bloggang.com mainmenu search
ในบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่มีนโยบายเด่นชัดเกี่ยวกับการนำเอา IT มาใช้ใน กทม.เห็นจะมีเพียงสองท่าน ที่น่าสนใจ ลองไปศึกษาดูกันนะครับ




มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร


มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 2 ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากนโยบายที่ต้องการทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและน่าอยู่นั้น เครื่องมือที่มีบทบาทและจะสามารถช่วยให้นโยบายเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนขึ้นได้ก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที โดยแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.นโยบายด้านการจราจร ที่ถือเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของ กทม.ที่จะต้องดูแลและแก้ไข ด้วยการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการย่อและขยายข้อมูล เพื่อทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกเส้นทางในการเดินทางได้ ว่าเส้นทางใดที่มีความสะดวก เส้นทางใดที่มีการจราจรติดขัด หรือมีอุบัติเหตุ ในปัจจุบัน มีการนำระบบข้อมูลดังกล่าวมาใช้งานบ้างแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มดำเนินการ ที่จะต้องมีการเพิ่มและขยายออกพื้นที่ให้กว้างขึ้น



ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 2 กล่าวต่อว่า ด้านนโยบายความปลอดภัยของคนกรุงเทพฯ ขณะนี้ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือซีซีทีวีกว่า 200 ตัวทั่วกรุงเทพฯ แต่ในอนาคตจะต้องติดตั้งเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีจำนวนถึงหลักพัน เพื่อสามารถให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขยายฐานข้อมูลให้กว้างขึ้น ถูกต้อง และแม่นยำ ขณะที่ โครงการของผู้ว่าฯ กทม.คนเก่า (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) เช่น ป้ายบอกทางอัจฉริยะที่มีอยู่กว่า 40 จุด จะต้องพัฒนาต่อไป โดยจะมีการขยายให้เห็นรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น



ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการนำประโยชน์จากไอทีมาใช้ในส่วนที่ 2 คือ นโยบายด้านการบริหารและจัดการ กทม. ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ที่จะต้องยึดมั่นในความตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ความพอใจแก่ทุกฝ่าย โดยนำไอทีมาใช้ใน 4 ช่องทาง อาทิ 1.ระบบ E-Government ที่จะเป็นการให้บริการด้านข้อมูลในเรื่องต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยให้ประชาชนได้เห็นภาพรวมของ กทม. ด้วยการเชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน 2.ระบบ E-Services เพื่อให้บริการในเรื่องพื้นฐานต่างๆ 3.ระบบ E-Document ที่จะใช้บันทึกข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อลดพื้นที่ในการจัดเก็บกระดาษและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และ4.E- Participation ที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย



ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 2 กล่าวด้วยว่า มีโครงการที่จะสร้างเว็บไซต์ขึ้นอีก 3 เว็บ คือ เว็บ youngbangkok.com และเว็บ youngactart.com สำหรับใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดของเยาวชนและวัยรุ่น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนรู้นอกห้องเรียน และเว็บ Oldisyoung.com เว็บไซต์สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ติดต่อหรือแลกเปลี่ยนความรู้สึกระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าว เป็นผู้ที่มีความรู้และสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้



“ด้านการนำไอทีไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนนั้น มีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียนในโรงเรียนของ กทม. กว่า 435 โรง ได้เรียนฟรี เรียนดี และเรียนอย่างมีคุณภาพ ด้วยการนำไอทีเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงไอที เนื่องจากมั่นใจว่า จะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขมากขึ้นได้ หากเรารู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกวิธีและถูกต้อง” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว



ด้าน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า นโยบายด้านไอทีของตน จะเป็นการสานต่อและพัฒนาโครงการของอดีตผู้ว่า กทม. เนื่องจากปัญหาด้านเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาด้านเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนและความไม่ทั่วถึง ที่จะต้องสร้างโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ทุกคน โดยมีนโยบายสนับสนุนให้เยาวชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตภายในห้องสมุดของ กทม. ในการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากความรู้ภายในห้องเรียน เนื่องจาก กทม. มีหน้าที่ดูแลสิ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ ว่าเป็นการเปิดโอกาสและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ สถานศึกษาแห่งไหนที่ยังขาดโอกาส ก็ต้องมีการเสริมและเพิ่มเติมให้ครบถ้วน แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลานอกห้องเรียน เยาวชนก็ยังต้องการช่องทางที่จะเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา



ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักในการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กในพื้นที่ กทม. คือ การที่ต้องไปใช้อินเทอร์เน็ตที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ทำให้ไม่มีความปลอดภัย ขาดผู้ที่จะเข้าไปควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด สิ่งที่ควรเร่งผลักดันเป็นอันดับแรก จึงควรเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ค้นคว้าข้อมูลทางการศึกษา และแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดความทั่วถึง ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้อย่างครอบคลุม



“เราไม่จำเป็นต้องสร้างหรือเริ่มอะไรให้มากมาย แต่ควรสร้างโอกาสและความทั่วถึงก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ในการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้มีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี แทนที่จะต้องไปเล่นอินเทอร์เน็ตที่ร้าน ก็สามารถเข้าห้องสมุดขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้บริการอินเทอ์รเน็ตได้โดยไม่ถูกปิดกั้น” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ กล่าว



ด้วยนโยบายที่เปรียบเสมือนคำสัญญาและภาพแห่งความฝัน ที่คนทั้งกรุงเทพฯ ต่างเฝ้ารอ ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการพิสูจน์มุมมองทางความคิด ว่าใครจะมีความโดดเด่นและสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเห็นได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญ ที่บรรดาผู้สมัครจะใช้ในการพิสูจน์ตนเอง ว่าจะสามารถทำตามนโยบายสวยหรูที่ได้พูดไว้ หรือจะเป็นเพียงนโยบายแห่งความฝัน ที่คนเมืองหลวงไม่อาจจะจับต้องได้...


ที่มา : //www.bcoms.co.th














Create Date :28 ธันวาคม 2551 Last Update :28 ธันวาคม 2551 11:09:37 น. Counter : Pageviews. Comments :5