รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
4 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ไม่รู้สึกทุกข์ อย่างนี้ภาวนาถูกหรือเปล่า

ถ้าท่านเป็นผู้่หนึ่งที่ลงมือภาวนา แล้วรู้สึกว่า ภาวนาแล้วไม่ทุกข์ ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ภาวนามาถูกหรือเปล่า

ผมขอให้ดูภาพ เพื่อประกอบคำอธิบาย



A..มาดูขบวนการเกิดทุกข์กันก่อน

เมื่อคนเรามีการรับรู้ผ่านทางระบบประสาท กล่าวคือ ตาเห็นภาพ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้รับสัมผัส จิตใจมีการนึกคิด

ถ้าสิ่งที่รับรู้เข้ามาดังกล่าว มีความ...รุนแรง...พอเพียง จะมีขบวนการจิตปรุงแต่งเกิดขึ้น อันเนื่องจาก.อวิชชา.ที่ปกคลุมจิตใจอยู่

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ท่านไม่ชอบหน้าคน ๆ หนึ่ง พอคน ๆ นี้เดินมาให้ท่านเห็นหน้า ท่านจะหนีก็หนีไม่ได้ ต้องอยูุ่ที่นั้น คน ๆ นี้เดินตรงเข้ามาหาท่านทันที เพื่อจะพูดคุยเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง การรับรู้นี้แรงพอ ที่จะทำให้เกิดขบวนการของจิตปรุงแต่งอันเนื่องจาก.อวิชชา. ท่านจะเกิดอาการไม่พอใจทันทีขึ้นภายในจิตใจของท่าน (ดูภาพที่เป็น วงกลมสีน้ำเงินอ่อน)

ส่วนที่เป็น.จิตลูกโป่ง.(ภาพวงรีสีฟ้า-คือจิตที่ถูกอวิชชาปกคลุม) จะถูก.ตัณหา.ดึงให้เข้าไปเกาะติดกับจิตปรุงแต่ง ที่เป็นวงกลมสีน้ำเงินอ่อน

เมื่อ จิตลูกโป่ง เข้าไปเกาะติดกับ จิตปรุงแต่งแล้ว ท่านจะเกิดทุกข์ใจขึ้นมาทันที และท่านจะเข้าใจว่า ท่านเป็นทุกข์แล้ว ทุกข์นี้เป็นตัวท่าน ทุกข์นี้เป็นของท่าน

นี่คือ สภาพที่ท่านพบทุกข์อย่างแท้จริง จิตใจจึงเป็นทุกข์

B..มาดูขบวนการที่ทุกข์ไม่เกิด

จากเหตุการณ์คล้าย ๆ กับข้อ A ทีนี้ คนที่ท่านเห็นเป็นคนแปลกหน้าที่ท่านไม่รู้จักมาก่อน คนแปลกหน้าคนนี้ เดินเข้ามาหาท่าน พร้อมกับถามเส้นทางเพราะเขากำลังหลงทาง

การที่ท่านเห็นคนแปลกหน้าคนนี้ เป็นการรับรู้ที่ไม่เกิดความ..รุนแรง..พอที่จะกระตุ้นให้เกิดจิตปรุงแต่งอันเนื่องด้วย.อวิชชา. เมื่อไม่เกิด.จิตปรุงแต่ง.แบบนี้ขึ้น ท่านก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์

นี่คือ สภาพที่ท่านยังไม่ได้พบทุกข์อย่างแท้จริง จิตใจจึงไม่มีทุกข์

C..มาดูขบวนการดับทุกข์ที่ได้ปัญญา

ในนักภาวนาที่เข้าใจวิธีการปฏิบัติสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง นักภาวนาจะต้องมีการฝึกฝนการเจริญสัมมาสติสัมมาสมาธิจนกระทั้งเกิด.จิตตั้งมั่น.

จากเหตุการณ์ในข้อ A. เมื่อนักภาวนาเห็นคนที่ไม่ชอบใจ และเกิดจิตปรุงแต่งขึ้นมาดังที่ได้อธิบายไปแล้วในข้อ A. แต่เนื่องด้วย นักภาวนานี้ฝึกฝนสัมมาสมาธิ จนเกิด.จิตตั้งมั่น.

เมื่อเกิดจิตตั้งมั่น จิตลููกโป่ง จะสามารถชนะแรงดึงของตัณหาได้ ทำให้จิตลููกโป่งนั้น.ไม่.เข้ามาแนบชิดติดกับจิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นนั้น จิตลูกโป่ง ยังคงเป็นอิสระตั้งมั่นอยู่ในฐานอยู่
เมื่อจิตลูกโป่งยังคงเป็นอิสระจากจิตปรุงแต่ง นักภาวนาก็จะไม่เกิดทุกข์ขึ้นมา ในขณะเดียวกัน
จิตปรุงแต่ง ก็จะดับลงเป็นไตรลักษณ์ตามกลไกธรรมชาติที่เป็นไปเอง นักภาวนาจะเห็น จิตปรุงแต่งดับไปต่อหน้าต่อตา และเกิดปัญญาตามมาว่า จิตปรุงแต่งนี้ไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงไป มันไม่ใช่ตัวเขา มันไม่ใช่ของ ๆ เขา

นี่คือ ขบวนการดับทุกข์ และเกิด.ปัญญา.ที่เกิดขึ้นกับนักภาวนาที่มีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น

D..มาดูขบวนการดับทุกข์ที่ไม่เกิดปัญญา

จากภาพสี่เหลี่ยมสีบานเย็น เป็นการจงใจทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้น หรือภาษานักภาวนาเรียกกันว่า การแทรกแซงจิต หรือบ้างก็เรียกว่า การกดข่มจิต ที่นิยมกันมาก ๆ คือ การใช้คำบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

ดังเหตุการณ์ในข้อ A.. เมื่อท่านเกิดไม่ชอบหน้าคน ๆ นี้และจิตใจเกิดอาการไม่พอใจขึ้นมา แต่คน ๆ นี้เป็นหัวหน้างานของท่าน ท่านจำเป็นที่ต้องรักษาจิตใจไว้ไม่ให้มีการแสดงอะไรออกมา มิฉะนั้นอาจถูกไล่ออกจากงานได้ ท่านก็ลงมือบริกรรม เช่น นึกคำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ

การที่ท่านนึกคำบริกรรมนี้ จิตลูกโป่งจะไปยึดคำบริกรรมและจะไปกดข่มจิตปรุงแต่งที่กำลังเดือดปุด ๆ ให้สงบลงได้ เมื่อจิตใจสงบลง ทุกข์ก็ลดลงไป

อีกตัวอย่างหนึ่งคล้าย ๆกัน ถ้าท่านปวดฟัน ท่านก็นึกคำบริกรรมทันที ความปวดฟันก็จะลดลงไป เพราะจิตลูกโป่งไปยึดคำบริกรรมแทนที่จะไปยึดทุกขเวทนาทางกายอย่างเต็มร้อยเปอร์เซนต์

ในนักภาวนาบางคน ที่ยังไม่เข้าใจในการภาวนาดีพอ มีการกระทำบางอย่างอยู่เสมอโดยที่เขาเองไม่รู้ตัว เช่น บางคนไปเพ่งความว่าง บางคนไปเพ่งลมหายใจเพราะนึกว่านี่คืออาณาปานสติ การกระทำอย่างนี้ เป็นการกดข่มจิตให้เข้าไปจับยึดในสิ่งที่กระทำอยู่ ทำให้จิตใจเกิดการนิ่ง ๆ ทำให้ทุกข์ไม่เกิดขึ้น นักภาวนาจะรู้สึกดี เพราะเห็นว่า ทำอย่างนี้ ไม่มีทุกข์เกิดขึ้นเลย

แต่การกระทำดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดปัญญาเพราะเมื่อไม่เกิดทุกข์ นักภาวนาจะไม่รู้จักทุกข์ ว่า ทุกข์นั้นเป็นไตรลักษณ์ ทุกข์นั้นไม่ใช่เรา ทุกข์นั้นไม่ใช่ของเขา (ดังที่ได้เขียนไว้ในข้อ C ที่ดับทุกข์ที่ได้ปัญญา )


**********************

ท่านเห็นขบวนการที่เกิดและไม่เกิดทุกข์ และ เห็นขบวนการดับทุกข์ที่เกิดปัญญาและไม่เกิดปัญญาแล้ว ในพุทธศาสนา การดับทุกข์จะเป็นขบวนการที่ยอมให้ทุกข์นั้นเกิดขึ้นได้ แต่ ในการดับทุกข์นั้นให้ใช้สัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น จึงจะเกิดปัญญา ดังนั้น การปฏิบัติแบบข้อ C จึงเป็นการดับทุกข์ที่ถูกต้องตามอริยสัจจ์ 4

แต่ถ้าไม่ปล่อยให้ทุกข์เกิดขึ้นโดยการพยายามทำการกดข่มไว้ อย่างนี้ไม่ใช่ทางแห่งอริยมรรค

แต่เนื่องจากเราอยู่ในโลก ยังต้องเกี่ยวข้องกับบุคคล บางครั้ง การกดข่มจิตใจเพื่อให้จิตใจดีอยู่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในทางโลก มิฉะนั้น อาจเกิดอาการ .น๊อตหลุด. แล้วหน้าที่การงานทางโลกจะเสียหายได้ นักภาวนาสมควรมีปัญญาแยกแยะว่า เมื่อไรควรใช้การกดข่ม เมื่อไร ไม่ใช้การกดข่ม

แต่นักภาวนาที่เจนจัดการภาวนาที่สัมมาสมาธิตั้งมั่นเป็นอย่างดีแล้ว จะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้




Create Date : 04 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:12:54 น. 8 comments
Counter : 1228 Pageviews.

 
ขณะเดินจงกรมตามปกติ ก็รู้สึกจิตใจสบายๆรู้ตัวเบาๆ สักพักใหญ่อยู่ๆจิตมันก็ไปคิดถึง เรื่องหนึ่งที่ทำความไม่สบายใจขึ้นมา จิตที่กำลังสบายๆก็กลายเป็นหนักๆขุ่นมัวไป
คิดถึงคำสอนที่ให้สลัดความคิดทิ้งไปและกลับมาอยู่กับกาย รีบทำตามนั้น มาอยู่กับกายเดินไปๆด้วยความรู้สึกตัว ไม่นานเลยจิตใจก็กลับมาปกติเหมือนเดิมค่ะ อาการหนักๆในจิตก็หายไปด้วย ขบวนการดับทุกข์ที่นำมาใช้นี้ถูกมั้ย
**************
มีคำถามเข้ามา เป็นคำถามที่ดีที่นักภาวนามือใหม่ สมควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ผมมีความเห็นดังนี้ครับ
..เมื่อนักภาวนากำลังมีสัมมาสติที่ดีอยู่ กล่าวคือ มีความรู้สึกตัวและจิตใจที่ดีอยู่ นี่คือสภาพที่นักภาวนาจะพร้อมในการรับรู้สภาวะธรรมแล้ว เมื่อมีอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมาในจิตใจ จิตใจมีการสั่นไหวกระเพื่อมด้วยเหตุที่เกิดนั้น ถ้านักภาวนารับรู้ได้ทันทีอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่รับรู้ได้เร็ว ขั้นตอนการดับทุกข์จะมีอยู่ 2 อย่างคือ

1..ถ้านักภาวนามีกำลังสัมมาสมาธิที่มั่นคง นักภาวนาจะเห็นการสั่นไหวของจิตใจได้ และ เมื่อนักภาวนาเห็นการสั่นไหวนี้ จิตใจที่สั่นไหวจะสลายตัวลงเป็นไตรลักษณ์อย่างรวดเร็วโดยที่นักภาวนายังไม่ได้คิดจะทำอะไรเลย มันก็สลายไปเองเสียแล้ว นี่คือภาวนามยปัญญาที่เห็นอาการสั่นไหวในจิตใจว่า ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา อันเกิดจากที่นักภาวนามีกำลังสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นแล้ว

2..ถ้านักภาวนามีกำลังสัมมาสมาธิพอสมควร แต่ยังไม่มั่นคงมากนัก ซึ่งอาการนี้เป็นกับนักภาวนามือใหม่ที่อยู่ในช่วงของการฝึกฝนอยู่ เมื่อนักภาวนารับรู้อาการสั่นไหวในจิตใจได้อย่างรวดเร็ว แต่อาการสั่นไหวนั้นมันไม่ดับลงไปทันทีเป็นไตรลักษณ์ การที่นักภาวนารีบกลับมารู้สึกที่กาย แล้วอาการสั่นไหวนั้นก็หายไป การปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเป็นมือใหม่ เป็นสิ่งที่สมควรทำ เพราะถ้าปล่อยทิ้งอาการสั่นไหวนี้ไว้ อาการสั่นไหวนี้อาจจะขยายตัวใหญ๋ขึ้นแล้วเข้าครอบงำจิตใจต่อไป ทำให้เกิดการขุ่นมัวไปยาวนานขึ้น เมื่อนักภาวนามือใหม่นั้น หมั่นฝึกฝนต่อไปเรื่อย ๆ อีก กำลังสัมมาสมาธิของเขาจะค่อย ๆ ตั้งมั่นมากขึ้น แล้วเมื่อตั้งมั่น เหตุการณ์ในแบบข้อ 1 จะเกิดขึ้นได้เอง

อนึ่ง มีคำสอนบางอย่างในการภาวนาที่ว่า ถ้าไปทำแบบที่เขียนไว้ในข้อ 2 นี้เป็นการแทรกแซงการทำงานของจิต คำกล่าวนี้ถูกต้องครับว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของจิต แต่นักภาวนาสมควรรู้กำลังตนเองว่า ไปได้แค่ไหน ถ้าจิตใจมันไม่หยุดเองอย่างข้อ 1 นี่แสดงว่ากำลังของนักภาวนายังไม่พอ ก็ต้องเข้าไปแทรกแซงก่อน คล้าย ๆ กับการหนีตั้งหลักก่อน เพราะถ้าไม่หนี กิเลสก็กินเข้าไปยึดครองที่จิตใจได้ และความทุกข์ก็จะตามมาทันที

อย่าลืมนะครับ ภาวนาแล้วใจต้องดี ...




โดย: นมสิการ วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:6:52:35 น.  

 
สาธุ...แจ่มแจ้งและชัดเจนมาก ผมใช้ในข้อ D นี่เอง


โดย: ลุง 'บุรีราช' IP: 125.27.174.60 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:7:50:10 น.  

 
สรุปให้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง

มือใหม่กำลังสัมมาสมาธิยังอ่อน ต้องหมั่นฝึกฝนการเจริญสัมมาสติสัมมาสมาธิไปเรื่อย ๆ ถ้าในขณะที่กำลังสัมมาสมาธิยังอ่อน ถ้าเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ใจขุ่นมัว สมควรตีกรรเชียงถอยหนีไปตั้งหลักก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปหาญกล้าประจันหน้ากับกิเลส เพราะจะถูกกิเลสน๊อคกับมาทันที การถอยหนี อาจใช้การรู้สึกไปถึงกายทันที หรือ ใช้คำบริกรรมก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน

ในระยะมือใหม่หัดภาวนานี้ จะพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวได้มาก
ต่อเมื่อฝึกฝนไปจนกำลังสัมมาสมาธิตั้งมั่นได้ดีแล้ว กำลังความตั้งมั่นนี้จะสามารถต่อสู้กับกิเลสให้หยุดลงได้เองอย่างอัตโนมัติ

การกดข่มจิตใจแบบข้อ D โดยพยายามกดขุ่มอยู่.ตลอดเวลา.เพื่อให้จิตนิ่งสบาย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เพราะการกดข่มนี่ ก็เป็นการยึดติดที่เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ถ้าทำมาก ๆ จนติดเป็นนิสัยแล้ว การแก้ใขในอนาคตเพื่อกลับมาฝึกฝนให้มีปัญญาอีกจะทำได้ยากยิ่ง

การกดข่มจิตใจนี้ สมควรใช้ในกรณีที่รู้สึกตัวว่าจะไม่ไหวต่ออำนาจของกิเลสแล้วเท่านั้น อย่าใช้พร่ำเพื่อครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:8:46:14 น.  

 
ผมเคยเกิดอาการทางใจขึ้นขณะปฏิบัติ แล้วมันอยากตามไปดูอาการทางใจที่เกิดขึ้นแทนที่จะมารู้สึกที่กายแทน และสติยังไม่ตั้งมั่นพอ ปรากฎว่าตามดูเท่าไหร่ก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าหลงไปเลย แทนที่จะรู้สึกตัว แถมยังโดนกิเลสลากไปกินเรียบร้อย เ้พราะความ อยาก รู้ อยาก เห็น แท้ๆ


โดย: virut IP: 172.16.21.4, 58.137.96.2 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:9:03:45 น.  

 
เป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับนักภาวนาจริง ๆ ครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:13:34:06 น.  

 
เรียนถามคุณนมสิการ ผมเคยเจอสภาวะคล้ายข้อA คือเจอคนไม่ถูกกันแล้วเดินผ่านกันเขาทำกริยาบางอย่าง คล้อยหลังปุ๊ป มันมีบางอย่างพุ่งขึ้นมาแถวหน้าแล้วผมก็รู้สึกว่ามันอยากจะสู้ พอมันหายไปผมไม่รู้สึกโกรธหรือคิดเรื่องนี้เลย มันเกิดขึ้นแวบเดียว แล้วผมก็เดินต่อไปรู้สึกว่าหน้าจะยิ้มด้วย
อย่างนี้ผมเห็นความโกรธใช่ไหมครับ แล้วที่ไม่โกรธนี้ผมเห็นใช่ไหมครับ
ผมฝึกตามที่คุณนมสิการสอนนั้นรู้สึกดี เข้าใจการปฎิบัติตามแนวหลวงพ่อเทียนมากขึ้น ผมชอบนั่งหายใจแล้วหลับตา หลังๆมันติดแข็งๆง่วง พอขยับก่อนสัก15-20นาทีแล้วค่อยนั่งมันรู้สีกตัวดีครับ ขอบคุณมากครับ


โดย: ทำไม่เป็น IP: 58.9.45.8 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2553 เวลา:20:31:13 น.  

 
อย่างนี้ผมเห็นความโกรธใช่ไหมครับ.....
ใช่ครับ

แล้วที่ไม่โกรธนี้ผมเห็นใช่ไหมครับ....
คุณเห็นอาการจิตปรุงแต่่งมันหยุดลงไปเป็นไตรลักษณ์ครับ

ถ้าเห็นได้บ่อย ๆ นี่แสดงว่า จิตมีกำลังครับ
แต่ขอให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งเป็นไตรลักษณ์ กำลังจิตก็เป็นไตรลักษณ์เช่นกัน
บางครั้ง คุณจะเห็นแบบนั้น แต่บางครั้ง คุณอาจจะแพ้มันได้
ไม่ใช่ว่า คุณจะชนะมันทุกครั้งไป ดังนั้น การหมั่นฝึกฝนให้ชำนาญจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องฝึกบ่อย ๆ ฝึกเสมอ ๆ แล้วการชนะจะมีมากกว่าแพ้
เมื่อชนะมาก ๆ เข้า จิตจะมีกำลังมากขึ้น และจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในเอง ทำให้ยิ่งเพิ่มกำลังมากขึ้นไปอีกครับ
อนุโมทนาครับ

หลวงพ่อเทียน - เคลื่อน - หยุด - เคลื่อน - หยุด นี่คือ เคร็ดวิชา ไม่ใช่เคลื่อนตลอดโดยไม่หยุด


โดย: นมสิการ วันที่: 6 พฤศจิกายน 2553 เวลา:0:35:30 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:15:30:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.