โรคนิ้วหัวแม่เท้าเก ออกด้านนอก (โรคฮัลลักซ์ วัลกัส ,Hallux Valgus ) ![]() โรคนิ้วหัวแม่เท้าเก ออกด้านนอก (โรคฮัลลักซ์ วัลกัส ,Hallux Valgus ) ดัดแปลงจากเอกสารของ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย โรคนี้เป็น ความผิดรูปของ นิ้วหัวแม่เท้า ที่เอียงออกด้านนอกเข้าหานิ้วชี้ และ โคนนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าด้านในแยกออกจากนิ้วอื่น ทำให้ปลายเท้าแบนกว้างขึ้น โคนนิ้วหัวแม่เท้าโตมาก เมื่อเป็นมากขึ้นปลายนิ้วหัวแม่เท้าจะซ้อนใต้นิ้วเท้า เมื่อนิ้วเท้าเอียงไปทำให้แรงดึงในเส้นเอ็นต่างๆ ของนิ้วเท้า ผิดแนวไป ก็จะเป็นตัวเสริมทำให้ผิดรูปเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ แรงกระทำต่อข้อนิ้วเท้าเปลี่ยนไปโดยตำแหน่งเคลื่อนไปทางด้านนอก มีการอักเสบของข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า สาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นจากการใส่รองเท้าบีบรัดปลายเท้า (รองเท้าส้นสูงปลายแหลม) ทำให้โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิง กรรมพันธุ์ หรือ ความผิดปกติตั้งแต่เกิด เช่น เท้าแบน นิ้วหัวแม่เท้ายาวมาก นิ้วหัวแม่เท้าเกออกเอง เป็นต้น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น การอักเสบของข้อในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ การวินิจฉัยโรค ความผิดรูปจะค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับอาการปวดที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า มักเป็นในวัยกลางคนขึ้นไป มีประวัติใส่รองเท้าส้นสูงปลายรองเท้าแหลมบีบปลายเท้า ประวัติครอบครัวที่เป็นมักพบใน กลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย (10-19 ปี) ตรวจพบนิ้วหัวแม่เท้าเอียง เข้าหานิ้วชี้โคนนิ้วด้านในบวม เจ็บ ปลายเท้ากว้าง เมื่อเป็นมากขึ้นนิ้วหัวแม่เท้าซ้อนใต้นิ้วชี้ร่วมกับมีบิดเอียง บางรายบริเวณที่เสียดสีกดกับรองเท้าหรือ พื้นผิวหนังจะหนาตัว นิ้วเท้าอื่นอาจผิดรูปร่วมด้วย เอ็กซเรย์ในท่าต่างๆ ของเท้าและข้อเท้า เพื่อดูมุมที่ผิดรูปไป รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมกัน แนวทางการรักษา 1. การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด ข้อบ่งชี้ ในรายที่มีอาการไม่มาก ข้อผิดรูปไม่มาก สามารถดึงหรือดันแก้ไขได้ ไม่มีข้อเสื่อม แนวทางการรักษา ด้วยวิธีไม่ผ่าตัด เช่น • ใส่รองเท้าขนาดพอดี ไม่คับ ปลายรองเท้ากว้างใส่แล้วพอขยับนิ้วเท้าได้บ้าง ไม่บีบรัดนิ้วเท้า พื้นรองเท้านุ่ม • หลีกเลี่ยงรองเท้าปลายแหลมและส้นรองเท้าสูงมากกว่า 2 นิ้ว • การนวด การยืด การแช่ น้ำอุ่น หรือ ประคบด้วยความเย็น อาจช่วยให้อาการปวดลดลงได้ • การใช้กายอุปกรณ์ เฝือกอ่อน หรือ พันผ้ารัดนิ้วเท้า (Padding & Taping ) เพื่อบรรเทาอาการปวด • กายภาพบำบัด สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ เช่น การนวด การยืดหรือดัดข้อ การอบร้อน เป็นต้น ท่าบริหารเท้า https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-07-2008&group=11&gblog=4 • ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด 2. การรักษาโดยวิธีผ่าตัด ข้อบ่งชี้ มีอาการปวดร่วมกับข้อผิดรูปมากขึ้น มีลักษณะของข้อเสื่อมเกิดขึ้น วิธีผ่าตัดมีมากกว่า 100 วิธี เช่น ตัดก้อนที่นูนออก การตัดกระดูกเพื่อเปลี่ยนแนวให้ตรงขึ้น การเชื่อมข้อ เป็นต้น ซึ่งจะเลือกวิธีไหนนั้นมักขึ้นอยู่กับลักษณะความผิดปกติของนิ้วเท้าว่ามากน้อยขนาดไหน และเกิดจากสาเหตุอะไร หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถเดินได้ในสัปดาห์แรก โดยอาจใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัว ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ............................................ ![]() แพทยสภา 18 เมษายน 2024·#หมอชวนรู้โดยแพทยสภา ตอนที่ 224 “โรคนิ้วหัวแม่เท้าเก : Hallux valgus ” https://www.facebook.com/thaimedcouncil/posts/pfbid028G7yAqtxpFjhm1DbLnQwG5x9tyxX8AtYYGbePzXiUvjKfATKtq4NpTv5NvqGWFz1l ปัจจุบันการสวมใส่รองเท้าเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกระแสรองเท้าสุขภาพที่เป็นที่นิยมเลือกใช้กันมากขึ้นของคนในทุกเพศทุกวัย เพราะการที่ต้องออกทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การท่องเที่ยว ทุกคนต่างมองหาการเดินที่สบาย แต่ในบางคนการสวมใส่รองเท้าอาจกลายเป็นเรื่องลำบาก การสวมรองเท้าคู่ประจำอาจไม่รู้สึกสบายอีกต่อไป เพราะมีอาการปวดเวลาเดิน โดยหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยคือการเริ่มมีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเก ในช่วงแรกอาจแค่มีอาการปวดเวลาสวมใส่รองเท้า แต่หากทิ้งไว้นานโดยไม่รักษาให้ถูกวิธี จะเป็นอาการเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท้า หลัง ข้อต่อ และการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าที่คิด . และ ทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยที่มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเกถึง 1 ใน 3 ของประชากรที่อายุมากกว่า 18 ปี ในบทความนี้หมอจะมาเล่าถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีรักษา ภาวะนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ . #โรคนิ้วหัวแม่เท้าเกคือ ภาวะการเคลื่อนของกระดูกนิ้วเท้าที่นิ้วหนึ่งเอียงเข้าหานิ้วที่สอง ส่งผลให้มีกระดูกโคนนิ้วหัวแม่เท้าโปนขึ้นมา ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ มักมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วหรือใต้ฝ่าเท้าด้านหน้า ในบางคนที่นิ้วหัวแม่เท้าเอียงจนไปซ้อนนิ้วที่สอง ทำให้เท้าผิดรูปจนใส่รองเท้าลำบาก และหารองเท้าใส่ยากขึ้น และไม่สบายเหมือนเดิม โรคนี้สามารถพบได้ตั้งแต่วัยรุ่นถึงสูงอายุ โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบร่วมกับความผิดปกติของเท้าและข้อเท้าต่าง ๆ เช่น เส้นเอ็นร้อยหวายตึง, เท้าแบน, การเสื่อมของเส้นเอ็นเท้า หรือข้อนิ้วหัวแม่เท้า รวมถึงภาวะข้ออักเสบในร่างกาย เช่น โรครูมาตอยด์ . #ปัจจัยของการเกิดนิ้วหัวแม่เท้าเกได้แก่ • การสวมใส่รองเท้าที่หัวค่อนข้างแคบ • การเกิดอุบัติเหตุที่นิ้วหัวแม่เท้า • มีภาวะเท้าแบน • ข้อหลวม • น้ำหนักเกิน • กรรมพันธุ์ ในคนทั่วไป แม้มีความผิดรูปของนิ้วหัวแม่เท้า ก็อาจจะไม่มีอาการดังข้างต้นได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวดที่ฝ่าเท้าโดยเฉพาะเวลาเดิน หรือ เริ่มสวมรองเท้าลำบากมากขึ้น เป็นเวลาที่ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับการวินิจฉัย และเพื่อการรักษาที่เหมาะสม . #การรักษาในเบื้องต้นคือการลดอาการปวด ได้แก่ • การใช้ยาแก้ปวด • ประคบเย็นบริวณที่อักเสบปวดร้อน • การเปลี่ยนรองเท้าที่มีหน้ากว้าง • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง • การสวมใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นซิลิโคนคั่นนิ้วหรืออุปกรณ์คลุมกระดูกที่โปนขึ้นมาเมื่อมีอาการปวดในตำแหน่งนี้,แผ่นซิลิโคนรองหน้าเท้ากรณีที่อาการปวดมาจากการลงน้ำหนักของเท้าที่เปลี่ยนแปลงไป . การรักษาดังกล่าว จะช่วยประคับคองลดอาการปวด ไม่ให้รบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน โดยแพทย์ศัลยกรรมกระดูกผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าและข้อเท้าจะเป็นผู้พิจารณาการรักษาที่เหมาะสมให้ . อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าว ไม่สามารถแก้ไขให้รูปนิ้วเท้ากลับมาตรงได้เหมือนเดิม หากผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธีข้างต้นแล้ว #ยังมีอาการปวดและนิ้วเท้าเอียงมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดรูป . ซึ่งการผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดแต่งกระดูก การเชื่อมข้อ และการรักษาวิธีล่าสุดคือ การผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ ไปทำการผ่าตัดแต่งกระดูกและยึดด้วยน็อตโลหะ ซึ่งวิธีนี้ แผลจะมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ทั้งนี้ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกเท้าและข้อเท้า จะเป็นผู้ตัดสินใจถึงวิธีผ่าตัดที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละคน . สุดท้ายนี้ เท้าเป็นอวัยวะที่เราต้องใช้งานทุกวัน การมีโรคนิ้วหัวแม่เท้าผิดรูปทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไม่สบายกายในการใช้ชีวิต ผู้ที่มีอาการจึงควรพบแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำ การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ให้เท้าของเรามีสุขภาพที่ดี และใช้งานต่อไปอย่างมีความสุข ................... บทความโดย นพ. สร ตันสุธัญลักษณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อด้านการผ่าตัดเท้าและข้อเท้า กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชวิถี ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ...................... #หมอชวนรู้ #แพทยสภา #ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย #โรคนิ้วหัวแม่เท้าเก #HalluxValgus ................... ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์ Irasutoya, Flaticon,Freepik และ Shutterstock .............................................. |
บทความทั้งหมด
|