bloggang.com mainmenu search


เคยมีใครสงสัยแบบผมบ้างหรือเปล่าครับว่า ทำไมเมืองไทยเรานี้จึงมีคณะกรรมการมากมาย เรามีการตั้งคณะกรรมการกันตั้งแต่ระดับชาติในรัฐสภาที่เรียกกันว่า "คณะกรรมาธิการ" จำนวน 30-40 คณะ ไล่ลงมาในระดับ กระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจ มีอีกเป็นพันๆคณะ


และมีใครเคยทำการวิจัยกันบ้างหรือไม่ว่า บรรดาคณะกรรมการเหล่านี้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันสักเพียงใด บางคนเคยพูดว่าเขาไม่เคยไปประชุมคณะกรรมการที่ไหนมานานแล้ว เพราะไม่มีเวลาหรือเบี้ยประชุมน้อย

ผมเคยทราบมาอย่างไม่เป็นทางการว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆท่าน เป็นคณะกรรมการอะไรต่อมิอะไรมากมายหลายสิบคณะ จนเจ้าตัวก็จำไม่ได้ต้องให้เลขานุการส่วนตัวจัดคิวให้


ผมจะมาไล่เรียงส่วนดีของคณะกรรมการดูว่า มีส่วนดีอะไรบ้าง

1. เป็นการช่วยกันทำงาน
2. เป็นการกระจายรายได้ เพราะคณะกรรมการมีเบี้ยประชุมทุกครั้งที่เข้าประชุม จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่คณะกรรมการนั้นทำงานสำคัญระดับไหน
3. หากเกิดความผิดพลาดขึ้น ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว เพราะทำงานในคณะกรรมการ
4. จะได้ไม่ต้องทำงานประจำที่น่าเบื่อหน่าย เพราะต้องไปประชุมคณะกรรมการวันหนึ่ง 4-5 คณะ
5. เวลาเขียนประวัติส่วนตัวหรือจัดพิมพ์หนังสือแจก จะได้มีรายชื่อคณะกรรมการที่ตัวเป็นอยู่ โก้ดีนะท่าน

แล้วส่วนไม่ดีไม่มีบ้างหรือ บางท่านอดไม่ได้ที่จะถามขึ้น มีสิครับท่าน ในโลกนี้ต้องมีทั้งสองด้านน่ะแหละ ส่วนไม่ดีน่าจะมีดังนี้


1. เป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลสิ้นเปลืองมาก
2. สิ้นเปลืองบประมาณในการจ่ายเบี้ยประชุม
3. ไม่มีเวลามาทำงานประจำที่ต้องรับผิดชอบดูแล
4. ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพราะทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ
5. เมื่อถูกตำหนิว่างานไม่ก้าวหน้าก็โยนความผิดไปให้คณะกรรมการ
สรุปแล้วท่านลองใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกัน วันนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่เอี่ยมอีกจำนวน 5-6 คณะ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีตำรวจยิงแก๊สน้ำตาสลายฝูงม็อบ ที่มาประท้วงมิให้รัฐบาลแถลงนโยบายในรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551


Create Date :17 ตุลาคม 2551 Last Update :17 ตุลาคม 2551 12:00:21 น. Counter : Pageviews. Comments :2