อินทรีย์ภาวนาแบบอารยชน เรื่องมีว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่ป่าไผ่ ในกชังคลนิคม อุตตรมาณพ ศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ เข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสถามเขาว่า ปาราสิริยพราหมณ์สอนการพัฒนาอินทรีย์ภาวนาแก่เหล่าสาวกใช่ไหม เมื่อเขารับว่าใช่ พระองค์ก็ตรัสถามว่า ปาราสิริยพราหมณ์สอนการพัฒนาอินทรีย์อย่างไร เขาทูลตอบว่า ปาราสิริยพราหมณ์สอนการพัฒนาอินทรีย์โดยไม่ให้เอาตาดูรูป ไม่ให้เอาหูฟังเสียง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าถือตามหลักที่พราหมณ์นี้สอน คนตาบอด คนหูหนวก ก็เป็นภาวิตินทรีย์ (ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว) ละสิ จากนั้น พระองค์ตรัสว่า การพัฒนาอินทรีย์อย่างที่ปาราสิริยพราหมณ์สอนนั้น เป็นคนละอย่างต่างจากอินทรียภาวนา อย่างยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) พระอานนท์ จึงทูลขอให้ทรงแสดงหลักอินทรียภาวนา อย่างยอดเยี่ยมในอริยวินัยนั้น และได้ตรัสดังรวมใจความมาดังนี้ (ความอุปมายาวๆได้ละเสีย) อินทรียภาวนา: “ดูกรอานนท์ ก็อินทรียภาวนา อย่างยอดเยี่ยม ในวินัยของอริยชน เป็นอย่างไร? ดูกรอานนท์ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอรู้ชัด (รู้เท่าทัน) อย่างนี้ว่า สภาพที่น่าชอบใจ สภาพที่ไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งที่น่าชอบใจ และไม่น่าชอบใจเกิดขึ้นแล้วแก่เราเช่นนี้ ก็แต่ว่าสภาพที่น่าชอบใจ สภาพที่ไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ เป็นภาวะปรุงแต่งเป็นของหยาบอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สภาวะนี้จึงสงบ สภาวะนี้จึงประณีต กล่าวคืออุเบกขา (ใจเฉยโดยตระหนักรู้อยู่ในดุล) สภาพที่น่าชอบใจ สภาพที่ไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้นก็ดับหาย อุเบกขาตั้งได้ที่สนิท ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ที่สภาพที่น่าชอบใจ สภาพที่ไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งที่น่าชอบใจ และไม่น่าชอบใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับหาย อุเบกขาตั้งได้ที่สนิทโดยเร็ว โดยพลันทันทีโดยไม่ยากลำบาก เหมือนดังบุรุษ มีตาดี ลืมตาแล้วหลับตา หรือหลับตา แล้วลืมตา ![]() “ดูกรอานนท์ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก เพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะดมกลิ่นด้วยจมูก...เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น...เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ (ทำนองเดียวกับข้อก่อน) ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ที่สภาพที่น่าชอบใจ สภาพที่ไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับหาย อุเบกขาตั้งได้ที่สนิท โดยเร็ว โดยพลันทันที โดยไม่ยากลำบาก เหมือนดังบุรุษมีกำลัง เอาหยาดน้ำสองหรือสามหยาด หยดลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน การหยดลงไปแห่งหยาดน้ำนั้น ยังช้า ไม่ทันทีหยาดน้ำนั้น ก็ถึงความเหือดหายหมดสิ้นไป ฉับพลัน ทันใด โดยแน่แท้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อินทรียภาวนาในธรรมารมณ์ ที่รู้ได้ด้วยใจ อันยอดเยี่ยม ในวินัยของอริยชน ![]() ![]() ภาวิตินทรีย์ (ผู้ศึกษาพัฒนาจบแล้ว): “ดูกรอานนท์ ก็พระอริยะผู้ภาวิตินทรีย์ (ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว) เป็นอย่างไร ? ดูกรอานนท์ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอนั้น หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้ หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้ หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ทั้งสองอย่าง มีอุเบกขาอยู่ โดยมีสติสัมปชัญญะ ก็มีอุเบกขาในสิ่งนั้นๆ อยู่โดยมีสติสัมปชัญญะได้ “ดูกรอานนท์ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก เพราะได้ยินเสียงด้วยหู...เพราะดมกลิ่นด้วยจมูก...เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น...เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...เพราะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอนั้น....หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ทั้งสองอย่าง มีอุเบกขาอยู่โดยมีสติสัมปชัญญะ ก็มีอุเบกขาในสิ่งนั้นๆอยู่โดยมีสติสัมปชัญญะได้ ![]() ![]() คำว่า "ปฏิกูล" ไม่พึงมองความหมายแคบๆ อย่างที่มักเข้าใจทำนองว่าสกปรก ยกตัวอย่างตามที่ท่านอธิบายไว้ เช่น คนหน้าตาไม่ดี มีกิริยาอาการไม่งาม เรามองด้วยเมตตา หรือของไม่สวย เรามองตามสภาวะของธาตุ ให้เห็นเป็นน่าชื่นชม หรือสบายตา ก็เรียกว่า หมายรู้ในของปฏิกูล เป็นไม่ปฏิกูล คนหรือของที่เห็นกันว่าสวยงาม เรามองด้วยอนิจจตา หรือตามสภาวะของธาตุ ก็กลายเป็นไม่สวยงาม อย่างนี้ก็เรียกว่า หมายรู้ในของไม่ปฏิกูล เป็นปฏิกูล (ดูคำอธิบายใน ขุ.ปฏิ.๓๑/๖๙๐/๕๙๙) ![]() พุทธธรรมดีล้ำเกินสติปัญญามนุษย์ทั่วๆไป |
บทความทั้งหมด
|