โรคข้อเสื่อม



โรคข้อเสื่อมคืออะไร ?

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคข้อทั้งหมด

พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไปจะมีข้อเสื่อมมากกว่าร้อยละ 80-90 แต่อาจจะมีหรือไม่มีอาการก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักมีข้อเสื่อมแต่ไม่มีอาการปวด
ข้อเสื่อมพบได้ทุกข้อในร่างกาย แต่พบได้บ่อยในข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และ ข้อปลายของนิ้ว

กระดูกอ่อนเป็นกระดูกบริเวณส่วนปลายของกระดูก 2 ท่อน ที่มาเชื่อมต่อกันเป็นข้อ กระดูกอ่อนปกติจะมีสีขาวขุ่น ผิวเรียบ และยืดหยุ่น ทำหน้าที่ลดแรงที่กระทำต่อข้อและทำให้ข้อเคลื่อนไหวด้วยความราบรื่น

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ เมื่อกระดูกอ่อนสึกมากขึ้น เวลาเคลื่อนไหวข้อ กระดูกแข็งจะเสียดสีกันทำให้เกิดความเจ็บปวดและเกิดเสียงดัง (ข้อลั่น) เมื่อเป็นนาน ๆ ร่างกายจะพยายามสร้างกระดูกใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อ เกิดเป็นกระดูกงอกขึ้นในบริเวณขอบกระดูก


ปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อม มีหลายประการ ที่สำคัญคือ

• ความชรา โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ กระดูกอ่อนในผู้สูงอายุจะแตกต่างจากคนอายุน้อย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมได้ง่ายขึ้นแต่โรคข้อเสื่อมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอายุที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว

• น้ำหนักตัว โรคนี้พบบ่อยในคนอ้วน ยิ่งน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นโรคข้อเสื่อม โดยเฉพาะข้อใหญ่ๆ ที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก หรือ กระดูกสันหลัง

• การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง
เช่น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ คุกเข่า ก็จะโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

• การเปลี่ยนแปลงในกระดูกอ่อน ที่เกิดขึ้นในข้อที่เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือ ในโรคบางอย่าง เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือ การติดเชื้อในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบในข้อ และกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย



อาการที่เกิดจาก ข้อเสื่อม

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคข้อเสื่อมมักจะไม่มีอาการก่อนอายุ 40 ปี นอกจากผู้ที่มีเคยได้รับอุบัติเหตุต่อข้อมาก่อน

ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แม้จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางภาพเอ๊กซเรย์ ขึ้นแล้ว

อาการของโรคข้อเสื่อม มักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มแรกมักจะมีอาการปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อมากๆ และมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการพักผ่อน ต่อมาอาการจะมากขึ้น จนกระทั่งพักอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงานอะไรก็ปวด บางครั้งอาจมีเสียงดังในข้อเวลาขยับเคลื่อนไหวข้อ มีอาการข้อบวม ข้อขัดตึงหลังตื่นนอน หรือหลังจากพักอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ใช้ข้อนานๆ

เมื่อมีอาการปวดข้อมากขึ้น และ ไม่ได้บริหารกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ก็จะเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ และข้อติด เคลื่อนไหวข้อได้น้อยลง



การวินิจฉัย


การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมจะบอกได้จากประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องเอ๊กซเรย์ทุกคน การเอ๊กซเรย์จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยและบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคข้อเสื่อม โดยเฉพาะในกรณีที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ในบางครั้งแพทย์อาจต้องตรวจพิเศษ เพื่อแยกโรคข้ออักเสบที่มีอาการคล้ายคลึงโรคข้อเสื่อมออกไป



แนวทางการรักษา


ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายขาดได้ การรักษาในปัจจุบันมีจุดหมายคือ ลดอาการปวดหรืออาการอักเสบ ชะลอความเสื่อมให้ช้าลง ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ปกติ ป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปร่างของข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือทำการงานได้ตามปกติ ซึ่งแนวทางการรักษาทั่ว ๆ ไปมีดังนี้

• การปกป้องข้อ
ผู้ป่วยควรรู้จักการปฏิบัติตัวที่จะไม่ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น เช่น การวิ่ง นั่งพับเพียบในรายที่มีข้อเข่าเสื่อม หลีกเลี่ยงการยกของหนักในรายที่มีกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นต้น

การลดน้ำหนัก ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ก็ช่วยลดแรงน้ำหนักตัวที่กระทำผ่านข้อ ทำให้ข้อเสื่อมช้าลงได้

การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ไม้เท้า จะช่วยลดและถ่ายแรงที่กระทำผ่านข้อของขาได้

ลดการใช้ข้อขณะที่มีอาการปวดอักเสบมาก

• การบริหารร่างกาย
การบริหารร่างกายเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคข้อเสื่อม จุดประสงค์ของการบริหารร่างกายก็เพื่อทำให้ข้อมีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และยังช่วยบรรเทาอาการปวด ได้ด้วย

• การรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยความร้อนและความเย็น
ช่วยคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อและลดความเจ็บปวดได้

• การใช้ยา
มียาหลายอย่างที่นำใช้รักษาโรคข้อเสื่อม เช่น

- ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ

- ยาช่วยชะลอความเสื่อม เช่น ยากระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อน ยาชะลอความเสื่อม ยาฉีดน้ำไขข้อเทียม เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยแต่ละราย ก็จะตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน และยาแต่ละชนิดก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเหล่านี้ เพราะยาเหล่านี้มักจะมีราคาแพงและต้องใช้ต่อเนื่องกันช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงจะเห็นผล

ยาเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อที่เสื่อมไปแล้วให้กลับหายเป็นปกติได้ แต่จะช่วยบรรเทาอาการปวดหรือการอักเสบของข้อ หรือ ชะลอความเสื่อมให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน และสามารถทำกายบริหารได้

• การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ในรายที่ได้รับการรักษาข้างต้นแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดจะช่วยป้องกันหรือแก้ไขความผิดปกติจากโรคข้อเสื่อม ลดความเจ็บปวดและช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อได้ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในระยะท้ายได้
การผ่าตัดจะได้ผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น

-ตัวผู้ป่วยเอง เช่น อายุ โรคประจำตัวอื่น ๆ ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ความร่วมมือในการรักษา

-สาเหตุของข้อเสื่อม ความรุนแรงของข้อที่เสื่อม

-ชนิดของการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนแนวข้อ ส่องกล้องเข้าไปในข้อ ผ่าตัดเชื่อมข้อ เปลี่ยนข้อเทียม

-การรักษาด้วยยา ร่วมกับกายภาพบำบัดก่อนและภายหลังการผ่าตัด



Create Date : 03 เมษายน 2551
Last Update : 15 มกราคม 2552 15:54:48 น.
Counter : 8190 Pageviews.

1 comments
วิ่งข้างบ้าน 11,12,14,16 เม.ย.2568/ค่าฝุ่นPM2.5 อุทัยธานี สองแผ่นดิน
(16 เม.ย. 2568 20:49:32 น.)
New challenge : ฉ่ำเลย nonnoiGiwGiw
(2 เม.ย. 2568 18:04:50 น.)
รองช้ำ อาการเจ็บฝ่าเท้าที่ต้องรีบรักษาให้หายขาดก่อนเป็นหนัก! สมาชิกหมายเลข 7660567
(22 มี.ค. 2568 01:21:03 น.)
กินยังไงดี?... “เบาหวาน” ไม่เพิ่ม หนึ่งเสียงในกทม.
(14 มี.ค. 2568 13:28:53 น.)
  

โรคข้อเสื่อม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=03-04-2008&group=5&gblog=12

กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน เหมือนกัน ??? ถ้าเป็นโรคกระดูก ต้องกินแคลเซี่ยมเสริม ???
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=18-09-2008&group=5&gblog=40

กระดูกงอก แคลเซี่ยมเกาะ ถือว่า ผิดปกติ ต้องผ่าตัดเอาออก หรือไม่ ?
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-09-2008&group=5&gblog=39

ข้อเข่าเสื่อม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=15

กระดูกสันหลังเสื่อม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=20
โดย: หมอหมู วันที่: 10 กรกฎาคม 2555 เวลา:0:19:37 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด