แก้ปัญหาแบบพุทธ


235เนื่องจากหัวข้อล่าง

> วิธีแก้ปัญหาแบบพุทธ

   บางครั้งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า  พุทธศาสนาสอนให้แก้ปัญหาทุกอย่าง  แม้แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ภายในจิตใจเท่านั้น  ซึ่งน่าจะไม่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เพียงพอ  หรือได้ผลแท้จริง

   สำหรับข้อสังเกตนี้  ควรทำความเข้าใจแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ว่าโดยหลักการอย่างหนึ่ง ว่าโดยแง่เน้นของคำสอน หรือแง่ที่มีเนื้อหาคำสอนมากกว่า เด่นกว่า อย่างหนึ่ง

   ว่าโดยหลักการ วิธีการแก้ปัญหาแบบพุทธ มีลักษณะสำคัญ ๒ อย่าง คือ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง     เป็นการแก้ปัญหาของมนุษย์โดยฝีมือของมนุษย์เองอย่างหนึ่ง หรืออาจพูดรวมว่า เป็นการแก้ปัญหาของมนุษย์โดยมนุษย์เอง ที่ตรงตัวเหตุปัจจัย

   ที่ว่าแก้ตรงเหตุปัจจัย ก็ว่าเป็นกลางๆ ไม่จำกัดเฉพาะข้างนอก หรือข้างใน และที่ว่าแก้ปัญหาของมนุษย์โดยมนุษย์เอง    ก็จะเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้มนุษย์มองปัญหาของตนที่ตัวมนุษย์เอง ไม่ใช่มองหาเหตุและมองหาทางแก้ไปที่บนฟ้า หรือซัดทอดโชคชะตา และให้แก้ไขด้วยการลงมือทำ ด้วยความเพียรพยายามตามเหตุผล ไม่ใช่หวังพึ่งการอ้อนวอน หรือนอนคอยโชค เป็นต้น ดังได้เคยกล่าวแล้ว

   ว่าโดยแง่เน้นของคำสอน หรือส่วนที่มีเนื้อหาคำสอนมากกว่า เด่นกว่า ควรจะย้ำไว้ก่อนว่าพระพุทธศาสนาสอนให้แก้ปัญหา ทั้งด้านนอกด้านใน ทั้งทางสังคม และทางจิตใจของบุคคล คือ  มีคำสอนขั้นศีลเป็นด้านนอก กับ  ขั้นจิต และปัญญาเป็นด้านใน

   จากนี้จึงมาทำความเข้าใจกันต่อไปว่า เมื่อกล่าวตามแง่เน้นของคำสอนเท่าที่มีอยู่ เนื้อหาคำสอนที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์ ส่วนที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้านใน หรือด้านจิตปัญญา มีมากกว่าส่วนที่ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้านนอก หรือปัญหาทางสังคม เป็นต้น

   พูดอีกด้านหนึ่งว่า   เนื้อหาคำสอนเน้นด้านแก้ปัญหาทางจิตใจ   มากกว่าแก้ปัญหาทางสังคม หรือด้านภายนอกอย่างอื่น ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องธรรมดาโดยเหตุผล และควรจะเป็นเช่นนั้น ขอแสดงเหตุผลบางอย่าง เช่น

  โดยความคงตัวแห่งธรรมชาติของมนุษย์:   ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตด้านใน หรือปัญหาทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ล้วนๆมากที่สุด คือ มนุษย์ทุกถิ่นฐานกาลสมัย มีธรรมชาติของปัญหาทางจิตใจเหมือนๆ กัน ถึงจะต่างสังคมหรือสังคมจะต่างยุคสมัย ธรรมชาติทางจิตปัญญาของมนุษย์ ยังคงเป็นอย่างเดิม คือ มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์    ที่มีโลภ โกรธ หลง รักสุข เกลียดทุกข์ เป็นต้น อยู่อย่างเดียวกัน

    ส่วนปัญหาด้านนอกเกี่ยวกับสังคม มีส่วนหนึ่งเกี่ยวด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อยังเป็นมนุษย์  ก็จะมีลักษณะปัญหาเช่นนั้น    แต่ส่วนอื่นๆ นอกจากนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยอย่างอื่นๆในสภาพแวดล้อมซึ่งแตกต่างๆกันไปในส่วนรายละเอียดได้อย่างมากมายตามกาละและเทศะ

