รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 มกราคม 2554
 
All Blogs
 

กฏ 3 ข้อ และ การจัดการเรื่องความคิด

ผมได้แนะนำกฏ 3 ข้อ สำหรับใช้ในการฝึกฝนปฏิบัติธรรม ซึ่งกฏ 3 ข้อนี้มีว่า
1. รู้สึกตัว
2. เฉย ๆ ผ่อนคลาย สบาย ๆ อย่าเกร็ง อย่าเครียด
3. อย่าอยากรู้อะไร แต่ให้จิตเขาไปรับรู้ได้เอง

เมื่อท่านลงมือฝึกฝนด้วยกฏ 3 ข้อข้างต้น ท่านจะพบกับอาการข้อ A ถึง F ข้างล่างเอง โดยที่ท่านไม่ต้องอยากรู้เลย แต่ก็สามารถรับรู้ได้เอง เพราะกลไกตามธรรมชาติของจิตเขาเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ

A.ตามองเห็น
B.หูได้ยิน
C.จมูกได้กลิ่น
D.ลิ้นได้รู้รส
E.กายรู้ได้ถึงอาการทางกาย เช่น ลมหนาวพัดมาโดนกาย ก็รู้สึกได้ หรือ ถ้าใช้มือลูบแขน ก็รู้สึกได้ถึงการสัมผัส หรือ ถ้าเดินจงกรม ก็รู้สึกได้ถึงอาการสั่นไหวที่เกิดขึ้นในขณะก้าว หรือ การกระทบสัมผัสที่เกิดขึ้นในขณะที่เดิน เป็นต้น
F. ถ้ามีอาการทางจิตใจปรากฏก็สามารถรู้ได้ ข้อนี้หมายความว่า ถ้ามีอาการนึกคิด หรือ มีอารมณ์ทางจิตเกิดขึ้น เช่นพอใจ ไม่พอใจ ก็สามารถรู้สึกถึงได้ว่ามีอาการทางจิตใจปรากฏขึ้น

มือใหม่ส่วนมาก ข้อ A ถึง E มักไม่มีปัญหาครับ และก็มักจะฝึกฝนได้เป็นอย่างดีด้วย
แต่ข้อ F นี้จะมีปัญหามากที่สุดสำหรับมือใหม่ครับ ขอให้ตั้งใจอ่านและทำความเข้าใจให้ดีด้วยครับ เพื่อจะได้ฝึกได้ถูกทาง

ในวงการกรรมฐานในประเทศไทย มีอยู่เป็นอันมาก ที่มีคนสอนว่า การปฏิบัติธรรมนั้นห้ามมีความคิด

นี่เขาสอนกันแค่นี้ครับ แล้วก็ปล่อยให้ลูุกศิษย์ตีความกันเองว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เหล่าลูกศิษย์จะมีปัญหาทันที เพราะเหล่าลูกศิษย์จะเข้าใจว่า เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น คือ การปฏิบัติผิดจากคำสอนของอาจารย์

ในคนใหม่ ๆ ที่เข้ามาฝึกฝนกรรมฐาน กำลังแห่งสัมมาสมาธิอ่อนแอมากหรือแทบไม่มีเอาเลย ดังนั้น เมื่อลงมือฝึกเมื่อไร ความคิดจะเข้ามาโจมตีทันที เมื่อความคิดโผล่มาโจมตี เหล่ามือใหม่ก็พยายามจะไปหยุดความคิด เพราะอาจารย์สอนว่า ห้ามมีความคิด

พอมือใหม่พยายามหยุดความคิดเท่านั้นแหละครับ นี่คือ.ความอยาก.อันเป็นตัณหาในจิตใจเกิดแล้วครับ ซึ่งไปขัดกับอริยสัจจ์ข้อที่ 2 ทันที มือใหม่ปฏิบัติผิดอย่างชนิดไม่รู้ตัวและคิดว่าตนเองเจ๋งมากที่หยุดความคิดได้ตรงตามคำสอนของอาจารย์ที่ว่า ไม่ให้มีความคิด

***เมื่อท่านลงมือฝึกฝนตามกฏ 3 ข้อ เมื่อท่านเป็นมือใหม่หรือมือกลาง จะมี ความคิด เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในขณะฝึกครับ ขอให้ท่านเข้าใจว่า อย่าไปห้ามความคิดไม่ให้เกิด ความคิดเกิดได้ครับ ไม่ผิดเลยในการปฏิบัติ แต่เมื่อความคิดเกิดขึ้น นักภาวนาสมควรมีสติที่ตั้งมั้น อย่าให้.จิตรู้.ถูกดูดเข้าไปเกาะติดกับความคิดครับ *****

***ถ้าความคิดไม่เกิดเลยในขณะฝึกฝนนี่ซิครับ แสดงว่า ท่านปฏิบัติผิดทางแล้วครับ ท่านกำลังเพ่งอะไรสักอย่างชนิดไม่รู้ตัว หรือ พยายามสร้างอะไรสักอย่างขึ้นชนิดไม่รู้ตัว หรือ ท่านกำลังปฏิบัติด้วยอาการเกร็งกาย เกร็งใจ ไม่ผ่อนคลาย ชนิดไม่รู้ตัว ***

เมื่อท่านลงมือฝึกฝนในกฏ 3 ข้อ เมื่อท่านเป็นมือใหม่ ความคิดจะเกิดบ่อยมากครับ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของมือใหม่ พอความคิดเกิดขี้น ในขณะที่ท่านกำลังฝึกฝนในรูปแบบอยู่ ท่านจะมีกำลังสัมมาสติบ้าง ซึ่งทำให้ท่านสามารถที่จะต้านพลังดูดของความคิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อท่านต้านแรงดูดของความคิดได้ ท่านก็ยังคงสภาพของกฏ 3 ข้อได้อยู่ต่อไป เมื่อความคิดเกิดขึ้น ขอให้ท่านสลัดความคิดที่เกิดนั้นทันที อย่าได้ตามมันไป ทำเฉยๆ เหมือนไม่สนใจ แล้วความคิดมันจะดับลงไปเอง พอดับแล้ว สักครู่มันจะโผล่มาหลอกหลอนท่านใหม่อีก ก็ให้สลัดออกแบบเดิมคือเฉย ๆ ไม่สนใจ ไม่ตามมันไป ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ แล้วท่านจะมีกำลังสัมมาสติค่อย ๆ ตั้งมั่นทีละนิด ทีละนิด สติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เอง ยิ่งความคิดโผล่มากวนท่านมากเท่าใด แล้วท่านสามารถสลัดมันได้บ่อยมาก ๆ ท่านจะยิ่งชำนาญได้เร็วและกำลังสัมมาสติยิ่งมีการพัฒนาได้เร็วมากกว่าความคิดไม่เกิดมากวนใจด้วยครับ
ท่านเห็นไหมครับ มันหักมุมอีกแล้วจากความเข้าใจเดิม ๆ ของท่านในเรื่องความคิดกับการฝึกฝนปฏิบัติ

ทีนี้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากกำลังสัมมาสติของท่านอ่อนอยู่ ทำให้ท่านมักจะถูกความคิดดูุดจิตรู้เข้าไปเกาะติดได้ง่ายมาก คนใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้ครับ ท่านอย่าได้ท้อใจไป ขอให้ท่านได้หมั่นฝึกฝนในรูปแบบ สลับการฝึกฝนในชีวิตประจำวันไปเรือยๆ กำลังสัมมาสติจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ ชนิดที่ท่านไม่รู้สึกตัว แต่พอมันกล้าแข็งขึ้นมาเมื่อไร จิตรู้ของท่านจะไม่ถูกความคิดมันดูดเข้าไปได้เอง โดยที่ท่านไม่ต้องไปทำอะไรเลย

สรุปก็คือ การปฏิบัตินั้น ความคิดเกิดได้ เกิดบ่อยยิ่งดี แต่นักภาวนาอย่าให้.จิตรู้.ถูกดูดเข้าไปในความคิดก็แล้วกัน ถ้าได้อย่างนี้ สุดยอดครับฝึกไปเรื่อยๆ เลยครับ

ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ท่านมือใหม่ได้เข้าใจเรื่องความคิดในขณะฝึกฝน เพราะเท่าที่ผมอ่านในคำสอนของท่านอื่น ๆ หรือ ในเวปเบอร์ดธรรม ก็มีคนเข้าใจเรื่องความคิดในการปฏิบัตินี้ผิดพลาดไปเป็นอันมาก เมื่อท่านไปอ่านบ้าง อาจทำให้เขวและเข้าใจคลาดเคลื่อนไปในการฝึกฝนได้ครับ

คงเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ทุกท่านครับ

หมายเหตุ เมื่อจิตรู้ถูกดูดเข้าไปเกาะกับความคิด ผลที่ตามมาก็คือ นักภาวนาจะสูญเสียความรู้สึกตัวไป ซึ่งก็คือ กฏข้อ 1 ได้เสียไปแล้ว

*****
เรื่องท้ายบท

เมื่อผมเขียนสำหรับมือใหม่ มือกลางไปแล้วข้างบน ผมจะอธิบายสภาพของมือเก่าที่กำลังสัมมาสติสัมมาสมาธิตั้งมั่นอย่างสุด ๆ ให้ท่านได้อ่านเพื่อเป็นความรู้ว่า เป็นอย่างไร

เมื่อคนที่ผ่านการฝึกฝนและมีกำลังสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นมาก ๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ เขาจะรู้สึกตัวอยู่เสมอครับ เขาจะไม่เผลอ และเขาจะอยู่ในอาการกฏ 3 ข้อที่เป็นธรรมชาติจริงๆ จิตที่ตั้งมั่นอยู่นี่เอง จะทำให้จิตตสังขาร (ก็คือ ความคิด หรือ อารมณ์ปรุงแต่งทางจิตใจ) มันเกิดขึ้นได้ยากหรือแทบไม่เกิดขึ้นเลยครับ นี่คืออาการที่ไม่มีความคิดนั้นเอง ถึงแม้ความคิดจะเกิดขึ้นได้ในบ้างครั้ง นักภาวนาที่สัมมาสมาธิตั้งมั่นอย่างสุด ๆ ก็จะเห็นความคิดที่เกิดขึ้นนี้ และความคิดนี้จะสลายตัวไปอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ เรียกว่า ยังไม่ทันตั้งตัว ความคิดที่โผล่มาก็ดับลงไปทันทีทันใดด้วยเวลาที่สั้นมาก ๆ เป็นเศษเสี้ยวของวินาที

ท่านจะเห็นว่า คำสอนของเหล่าอาจารย์ทั้งหลายนั้นไม่ผิดครับในเรื่องที่ว่าการปฏิบัติไม่ให้มีความคิด แต่นั้นเป็นสภาวะของผู้ที่มีกำลังสัมมาสมาธิตั้งมั่้นสุด ๆ แล้วเท่านั้น ที่เป็นอย่างนี้ได้

ส่วนบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นมือใหม่ มือกลาง มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้ท่านเข้าใจสภาวะด้วยว่า สภาวะของท่านควรเป็นอย่างใด เพื่อจะได้ปฏิบัติไม่ผิดเพี้ยนและมีกำลังใจในการปฏิบัติต่อไปครับ






 

Create Date : 27 มกราคม 2554
15 comments
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:08:28 น.
Counter : 2727 Pageviews.

 

อนุโมทนาสาธุและขอขอบพระคุณ..ครับ

 

โดย: ลุง 'บุรีราช' IP: 113.53.130.159 28 มกราคม 2554 7:03:57 น.  

 

อนุโมทนาสาธุ ขอบคุณอาจารย์มากๆครับที่ให้คำตอบ
หลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ ตามความเข้าใจของผมอาจารย์
หมายถึงให้ปล่อยจิตไปตามความคิดได้เลยแต่มีลิมิตว่าเอาแค่
พอรู้สึกตัว เหมือนตอนเราฝึกการสัมผัสมีแตะมีปล่อย เหมือนจิตรู้
ที่มันมีอารมณ์มาสัมผัสใจเราแล้วนะ แล้วต่อไปเราต้องปล่อยนะ
ถ้ามาสัมผัสอีกครั้งต่อไปเราต้องปล่อยนะ เป็นจังหวะเป็นวัทจักร
เช่นนี้ใช่เหลือเปล่าครับ และปลายทางของมันคือความเคยชินใช่ไหมครับอาจารย์

 

โดย: เนื้อนาบุญ IP: 182.53.101.138 28 มกราคม 2554 10:06:38 น.  

 

ทีือาจารย์เคยบอกว่าเราสามารถเลือกให้จิตคิดหรือไม่ให้คิดก็ได้. จิตที่ว่านี้คือ
ความคิดที่จิตคิดขึ้นมาเอง. แล้วเราเลือกว่าจะคิดต่อหรือไม่คิดต่อก็ได้ใช่ไหมคะ

ไม่เกี่ยวกับความคิดที่เราจงใจคิด ฃึึ่งถ้าเป็นความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ก็สมควร
ตัดทิ้งอย่างเดียว. รบกวนท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วนคะ. ขอบพระคุณค่ะ

 

โดย: จิตติ IP: 124.121.7.61 28 มกราคม 2554 12:37:45 น.  

 

รู้แล้วปล่อย
การปล่อยนั้น คือ เฉย ๆ กะมันซะ คล้าย ๆ กับเราได้ฟังเสียงเด็กร้องไห้งอแง ไม่ยอมหยุด เราได้ยิน แต่ให้เฉย ๆ ไม่ใส่ใจ คล้าย ๆ แบบนั้น
นักภาวนาไม่ต้องทำอะไร

ใมการปฏิบัตินั้น เพียงให้รู้สึกตัว (กฏข้อ 1 ) เฉยๆ กะมัน (กฏ ข้อ 2 ) ไม่ต้องตามไป ไม่ต้องอยากรู้ (กฏข้อ 3 )

เดียวมันก็หายไป เดียวมันก็มาใหม่ คล้ายๆ เด็กร้องไห้ เดียวร้อง เดียวหยุด เดี๋ยวร้อง เดี๋ยวหยุด เด็กร้องให้ร้องไป เราต้องใจแข็ง อย่าไปใส่ใจ อย่าไปโอ๋มัน เดียวมันก็หยุดเอง

 

โดย: นมสิการ 28 มกราคม 2554 12:39:34 น.  

 

เราสามารถเลือกให้จิตคิดหรือไม่ให้คิดก็ได้. จิตที่ว่านี้คือ
ความคิดที่จิตคิดขึ้นมาเอง. แล้วเราเลือกว่าจะคิดต่อหรือไม่คิดต่อก็ได้ใช่ไหมคะ

ใช่ครับ
การเป็นสภาพอย่างนี้ได้ นักภาวนาต้องมีกำลังสัมมาสติค่อนข้างมาก และเมื่อความคิดเกิดขึ้น เขาจะเห็นมันได้ทุกครั้ง และเมื่อเห็นแล้ว เขาจะคิดต่อก็ได้ หรือ ไม่คิดก็ได้ ถ้าเขาไม่คิดต่อ ความคิดนั้น มันก็ดับไปเอง
แต่ถึงแม้เขาจะคิดต่อ เขาก็ยังคิดต่อด้วยความรุ้สึกตัวได้ต่อไป

***********
ไม่เกี่ยวกับความคิดที่เราจงใจคิด ฃึึ่งถ้าเป็นความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ก็สมควร ตัดทิ้งอย่างเดียว

ใช่้ครับ การคิดเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ อย่าไปคิดมัน ถ้าเป็นประโยชน์ เช่น การแก้ปัญหาชีวิต แก้ปัญหางาน ก็สมควรคิดครับ

 

โดย: นมสิการ 28 มกราคม 2554 12:44:17 น.  

 

ในการปฏิบัติฝึกฝนนั้น เราจะเน้นที่ความคิดที่มันโผล่มาเอง โดยที่ไม่ใช่การตั้งใจคิด ความคิดประเภทนี้ มันเป็นอันตรายมาก ถ้าคนที่ไม่ได้ฝึกฝน เข้าไปในความคิดและก็หลงไปกับมัน ถ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือ ฟังข่าว หรือ แม้แต่ในเวปบอร์ด คนมักหลงไปกับความคิดประเภทนี้ทั้งสิ้น โดยไม่รู้สึกตัว

คนที่เป็นทุกข์ คิดมาก ๆ ก็ปรุงมาก สุดท้ายแก้ปัญหาชีวิตในทางที่ผิดไปก็มาก

นักภาวนา พอไปภาวนาได้นิดหน่อย ก็คิดว่า ภาวนาแล้วดีมาก มีความสุข นี่ก็หลงคิดเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ อธิบายให้ใครฟังได้ยากยิ่ง

ถ้านักภาวนารู้จักความคิด เห็นความคิดได้ จะเข้าใจได้เลยว่า อาการของการหลงคิดนั้นมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ คนที่ไม่เห็นความคิด จะไม่เข้าใจเลยว่าเป็นอย่างไร

การรู้ไม่เท่าทันความคิดนี้แหละครับ คือ อวิชชา ตัวเป้งทีเดียว

 

โดย: นมสิการ 28 มกราคม 2554 12:51:21 น.  

 

การฝึกรู้ ฃ้อ A ถึง E (อ่านเรือ่งใน blog ) ถ้า F ไม่เกิดขึ้น ถ้าฝึกอย่างถูกต้อง จะทำให้จิตตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นได้พอสมควร พอ F เกิดขึ้น จิตรู้ของนักภาวนาจะไม่ถูกแรงดูด ดูดเข้าไปเกาะกับความคิด พอฝึกอย่างนี้ได้บ่อย ๆ ที่จิตรู้ไม่ถูกดูดเ้ข้าไปในความคิด จิตรู้ จะเริ่มตั้งมั่นมากขึ้น แล้ว นักภาวนาจะเริ่มเห็นความคิดได้

 

โดย: นมสิการ 28 มกราคม 2554 12:54:06 น.  

 

เรียน คุณนมสิการ
ตอนนี้ฝึกยกมือสร้างจังหวะมาได้เกือบ 6 เดือน ตลอดเวลาคิดว่าตัวเองรู้สึกตัวมาตลอด โดยทำตามคำแนะนำของคุณนมสิการ ทั้ง 3 ข้อ ทั้งในชีวิตประจำวัน เพิ่งจะมารู้สภาพว่าการไม่มีความคิดนั้นเป็นอย่างไร แต่เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ จริง ๆ ที่เราจะไม่หลง แป๊บเดียวเท่านั้นต้องพยายามประคองความรู้สึกตัวไว้ แต่มันก็ทำไม่ได้อย่างต้องการ แต่ก็รู้สึกตัวได้เร็วบ้าง ช้าบ้าง บางเรื่อง และมีอาการเจ็บในหน้าอกบ่อย ๆ แบบนี้เราเครียดหรือเปล่าคะ ตอนนี้รู้สึกได้ถึงลมหายใจเวลาเราอยู่เฉย ๆ ไม่เคลื่อนไหวก็จะรู้สึกได้ หรือในขณะเดินจงกลม ยกมือสร้างจังหวะ ก็จะรู้สึกถึงลมหายใจ และพัดลมที่มาสัมผัสกายเราได้ อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติมาถูกทางหรือเปล่าคะ อารมณ์ตอนนี้ก็ไม่ได้ปลอดโปร่ง แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองขี้หงุดหงิด ซึม ๆ แต่บางครั้งก็เฉย ๆ อธิบายยากค่ะ

 

โดย: สิริพร IP: 113.53.119.146 30 มกราคม 2554 22:25:29 น.  

 

การปฏิบัตินั้นก็เพื่อละทิ้งตัณหา หรือ ที่เรียกว่า การไม่ยึดติดครับ
ที่เล่ามาให้ฟังนั้น ก็แสดงว่า คุณสิริพรได้มีการพัฒนาไปได้ดีพอสมควรบ้างแล้ว ขอให้ฝึกฝนต่อไป อย่าได้กังวลในสิ่งใด ๆ ไม่ว่าจะเรื่องหลงไป หรือ มีความคิดหรือไม่มีความคิด เพราะการกังวลสิ่งใด นั้นคือความคิดอย่างหนึ่งแล้ว ที่เราสมควรหลีกเลี่ยง

ส่วนอาการเจ็บหน้าอก อาจเป็นปัญหาทางร่างกายที่ต้องการรักษา ถ้าร่างกายไม่มีปัญหา อาจมาจากเรื่องความเครียด ให้ผ่อนคลายร่างกายเวลาฝึกฝน

เรื่องผ่อนคลายจะเข้าใจยากสักนิด คุณเคยไปนวดเท้าทีสบาย ๆ ไหมครับ
ความรู้สึกสบาย ๆ แบบนั้นจะผ่อนคลายไปในตัว ถ้าคุณรู้ว่าผ่อนคลายเป็นอย่างไร ก็ฝึกแบบนั้น คือ ฝึกแบบผ่อนคลาย ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วการพัฒนาจะเพิ่มมากขึ้นทีละนิด ทีละนิดเอง

 

โดย: นมสิการ 31 มกราคม 2554 3:48:25 น.  

 

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ดี ๆ ค่ะ

 

โดย: สิริพร IP: 113.53.119.146 31 มกราคม 2554 9:12:10 น.  

 

เรียน อาจารย์ นมสิการ

ตนเองได้อ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์มาประมาณ 1 เดือน เน้นการกำแบ และขยับนิ้วในชีวิตประจำวัน และมีปฏิบัติตามแนวหลวงพ่อเทียน บ้าง เมื่อว่าง แต่ไม่ทุกวัน .. สิ่งที่รู้สึกได้ชัดมากคือ ทุกข์ลดลง และเกิดปัญญาเท่าทันความคิดที่โผล่ขึ้นมามากขึ้น แต่ยังไม่เท่าทันได้ตลอด
เรียนถาม อาจารย์ว่า 6-7 วันมานี้ เวลาขยับนิ้ว ชี้กับนิ้วโป้งชนกัน หรือเอานิ้วขยี้กัน (ตอนใช้คอม หรือทำงานอื่นไปด้วย) จะมีอาการเหมือนก้อนๆเล็กๆเกิดขึ้นตามมาที่ขมับ(แต่ไม่ปวด) สักพักจะซ่าๆทีีบริเวณขมับ ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แล้วจะมีอาการระยิบๆเล็กๆ เคลื่อนมาที่หน้าบ้าง ที่จมูก แก้ม (เริ่มมีอาการซ่าๆบนกระหม่อม เกิดตั้งแต่การยกมือแบบหลวงพ่อเทียน ในครั้งที่ 2 (ครั้งละ 1 ชั่วโมง) แบบนี้ไม่ทราบว่าอาการที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นปกติในการปฎิบัติหรือไม่คะ หรือว่าต้องแก้ไขอะไรบ้าง
ขอบพระคุณและอนุโมทนาที่เมตตาคะ

 

โดย: Nim IP: 124.121.188.234 31 มกราคม 2554 23:21:50 น.  

 

ตอบคุณ Nim

อาการซ่านั้น ผมเข้าใจว่า เป็น.จักระ. คือ เป็นพลังงานที่เกิดขึ้น
ไม่เป็นอันตรายใด ๆ เวลามันเกิดก็ช่างมัน เพียงรู้แต่ไม่ต้องไปใส่ใจ
ให้ดำเนินไปตามกฏ 3 ข้อเรื่อย ๆ ครับ

จากประสบการณ์ส่วนตัวทีผมพบ จักระ นี้มันจะวิ่งไปตามร่างกายเรื่อย ๆ เดียววันนี้อยู่นี่ วันหน้าอยู่ทีโน่น ก็สนุกดีครับ

ในตำรา.จักระ. เขาเขียนว่า พลังงาน.จักระ.นี้ ถ้าฝึกฝนโดยเฉพาะจะใช้รักษาโรคภัยในร่างกายได้ แต่ผมไม่เคยฝึก เพียงอ่านพบเท่านั้นครับ

 

โดย: นมสิการ 1 กุมภาพันธ์ 2554 4:28:55 น.  

 

อ่านคำตอบแล้วสบายใจขึ้นเยอะ จะได้เพียรปฏิบัติ ตามคำแนะนำคะ

อนุโมทนา และขอบพระคุณมากคะอาจารย์

 

โดย: Nim IP: 203.157.72.226, 203.157.72.226 1 กุมภาพันธ์ 2554 10:38:34 น.  

 

ขอแชร์ประสบการณ์นะคะ คือเวลาที่ตัวเองเห็นความคิดใหม่ๆ นี่ตกใจเหมือนกันทำไมในหัวความคิดมันชั่วร้ายอย่างงี้ ก้อเถียงกันอยู่ในหัวนั่นแระว่าไม่ใช่ตัวชั้นนี่มาจากไหน แต่เคยอ่านในเวปของคุณหมอชัชวาลอ่ะคะ ท่านบอกว่าคิดอะไรก้อให้เฉยๆ รู้อย่างเดียว อย่าไปรู้สึกอะไร พอนึกได้เออ ลองตามความคิดดู เด๋วมันหยุดคิดเองอ่ะคะ แต่จุดสังเกตที่คิดว่าทำยากกันนี่คือจะไม่รู้ตัวว่ามีความคิดเกิดขึ้นแล้วไปผสมเป็นอารมณ์ต่างๆแล้ว เมื่อตอนปฏิิิบัติใหม่ๆนี่ไม่รู้ความคิดเผลอโกรธไปแต่จะไปรู้ร่างกายก่อนนะคะ พอปฏิบัติไปเรื่อยๆเห็นความคิดได้แล้วรู้เฉยๆ ก้อจะไม่แสดงความโกรธ แต่ร่างกายนี่ยังมีอาการนะคะ แล้วความคิดก้อมีมาเรื่อยๆคะ แต่มันลดระดับความรุนแรงลงอ่ะ แต่ถ้าเผลอมีอารมณ์ก้อให้รู้ไว้นะคะว่าเผลอ ถ้าไม่เผลอก้อให้รู้ว่าไม่เผลอ แล้วดูต่อก้อให้รู้ว่าดูต่อ งงเปล่าคะแหะๆ^ ^' คือให้รู้ต่อเนื่องอ่ะคะ

 

โดย: แม่ลูกสอง IP: 180.183.242.135 14 มีนาคม 2554 15:52:45 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 15:23:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.