ข้อดี ข้อเสียของศรัทธา
 

 235 สำหรับคนสามัญทั่วไป ศรัทธาเป็นธรรมข้นต้นที่สำคัญยิ่ง  เป็นอุปกรณ์ชักนำให้เดินหน้าต่อไป เมื่อใช้ถูกต้อง  จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี  ทำให้การก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้ผลรวดเร็วขึ้น

    ด้วยเหตุนี้  จึงปรากฏว่า  บางคราวผู้มีปัญญามากกว่า  แต่ขาดความเชื่อมั่น กลับประสบความสำเร็จช้ากว่าผู้มีปัญญาด้อยกว่า แต่มีศรัทธาแรงกล้า  ในกรณีที่ศรัทธานั้นไปตรงกับสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จึงเป็นการทุ่นแรงทุ่นเวลาไปในตัว ตรงกันข้าม ถ้าศรัทธาเกิดในสิ่งที่ผิด ก็เป็นการทำให้เขว ยิ่งหลงชักช้าหนักขึ้นไปอีก

    การขาดศรัทธาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่ต้องการ ดังพุทธพจน์ว่า

   “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปหนึ่งยังสลัดทิ้งตอในใจ ๕ อย่างไม่ได้ ยังถอนสิ่งผูกรัดใจ ๕ อย่างไม่ได้ ข้อที่ว่าภิกษุนั้น จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

   “ตอในใจที่ภิกษุนั้น ยังสลัดทิ้งไม่ได้ คือ

     ๑. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...

     ๒. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในธรรม...

     ๓. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสงฆ์…

     ๔. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสิกขา...

     ๕. ภิกษุโกรธเคือง น้อยใจ มีจิตกระทบกระทั่ง เกิดความกระด้างเหมือนเป็นตอเกิดขึ้นในเพื่อนพรหมจรรย์...

   จิตของภิกษุผู้ยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...ในธรรม…ในสงฆ์...ในสิกขา...โกรธเคือง ฯลฯ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความหมั่นฝึกฝนอบรม เพื่อความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงมือทำความพยายาม ภิกษุมีจิตที่ยังไม่น้อมไปเพื่อความเพียร...ชื่อว่ามีตอในใจ ซึ่งยังสลัดทิ้งไม่ได้...”(ที.ปา.11/296/250 ฯลฯ)

    โดยนัยนี้ การขาดศรัทธา มีความสงสัย แคลงใจ ไม่เชื่อมั่น จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาปัญญาและการก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย สิ่งที่ต้องทำในกรณีนี้ก็คือ ต้องปลูกศรัทธา และกำจัดความสงสัยแคลงใจ

    แต่การปลูกศรัทธาในที่นี้ มิได้หมายถึงการยอมรับ และมอบความไว้วางใจให้โดยไม่เคารพในคุณค่าแห่งปัญญาของตน แต่หมายถึงการคิดพิสูจน์ทดสอบด้วยปัญญาของตนให้เห็นเหตุผลชัดเจน จนมั่นใจ หมดความลังเลสงสัย

5

    เมื่อมีผู้ใด   ประกาศตัวเอง   แสดงความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะประทานความเห็นชอบ จะทรงสอบสวนก่อนว่า ศรัทธาปสาทะของเขามีเหตุผลเป็นมูลฐานหรือไม่   (อาการวตีศรัทธา)   เช่น   ครั้งหนึ่ง   พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลแสดงความเลื่อมใส และพระพุทธเจ้าตรัสตอบ  ดังต่อไปนี้

     พระสารีบุตร:   พระองค์ผู้เจริญ ข้า พระองค์ เลื่อมใส ในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี อื่นใด ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคในทางสัมโพธิญาณได้นั้น ไม่เคยมี จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้”

     พระพุทธเจ้า:   สารีบุตร   เธอกล่าวอาสภิวาจา   (วาจาอาจหาญ)  ครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก เธอบันลือสีหนาทถือเด็ดขาดลงไปอย่างเดียว...ดังนี้นั้น   เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์เท่าที่มีมาแล้วในอดีต หรือว่าพระผู้มีพระภาคเหล่านั้น มีศีลอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ ๆ ทรงมีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีธรรมเครื่องอยู่อย่างนี้ หลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุดังนี้ๆ”

   พระสารีบุตร:   มิใช่อย่างนั้น   พระเจ้าข้า

    พระพุทธเจ้า.   เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่จักมี ในอนาคตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจัก...เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ”

