ภาวนา

 

    เรื่องมีว่า    เช้าวันหนึ่ง สัจจกะ นิครนถบุตร ผู้มีชื่อเสียงเด่นดังมาก (เป็นอาจารย์สอนบุตรหลานของเจ้าลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี อรรถกถานิยมเรียกว่า สัจจกนิครนถ์) เดินมาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้พบและสนทนากับพระพุทธเจ้า เขาเริ่มต้นโดยยกเอาเรื่องกายภาวนา (การพัฒนากาย) และจิตตภาวนา (การพัฒนาจิต) ขึ้นมาพูด และกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ตามความคิดเห็นของเขา เหล่าสาวกของพระองค์เอาแต่ขะมักเขม้นประกอบจิตตภาวนา แต่ไม่ประกอบกายภาวนา (เอาแต่พัฒนาจิต ไม่พัฒนากาย)

   การที่สัจจกนิครนถ์ แสดงทัศนะขึ้นมาอย่างนี้ อรรกถาบอกภูมิหลังว่า เพราะเขาเห็นพระภิกษุพากันหลีกเร้นอยู่ในที่สงบ ไม่มีการทรมานร่างกาย เมื่อเขาแสดงความเห็นออกมาอย่างนี้

   พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า แล้วตามที่เขาเรียนรู้มา กายภาวนา (การพัฒนากาย) คืออย่างไร สัจจกนิครนถ์ก็ยกตัวอย่าง การบำเพ็ญตบะถือพรตต่างๆ ในการทรมานร่างกาย (อัตตกิลมถานุโยค) ว่านั่นแหละคือกายภาวนา

   พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า แล้วจิตตภาวนาล่ะ   เขาเรียนรู้มาว่าเป็นอย่างไร ?  ตรงนี้ สัจจกนิครนถ์ไม่สามารถอธิบายได้

   พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้แต่กายภาวนาที่เขาบอกมาก่อนนั้น   ก็ไม่ใช่กายภาวนา หรือพัฒนากายในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) นี่แม้แต่กายภาวนา เขายังไม่รู้ แล้วเขาจะรู้จิตตภาวนาได้จากที่ไหน

   จากนั้น จึงตรัสบอกให้สัจจกนิครนถ์ฟังคำที่จะทรงอธิบายว่า อย่างไรไม่เป็นภาวิตกาย ไม่เป็นภาวิตจิต และอย่างไรจึงจะเป็นภาวิตกาย อย่างไรจึงจะเป็นภาวิตจิต ดังจะยกความตอนที่เป็นสาระสำคัญมาดู

  “แน่ะอัคคิเวสสนะ (ชื่อโคตร/นามสกุลของสัจจกนิครนถ์) อย่างไร จึงจะเป็นภาวิตกาย และเป็นภาวิตจิต ? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้เรียนสดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถึงจะได้สัมผัสกับสุขเวทนา เขาก็ไม่ติดใคร่ใฝ่กระสันในสุข ไม่ถึงความเป็นผู้ติดใคร่ใฝ่กระสันในสุขเวทนา

   ครั้นสุขเวทนานั้นดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาสัมผัสกับทุกขเวทนาเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศกไม่ฟูมฟาย ไม่รำพัน ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอก ไม่ถึงความฟั่นเฟือนเลือนหลง

   “อย่างนี้แหละ อัคคิเวสสนะ เพราะเหตุที่ได้พัฒนากายแล้ว สุขเวทนานั้น ถึงแม้เกิดขึ้น ก็หาได้ครอบงำจิตตั้งอยู่ไม่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนาจิตแล้ว ทุกขเวทนา ถึงแม้เกิดขึ้น ก็หาได้ครอบงำจิตตั้งอยู่ไม่

   “นี่แน่ะอัคคิเวสสนะ สำหรับอริยสาวกผู้หนึ่งผู้ใด สุขเวทนาถึงแม้เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนากายแล้ว ทุกขเวทนาถึงแม้เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนาจิตแล้ว ครบทั้งสองข้าง อย่างนี้แล อัคคิเวสสนะ บุคคลจึงเป็นภาวิตกาย และเป็นภาวิตจิต” (ม.มู.12/405/437)



ภาวนา 4 คือ

   1. กายภาวนา    การเจริญกาย หรือพัฒนากาย คือ พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือ ทางกายภาพ (รวมทั้งเทคโนโลยี) โดยเฉพาะรับรู้สิ่งทั้งหลาย ทางอินทรีย์ 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ด้วยดี โดยปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้มีโทษ ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ

   2. ศีลภาวนา     การเจริญศีล หรือพัฒนาศีล คือ พัฒนาความประพฤติ พัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคม โดยตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลกัน

   3. จิตตภาวนา    การเจริญจิต หรือพัฒนาจิต คือ ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม เช่น มีเมตตา กรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิ และสดชื่น เป็นสุข ผ่องใส เป็นต้น

   4. ปัญญาภาวนา    การเจริญปัญญา หรือพัฒนาปัญญา คือฝึกอบรมพัฒนาปัญญา ให้เจริญงอกงาม จนเกิดความรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง โดยรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เท่าทัน เห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ ทำตนให้บริสุทธิ์ จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ มีชีวิตเป็นอยู่ แก้ไขปัญหา และทำการทั้งหลายด้วยปัญญาที่รู้ถึงเหตุปัจจัย


15

    เมื่อรู้ความหมายภาวนาที่เป็นเนื้อตัวของการปฏิบัติทั้ง 4 แล้ว ก็เข้าใจภาวิตที่เป็นคุณสมบัติของท่านผู้จบการปฏิบัติ ผู้มีธรรมทั้ง 4 ข้อนั้นแล้ว ดังนี้

  1.ภาวิตกาย   ผู้ได้เจริญกาย หรือมีกายที่พัฒนาแล้ว คือได้ฝึกอบรมพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือทางกายภาพ โดยรู้จักอยู่ดีมีสุขอย่างเกื้อกูลกันกับสิ่งสรรค์และธรรมชาติโดย เฉพาะให้การรับรู้ทางอินทรีย์ 5 เช่น ดู ฟัง เป็นไปด้วยสติและเพื่อปัญญา และให้การใช้สอยเสพบริโภคต่างๆ เป็นไปอย่างพอดี ที่จะได้คุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์จริง ไม่หลงใหลเตลิดเพริดไปตามอิทธิพลของความชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ไม่ลุ่มหลงมัวเมา มิให้เกิดโทษ แต่ให้เป็นคุณ มิให้ถูกบาปอกุศลครอบงำ แต่หนุนให้กุศลธรรมงอกงาม

   2.ภาวิตศีล    ผู้ได้เจริญศีล หรือมีศีลที่พัฒนาแล้ว คือได้พัฒนาความประพฤติมีพฤติกรรมดีงามในความสัมพันธ์ทางสังคม โดยตั้งอยู่ในระเบียบวินัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี ไม่ใช้กายวาจา และอาชีพในทางที่เบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ใครๆ แต่ใช้เป็นเครื่องพัฒนาชีวิตของตน และช่วยเหลือเกื้อกูลกันสร้างสรรค์สังคม

   3. ภาวิตจิต    ผู้ได้เจริญจิต หรือมีจิตใจพัฒนาแล้ว คือได้ฝึกฝนอบรมพัฒนาจิตใจให้สดใส เบิกบานร่าเริง ผ่องใสโปร่งโล่งเป็นสุขเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีน้ำใจเมตตา กรุณา ศรัทธากตัญญูกตเวทิตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขยันหมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน สงบมั่นคง มีสติ มีสมาธิ เป็นต้น

   4. ภาวิตปัญญา   ผู้ได้เจริญปัญญา หรือมีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือได้ฝึกฝนอบรมพัฒนาปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาและดับทุกข์ได้ปลดเปลื้องตนให้บริสุทธิ์ปลอดพ้นจากกิเลส มีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา โดยมีจิตใจเป็นอิสระสุขเกษมไร้ทุกข์
 



Create Date : 12 มิถุนายน 2564
Last Update : 12 มิถุนายน 2564 20:10:48 น.
Counter : 711 Pageviews.

0 comments
ความคด ความตรง ปัญญา Dh
(28 พ.ค. 2566 01:48:10 น.)
สร้างกำลังใจ **mp5**
(27 พ.ค. 2566 07:06:49 น.)
ไม่ได้เปล่า อธรรมหลอก ปัญญา Dh
(25 พ.ค. 2566 21:00:26 น.)
ไม่ได้อยู่กับเราตลอด นาฬิกาสีชมพู
(25 พ.ค. 2566 07:52:30 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด