Neothais : We will save the world


 
เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
24 เมษายน 2551
 

คัมภีร์สงครามซุนวู (บทที่ 1- 6)

แปลและเรียบเรียงจากภาษาจีน

โดย บาทหลวง จ็อง จ๊าก อามีโยต์ ( Jean-Jacques Amiot )

แปลและเรียบเรียงจากภาษาฝรั่งเศส

โดย พันโท ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรพล สงนุ้ย

สนพ. HIGHER PRESS 2548

ขออนุญาตคัดลอกมาเผยแพร่ เพื่อเป็นความรู้ให้คนทั่วไป

เผยแพร่โดย Narong




Create Date : 24 เมษายน 2551
Last Update : 1 สิงหาคม 2552 17:22:09 น. 8 comments
Counter : 5417 Pageviews.  
 
 
 
 

คํานํา

"คัมภีร์สงครามซุนวู" ซึ่งท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ เขียนและรวบรวมจากสติปัญญาและประสบการณ์ของนักการทหารจีนชื่อ "ซุนวู" ( Sun Wu ) หรือ "ซุนซี" ( Sun Tse) ซึ่งน่าจะมีชีวิตอยู่จริงช่วงสมัยราชวงศ์ชูหรือซู (Chou/Zhou)

ปลายยุคใบไม้ผลิใบไม้ร่วง (Spring and Autumn) ( 770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช)หรือช่วงเริ่มต้นยุคสงครามระหว่างแคว้น (Warring States) (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช)


"ศิลปะการสงคราม" เป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับหลักการและทฤษฏีทางทหารที่เก่าแก่ที่สุดของโลกหรือจะเรียกว่าเป็น "ตำราปรัชญาการนำ" ก็คงไม่ผิด เพราะเนื้อหาเป็น "สัจจะ" คือมีทั้งความจริงที่เป็นอมตะและคติธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง


แต่มุ่งสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ "ชัยชนะ" ดังนั้น "ศิลปะการสงคราม" ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 13 บทของซุนวูนี้จึงเป็น ความรู้ที่เหมาะสำหรับนักการทหาร นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมีเกียรติทุกคน


เราทราบรายละเอียดเกี่ยวกับซุนวูน้อยมาก เรารู้ว่าเขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงราชวงศ์ฮั่นของจีน(ก่อน ค.ศ. 206- ค.ศ. 220) และตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน อิทธิพลของศิลปะการสงครามซุนวูขยายเข้าสู่เกาหลีและญี่ปุ่นด้วย ดังปรากฏอยู่ในผลงานของนักวิจารณ์จำนวนมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17

ซือมาเชียง (Szu Ma Chien) นักประวัติศาสตร์จีนได้เรียบเรียงประวัติของซุนวูไว้สั้นๆ

เมื่อประมาณหนึ่งศตวรรษก่อนคริสต์กาลว่า ซุนวูเป็นชาวรัฐฉี เป็นผู้ที่นำเสนอ "ศิลปะการสงคราม" ต่อกษัตริย์ โห ลู แห่งรัฐวู เมื่อประมาณหกศตวรรษ ก่อนคริสต์กาล ซึ่งนักประวัติศาสตร์จีนหลายท่านก็ไม่เห็นด้วยกับ ซือมาเชียง ส่วนซามูเอล บี กริฟฟิต (Samuel B. Griffith) เห็นว่า ผลงานของซุนวูนี้เขียนขึ้นในช่วงสี่ศตวรรษก่อนคริสต์กาล โดยคนๆเดียวที่มีประสบการณ์ จากการศึกสงครามอย่างมาก ส่วนซุนวูจะมีชีวิตและมีตัวตนอยู่จริง หรือไม่นั้นเขาไม่สามารถตอบได้ (Samuel B. Griffith. SunTsu : The Art of War, New York : The Easton Press, 1988, p.V)


นอกจากนี้ผลงานของซุนวูยังถูกนักวิจารณ์จีนตีความและเพิ่มเติมเนื้อหาในระยะต่อๆมาด้วยแต่การตีความนี้ยิ่งมีมากในหมู่นักวิจารณ์ชาวตะวันตก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การแปล "ศิลปะการสงคราม" จากภาษาฝรั่งเศสในครั้งนี้จะแตกต่างจากการแปลจากภาษาอื่นๆอยู่บ้าง


"ศิลปะการสงคราม" ของซุนวูแปลเป็นภาษาตะวันตกครั้งแรกโดยบาทหลวงเยซูอิตชาวฝรั่งเศสชื่อ จ็อง จ๊าก อามีโยต์ ( Jean-Jacques Amiot ) โดยให้ชื่อว่า "L'Art de la Guerre" (ศิลปะการสงคราม)และตีพิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1772 ซึ่งตรงกับช่วงที่ตะวันตกให้ความสนใจกับวัฒนธรรมและแนวคิดทางตะวันออกอย่างมาก โดยเฉพาะจีน หนังสือแปลฉบับแรกนี้จึงได้รับการต้อนรับอย่างดี

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุโรปในศตวรรษที่ 19 และชื่อเสียงของเคลาส์วิทช์ (Clausewitez) ในเรื่องหลักการสงครามสมัยใหม่ทำให้โลกตะวันตกลืมซุนวูไปชั่วขณะ และหันกลับมาสนใจซุนวูอีกครั้ง

เมื่อเหมาเจ๋อตุง มีชัยชนะเหนือฝ่ายก๊กมิงถังในสงครามกลางเมืองในจีนปี ค.ศ. 1949
"ศิลปะการสงคราม" ของซุนวูเป็นยุทธศาสตร์ทางอ้อม (strategie indirecte) มีความคล้ายคลึงกับผลงานของ โมริส เดอ ซักส์ (Maurice de Saxe) (Mes reveries ou memoires sur l'art de la guerre, La Haye, 1756 ) ในตอนที่กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์ซึ่งไม่ใช่แนวคิดในการทำสงครามโดยตรงเช่นกัน


ลิดเดิล ฮาร์ต ( B. H. Liddell Hart) นักทฤษฏีการทหารให้ทัศนะเกี่ยวกับซุนวูไว้ว่า "ในบรรดานักวิเคราะห์การทหารในอดีต มีเพียง เคลาสวิทช์เพียงท่านเดียวเท่านั้นที่เทียบเคียงได้กับซุนวูแต่หลักการและทฤษฏีของท่านซึ่งมีอายุน้อยกว่าซุนวู 2,000 กว่าปี กลับล้าสมัยเร็วกว่าซุนวู ที่ยังคงมีความชัดเจนเจาะลึก และมีความทันสมัยอันเป็นนิรันดร์" (Sun Tse. L'art de la guerre, Paris : Presses Pocket, 1993, p.7)


ซุนวูเชื่อว่า สงครามมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการเมือง และเป็นความจริงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สงครามของซุนวูเกิดขึ้นในกรอบของสังคมเดียวกัน ในยุคที่เครื่องมือและยุทโธปกรณ์ยังมีอยู่อย่างจำกัด


ซุนวูให้ความสำคัญกับขวัญกำลังใจของกำลังพล ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับฝ่ายตรงข้าม


การแปลและเรียบเรียงจากภาษาจีนของบาทหลวง อามีโยต์ มุ่งรักษาเนื้อหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นผู้แปลจึงขอดำรงความมุ่งหมายนี้ไว้ในการแปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้ประโยชน์สูงสุด


พันโท ผศ.ดร. พีรพล สงนุ้ย
 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:33:30 น.  

 
 
 
บทที่ 1 หลักพื้นฐานยุทธศิลป์


ซุนวู กล่าวไว้ว่า : ศิลปะการสงครามและการบริหารจัดการกำลังรบมีความสำคัญยิ่งยวดต่อความอยู่รอดของรัฐ ชีวิต และความตายของประชาชน ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ การขยายอิทธิพล หรือความเสื่อมของอาณาจักร หากปราศจาก ความมีสติ ความรอบคอบและความตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เท่ากับเป็นการละทิ้งมรดกของบรรพบุรุษผู้ที่ปฏิบัติตนเยี่ยงนี้ไม่ควรอยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร

นายทหารต้องให้ความสำคัญต่อหลักธรรม 5 ประการ คือ หลักการ ท้องฟ้า ผืนดิน ผู้บังคับบัญชา และวินัย ในฐานะเป็นผู้ถ่ายทอดคำสั่งและผู้กำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง เปรียบได้กับศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานที่จะต้องระลึกถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ตนต้องการตลอดเวลา ใช้ประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็นและได้ยินไม่ละเลยที่จะหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งสิ่งต่างๆที่ช่วยให้การปฏิบัติการเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หากเราต้องการเกียรติยศและความสำเร็จในการปฏิบัติการทางทหาร

หลักการ ก่อให้เกิดเอกภาพทางความคิด การใช้ชีวิตและการจบชีวิตแบบเดียวกันและทำให้เราห้าวหาญไม่หวาดหวั่นเมื่อเผชิญหน้าความอับโชค หรือแม้แต่ความตาย

หากเรารู้จัก ท้องฟ้า เป็นอย่างดี เราจะไม่ลืมที่จะระลึกถึงหลักหยินและหยาง และจะรู้ว่าเมื่อใด สองอย่างนี้รวมกันหรือต้านกัน เพื่อทำให้เกิดความหนาวเย็น ความร้อน ความนิ่งสงบ หรือความปั่นป่วนของลมฟ้าอากาศ

ผืนดิน มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่าท้องฟ้า ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี ทั้งความสูง-ต่ำ ความใกล้-ไกล ความกว้าง-แคบ ความมั่นคงถาวรและชั่วคราว การมีหลักการ ความเป็นธรรม ความรักสำหรับทุกคนทั้งที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลโดยทั่วไป การบริหารจัดการทรัพยากร ความเข้มแข็งอดทนและความองอาจห้าวหาญ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติ

ซึ่งความสง่าและความยอมรับให้แก่ ผู้บังคับบัญชา เพื่อให้มีคุณลักษณะดังกล่าว เราจะต้องไม่ละเลยรายละเอียดปลีกย่อยใดๆ และคุณสมบัติเหล่านี้เท่านั้นที่สร้างความชอบธรรมให้เราในฐานะผู้นำเหนือคนอื่นๆ การรูจักจัดกำลังเข้าทำการรบ ยึดถือหลักสายการบังคับบัญชาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างเคร่งครัดรู้จักรายละเอียดปลีกย่อยของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน ต้องจัดหาเครื่องมือทุกอย่างซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติมาให้ได้ห้ามละเลยโดยเด็ดขาด พิจารณาในรายละเอียดทุกอย่างซึ่งต้องการความชัดเจน และประเมินค่าแต่ละรายละเอียดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ รวมกันเป็นวินัย เป็นองค์ความรู้ที่ผู้บังคับบัญชาผู้มีความฉลาดหลักแหลมต้องพึงระลึกไว้เสมอ


ท่าน ในฐานะผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับความไว้วางใจจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ ท่านต้องวิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานของหลักธรรม 5 ประการ ดังกล่าวข้างตน แล้วชัยชนะจะติดตามท่านไปทุกฝีก้าว แต่หากท่านไม่รู้หรือทึกทักเอาเองอย่างไร้หลักฐาน หากท่านเพิกเฉยหรือปฏิเสธหลักธรรม ท่านจะประสบแต่ความปราชัยที่น่าอับอายที่สุด

ความรู้ที่ข้าพเจ้าเพิ่งกล่าวไปนี้จะช่วยให้ท่านรู้จักแบ่งแยกผู้ปกครองรัฐที่มีหลักธรรมและคุณสมบัติดีที่สุด ท่ามกลางผู้ปกครองรัฐท่านอื่นๆ ท่านจะรู้จักผู้บัญชาการท่านสำคัญๆ ซึ่งรับราชการอยู่ในรัฐต่างๆ และเมื่อยามเกิดสงครามขึ้น ท่านจะสามารถประเมินได้ค่อนข้างถูกต้องว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะ และหากท่านจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามท่านก็จะประสบชัยชนะ

หลักธรรม 5 ประการ โดยเฉพาะ ท้องฟ้าและผืนดิน จะช่วยท่านกำหนดเวลาในการเคลื่อนย้ายกำลัง เส้นทางและห้วงเวลาปฏิบัติการที่เหมาะสมที่สุด ท่านต้องเริ่มและยุติการปฏิบัติการให้ได้ภายในฤดูกาลเดียวกัน ท่านจะต้องรู้จักจุดอ่อนและจุดแข็งทั้งของกองทัพของท่านเองและของข้าศึก ท่านจะต้องรู้จำนวนและสภาพของการส่งกำลังบำรุงของกองทัพทั้ง 2 ฝ่าย ปูนบำเหน็จแก่ผู้ที่มีความชอบอย่างกว้างขวางแต่ยังคงพิถีพิถันในการพิจารณาตัวบุคคล และลงโทษผู้กระทำผิดเมื่อจำเป็นชื่นชมในคุณสมบัติและความสามารถของท่าน เหล่านายพลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของท่านจะรับใช้ท่านด้วยความยินดีพอๆ กับด้วยความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ เหล่านายพลนี้จะเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับล่างๆ ลงไปตามลำดับจนถึงพลทหารและจะนำความสำเร็จมาสู่กองทัพในที่สุด

ให้เกียรติ เคารพรัก และห่วงใยผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน แล้วท่านจะเห็นว่าประชาชนของรัฐใกล้เคียงจะมาสวามิภักดิ์ต่อเจ้านายของท่าน เพื่อมารับใช้หรือเพื่อเป็นพันธมิตร

เพราะท่านรู้จักแยกแยะสิ่งที่เป็นไปได้จากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นท่านจะปฏิบัติแต่สิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ ท่านจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลราวกับสิ่งนั้นเกิดขึ้นอยู่ในสายตาของท่านเอง ท่านจะต้องฉกฉวยโอกาสจากความแตกแยกในหมู่ข้าศึกเพื่อชักจูงผู้ที่ไม่พึงพอใจให้เข้ากับฝ่ายท่านโดยปราศจากคำสัญญา หรือสิ่งตอบแทนใดๆ ท่านจะไม่โจมตีข้าศึกที่มีกำลังเข้มแข็งกว่า หลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่นำไปสู่สงครามเบ็ดเสร็จ ท่านจะต้องปิดบังไม่ให้ข้าศึกรู้สถานภาพที่แท้จริงของกำลังรบของท่าน


บางครั้งอาจจะให้ข่าวลวงเรื่องจุดอ่อนของท่านหรือแสร้งทำเป็นกลัว เพื่อให้ข้าศึกทะนงและลำพองแล้วเข้าโจมตีอย่างประมาท หรือลดระดับการเฝ้าระวังด้านการข่าว ทำให้ถูกจู่โจมได้โดยง่าย กำลังรบต้องมีความพร้อมรบอยู่เสมอ และต้องมีภารกิจให้ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

เพื่อป้องกันความอ่อนแอที่อาจจะเกิดขึ้น จะต้องเด็ดขาดกับทุกสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่กำลังรบ กำลังรบเป็นเสมือนครอบครัวหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมให้ปัญหาใดๆ รบกวนเอกภาพความสุขสงบและความสามัคคีของตน


หลังการตรวจสอบความต้องการด้านการส่งกำลังบำรุงที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวัน ท่านจะต้องกำกับดูแลให้กำลังรบมีอาหาร และสิ่งอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ อย่างอุดมสมบูรณ์ภายหลังชัยชนะจากสมรภูมิ ท่านยกทัพกลับและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชัยชนะอย่างสงบ ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับของเพื่อนร่วมชาติที่ขอบคุณและสำนึกในสันติภาพที่ท่านมอบให้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่คือ ผลลัพธ์ของการพิจารณากลั่นกรองจากประสบการณ์ตรงของข้าพเจ้าและข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องบอกกล่าวให้ท่านทั้งหลายทราบ

จบบทที่ 1
 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:34:42 น.  

 
 
 
บทที่ 2 การเริ่มต้นของสงคราม

ซุนวู กล่าวไว้ว่า : ข้าพเจ้าสมมุติว่า ท่านเริ่มต้นสงครามด้วยกองทัพขนาดหนึ่งแสนคน ท่านมีอาวุธอย่างเพียงพอ มีเกวียนสนามจำนวนหนึ่งพันเล่ม เกวียนขนส่งคลุมด้วยหนังสัตว์ จำนวนหนึ่งพันเล่ม เสบียงของท่านเพียงพอและปลอดภัย สำหรับการเดินทางพันลี้ ท่านไม่ขัดสนสิ่งอุปกรณ์ใดๆ ที่จำเป็นสำหรับการซ่อมบำรุงอาวุธและเกวียน ท่านให้คนงานและสิ่งของทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับกำลังพล เดินข้างหน้ากองทัพของท่าน หรือเดินแยกต่างหาก ท่านมีแผนเผชิญเหตุต่อการปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นไปได้ทั้งของข้าศึก และไม่ใช่ข้าศึก รวมถึงความผันผวนของธรรมชาติ

ข้าพเจ้าสมมุติอีกว่า ท่านมีเงินพันชั่งเพื่อแจกจ่ายให้แก่กำลังพลในแต่ละวันโดยดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาและด้วยความแม่นยำถูกต้องหากสถานการณ์ทั่วไปเป็นดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านสามารถพุ่งตรงไปยังข้าศึกได้ทันที เพราะการโจมตีมีความหมายเดียวกับชัยชนะสำหรับท่าน ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมอีกว่า

ให้โจมตีอย่างรวดเร็วรวดเดียวจบ อย่าคอยจนอาวุธลดประสิทธิภาพหรือดาบหมดความคม

เมื่อท่านจำเป็นต้องยึดเมือง ต้องรีบปิดล้อมและยึดเมืองให้ได้อย่างรวดเร็วให้คิดถึงแต่สิ่งนั้นและใช้กำลังทั้งหมดเพื่อการนั้น การปฏิบัติต้องรวดเร็ว เพราะหากท่านปฏิบัติอย่างเชื่องช้า กองทัพของท่านจะเสี่ยงกับกับการทำสงครามที่ยาวนานและ สงครามที่ยืดเยื้อนี้จะเป็นมูลเหตุของความหายนะอันมืดมน เงินทองร่อยหรอ อาวุธชำรุด ความกระตือรือร้น ความกล้าหาญ และเรี่ยวแรงของกำลังพลเสื่อมถอย เสบียงหมดไปเรื่อยๆ สุดท้ายท่านต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาแบบสุดขั้ว


เมื่อข้าศึกของท่านรับรู้ข่าวสถานการณ์อันย่ำแย่ของท่าน พวกเขาจะออกจากเมืองด้วยกำลังที่ใหม่และสดชื่นเต็มเปี่ยม แล้วโถมเข้าใส่ท่านอย่างรุนแรงเพื่อห้ำหั่นท่านเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ชื่อเสียงที่ท่านสร้างสมมาเป็นเวลายาวนานจะทำให้ท่านเสียหน้า ดังนั้นการดำรงกำลังรบไว้ในสนามรบเป็นเวลายาวนานคือ การสร้างความเสียหายให้แก่รัฐ และเสี่ยงกับการสร้างความอัปยศให้แก่ชื่อเสียงของประเทศอย่างไม่มีวันลบเลือนได้ เหล่าผู้บัญชาการที่เข้าถึงแก่นหลักยุทธศิลป์อย่างแท้จริง จะปฏิบัติการให้สำเร็จลุล่วงได้ในครั้งเดียว

ท่านเหล่านั้นจะไม่ยอมให้อาหารร่อยหรอไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นเวลาสามปี แต่จะเลี้ยงกองทัพด้วยทรัพยากรของข้าศึก อันเป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายให้แก่รัฐของตนอย่างมหาศาล และช่วยลดระยะทางการส่งเสบียง ท่านเหล่านั้นจะต้องระลึกไว้เสมอว่า สงครามทำให้ข้าวยากหมากแพง

ไม่ว่ากองทัพของท่านจะทำการรบอยู่ที่ไหน แบบใด ประชาชนหนีไม่พ้นความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าตลอดช่วงสงคราม เมื่อผู้ปกครองรัฐจัดเก็บภาษี และส่วยธัญพืชจากครอบครัวต่างๆ อย่างเร่งรีบ ความอดอยากจะขยายตัวจากเมืองสู่ชนบท เพราะความจำเป็นสำหรับการดำรงอยู่อย่างปกติสุข สิบส่วนต้องตัดไปเจ็ดส่วน ไม่ใช่เพียงแต่เจ้าผู้ครองรัฐเท่านั้นที่รู้สึกได้ถึงความทุกข์ระทมร่วมกันนี้

แม้แต่หมวกเกราะ เสื้อเกราะ โล่ หน้าไม้ ธนู ทวน หอก เกวียน ก็ปรากฏความเสื่อมถอยให้ประจักษ์ ม้าหรือแม้แต่วัว ควาย ที่พลิกผืนนาของเจ้าผู้ครองรัฐเอง ก็จะซูบผอมลง เพราะฟ่อนฟาง ถูกตัดลงหกส่วนจากสิบส่วน เพื่อป้องกันภัยพิบัติเหล่านี้ ผู้บังคับบัญชาที่สันทัดจะไม่ลืมปฏิบัติการใดๆ เพื่อทำให้ระยะเวลาของทำการสงครามสั้นลง เพื่อเลี้ยงกองทัพโดยทรัพยากรของข้าศึก หรืออย่างน้อยซื้อหาธัญพืชจากต่างรัฐหากจำเป็น


หากข้าศึกมีข้าวหนึ่งฉาง (ฉางคือ หน่วยวัดปริมาตรมีค่าเท่ากับ 8.33 เฮกโตลิตร) ในฐานทัพท่านจะต้องมียี่สิบในฐานทัพของท่าน หากข้าศึกมีฟางหญ้าและธัญพืชหนึ่งชั่ง (ชั่ง (che)คือ 56 กิโลกรัม) สำหรับม้า ท่านจะต้องมียี่สิบชั่ง ท่านจะต้องฉวยโอกาสทุกครั้งที่มีเพื่อสร้างปัญหาให้แก่ข้าศึกทำให้ข้าศึกหมดสิ้นหนทางในรายละเอียด หาวิธีการทำให้ข้าศึกเดือดดาลและทำให้ตกหลุมพราง ทำให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงโดยปฏิบัติหลายๆรูปแบบและในหลายๆทิศทาง เพื่อให้กำลังข้าศึกกระจายออก ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยใช้วิธีการตีโฉบฉวยเป็นระยะๆ การปล้นเสบียงขบวนสัมภาระพร้อมผู้ควบคุม และทุกอย่างที่พอจะมีประโยชน์ต่อท่าน

เมื่อท่านยึดขบวนสัมภาระข้าศึกได้มากกว่าสิบเกวียน ให้ท่านเริ่มตอบแทนผู้ที่ควบคุมและผู้ที่ลงมือปฏิบัติ และให้ท่านใช้เกวียนเหล่านั้นเหมือนเป็นของท่านเอง โดยให้ทำเครื่องหมายกำกับไว้เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัดเจน ให้ปฏิบัติต่อเชลยศึกอย่างดี โดยให้รับประทานอาหารแบบเดียวกับทหารของท่านเอง เพื่อให้เขารู้สึกว่า ภายใต้การบังคับบัญชาของท่าน เขาได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าฝ่ายเดียวกันเองไม่ปล่อยให้เชลยศึกว่างเว้นจากกิจกรรม ใช้ประโยชน์จากเชลยศึกเหล่านั้นเหมือนดังเช่น เขาสมัครใจเข้ามารับใช้กองทัพของท่านเอง

หากท่านปฏิบัติได้อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทุกประการ ความสำเร็จจะติดตามรอยเท้าท่าน ท่านจะประสบแต่ชัยชนะไม่ว่าที่ไหน ท่านจะเพิ่มความสง่างามและเกียรติภูมิให้แก่รัฐ และเจ้าผู้ครองรัฐ รวมถึงประชาชนที่ได้รับความสงบสุขร่มเย็นเป็นสิ่งตอบแทนจะมีอะไรที่เป็นเกียรติยิ่งกว่าการได้ใช้กำลังความคิดและกำลังกายทั้งหมดของท่านเพื่อสิ่งเหล่านี้เล่า

จบบทที่ 2

 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:35:50 น.  

 
 
 
บทที่ 3 สิ่งที่จำเป็นต้องเตรียมไว้ก่อนทำสงคราม

ซุนวู กล่าวไว้ว่า : นี่คือหลักบางประการที่ต้องถือปฏิบัติก่อนเข้ายึดเมือง หรือสยบข้าศึกในการสงคราม ก่อนอื่นต้องรักษาประเทศและกฏหมายที่เกี่ยวข้องไว้ให้อยู่รอดปลอดภัยก่อนต่อจากนั้นจึงเข้ายึดครองดินแดนข้าศึก รักษาความสงบเรียบร้อยของเมืองต่างๆ ในรัฐของท่านไว้ให้มั่น สิ่งสำคัญยิ่งถือเป็นหน้าที่ลำดับแรกของท่าน คือ การป้องกันทุกคำประณามหยามหมิ่นจากชนบทของฝ่ายเดียวกัน ท่านจะโจมตีอย่างฉับพลันรุนแรงต่อชนบทของข้าศึกต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ท่านจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการป้องกันหมู่บ้านชนบทของชาวนาฝ่ายเราไม่ให้ได้รับความเสียหายแม้เพียงเล็กน้อย ท่านจะปล้นสะดมผลผลิตทางการเกษตรของข้าศึกก็ต่อเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนอาหารจริงๆ เท่านั้น

เมื่อท่านเข้าใจลึกซึ้งในหลักการเหล่านี้ ท่านสามารถเข้าโจมตีเมืองและทำการศึกสงครามได้ข้าพเจ้ารับประกันว่า ท่านจะประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม
รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ชนะโดยปราศจากการรบทำให้กองทัพข้าศึกไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้นั่นแหละ คือ สิ่งที่เยี่ยมยอด

หากปฏิบัติได้ดังนี้ ท่านจะได้รับการกล่าวขานนิยมยกย่อง การบังคับบัญชาเพื่อให้ได้ชื่อว่าเยี่ยมยอดนี้ต้องประสานสอดคล้องกับท้องฟ้าและผืนดิน และนำไปสู่การก่อกำเนิดและการธำรงรักษาไว้ของสรรพสิ่งมากกว่าการทำลายล้าง ท้องฟ้าไม่เคยปรารถนาเลือดมนุษย์ แต่เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตแก่มนุษย์ ดังนั้น ท้องฟ้าจึงควรเป็นผู้ลิขิตชีวิตมนุษย์

การชนะโดยไม่ต้องทำการรบ จะเกิดขึ้นเมื่อท่านยกระดับตัวเองให้อยู่เหนือระดับที่ดี ซึ่งเท่ากับว่า ท่านเข้าใกล้ระดับเยี่ยมยอดมากยิ่งขึ้น นายพลผู้ระบือนามสามารถไปถึงจุดนั้นได้

โดยการรู้เท่าทันกลลวงทุกประการของข้าศึก การทำให้แผนของข้าศึกใช้การไม่ได้

การหว่านความชังและความแตกแยกในหมู่แนวร่วมของข้าศึก การทำให้ข้าศึกรู้สึกกดดันและไม่ปลอดภัยตลอดเวลา การขจัดความช่วยเหลือจากภายนอกซึ่งข้าศึกอาจจะได้รับและโดยการสกัดกั้นทุกปฏิบัติการที่เป็นประโยชน์ต่อข้าศึก

หากท่านถูกบังคับให้ต้องปิดล้อมและยึดพื้นที่แห่งหนึ่ง ท่านต้องมีเกวียน โล่ และเครื่องมือ ในการทำสงครามอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อท่านต้องเข้าตะลุมบอน หากเวลาผ่านไปแล้วสามเดือน ท่านยังไม่สามารถยึดพื้นที่แห่งนั้นได้ แสดงว่าการปฏิบัติการของท่านมีความผิดพลาดท่านจะต้องหาข้อผิดพลาดนั้นให้พบแล้วแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวโดยด่วน

เมื่อเข้าตะลุมบอนให้ท่านเพิ่มความพยายามอีกเท่าตัว โดยยึดแบบอย่างความรอบคอบ ความขยันขันแข็ง ความกระตือรือร้น ความทรหดอดทน และการดำรงความมุ่งหมายของมด การปฏิบัติเหล่านี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ก่อนหน้านี้ท่านได้ขุดสนามเพลาะ สร้างประภาคารเพื่อข่มข้าศึก และท่านได้ประมาณสถานการณ์อย่างถ้วนถี่ แต่หากว่าทั้งที่มีมาตรการป้องกันเหล่านี้แล้ว

ท่านยังสูญเสียทหารไปหนึ่งในสามส่วนแล้วยังไม่ได้รับชัยชนะ แสดงว่า ท่านโจมตีไม่ดี

ผู้บังคับบัญชาที่เชี่ยวชาญจะไม่ประสบกับสถานการณ์แบบสุดขั้วเช่นนั้น

แต่ท่านจะสยบข้าศึกโดยไม่ต้องทำการรบ จะยึดเมืองโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

และไม่ต้องชักกระบี่ออกจากฝัก จะยึดรัฐอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องข้ามเขตแดน

ผู้บังคับบัญชาเช่นนี้เป็นผู้นำกองทัพใด จะสร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่เจ้าผู้ปกครองรัฐนั้น จะเป็นหลักนำค้ำจุนความสุขของเพื่อนร่วมชาติ ทั้งจักรวาลจะสรรเสริญความสงบสุขจากสันติภาพที่ท่านมอบให้

ต่อหน้าข้าศึก ท่านอาจพบกับสถานการณ์ที่บางครั้งขาดความชัดเจนและขาดการประมาณสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ประสบการณ์ของท่านจะชี้นำว่าท่านควรจะปฏิบัติอย่างไรในแต่ละกรณีอย่างไรก็ตามข้าพเจ้าจะขอให้คำแนะนำทั่วๆ ไป บางประการดังนี้

เมื่อมีอำนาจกำลังรบมากกว่าข้าศึกสิบเท่า ให้ปิดล้อมข้าศึกทุกด้าน

เมื่อมีอำนาจกำลังรบมากกว่าข้าศึกห้าเท่า ให้โจมตีทั้งสี่ทิศทางพร้อมกัน

เมื่อมีอำนาจกำลังรบมากกว่าข้าศึกสองเท่า ให้แบ่งกำลังรบออก

โดยส่วนแรกให้ใช้ในการจำกัดการปฏิบัติการของข้าศึก อีกส่วนให้ใช้ในการโจมตี

ถ้าอำนาจกำลังรบเท่ากัน การแพ้ชนะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน

แต่ถ้าอำนาจกำลังรบน้อยกว่าข้าศึกให้ทำการตั้งรับและหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

แม้แต่เพียงน้อยนิดก็ตาม ใช้กำลังเพื่อป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงการรบให้มากที่สุด

เท่าที่จะทำได้ ความระมัดระวังและความเด็ดขาดของกำลังรบขนาดเล็ก

อาจทำให้กองกำลังขนาดใหญ่กว่าเหนื่อยหน่ายและถูกสยบลงได้


ผู้นำกองทัพถือได้ว่าเป็นผู้นำที่ให้การสนับสนุนรัฐ หากผู้นำกองทัพมีความสามารถรัฐก็จะอยู่รอดปลอดภัย หากผู้นำกองทัพไร้ความสามารถ รัฐไม่อาจหนีพ้นความยากลำบากและความสูญเสีย

มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นที่ผู้บังคับบัญชาจะรับใช้รัฐได้อย่างดี แต่มีหลายหนทางที่อาจจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียที่ยิ่งใหญ่แก่รัฐ เพื่อความสำเร็จ การปฏิบัติและการบังคับบัญชาที่แคล่วคล่องต้องแฝงด้วยความห้าวหาญและความสุขุมรอบคอบ

ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

หากผู้บังคับบัญชาเรียกระดมพลนอกฤดูกาล เคลื่อนย้ายกำลังขณะที่ควรหยุดนิ่ง ไม่รู้จักพื้นที่ปฏิบัติการ จัดวางกำลังไม่เหมาะสม ใช้กำลังรบโดยเปล่าประโยชน์ เคลื่อนย้ายโดยไม่จำเป็น ไม่รับรู้ความต้องการของกำลังพลแต่ละคนในกองทัพของตน

หากกำลังพลไม่อยู่ในหน้าที่ที่เหมาะสมกับความสามารถของตน

หากผู้บังคับบัญชาไม่รู้จักจุดอ่อนจุดแข็ง และระดับความจงรักภักดีของแต่ละคนไม่รักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่รู้จักบังคับบัญชา ไม่เด็ดขาดและลังเล เมื่อต้องปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ไม่รู้จักตอบแทนผลงาน ยอมให้นายทหารรังแกกลั่นแกล้งพลทหาร ไม่รู้จักป้องกันและยุติความไม่ลงรอยกันทางความคิดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างบรรดาหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา

ท่านใดกระทำผิดตามที่ได้กล่าวมานี้ ถือว่ากระทำผิดต่อรัฐโดยการทำให้ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรอื่นๆ ที่ใช้ในการทำสงครามหมดไปอย่างไร้ประโยชน์ เป็นการนำความอัปยศมาสู่ชาติบ้านเมืองของตนและนำความอับอายมาสู่ตน เนื่องจากการไร้ความสามารถ เพื่อให้ได้รับชัยชนะเหนือข้าศึก เหล่าผู้บังคับบัญชาต้องยึดหลักสำคัญห้าประการดังนี้

1. รู้ว่าเมื่อใดควรรบและเมื่อใดควรหยุด

2. รู้ว่าต้องใช้ทรัพยากรน้อยหรือมาก

3. รู้จักยกย่องชมเชยผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน

4. รู้จักใช้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทุกโอกาส

5. รู้ว่าเจ้าผู้ครองรัฐเห็นชอบด้วยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ปฏิบัติ เพื่อสนองพระเดชพระคุณและเกียรติยศของพระองค์

นอกจากนี้

หากท่านรู้ว่า ท่านและผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน มีขีดความสามารถใด และไม่มีขีดความสามารถใด

รบร้อยครั้งท่านชนะร้อยครั้ง

หากท่านรู้ขีดความสามารถของท่านเอง แต่ไม่รู้ขีดความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา

ท่านรบชนะหนึ่งครั้ง แพ้หนึ่งครั้ง

แต่หากท่านไม่รู้ทั้งขีดความสามารถของท่านเองและผู้ใต้บังคับบัญชา

รบกี่ครั้งท่านก็จะปราชัยทุกครั้งไป

จบบทที่ 3
 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:37:24 น.  

 
 
 
บทที่ 4 หลักการนำทัพ

ซุนวู กล่าวไว้ว่า : สมัยก่อน ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการรบจะไม่เข้าร่วมในสงครามซึ่งเขารู้ว่าจะไม่จบลงด้วยเกียรติยศ ก่อนปฏิบัติการรบ เขาต้องมีความมั่นใจในความสำเร็จ หากสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย เขาจะคอยเวลาที่เหมาะสมกว่า เขายึดหลักว่า

เราปราชัยเพราะความผิดพลาดของตัวเอง เช่นเดียวกับเราชนะเพราะความผิดพลาดของข้าศึก

รู้ว่าสิ่งใดควรกังวล สิ่งใดควรหวัง รู้ว่าสภาพกำลังรบของเราหรือของข้าศึกเป็นเช่นไรจึงรุกคืบหน้าหรือร่นถอย รู้ว่าเข้าทำการรบเมื่อเราเข้มแข็งที่สุดและโจมตีก่อน หรือตั้งรับในฐานที่มั่นแข็งแรงเมื่อเราอ่อนกว่า นี่เป็นสิ่งที่เหล่านายพลเชี่ยวประสบการณ์ยึดถือปฏิบัติ

ศิลปะในการปฏิบัติการตั้งรับจะไม่ยอมให้ศิลปะในการปฏิบัติการรุก ใครต้องการประสบความสำเร็จเร็วต้องบุกทะลวงจนถึงสุดแผ่นดิน ใครต้องการประสบความสำเร็จยิ่งกว่าต้องบุกถึงสุดขอบฟ้า

แต่ทั้งสองกรณีต้องคำนึงถึงการคุ้มครองรักษาสิ่งที่เรามีอยู่แล้วก่อนเป็นอันดับแรก

เสมอกับผู้ที่เคยชนะจากการรบคือ คนเก่งต้องการให้เก่งยิ่งกว่าด้วยวิธีการที่เกินพอดีคือ ไม่เก่ง

ยิ่งกว่านั้น ชนะโดยวิธีการรบได้ชื่อว่าเก่ง แต่อะไรที่อยู่เหนือความเก่งมักจะเลวยิ่งกว่าความไม่เอาไหน ไม่ต้องการกำลังมหาศาลของสัตว์เพื่อนำพาไปปลายฤดูใบไม้ร่วง หรือขนสัตว์เพื่อปกป้องจากฤดูหนาว ไม่ต้องการสายตาที่คมชัดเพื่อมองดวงดาว ไม่ต้องการหูที่ไวต่อเสียงเพื่อฟังเสียงฟ้าคำรามแต่ไกล ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ง่ายและเป็นธรรมชาติ

ผู้นำที่มีความสามารถจะไม่พบสิ่งที่ยากกว่านี้ในสงคราม

เพราะท่านเหล่านั้นเตรียมแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว

ท่านพร้อมที่จะพบกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกอย่าง

ท่านรู้ว่าสถานการณ์เช่นไรส่งผลดีหรือผลเสียต่อฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก

รู้ว่าท่านมีความสามารถแค่ไหน และสามารถจะปฏิบัติการได้ยาวนานเพียงใด

ชัยชนะ คือผลลัพธ์ธรรมชาติของความรู้และการปฏิบัติของท่านเหล่านั้น

นี่คือ บรรพบุรุษของเรา : ไม่มีอะไรจะง่ายไปกว่าการได้รับชัยชนะ ดังนั้น ท่านเหล่านั้นจึงถือว่าท่านไม่เหมาะสมกับสมญานามผู้กล้า วีรบุรุษ หรรือผู้ชนะตลอดกาล เพราะท่านยกความดีความชอบในความสำเร็จของท่านให้แก่ความละเอียดรอบคอบ ในการวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยก่อนการปฏิบัติการรบ ท่านให้ความสำคัญกับการลดความเชื่อมั่นของข้าศึกลงโดยการทำให้อับอาย ทำให้เจ็บใจ ทำให้กำลังข้าศึกได้รับบทเรียนที่เจ็บปวด

ในทางกลับกัน กองกำลังของท่านได้รับการคุ้มครองปลอดภัยอยู่ในฐานที่มั่นแข็งแรงในชัยภูมิที่ข้าศึกไม่สามารถจู่โจมหรือเข้าตีได้โดยง่าย

สถานการณ์ที่ดีคือ กำลังรบถามหาการรบ ไม่ใช่ถามหาชัยชนะ

เพราะกำลังรบที่ต้องการรบรู้ว่า พวกเขาถูกฝึกมาเพื่อการรบโดยเฉพาะ ส่วนความเกียจคร้านและความจองหองอวดดี ที่ถามหาชัยชนะจะนำความปราชัยมาให้

ด้วยเหตุนี้เองบรรพบุรุษของเรารู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า การรบครั้งนั้นๆ จะนำชัยชนะหรือความหายนะมาให้ และรู้ว่าจะวางหมากอย่างไร จึงจะเดินไปสู่ชัยชนะหรือจะออมกำลังและรักษากำลังไว้อย่างไรในความพ่ายแพ้

เหล่าผู้บังคับบัญชาระดับกองทัพต้องไม่ลืมอะไรเลย เพื่อทำให้ตนเองคู่ควรกับตำแหน่งและความรับผิดชอบที่มีอยู่ ท่านเหล่านั้นคิดหามาตรการเพื่อให้สามารถประมาณสถานการณ์ ความสำคัญ ขนาด และจำนวน ท่านรู้จักกฏการคำนวณและกฏตาชั่ง เพราะชัยชนะคือ ผลลัพธ์ของการคำนวณที่ถูกต้อง ดังนั้น จงไตร่ตรองในสิ่งนี้ให้ดีแล้วท่านจะรู้ทุกอย่างที่ควรรู้เพื่อไม่ให้ได้รับความปราชัย

รู้จักผืนดินที่ท่านจะเก็บเกี่ยวพืชผล รู้จักถนนท่านจะไม่วนเสียเวลา กฏการคำนวณจะช่วยให้ท่านแบ่งอาหารและอาวุธให้แต่ละคนเท่าๆ กัน ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป กฏตาชั่งจะสอนให้ท่านตั้งมั่นในความยุติธรรม รู้จักตอบแทนและรู้จักทำโทษ

ท้ายสุด ให้ท่านจงจดจำไว้เสมอว่า ท่านได้รับชัยชนะภายใต้สถานการณ์การรบเช่นไร แล้วท่านจงสรุปเป็นบทเรียนจากการรบว่า สถานการณ์เช่นไรทำให้เกิดความได้เปรียบ หรือทำให้เกิดความเสียหาย

ในสนามรบ หากตาชั่งเอียงแม้เพียงเล็กน้อย ท่านต้องรู้จักขยายผลแห่งความสำเร็จภายหลังความสำเร็จครั้งแรก ท่านจงอย่าหยุดนิ่ง จงใช้กำลังที่ยังใสชื่นและได้พักผ่อนเพียงพอ

ขยายผลจู่โจมข้าศึกดังกระแสน้ำที่ตกจากที่สูงนับพันวา อย่าปล่อยให้ข้าศึกหยุดพักแม้แต่น้อย และเก็บเกี่ยวผลของชัยชนะ อย่างสุขสงบภายหลังจากข้าศึกพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น

จบบทที่ 4




 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:38:38 น.  

 
 
 
บทที่ 5 การบังคับบัญชา

ซุนวู กล่าวไว้ว่า : นำชื่อนายทหารของท่านทุกคนบันทึกลงในสมุดกำลังพล ระบุขีดความสามารถและความชำนาญพิเศษของเขาเหล่านั้นไว้ เพื่อท่านจะได้ใช้งานพวกเขาได้ตรงกับคุณสมบัติที่พวกเขามี

เมื่อท่านใช้งานผู้ใด ต้องให้เขารู้สึกว่าท่านได้พินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ กองกำลังที่โจมตีข้าศึกต้องเหมือนกับหินที่ขว้างใสไข่ ระหว่างข้าศึกกับท่านต้องเหมือนกับ ความอ่อนแอกับความเข้มแข็ง ความว่างเปล่ากับความหนักแน่น โจมตีอย่างเปิดเผยแต่ชนะอย่างลับๆ

สิ่งเหล่านี้ คือรากฐานของความเก่งกล้าสามารถและความสมบูรณ์แบบด้วยซ้ำของการบังคับบัญชา ความสว่างจ้า และ ความมืดมิด ความเปิดเผย และ ความลึกลับ ทั้งหมดนี้คือ ศิลปะ เหมือนกับเสียงห้าแบบ สีห้าสี และรสทั้งห้า ที่ประสมประสานกันทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ไม่รู้จักจบสิ้น

หลักยุทธศิลป์ให้วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมตามสถานการณ์แก่นายพลอย่างไม่รู้จบเช่นกันในเรื่องยุทธศิลป์และการบังคับบัญชา เราต้องคำนึงถึงสององค์ประกอบ สิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างลับๆและสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเปิดเผย ซึ่งในความเป็นจริงเหมือนโซ่คล้องปฏิบัติการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนวงล้อที่หาจุดสิ้นสุดมิได้ การปฏิบัติการทางทหารแต่ละครั้งมีทั้ง ส่วนที่ต้องการความสว่างจ้าของทิวาและส่วนที่ต้องการความลึกลับของราตรี

เราไม่สามารถประเมินอย่างถูกต้องล่วงหน้าได้ว่าจะใช้มันเมื่อไร จังหวะโอกาสเท่านั้นที่บอกให้เรารู้ว่าถึงเวลาใช้มัน เพื่อบังคับกระแสน้ำต้องใช้หินจำนวนมหาศาล เพื่อจับนกตัวน้อยใช้ตาข่ายก็เพียงพอ

แต่อนิจจังกระแสน้ำอาจกัดเซาะจนเขื่อนล้มได้ และนกตัวน้อยอาจลอดช่องตาข่ายได้

เหมือนกับมาตรการที่ดีและรอบคอบ เพียงใดที่ท่านตัดสินใจนำมาใช้ ท่านต้องไม่ลืมนึกถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยควบคู่กันไปเสมอ ท่านและกองกำลังของท่านต้องตรวจตราและคิดถึงทุกอย่างและห้ามละเลยเรื่องความปลอดภัยโดยเด็ดขาด

การปฏิบัติดังกล่าวนี้ ต้องมีศิลปะในการบังคับบัญชา ต้องรู้จักใช้กำลังอย่างได้เปรียบได้รับความไว้วางใจจากผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่ไร้ขีดจำกัด ต้องสุขุมเยือกเย็น แม้เวลาถูกจู่โจม การตัดสินใจที่เด็ดขาดรวดเร็วมาจากความใคร่ครวญอย่างรอบคอบประกอบกับประสบการณ์ที่ยาวนาน


พลังอำนาจที่เกิดจากการบังคับบัญชา เปรียบเสมือนหน้าไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถยิงออกไปได้ หากปราศจากกลไก การบังคับบัญชามีอำนาจเหมือนลูกธนูที่ยิงออกไป ไม่มีใครทัดทานได้ และล้มทุกอย่างที่ขวางหน้า เหมือนรูปทรงกลมที่ทุกจุดบนพื้นผิวล้วนเหมือนกันหมดทุกจุดล้วนแข็งแรงเท่ากันและให้แรงต้านเท่ากัน

ในขณะที่ตะลุมบอนและมีความวุ่นวาย ผู้บังคับบัญชาจะจัดระเบียบอย่างเยือกเย็น หากเกิดความอ่อนแอ ท่านทำความเข้มแข็งให้ปรากฏ หากเกิดความท้อถอยและกลัวท่านทำความอดทนและห้าวหาญให้ประจักษ์

แต่การใช้ประโยชน์จากความสับสนวุ่นวาย เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อท่านได้ประมาณสถานการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างรอบด้าน การใช้กำลังในขณะที่อ่อนแอ เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อท่านควบคุมทุกสิ่งได้และมีอำนาจในการบังคับบัญชาเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว การรู้จักแสดงความอดทนและห้าวหาญให้ปรากฏคือ เป็นวีรบุรุษด้วยตนเอง หากจะเป็นยิ่งกว่าวีรบุรษ ต้องอยู่เหนือความห้าวหาญ

แม้จะปรากฏว่ายิ่งใหญ่และมหัศจรรย์เพียงใด ข้าพเจ้ายังคงขอให้ท่านมีคุณสมบัติบางประการมากกว่าผู้บังคับบัญชากองกำลังโดยทั่วไป สิ่งนั้นคือ

ศิลปะการทำให้ข้าศึกเคลื่อนย้ายกำลังด้วยความสมัครใจ ท่านใดมียุทธศิลป์น่าอัศจรรย์นี้จะสะท้อนทัศนคติและท่าทีกองกำลังที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของท่านได้ ท่านเหล่านั้นจะทำให้ข้าศึกเข้ามาหาเมื่อต้องการและท่านให้ในสิ่งที่ท่านอยากให้โดยข้าศึกต้องรับไว้อย่างปฏิเสธไม่ได้ ท่านละทิ้งไว้ให้ข้าศึกและท่านกลับมาเอากลับคืนเมื่อต้องการ พร้อมสำหรับทุกอย่าง

ท่านรู้จักฉวยโอกาสจากทุกเหตุการณ์ รอบคอบตลอดเวลา ท่านจัดให้มีการดูแลตรวจตราจากผู้ใต้บังคับบัญชาและตนเอง ท่านไม่ละเลยสิ่งใดๆ ที่อาจเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ท่านมองข้าศึกที่ท่านต้องรบด้วย เหมือนหินหรือท่อนไม้ที่ต้องตกจากผาชัน ทั้งหินและไม้จะไม่สามารถขยับได้เองตามธรรมชาติของมัน และจะเคลื่อนที่ได้ก็ต้องเมื่อมันได้รับแรงผลักดันจากภายนอก เมื่อเคลื่อนที่แล้ว หากมันเป็นทรงลูกเต๋า มันจะหยุดเองอย่างรวดเร็ว แต่หากมันเป็นทรงกลม มันจะกลิ้งไปเรื่อยๆ จนพบแรงต้านที่ไม่สามารถเอาชนะได้

ทำให้ข้าศึกอยู่ในมือของท่านเหมือนวัตถุทรงกลมที่ท่านทำให้กลิ้งตกจากความสูงพันวาด้วยความสามารถเช่นนี้ทุกคนจะยอมรับในการบังคับบัญชาและอำนาจของท่าน ทำให้ท่านเหมาะสมกับตำแหน่งอันทรงเกียรติที่ท่านรับผิดชอบอยู่

จบบทที่ 5


 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:39:30 น.  

 
 
 
บทที่ 6 ความเต็มและความว่างเปล่า

ซุนวู กล่าวไว้ว่า : ก่อนทำการรบ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ การพิถีพิถันในการเลือกที่รวมพลเพื่อไม่ให้ข้าศึกเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าวได้ก่อน ท่านต้องปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่ยึดพื้นที่ให้เสร็จสิ้นก่อนที่ข้าศึกจะตรวจพบ กระทั่งก่อนที่ข้าศึกจะรู้ว่าท่านเคลื่อนย้ายกำลัง การเข้าที่รวมพลก่อนเป็นอันดับแรกเป็นสิ่งที่ต้องใฝ่หา

ผู้บังคับบัญชาต้องเลือกสรรที่รวมพลด้วยตนเอง นอกจากนี้ความเร่งด่วนสำคัญอีกประการคือ ผู้บังคับบัญชาต้องควบคุมการรวมพลและการเคลื่อนย้ายกำลังให้ได้ดังใจ ท่านจะไม่คอยจนกระทั่งข้าศึกเรียกหา แต่ท่านจะทำให้ข้าศึกเข้ามาหาเองและหากท่านต้องการให้ข้าศึกเข้ามาหาหรือจากไปอย่างสมัครใจ ท่านอย่าลืมเอาสิ่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคออกไปและรื้อถอนเครื่องกีดขวางทุกประเภทที่ข้าศึกสามารถจะพบได้ ความวิตกที่เกิดจากการประมาณสถานการณ์ว่า หมดหนทางหรือพบว่าข้อเสียมีมากเกินไป อาจทำให้ข้าศึกล้มเลิกแผนการทำงานและความทุ่มเทของท่านอาจเสียเปล่า

ดังนั้น ศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ คือการทำให้ข้าศึกต้องการเหมือนดังท่านต้องการและการทำให้ข้าศึกปฏิบัติเหมือนดังท่านต้องการให้ปฏิบัติโดยไม่ให้ข้าศึกรู้ว่า ท่านอยู่เบื้องหลังความช่วยเหลือจอมปลอม

เมื่อท่านเข้าที่รวมพลของท่าน และข้าศึกเข้าที่รวมพลของข้าศึกเรียบร้อยแล้วให้ท่านรออย่างสงบเพื่อให้ข้าศึกเคลื่อนกำลังก่อน แต่ในขณะที่รอ ท่านจงทำให้ข้าศึกหิวท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ข้าศึกปั่นป่วนท่ามกลางความหลับไหล ทำให้ข้าศึกวิตกกังวลท่ามกลางความปลอดภัย

แต่ถ้าข้าศึกไม่ปฏิบัติตามที่ท่านรอคอย ข้าศึกหยุดนิ่งและไม่พร้อมที่จะละทิ้งที่รวมพลให้ท่านเป็นฝ่ายเคลื่อนย้ายกำลังก่อน และโดยการเคลื่อนย้ายกำลังของท่าน ทำให้ข้าศึกเคลื่อนย้ายกำลังของตน ให้สัญญานฉุกเฉินแก่ข้าศึกบ่อยๆ เปิดโอกาสแก่ข้าศึกเพื่อให้ข้าศึกขาดความระมัดระวังและทำให้ท่านแสวงประโยชน์ได้

หากท่านต้องยึดพื้นที่ไว้ ให้รักษาไว้อย่างเต็มกำลังและด้วยความระมัดระวัง หากท่านต้องเคลื่อนทัพ ให้เคลื่อนย้ายอย่างฉับไวด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยครบครัน โดยใช้เส้นทางที่เก็บไว้เป็นความลับ ข้าศึกต้องไม่สามารถเดาได้ว่า ท่านจะเคลื่อนทัพไปแห่งใด กระโจนออกโดยไม่ให้ข้าศึกทันรู้ตัวจากที่ๆ ข้าศึกคาดคิดไม่ถึง และพุ่งเข้าใส่ข้าศึกในเวลาที่ ข้าศึกคิดถึงน้อยที่สุด

เมื่อท่านเคลื่อนทัพเข้าหาหรือผละออกจากข้าศึกแล้ว ท่านไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เลย หรือไม่ถูกข้าศึกโจมตีเลยเป็นระยะทางพันลี้ (พันลี้ เท่ากับ 576 กิโลเมตร) ท่านอาจสรุปได้ว่า ข้าศึกอาจไม่รู้แผนการของท่าน ข้าศึกกลัวท่าน หรือข้าศึกไม่รู้จักรักษาภูมิประเทศสำคัญ แต่ท่านจงระวังอย่าตกหลุมพรางข้าศึกเป็นอันขาด

ศิลปะชั้นสูงของผู้บังคับบัญชาคือ การอำพรางกำลังและการประกอบกำลัง

ปล่อยให้ข้าศึกไม่รู้ว่าจะต้องทำการรบที่ใด หากท่านสามารถอำพรางความเคลื่อนไหวได้ทั้งหมด แม้กระทั่งการปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ท่านไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้บังคับบัญชาผู้ชำนาญการศึกเท่านั้น แต่ท่านเป็นยิ่งกว่า ท่านคือ ความอัศจรรย์ เพราะท่านเห็นข้าศึกโดยข้าศึกไม่เห็นท่านท่านได้ยินข้าศึกโดยข้าศึกไม่ได้ยินท่าน ท่านปฏิบัติการอย่างเงียบสงัดและกำหนดชะตากรรมของข้าศึกได้ดังใจปรารถนา

นอกจากนั้นหากกองทัพของข้าศึกเข้าปฏิบัติการแล้ว ท่านมองไม่เห็นความต่อเนื่องของแนวการรบของข้าศึกในทางลึก ท่านจงอย่าพยายามเจาะแนวของข้าศึก หากข้าศึกเลิกทัพหรือถอนตัวอย่างเป็นระเบียบและปฏิบัติการด้วยความเฉลียวฉลาด ท่านจงอย่าพยายามไล่ติดตาม หรือถ้าท่านไล่ติดตามข้าศึก ก็จงอย่าติดตามไปไกลเกินควรหรือเข้าไปในพื้นที่ที่ท่านไม่รู้จัก เมื่อท่านตั้งใจจะเข้าปฏิบัติการต่อข้าศึก แต่ข้าศึกกลับอยู่ในที่มั่นแข็งแรง ท่านจงอย่าเข้าโจมตี

โดยเฉพาะเมื่อข้าศึกอยู่ในป้อมปราการแข็งแรงล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพงสูงและหากท่านพิจารณาแล้วว่าโอกาสยังไม่เหมาะสมสำหรับการรบและท่านต้องการจะหลีกเลี่ยง ให้ท่านปักหลักอยู่ในเขตที่มั่นแข็งแรง เตรียมกำลังไว้รับการโจมตีและเตรียมการตีโต้ตอบที่จำเป็นปล่อยให้ข้าศึกอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คอยจนให้ข้าศึกอยู่ในภาวะไร้ระเบียบหรือรู้สึกปลอดภัย แล้วท่านจะตีโต้ตอบด้วยความได้เปรียบ

ท่านจงระมัดระวังอย่าแยกกองทัพออกเป็นส่วนๆ ต้องให้กำลังรบทุกส่วนสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ตลอดเวลา ในทางกลับกันกำลังแต่ละส่วนของท่านต้องทำให้ข้าศึกแยกออกจากกัน หากข้าศึกแยกออกเป็นสิบส่วน ให้ท่านโจมตีแต่ละส่วนด้วยกำลังทั้งหมดของท่านรวมกัน ท่านจะต้องรบด้วยกำลังที่เหนือกว่าทุกครั้ง

ปฏิบัติเช่นนี้ ท่านจะรบด้วยกำลังที่มากกว่าเสมอ แม้ท่านจะมีกำลังน้อยกว่า ส่วนชัยชนะนั้นจะตกอยู่กับผู้ที่มีกำลังมากกว่าเป็นธรรมดา ข้าศึกต้องไม่รู้ว่าท่านมีเจตนารมณ์ในการรบอย่างไร รวมทั้งวิธีการในการโจมตี หรือการป้องกันตนเอง หากท่านปฏิบัติได้เช่นนี้ ข้าศึกจะเพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีความเข้มแข็งเพียงพอทุกที่ ทำให้กำลังข้าศึกขาดความเป็นปึกแผ่นอันเป็นการเปิดโอกาสให้กับความปราชัย

ท่านจงอย่าปฏิบัติเยี่ยงข้าศึกเช่นนั้น ท่านต้องเลือกว่าจะโจมตีพื้นที่ใดและรวมกำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีพื้นที่นั้น สำหรับการโจมตีตรงหน้าให้ท่านวางกำลังที่ดีที่สุดไว้ในแนวหน้าสุด เพราะเราต่อต้านการโจมตีครั้งแรกได้น้อยมากและเราแก้ไขความพ่ายแพ้ตั้งแต่ต้นได้ยากเช่นกัน

ตัวอย่างความกล้าหาญของพวกเขาจะทำให้ผู้ขลาดเขลากว่าเอาอย่าง แนวที่ 2 ติดตามตามเส้นทางที่เปิดไว้โดยแนวแรกได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่เขาจะไม่สามารถเปิดทางได้เองโดยลำพัง หากท่านต้องการโจมตีทางปีกใดปีกหนึ่งเป็นหลัก ให้ท่านวางกำลังที่ดีที่สุดของท่านไว้ ณ ปีกนั้น และวางกำลังที่ดีน้อยกว่าไว้อีกด้านหนึ่ง

นอกจากนั้นท่านต้องรู้จักพื้นที่ปฏิบัติการที่ท่านจะเข้าทำการรบ รวมทั้งวันเวลาที่ท่านเริ่มเข้าปฏิบัติการ เป็นการประมาณการที่ท่านจะละเลยไม่ได้

หากข้าศึกยังอยู่ไกลจากท่านให้ท่านติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดเพื่อทราบขั้นตอนการปฏิบัติต่อวันของข้าศึก โดยปราศจากความเคลื่อนไหวใดๆ ตั้งมั่นอยู่ในฐานปฏิบัติการของท่าน ท่านเห็นการปฏิบัติทุกอย่างของข้าศึก ท่านได้ยินคำสั่งทุกคำสั่งของข้าศึก ท่านรู้สึกได้ถึงความวิตกกังวลและความหวังของข้าศึก รู้แผนการเดินทัพและการปฏิบัติของข้าศึก

แต่ละวันท่านจะเห็นข้าศึกเข้าใกล้พื้นที่ที่ท่านต้องการให้ข้าศึกเข้ามา ในขณะนี้เอง ท่านบังคับให้ข้าศึกต้องเดินทัพ โดยกำลังส่วนหน้าไม่สามารถรับความช่วยเหลือจากกำลังส่วนหลังได้ ปีกขวาไม่สามารถช่วยปีกซ้ายได้ หากท่านบังคับให้ข้าศึกเข้าปฏิบัติการในสภาพเช่นนี้ได้ ท่านจะเข้าปฏิบัติการต่อข้าศึกในเวลาและสถานที่ ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับท่าน

เมื่อใกล้ถึงวันเข้าปฏิบัติการ ท่านต้องอยู่ไม่ไกลเกินไปและไม่ใกล้เกินไปจากข้าศึก ระยะทางที่ต้องเว้นไว้ระหว่างกองกำลังของท่านกับกำลังของข้าศึกคือ สองสามลี้กำลังดีและไกลสุดไม่เกินสิบลี้ อย่าเรียกหาจำนวน เพราะจำนวนมักจะสร้างความเสียหายมากกว่าเป็นประโยชน์ ภายใต้การบังคับบัญชาที่ดีกองทัพขนาดเล็กที่มีวินัยเยี่ยมจะประสบแต่ชัยชนะ กำลังขนาดใหญ่และสวยงามของกษัตริย์ยี (Yee) ไม่มีประโยชน์อย่างใดเลย เมื่อต้องปราชัยให้กับกองทัพกษัตริย์โอะ (Oe) ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า ทิ้งความหลังที่ขมขื่นและอับอายจากการปกครองที่ไม่ดีไว้ในแผ่นดิน

ขอให้กองทัพเล็กๆ ของท่านไม่มีความทะลึ่งอวดดี กระโดดเข้าใส่ข้าศึกที่มีจำนวนมากกว่าโดยปราศจากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ไม่มีเวลาใดที่มาตรการป้องกันต่างๆ จะมีความจำเป็นยิ่งไปกว่านี้แล้ว ด้วยความรอบรู้ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาต้องรู้จักประมาณสถานการณ์จากท่าทางของข้าศึกว่า ควรจะปฏิบัติการรุกหรือปฏิบัติการตั้งรับเมื่อใด ควรหยุดนิ่งเมื่อใด ควรเคลื่อนที่เมื่อใด และเมื่อใดถูกบังคับให้เข้าทำการรบ ผู้บังคับบัญชาจะประมาณสถานการณ์ได้ว่าผลลัพธ์คือ ชัยชนะหรือความปราชัย ดังนั้นก่อนเข้าโจมตีท่านจงตรวจตราให้ถ้วนถี่ว่า ท่านได้ปฏิบัติการทุกอย่าง เพื่อให้โอกาสกับตัวท่านเองมากที่สุดแล้ว

ในขณะเริ่มปฏิบัติการต่อข้าศึก อ่านสายตาของผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านสังเกตความเคลื่อนไหวครั้งแรกๆ ของพวกเขาว่า มีความกระตือรือร้นหรือความเฉยเมย มีความห้าวหาญหรือความลังเล เพียงเท่านี้ท่านจะสามารถสรุปได้ว่า การรบจะสิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จหรือพ่ายแพ้ อากัปกิริยาของกำลังพล เมื่อเริ่มเข้าทำการรบเป็นเหมือนคำพยากรณ์ที่ไม่เคยคลาดเคลื่อน

กองทัพเหมือนกระแสน้ำ เมื่อต้นน้ำอยู่สูงกระแสน้ำก็จะเชี่ยวกราก แต่เมื่อต้นน้ำอยู่ต่ำกระแสน้ำก็จะแน่นิ่ง หากมีช่องว่างน้ำก็จะเข้าเติมเต็มเมื่อมีโอกาส เมื่อหมดช่องว่างน้ำก็จะล้นออกทันที

ดังนั้น เมื่อท่านเคลื่อนทัพเข้าโจมตีตรงหน้าเท่ากับท่านเติมเต็มช่องว่างและท่านเอาส่วนที่เกินออกไป ท่านลดส่วนที่สูงเกินไปลงมาและยกส่วนที่ต่ำเกินขึ้นมา ธารน้ำไหลไปตามความชื้นของพื้นที่ กองทัพต้องปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ปฏิบัติการ ปราศจากความชื้น น้ำไม่อาจไหลปราศจากการบังคับบัญชาที่ดี กองทัพไม่อาจมีชัย เพราะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่าง

ความเฉลียวฉลาดและความเชี่ยวชาญทำให้ผู้บังคับบัญชาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทุกโอกาส จากทุกสถานการณ์ แม้แต่ในสถานการณ์ที่อันตรายและน่าวิตกที่สุด ผู้บังคับบัญชาสั่งประกอบกำลังอย่างเหมาะสมกับกำลังรบของข้าศึก ไม่มีคุณสมบัติถาวรอันใดที่ทำให้กองทัพชนะตลอดกาล พลทหารธรรมดาสามารถกลายเป็นนักรบชั้นนำได้

ด้วยเหตุนี้ท่านต้องไม่ปล่อยโอกาสดีๆ หลุดมือไป ปัจจัยทั้งห้า (ปัจจัยทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ไม้ ไฟ เหล็ก) มีอยู่บางที่และมีความบริสุทธิ์ไม่เท่ากันเสมอไป แต่ละปีฤดูกาลทั้งสี่ ยังไม่สับเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นแบบเดียวกัน ทุกวันที่ปลายขอบฟ้า ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้นและไม่ตกตรงจุดเดียวกันดวงจันทร์ก็เช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น กองทัพแม้มีการบังคับบัญชาที่ดีและมีวินัยเยี่ยมยอดเพียงใดก็หนีไม่พ้นสัจธรรมเหล่านี้เป็นธรรมดา

จบบทที่ 6


 
 

โดย: Mr.Terran วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:12:41:08 น.  

 
 
 
2610
 
 

โดย: terran 2610 IP: 125.26.136.109 วันที่: 19 มิถุนายน 2552 เวลา:14:34:23 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Mr.Terran
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 39 คน [?]




ซิดนี่ย์ เจ.แฮร์ริส เคยกล่าวไว้ว่า
"อันตรายที่แท้จริง ไม่ใช่อยู่ที่ว่า Computer จะเริ่มคิดเหมือนมนุษย์
แต่อยู่ที่ว่า มนุษย์ จะเริ่มคิดเหมือน Computer" ผลงานทุกชิ้นใน BLOG ขอสงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ยกเว้นบทความที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา New Document
New Comments
[Add Mr.Terran's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com