   พระสารีบุตร:   มิใช่อย่างนั้น    พระเจ้าข้า

   พระพุทธเจ้า.   ก็แล้วเราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาค...ทรงเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ”

  พระสารีบุตร:   มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

   พระพุทธเจ้า. ก็ในเรื่องนี้ เมื่อเธอไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้จิตในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ในอดีต อนาคต และปัจจุบันเช่นนี้แล้ว ไฉนเล่า เธอจึงได้กล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งใหญ่นักนี้ บันลือสีหนาทถือเป็นเด็ดขาดอย่างเดียว (ดังที่กล่าวมาแล้ว)

   พระสารีบุตร: พระองค์ผู้เจริญ    ข้าพระองค์   ไม่มีญาณกำหนดรู้จิตในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ก็จริง แต่กระนั้น ข้าพระองค์ทราบการหยั่งแนวธรรม

   พระองค์ผู้เจริญ    เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของพระราชา   มีป้อมแน่นหนา  มีกำแพงและเชิงเทินมั่นคง มีประตูๆ เดียว คนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก ยอมให้แต่คนที่รู้จักเข้าไป เขาเที่ยวตรวจดูทางแนวกำแพงรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อหรือช่องกำแพง แม้เพียงที่แมวลอดออกได้ ย่อมคิดว่า สัตว์ตัวโตทุกอย่างทุกตัวจะเข้าออกเมืองนี้ จะต้องเข้าออกทางประตูนี้เท่านั้น ฉันใด

   ข้าพระองค์ก็ทราบการหยั่งแนวธรรม ฉันนั้นเหมือนกันว่า   พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ เท่าที่มีมาแล้วในอดีต ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง   ทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว  มีพระทัยตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗  ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ    แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่จะมีในอนาคตก็จัก (ทรงทำอย่างนั้น) แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕....มีพระทัยตั้งมั่น ในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (เช่นเดียวกัน) ฯลฯ”  (ที.ม.10/77/97 ฯลฯ)

    ความเลื่อมใสศรัทธาต่อผู้ใดผู้หนึ่งนั้น  ถ้าใช้ให้ถูกต้อง คือ เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยให้ก้าวหน้าต่อไป ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีข้อเสีย เพราะมักจะกลายเป็นความติดในบุคคล และกลายเป็นอุปสรรคบั่นทอนความก้าวหน้าต่อไป

15

ข้อดี ของศรัทธาปสาทะนั้น เช่น

   "อริยสาวกผู้ใด  เลื่อมใสอย่างยิ่งแน่วแน่ถึงที่สุดในตถาคต  อริยสาวกนั้น จะไม่สงสัยหรือแคลงใจในตถาคต หรือศาสนา (คำสอน) ของตถาคต  แท้จริง  สำหรับอริยสาวกผู้มีศรัทธาเป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เพื่อกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลาย และบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลายให้พร้อมบูรณ์ จักเป็นผู้มีเรี่ยวแรง บากบั่นอย่างมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย"   (สํ.ม.19/1011/297)

   ส่วนข้อเสีย ก็มีดังพุทธพจน์ว่า

   “ภิกษุทั้งหลาย ข้อเสีย ๕ อย่างในความเลื่อมใสบุคคลมีดังนี้ คือ

     ๑. บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร เขาจึงคิดว่า บุคคลผู้เป็นที่รักทีชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์ยกวัตร
เสียแล้ว...
     ๒. บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้นั่ง ณ ท้ายสุดสงฆ์เสียแล้ว...
     ๓. ...บุคคลนั้น ออกเดินทางไปเสียที่อื่น...
     ๔. ....บุคคลนั้น ลาสิกขาเสีย...
     ๕. ....บุคคลนั้น ตายเสีย... เขาย่อมไม่คบหาภิกษุอื่นๆ เมื่อไม่คบหาภิกษุอื่นๆ ก็ย่อมไม่ได้สดับสัทธรรม เมื่อไม่ได้สดับสัทธรรม ก็ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม” (องฺ.ปญฺจก.22/250/300)

   เมื่อความเลื่อมใสศรัทธากลายเป็นความรัก ข้อเสียในการที่ความลำเอียงจะมาปิดบังการใช้ปัญญาที่เกิดขึ้นอีก เช่น

    “ภิกษุทั้งหลาย สิ่ง ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ คือ ความรักเกิดจากความรัก โทสะเกิดจากความรัก ความรักเกิดจากโทสะ โทสะเกิดจากโทสะ

    “ ฯลฯ โทสะเกิดจากความรักอย่างไร ? บุคคลที่ตนปรารถนา รักใคร่ พอใจ ถูกคนอื่นประพฤติด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ ดังนี้ เขาย่อมเกิดโทสะในคนเหล่านั้น ฯลฯ”  (องฺ.จตุกฺก. 21/200/290)


7

 
    แม้แต่ความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระศาสดาเอง  เมื่อกลายเป็นความรักในบุคคลไป ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้น หรือ อิสรภาพทางปัญญาในขั้นสูงสุดได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละเสีย แม้บางครั้ง จะต้องใช้วิธีค่อนข้างรุนแรง ก็ทรงทำ เช่น ในกรณีของพระวักกลิ ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธา ในพระองค์อย่างแรงกล้า อยากจะติดตามพระองค์ไปทุกหนแห่งเพื่อได้อยู่ใกล้ชิด ได้เห็นพระองค์อยู่เสมอ

    ระยะสุดท้ายเมื่อพระวักกลิป่วยหนัก อยากเฝ้าพระพุทธองค์ ส่งคนไปกราบทูล พระองค์ก็เสด็จมา และมีพระดำรัสเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางปัญญาแก่พระวักกลิ ตอนหนึ่งว่า

    พระวักกลิ:    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   เป็นเวลานานนักแล้ว   ข้าพระองค์ปรารถนาจะไปเฝ้า เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ร่างกายของข้าพระองค์ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปเฝ้าเห็นองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้”

    พระพุทธเจ้า: อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ เธอเห็นไป จะมีประโยชน์อะไร ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมนั่นแหละ วักกลิ จึงจะชื่อว่า เห็นเรา เมื่อเห็นเรา (ก็คือ) เห็นธรรม” (สํ.ข.17/216/146)


     นอกจากนั้น ความก้าวหน้าเพียงขั้นศรัทธา ยังไม่เป็นการมั่นคงปลอดภัย เพราะยังต้องเนื่องอาศัยปัจจัยภายนอก จึงยังเสื่อมถอยได้ ดังพุทธพจน์ว่า

     “ดูกรภัททาลิ   เปรียบเหมือนบุรุษมีตาข้างเดียว พวกมิตรสหายญาติสาโลหิตของเขา พึงช่วยกันรักษาตาข้างเดียวของเขาไว้ ด้วยคิดว่า อย่าให้ตาข้างเดียวของเขานั้นต้องเสียไปเลย ข้อนี้ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เธอประพฤติปฏิบัติเพียงด้วยศรัทธา เพียงด้วยความรัก พวกเราจักช่วยกันเร่งรัดเธอย้ำแล้วย้ำอีกให้กระทำการณ์โดยหวังว่า อย่าให้สิ่งที่เป็นเพียงศรัทธาเป็นเพียงความรักนั้นเสื่อมสูญไปจากเธอเลย นี้แล ภัททาลิ คือเหตุ คือปัจจัยที่ทำให้ ต้องคอยช่วยเร่งรัดภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ย้ำแล้ว ย้ำอีกให้กระทำการณ์”

5

    ลำพังศรัทธาอย่างเดียว เมื่อไม่ก้าวหน้าถึงขั้นปัญญาต่อไปตามลำดับ ย่อมมีผลอยู่ในขอบเขตจำกัดเพียงแค่สวรรค์เท่านั้น ไม่สามารถให้บรรลุจุดหมายของพุทธธรรมได้ ดังพุทธพจน์ว่า

   “ภิกษุทั้งหลาย   ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว   ซึ่งเป็นของง่าย   เปิดเผย  ประกาศไว้ชัด ไม่มีเงื่อนงำใดๆอย่างนี้

    227 สำหรับภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ...ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อจะบัญญัติต่อไป

    235 ภิกษุที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ได้แล้ว ย่อมเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ฯลฯ

    228 ภิกษุที่ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว มีราคะ โทสะ โมหะเบาบาง ย่อมเป็นสกทาคามี ฯลฯ

    234 ภิกษุที่ละสังโยชน์ ๓ ได้ ย่อมเป็นโสดาบัน ฯลฯ

    231 ภิกษุที่เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ย่อมเป็นผู้มีสัมโพธิ เป็นที่หมาย

    235 ผู้ที่มีเพียงศรัทธา มีเพียงความรักในเรา ย่อมเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่หมาย

15



    ในกระบวนการพัฒนาปัญญา   ที่ถือเอาประโยชน์จากศรัทธา  อย่างถูกต้อง  ปัญญาจะเจริญขึ้นโดยลำดับ   จนถึงขั้นเป็นญาณทัสสนะ คือเป็นการรู้การเห็น ในขั้นนี้ จะไม่ต้องใช้ความเชื่อ และความเห็นอีกต่อไป เพราะรู้เห็นประจักษ์กับตนเอง จึงเป็นขั้นที่ พ้นขอบเขตของศรัทธา ขอให้พิจารณาข้อความในพระไตรปิฎกต่อไปนี้

     ถาม:   ท่านมุสิล โดยไม่อาศัยศรัทธา ไม่อาศัยความถูกกับใจคิด ไม่อาศัยการเรียนรู้ตามกันมา ไม่อาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่อาศัยความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎี ท่านมุสิล มีการรู้จำเพาะตน (ปัจจัตตญาณ) หรือว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ?

    ตอบ:  ท่านปวิฏฐ์ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็นข้อที่ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี นี้ได้โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ... ความถูกกับใจคิด...การเรียนรู้ตามกัน มา...การคิดตรงองตามแนวเหตุผล...ความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎีเลยที เดียว

   (จากนี้ ถามตอบทัวข้ออื่นๆในปฏิจจสมุปบาท ตามลำดับ ทั้งฝ่ายอนุโลม ปฏิโลม จนถึงภวนิโรธเป็นนิพพาน)

 อีกแห่งหนึ่งว่า

    ถาม:   มีปริยายบ้างไหม   ที่ภิกษุจะใช้พยากรณ์อรหัตผลได้   โดยไม่อาศัยศรัทธา ไม่อาศัยความถูกกับใจชอบ ไม่อาศัยการเรียนรู้ตามกันมา ไม่อาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่อาศัยความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎี ก็รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว สิ่งที่ควรทำ ได้ทำแล้ว สิ่งอื่นที่ต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออยู่อีก ? ฯลฯ

     ตอบ:   ปริยายนั้นมีอยู่...คือ ภิกษุเห็นรูปด้วยตา ย่อมรู้ชัด ซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่ในตัวว่า ราคะ โทสะ โมหะ มีอยู่ในตัวของเรา หรือย่อมรู้ชัดชัด ซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ที่ไม่มีอยู่ในตัวว่า ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีในตัวของเรา

     ถาม:   เรื่องที่ว่า ...นี่    ต้องรู้ด้วยศรัทธา หรือด้วยความถูกกับใจชอบ หรือด้วยการเรียนรู้ตามกันมาหรือด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล หรือด้วยความเข้ากันได้กับการคิดทดสอบด้วยทฤษฎี หรือไม่ ?

    ตอบ:  ไม่ใช่อย่างนั้น

    ถาม:  เรื่องที่ว่า...นี้ ต้องเห็นด้วยปัญญา จึงทราบมิใช่หรือ ?

    ตอบ:  อย่างนั้นพระเจ้าข้า

    สรุป:  นี้เป็นปริยายหนึ่ง   ที่ภิกษุจะใช้พยากรณ์อรหัตผลได้  โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ฯลฯ

(จากนี้ ถามตอบไปตามลำดับอายนะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน จนครบทุกข้อ)


    เมื่อมีญาณทัสสนะ   คือการรู้การเห็นประจักษ์แล้ว  ก็ไม่ต้องมีศรัทธา  คือไม่ต้องเชื่อต่อผู้ใดอื่น   ดังนั้น  พุทธสาวกที่บรรลุคุณวิเศษต่างๆ จึงรู้และกล่าวถึงสิ่งนั้นๆ โดยไม่ต้องเชื่อต่อพระศาสดา  เช่น  ได้มีคำสนทนาถามตอบระหว่างนิครนถนาฎบุตร  กับ  จิตตคฤหบดี ผู้เป็นพุทธสาวกฝ่ายอุบาสกที่มีชื่อเสียงเชียวชาญในพระธรรมมากว่า

    นิครนถ์:   แน่ะท่านคฤหบดี   ท่านเชื่อพระสมณโคดมไหมว่า  สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่ ?

    จิตตคฤหบดี :   ในเรื่องนี้   ข้าพเจ้ามิได้ยึดถือด้วยศรัทธา  (มิได้เชื่อ)  ต่อพระผู้มีพระภาคว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก  ไม่มีวิจาร  มีอยู่  ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่

    ข้าพเจ้านี้  ทันทีที่มุ่งหวัง...ก็เข้าปฐฌานอยู่ได้...เข้าทุติยฌานอยู่ได้...เข้าตติยฌานอยู่ได้...เข้าจตุตถฌานอยู่ได้   ข้าพเจ้านั้น   รู้อยู่อย่าง่นี้   เห็นอยู่อย่าง่นี้   จึงไม่ยึดถือด้วยศรัทธาต่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดๆ ว่า สมาธิที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารได้ มีอยู่

   ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้   พระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาเป็นญาณทัสสนะถึงที่สุด จึงมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า   "อัสสัทธะ"   ซึ่งแปลว่า  ผู้ไม่มีศรัทธา  คือ ไม่ต้องเชื่อต่อใครๆ  ในเรื่องที่ตนรู้เห็นชัดด้วยตนเองอยู่แล้ว    ดังจะเห็นได้จากพุทธดำรัสสนทนากับพระสารีบุตรว่า

   พระพุทธเจ้า:   สารีบุตร   เธอเชื่อไหมว่า  สัทธินทรีย์  ที่เจริญแล้ว  กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่หมาย  มีอมตะเป็นที่สุด  วิริยินทรีย์...สตินทรีย์...สมาธินทรีย์...ปัญญินทรีย์  (ก็เช่นเดียวกัน)

   พระสารีบุตร:   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ในเรื่องนี้   ข้าพระองค์มิได้ยึดถือด้วยศรัทธา (เชื่อ) ต่อพระผู้มีพระภาค....

   แท้จริง คนเหล่าใด ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ทราบ ยังไม่กระทำให้แจ้ง ยังไม่มองเห็นด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น จึงจะยึดถือด้วยศรัทธาต่อผ้อื่น ในเรื่องนั้น

   ส่วนคนเหล่าใดรู้ เห็น ทราบ กระทำให้แจ้ง มองเห็นสิ่งนี้ด้วยปัญญา ชนเหล่านั้น ย่อมไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจ ในเรื่องนั้น...

   ก็ข้าพระองค์  ได้รู้  เห็น  ทราบ  กระทำให้แจ้ง  มองเห็นสิ่งนี้ด้วยปัญญาแล้ว ข้าพระองค์จึงเ็ป็นผู้ไม่มีความสงสัย  ไม่มีความแคลงใจ  ในเรื่องนั้นว่า  สัทธินทรีย์...วิริยินทรีย์...สตินทรีย์...สมาธินทรีย์...ปัญญินทรีย์ ที่เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่หมาย มีอมตะเป็นที่สุด

   พระพุทธเจ้า:  สาธุ สาธุ สารีบุตร ฯลฯ


284


 เพื่อสรุปความสำคัญและความดีเด่นของปัญญา ข้ออ้างพุทธพจน์ว่า

   "ภิกษุทั้งหลาย  เพราะเจริญ  เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์กี่อย่างหนอ  ภิกษุผู้ขีณาสพจึงพยากรณ์อรหัตผล  รู้ชัดว่า  "ชาติสิ้นแล้ว ....สิ่งอื่นที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้  ไม่มีเหลืออยู่อีก"

   "เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพจึงพยากรณ์อรหัตผลได้...อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์"

   "สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธาอันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้ วิริยะ...สติ...สมาธิ... อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้"

   อินทรีย์อื่นๆ  (คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ)  ลำพังแต่ละอย่างๆก็ดี หรือหลายอย่างรวมกัน แต่ขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ดี ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้

    "ภิกษุทั้งหลาย  รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใดๆ ก็ตาม  ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด  รอยเท้าช้าง  เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด บทธรรมทั้งหลายอย่าง่ใดๆ ก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ บทธรรมคือปัญญินทรีย์  เรียกได้ว่า  เป็นยอดของบทธรรมเหล่านั้น  ในแง่การตรัสรู้  ฉันนั้น"  (สํ.ม.19/1038-1043/305-6 ฯลฯ)

 



Create Date : 17 พฤษภาคม 2564
Last Update : 28 ธันวาคม 2566 10:06:39 น.
Counter : 1015 Pageviews.

0 comments
: หยดน้ำในมหาสมุทร 7 : กะว่าก๋า
(18 มี.ค. 2567 06:03:40 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 6 : กะว่าก๋า
(17 มี.ค. 2567 04:29:24 น.)
ใจเป็นตัววัดผล **mp5**
(17 มี.ค. 2567 07:42:40 น.)
สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ที่วัดนายโรง ณ พระพุทธเจดีย์สารีริกธาตุ นายแว่นขยันเที่ยว
(11 มี.ค. 2567 00:10:31 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด