บ้านสำหรับผู้สูงอายุ ปลอดภัย ไม่ล้ม



บ้านสำหรับผู้สูงอายุ


อุบัติเหตุของผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นภายในบ้าน ซึ่งอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้แม้ว่าจะหกล้มเบา ๆ

ดังนั้นบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ ควรมีการปรับปรุงหรือออกแบบให้มีสภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีความผิดปกติของร่างกาย ทั้งที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือการเสื่อมสภาพของร่างกายตามธรรมชาติ

มีข้อแนะนำในการออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับผู้สูงอายุดังนี้

1.พื้นบ้านและทางเดิน

ควรเป็นระดับเดียวกัน และใช้วัสดุที่เปียกน้ำแล้วไม่ลื่น

ไม่ควรทำพื้นต่างระดับหรือธรณีประตู และไม่ทิ้งสิ่งกีดขวางให้เกะกะ ทางเดิน เพราะอาจจะเกิดการสะดุดล้มได้


2.บันได

ควรจัดให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องใช้บันไดหรือใช้ให้น้อยที่สุด

บันไดควรมีราวจับทั้ง 2 ด้าน บันไดแต่ละขั้นควรสูงน้อยกว่า 15 ซม. และมีความลึกของบันไดมากกว่า 30 ซม. และใส่ยางกันลื่นบริเวณขอบบันได


3. ราวจับ

ควรมีตลอดแนวทางเดิน ราวจับควรมีลักษณะกลม มีขนาดที่จับได้พอเหมาะ และควรอยู่สูงพอที่จะจับได้ถนัด (ประมาณ 75 ซม.จากพื้น)

ภายในห้องต่าง ๆ ทุกห้องควรมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวเวลาลุกยืนหรือเดิน


4. แสงสว่าง ภายในบ้านโดยเฉพาะ ห้องน้ำ ทางเดินและบันไดควรจัดให้มีความสว่างที่เพียงพอ ไม่มืด แต่ก็ ไม่ควร สว่างจ้าเกินไปเพราะทำให้ตาพร่าได้


5. เฟอร์นิเจอร์

ควรมีความสูง–ต่ำที่พอเหมาะ การจัดวางสิ่งของก็ไม่ควรวางสูงจนต้องเขย่งขาหรือต่ำจนต้องก้มหรือคุกเข่าเพื่อหยิบของ

ควรใช้เครื่องอำนวยความสะดวกในการทำความสะอาดบ้าน เช่น ใช้ไม้ถูพื้น แทนการนั่งถูพื้น ควรยืนรีดผ้าแทนการนั่ง ของใช้ในตู้ที่ใช้บ่อยควรวางในระดับที่หยิบได้พอดี

ควรให้ผู้สูงอายุนอนบนเตียงและนั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงระดับหัวเข่า


6. ห้องน้ำ

เป็นห้องที่สำคัญและมักจะเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด

พื้นห้องน้ำควรเป็นระดับเดียวกัน ไม่มีธรณีประตูหรือพื้นต่างระดับ และ ผ้าเช็ดเท้าควรจะไม่หนาเกินไปเพราะอาจทำให้สะดุด หรือ เหยียบแล้วลื่นได้

วัสดุที่ปูพื้นห้องน้ำก็ต้องไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ

ควรใช้โถนั่งหรือชักโครก

ควรมีที่นั่งเพื่อนั่งเวลาอาบน้ำหรือสระผม

มีราวจับช่วยพยุงตัว

ก็อกน้ำควรเป็นแบบคันโยกโดยใช้มือดึงหรือดันเพื่อปิด-เปิดน้ำ ไม่ควรเป็นแบบลูกบิดหรือแบบหมุน

ไม่ควรลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน ควรใช้กระโถนหรืออุปกรณ์ขับถ่ายข้างเตียงจะดีกว่า


7. ประตู

ควรเป็นแบบเลื่อน ซึ่งเปิด-ปิดโดยใช้แบบมือจับดึงหรือดัน ไม่ควรใช้ลูกบิด

ประตูควรกว้างพอสำหรับการเข้าออกพร้อมกัน 2 คน เผื่อว่าจะต้องมีคนช่วยพยุง หรือ กว้างพอที่จะเข็น รถเข็นเข้าออกได้สะดวก


8. ในห้องและทางเดินควรมีสวิตซ์ฉุกเฉินเป็นระยะ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว




 
อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์


1. ปวดหลัง และมีอาการปวดร้าวจากหลังหรือสะโพก ลงไปที่น่อง หรือ ขา ร่วมกับมีอาการชา อ่อนแรงของกล้ามเนื้อขาด้านที่ปวด หรือ ร่วมกับอาการปัสสาวะไม่ออก หรือ มีอาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้

2. ปวดเข่า ร่วมกับมีอาการเข่าบวม มีไข้

3. มีอาการปวดมาก รับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ

4. คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ อาจจะมีอาการปวด หรือไม่มีอาการปวดร่วมด้วย

5. อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เป็นนานมากกว่า 2 อาทิตย์ แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือ เป็นแย่ลงกว่าเดิม






ผู้สูงอายุควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้หกล้ม"
-------------------------------------

     การหกล้มหรือการเดินไม่มั่นคงหรือสูญเสียการทรงตัวนั้นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่เนื่องจากระบบการควบคุมการทรงตัวของผู้สูงอายุจะเสื่อมสภาพไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น และการเสื่อมถอยลงในลักษณะของมวลกระดูกที่ลดลงหรือเรียกว่า ภาวะกระดูกพรุน หากสองประเด็นปัญหานี้โคจรมาพบกันก็คงลงเอยด้วยการเกิดกระดูกหัก ซึ่งเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นอย่างยิ่ง

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้ม?
1 พิจารณาจากประวัติการหกล้มในปีที่ผ่านมาหรือประวัติเสียการทรงตัว ทำให้การเดินไม่มั่นคงเหมือนที่เคยเป็น

2 ตรวจประเมินความสามารถในการทรงตัว ซึ่งแพทย์สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือ ความสามารถในการยืนขาเดียว ,ยืนต่อส้นควรทำได้นานกว่า 30 วินาที ในขณะทดสอบควรต้องระวังการหกล้มด้วย หากไม่สามารถทำได้เกิน 30 วินาที แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีการทรงตัวบกพร่อง และมีโอกาสเกิดการหกล้ม

หากท่านเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวและมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ เช่น โรคทางระบบประสาท การมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจน หรือกรณีเป็นต้อที่มีผลต่อการมองเห็น และการกะระยะ การใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาท รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น พื้นลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ สายไฟหรือของระเกะระกะที่อยู่ตามพื้น

การฝึกการทรงตัว
1 การยืนย่ำเท้าอยู่กับที่เหมือนทหารเดินสวนสนาม
2 การฝึกยืนย่อเข่าเล็กน้อยแล้วเหยียดเข่าขึ้น
3 การฝึกยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นลง
4 การฝึกยืนเอื้อมให้ไกลที่สุดโดยไม่ล้ม

เมื่อทำได้ดีขึ้น ให้เพิ่มเป็นการฝึกเดินเขย่งปลายเท้า เดินส้นเท้า เดินไปด้านข้าง เดินถอยหลัง และเดินต่อส้น เป็นต้น โดยขณะเริ่มทำ ควรหาที่เกาะที่มั่นคงก่อน เช่น โต๊ะ หรือ เก้าอี้ไม่มีล้อ เพื่อป้องกันการหกล้มที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะฝึก

ที่มา แพทยสภา
#ผู้สูงอายุ #หกล้ม
#MedCMU #MedCMUในมือคุณ
#คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
#สื่อสารองค์กรMedCMU

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (official)
https://www.facebook.com/medcmuth/posts/5451768954861416



.................................

 



Create Date : 21 มีนาคม 2551
Last Update : 21 สิงหาคม 2565 13:56:32 น.
Counter : 3213 Pageviews.

5 comments
  
เป็นบทความที่ดีมากๆค่ะ
ขอบคุณๆ
โดย: ดา ดา วันที่: 21 มีนาคม 2551 เวลา:19:46:36 น.
  
ชอบบทความนี้มากค่ะ จริง ๆ แล้ว แม้เรายังไม่แก่ แต่ก็ควรนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้เมื่อมีกำลังลังที่จะปรับเปลี่ยนได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยถนอมสุขภาพเราได้เป็นอย่างดีค่ะ และทำไม่ให้ใช้ร่างกายอย่างผิดลักษณะ ที่ควรเป็น
โดย: Liege วันที่: 21 มีนาคม 2551 เวลา:20:55:34 น.
  

ใช่แล้วครับ .. ปรับให้เหมาะตั้งแต่เริ่มสร้าง เลยยิ่งดี ...

โดย: หมอหมู วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:17:35:07 น.
  
แก่แล้วจะเข้าใจ...นวัตกรรมตอบโจทย์ผู้สูงวัย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มิถุนายน 2558 07:57 น.
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9580000065377
"จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย" ปัญหาสุขภาพที่ตามมาพร้อมกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของอายุ ทำให้หลายๆ บริษัทเดินหน้าพัฒนานวัตกรรม ผุดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ตามความต้องการของบรรดาคุณลุง คุณป้า คุณปู่ คุณตา ผู้มีกำลังซื้อแต่สุขภาพร่างกายเริ่มไม่อำนวย
เก้าอี้ไม้สักถูกออกแบบมาให้มีลักษณะโค้งมนเพื่อรองรับสรีระ มีหูจับเพื่อความแข็งแรงและอีกด้านหนึ่งเป็นแท่งไม้ธรรมดา เพราะผ่านการสอบถามความเห็นจากผู้สูงวัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับเก้าอี้ ที่ส่วนมากมักชอบนำฝ่ามือไปขูดกับสันไว้เพื่อการผ่อนคลาย บ.ดีสวัสดิ์ จำกัด จึงออกแบบเก้าอี้ออกมาให้มีหน้าตาอย่างที่เห็น ซึ่งไม้ในลักษณะนี้สามารถเปียกน้ำได้ จึงเหมาะเป็นเก้าอี้อาบน้ำของผู้สูงอายุ
ผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จะแนะนำให้รู้จักคือเป็นผลิตภัณฑ์จาก บริษัท ดีสวัสดิ์ อินดัสทรี จำกัด บริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และของใช้ภายในบ้านจากไม้สักฝีมือคนไทย ผู้ประกอบการเดิมจากโครงการ สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) รักษ์โลก ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานจากไม้สักจำนวนมากด้วยแนวความคิดแบบนอกกรอบ
นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ ประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ดีสวัสดิ์ อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า ดีสวัสด์เคยทำผลิตภัณฑ์มาแล้วแทบครบทุกแบบ ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือผลิตภัณฑ์แนวศิลปะซึ่งก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่ไม่ตอบโจทย์ในใจเขาจากการเดินทางไปประกวดผลงานในหลายๆ ประเทศเขาได้เห็นมุมมองของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อผู้สูงอายุซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี จึงริเริ่มการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบใส่ใจ โดยทำการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุด้วยตัวเอง
"คนแก่นี่ถ้าได้ลงไปคุยกับหลายๆคนจะรู้เลยว่าเขาป่วยไม่เหมือนกัน ปัญหาสุขภาพไม่เหมือนกันสักคน เพราะกว่าจะแก่แต่ละคนทำงาน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันมา ไม่เหมือนเด็กที่ถูกเลี้ยงมาเหมือนๆ กัน งานแต่ละชิ้นที่ผมทำจึงต้องใส่ใจว่าปัญหาที่มักพบของคนแก่คืออะไร หลักๆ คือการยึดเกาะเพราะเขาลุกเดินไม่ค่อยไหว เก้าอี้ของเราจึงเน้นไปที่หูจับ และผิวสัมผัสที่ไม่ลื่น สำหรับผมถ้าลูกค้าสัก 10 คนพอใจผมก็มีความสุขแล้ว มันรู้สึกดีว่าเราได้ทำอะไรเพื่อคนที่ใกล้ตัวจริงๆ ไม่เหมือนสินค้ารักษ์โลกที่ทำไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้ว่ารักจริงไหม โลกจะหายร้อนขึ้นบ้างหรือเปล่า" ผู้ประกอบการ บ.ดีสวัสดิ์ จำกัด ไล่เรียง
ต่อมาเป็นส่วนของ บริษัท โมเดิร์นฟอร์ม จำกัด ซึ่งได้นำเตียงเพื่อผู้สูงอายุที่สามารถปรับนั่ง นอนและแยกส่วนเป็นโซฟาได้มาจัดแสดง ทำให้เห็นนวัตกรรมที่ล้ำไปอีกขั้น เพราะนอกจากเตียงจะทำจากไม้จริงที่มีความสวยงามและอะลูมิเนียมที่คงทนแข็งแรงแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Micro- Simulation System หรือระบบปีกผีเสื้อที่ช่วยกระจายน้ำหนัก ลดแรงกดทับของร่างกายและช่วยกระตุ้นปลายประสาทในขณะที่นอน พร้อมด้วยระบบรับคำสั่งอัตโนมัติอัจฉริยะอีกมากมาย สนนราคาอยู่ที่เตียงละ 440,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีใช้ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนบางแห่ง
ในส่วนต่อมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบฝีมือนักศึกษาปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ "ขวดน้ำ" เพื่อผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำน้อย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมอง ที่มีปัญหามืออ่อนแรง ไม่มีแรงยกขวดน้ำขึ้นดื่มและมักสำลักน้ำเพราะควบคุมปริมาณน้ำในแต่ละครั้งไม่ได้ ด้วยการออกแบบให้ขวดมีช่องว่างตรงกลางเพื่อง่ายกับการสอดมือหยิบจับ และสามารถเปิดปุ่มดื่มได้ง่ายเพียงกดคลิ้กเดียว โดยน้ำที่ออกมาจากขวดจะออกมาในปริมาณเพียง 1 อึกเท่านั้นเพื่อป้องกันการสะอึก
นวัตกรรมชิ้นสุดท้ายที่นำมาเสนอในวันนี้คือ โต๊ะทำงานเอนกประสงค์เพื่อผู้สูงอายุ ผลงานของ น.ส. ณิชกมล เตชะทวีกิจกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มจธ.ที่ได้ไอเดียการออกแบบจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงวัยที่ชอบทำกับข้าว
"ผู้สูงอายุเวลาอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรก็มักจะทำกับข้าวค่ะ รอคนในบ้านกลับมากิน เลยคิดออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้เขาทำทุกอย่างได้แบบไม่ต้องลุกไปหยิบนั่นนี่บ่อยๆ ออกมาเป็นโต๊ะอเนกประสงค์ที่สามารถเปิดเข้าเปิดออก ยกถอดประกอบได้ ตามลักษณะของ "ห่อหมก" แนวคิดหลักของการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ที่เป็นการจับทุกอย่างมาหมกๆ ไว้รวมกัน" ณิชกมล กล่าว
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และโครงการ iTAP สวทช. ได้ร่วมมือจัดโครงการ "ผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับผู้สูงอายุ" เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจร่วมทำการวิจัยการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และการบริการสำหรับนวัตกรรมสินค้า ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ
น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP สวทช. กล่าวว่า โครงการที่จัดทำขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. ภายใต้โครงการ iTAP ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีไทยทำร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและการฟื้นฟู มจธ. (CART) เพื่อวิจัยและประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการเพื่ออำนวยความสะดวกรวมถึงการฟื้นฟูผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้พิการ
นอกจากนี้ศูนย์บริการวิจัยและออกแบบ มจธ.ยังได้ร่วมมือกับ CART ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ หรือ เอเบิลแล็บ (ABLE LAB) เพื่อทำการวิจัยออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้เกิดความพร้อมของภาคธุรกิจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
"เรื่องเทรนด์ผู้สูงอายุนี่ได้มาตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่น เห็นเทคโนโลยี เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยผู้ใหญ่ เขาก็ทำทุกอย่างแบบแคร์ผู้สูงอายุ เห็นแล้วรู้ว่าเขาใส่ใจ จึงเกิดแนวคิดว่าเราควรจะมีผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุบ้าง สวทช.มีโครงการ iTAP ที่จะให้การสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีและงบประมาณอยู่แล้ว เราจึงเริ่มมองหาพันธมิตรที่มีศักยภาพด้านโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่ง มจธ.มีศูนย์ที่ดูแลจุดนี้อยู่ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างเรา, มจธ. และเอเบิลแลป ที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ"
ทั้งนี้ สวทช.จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบายของโครงการ เป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีวงเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาทและเป็นเอกชนที่อยู่ในภาคการผลิต ทั้งสิ้น 8 บริษัทมาดำเนินโครงการนำร่อง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญจาก มจธ.เป็นที่ปรึกษา โดย สวทช.จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ 50%, ค่าการทดสอบทดลองผลิตภัณฑ์เพื่อมาตรฐาน 50% และการใช้วัสดุสิ้นเปลืองอีก 50% หรือไม่เกินงบประมาณบริษัทละ 400,000 บาท โดยหลังจากการคัดเลือกจะมีการฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจเป็นระยะ และคาดว่าภายใน 6 เดือน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบชิ้นแรกของแต่ละบริษัทจะเสร็จพร้อมส่งออกสู่สายตาประชาชน
**** ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโครงการได้ "ภายในเดือน ก.ค." ที่ น.ส.พนิดา ศรีประย่า โครงการ iTAP สวทช. โทร 02-5647000 ต่อ 1301 หรือที่ อีเมลล์ panita@tmc.nstda.or.th
โดย: หมอหมู วันที่: 1 กรกฎาคม 2558 เวลา:23:13:40 น.
  
การรักษา เข่าเสื่อม .. สิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแลตนเองบริหาร ยาเป็นเพียงตัวช่วย เท่านั้น

ข้อเข่าเสื่อม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-05-2008&group=5&gblog=15

บ้านสำหรับผู้สูงอายุ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-03-2008&group=5&gblog=11

ผู้สูงอายุ ท่าทางที่เหมาะสม
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-03-2008&group=5&gblog=10


โดย: หมอหมู วันที่: 20 พฤศจิกายน 2564 เวลา:16:28:24 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด