ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
28 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
หินในชีวิตของคน

หินในชีวิตของคน



หินในชีวิตของคนยุคหิน



มนุษย์เริ่มต้นยุคหินเก่าโดยหยิบหินกรวดแม่น้ำมาสองก้อน นำมันมาทุบกันเองให้แตก แล้วเลือกเอาเศษแตก ๆ ของหินที่มีขนาดเหมาะมือขึ้นมาใช้ นักโบราณคดีเรียกก้อนหินเหล่านี้ว่า "เครื่องมือหินกะเทาะ" คนยุคหินเอาด้านเรียบของหินกะเทาะไว้ในอุ้งมือ หันด้านคมของหินออกใช้ประโยชน์ในการตัด ขูด ขุด ทุบ และอื่น ๆ ตามแต่ใจต้องการ
คนยุคหินกลางและยุคหินใหม่ นำหินมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้อย่างประณีตบรรจงมากยิ่งขึ้น โดยมีเทคนิคการตกแต่งให้หินมีสภาพเหมาะแก่การใช้งาน เช่น นำหินกะเทาะไปฝนให้คมเพื่อใช้แล่เนื้อ นำหินกะเทาะไปบากด้านข้างแล้วผูกกับกิ่งไม้กลายเป็นขวานหิน
คนยุคหินอาศัยอยู่ในถ้ำ และดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า ชนิดของหินที่คนยุคหินนำมาใช้งาน ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศที่พวกเขาอยู่อาศัย พวกที่อยู่ใกล้พื้นราบอาจหยิบเอาหินกรวดแม่น้ำมาใช้ พวกที่อาศัยอยู่บนที่สูงก็อาจนำหินภูเขาไฟมาใช้ เช่น หินทัฟฟ์ที่มีความแข็งกว่าและคมกว่าหินกรวดแม่น้ำ หรือหินอ๊อปซิเดียนซึ่งมีเนื้อเรียบมันแบบเนื้อแก้วแต่แข็ง เพราะเป็นหินอัคนีที่เกิดมาจากการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรง มันเย็นตัวอย่างรวดเร็วจนไม่มีเวลาตกผลึก ดังนั้นจึงกลายมาเป็นหินเนื้อเรียบอย่างแก้ว คนยุคหินมักนำมันมาทำเป็นใบหอก ในเวลาที่คนยุคหินไปไหนมาไหน การมีหินพกติดตัวไปสักก้อนหนึ่งนั่นอาจหมายถึงเขามีทั้ง มีด ค้อน ขวาน หอก สิ่ว จอบ และเสียม ติดตัวไปด้วย
ต่อมาเมื่อคนคิดนำโลหะมาใช้งานแทนหิน และสามารถแปรรูปโลหะ ให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าหิน และหลายชนิดกว่าหิน ภูมิปัญญาใหม่นี้ ทำให้คนคิดสร้างเครื่องมือสำหรับตัดไม้ เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัย อุปกรณ์การเกษตร และเครื่องใช้อื่น ๆ อีกมากมาย จุดเปลี่ยนดังกล่าวทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป จากการล่าสัตว์หาของป่าแต่เพียงอย่างเดียว มาสู่ทางเลือกใหม่คือการทำการเกษตร แล้วบรรพบุรุษของเราก็เดินทางออกจากถ้ำมุ่งสู่ที่ราบ มีการตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชนที่ใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา



หินในชีวิตของคนยุคเกษตรกรรม

คนไทยโบราณในยุคเกษตรกรรมส่วนใหญ่พักอาศัยในบ้านเรือนที่ทำจากไม้ ในบ้านของคนไทยยุคปู่ย่าตายายของเรา มีเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทำจากหินอยู่เพียงไม่กี่อย่าง เช่น ในครัวอาจจะมีครกหินเอาไว้ตำน้ำพริก มีโม่หินสำหรับโม่แป้งไว้ทำขนม และอาจจะมีหินลับมีดอยู่ด้วยสักก้อนหนึ่ง ที่ข้าง ๆ ตุ่มน้ำอาจจะมีหินขนาดเหมาะมือไว้เป็นหินขัดตัว เวลาเจ็บป่วยก็อาจจะเรียกหาหินบดยา เพื่อผสมเครื่องสมุนไพรไว้ใช้รักษาอาการป่วย
แต่หินกลับมามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น เมื่อในเวลาต่อมามนุษย์รู้จักผลิตเครื่องจักรให้ทำงานแทนแรงงานคน นี่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมนี่เองที่นำหินกลับมาสู่ชีวิตคน เรามีเครื่องตัดหินออกมาเป็นแผ่น เครื่องย่อยหินเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือแม้แต่เครื่องกลึงสำหรับตกแต่งหินเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ดังใจเราต้องการ เมื่อหินถูกนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น ทำให้หินค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ไม้อย่างเงียบ ๆ


หินในชีวิตของคนในยุคดิจิตอล



แม้ว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบก่ออิฐถือปูน อาจจะเริ่มมีมานานหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังถูกจำกัดวงเฉพาะแค่ชนชั้นสูงที่มีฐานะ และบทบาททางสังคม แต่ในระยะ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ความนิยมก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบก่ออิฐถือปูนมีมากขึ้น จนกลายเป็นสิ่งก่อสร้างแบบธรรมดาสามัญ นอกเหนือจากการก่อสร้างอาคารแล้ว เรายังใช้หินมาประดับบ้านและสวนเพื่อเสพหินในแง่ของความงาม
หากลองตั้งคำถามว่า เสน่ห์ของหินอยู่ที่ตรงไหน คงจะได้คำตอบที่หลากหลาย เสน่ห์ของหินนอกจากในแง่ของความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ในแง่ของความงาม บางคนก็หลงใหลลวดลายเส้นสีที่ไม่เคยซ้ำของหินอ่อน ความนุ่มนวลของสีพื้น และความสนุกของลายเส้นที่พลิ้วไหวอยู่ในเนื้อหิน ราวกับเป็นงานศิลปะของศิลปินเอก บางคนอาจนิยมชมชอบความแข็งแกร่ง และเรียบเป็นเงางาม พร้อมกับสีที่ดูเรียบร้อยแบบเป็นทางการของหินแกรนิต และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบความไม่เรียบของหินทราย ความหยาบและสีอ่อน ๆ ทำให้หินทรายแลดูสมถะ เรียบง่ายแต่แข็งแกร่ง เหตุผลเพียงบางส่วนที่หยิบยกมานี้ ทำให้หินมัดใจให้คนส่วนใหญ่ชอบหินได้อย่างไม่ยากเย็น
ในอีกมิติหนึ่งของการนำหินมาใช้ ชาวขอมโบราณจัดวางหินทรายให้เป็นแบบจำลองของจักรวาล เพื่อติดต่อกับสวรรค์ แล้วพวกเขาก็รอคอยให้ดวงตะวัน ดวงเดือน และหมู่ดาวในดาราจักรเคลื่อนที่มาบรรจบในเวลาที่เหมาะสม
ผมอดคิดไม่ได้ว่า สัญลักษณ์รูปดอกบัวตรงทางเข้าปราสาทหินเขาพนมรุ้ง อาจเป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมโยงโลกกับสวรรค์เข้าด้วยกัน ราวกับการป้อนรหัสผ่านหรือ password ลงในคอมพิวเตอร์ ในวันและเวลาที่ตะวันสาดแสงทะลุผ่านบานประตูทุกบาน กับในตำแหน่งขององค์ปราสาทที่ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งเคยเป็นหน้าต่างที่โลกได้ปลดปล่อยพลังความร้อนออกมา ในวันที่พลังทั้งสองเชื่อมประสานกัน ในขณะเวลาบุคคลผู้มีพลังอำนาจพิเศษกำลังทำพิธีกรรม หินทรายอาจจะบันดาลให้เกิดช่องทางที่โลกกับสวรรค์ติดต่อกันได้ ...ทว่านั่นก็เป็นเพียงจินตนาการของผม ไม่ใช่คำตอบจริงแท้ของการสร้างปราสาทหินทรายแห่งนี้
แต่ถ้าหากเชิญชาวขอมโบราณข้ามห้วงเวลา มานั่งฟังคนยุคดิจิตอลเล่าถึงพลังของหินทรายบ้าง เขาก็จะไม่เชื่อในสิ่งที่เราเล่าเช่นเดียวกัน คนยุคดิจิตอลได้นำหินทรายมาใช้ติดต่อสื่อสารเช่นเดียวกับขอมโบราณ เพียงแต่เราไม่ได้เอาความขุ่นของหินทรายมาใช้ หากแต่เราใช้ความใสของมันโดยเลือกหยิบอณูเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "ทรายซิลิกา" นำมาแกะลายที่ผิวเงาเรียบ และหุ้มด้วยพลาสติก จากนั้นก็ต่อขาออกมาสองขา แล้วเรียกมันว่า "ไอซี" จากนั้นเราก็ใช้ด้านใสในอณูทรายหลาย ๆ ตัวมาสะท้อนคลื่นกับด้านใสในอณูของแร่ควอตซ์ ที่มีอยู่ในหินเขี้ยวหนุมาน สะท้อนไปสะท้อนมาออกมาเป็นรหัสที่ซับซ้อน แล้วเรียกมันว่า "ระบบดิจิตอล" นี่คือการนำพลังของหินมาใช้โดยที่เราอาจไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เพราะมันใกล้ตัวมากจนเรามองข้ามไป
เมื่อเรามองตัวเราเองในกระจก อาจพบว่าเราเริ่มจะไม่ต่างจากคนยุคหินเท่าใดนัก เพราะเราเป็นพวก "หินนิยม" เหมือน ๆ กัน เราอาศัยอยู่ในบ้านหิน สัญจรบนถนนที่ทำจากหิน มีรถยนต์ รถไฟ วิ่งอยู่บนหิน สื่อสารด้วยหิน และเมื่อเราตาย ถ้าไม่เผาศพ ศพของเราก็จะถูกนำไปไว้ในฮวงซุ้ยหิน หรือหากศพของเราถูกเผา เถ้ากระดูกก็จะถูกนำไปบรรจุในเจดีย์หรือกำแพงวัดที่ทำมาจากหิน เราอาจมีรูปขาวดำติดไว้บนป้ายชาตะ-มรณะ คอยเฝ้ามองลูกหลานของเราที่สืบสานความเป็นหินนิยมต่อไป
ด้วยความเป็นธรรมดาของหิน ทำให้เราไม่รู้ตัวในความเป็นหินนิยมของเรา อาจเป็นเพราะความง่าย และความสะดวกในการนำหินบนภูเขา หรือหินใต้พิภพมาแปรรูปเพื่อสนองทุกความต้องการของเรา ความง่ายและความธรรมดานี้เอง ทำให้เราอาจมองข้ามคุณค่าของหิน ดังนั้นผมจึงหวังว่านับแต่นี้ เราคงจะได้เปลี่ยนมุมมองในเรื่องหินเสียใหม่ และยอมรับว่าเราล้วนเป็นหินนิยมและขาดหินไม่ได้
โปรดใช้หินอย่างประหยัด เพื่อลูกหลานของเราจะยังมีหินใช้อีกนานเท่านาน
โปรดใช้หินอย่างรู้คุณค่า เพราะกว่าหินจะผ่านกระบวนการแปรรูปมาถึงมือเราล้วนมีต้นทุนสูง และมีการสูญเสียในกระบวนการผลิตจากการแปรรูปเสียครึ่งต่อครึ่ง เรานำหินมาใช้ในปริมาณเท่าใด ก็จะมีหินในจำนวนเท่ากันที่สูญเสียไป ดังนั้นในการใช้หินทุกครั้งโปรดคิดให้หนักอย่างหิน
ขอได้โปรดมีความสุขกับความเป็น "หินนิยม" เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเราในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และในลำดับต่อไปนี้ "ขอต้อนรับทุกท่านกลับสู่ยุคหิน"



ขอขอบคุณ : ยุทธวงษ์ วงษ์ทอง
จาก //www.sarakadee.com/feature/2002/10/stone.htm


Create Date : 28 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2552 13:56:08 น. 0 comments
Counter : 7005 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.