สันโดษ ให้สันโดษ ไม่ให้สันโดษ



235 สันโดษดี - สันโดษไม่ดี  ไม่สันโดษไม่ดี - ไม่สันโดษดี


    (ความสัมพันธ์ระหว่างองค์ธรรม)   องค์ธรรมต่างๆทั้งหลายนั้น  จะมองโดดเดี่ยวจากกันไปไม่ได้    เราจะมองธรรมข้อนั้นข้อนี้ว่า   มันดีมันร้ายทันทีไม่ได้   เราต้องดูว่ามันไปสัมพันธ์ประกอบกันเข้ากับธรรมอื่นตัวไหน

   อย่าไปบอกว่ามันดี มันร้าย มันเป็นคุณหรือเป็นโทษทันที เราต้องดูตัวประกอบที่อยู่กับมันด้วย เช่น ความสันโดษ ไม่ใช่ว่าจะตัดสินทันที ว่าดีหรือร้าย


   สันโดษมี ทั้งคุณและโทษ แล้วแต่จะไปประกอบอยู่กับอะไร เราบอกว่าความเป็นอยู่เรียบง่ายดี แต่ต้องอะไร ยกตัวอย่าง เช่น ความเป็นอยู่ง่าย ถ้าไม่มากับความเพียร  ถึงจะมีความสุขดี แต่อาจจะเสื่อมอย่างเดียวได้


   การที่ทานให้เป็นอยู่ง่ายมีความ สันโดษเพื่ออะไร ก็เพื่อให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อ เป็นตัวเอื้อตัวเกื้อหนุนตัวให้โอกาสแก่การเพียรพยายามเพื่อเข้าถึงจุดหมาย อันประเสริฐที่มุ่งมั่นอยู่ในใจ ดังนั้น ความเป็นอยู่ง่าย จึงต้องควบมากับความเพียรมุ่งมั่น


   ถ้าเราไม่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย    ถ้าเราไม่สันโดษ เราจะหาโอกาสที่จะเพียรพยายามปฏิบัติการเพื่อเข้าถึงจุดหมายนั้นได้ยาก เพราะความห่วงกังวลหรือความวุ่นวายด้านอื่น จะมาแย่งเวลาเรี่ยวแรง และความคิดของเราไปเสีย


   แต่ถ้าเรามีความเป็นอยู่ง่ายเฉยๆ แล้วไม่มีเจ้าตัวความเพียรเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันประเสริฐเข้ามาผนวกอยู่ มันจะมีความโน้มเอียงที่จะเป็นตัวกล่อม ทำให้เพลินๆ สุขสบาย แล้วก็ติดจมอยู่กับที่ อย่างที่ว่า เราอยู่ง่ายๆ เป็นอย่างไรก็ได้ เอาอย่างไรก็ได้


   ถ้าอยู่ง่ายอย่างนี้ ต่อไปก็จะโน้มไปสู่ความมักง่าย พอมักง่ายแล้ว ทีนี้ อะไรที่ควรจะทำ ก็ไม่ทำ ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย อยู่อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น เสื้อผ้าไม่ต้องซักก็ได้ บ้านยังไงก็อยู่ได้ ง่ายไปง่ายมากลายเป็นมักง่าย ต่อไปถึงสกปรกอย่างไรก็อยู่ได้ ไม่มีระเบียบรุงรังอย่างไรก็อยู่ได้ ใครจะเป็นจะตายอย่างไรก็อยู่ได้ อย่างไรก็ได้ทั้งนั้น นี่แหละ อย่างไรก็ได้ มันจะเป็นโทษ ต้องระวัง


  เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมนี้ต้องระวัง ต้องมองหลายแง่หลายมุม ความสัมพันธ์ระว่างองค์ธรรมต่างๆ นี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ความสันโดษเป็นอยู่ง่ายในพระพุทธศาสนา จึงต้องมากับความเพียรเพื่อเข้าถึงจุดหมายอันประเสริฐ


   พระพุทธเจ้าทรงสันโดษเป็นอยู่ง่ายเพราะอะไร   เพราะจะได้ระดมพลังพุ่งเข้าสู่จุดหมายที่มุ่งมั่นได้เต็มที่ตลอดเวลา   ความสันโดษเป็นอยู่ง่าย   จึงมากับการทำความเพียรอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีตัวประกอบนี้มาประกบ   ความง่ายมันจะมากับความขี้เกียจ


  ความสันโดษเพื่ออะไร    ถ้าเรามองธรรมในเชิงความสัมพันธ์    เราต้องถามว่า สันโดษเพื่ออะไรแน่ หลายคนบอก สันโดษจะได้มีความสุข    ถ้าอย่างนี้อันตราย   นี่แหละจะนำไปสู่ความมักง่าย พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า สันโดษเพื่อความสุข แต่สันโดษแล้วเป็นสุข อันนั้นถูกต้อง


   สันโดษทำให้เป็นสุข   แต่ไม่ใช่สันโดษเพื่อความสุข   ความสุขเป็นผลตามมาของความสันโดษ เพราะว่าตามปกติ    ความสุขของคนเราอยู่ที่ความพอใจ สันโดษ เป็นความพอใจ เมื่อพอใจมันก็สุข เราไม่พอใจ ไม่มีความสันโดษ เราก็เร่าร้อน กระวนกระวาย เราก็ทะยานหา สิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ให้ความสุขแก่เรา   ความสุขของเราก็อยู่ข้างหน้าที่สิ่งซึ่งยังไม่ได้ตลอดไป  ในแง่นี้  ความสันโดษก็ทำให้เป็นสุข   แต่มันไม่ใช่วัตถุประสงค์

 ขอให้สังเกตว่า ธรรมทั่วๆไป พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหมวดเป็นชุด แต่บางทีพระพุทธเจ้าตรัสธรรมไว้ในคาถา   จะต้องเข้าใจว่าคาถาเป็นเครื่องแสดงคติสำหรับเน้นย้ำความหมายบางอย่าง หรือเตือนใจในบางแง่มุม   จะเอาความหมายสมบูรณ์ทีเดียวไม่ได้

  อย่างเช่นตรัสเป็นคาถาว่า  "สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ"   แปลว่า   ความสันโดษเป็นทรัพย์เยี่ยมยอด (ขุ.ธ.25/25)

  สันโดษที่ตรัสในคาถานี้ เป็นการจำเพาะลงไป ไม่บอกองค์ธรรมที่เกี่ยวข้อง

  แต่ในเวลาที่ตรัสเป็นข้อความบรรยาย   เป็นคำสอนยาวๆ เป็นร้อยแก้ว สันโดษจะมาในชุดหรือมีตัวประกอบอื่นอยู่ด้วย ขอให้สังเกตว่า สันโดษนั้นจะมากับความเพียร

   พระพุทธเจ้าตรัสสันโดษที่ไหน   จะตรัสความเพียรไว้ที่นั่น   ตรัสศรัทธาไว้ที่ไหน จะตรัสปัญญาไว้ที่นั่น    นี่คือตัวอย่างของธรรมที่โยงกัน   ที่จะต้องมาประกอบกัน นอกจากจะเป็นระบบดุลยภาพแล้ว ก็เป็นความสัมพันธ์ในเชิงจุดหมายด้วย

  อย่างศรัทธานี้ เพื่ออะไร ก็เพื่อปัญญา ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา และต้องเพื่อปัญญา ถ้ามิฉะนั้น    ศรัทธาก็เหลวไหลได้    ศรัทธาเหลวไหลมีมากมาย  บางทีงมงายไปเลย

  เพราะฉะนั้น    ถ้าศรัทธามาลำพัง   อย่าไปไว้ใจ   สันโดษมาลำพัง  ก็ไว้ใจไม่ได้ ต้องดูว่ามากับอะไร   สันโดษมากับความเพียร   ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักที่เรียกว่าอริยวงศ์ ๔ (เช่น องฺ.จตุกฺก.21/28) ว่า

   ๑. ภิกษุสันโดษในจีวร ตามมีตามได้

   ๒. ภิกษุสันโดษในบิณฑบาต ตามมีตามได้

   ๓. ภิกษุสันโดษในเสนาสนะ ตามมีตามได้

   ๔. ภิกษุเป็นผู้ยินดีในปหานะ และภาวนา   (ยินดี ใส่ใจ เพียรพยายาม ในการละอกุศล และเจริญกุศล เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ)   อันนี้สำคัญที่สุด

   สันโดษมาใน ๓ ข้อแรก สัมพันธ์กับสิ่งที่จะทำในข้อ ๔ อย่างไร หรือถามสั้นๆว่า ว่าทำไมจึงสันโดษ

   ก็ตอบว่า เพราะว่า สันโดษเป็นตัวช่วยสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ ถ้าภิกษุไม่สันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คือไม่สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุข เที่ยวแสวงหาอาหารดีๆ ฉัน วุ่นวายอยู่กับเรื่องวัตถุบำเรอความสุข

   ๑. เวลาหมดไปกับเรื่องเหล่านี้

   ๒. แรงงานหมดไปเพราะมัววุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้

   ๓. มัวครุ่นคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้สิ่งเหล่านี้มาเสพบริโภค เลยไม่เป็นอันเพียรพยายามทำหน้าที่

   แต่เมื่อภิกษุสันโดษในปัจจัย ๔ ตามีตามได้ เวลาก็เหลือ แรงงานก็เหลือ ความคิดก็เหลือ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาระดมทำกิจหน้าที่ของตน นอกจากนั้น ยังใจสบาย แล้วก็สงบ ไม่ห่วง ไม่พะวักพะวง ในเรื่องวัตถุ หันไปมุ่งหน้าที่ทำกิจหน้าที่ และสร้างสรรค์ความดีต่างๆได้อย่างแน่วแน่เต็มที่ ตอนนี้สันโดษก็มีผลตรงตามวัตถุประสงค์

   เพราะฉะนั้น สันโดษจึงมาคู่กับความเพียร คือความเพียรในการทำกิจหน้าที่ของตน แม้แต่คฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน   ถ้าเราไปมัววุ่นวายอยู่กับการแสวงหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว ก็จะไม่มีเวลา แรงงาน และความคิด ที่จะบำเพ็ญปฏิบัติทำงานสร้างสรรค์ จะวุ่นวายไปในการแสวหาความสุขส่วนตัว แล้วก็หมดเวลา หมดแรงาน หมดความคิดกับเรื่องเหล่านั้น กิจหน้าที่งานการสร้างสรรค์อันพึงทำก็ไม่เป็นอันทำ

   การทำความดี ทำประโยชน์สูงสุด เป็นไปไม่ได้ ถ้าคนไม่สันโดษ ไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงส่งที่เป็นนามธรรม แม้แต่การค้นคว้าหาความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องอาศัยความสันโดษ ถ้าไอน์สไตน์ไม่สันโดษ ก็เอาความรู้ที่ลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์มาให้แก่โลกไม่ได้

   อย่างไรก็ตาม    ต้องย้ำว่า สันโดษโดดเดี่ยว   เพื่อความสุข   ก็จบเหมือนกัน ก็ไม่ทำอะไร สันโดษแล้วพอใจ ฉันสุข-สบาย ก็เลยเข้ากับหลักที่ว่า ขี้เกียจ

  เพราะฉะนั้น    สันโดษทำให้คนขี้เกียจได้   ถ้าไม่มาผนวกกับธรรมที่เป็นคู่กัน

  พระพุทธเจ้าไม่ตรัสสันโดษไว้ลอยๆ   สันโดษต้องมีตัวต่อว่าสันโดษในอะไร พระพุทธเจ้าตรัสสันโดษไว้

- สำหรับภิกษุ ให้ใช้สันโดษกับปัจจัย ๔ ฉะนั้น

- สำหรับชาวบ้าน   สันโดษต้องมากับตัวต่อว่า สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ หรือในการหาความสุขส่วนตัว

   ทีนี้  ยังมีกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่ให้สันโดษ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว   พระพุทธเจ้าไม่เคยให้สันโดษเลย

  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า   ที่เราได้ตรัสรู้นี้   ได้เห็นคุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ

   ๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

   ๒. ความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร

   สองข้อนี้   เรียกว่า อุปัญญาตธรรม แปลว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็นคุณ ธรรม ๒ ข้อชุดนี้ เป็นหลักทั้งในพระสูตรและอภิธรรม ในพระอภิธรรม มีในมาติกา ชุด ๒ (องฺ.ทุก.20/251 อภิ.สํ.34/15)

   เพราะฉะนั้น ชาวพุทธ ถ้าใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษใช่ไหม อย่าเพิ่งรีบตอบ ต้องตอบเขาว่า   พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สันโดษในวัตถุบำเรอความสุข แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

   ต้องเน้นว่า ในสิ่งที่ดีงาม ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แล้ว ท่านไม่ยอมให้สันโดษเป็นอันขาด

  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

     "ภิกษุทั้งหลาย    เราไม่สรรเสริญ    แม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย    เราสรรเสริญเพียงอย่างเดียว คือ ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นในกุศลธรรมทั้งหลาย"


   พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอย่างเดียว คือ การไม่ยอมหยุดในการเจริญหรือพัฒนากุสลธรรม และมีคาถาในธรรมบทมาอ้างด้วย คือ พระพุทธเจ้าตรัสพระคาถาที่ลงท้ายว่า “วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ” (ขุท.ธ.25/29)  ภิกษุจะมีศีลวัตรดี จะได้เป็นพหูสูต จะได้ฌานได้สมาธิ จะได้บรรลุความสุขจากเนกขัมมะ คือเป็นอนาคามี หรือจะอะไรก็ตาม ตราบใดยังไม่สิ้นอาสวะ อย่าได้ถึงความวางใจ

   พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น   ขนาดเป็นอนาคามีแล้ว บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ตราบใดยังไม่สิ้นอาสวะ อย่าหยุด อย่าวางใจ

    เพราะ ฉะนั้น...จึงได้เล่าเรื่องพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระอริยบุคคลที่เป็นโสดาบัน เป็นต้น ได้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ง เกิดความสันโดษ คือเกิดความพอใจในธรรมที่บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระอริยบุคคลนั้น เป็นปมาทวิหารี คือเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท

   ให้สังเกตว่า   ขนาดพระอริยบุคคล บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิดสันโดษขึ้นมา ยังถูกตำหนิว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท (ขุ.ม.19/1601)

   ฉะนั้น ในเรื่องกุศลธรรม สิ่งดีงาม พระพุทธเจ้าไม่ให้เราหยุดเลย จึงเข้ากับหลักเรื่องการพัฒนาตนให้ก้าวหน้าเรื่อยไป

    ถ้าเราเข้าใจหลักเรื่องนี้แล้ว ความพอดีเป็นทางสายกลางก็จะเกิดขึ้น เป็นทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง มิฉะนั้น ธรรมต่างๆ จะคลาดเคลื่อนวุ่นวายไปหมด  แล้วแม้แต่กุศลธรรม ก็จะทำให้เกิดโทษ

10

พุทธธรรมมีหลายแง่หลายมุม   จับไม่ถูกก็เห็นสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งเอาได้

 



Create Date : 13 กรกฎาคม 2564
Last Update : 26 ธันวาคม 2566 17:58:56 น.
Counter : 926 Pageviews.

0 comments
: อดีต...ปล่อยมันไป : กะว่าก๋า
(10 ก.ย. 2567 04:35:33 น.)
คำศัพท์ ปัญญา Dh
(9 ก.ย. 2567 04:49:16 น.)
: เพราะรักนั่นแหละ : กะว่าก๋า
(5 ก.ย. 2567 04:22:22 น.)
: ได้โปรด : กะว่าก๋า
(4 ก.ย. 2567 04:03:10 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด