โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด ( AS )
โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด   
( โรคหลังอักเสบแองคัยโรสซิ่ง , ANKYROSING SPONDILITIS )

ดัดแปลงจากเอกสารของ สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย


1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดคืออะไร ?

โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึดเป็นกลุ่มโรคข้ออักเสบที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลังร่วมกับมีการอักเสบของข้ออื่น ๆ ของร่างกาย เมื่อเป็นไปนาน ๆ จะมีกระดูกงอกออกมาเชื่อมกระดูกสันหลัง ข้อสะโพกให้ติดกัน เกิดความพิการตามมา


2. สาเหตุของโรคนี้คืออะไร?

สาเหตุของโรคนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม


3. ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้?

โรคนี้พบได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่

พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 10-20 เท่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 20-30 ปี


4. อาการและอาการแสดงของโรคนี้มีอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน

มีอาการมากในตอนเช้า และ อาการจะดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือได้ออกกำลังกาย

เมื่อกระดูกสันหลังอักเสบนาน ๆ จะมีหินปูนมาจับบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังเชื่อมติดกัน หลังจะแข็ง ก้มไม่ได้

ในบางรายอาจมีการเชื่อมกันของกระดูกซี่โครง ทำให้หายใจลำบาก อาจมีการอักเสบของข้ออื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก หรือ มีการอักเสบของเส้นเอ็น เช่น เส้นเอ็นร้อยหวาย เส้นเอ็นฝ่าเท้า

บางรายเมื่อเป็นนาน ๆ อาจมีอาการนอกระบบข้อ เช่น ปอดอักเสบ หรือหัวใจอักเสบได้


5. แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคนี้อย่างไร?

แพทย์จะอาศัยการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย

การถ่ายภาพรังสีมีประโยชน์ในการช่วยการวินิจฉัย โดยจะพบการอักเสบและเชื่อมติดกันของข้อ โดยเฉพาะกระดูกกระเบนเหน็บ และ กระดูกสันหลัง



6. การรักษา

   1. การรักษาทางยา

   โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวดีขึ้นและสามารถทำกายบริหารได้

   ปัจจุบันได้มียาในกลุ่มใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคสงบได้ แต่มีราคาค่อนข้างแพง ผลข้างเคียงมาก ต้องรับประทานติดต่อเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ได้รักษาโรคให้หายขาด

   2. การบริหารร่างกาย

   มีความสำคัญมาก นอกจากจะทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีแล้ว ยังช่วยป้องกันข้อติดอีกด้วย ขณะบริหารอาจปวดมากขึ้น แต่ต้องพยายามอดทนบริหารต่อไป ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ให้ข้อได้เคลื่อนไหว

   3. ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ

   โดยต้องพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ เช่น ควรนั่งพิงพนักหลังตรง ยืนเดินให้หลังตรง

   ควรนอนหงายบนพื้นแข็ง ไม่ควรนอนตะแคง และ ไม่ควรหนุนหมอนสูงเพราะทำให้คอก้มมากเกินไป

   4. การผ่าตัด

   เช่น ผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ข้อเข่าเทียม ผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อแก้ไขอาการหลังโก่ง


7. การดำเนินโรค

โรคนี้จะมีการดำเนินโรคอยู่นานประมาณ 10 ปี ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง เมื่อเป็นไปนาน ๆ จนกระดูกเชื่อมติดกัน อาการปวดจะลดลง แต่จะเกิดความพิการตามมา โดยเฉพาะอาการคอแหงนไม่ได้ หลังโก่ง สะโพกงอ

ซึ่งถ้าเกิดข้อติดผิดรูปขึ้นแล้วการรักษามักจะได้ผลไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นถ้าสามารถรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้โรคหายขาดได้ แต่ก็จะช่วยบรรเทาอาการและลดความพิการที่อาจเกิดตามมาในภายหลัง



วิธีดูแลตนเอง วิธีบริหาร ..

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=5&gblog=17


แนะนำ ไทยเอเอสคลับ  ข้อมูลความรู้เยอะมากกกกกกก
https://www.thaiasclub.org/
https://www.facebook.com/pg/thaiasclub/notes/



...............................

มีผู้โพสกระทู้เกี่ยวกับโรคนี้ ... เลยขอนำมาเก็บไว้เป็นข้อมูล แบ่งกันอ่าน แล้วก็เอาไว้ติดตามกันต่อ ...

https://www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L7400020/L7400020.html#11


ผมป่วยเป็นโรคASมา4ปีกว่าครับ ตอนนี้หายแล้ว ใครที่เป็นก็ติดต่อมาได้ ผมยินดีช่วย

ผมป่วยเป็นโรคASมา4ปีกว่าครับ ตอนนี้หายแล้ว ใครที่เป็นก็ติดต่อมาได้ ผมยินดีช่วย

ผม ชื่อไมน์ครับ เป็นโรคAS (Ankylosing Spondylitis) มาเกือบ5 ปี เป็นตั้งแต่อายุ15แต่มารู้ว่าเป็นโรคนี้ตอนเมื่อปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้รักษามาทุกที่ ยาที่เกี่ยวกับพวกแก้อักเสบ คลายกล้ามเนื้อ แก้ปวด ก็กินมาหมด รักษามาทุกทางตั้งแต่ที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ตอนแรกหมอบอกว่าเป็นเอ็นร้อยหวายอักเสบ แต่ตอนหลังมันทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากเดินเป๋แล้ว ก็ปวดเข่า ปวดหัวไหล่ หลังแข็ง แล้วก็อาการตาพร่า(ตอนที่ตาพร่าไม่รู้ว่าเกี่ยวกับโรคที่เป็น) ผมรักษาอาการที่ตาจนหาย แต่เรื่องโรคกระดูกไม่หาย ตอนแรกผมไปนวดบ่อยมาก แล้วก็ฝังเข็ม ก็ไม่หาย ไปหาหมอมากี่คนก็บอกว่าผ่าตัดไม่ได้ จนผมไปเจอคุณหมอสัตยาที่ท่าแพ คลินิก ท่านวินิจฉัยว่าอาจเป็นโรคไรเตอร์ซินโดรม เลยแนะนำไปหาคุณหมอวรวิท (โรงพยาบาลสวนดอก) ที่วรวิทคลินิคคุณหมอท่านเก่งมากครับ ผมมีโอกาสได้รู้ว่าโรคที่ผมเป็นคือโรคAS ก็เพราะท่าน เพียงแต่ผมไม่มีเงินที่จะซื้อยาที่ฉีดพวกยาอีเทอนาเซพ , พามิโดเนด ก็เลยไม่ฉีดครับ เพราะสงสารพ่อกับแม่ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อผม บังเอิญว่ามีคนแนะนำให้ผมลองกินยาสมุนไพรครับก็เลยทานดูจนตอนนี้ไม่เป็นไร เลย ไปเช็คเลือดก็ปกติดี ถ้าใครสนใจก็ติดต่อผมได้ที่เบอร์0820266947 ,0811665512หรือส่งเมลล์มาที่cadlamine@hotmail.com ครับ ถือว่าช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยครับ ผมยินดีเพราะผมก็อยากให้คนที่ทรมานแบบเดียวกับผมหายเหมือนกัน

จากคุณ : cadlamine - [ 8 ม.ค. 52 15:47:29 ]


ความคิดเห็นที่ 1

น้ำใจงาม ขอให้สุขภาพแข็งแรงต่อไปครับ

จากคุณ : เต้าหยินไม้แห้ง (เต้าหยินไม้แห้ง) - [ 8 ม.ค. 52 16:01:42 ]


ความคิดเห็นที่ 2

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ เมือหายเป็นปกติแล้วจะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่การงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป

จากคุณ : มิตร - [ 8 ม.ค. 52 16:09:12 A:91.64.69.155 X: TicketID:173614 ]



ความคิดเห็นที่ 3

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้ว่า จขกท.โกหก นะครับ เพียงแต่ อยากจะให้ข้อมูลอีกด้าน ของการแพทย์ในปัจจุบันนี้ ...

ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อ อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละท่าน ....

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=24

ปัจจุบัน ได้มียาในกลุ่มใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคสงบได้ แต่มีราคาค่อนข้างแพง ผลข้างเคียงมาก ต้องรับประทานติดต่อเป็นเวลานาน แต่ก็ยังไม่ได้รักษาโรคให้หายขาด

.... ปัจจุบัน ยังไม่มีผลงานวิจัย หรือ ข่าวทางการแพทย์ว่า สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาด ...

ผม จึงอยากจะขอให้ จขกท. ติดต่อ กับ อ.สัตยา หรือ อ.วรวิทย์ หรือ จะเป็นหมอที่ไหน ก็ได้ เพื่อจะได้ร่วมกันเผยแพร่ อย่างน่าเชื่อถือ แล้วก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ทั่วทั้งโลก ...

ถ้า จขกท. ไม่สนใจเรื่องรายได้เป็นเงินทอง รับรองว่า ได้รับชื่อเสียง และ ผลบุญ มากมายมหาศาลอย่างแน่นอน ... ถือว่าได้ช่วยเหลือ คนป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคนี้ ให้หายขาด ...

ปล.

หลาย ๆ ท่าน อ่านแล้วจะรู้สึกคุ้นกับข้อความนี้ ... เหมือนเดิมเป๊ะ ๆ ...
เคยคุยกับเรื่องนี้ หลายรอบแล้ว ... ก็เข้ามาคุยกันอีกที ... แบบเดิม ๆ ขอร้อง จขกท. แบบเดิม ๆ ....

จากคุณ : หมอหมู - [ 8 ม.ค. 52 18:16:24 ]


ความคิดเห็นที่ 4

เวอร์ชั่นเดิมมีลงรูปด้วยนี่

จากคุณ : natefang - [ 8 ม.ค. 52 21:53:59 ]


ความคิดเห็นที่ 5

เป๊ะๆ มาตั้งแต่กลางปีที่แล้วเลยนะเนี่ย

จากคุณ : dog mulder - [ 8 ม.ค. 52 21:58:33 ]


ความคิดเห็นที่ 6

เวอร์ชั่นเดิมมีรูปลงด้วยคะ

จากคุณ : cheatoneself - [ 8 ม.ค. 52 22:24:14 ]


ความคิดเห็นที่ 7

ขายของหรือเปล่า? เห็นโพ๊สบ่อย ไม่มีรายละเอียด

จากคุณ : บลูเรย์ - [ 8 ม.ค. 52 23:21:33 ]


ความคิดเห็นที่ 8

อาการที่เล่ามาไม่เหมือน AS ที่ผมรู้จักเลยครับ

จากคุณ : kkcontrol - [ 9 ม.ค. 52 00:58:40 ]


ความคิดเห็นที่ 10

มีคนจำได้หลายคนเหมือนกัน ...

ยังไง ก็รบกวน จขกท. ด้วยนะครับ จะได้ช่วยเหลือคนอื่น ถือว่าทำบุญนะครับ ...


จากคุณ : หมอหมู - [ 9 ม.ค. 52 18:58:54 ]


ความคิดเห็นที่ 11

หลังจาก เข้ามาโพส ผ่านไป ๑ อาทิตย์ แล้ว ...... จขกท. ก็ไม่กลับมากระทู้นี้อีกเลย ...

ไม่เป็นไร ครั้งนี้ ก็จะเก็บข้อมูลเอาไว้ เผื่อคร่าวหน้า จขกท. มาโพส อีก ก็จะเอานำไปให้อ่านอีกรอบ ... เผื่อจะลืม ...

จากคุณ : หมอหมู - [ 14 ม.ค. 52 19:42:41 ]


...............................

ปวดหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=18

สาเหตุ ของอาการ ปวดหลังที่พบบ่อย

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=19

กระดูกสันหลังเสื่อม

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=20

กล้ามเนื้อหลัง อักเสบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=23

 

หมอนรองกระดูกส่วนเอวกดทับเส้นประสาท

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=22

หมอนรองกระดูกส่วนเอวกดทับเส้นประสาทthaispine

https://www.thaispine.com/intervertebral_disc.htm

ข้อแนะนำเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-06-2008&group=5&gblog=17

 

กระดูกทับเส้นหมอนรองกระดูกทับเส้น เป็นอย่างไร ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-07-2008&group=5&gblog=36

กระดูกทับเส้นหมอนรองกระดูกทับเส้น เป็นอย่างไร ??? Thaispine

https://www.thaispine.com/sciatica.htm

กระดูกสันหลัง ฉีดยาบล๊อคเส้นประสาท

https://www.thaispine.com/SNRB.htm

กระดูกสันหลัง ฉีดยาสเตียรอยด์

https://taninnit-backpain.blogspot.com/2013/10/vs.html

กระดูกสันหลัง ผ่าตัด

https://www.thaispine.com/Decision_point.htm

กระดูกสันหลัง ผ่าตัดคำถามก่อนผ่า

https://www.bangkokhospital.com/th/centers-and-clinics/dlif/pre-spinal-surgery

กระดูกสันหลัง ผ่าตัดคำถามหลังผ่า

https://www.bangkokhospital.com/th/centers-and-clinics/dlif/pre-and-post-after-spinal-surgery

กระดูกสันหลังคด เวบไทยสปาย

https://www.thaispine.com/Dent-scoliosis.html

กระดูกสันหลังคด เวบหาหมอ

https://haamor.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%94/

ปวดก้นกบ ( CoccyxPain , coccydynia , coccygodynia )

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=04-01-2010&group=5&gblog=45

กระดูกสันหลังอักเสบยึดติด ( AS)

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-06-2008&group=5&gblog=24

ปวดหลัง .. ก็มีคะแนน ทำเองได้ง่ายมาก

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-09-2013&group=5&gblog=48

เข็มขัดรัดหลัง :จำเป็นหรือไม่ในคนทำงาน? นักเขียนหมอชาวบ้าน: ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ

https://www.doctor.or.th/article/detail/1289

 

 




Create Date : 24 มิถุนายน 2551
Last Update : 11 กันยายน 2562 14:36:10 น.
Counter : 31754 Pageviews.

8 comments
  

A very good topic
โดย: Cheria (SwantiJareeCheri ) วันที่: 24 มิถุนายน 2551 เวลา:20:39:51 น.
  
มีความรู้มากๆ ครับ
โดย: Nu-Conservator วันที่: 8 กรกฎาคม 2551 เวลา:17:22:45 น.
  
ผมก็เป็นโรคนี้อยู่นะครับคุณหมอ ตอนนี้แอบกดเครื่องคิดเลข คิดค่ายา enbrel กะยาอีกตัวหนึ่ง คือรู้สึกแย่ๆ ทำใจไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ที่จะให้คุณพ่อคุณแม่เสียตังค์กับโรคที่ผมเป็น เฮ้อออออออออออ นี่แหละน๊า การไม่มีโรคคือลาภอันประเสิรฐ จริง ๆ

ถ้าคุณหมอมีเวลาว่าง รบกวนแวะอ่านที่บล๊อกผมหน่อยนะครับ ผมเขียนไปเยอะเลยเกี่ยวกับ AS

คือตอนนี้กำลังคิดจะไปฉีดยา Remecade ผมมาคิดๆ ดูแล้ว มันต้องฉีด สองเดือนต่อครั้ง 1 ครั้ง ประมาณ 130,000 บาท (เท่าที่อ่านดูบอกว่า 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าผมหนัก 70 กิโล ก็เท่ากับว่า ใช้ยาสามหลอดกว่า แต่สามหลอดกว่าเค้าคงไม่ขายหรอก คงจะเป็น 4 หลอด และ 100 มิลลิกรัม ต่อ 1 หลอด ราคา 3หมื่นกว่าบาท เท่ากับว่าฉีด 1 ครั้งต้องใช้เงิน 130,000 บาทโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนการผันผวนของ us dollars/thai baht ด้วย) ทีนี้หลังจากฉีดครั้งแรกผมต้อง ไปฉีดครั้งที่สองในอีกสองสัปดาห์ ถัดมา ในอีก 6 สัปดาห์ และถัดมาในอีก 8 สัปดาห์ จากนั้นก็ต้องไปฉีด ทุกๆ 2 เดือน -*- คือก่อนอื่นเนี้ย ฐานะทางบ้านผมก็ไม่ได้จัดว่าผลิตแบงค์เองได้ หรือว่า รวยมากกกก ไม่ใช่อย่างนั้น คือพออยู่พอกิน ไม่มีหนี้สิน (แต่มีโรค คือผมเองนี่แหละ) ผมไม่อยากให้พ่อแม่ผมลำบาก ที่จะต้องหาเงิน 130,000 บาทให้ได้ภายในสองเดือน คือโอเค อาจจะหาได้ แต่มันจะไม่มีเงินเก็บเลยนี่ซิ -*- หรือมีก็น้อยมาก

ผมอยากถามว่า ผมจะฉีดบ้างไม่ฉีดบ้างได้ไหม บางทีผมก็แอบเครียดนะ ว่าทำไมเราเกิดมาต้องเป็นแบบนี้ ผมไม่อยากให้พ่อแม่ผมลำบาก ทุกวันนี้ผมก็ช่วยงานเท่าที่ผมจะช่วยได้ ทำกับข้าวให้พ่อแม่ผมกิน ในขณะเดียวกันผมก็เดินหลังค่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ บางทีผมคิดหนักถึงขนาดกับไม่อยากอยู่บนโลกแล้วล่ะ บางทีถ้าผมไม่อยู่ พ่อแม่ผมอาจจะสบายกว่านี้ ได้ไปเที่ยวแบบสบายๆ แต่ในทางกลับกัน ผมก็คิดว่า ถ้าเราตายไปนี่ พ่อแม่เราจะมีความสุขอยู่ได้หรอ? คิดว่าคงไม่หรอก เค้าคงไม่อาจจะมีความสุขได้โดยที่ไม่มีเรามั้ง...บางทีตอนช่วยแม่ขายของอยู่ผมก็เคยถามแม่ผมนะว่า แม่...แม่จะทำใจได้มั้ย ถ้าอาทตายไปก่อนแม่ ผมถามแบบนี้จริงๆ นะ แม่ก็ตอบประมาณว่า ก็ไม่รู้หรอก ใครจะไปก่อนไปทีหลังยังไม่รู้เลย บางทีแม่ผมก็ตอบแบบส่งๆ ว่า เออ จะตายก็ตายก่อนเลยยยย ผมก็ถามไปอีกว่า แล้วแม่จะทำใจได้เร้ออออ...แล้วก็หัวเราะ แล้วก็กอดแม่บอกแม่ว่า อยู่กับแม่นี่แหละ ^^ แต่ก็แอบเห็นแม่น้ำตาซึมๆ เหมือนกันนะ ผมว่าแม่ผมทำใจไม่ได้หรอก ที่ผมจะตายก่อนอ่ะ (ไม่มีแม่คนไหนทำใจได้ด้วยหรอกมั้งที่ลูกตัวเองตายก่อน) เพราะอะไรเหรอ...หัวอกคนเป็นแม่อ่ะนะ...คงจะเจ็บปวดมากจนไม่สามารถที่จะบรรยายออกมาเป็นตัวอักษรหรือคำพูดได้หรอก

(โรคนี้ทำให้ผมจะเป็นโรคจิตอยู่นะเนี้ย เตรียมหาหมอจิตแพทย์อยู่ แห่ะๆ)

ง่ะ จะเขียนคอมเม้นท์ แต่ยาวไปถึงสามหน้ากระดาษ แห่ะๆ

ขอบคุณคุณหมอครับ ^^
โดย: Art@แก๊งชะนี (Kradanseetao ) วันที่: 8 มีนาคม 2552 เวลา:5:55:37 น.
  

//www.phyathai.com/phyathai/new/th/specialcenter/popup_cms_spdoctor_detail.php?cid=21&mid=SurapongCMS&subject=%E2%C3%A4%A2%E9%CD%CA%D1%B9%CB%C5%D1%A7%CD%D1%A1%E0%CA%BA%B5%D4%B4%C2%D6%B4...%E2%C3%A4%E0%CA%D5%E8%C2%A7%B7%D5%E8%BC%D9%E9%AA%D2%C2%A4%C7%C3%C3%D0%C7%D1%A7


โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด...โรคเสี่ยงที่ผู้ชายควรระวัง

อย่าเพิ่งแปลกใจครับ ท่านไม่ได้อ่านผิดหรือสำนักพิมพ์ไม่ได้สะกดคำผิด มีโรคที่เรียกง่าย ๆ ว่าโรคหลังแข็งจริงๆ โรคหลังแข็งหรือเรียกเต็มยศว่า โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด (Ankylosing Spondylitis) เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ (spondyloarthropathy) เนื่องจากมีลักษณะอาการและอาการแสดงหลายอย่างคล้ายกับโรคในโรคกลุ่มนี้ โรคหลังแข็งไม่ใช่โรคแปลกหรือโรคที่พบได้ยาก โรคหลังแข็งเป็นโรคที่พบได้บ่อยพอสมควร ประมาณว่า คน 100 คน จะเป็นโรคหลังแข็ง 1 คน ซึ่งนับว่าไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นโรคหลังแข็งมักจะเป็นคนอายุประมาณ 15-40 ปี เรียกได้ว่าเป็นโรคของคนหนุ่มสาวที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นอนาคตของประเทศ

ความน่ากลัวของโรคหลังแข็งนอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดข้อ ปวดหลัง มีข้ออักเสบเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เป็นที่น่ารำคาญและทุกข์ทรมานแล้ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีกระดูกสันหลังเชื่อมติดกัน ทำให้ก้มตัว ก้มหลังไม่ได้ เพราะหลังแข็ง นอกจากนี้หลังยังงองุ้มเป็นลักษณะหลังค่อม กระดูกคอก็มีการเชื่อมยึดติดกัน ทำให้ก้มคอหรือแหงนงอไม่ได้ หันคอไปทางซ้ายทางขวาก็ลำบาก กลายเป็นความพิการทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการงานต่าง ๆ หรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ผู้ป่วยบางรายยังอายุไม่มาก อยู่ในวัยทำงานแต่ต้องมาพิการ หลังงอ หลังค่อม เสียบุคลิกอย่างมาก การป่วยเป็นโรคนี้มีผลกระทบถึงรายได้ ภาวะทางสังคม และสภาพจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย

กลุ่มเสี่ยงของโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
โรคหลังแข็งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงด้วยอัตราส่วนประมาณ 2:1 ถึง 3:1 จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคหลังแข็งเป็นผู้ชายถึงร้อยละ 65-80 โรคหลังแข็งที่เกิดขึ้นในผู้ชายมักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าผู้หญิง มักจะเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงที่เป็นโรคหลังแข็งมักจะมีการอักเสบของข้อเข่า ข้อเท้า หรือข้อนิ้วมือนิ้วเท้ามากกว่า อย่างไรก็ตามผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลังแข็งจะมีอาการปวดหลังร่วมด้วย อาการปวดหลังนี้อาจจะมีตั้งแต่ปวดไม่มาก จนถึงปวดทรมานมากจนทำอะไรไม่ได้ บางรายปวดไม่มากก็ไม่ได้ไปรับการรักษาปล่อยไว้จนเกิดความพิการ หลังยึดติดแข็งไปหมด ขยับก้มไม่ได้แล้วค่อยไปหาหมอ ถึงตอนนั้นก็อาจจะสายเกินไป ไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นสภาพเดิมได้

อาการปวดหลังโดยมากจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปช้าๆ จะเป็นลักษณะอาการปวดแบบตื้อๆ มักจะปวดบริเวณก้นกบหรือเอวส่วนล่าง อาการปวดจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า โดยจะรู้สึกปวดตึงหลังขยับไม่ได้สะดวก บางรายเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง แต่พอมีการเคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ อาการปวดหลังจะดีขึ้น แต่พออยู่นิ่งๆ นั่งนานๆ จะกลับมาปวดอีก บางรายก็มีอาการปวดหลังมากจนทำอะไรไม่ได้ ปวดจนทนไม่ไหว อย่างไรก็ตามอาการปวดหลังเรื้อรังคล้ายๆ กับที่เล่ามา อาจจะไม่ได้เกิดจากโรคหลังแข็งเสมอไป จากการศึกษาพบว่าอาการปวดหลังที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง มีเพียงร้อยละ
5 เท่านั้นที่เกิดจากโรคหลังแข็ง อาการปวดหลังส่วนมากมักจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติของโครงสร้าง เช่น ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือจากกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งตัว ซึ่งอาจจะเกิดจากการก้มยกของหรือการนั่ง นอน ยืน เดิน ผิดท่าผิดทาง เมื่อพูดถึงอาการปวดหลัง มีคนจำนวนไม่น้อยยังคิดว่าอาการปวดหลังมักจะเกิดจากโรคไต จริงๆ แล้ว โรคไตที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังมีโรคกรวยไตอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิ่วในไต หรือท่อไต แต่โรคไตไม่ใช่สาเหตุสำคัญของอาการปวดหลังที่พบบ่อย

อาการแทรกซ้อนอื่นๆ
นอกจากอาการปวดหลังแล้ว ผู้ป่วยโรคหลังแข็งจะมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย ข้อที่ปวดมักจะปวดบริเวณข้อสะโพกหรือข้อไหล่ ส่วนข้อที่อักเสบ ปวด บวม จะเป็นข้อเข่าหรือข้อเท้า แต่จะไม่เป็นพร้อมกันทั้ง ๆ ข้าง มักจะเป็นทีละข้าง เป็นๆ หายๆ นอกจากเรื่องข้อแล้ว ผู้ป่วยโรคหลังแข็ง จะมีอาการปวดหรืออักเสบบริเวณจุดที่เส้นเอ็นไปเกาะกับกระดูก เช่น บริเวณเอ็นร้อยหวาย หรือเอ็นฝ่าเท้า หรือมีเส้นเอ็นบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายอักเสบได้บ่อย บางรายมีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าบวมทั้งนิ้ว เป็นลักษณะคล้ายไส้กรอก (sausage finger)


จากการที่โรคหลังแข็งเป็นโรคหนึ่งทีเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทำให้มีอาการในระบบอื่นได้ที่สำคัญคือ อาการทางตา อาจมีตาแดง ปวดตา เคืองตา ตาสู้แสงไม่ได้ จากเยื่อบุตาอักเสบ มักเป็นข้างเดียวมากกว่า 2 ข้าง โดยทั่วไปอาการทางตามักเกิดตามหลังอาการทางข้อ และพบในผู้ป่วยที่โรคหลังแข็งรุนแรง และต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ถ้ารักษาช้าไปอาจทำให้ตาบอดได้ บางรายอาจมีลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือลิ้นหัวใจรั่ว นอกจากนี้อาจมีการนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้

article_ankylosing_01

สาเหตุของโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลังแข็ง แต่มีข้อมูลว่าโรคหลังแข็งจะเกิดในคนที่มีพันธุกรรมบางชนิดที่เรียกว่า HLA-B27 ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่มีพันธุกรรมแบบอื่นแต่คนที่มีพันธุกรรมแบบ HLA-B27 นี้ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 10 ของคนในโลกนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นโรคหลังแข็งทุกคน คงต้องมีปัจจัยอื่น ๆ จากภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรคขึ้น ในขณะนี้พบว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบในลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเดินทางเสียหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทำให้มีท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ในขณะที่เกิดโรคหลังแข็งขึ้น การติดเชื้อเหล่านี้จะได้รับการรักษาหรือหายไปแล้ว คาดว่าการติดเชื้อเหล่านี้อาจจะไปเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดูเหมือนจะจำเนื้อเยื่อบริเวณข้อหรือเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังไม่ได้ จึงมองเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันจึงมีปฏิกิริยาต่อต้าน ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังและข้อ ทำให้เกิดอาการปวด และมีการทำลายเยื่อหุ้มข้อและกระดูกจนกลายเป็นความพิการขึ้น ปัจจัยทางเพศก็มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลังแข็งหรือโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด เพราะดูเหมือนผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง แต่ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับปัจจัยทางพันธุกรรมทางเพศหรือฮอร์โมนเพศ

โดยสรุป ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคหลังแข็ง แต่ปัจจัยที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะ HLA-B27 ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม การติดเชื้อ รวมทั้งความผิดปกติของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

ข้อมูลจาก: ผศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
โดย: หมอหมู วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:35:07 น.
  

//www.med.cmu.ac.th/dept/intmed/know/rheu/AS.pdf

ความรู้เรื่องโรคข้อสำ หรับประชาชน
เรื่อง โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด
รศ.นพ. วรวิทย์ เลาห์เรณู
หน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่มภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
------------------------------------------------------------

1. โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด คืออะไร?

โรคข้อกระดูกอักเสบสันหลังยึดติด เป็นกลุ่มโรคข้ออักเสบที่มีการอักเสบของกระดูกสันหลัง ร่วมกับมี
การอักเสบของข้ออื่น ๆ ของร่างกาย เมื่อเป็นไปนาน ๆ จะมีการเชื่อมติดกันของกระดูกสันหลัง ก่อให้เกิดการ
พิการตามมา

2. สาเหตุของโรคนี้ คืออะไร?

สาเหตุของโรคนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยพบ
อุบัติการสูงขึ้นในผู้ป่วยที่ตรวจพบ HLA B27

3. ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้?

โรคนี้พบได้ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แต่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 10-20 เท่า

4. อาการและอาการแสดงของโรคนี้มีอะไรบ้าง?

อาการและอาการแสดงของโรคนี้เป็นผลมาจากการอักเสบของกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวด
หลังเรื้อรัง โดยอาการเป็นมากในตอนเช้า และอาการจะดีขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือได้ออกกำ ลังกาย เมื่อมีการ
อักเสบของ กระดูกสันหลังนาน ๆ จะเป็นผลให้มีหินปูนมาจับบริเวณรอบ ๆ กระดูกสันหลัง ทำ ให้กระดูกสันหลัง
เชื่อมติดกันในที่สุด ในบางรายอาจมีการเชื่อมกันของกระดูกซี่โครง เป็นผลให้มีการหายใจลำ บาก ผู้ป่วยอาจมี
การอักเสบของข้ออื่น ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อสะโพกร่วมด้วยได้ บางรายเมื่อเป็นนาน ๆ อาจมีอาการนอก
ระบบข้อ เช่น ปอดอักเสบ หรือหัวใจอักเสบได้

5. แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคนี้อย่างไร?

แพทย์จะอาศัยการซักประวัติร่วมกับการตรวจ ร่างกาย การถ่ายภาพรังสีมีประโยชน์ในการช่วยการ
วินิจฉัย โดยจะพบการอักเสบและเชื่อมติดกันของข้อกระดูกกระเบนเหน็บและข้อของกระดูกสันหลัง


6. การรักษา

1. การรักษาทางยา เป็นส่วนสำ คัญในการลดการเจ็บปวด เพื่อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ และทำ กาย
บริหารได้ ในปัจจุบันได้มียาในกลุ่มใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคสงบได้
2. การบริหารร่างกาย มีความสำ คัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะทำ ให้ข้อเคลื่อนไหวได้แล้ว ยังเป็นการลด
การเจ็บปวด และสามารถช่วยในการป้องกันข้อติดในท่าที่ผิดปกติของหลังอันจะก่อให้เกิดความพิการตามมาได้

7. การดำ เนินโรค

โรคนี้จะมีการดำ เนินโรคอยู่นานประมาณ 10 ปี ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลา
นาน เมื่อเป็นไปนาน ๆ จนกระดูกเชื่อมติดกันหมดแล้ว อาการปวดจะลดลง เหลือแต่ความพิการตามมา ดังนั้น
การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นจะช่วยป้องกันความพิการที่อาจตามมาในภายหลังได้

-------------------------

โดย: หมอหมู วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:35:52 น.
  


โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ โดย น.พ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Posted on June 3, 2011

โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

น.พ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ในทางการแพทย์ สิ่งที่น่าสงสารหรือน่าเสียดายประการหนึ่งคือ การเห็นคนหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตมีอนาคตที่ก้าวหน้าสดใสเจริญรุ่งเรืองรออยู่ ต้องมาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือต้องพิการจากการเจ็บป่วย ถ้าไม่นับความพิการที่เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุต่าง ๆ โรคข้ออักเสบเรื้อรังก็เป็นกลุ่มโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดความพิการได้ในคนหนุ่มคนสาว และในบรรดาโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่มีอยู่หลาย ๆ โรค มีอยู่กลุ่มโรคหนึ่งที่มีคนหนุ่มคนสาวจำนวนไม่น้อยที่โชคร้ายต้องมาป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ นั่นคือ กลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ ที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่ากลุ่มโรค “Spondyloarthropathy” เหตุที่ผมอยากจะเขียนถึงกลุ่มโรคนี้

ประการแรกเนื่องจากตามสถิติแล้วมีคนที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบในกลุ่มโรคนี้รวม ๆ กันประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร นั่นหมายความว่าในประเทศไทยจะมีคนที่ป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ประมาณร่วมล้านคนได้ ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย

ประการที่สองดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โรคนี้มักเกิดขึ้นกับคนหนุ่มคนสาวในช่วงวัยรุ่น วัยเรียน ถึงช่วงเริ่มทำงาน ซึ่งคนเหล่านี้กำลังจะเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองในอนาคต ทำให้ประเทศชาติต้องเสียกำลังคนที่สำคัญไปกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง

ประการที่สาม โรคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการแสดงไม่เด่นชัดนักทำให้แพทย์ส่วนมากไม่ได้นึกถึงหรือไม่คุ้นเคย ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลุ่มนี้จึงมักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องล่าช้าไปจนบางรายได้รับความเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานเป็นระยะเวลานานหรือจนถึงขึ้นเกิดความพิการขึ้น

ประการที่สี่ เนื่องจากความที่ความรุนแรงของโรคกลุ่มนี้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายเป็นไม่รุนแรง บางรายเป็นรุนแรง แพทย์ที่ทำการรักษาจึงต้องมีประสบการณ์ในการรักษาพอสมควร จึงจะปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง ประกอบกับการที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังจึงต้องมีการติดตามและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมกับโรคต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นแพทย์ที่ให้การรักษาจึงควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคข้อ เช่น แพทย์ในสาขารูมาโตโลจิส เป็นต้น



กลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบคืออะไร

การที่เรียกโรคกลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วยโรคหลายโรคที่มีข้ออักเสบเรื้อรังว่าโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ เนื่องจากเกือบทุกโรคในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือมีข้ออักเสบของข้อบริเวณแขนขา ซึ่งส่วนมากจะเป็นข้อบริเวณขา เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า มีอาการปวดบวมของข้อ ร่วมกับการอักเสบของข้อบริเวณกระดูกสันหลัง ทำให้มีอาการปวดหลัง แต่บางรายก็ไม่ปวด โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing spondylitis) ซึ่งจะมีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักแต่ก็มีข้อของขาหรือแขนอักเสบร่วมด้วยได้, โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ที่จะเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน (psoriasis) อยู่, โรคข้ออักเสบรีแอคตีฟ (Reactive arthritis) ที่เกิดมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ หลังจากที่มีการติดเชื้อ, โรคข้ออักเสบที่เกิดร่วมกับลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease) ซึ่งพบไม่บ่อยนักในบ้านเรา, ถ้าลักษณะของโรคไม่เข้ากับโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็จัดเป็นโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบที่ยังแยกไม่ออก (undifferentiate spondyloarthropathy) ซึ่งเป็นชนิดของโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มโรคนี้



ผู้ป่วยโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ จะมีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นโรคในกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบจะมีอาการดังนี้

1. มีอาการปวดบวมข้อ มักจะเป็นข้อเข่า หรือข้อเท้า เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเวลานาน มักจะเป็นข้อที่ไม่เกิดพร้อมกัน 2 ข้าง เช่น บวมข้อเข่าซ้าย แล้วมาปวดบวมข้อเท้าขวา บางรายมีข้อบวมมาก มีน้ำในข้อปริมาณมากได้เนื่องจากการอักเสบ

2. มีอาการปวดหลัง มักจะปวดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง ๆ แต่ถ้าเป็นมากอาจจะลุกลามขึ้นมาถึงกระดูกสันหลังส่วนบนหรือคอ เมื่อเป็นนาน ๆ จะทำให้หลังแข็งหรือคอแข็ง จะก้มตัวหรือขยับหันศีรษะได้ลำบาก

3. มีเส้นเอ็นอักเสบ มีอาการปวดบริเวณเส้นเอ็นของขาหรือเท้า เช่น เจ็บเอ็นร้อยหวายบริเวณส้นเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง จะเจ็บมากขึ้นเวลาเดินหรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เวลาเดินจะเจ็บบริเวณส้นเท้า เวลาตื่นนอนตอนเช้าลุกจากที่นอนลงมายืนจะเจ็บฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้ามาก แต่พอก้าวเดินไปเดินมากลับปวดน้อยลง

4. ปวดหลังหรือปวดตามข้อเวลาอยู่นิ่ง ๆ หรือนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ พอจะเริ่มขยับจะปวดแต่พอขยับตัวไปแล้วจะปวดน้อยลง เวลาตื่นนอนตอนเช้ามีปวดข้อ ข้อฝืดแข็ง ขยับลำบาก แต่ถ้าขยับตัวไปมาเรื่อย ๆ จะไม่ค่อยปวด

5. อาจมีตาแดงตาอักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ ร่วมด้วยได้

6. มีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าปวดบวมอักเสบทั้งนิ้ว 1-2 นิ้ว ทำให้นิ้วบวมโตคล้ายไส้กรอก

อาการที่กล่าวมานี้อาจเกิดขึ้นทีละอาการ หรือเกิดร่วมกันพร้อม ๆ กันได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนังเป็นโรคสะเก็ดเงิน ก็จัดเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ถ้ามีอาการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อ เช่น ท้องเดิน ท้องเสีย หรือเจ็บคอ ก็จัดเป็นโรคข้ออักเสบรีแอคติฟ เป็นต้น



จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

ถ้าท่านมีอายุตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยทำงานจนอายุประมาณ 40 ปี ทั้งชายและหญิงแล้วมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1-2 เดือน แล้วไปรับการรักษา กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคกลุ่มนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ แพทย์จะทำการซักถามประวัติ และตรวจร่างกาย โดยเฉพาะตรวจข้อและข้อกระดูกสันหลังดู ถ้าสงสัยก็จะทำการถ่ายภาพรังสี (x-ray) บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างดู บางครั้งท่านอาจไม่มีอาการปวดหลัง แต่การวินิจฉัยโรคกลุ่มนี้อาศัยการดูภาพถ่ายรังสีว่ามีความผิดปกติที่เข้าได้กับโรคกลุ่มนี้หรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือด เพื่อแยกโรคข้ออื่นที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรค เอส แอล อี นอกจากนี้ยังอาจตรวจดูลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคนี้ที่เรียกการตรวจ HLA-B27 ซึ่งถ้าให้ผลบวก ก็หมายความว่าท่านมีโอกาสเป็นโรคกลุ่มนี้สูง ในขณะเดียวกันถ้าท่านมีบุตร บุตรของท่านก็อาจได้รับถ่ายทอดพันธุกรรมอันนี้ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

เนื่องจากโรคกลุ่มนี้ไม่มีการตรวจเลือดอะไรที่ระบุได้แน่ชัดว่าเป็นโรคกลุ่มนี้แน่ ดังนั้นจึงมีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้คิดถึง และไม่ได้ให้การวินิจฉัยโรคกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ป่วยมักจะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ๆ มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เสียเวลาและเสียเงินทองในการรักษาอาการปวดข้อ ข้ออักเสบไปมาก กว่าจะมาได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้คิดถึงโรคกลุ่มนี้ซึ่งเป็นโรคกลุ่มที่พบได้บ่อย และรีบไปรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ



โรคกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในปัจจุบันนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า โรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการศึกษาพอจะทราบคร่าว ๆ ว่า โรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ประการที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่จะเป็นโรคนี้มักจะมีพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคได้ เช่น มีพันธุกรรมชนิดที่เรียก HLA-B27 ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาแต่พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยายของผู้ป่วย แต่พ่อแม่ของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้ และการมีพันธุกรรมชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคนี้เสมอ ต้องมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรคซึ่งปัจจัยที่มากระตุ้นนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักจะเกี่ยวข้องกับการมีการติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ทำให้มีอาการท้องเดินท้องเสีย หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือแม้กระทั่งหลอดลมอักเสบ การติดเชื้อนี้ไม่เรื้อรังเมื่อได้รับการรักษาก็หาย แต่การติดเชื้อครั้งนั้นดูเหมือนจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเปลี่ยนไป คล้ายกับจะมองว่าข้อหรือเส้นเอ็นของผู้ป่วยเองเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังกับข้อและเส้นเอ็นของผู้ป่วยจนเกิดเป็นโรคขึ้น และมีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว เหตุที่เกิดโรคนี้ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว เพราะช่วงเวลานี้ของคนเราเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราแข็งแรงที่สุด ดังนั้นการเกิดการอักเสบจากภูมิคุ้มกันก็รุนแรงที่สุดเช่นเดียวกัน

การรักษาโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ ทำได้อย่างไร

เนื่องจากผู้ป่วยโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ มีอาการปวดบวมข้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ อาการปวดนี้บางรายไม่รุนแรง แต่บางรายก็ปวดรุนแรงมาก และปวดเรื้อรังเป็นเวลานานจนได้รับความทุกข์ทรมาน ดังนั้นการรักษาที่สำคัญประการแรกคือต้องได้รับยาต้านการอักเสบ ซึ่งส่วนมากเป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นยา indomethacin และอาจต้องใช้ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากเป็นคนอายุน้อย ดังน้นผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ต่อผู้ป่วยอาจไม่มากนัก แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ต่อมาเนื่องจากโรคกลุ่มนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงต้องมียาที่จะปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกัน หรือปรับเปลี่ยนตัวโรค เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) หรือยาเมโธรเทรกเซต (methotrexate) ซึ่งต้องให้ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลานานเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อยาปรับเปลี่ยนตัวโรคไม่ดีนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบ จึงมีการนำยาในกลุ่มยาชีวภาพ (biologic agent) มาใช้รักษาโรคกลุ่มนี้โดยเฉพาะโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing spondylitis) และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินอย่างได้ผล เช่นยา กลุ่มยาต้านสาร tumor necrotic factor-TNF (anti-TNF) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านสารจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ยากลุ่มนี้ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพสูงมาก และออกฤทธิ์เร็ว แต่เนื่องจากมีราคาแพงมาก จึงมีการนำมาใช้ในบ้านเรา แต่ยังไม่แพร่หลายนัก

วิธีการรักษาโรคกลุ่มนี้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากคือ การทำกายภาพบำบัด โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เช่น การว่ายน้ำ และการบริหารกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังและข้อกระดูกสันหลัง ป้องกันไม่ให้ข้อติดยึดและพิการ การทำกายภาพบำบัดนี้ควรทำอย่างสม่ำเสมอ และทำควบคู่กับการรักษาด้วยยาไปตลอดการรักษา จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น และอาจใช้ยาน้อยลงหรือสามารถหยุดยาได้เร็ว นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีความพิการเกิดขึ้น อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก หรือผ่าตัดแก้ไขความพิการของกระดูกสันหลังที่จำเป็น

ข้อมูลจาก : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล



//www.ra.mahidol.ac.th/dpt/MD/know11-air-04


โดย: หมอหมู วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:39:30 น.
  
นำมาจาก เวบนี้ ..

//ascannotdo.wordpress.com/tag/ankylosing-spondylitis-as/




โรคหลังแข็ง ตอนที่ 1 สันหลังอักเสบติดยึด
Posted on May 12, 2011

โรคหลังแข็ง ตอนที่ 1 สันหลังอักเสบติดยึด

อย่าเพิ่งแปลกใจครับ คุณไม่ได้อ่านผิด หรือสำนักพิมพ์ไม่ได้สะกดคำผิด มีโรค ที่เรียกง่าย ๆ ว่า โรคหลังแข็งจริง ๆ โรคหลังแข็งหรือเรียกเต็มยศว่า โรคข้อสันหลังอักเสบ ติดยึด (Ankylosing Spondylitis) เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของโรคข้อและ ข้อสันหลังอักเสบ (spondyloarthropathy) เนื่องจากมีลักษณะอาการและอาการแสดงหลายอย่าง คล้ายกับโรคในโรคกลุ่มนี้ โรคหลังแข็งไม่ใช่โรค แปลกหรือโรคที่พบได้ยาก โรคหลังแข็งเป็นโรคที่ พบได้บ่อยพอสมควร ประมาณว่า คน 100 คน จะเป็นโรคหลังแข็ง 1 คน ซึ่งนับว่าไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นโรคหลังแข็งมักจะป็นคนอายุประมาณ 15-40 ปี เรียกได้ว่าเป็นโรคของคนหนุ่มสาวที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นอนาคตของประเทศ ความน่ากลัวของโรคหลังแข็งนอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดข้อ ปวดหลัง มีข้ออักเสบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ เป็นที่น่ารำคาญและทุกข์ทรมานแล้ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา และปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง

ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีกระดูกสันหลังเชื่อมติดกัน ทำให้ก้มตัว ก้มหลังไม่ได้ เพราะหลังแข็ง นอกจากนี้หลังยังงองุ้มเป็นลักษณะหลังค่อม กระดูกคอก็มีการเชื่อมยึดติดกัน ทำให้ ก้มคอหรือแหงนงอไม่ได้ หันคอไปทางซ้ายทาง ขวาก็ลำบาก กลายเป็นความพิการทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการงานต่าง ๆ หรือทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป ผู้ป่วยบางรายยัง อายุไม่มาก อยู่ในวัยทำงานแต่ต้องมาพิการ หลังงอ หลังค่อม เสียบุคลิกอย่างมาก การป่วยเป็นโรคนี้มีผลกระทบถึงรายได้ ภาวะทางสังคม และสภาพจิตใจของผู้ป่วยอีกด้วย

โรคหลังแข็งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงด้วยอัตราส่วนประมาณ 2:1 ถึง 3:1 จาก การศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคหลังแข็งเป็นผู้ชายถึง ร้อยละ 65-80 โรคหลังแข็งที่เกิดขึ้นในผู้ชายมัก จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าผู้หญิง

มักจะเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงที่เป็นโรคหลังแข็งมักจะมี การอักเสบของข้อเข่า ข้อเท้า หรือข้อนิ้วมือนิ้วเท้ามากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลังแข็งจะ มีอาการปวดหลังร่วมด้วย อาการปวดหลังนี้อาจจะมีตั้งแต่ปวดไม่มาก จนถึงปวดทรมานมากจนทำอะไรไม่ได้ บางรายปวดไม่มากก็ไม่ได้ไปรับการรักษาปล่อยไว้จนเกิดความพิการ หลังยึดติดแข็งไปหมด ขยับก้มไม่ได้แล้วค่อยไปหาหมอ ถึงตอนนั้นก็อาจจะ สายเกินไป ไม่สามารถรักษาให้กลับเป็นสภาพเดิมได้

อาการปวดหลังโดยมากจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปช้า ๆ จะเป็นลักษณะอาการปวดแบบตื้อ ๆ มักจะปวดบริเวณก้นกบหรือเอวส่วนล่าง อาการปวดจะเป็นมากในช่วงตื่นนอนตอนเช้า โดยจะรู้สึกปวดตึงหลังขยับไม่ได้สะดวก บางรายเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง แต่พอมีการเคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ อาการปวดหลังจะดีขึ้น แต่พออยู่นิ่ง ๆ นั่งนาน ๆ จะกลับมาปวดอีก บางรายก็มีอาการปวดหลังมากจนทำอะไรไม่ได้ ปวดจนทนไม่ไหว อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังเรื้อรังคล้าย ๆ กับที่เล่ามา อาจจะไม่ได้เกิดจากโรคหลังแข็งเสมอไป จากการศึกษาพบว่าอาการปวดหลังที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เกิดจากโรคหลังแข็ง อาการปวดหลัง ส่วนมากมักจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติของโครงสร้าง เช่น ปวดหลังจากหมอนรองกระดูก เคลื่อนหรือจากกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งตัว ซึ่งอาจจะเกิดจากการก้มยกของหรือการนั่ง นอน ยืน เดิน ผิดท่าผิดทาง เมื่อพูดถึงอาการปวดหลัง มีคนจำนวน ไม่น้อยยังคิดว่าอาการปวดหลังมักจะเกิดจากโรคไตจริง ๆ แล้ว โรคไตที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังมีโรคกรวยไตอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิ่วในไต หรือท่อไต แต่โรคไตไม่ใช่สาเหตุสำคัญของอาการปวดหลังที่พบบ่อย

นอกจากอาการปวดหลังแล้ว ผู้ป่วยโรคหลังแข็งจะมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย ข้อที่ปวดมักจะปวดบริเวณข้อตะโพกหรือข้อไหล่ ส่วนข้อที่อักเสบ ปวด บวม จะเป็นข้อเข่าหรือข้อเท้า แต่จะไม่เป็นพร้อมกัน มักจะเป็นทีละ ข้าง เป็น ๆ หาย ๆ นอกจากเรื่องข้อแล้ว ผู้ป่วย โรคหลังแข็ง จะมีอาการปวดหรืออักเสบบริเวณ จุดที่เส้นเอ็นไปเกาะกับกระดูก เช่น บริเวณเอ็น ร้อยหวาย หรือเอ็นฝ่าเท้า หรือมีเส้นเอ็นบริเวณ อื่น ๆ ของร่างกายอักเสบได้บ่อย บางรายมีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าบวมทั้งนิ้ว เป็นลักษณะคล้ายไส้กรอก (sausage finger)

จากการที่โรคหลังแข็งเป็นโรคหนึ่งที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทำให้มีอาการในระบบอื่นได้ ที่สำคัญคือ อาการทางตา อาจมีตาแดง ปวดตา เคืองตา ตาสู้แสงไม่ได้ จากเยื่อบุตาอักเสบ มักเป็นข้างเดียวมากกว่า 2 ข้าง โดยทั่วไปอาการทางตามักเกิดตามหลังอาการทางข้อ และพบในผู้ป่วยที่โรคหลังแข็งรุนแรง และต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ถ้ารักษาช้าไปอาจทำให้ตาบอดได้ บางรายอาจมีลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือลิ้นหัวใจรั่ว นอกจากนี้อาจมีการนำคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลังแข็ง แต่มีข้อมูลว่าโรคหลังแข็งจะเกิดในคนที่มีพันธุกรรมบางชนิดที่เรียกว่า HLA-B27 ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่มีพันธุกรรมแบบอื่นแต่คนที่มีพันธุกรรมแบบ HLA-B27 นี้ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 10 ของคนในโลกนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นโรคหลังแข็งทุกคน คงต้องมีปัจจัยอื่น ๆ จากภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรคขึ้น ในขณะนี้พบว่า น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรคบางชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบในลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องเดินท้องเสียหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทำให้มีท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ในขณะที่เกิดโรคหลังแข็งขึ้น การติดเชื้อเหล่านี้จะได้รับการรักษาหรือหายไปแล้ว คาดว่าการติดเชื้อเหล่านี้อาจจะไปเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดูเหมือนจะจำเนื้อเยื่อบริเวณข้อหรือเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังไม่ได้ จึงมองเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันจึงมีปฏิกิริยาต่อต้าน ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณเยื่อหุ้มกระดูกสันหลังและข้อ ทำให้เกิดอาการปวด และมีการทำลายเยื่อหุ้มข้อและกระดูกจนกลายเป็นความพิการขึ้น

ปัจจัยทางเพศก็มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคหลังแข็งหรือโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด เพราะดูเหมือนผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง แต่ยังไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับปัจจัยทางพันธุกรรมทางเพศหรือฮอร์โมนเพศ โดยสรุป ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคหลังแข็ง แต่ปัจจัยที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะ HLA-B27 ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม การติดเชื้อ รวมทั้งความผิดปกติของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ
ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี.
โดย: หมอหมู วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:41:45 น.
  


นำมาจาก เวบนี้ ..

//ascannotdo.wordpress.com/tag/ankylosing-spondylitis-as/



โรคหลังแข็ง ตอนที่ 2 สันหลังอักเสบติดยึด รักษาได้จริงหรือ
Posted on May 12, 2011

โรคหลังแข็ง ตอนที่ 2 รักษาได้จริงหรือ

ปัญหาของผู้ป่วยโรคหลังแข็งส่วนมากจะ เป็นโรคนี้แล้วไม่รู้ตัว บางครั้งมีอาการปวดข้อ ปวดหลังก็มักจะซื้อยารับประทานเอง พอบรรเทาอาการปวด แต่ไม่หายและไม่ได้รักษาโรคบางครั้งมีอาการปวดข้อ ไปพบแพทย์ แพทย์ก็อาจไม่ได้นึก ถึงโรคนี้ ก็ให้แต่ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบ เช่น ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ทานยาแล้วอาการปวดลดลงบ้างแต่ไม่หาย ทำให้การรักษาล่าช้าไป เกิดความพิการ หลังแข็งไปแล้ว แก้ไขลำบาก ดังนั้นถ้าท่านสงสัยว่าจะเป็นโรคหลังแข็งหรือโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคข้อ ที่เรียกแพทย์รูมาโตโลจิส หรือถ้าหาไม่ได้ก็ไปพบแพทย์ทางศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ก็ได้ แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคโดยอาศัยประวัติการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายว่าอาการและอาการแสดงเข้าได้กับโรคนี้หรือไม่ เช่น ตรวจดูว่ามีอาการปวดบริเวณก้นกบโดยการตรวจวิธีต่าง ๆ ตรวจดูบริเวณกระดูกสันหลังว่ามีการเคลื่อนไหวเป็นปกติหรือไม่ หรือหลังแข็งไปแล้วก้มไม่ลง ก้มเอามือแตะปลายเท้าไม่ถึง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการประเมินกระดูกสันหลังช่วงอก โดยวัดรอบอกในขณะหายใจเข้าเต็มที่หรือประเมินกระดูกสันหลังช่วงคอโดยการให้ยืนหันหลังชิดกำแพง แล้ววัดระยะจากบริเวณท้ายทอยไปที่กำแพงดูว่าสามารถเอาท้ายทอยไปแตะกำแพงได้หรือไม่ รวมไปถึงการตรวจการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังในท่าต่าง ๆ เช่น การเอียงตัวไปด้านข้างหรือการแอ่นตัว การตรวจตำแหน่งอื่น ๆ ของกระดูกก็อาจตรวจบริเวณข้อต่าง ๆ ที่มีอาการปวดหรือข้ออักเสบ รวมไปถึงการอักเสบของเส้นเอ็นและจุดเกาะของเอ็น เช่น บริเวณส้นเท้า เป็นต้น

ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคหลังแข็งจริง ก็จะขอตรวจทางภาพถ่ายรังสี ที่มักพบความผิดปกติและเป็นความผิดปกติที่ใช้ยืนยันการวินิจฉัยโรคได้คือ ความผิดปกติบริเวณข้อต่อของกระดูกก้นกบกับกระดูกเชิงกราน ซึ่งส่วนมากมักพบความผิดปกติทั้ง 2 ข้างสมมาตรกัน ถ้าผลไม่ชัดเจนเนื่องจากเพิ่งเป็นในระยะ แรกอาจต้องอาศัยการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ต้องการยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค แพทย์อาจจะขอตรวจเลือดดูพันธุกรรมว่าเป็นลักษณะ HLA-B27 หรือไม่ จากการศึกษาในทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ป่วยโรคหลังแข็งมากกว่าร้อยละ 90 จะมีการตรวจ HLA-B27 ให้ผลบวก แต่การตรวจ HLA-B27 นี้ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย เพราะผลที่ได้ไม่คุ้มค่า

โรคหลังแข็งหรือข้อสันหลังอักเสบติดยึด เป็นโรคเรื้อรังที่ในผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคและการดำเนินโรคแตกต่างกัน บางรายอาการไม่รุนแรง ค่อย ๆ เป็น เป็น 10 ปี กลุ่มนี้จะมีอาการทางกระดูกสันหลังไม่มาก แต่บางรายมีอาการรุนแรง ปวดหลังมาก กระดูกสันหลังจะมีการอักเสบรุนแรง และมีการติดยึดของกระดูกสันหลังอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี ปัจจัยที่บ่งถึงความรุนแรงและมีการพยากรณ์โรคก็ไม่ดี ได้แก่ การมีข้อตะโพก อักเสบร่วมด้วย การมีการเคลื่อนไหวของข้อกระดูกสันหลังช่วงเอวลดลง การมีนิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบเหมือนไส้กรอก การที่โรคเริ่มเกิดตั้งแต่อายุน้อยกว่า 16 ปี รวมถึงการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ สำหรับผู้หญิงถ้าเริ่มโรคนี้ตอนอายุมากหน่อย มักมีอาการของโรครุนแรงน้อยกว่า

ผู้ป่วยโรคหลังแข็งบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือ กระดูกสันหลัง หัก เพราะถึงแม้กระดูกสันหลังจะแข็งขึ้นเพราะมีแคลเซียมมาเกาะพังผืดหุ้มกระดูกสันหลังจนแข็ง แต่กระดูกสันหลังจะเปราะขึ้น ถ้ามีการกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังช่วงคอ จะทำให้มีกระดูกสันหลังหักได้ บางรายถึงกับเป็นอัมพาตจากกระดูกสันหลังหักกดไขประสาทหรือเส้นประสาทไขสันหลัง ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่พบได้ก็มีต่อมลูกหมากอักเสบ ลิ้นหัวใจรั่ว มีปอดอักเสบเป็นพังผืด โดยเฉพาะบริเวณปอดส่วนบน แต่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุดคงเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อการทำงานและการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยที่ยังอยู่ใน วัยทำงาน

การรักษาโรคหลังแข็งหรือโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด เป็นการรักษาที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและการพินิจพิจารณาอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน และเป็นโรคที่สามารถทำให้เกิดความพิการได้ (อดีตนายกสมาคมคนพิการของไทยบางคนก็เป็นโรคหลังแข็ง) การรักษาโรคหลังแข็งจะประกอบไปด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคนี้เป็นอย่างไร มีการดำเนินโรคอย่างไร แนวทางการรักษาเป็นอย่างไร เนื่องจากการรักษาที่ได้ผลจะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการดูแลรักษาตัวเอง ในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดจนการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากโรคและจากการรักษาต่าง ๆ ยาที่ใช้รักษาโรคหลังแข็งจะประกอบไปด้วยยาแก้ปวดลดการอักเสบในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ ยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) หรือยาเมโธรเทรกเสต (methotrexate) ยาชีวภาพ (biologic agents) ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคหลังแข็ง แต่เป็นยาที่มีราคาแพง

ที่สำคัญในการรักษาโรคหลังแข็งต้องมีการรักษาด้วยการใช้วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อลดอาการปวด ทำให้สามารถใช้ข้อและหลังได้อย่างถูกต้อง และป้องกันการเกิดความพิการ การรักษาด้วยการใช้วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ยังรวมไปถึงการออกกำลังกายที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหลังแข็งคือ การว่ายน้ำ นอกจากนี้ยังมีการบริหารท่าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของหลัง ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนก็ต้องอาศัยการรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย

โรคหลังแข็งหรือโรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นในคนหนุ่มสาว ในวัยเรียนและวัยทำงาน เป็นโรคที่พบได้บ่อย และสามารถทำให้เกิดความพิการได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นถ้าท่านมีอาการปวดหลังหรือสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหลังแข็ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ รักษาต่อไป

โรคหลังแข็ง แข็งจริง ใช่อิงแอบ
หลังไม่แนบ กำแพงได้ ให้ฉงน
แสนจะปวด หลังและข้อ ไม่รอทน
ต้องรีบสน ใจไขว่คว้า รักษาเอย

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี.

โดย: หมอหมู วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:42:17 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด