเห็นแบบนี้ว่าเป็นความคิดที่ถูกหรอก และตอนจบเนออปก็ไม่ได้คล้อยตามยูลิซิสด้วย

แต่จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังคิดอยู่ว่า...เออ มันมีแง่มุมบางอย่างในคำนั้น

และคำแบบนี้ ดูไปจนทั่วทุกตัวคนในตำนานกรีก

ก็มีแต่จะออกมาจากปากคนอย่างยูลิซิสได้คนเดียวจริง ๆ




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 1:33:10 น.
Counter : 1764 Pageviews.  

ศัพท์หลายวันคำ - เส้นขอบฟ้าแห่งความคาดหมาย

ขอบฟ้าแห่งความคาดหมาย ภาษาฝรั่งว่า horizon of expectation เป็นศัพท์เทคนิคคำหนึ่งในศัพท์เทคนิคประมาณยี่สิบล้านคำ ในวงการวรรณคดี

ความหมายของมันคือสิ่งที่คนอ่านคาดว่าจะได้เห็น พูดง่าย ๆ คือ "ความคาดหมายล่วงหน้าของผู้อ่าน เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังอ่าน"

สมมุติยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเราขึ้นว่า

ฟ้าจะถล่ม แผ่นดินจะทลาย มหาสมุทรจะร่ำไห้

ต่อจากนี้คนอ่านคาดหวังอะไรอยู่ ถ้าหากไม่มีบริบทเลย คนอ่านส่วนใหญ่จะคาดว่าคำควรจะไปในทางเดียวกัน พูดถึงหายนะเหมือนกัน พูดถึงเรื่องน่าเสียใจเหมือนกัน

โอเค เราก็จะให้เรื่องน่าเสียใจ

ฟ้าจะถล่ม แผ่นดินจะทลาย มหาสมุทรจะร่ำไห้ หมีแพนด้าจะสูญพันธุ์

อืมม์...คิดยังไงล่ะ

แล้ว...มีความรู้สึกเกิดขึ้นตามมาไหม

นั่นละ ขอบฟ้าแห่งความคาดหมายถูกทำลายแล้วนะ

บอกอย่างนี้อาจจะนึกถึงการหักมุม แต่ว่าการหักมุมนั้นเป็นการกระทำของคนเขียน ส่วนขอบฟ้าแห่งความคาดหมาย เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของคนอ่าน การหักมุมมีไว้ทำลายขอบฟ้าแห่งความคาดหมาย

แต่คนที่อ่านมาเยอะ ๆ หรือคนที่เขียนมาเยอะ ๆ ขอบฟ้าแห่งความคาดหมายก็จะกว้าง ดังนั้นมักจะพบว่า "ไม่ถูกหลอก"

คนที่ขอบฟ้ากว้างพอ บางทีก็กระหยิ่มในอกว่าไม่ถูกหลอกหรอก เรื่องมาอย่างนี้ เดาได้อยู่แล้ว เดาได้จนจบเรื่องเลย

แต่บางทีสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือเราเอาขอบฟ้าของเราเองไปกำหนดงานเขียน งานศิลปะโดยไม่รู้สึกตัว

ขอบฟ้าของเราแค่นี้ เราก็อ่านงานเขียนไปตามนี้ แต่ที่จริงแล้ว งานเขียนต่างกัน คนเขียนยังใช้สำนวนต่างกัน วิธีอ่านเองก็มีหลายวิธีเหมือนกัน ถ้าอ่านเรื่องรักมาก บางทีก็เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ไอ้สองตัวนั้นมันจะรักกัน ( แต่บางเรื่องไอ้สองตัวก็อาจจะไม่รักกันเลยจนจบ ) ถ้าอ่านเรื่องแฟนตาซีมาก เจอเรื่องที่ไม่เน้นผจญภัยเลย ก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ

นี่ก็เป็นการทำลายเส้นขอบฟ้าของความคาดหมายเหมือนกัน แต่เป็นการทำลายที่คนอ่านหงุดหงิด เพราะไม่ได้อย่างใจ

เพราะอย่างนั้น บางทีทำลายเส้นได้ ก็ทำให้ทึ่ง ทำให้ขำ ทำให้คิด

แต่บางทีทำลายเส้นได้ ก็ทำให้หงุดหงิด ทำให้รู้สึกไม่ได้อย่างใจ ทำให้รำคาญ

เป็นอย่างแรกก็ดีไป เป็นอย่างที่สอง ก็ขว้างหนังสือทิ้ง

แต่...เอาเข้าจริงแล้ว มาคิดดูอีกที ที่รำคาญใจ ไม่ใช่เพราะขอบฟ้าของเราไปไม่ถึงจุดนั้นหรืออย่างไร เป็นเพราะเราอ่านไม่เป็น เราจึงไม่เห็นไม่ใช่หรือ

ไม่หรอก เราไม่มีความจำเป็นต้องเข้าใจงานทุกงาน ต้องชอบงานทุกงานหรอก ไม่จำเป็นเลย

แต่ไม่ชอบก็ไม่ได้แปลว่าต้องดูถูกงานที่เราไม่ได้อ่าน งานที่เราอ่านไม่เข้าใจ เพราะงานเหล่านั้นคือขอบฟ้าที่เราไม่รู้จัก

สิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไปไม่ถึง ไม่ใช่ว่าไม่ดี

และที่จริงแล้ว ขอบฟ้ามันไม่มีจริง เป็นเส้นสมมุติขึ้นมา สมมุติขึ้นเพราะมนุษย์จำเป็นต้องมีกรอบบางอย่าง ถึงจะพยายามเท่าไร มนุษย์ก็ยังมีกรอบบางอย่างอยู่ดี ถึงจะพยายามเท่าไร ก็มีของที่ชอบไม่ชอบ มีของที่เคยเห็นไม่เคยเห็น มีของที่เข้าใจแสนง่าย และไม่มีวันเข้าใจตลอดกาล

เพราะอย่างนั้น เส้นขอบฟ้าในงานวรรณกรรมเองก็ไม่มีจริงเหมือนกัน

และเพราะอย่างนี้เอง ถ้าหากงานไหนดีจริง ๆ แล้ว มันก็จะสัมผัสเส้นขอบฟ้าของมนุษย์ทุกคนได้ ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ และสามารถพาทุกคนไปเห็นเส้นขอบฟ้าใหม่ได้เท่า ๆ กัน




 

Create Date : 09 เมษายน 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 21:53:57 น.
Counter : 1001 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.