โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์




โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีการอักเสบของทุกระบบในร่างกาย แต่จะมีการอักเสบเด่นชัดที่ เยื่อบุข้อ และ เยื่อบุเส้นเอ็น ลักษณะสำคัญของโรคนี้ได้แก่ มีการอักเสบของข้อ หลาย ๆ ข้อ พร้อม ๆ กัน เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเป็นเดือน ๆ หรือ ปี ๆ

โรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า

อาการอาจเริ่มปรากฏในช่วงอายุเท่าใดก็ได้ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี

ถ้าหากเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กก็มักจะมีอาการรุนแรง ในเด็กจะมีอาการและอาการแสดงต่างจากผู้ใหญ่



รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ …

1.มีการอักเสบเรื้อรังของข้อหลาย ๆ ข้อ ทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์

2.ข้ออักเสบ พบบ่อยที่บริเวณ ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บตามข้อต่าง ๆ

ถ้าเป็นมานานจะมีข้อผิดรูปได้ ซึ่งเกิดจาก การอักเสบของเยื่อบุข้อ การคั่งของเลือดในบริเวณข้อ ขาดการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัด กินอาหารไม่เพียงพอ หรือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ

3.มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก ในช่วงตื่นนอนตอนเช้า มักต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อได้ ดีขึ้น ในช่วงบ่าย ๆ มักจะขยับข้อได้เป็นปกติ

4.พบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยหมดทั้งตัว น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ ปุ่มรูมาตอยด์ใต้ผิวหนัง และภาวะเลือดจาง

5.ตรวจเลือดพบมีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะตรวจเลือดพบเพียงร้อยละ 50-70 เท่านั้น ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบรูมาตอยด์ ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรครูมาตอยด์แต่ผู้ที่มีปริมาณรูมาตอยด์แฟคเตอร์สูงจะมีอาการรุนแรงกว่า

6.เจาะน้ำในข้อไปตรวจ

7.เอ๊กซเรย์ ไม่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่ใช้ประเมินว่าข้อถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด เพราะอาจจะต้องผ่าตัด


ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ สามารถใช้ข้อต่าง ๆ ได้เกือบเท่ากับคนปกติ

จะมีผู้ป่วยส่วนน้อยประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดความพิการ มีข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างจนใช้งานไม่ได้ และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก ที่จะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตา หัวใจ หลอดเลือด ปอด ม้าม เป็นต้น

โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้ แต่ต้องใช้เวลานาน

ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนในการรักษาไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนยาเองเพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเองโดยเฉพาะเมื่อเกิดความพิการขึ้นแล้วก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้

สำหรับข้อที่มีการอับเสบอยู่แล้ว การรักษาจะเป็นการควบคุมโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น ดังนั้นข้อก็อาจจะบวม ผิดรูปอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการรักษาไม่ได้ผล

โรครูมาตอยด์มีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นแพทย์ก็จะให้การรักษาแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในระยะแรกแพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนยาไปมา เพื่อหาว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นมากที่สุด

ส่วนผลการรักษาจะดีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโดยเฉพาะการทำกายภาพบำบัดของข้อ และ การใช้ข้ออย่างถูกวิธี



แนวทางการรักษา


1.การทำกายภาพบำบัดของข้อ เช่น

-ประคบด้วยความร้อน หรือแช่ในน้ำอุ่น

-ใส่เฝือกชั่วคราวในช่วงที่อักเสบมากหรือตอนกลางคืน เพื่อลดอาการปวดและป้องกันข้อติดผิดรูป

-ขยับข้อให้เคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันข้อติดแข็ง โดยเฉพาะนิ้วมือและข้อมือ

-ออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้วมือ มือ และแขน ซึ่งอาจจะใช้วิธีบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง ลูกเทนนิสหรือเครื่องออกกำลังที่ใช้มือบีบอื่น ๆ รวมถึงการยกน้ำหนัก 1 - 3 กิโลกรัมร่วมด้วยก็ได้

-ใช้ข้ออย่างถูกวิธี พยายามกระจายแรงไปหลายๆข้อ เช่น ใช้มือสองข้างช่วยกันจับสิ่งของแทนการใช้มือข้างเดียว ใช้ข้อใหญ่ออกแรงแทนข้อเล็ก เช่น ใช้แขนเปิดประตูแทนใช้ข้อมือ หรือ ใช้อุ้งมือเปิดฝาขวดแทนใช้นิ้วมือ

-ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบคันโยก ไม่ควรใช้แบบบิด-หมุน ประตูควรเป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิดไม่ควรใช้ลูกบิด


2. ยากลุ่มระงับการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะช่วยลดอาการปวดและบวมตามข้อได้ค่อนข้างดี และเมื่อเลือกใช้ยาตัวใดก็ควรรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น

ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้คือ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะมีบวมบริเวณหน้า แขน ขา ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง และ ต้องระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ

ยากลุ่มนี้จะมียาใหม่ที่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการเกิดแผลในทางเดินอาหารน้อย แต่จะมีราคาค่อนข้างแพง จึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหารเช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เคยมีแผลในทางเดินอาหาร


3. ยากลุ่มสเตียรอยด์

ยากลุ่มนี้มีทั้งชนิดกินและฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าข้อ จะใช้เมื่อการอักเสบรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะผลข้างเคียงมาก เช่น กระดูกพรุน ไตวายเฉียบพลัน ติดเชื้อง่าย

เมื่อหยุดยาก็จะกลับมีอาการขึ้นอีก ในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจใช้ในขนาดสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็ควรลดยาลง


4. ยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ออกฤทธิ์ช้า

เป็นยาที่ค่อนข้างอันตราย มีผลข้างเคียงมาก แพทย์จึงจะใช้ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือในผู้ที่มีอาการอักเสบรุนแรง มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในเลือดสูง

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า กว่าจะเห็นผลต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป

ยาที่ใช้บ่อย และค่อนข้างปลอดภัยคือ ยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และสามารถลดการอักเสบในโรครูมาตอยด์ได้ด้วย โดยมักจะใช้ควบคู่ไปกับยาในข้อ 2 มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ตาพร่า ผื่นคัน ผิวแห้ง ผิวคล้ำ ซึ่งจะลดอาการทางผิวหนังได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่า ก็ต้องหยุดใช้ยา

ยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ เช่น ยาMTX ยาเกลือทอง ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ยังมียาใหม่ ๆ ที่เริ่มนำมาใช้อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นยาที่อันตราย มีผลข้างเคียงสูง ถ้าจะใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด


5. การผ่าตัด

เช่น ผ่าตัดเลาะเยื่อบุข้อที่มีการอักเสบออก ผ่าตัดเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น ผ่าตัดเชื่อมข้อติดกัน ผ่าตัดกระดูกปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม

การผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น

............................................................


สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย  -= Thai Rheumatism Association =-

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร ?

โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น

ข้ออักเสบเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรครูมาตอยด์ใช่หรือไม่ ?
ถึงแม้โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด แต่จะมีกลุ่มโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากที่เลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากการรักษาจะแตกต่างกันออกไป

สาเหตุของโรครูมาตอยด์คืออะไร ?
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวกับการติดเชื้อบางอย่าง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

ผู้ใดบ้างที่เป็นโรครูมาตอยด์ได้ ?
โรครูมาตอยด์สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์ เยื่อบุข้อจะมีการเจริญงอกงามและมีการหนาตัว จากนั้นจะลุกลามทำลายกระดูกและข้อในที่สุด ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานานในตอนเช้า เมื่อมีอาการชัดเจนข้อจะมีการบวม ร้อน และปวด โรคนี้สามารถเป็นได้กับทุกข้อของร่างกาย แต่ที่พบไดบ่อยคือข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า อาการของข้ออักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลันได้ บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการทางระบบตา ปอด และมีปุ่มขึ้นตามตัวได้

การวินิจฉัย
ในรายที่เป็นมานานและมีข้ออักเสบชัดเจนการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก แต่ในรายที่เป็นในระยะแรกการวินิจฉัยอาจยุ่งยาก แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกโรคที่คล้ายโรครูมาตอยด์ออกไป

การตรวจหาสารรูมาตอยด์ในเลือดจะช่วยการวินิจฉัยหรือไม่ ?
สารรูมาตอยด์สามารถตรวจพบได้ในเลือดของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ประมาณร้อยละ 70-80 แต่สารนี้สามารถตรวจพบได้ในโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรครูมาตอยด์ ตรวจพบได้ในโรคติดเชื้อบางอย่าง หรือตรวจพบได้ในคนปกติ ดังนั้นการตรวจพบสารนี้จะไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ แต่จะใช้ในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรค อนึ่ง ในระยะแรก ๆ ของโรครูมาตอยด์การตรวจหาสารนี้อาจให้ผลลบได้

การรักษา
1. การใช้ยา ในปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทางด้านระบบทางเดินอาหารและระบบไตได้ ในรายที่เป็นรุนแรง มีอาการมากและข้อถูกทำลายมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่ายาระดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ ยาต้านมาลาเรีย ยาทองคำ ยาเมทโธเทรกเซท ยาซัลฟาซาลาซีน เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการเจ็บปวด แต่จะช่วยระงับการลุกลามของโรคได้ แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจึงควรใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงและใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อนึ่ง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาที่มีผู้นำเอามาใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์เป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากยานี้มีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบของข้อได้ แต่จากการศึกษาในระยะหลัง ๆ พบว่ายาชนิดนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงการดำเนินของโรคเลย แต่เมื่อใช้ยานี้ไปนาน ๆ ผู้ป่วยจะติดยาและไม่สามารถเลิกยาได้ พร้อมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาชนิดนี้มากมาย เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตาเป็นต้อกระจก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกระดูกผุ เป็นต้น จึงไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการนำยานี้มาใช้รักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ยกเว้นในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้ว และควรดูแลควบคุมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย มีส่วนสำคัญมากในการรักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ การพักผ่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย แต่การพักที่นานเกินไปจะทำให้ข้อฝืดขัด ดังนั้นการพักผ่อนจะต้องสมดุลย์กับการบริหารร่างกาย การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอไม่ติดขัด และช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ (ศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารชุดการบริหารร่างกาย)
3. การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรเรียนรู้ และหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อาจส่งเสริมให้ข้อถูกทำลายเร็วขึ้น เช่น การนั่งพับเข่าในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ หรือการบิดข้อมือในกรณีที่มีข้อมืออักเสบ การรู้จักใช้กายอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวคล่องขึ้นและหลีกเลี่ยงแรงที่กระทำต่อข้อได้
4. การผ่าตัด จะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว หรือกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เอ็นขาด เป็นต้น การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อจะช่วยให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น

เอกสารแนะนำข้อมูลโรครูมาตอยด์ สำหรับประชาชน


https://www.thairheumatology.org/โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์/
 



Create Date : 05 มกราคม 2551
Last Update : 11 ตุลาคม 2564 15:30:19 น.
Counter : 30721 Pageviews.

7 comments
  
คุณหมอคะ น้องสาวเค้าไปตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นรูมาตอยด์ ส่วนตัวเองเป็น arthritis หมอที่นี่บอกค่ะ แต่หมอให้ทานยาอยู่ตัวเดียวชื่อ Condrosulf 800 ก็ไม่เห็นหายเลยค่ะ ยิ่งอากาศหนาวๆ เจ็บนิ้วมือมาก อ้อ จะเป็นแต่ที่นิ้วมือเท่านั้นค่ะ มาอ่านเจอบทความของหมอ ชอบมากค่ะ
โดย: Suessapple วันที่: 6 มกราคม 2551 เวลา:0:05:52 น.
  

-ขอบคุณครับ ..

ยานั้นเป็นยากลุ่มทำให้ขอ้เสื่อม อักเสบ ลดลง ไม่ได้ทำให้โรคหายขาดนะครับ ...

คงต้องรักษาต่อเนื่อง แล้วก็บริหารด้วยนะครับ ..

ขอให้ดีขึ้นเร็ว ๆ ...
โดย: หมอหมู วันที่: 16 มกราคม 2551 เวลา:18:51:34 น.
  
ขอบคุณ คุณหมอมากค่ะที่กรุณามาตอบหลังไมล์ บล็อกคุณหมอมีประโยชน์มากนะคะ..
โดย: ตัวp_box วันที่: 4 ธันวาคม 2552 เวลา:13:13:19 น.
  

//www.thaiclinic.com/rheumatoid.html

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคในกลุ่ม ออโตอิมมูนครับ ข้อจะมีการอักเสบเรื้อรัง ถ้าเป็นอยู่นานและไม่ได้รับการรักษาที่ดี ทำให้เกิดข้อพิการผิดรูปได้ครับ ส่วนใหญ่หรือเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดของโรคนี้ จะเกิดขึ้นกับข้อเล็ก ๆ ของนิ้วมือ และข้อมือครับ
และต้องเป็นหลาย ๆ ข้อ เมื่อมีความรุนแรงขึ้น จึงเกิดขึ้นที่ข้อใหญ่ขึ้น ข้อที่อักเสบมักเป็นทั้งสองข้างในข้อตำแหน่งเดียวกัน เช่น ข้อเข่าทั้งซ้ายและขวา ข้อมือทั้งซ้ายและขวาเป็นต้น


อาการ

อาการส่วนใหญ่มักเป็นอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ และข้ออื่นที่ปวดและมีอาการข้อติดยึด เคลื่อนไหวลำบาก มักเป็นมากในตอนเช้า และใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมง กว่าจะขยับข้อได้ดี และอาการทั้งหมดต้องเป็นตลอดมาติดต่อกันมากกว่า 6 สัปดาห์ครับ

ผู้ป่วยบางรายอาจมีตุ่มก้อนรูมาตอยด์ขึ้นตามข้อศอกหรือข้อมือครับ

โรคนี้มักมีอาการทางข้อเด่น ส่วนอาการในระบบอื่น พบไม่บ่อย แต่ก็พบได้ เช่น ปอดอักเสบ น้ำในช่องปอด เป็นต้น


การวินิจฉัย อาศัยการซักประวัติที่มีอาการข้างต้น ร่วมกับการตรวจข้ออย่างละเอียด และตรวจเลือดพบรูมาตอยด์แฟคเตอร์ ให้ผลบวก

ส่วนการถ่ายภาพรังสีของข้อ มักไม่จำเป็นในรายที่อาการและการตรวจร่างกายชัดเจนครับ

เนื่องจากโรคนี้ทำให้เกิดข้ออักเสบ และถ้าไม่รักษาจะเกิดการทำลายข้อทำให้ผิดรูป และใช้งานข้อไม่ได้ เกิดความพิการขึ้นครับ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์เสมอครับ ไม่ควรรักษาเอง


1. ยาที่ใช้รักษาหลักได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่มิใช่สเตอรอยด์ ครับ ยาดีที่สุดได้แก่ แอสไพริน นั่นเองครับ

ในระยะแรกที่ข้ออักเสบมาก มีอาการปวดมาก อาจต้องกินในขนาดสูง (อาจสูงถึงวันละ 10-12 เม็ด)


นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยา คลอโรควิน เพื่อควบคุมโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบได้ดีขึ้น โดยทั่วไปเริ่มกินยาวันละ 1 เม็ด เมื่ออาการดีขึ้นจะลดยาลงเป็นลำดับ ยาชนิดนี้ จะทำให้โรคสามารถควบคุมได้ดี และลดความพิการผิดรูปได้ครับ


2. ผลข้างเคียงของแอสไพริน อาจระคายกระเพาะอาหารได้ แต่สามารถเลี่ยงผลนี้ได้เมื่อกินยานี้ พร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันทีครับ

ส่วนคลอโรควิน มีผลข้างเคียงน้อยมาก อาจทำให้ผิวคล้ำได้เล็กน้อย เมื่อใช้ในระยะแรก การกินยาในระยะยาวเป็นปี โดยไม่ลดยาลง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตาได้ครับ

3. ไม่ใช้ยาสเตอรอยด์ ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เด็ดขาด เพราะนอกจากทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากมาย เช่น หน้ากลม, แผลในกระเพาะอาหาร, ติดเชื้อง่าย, แผลหายยาก, ผิวบาง, เป็นเบาหวาน, กระดูกผุ แล้ว ยังเกิดผลเสียในระยะยาวทำให้ผู้ป่วย"ติดยา" เลิกยาไม่ได้ซึ่งยาดังกล่าวมักพบผสมในยาชุด ยาลูกกลอน ยาหม้อ ยาต้ม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยาสเตอรอยด์ ได้รับการศึกษาพิสูจน์แล้วว่า "ไม่ช่วย" ทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการน้อยลงแต่อย่างใดผิดกับ ยาคลอโรควินครับ

4. ต้องคอยบริหารข้อ เพื่อป้องกันการยึดติด และข้อผิดรูป การบริหารควรทำทุกวัน บ่อย ๆ ซึ่งวิธีทำไม่ยากเลย และใช้เวลาน้อย
มีแค่ 2 ท่าเองครับ
- ท่าแรก ท่าพนมมือ โดยให้ผู้ป่วยพนมมือ ใช้แรงพอควรดันเข้าหากัน จะช่วยทำให้ข้อไม่ยึดในท่างอนิ้ว และช่วยยืดข้อออก
ทำให้ทำงานได้ นอกจากนี้การออกแรงพอควร ทำให้ช่วยบริหารข้อไหล่, ศอก และข้อมือด้วย เมื่อพนมมือสักครู่ ให้ยกมือขึ้น
บนเหนือศีรษะ และยืดให้สุด แล้วยืดแขนออกมาด้านหน้า
- ท่าที่สอง (ถ้ามีข้อเข่า ข้อเท้า อักเสบด้วย) ให้นั่งเก้าอี้ห้อยเท้า ยกขาขึ้นให้เข่าตรง และกระดกหลังเท้าขึ้น ทำท่านี้ค้างไว้
นับ 1-10 (ประมาณ 10 วินาที) แล้ววางลง ทำสลับข้าง ซ้าย-ขวา ทำทั้งสองท่าบ่อย ๆ ทุกวัน (อย่างน้อย วันละ 10-20 ครั้ง)
จะสามารถป้องกันความพิการได้

5. ไปตรวจรักษากับแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ อาจไปตรวจกับแพทย์อายุกรรมทั่วไป หรืออายุรกรรมโรคข้อ ก็ได้ครับ

หรือจะไปตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น ศิริราช, รามา, จุฬา หรือที่อื่น ๆ ก็ได้ครับ ที่เดินทางสะดวก เพราะต้องรักษาในระยะเวลานาน

โดย นพ.มานพ พิทักษ์ภากร อายุรแพทย์



โดย: หมอหมู วันที่: 2 มีนาคม 2553 เวลา:19:34:20 น.
  
แพทตามมาอ่านบล็อครอบสองค่ะพี่หมู
เปลี่ยนล็อคอินใหม่จาก ตัวp_box เป็น pt_boxแล้วจ้า
ขอบคุณพี่หมอมากค่ะที่ไปไขข้อข้องใจใน fb..


โดย: pt_box วันที่: 7 ตุลาคม 2553 เวลา:20:29:57 น.
  
บล็อคดีๆ ต้องโหวตเลยค่ะ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ
โดย: กลมขึ้นทุกวัน วันที่: 5 พฤศจิกายน 2554 เวลา:2:56:41 น.
  
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-01-2008&group=5&gblog=2

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ กายภาพบำบัด
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=20-01-2008&group=5&gblog=3

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้อแนะนำเกี่ยวกับยา MTX (เมทโทรเทรกเสด หรือ ยาต้านมะเร็ง)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-02-2008&group=5&gblog=4

โรครูมาตอยด์ในเด็ก
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-02-2008&group=5&gblog=7

โรคเอสแอลอี หรือ โรคลูปัส
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-03-2008&group=5&gblog=9

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ตรวจแลบ)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-02-2008&group=4&gblog=9

โรคข้ออักเสบ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-12-2007&group=5&gblog=1

เวบสมาคมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย ( หมออายุรกรรมโรคข้อ )
//www.thairheumatology.org/index.php

เวบสมาคมรูมาติซั่ม รายชื่อแพทย์รูมาโต ( หมออายุรกรรมโรคข้อ )
//www.thairheumatology.org/list_bkk.php

โดย: หมอหมู วันที่: 21 มิถุนายน 2555 เวลา:23:56:40 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด