มงคล ๓๘ ประการ มงคล สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรม ที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ, มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุด) ๓๘ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคลสูตร (ขุ.ขุ.25/5/3 ฯลฯ) มีดังนี้ คาถาที่ ๑ = ๑. อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล ๒ . ปญฺฑิตานญฺจ เสวนา คบบัณฑิต ๓. ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ควรบูชา คาถาที่ ๒ = ๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ อยู่ในปฏิรูปเทส, อยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ๕. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น ๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ ตั้งตนไว้ชอบ คาถาที่ ๓ = ๗ พาหุสจฺจญฺจ เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ๘. สิปฺปญฺจ มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน ๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี ๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี คาถาที่ ๔ = ๑๑ มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ บำรุงมารดาบิดา ๑๒/๑๓ ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = สงฺคห สงเคราะห์บุตร และ ทารสงฺคห สงเคราะห์ภรรยา ๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่อากุล คาถาที่ ๕ = ๑๕. ทานญฺจ รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ ๑๖. ธมฺมจริยา จ ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม ๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห สงเคราะห์ญาติ ๑๘ อนวชฺชานิ กมฺมานิ การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์ ไม่เป็นทางเสียหาย คาถาที่ ๖ = ๑๙ อารดี วิรตี ปาปา เว้นจากความชั่ว ๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม เว้นจากการดื่มน้ำเมา ๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย คาถาที่ ๗ = ๒๒ คารโว จ ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม ๒๓. นิวาโต จ ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน ๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ, ความเอิบอิ่ม พึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรม ๒๕. กตญฺญุตา มีความกตัญญู ๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงความรู้ ในเรื่องที่แสดงหลักความจริง.. คาถาที่ ๘ = ๒๗. ขนฺตี จ มีความอดทน ๒๘. โสวจสฺสุตา เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส ๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับ หลักความจริงและหลักความถูกต้องดีงาม คาถาที่ ๙ = ๓๑. ตโป จ มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก ๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร ๓๓. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ เห็นอริยสัจจ์, เข้าใจความจริงของชีวิต ๓๔. นิพพานสจฺฉิกิริยา จ ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน คาถาที่ ๑๐ = ๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ ถูกโลกธรรมกระทบแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ๓๖. อโสกํ จิตไร้เศร้า ๓๗. วิรชํ จิตปราศจากธุลี ๓๘. เขมํ จิตเกษม ตำนานมงคลสูตร ตำนาน มงคลสูตรมาในขุทกปาฐะ ขุทกนิกาย เป็นพระพุทธดำรัสตรัสแก่เทวดาผู้ทูลถามสิ่งที่เป็นมงคล จึงโปรดแสดงข้อธรรม ๓๘ ประการ เป็นมงคลภายใน มูลเหตุที่เทวดาไปทูลถามที่พระพุทธเจ้านั้น พระอรรถกถาจารย์เล่าเรื่องไว้ว่า ดังได้สดับมา ประชาชนชาวชมพูทวีปมักประชุมฟังกถา คือ ถ้อยคำที่แสดงเรื่องราวต่างๆ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น ส่วนสถานที่ประชุม ก็ใช้ศาลาข้างประตูเมืองบ้าง สัณฐาคาร (ศาลากลางบ้าน) บ้าง สภา (หอประชุม) บ้าง ผู้แสดงมิได้แสดงเปล่า ได้รับเงินทองเป็นรางวัลตามสมควร เรื่องที่แสดงนั้น บางเรื่องกินเวลานานถึง ๔ เดือนจบก็มี วันหนึ่งมงคลกถา (การพูดปรารภถึงมงคล) เกิดขึ้น คือ เกิดปัญหาว่า อะไรเป็นมงคล ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหายาก เพราะมีผู้ตอบได้ แต่เป็นปัญหายุ่ง เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ เป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี คิดค้นโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในหมู่มนุษย์ แพร่ไปถึงเทวดาด้วย และไม่เพียงแต่ในจักรวาลนี้ แพร่ไปทั่วทุกจักรวาลทีเดียว แต่เมื่อสรุปแล้ว แตกต่างกันเป็น ๓ พวก ซึ่งก็ล้วนแต่ถือมงคลภายนอกทั้งนั้น ดังนี้ พวกที่ ๑ เรียกว่า ทิฏฐมังคลิกะ ถือสิ่งที่ได้เห็นคือรูป ซึ่งสมมุติกันว่าดีงามเป็นมงคล เช่น ตื่นนอนลุกขึ้นแต่เช้า ได้เห็นนกนางแอ่น มะตูม หญิงมีครรภ์ เด็กแต่งตัวสวย หม้อน้ำเต็ม ปลาตะเพียนแดงสด ม้าอาชาไนย รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย พ่อโค แม่โค โคแดง ฯลฯ อย่างนี้เป็นมงคล เรียกว่า ทิฏฐมงคล พวกที่ ๒ เรียกว่า สุตมังคลิกะ ถือสิ่งที่ได้ยินคือเสียง ซึ่งสมมุติกันว่าดีงามเป็นมงคล เช่น ตื่นนอนลุกขึ้นแต่เช้า ได้ฟังเสียงที่สมมติว่าดีงามเป็นมงคลยิ่ง เป็นต้นว่า เสียงว่า เจริญแล้ว กำลังเจริญแล้ว เต็ม ขาว ดีใจ สิริ เจริญศรี วันนี้ฤกษ์ดี ยามดี วันดี มงคลดี ฯลฯ อย่างนี้ เป็นมงคล เรียกว่า สุตมงคล พวกที่ ๓ เรียกว่า มุตมังคลิกะ ถือสิ่งที่ได้ทราบทาง จมูก ทางลิ้น ทางกาย คือ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่สมมติว่าดีงามเป็นมงคล เช่น ตื่นนอนลุกขึ้นแต่เช้า ได้สูดดมกลิ่นดอกไม้หอม มีดอกปทุม เป็นต้น หรือได้เคี้ยวไม้สีฟันขาว ได้แตะต้องแผ่นดิน ข้าวกล้าเขียว มูลโคสด เต่า เกวียนบรรทุกงา ดอกไม้ ผลไม้ ได้ลูบไล้ดินขาว ได้นุ่งผ้าขาว ได้ใช้ผ้าโพกขาว ฯลฯ อย่างนี้เป็นมงคล เรียกว่า มุตมงคล ในที่สุด เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้สติขึ้นก่อนว่า เทวราชาของตน คือ พระอินทร์เป็นผู้มีบุญมีปัญญา ควรจะไปทูลถามให้ทรงวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงพร้อมกันไปเฝ้า ทูลความว่า มงคลปัญหาเกิดขึ้นนานแล้ว พวกหนึ่งว่าสิ่งที่ได้เห็นเป็นมงคล พวกหนึ่งว่าสิ่งที่ได้ยินเป็นมงคล พวกหนึ่งว่าสิ่งที่ได้ทราบทางจมูก ลิ้น กาย เป็นมงคล ไม่ตกลงกันได้ ขอให้ทรงวินิจฉัยปัญหาเรื่องนี้ด้วย พระอินทร์ถามว่า มงคลนี้เกิดที่ไหนก่อน ก็ได้ความว่าเกิดในมนุษยโลกก่อน ตรัสต่อไปเป็นใจความว่า เมื่อมงคลกถาเกิดในมนุษยโลก ก็ชอบที่จะให้มนุษย์เป็นผู้วินิจฉัย เวลานี้ ในมนุษยโลกนั้นได้มีมนุษย์จอมปราชญ์เกิดขึ้นแล้ว คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เทวดาทั้งหลายล่วงเลยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว มาสำคัญท้าวเธอว่า เป็นผู้ควรตอบปัญหาเช่นนี้ ก็เปรียบเสมือนว่าบุคคลต้องการแสงสว่าง ทิ้งดวงไฟเสียแล้วมาหาแสงหึ่งห้อย ฉันนั้น ครั้นแล้ว ชวนเทวดาทั้งหลายไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหวังใจว่า จะต้องได้รับคำแก้ปัญหาอันสมที่จะเป็นสิริมงคลเป็นแน่แท้ ครั้นไปถึงที่ประทับแล้ว โปรดให้เทพบุตรผู้หนึ่งเป็นผู้แทนคณะ กราบทูลถามมงคลปัญหา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสแก้ ซึ่งผู้ได้ยินได้ฟังทั้งหลาย ยอมรับนับถือว่าเป็นมงคลแท้ ดังความปรากฏในมงคลสูตรนั้น มงคลโกลาหล (ความโกลาหลด้วยปัญหาเรื่องมงคล) ซึ่งกินเวลานานถึง ๑๒ ปี ก็สิ้นสุดยุติลง ด้วยประการฉะนี้ หมายเหตุ มงคลสูตรนี้ สวดเฉพาะงานมงคลอย่างเดียว และงานนั้นต้องตั้งน้ำมนต์วงด้ายสายสิญจน์ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่าตั้งน้ำวงด้าย การสวดระสูตรนี้ ถ้าสวดเต็มที่ เริ่มด้วยบทขัด เย สนฺตา ฯลฯ และ ยญฺจ ทฺวาทสวสฺสานิ ฯลฯ ภณาม เห แล้วขึ้น เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ ไปจนจบ ถ้าสวดอย่างย่อ สวดแต่เฉพาะพระพุทธวจนะ ล้วน คือ ตั้งแต่ อเสวนา จ พาลานํ ฯลฯ ไปจนจบ กิจของเจ้าภาพ พอพระขึ้น อเสวนา ฯ เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ ซึ่งปักอยู่ที่บาตร ขัน ฯลฯ แล้วยกที่น้ำมนต์นั้นประเคนพระที่เป็นหัวหน้า |
บทความทั้งหมด
|