   โดยอาศัยความเป็นจริงเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง และเป็นอย่างที่ควรจะเป็นว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายในทางจิตปัญญาเป็นหลัก และมีคำสอนด้านนี้มากมาย   ส่วนการแก้ปัญหาด้านนอก     ด้านคำสอนระดับศีล     ทรงสอนแต่หลักกลางๆ ที่เนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์ เช่น การไม่ควรทำร้ายเบียดเบียนกัน ทั้งทางชีวิตร่างกาย ทรัพย์สินสิ่งหวงแหน ด้วยกาย หรือด้วยวาจา และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นต้น     ส่วนรายละเอียดนอกจากนั้น เป็นเรื่องแตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องของต่างถิ่น ต่างยุคสมัย  เป็นเรื่องของมนุษย์ที่รู้หลักการทั่วไปของการแก้ปัญหาแล้ว   จะพึงวางหลักเกณฑ์วิธีการจัดการแก้ไขตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะไปวางบทบัญญัติไว้ให้มนุษย์เป็นการตายตัว

    ว่าที่จริง ในทางปฏิบัติก็มีตัวอย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงวางระบบการแก้ปัญหาของมนุษย์ในด้านภายนอก คือ ในทางสังคมไว้ คือ สังคมสงฆ์ หรือ ภิกษุสงฆ์   ที่ได้ทรงตั้งขึ้นเอง  พระองค์ได้ทรงบัญญัติวินัย ซึ่งเป็นระบบการแก้ปัญหาจากด้านนอก  ในแง่สังคมไว้เป็นอันมาก  ให้เหมาะกับความมุ่งหมายจำเพาะของการมีสังคมสงฆ์นั้น และให้เหมาะกับการดำรงอยู่ด้วยดีของสังคมสงฆ์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น และยุคสมัยนั้น

   ผู้ศึกษาพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบัน มักมองข้ามวินัยไป ถ้าเข้าใจสาระของวินัยแล้ว จะมองเห็นแนวความคิดของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภายนอกในระดับสังคมได้

   ขอย้ำว่า    ถ้าไม่ศึกษาพระวินัยปิฎก   (เฉพาะอย่างยิ่งส่วนนอกปาติโมกข์) จะไม่เข้าใจแนวความคิดทางสังคมของพระพุทธศาสนาได้เลย

   เป็นการไม่สมเหตุสมผล    ที่จะให้พระพุทธเจ้าทรงวางระบบที่มีรายละเอียด ไว้พร้อมให้แก่ชุมชนอื่น โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวแปรของต่างถิ่นต่างสมัยนั้นๆ

   ผู้เข้าใจสาระสำคัญของหลักการนี้แล้ว    ย่อมจะจัดวางระบบสำหรับจัดการกับปัญหาและเรื่องราวในสังคมแห่งยุคสมัยของตนได้เอง

   ดังเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อจะทรงสถาปนาธรรมวิชัยในราชอาณาจักร คำสอนของพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวกับปัญหาด้านในของจิตปัญญา พระองค์ก็ย่อมไม่ต้องการทรงแตะต้องอีก เพียงแต่ส่งเสริมให้เผยแพร่คำสอนที่แท้จริง ด้วยวิธีและทำนองที่สอดคล้องกับกาลสมัย

   แต่ส่วนเรื่องภายนอก ด้านสังคม พระองค์นำแต่คำสอนที่เป็นกลางๆ มาตั้งเป็นตัวหลัก แล้วทรงจัดวางระบบแบบแผน วิธีปกครองและดำเนินกิจการต่างๆ ขึ้นใหม่ให้ได้ผลสำหรับยุคสมัยนั้น

   โดยความเป็นเอก หรือความชำนาญพิเศษ:     การแก้ปัญหาจากภายนอก หรือทางด้านสังคมนั้น นอกจากขึ้นต่อปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ต่างกันของถิ่น และยุคสมัยแล้ว   ยังมีศิลปะวิทยาการ และระบบการอื่นๆ เอาใจใส่ เป็นเจ้าของเรื่องกันอยู่อีกมากมาย

   แต่ในทางตรงข้าม ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตด้านในทางจิตปัญญาของมนุษย์ กลับได้รับความเอาใจใส่จากศิลปะวิทยาการทั้งหลายน้อยกว่า และเป็นแดนที่ศิลปะวิทยาการทั้งหลายเข้าไม่ค่อยถึง

  พระพุทธศาสนา ถือปัญหาระดับนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรเอาใจใส่มากด้วย ยิ่งถูกวงการอื่นทอดทิ้ง ก็ยิ่งควรเอาใจใส่มาก และเป็นแดนที่พุทธศาสนาเข้าถึงเป็นพิเศษด้วย

  โดยความลึกซึ้ง ยากและเป็นแก่นแท้ของชีวิต:     ปัญหาทางจิตปัญญา เป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อน เข้าใจยากกว่าปัญหาภายนอกทั้งหลายเป็นอันมาก ถ้าเรื่องราวภายนอกใช้เวลาอธิบายหรือชี้แจงสัก  ๑  ชั่วโมง  เรื่องทางจิตปัญญา บางทีอาจต้องใช้เวลาอธิบายสัก ๑๐  ชั่วโมง และต้องเน้นต้องย้ำกันอยู่เรื่อยๆ การมีคำสอนด้านนี้ ในอัตราที่สูงกว่าคำสอนเกี่ยวกับปัญญาภายนอก จึงเป็นเรื่องธรรมดา

   อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงถือว่าประโยชน์ทางจิตปัญญานี้เป็นแก่นสารเนื้อแท้ของชีวิต เมื่อเกิดมามีชีวิตแล้ว     ก็ควรพยายามให้ได้ให้ถึง   ไม่ให้สูญสิ้นชีวิตไปเปล่า และคนก็ไม่ใคร่มองเห็น

   เมื่อเช่นนี้   ก็จึงเป็นธรรมดา ที่จะต้องทรงเน้นย้ำมาก ส่วนประโยชน์ด้านภายนอก คนทั้งหลายเขาใฝ่ปรารถนากันอยู่แล้ว ถึงไม่เน้นย้ำอีก ก็พอแก่การอยู่แล้ว

   โดยความเนื่องถึงกันแห่งทุกด้านของชีวิต:   ความจริงปัญหาของมนุษย์ไม่ว่าด้านนอกหรือด้านใน ก็กระเทือนถึงกันทั้งหมด และในการแก้ปัญหาแต่ละอย่าง ไม่ว่านอกว่าใน ชีวิตทุกด้านของมนุษย์ ก็ต้องเข้าเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้น

   ยิ่งมาคำนึงว่า ชีวิตด้านในของมนุษย์เป็นหลักยืนอยู่ และเป็นพื้นฐานสำคัญอยู่ในส่วนลึก มีอิทธิพลต่อการแก้ปัญหาภายนอกอย่างมาก เช่น เมื่อจิตใจลุ่มหลงมัวเมา   ก็มองปัญหาไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อกระแสความคิด และปัญญาถูกอิทธิพลของอวิชชาตัณหาครอบงำ หรือถูกตัณหามานะทิฏฐิบิดเบือน ชักให้เอนเอียง ก็ไม่อาจพิจารณาปัญหาอย่างถูกต้อง นอกจากแก้ผิดพลาด บางทีอาจขยายปัญหา หรือเพิ่มปัญหาใหม่ขึ้นอีกก็ได้

  ดังนั้น การชำระจิต และการทำปัญญา ให้บริสุทธิ์ ไม่บิดเบือน ไม่เอนเอียง จึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการแก้ปัญหาทุกอย่าง ทั้งภายนอกและภายในทุกถิ่นสมัย

   ถ้ามนุษย์แก้ปัญหาไม่ถึงระดับจิตปัญญานี้ ก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหา แม้แต่ระดับสังคม หรือภายนอกให้ได้ผลแท้จริงได้      ถ้าแก้ปัญหาพื้นฐานระดับจิตปัญญานี้ได้   การแก้ปัญหาภายนอกก็จะง่ายขึ้นอย่างมาก

   พุทธศาสนาเน้นการแก้ปัญหาถึงขั้นพื้นฐาน คือ ถึงระดับแห่งจิตปัญญา ดังที่กล่าวมาแล้ว

   โดยความต่างแห่งระดับการดำเนินชีวิต:    พระพุทธศาสนาถือว่า สังคมประกอบด้วยมนุษย์ ที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาในระดับต่างๆกัน นอกจากนั้น ยังมีสังคมย่อย หรือ ชุมชนต่างๆ ซ้อนอยู่ภายใน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สมัครใจเข้าไปดำรงชีวิตในระดับที่แตกต่างกัน เช่น มีสังคมคฤหัสถ์ กับ สังคมสงฆ์เป็นต้น

    ลองมองแค่นี้เป็นตัวอย่าง ก็เห็นง่ายๆแล้วถึงความแตกต่างกันที่ว่านั้น ดังปรากฏอยู่ว่า ชีวิตในสังคมคฤหัสถ์ เน้นด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และการงานหาหาเลี้ยงชีพ ส่วนชีวิตในสังคมสงฆ์ เน้นด้านจิตปัญญา

   เมื่อมองดูสังคมสงฆ์ แม้ว่าจะมีวินัย ที่ใช้วิธีแก้ปัญหาจากแง่ของสังคม แต่ว่าโดยการเปรียบเทียบ ก็ยังเน้นด้านจิตปัญญาข้างในมากกว่า และเน้นด้านนอกน้อยกว่าสังคมคฤหัสถ์

   โดยนัยนี้    ถ้าใครจะดูคำสอนสำหรับภิกษุแล้ว เอาเป็นมาตรฐานวัดว่า พุทธศาสนาสอนให้คนทั่วไปใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างนั้น ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง

   โดยธรรมดาของธรรมชาติแห่งสรรพสัตว์:    ข้อนี้ขอทวนย้ำรวมไว้ด้วย    พระพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ขึ้นต่อการฝีกหัดพัฒนาตน และเป็นธรรมดาของธรรมชาติที่ว่า ในเวลาเดียวกันของขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในระดับการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน ทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา เขาจึงมีความต้องการของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ทั้งทางวัตถุ และทางนามธรรม รวมทั้งความต้องการด้านความสุข

   จะต้องยอมรับความจริงแห่งความแตกต่างของมนุษย์ดังที่ว่านี้ และยอมรับสังคมและโลก อันมีมนุษย์ที่ต่างกันในระดับของการพัฒนานี้ การขืนคิดทำให้โลกหรือสังคมมีมวลมนุษย์ที่ต้องอยู่ต้องเป็นอย่างเดียวกัน ไม่ใช่ความถูกต้อง ไม่ดีแก่ใครๆและไม่อาจเป็นไปได้


  ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ จะต้องจัดการทั้งทางวัตถุ ทางสังคม และทางจิตปัญญา ให้เหมาะกันและเกื้อกูลที่จะสนองความต้องการเท่าที่ชอบธรรมแก่คนทั้งหลาย ที่ต่างระดับการพัฒนากันนั้นๆ อย่างทั่วถึง ที่จะให้มนุษย์ที่ต่างระดับการพัฒนาเหล่านั้น ต่างก็เป็นสุข และอยู่ร่วมกันผาสุก

   แต่พร้อมกันนั้น ซึ่งเว้นไม่ได้ คือ การสนองความต้องการเสมอภาคมวลรวมของมนุษยชาติ อันได้แก่ความต้องการของชีวิตตามธรรมดาแห่งธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่จะต้องฝึกหัดพัฒนา คือ จะต้องจัดการระบบชีวิตและสังคม ตลอดถึงทั้งโลก ให้เอื้อให้หนุนให้ขับดันต่อการพัฒนาตนของมนุษย์ทุกคนเหล่านั้น เพื่อให้เขามีโอกาสลุถึงจุดหมายสูงสุดของการพัฒนาชีวิต จนถึงแม้กระทั่งจะมีจิตปัญญาที่สมบูรณ์

   ถ้าครบตลอดมาถึงตรงนี้ ก็คือสอดคล้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา

   ในที่สุดหันกลับไปย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า:   พุทธศาสนาสอนให้แก้ปัญหาของมนุษย์ โดยมนุษย์เอง ที่ตรงตัวเหตุปัจจัย และพูดเช่นนี้อย่างเป็นกลางๆ ไม่ได้จำกัดจำเพาะว่าจะแก้แต่ข้างใน หรือแก้แต่ข้างนอก คือ แล้วแต่เหตุปัจจัย

   ควรจะย้อนกลับออกไปด้วยซ้ำว่า ศิลปวิทยา และระบบการทั้งหลายเท่าที่มีอยู่นี้ต่างหาก ที่มักมุ่งแต่จะแก้ปัญหาที่ข้างนอกอย่างเดียว ด้านเดียว   มองข้ามการแก้ปัญหาด้านภายในไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง อันนับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สมบูรณ์

   อาจพูดอีกอย่างหนึ่งว่า   การแก้ปัญหาตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่แก้ที่ข้างนอก หรือแก้ที่ข้างในอย่างเดียว แต่ให้แก้ตั้งแต่ข้างในออกมาทีเดียว

   หมายความว่า  มิใช่จะแก้กันแต่ข้างในอย่างเดียว ต้องแก้ข้างนอกด้วย และมิใช่จะแก้แต่ข้างนอกอย่างเดียว ต้องแก้ข้างในด้วย คือ แก้หมด แก้ที่เหตุปัจจัย ไม่ว่าข้างนอก หรือข้างใน.


 
 5

ศีลแก้ข้างนอก  จิตปัญญา  แก้ข้างใน  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  

 



Create Date : 02 มิถุนายน 2564
Last Update : 27 ธันวาคม 2566 10:59:42 น.
Counter : 527 Pageviews.

0 comments
หลักของสติ **mp5**
(16 เม.ย. 2567 12:14:57 น.)
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 34 : กะว่าก๋า
(12 เม.ย. 2567 05:52:40 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 32 : กะว่าก๋า
(10 เม.ย. 2567 06:04:44 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Samathijit.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]

บทความทั้งหมด