อาสภิวาจา


235 จากเทพสูงสุด  สู่ธรรมสูงสุด  มนุษย์พ้นอำนาจพรหม สู่ความเป็นพุทธ

   > อย่างที่เคยพูดว่า อินเดียมีสภาพเป็นอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล   เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา มีสัญลักษณ์การประสูติของพระพุทธเจ้า คือ อาสภิวาจา ที่พระองค์ได้เปล่งขึ้นว่า "อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส" แปลว่า "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก"

    พระวาจานี้ เมื่อเรารู้ภูมิหลังของสังคมอินเดีย เราก็บอกว่าเป็นวาจาประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมา

   หมายความว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวแทนของมนุษย์ ที่มองเห็นว่าแต่ก่อนนี้ คนมุ่งแต่จะรอความหวังจาการดลบันดาลของเทพเจ้า เชื่อว่าพระพรหมผู้สร้างบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างมนุษย์มาในวรรณะ ๔ มนุษย์จะเป็นอะไรอย่างไร ก็อยู่ใต้อำนาจดลบันดาลนั้น ต้องอ้อนวอนเอาใจเทพเจ้า ด้วยการบูชายัญบวงสรวงต่างๆ ความเชื่อและการเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่วิถีทางที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความเกษมสวัสดี

    ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงดึงประชาชนให้หันกลับมา โดยตรัสว่าให้มองดูความจริงของกฎธรรมชาติว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ไม่ใช่เป็นไปตามการดลบันดาลของสิ่งภายนอก เราจะต้องศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วทำเหตุปัจจัยด้วยความเพียรพยายามของเรา เมื่อเราต้องการผล ก็ต้องทำเหตุปัจจัยให้ตรง ให้พร้อม และให้พอ
 
    นี่คือการประกาศหลักธรรม และหลักกรรม ซึ่งก็คือการที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์

    ในวาจาที่ใช้นั้น คำว่า เชฏโฐ เดิมเขาใช้สำหรับพระพรหม เป็นคำแสดงคุณสมบัติของพรหมว่าเป็น เชฎโฐ คือ ผู้เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงเอามาใช้สำหรับพุทธ

    คำว่า “พุทธ” นี้ไม่ใช่หมายถึงตัวบุคคล แต่เป็นคำแสดงภาวะอุดมคติของมนุษย์ มนุษย์ที่ได้พัฒนาตนสูงสุด มีปัญญารู้ธรรม บรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว เราเรียกว่าเป็นพุทธ

   พุทธนี่แหละเป็น เชฏโฐ เป็นผู้เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาคำเรียกแสดงสถานะของพระพรหม มาใช้สำหรับพระพุทธเจ้า

   เพราะฉะนั้น จึงหมายความว่า พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ ให้มนุษย์เลิกฝากความหวังและโชคชะตาทั้งของชีวิตและสังคมไว้กับพระพรหม  เลิกขึ้นต่อเทพเจ้า และหันมากระทำการต่างๆด้วยการจัดการกับเหตุปัจจัย  โดยใช้ความเพียรพยายามของตน  ด้วยปัญญาแห่งพุทธะที่หยั่งรู้ความจริงแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น
 
 
หน้า ๔๔๙  451
 
รูปภาพของ จาริกบุญ จารึกธรรม


รู้จักพระพุทธศาสนามากขึ้นอีกนิดหนึ่ง หน้า ๓๐๓  450
 
235 พระพุทธเจ้าเสด็จมา ประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์

>  ในพระพุทธศาสนานี้ เราถือธรรมเป็นใหญ่   

     การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ ตรัสรู้อะไร ได้บอกแล้วว่าตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา คือธรรม ซึ่งเป็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตามธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ

     พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ความจริงของสิ่งทั้งหลายก็ดำรงอยู่อย่างนั้นเอง พระพุทธเจ้าของเรานี้ พระองค์มีปัญญา ทรงค้นพบความจริงนั้นแล้ว ก็มาประกาศทำให้ปรากฏขึ้น

     การค้นพบและประกาศธรรมคือความจริงนี้ ถือเป็นการปฏิวัติ เป็นการปฏิวัติทางความคิด การปฏิวัติทางความเชื่อ หรือการปฏิวัติทางปัญญา ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

     ทั้งนี้เพราะว่า โลกสมัยก่อน ตามความเชื่อถือของคนในยุคพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นนั้น ไม่ได้ถืออย่างนี้ เขาไม่ได้ถือธรรม เขาไม่ได้ถือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นกฎธรรมชาติตามธรรมดาของมัน แต่เขาถือว่ามันเป็นไปตามการดลบันดาลของเทพเจ้า มีเทพเจ้าอยู่เบื้องหลัง มีพระพรหม เป็นผู้สร้างผู้ปรุงแต่ง

     เรื่องการตรัสรู้นี้ ก็เลยโยงมาหาเรื่องการประสูติด้วย จึงขอพูดย้อนมาที่การประสูติอีกครั้งหนึ่ง

     เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น มีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่ง ตำนานเล่าว่า เจ้าชายสิทธัตถะองค์น้อยประสูติแล้ว ก็ดำเนินไปเจ็ดก้าว แล้วก็ได้เปล่งอาสภิวาจาว่า

       อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส   

     แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก 

     อันนี้ เรียกว่า วาจาอาจหาญ ภาษาบาลีเรียกว่า อาสภิวาจา วาจานี้มีความหมายอย่างไร

     การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ  หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าที่จะมีตามมา ถ้าไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะเกิดขึ้น  ก็ไม่มีพระพุทธเจ้า  การเกิดขึ้นของเจ้าชายสิทธัตถะนี้คือการเกิดมาเป็นมนุษย์ และมนุษย์ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้า  การเปล่งอาสภิวาจานี้  มีความหมายที่ถือว่าเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์

     ทำไมจึงว่า  การประสูติเป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์  เพราะว่าก่อนหน้านี้  มนุษย์ชาวชมพูทวีปนั้น  ฝากโชคชะตาชีวิตไว้กับพระพรหม และเทพเจ้าทั้งหลาย  ชาวอินเดียทั้งหลายเชื่อในพระพรหมว่า เป็นผู้สร้างโลก ปรุงแต่งทุกสิ่งทุกอย่าง

     ชีวิตและสังคมมนุษย์จะเป็นอย่างไร แล้วแต่พระพรหมจะบันดาล เพราะฉะนั้น คนเกิดมาก็ต้องเข้าอยู่ในวรรณะ ๔ ทันที เพราะว่าพระผู้เป็นเจ้าคือพระพรหมทรงจัดสรรสังคมมนุษย์ไว้เสร็จแล้ว

     พระพรหมนั้น ทรงจัดแบ่งมนุษย์ไว้เป็น ๔ พวก เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ

     พระองค์สร้างมนุษย์จำพวกหนึ่งขึ้นมาจากพระโอษฐ์ คือ ปากของพระองค์  มนุษย์จำพวกนี้เกิดมา เรียกว่า พราหมณ์

     แล้วพระองค์ก็สร้างมนุษย์อีกจำพวกหนึ่งขึ้นมาจากพระพาหา คือ แขนของพระองค์ พวกนี้เกิดมาแล้ว เป็นนักรบนักปกครอง เรียกว่า กษัตริย์

     ต่อนั้น พระองค์ก็สร้างมนุษย์อีกจำพวกหนึ่งขึ้นมาจากตะโพกของพระองค์ พวกนี้เดินทางเก่ง มาเป็นพ่อค้าพาณิช เที่ยวนำกองเกวียนไปค้าขายในที่ต่างๆ เรียกว่าวรรณะแพทย์

     ท้ายสุด พระองค์ก็สร้างมนุษย์อีกจำพวกที่สี่ขึ้นมาจากพระบาทของพระองค์ เกิดมาเป็นพวกรับใช้เขา เรียกว่า วรรณะศูทร

     พระผู้เป็นเจ้าสร้างมาเสร็จหมด   ทรงกำหนดให้คนเกิดมาต้องอยู่ในวรรณะ ๕ เหล่านี้ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครเกิดมาในวรรณะไหม ก็ต้องอยู่ในวรรณะนั้น และอยู่ใต้กฎเกณฑ์ประจำวรรณะนั้นไปตลอดชีวิต

     นอกจากนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนก็ต้องอ้อนวอนเทพเจ้า บวงสรวงเซ่นไหว้ ขอร้อง เอาอกเอาใจให้เทพเจ้าช่วยเหลือ ให้พ้นภัยหรือให้ได้ลาภผลที่ต้องการ ดังนั้น คนทั้งหลาย ก็เอาใจเทพเจ้า ด้วยการทำพิธีบวงสรวงอ้อนวอนกันไป

     แต่จะทำอย่างไรให้เทพเจ้าพอใจ มันไม่มีจุดกำหนดว่าแค่ไหนเทพเจ้าจะพอใจ ก็เลยปรุงแต่งวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้ากันไปกันมา กลายเป็นพิธีบูชายัญมากมาย และบูชากันไปกันมา พิธีบุชายัญก็ใหญ่โตขึ้นๆ

     พราหมณ์นี่ เขาเป็นเจ้าพิธี เขาถือว่าเขาเป็นผู้ติดต่อกับพระเจ้าเพราะว่าเป็นบุคคลพิเศษขั้นสูงสุด สร้างมาจากปากของพระพรหม เขามีหน้าที่สื่อสารระหว่างพระเจ้า กับ มนุษย์ และพระเจ้าก็ให้เขามีอำนาจที่จะกล่าวสอนคนอื่น แล้วพระพรหมก็ถ่ายทอดความรู้ความต้องการของพระองค์มาทางพวกพราหมณ์นี้

     พราหมณ์พวกนี้ ก็มากำหนดให้ชาวบ้านทำพิธีต่างๆ ว่าจะต้องทำพิธีบูชายัญอย่างนั้นอย่างนี้ ประดิษฐ์ปะดอยพิธีบูชายัญ จนกระทั่งในที่สุดถึงกับฆ่าสัตว์ฆ่ามนุษย์บูชายัญ เอาอกเอาใจกันขนาดนั้น

     นี่เป็นสภาพของมนุษย์ในยุคพุทธกาล   ที่เป็นไปตามอำนาจครอบงำของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีอิทธิพลในสังคมอินเดียมาจนกระทั่งบัดนี้

     อินเดีย เป็นสังคมที่มอบความไว้วางใจไว้กับเทพเจ้า ฝากความหวังไว้กับการดลบันดาลของเทพเจ้า สังคมที่หวังพึ่งเทพเจ้าจะเป็นอย่างไร ก็ให้ดูสังคมอินเดียเป็นตัวอย่าง

     พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา  ทรงมองเห็นสภาพอย่างนี้  พระองค์ทรงเห็นว่า สังคมอย่างนี้ไปไม่รอด และชีวิตก็ไปไม่รอด คือผู้คนมองออกไปแต่ข้างนอก คิดแต่ว่า  เอ ... พระเจ้าท่านจะว่าอย่างไร  เราจะเอาอกเอาใจท่านอย่างไรดี

     แทนที่จะคิดว่า ตัวเราจะต้องทำอะไร และ เราจะต้องทำอะไรกับตัวเรา สองอย่างนี้ คนไม่คิดเลย

     เมื่อต้องการอะไร  ก็คิดแต่เพียงว่า  เราจะไปหาเทพเจ้าองค์ไหน  เราจะไปเอาใจพระเจ้าอย่างไร เราจะขอท่านอย่างไร

     เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา อย่างที่ได้เคยเล่าไว้ให้ฟังแล้ว พระองค์ก็ทรงดึงจากเทพสู่ธรรม คือให้มนุษย์ดูว่า นี่นะท่านทั้งหลาย อย่ามัวไปมองข้างนอก อย่ามัวแต่มองไปที่เทพเจ้า สิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นไปตามธรรมดาคือเหตุปัจจัยของมัน ผลเกิดจากเหตุ ถ้าเราต้องการผลอะไร เราก็ทำเหตุเอา โดยศึกษาเหตุให้เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติตามเหตุนั้น ให้ดูที่ความจริง

5
  
235 ความเชื่อ (สัทธา) นี่กินลึกนัก  หากผู้นำสร้างภาพกล่อมคนในปกครองให้เชื่อตนโดยอ้างเทพเจ้าอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์นู่นนี่   จนคนเชื่อๆจนซึมลึกอยู่ในสายเลือดแล้ว  ผู้นำจะชักจูงไปทางทิศไหนๆก็ย่อมทำได้  บอกให้ร้องไห้ก็ร้องกันเป็นวรรคเป็นเวร ปท. ที่ปกครองแบบลัทธิเผด็จการก็ใช้ไม้นี้กับหมู่ชนในปกครองของตน

   แต่พระพุทธะนี่แปลกแยกจากเจ้าลัทธิศาสดาอื่น   แทนที่จะชักจูงให้คนมานับถือพระองค์  แต่กลับบอกกลับสอนให้คนยึดถือธรรมในฐานะสูงสุด   ตัวอย่างที่พูดกันบ่อยๆ  เช่น ที่สอนพระวักกลิ   และหลักศรัทธา

 



Create Date : 10 มิถุนายน 2564
Last Update : 27 มกราคม 2567 16:37:23 น.
Counter : 3259 Pageviews.

0 comments
: รูปแบบของความรู้สึก : กะว่าก๋า
(19 เม.ย. 2567 05:12:42 น.)
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 35 : กะว่าก๋า
(13 เม.ย. 2567 05:51:40 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 34 : กะว่าก๋า
(12 เม.ย. 2567 05:52:40 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด