รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
ทำความเข้าใจกับผลการปฏิบัติ

บทความนี้ ผมเขียนเฉพาะสำหรับคนที่ปฏิบัติตามแนวทางที่ผมได้เขียนไว้ใน blog นี้เท่านั้น ส่วนท่านที่ปฏิบัติตามแนวทางอื่น ผมไม่กล้ารับรองว่าจะเป็นอย่างนี้หรือไม่
สำหรับนักปริยัติ ผมแนะนำให้ท่านหลีกเลี่ยงการอ่าน เพราะอาจทำให้ท่านหงุดหงิดได้ครับ

*************************
ผมได้เสนอแนวทางการปฏิบัติด้วยการฝึกฝนเพื่อการรู้กาย และ การวางจิตในการฝึกฝนด้วยกฏ 3 ข้อไปแล้ว และได้มีกิจกรรม 2 ครั้งเพื่อธิบายวิธีการฝึกฝนตามแนวทางนี้ไปแล้วเมือ่ปลายปีที่แล้ว ถ้าท่านลืมไปแล้ว ผมแนะนำให้ทบทวนใหม่ครับ

ผมจะเขียนในแนว FAQ เพื่อจะได้ดูง่ายเป็นข้อ ๆ ไป

1..การฝึกฝนเพื่อการรู้กาย ด้วยการวางจิตด้วยกฏ 3 ข้อ ฝึกแบบนี้เพื่ออะไร

ตอบ...การฝึกฝนเพื่อการรู้กาย นั้นถ้าจะว่าไปแล้ว มันก็คือ อริยสัจจ์ 4 ข้อที่ 1 นั้นเอง ซึ่งก็คือการรู้ทุกข์ เมื่อท่านฝึกรู้กาย รู้อาการของกาย ตามที่ผมได้อธิบายไว้ในวันกิจกรรม ก็เป็นการรู้ทุกข์

เมื่อท่านฝึกรู้ทุกข์ (หรือ รู้กาย) ด้วยกฎ 3 ข้อ คือ รู้สึกตัว เฉยๆ สบายๆ อย่าเครียด อย่าอยากรู้อะไร แต่ให้จิตเขารู้เอง นี่เป็นการเข้าอริยสัจจ์ 4 ข้อที่ 2 ซึ่งก็คือ อย่าให้มี.ตัณหา.ในการจับยึดในสิ่งที่ถูกรู้

ท่านจะเห็นได้เอง.ทันที.เลยว่า เมื่อท่านฝึกอย่างนี้ ตาท่านก็มองเห็นภาพเป็นมุมกว้าง ๆ แบบ panorama ได้ หูท่านก็ได้ยินได้อยู่ ถ้ามีลมพัดมาโดนกายก็รู้สึกได้ เดินไปก็รู้อาการสั่น ๆ ไหว ๆ ได้ ถ้าเกิดเจ็บที่ไหนของร่างกายก็รู้สึกถึงได้

อาการรู้หลาย ๆ อย่างแบบนี้ที่รู้เองทั้งสิ้น นี่แสดงว่า ท่านกำลังเดินอยู่ในอริยสัจจ์ข้อที่ 1 และ 2 แล้วครับ และ ก็เข้าสู่อริยสัจจ์ข้อที่ 4 ในเรื่องของสัมมาสติ

ในการฝึกฝนแบบนี้ ผมเพียงเอาวิชาของบรมครู องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแปลเป็น working instruction ในรูปแบบหนึ่งมาบอกท่านให้ท่านเข้าใจได้ในภาษาชาวบ้านแบบโลกปัจจุบัน

ทีนี้มาถึงคำถามที่ว่า ฝึกแบบนี้ เพื่ออะไร ก็ตรง ๆ ครับ เพื่อการมี.สัมมาสติ.ก่อนแล้วสัมมาสติเมื่อฝึกมากขึ้น ก็จะพัฒนาไปเป็น.สัมมาสมาธิ.ที่มีจิตตั้งมั่นได้ต่อไป

***สำหรับสัมมาสมาธิที่เป็นอาการของจิตตั้งมั่นนั้น ถ้าพูดง่าย ๆ เป็นภาษาชาวบ้านก็คือ รู้(ทุกข์)ที่ไม่มีการยึดติดของตัณหา ดังนั้น การฝึกแบบนี้จึงเป็นการฝึกแบบตรง ๆ แบบกำปั้นทุบดิน คือ ต้องการฝึกฝนให้ รู้(ทุกข์)แต่ไร้การยึดติด ****

2..เมื่อฝึกไปแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าฝึกถูกต้องแล้ว

ตอบ.. ผมได้เขียนไว้ในข้อ 1 แล้ว การฝึกตามแนวทางนี้ ท่านสมควรรู้กายด้วยกฏ 3 ข้อ และอาการที่ปรากฏในขณะฝึก ผมก็ได้เขียนไว้แล้วในข้อ 1 อีกเช่นกัน เมื่อท่านเดินตามแล้ว ท่านได้ผลอย่างที่ผมเขียนได้ไหม รู้หลาย ๆ อย่างแบบสบาย ๆ โดยไม่ต้องอยากรู้ ซึ่งก็คือ รู้แต่ไม่ยึดติดในรู้ นั่นคือถูกต้องแล้ว

3..ทำไมให้ฝึกรู้กายด้วยกฏ 3 ข้อ รู้จิตได้ไหม

ตอบ..ถ้าท่านสามารถรู้จิตได้ด้วย ก็ได้ครับ แต่การรู้จิตได้นั้น จะต้องเป็นคนที่ผ่านการฝึกมามากพอสมควรแล้ว จึงสามารถรู้จิตได้ด้วย

แต่สำหรับคนใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้ามาฝึกนั้น ไม่สามารถจะรู้จิตได้ครับ ผมจึงบอกว่าให้รู้กายด้วยกฏ 3 ข้อ ซึ่งการฝึกแบบรู้กายนี้ เมื่อฝึกไปมาก ๆ เข้า ก็จะสามารถรู้จิตได้ด้วย เมื่อฝึกจนรู้จิตได้แล้ว ทีนี้ ก็จะรู้ทั้งกายและทั้งจิตพร้อมกันไปเลยทีเดียว

สำหรับคนใหม่ๆ นั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เห็นจิต เลยพยายามจะไปเพ่งหาจิต ถ้าทำอย่างนี้ ก็ผิดกฏ 3 ข้อที่ผมบอกไว้ เพราะเป็นการไปเพ่งหา คือ ต้องการหา ต้องการรู้ แต่กฏ 3 ข้อที่ผมบอกไว้ อย่าไปเพ่งหา อย่าไปต้องการรู้อะไร แต่ให้จิตเขารู้ได้เอง ดังนั้น ถ้าไม่เห็นจิตตอนนี้ ก็ไม่เป็นไรครับ แต่อย่าไปพยายามเพ่งหาเด็ดขาดครับ

4..ฝึกไปแล้วไม่เห็นก้าวหน้าเลย ยังมีโกรธอยู่เสมอ ๆ ยังเผลอบ่อย มาก ๆ บางคนมาบอกว่า ฝึกอย่างของเขาซิ ฝึกไม่นานเลย ก็ไม่มีโกรธเกิดชึ้นเลย ยอดเยี่ยมจริง ๆ ทำไมเขาจึงฝึกได้ผลออกมาดีกว่า เร็วกว่า

ตอบ..ถ้าท่านฝึกตามที่ผมเขียนไว้ในข้อ 1 อยู่เสมอ ๆ ท่านย่อมมีผลแห่งการฝึกแน่นอน
ซึ่งท่านอาจยังไม่ทราบว่า การวัดผลการฝึกนั้นดูกันตรงไหน ถ้าท่านบอกว่า ยังมีโกรธอยู่ มีเผลอบ่อย มาก ๆ แต่เพื่อนท่านมาชวนให้ฝึกแบบของเขา ซึ่งได้ผลดีกว่า ผมจะชี้ให้ท่านเห็นว่ามันมีกองฝุ่นซ่อนไว้ใต้พรม โดยทีห้องไม่ได้สอาดอย่างแท้จริง

เรื่องนี้ผมจะอธิบายให้ท่านเห็นภาพของความก้าวหน้าในการฝึกฝนว่าวัดผลกันอย่างไร

ในความเห็นของผม การวัดผลการฝึกฝนนั้นจะมีอยู่ 2 ระดับใหญ่ครับ

ระดับที่หนึ่ง .. หยุดได้เร็วแค่ไหน ตัดได้เร็วแค่ไหน
ระดับที่สอง .. ควบคุมความคิดได้หรือไม่

ซึ่งการวัดผลทั้ง 2 ระดับ ต่างส่งผลให้การลดลงแห่งทุกข์ทั้งสิ้น ผมไม่ได้เสนออะไรที่ผิดไปจากคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ผมกำลังบอกวิธีการวัดผลที่เป็นรูปธรรมตามหลักการสมัยใหม่ในยุคปัจจุบันที่สามารถวัดผลได้ง่ายและเข้าใจได้ ถ้าผมบอกวิธีการตามที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก ก็ย่อมได้ว่า ทุกข์ลดลงแล้วนะ ละสักกายทิฐิได้แล้วนะ ซึ่งท่านจะไม่เข้าใจเลยว่า วัดอย่างไรกัน

5..วัดผลระดับที่หนึ่ง ..หยุดได้เร็วแค่ไหน ตัดได้เร็วแค่ไหน คืออย่างไร

ตอบ.. ท่านเคยอกหักในความรักไหม ผมเชื่อว่า คนที่อ่าน blog ผมนี่เกือบทั้งหมดต้องเคยอกหักในความรัก ท่านลองย้อนไปดูสมัยที่กำลังอกหักซิครับว่า ท่านเป็นทุกข์ขนาดไหน ท่านคิดถึงแต่เรื่องอกหักอยู่ตลอดเวลาใช่ไหม คิดเป็นวัน ๆ อาทิตย์ ๆ เดือน ๆ บางคนร้องไห้เป็นวัน ๆ ก็ไม่ยอมหยุด อาการเหล่านี้คือ จิตหยุดคิดไม่ได้ จิตตัดใจไม่ได้ครับ

อาการของคนที่ไม่ได้ฝึกฝน หรือ ฝึกมาผิดแนวทาง จะเป็นแบบตัวอย่างเรื่องคนอกหักนี้ครับ
พอผิดหวังขึ้นมา หรือ โกรธอะไรขึ้นมา ก็จะ.ติดแหง๊ก.คิดวนเวียนจมอยู่กับเรื่องเหล่านั้นอยู่นาน ๆ หลาย ๆ นาที หลาย ๆ ชั่วโมง หรือกระทั่งหลาย ๆ วัน ที่เป็นอย่างนี้ เพราะว่า จิตใจนั้นอำนาจ.ตัณหา.ยังยิ่งใหญ่อยู่

ในธรรมชาติของจิตใจ กำลังของสัมมาสติ จะเป็นตัวลดล้างอำนาจของ .ตัณหา. ซึ่งหมายความว่า ถ้าเมื่อใด จิตใจมีกำลังสัมมาสติอยู่ อำนาจของตัณหาก็จะอ่อนแอ
ถ้าเมื่อใด จิตใจไร้กำลังสัมมาสติ อำนาจของตัณหาก็จะเข็มแข็ง

เมื่อท่านเข้ามาฝึกฝน เมื่อเริ่มแรก กำลังสัมมาสติของท่านจะอ่อนแอ (ซึ่งหมายความว่า อำนาจของตัณหาจะเข็มแข็ง ) เมื่อสัมมาสติอ่อนแอแต่อำนาจของตัณหามีพลังมากกว่า เมื่อเกิดทุกข์ขึ้น เช่นอาการพอใจ หรือ ไม่พอใจ อำนาจของตัณหาจะส่งผลให้เกิดการยึดติดในทุกข์ที่เกิดนั้น ทำให้คนที่มีกำลังสัมมาสติอ่อนแอจึงเป็นทุกข์อยู่นานหลายนาที หลายชั่วโมง หรือ หลายวัน เพราะอำนาจการยึดติดของตัณหา

ผมจะยกตัวอย่างให้ท่านเห็นภาพ
สมมุติว่า ท่านถูกหัวหน้างานดุด่าว่ากล่าวโทษโดยท่านเห็นว่ามันไม่ใช่ความผิดของท่าน ท่านถูกใส่ความโยนความผิดมาให้ ท่านย่อมไม่พอใจในสิ่งที่ท่านได้รับจากหัวหน้างาน ถ้าท่านไม่มีกำลังสัมมาสติ หัวหน้าท่านหยุดด่าท่านไปนานแล้ว ท่านยังคงนำมาคิดติดใจอยู่อีกหลาย ๆ วัน ผมสมมุติว่า 3 วันก็แล้วกัน (เพื่อจะได้เห็นภาพ)

ทีนี้ พอท่านลงมือฝึกฝนดังข้อ 1 ที่ผมเขียนไว้ข้างต้น กำลังสัมมาสติของท่านจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทีละน้อย อย่างช้า ๆ ยิ่งฝึก ก็ยิ่งเพิ่มทีละน้อย ทีนี้ พอท่านถูดดุด่าแบบเดิมอีก ท่านย่อมต้องมีอาการไม่พอใจเช่นเดิม แต่ท่านจะหยุดคิด ตัดอาการทางจิตใจได้เร็วขึ้น ทีนี้อาจลดเวลาลง จากที่เคยหงุดหงิดอยู่ 3 วัน จะลดลงไปเหลือ 2 วัน หรือ 1 วัน

ทีนี้ พอท่านฝึกต่อไปอีก กำลังสัมมาสติมีมากขึ้นอีก พอเกิดเหตุอีก ท่านก็จะหงุดหงิดน้อยลงไปอีก ทีนี้เหลือ 4 ชั่วโมง

อาการลดลงของเวลาการยึดติดทีทำให้หงุดหงิดนี้จะเป็นแบบตัวอย่างข้างต้น เมื่อกำลังสัมมาสติยิ่งตั้งมั่น จิตใจก็จะหยุดการหงุดหงิดได้เร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ จาก 4 ชั่วโมง ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ เหลือ 3 ชม. หรือ 2 ชม. เหลือ 1 ชม. เหลือ 30 นาที เหลือ 5 นาที เหลือ 1 นาที เหลือ 30 วินาที เหลือ 5 วินาที ถ้าท่านฝึกได้ดีมาก ๆ กำลังสัมมาสติมีมาก การเกิดเหตุของท่านจะลดลงเหลือเป็นเสี้ยววินาที กล่าวคือ พอเกิดเหตุขึ้น ท่านจะรู้สึกทันทีว่าเกิดเหตุแล้ว และ มันก็จะหยุดหรือตัดตัวลงทันทีอย่างรวดเร็วอย่างอัตโนมัติ

ท่านคงมองภาพออกนะครับว่า การหยุดเร็ว ตัดเร็ว หมายความว่าอย่างไร

ผลแห่งการหยุดเร็ว ตัวเร็วแบบนี้ นอกจากจะทำให้ทุกข์ของท่านลดลงเพราะทุกข์จากไปเร็วแล้ว ท่านยังเกิดปัญญาเห็นความจริงของจิตปรุงแต่งว่าเป็นไตรลักษณ์ได้อีกด้วย

ผมขอเน้นย้ำให้ท่านเข้าใจว่า มันจะต้องเป็นแบบนี้ทุกคนในระดับที่ 1 นี้ คือ เกิดเหตุ ต้องมีผลการเกิดเพราะเหตุนั้น แล้วก็เกิดการตัดขึ้น ซึ่งเวลาการตัดนั้น ก็แล้วแต่ว่า กำลังสัมมาสติของท่านนั้นฝึกมาดีแค่ไหน

ทีนี้ ในการปฏิบัติจริง ๆ นั้น เมื่อท่านฝึกฝนการรู้กาย ด้วยกฏ 3 ข้ออยู่เสมอ ๆ ท่านจะเพิ่มความสามารถในการหยุด ในการตัดให้กับท่านอย่างแน่นอน แต่ผมจะบอกท่านว่า เมื่อกำลังสัมมาสติของท่านยังอ่อนปวกเปียกอยู่ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว ท่านรู้แล้วว่าทุกข์เกิด แต่ทุกข์ไม่ยอมตัดออกไปจากการยึดติดของตัณหา ท่านอย่าได้ปล่อยให้ทุกข์เกิดในใจของท่านนาน ๆ ท่านต้องหาทางทำอะไรก็ได้เพื่อให้ทุกข์นั้นหยุดโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ทุกข์ติดค้างเป็นวัน ๆ อย่างนี้ท่านจะแย่ครับ สุุขภาพกาย สุขภาพจิตจะเสื่อมโทรม ท่านควรเข้าใจวิธีการหนีตั้งหลักด้วย เมื่อกำลังสัมมาสติยังอ่อนแอ

แต่ถ้ากำลังสัมมาสติท่านแข็งแรงแล้ว ท่านไม่ต้องทำการหนีตั้งหลักเลย เพราะว่า ท่านจะสามารถตัดได้เร็ว หยุดได้เร็วแล้ว ซึ่งเมื่อสัมมาสติแข็งแรง ทุกอย่างจะเกิดอย่างอัตโนมัติ ในการหยุด ในการตัด

ข้อดีของการปฏิบัติแนวทางนี้ก็คือ

5.1 กำลังสติจะมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แต่ท่านต้องรับผลแห่งทุกข์บ้างในระยะแรก ๆ ที่กำลังสัมมาสติยังอ่อนแออยู่

5.2 การเกิดอาการทางจิต จะทำให้นักภาวนารู้จักความเป็นไตรลักษณ์ของอาการทางจิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5

5.3 เมื่อนักภาวนามีกำลังสัมมาสติเพิ่มขึ้น การหยุดการตัดได้เร็วขึ้น เขาจะเห็นการหยุดลงแห่งอาการทางจิตได้ เมื่อเขาเห็นการหยุดตัวลงของอาการทางจิตได้บ่อย ๆ จะส่งผลให้เกิดญาณต่อไป อันจะทำให้เขาเห็นตัวจิตได้ต่อไปในอนาคต

หมายเหตุ อาการทางจิต เช่น อาการพอใจ ไม่พอใจทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวจิต แต่เป็นเพียงอาการทางจิต ซึ่งบางอาจารย์จะเรียกว่า เงาของจิต การเห็นเพียงอาการทางจิต จึงไม่ใช่การเห็นตัวจิต
เรื่องนี้นักภาวนาจะรู้ได้เอง เมื่อนักภาวนาเห็นได้ทั้งอาการของจิตและตัวจิต เมื่อจิตมีกำลังพอสมควรในระดับหนึ่งแล้ว

6..ฝุ่นใต้พรม เป็นอย่างไร

ตอบ...เรื่องฝุ่นใต้พรมนี้ คนส่วนมากมักเช้าใจไม่ตรงในการปฏิบัติ ก็เลยปฏิบัติแบบฝุ่นใต้พรมกันเป็นอันมาก และหลงเข้าใจว่า ปฏิบัติแล้วดี เดินถูกทางแล้ว ซึ่งไม่ใช่อย่างทีเข้าใจกัน เพราะนี่คือฝุ่นใต้พรม ....

ทีนี้มาถึงเรื่องคนที่มาบอกว่า ฝีกแบบเขาซิ ไม่มีโกรธเลย ฝึกไม่นานเลย ดีจริง ๆ
คนที่เขาบอกแบบนี้ เขากำลังกวาดฝุ่นเข้าใต้พรมในบ้าน แล้วบอกว่า บ้านไม่มีฝุ่นแล้ว
วิธีการกวาดฝุ่นเข้าใต้พรมในบ้าน ก็คือ
การไปใช้จิตทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อการกดข่มจิตใจให้นิ่ง ๆ

ที่นิยมกันมาก ๆ ก็จะมี
นับเลข 1..2..3.. บ้าง
บริกรรมด้วยคำอะไรก็แล้วแต่
ไปยึดลมหายใจบ้าง
ไปเพ่งความว่าง เพ่งกสิณต่าง ๆ
ไปเพ่งท้อง เพ่งเท้า เพ่งมือ
และอื่นๆ อีก

เมื่อจิตถูกใช้งาน จิตจะถูกกดข่มไว้จนนิ่งไว้ก่อน เมื่ออยู่ในเหตุการณ์เดิม เช่น โดนหัวหน้าดุด่าว่า จิตเขาจะนิ่งเพราะถูกกดข่มไว้ ผลที่ตามมาก็คือ เขาจะไม่โกรธครับ เลยคิดว่า ดีมากเลยที่ไม่โกรธ ถึงแม้โดนด่าอย่าางนี้

แต่การกระทำอย่างนี้ มีผล 2 อย่างตามมาคือ

6.1 การกดข่มไว้ให้นิ่ง จิตจะไม่เกิดการปรุงแต่งขึ้น เขาจะไม่รู้จักไตรลักษณ์ที่แท้จริงของอาการของจิต เขาจะไม่มีภาวนามยปัญญา แต่มีความสงบจากการกดข่มจิตไว้

6.2 การกดข่มเป็นการกระทำที่จงใจสร้างขึ้น ดังนั้นมันจึงไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ยามใดก็ตามที่เขาเผลอตัว เขาจะกดข่มไม่สำเร็จ ถ้ากดข่มไม่สำเร็จ เวลานั้น เขาจะเกิดระเบิดที่รุนแรงขึ้นในจิตใจและเป็นการระเบิดที่แรงกว่าคนธรรมดาที่ไม่ได้กดข่มจิตใจเสียอีก
ทั้งนี้เพระเป็นธรรมชาติของจิต ที่เคยได้รับแต่ความสงบสุขจนเคยตัว พอมาพบกับอาการที่ไม่เป็นสุข ก็จะเกิดอาการน๊อตหลุดได้ง่ายมาก เหมือนคนที่รับประทานอาหารแต่รสเลิศเป็นประจำ พอมารับประทานอาหารรสด้อยลงกว่าเดิม เขาก็จะว่า อาหารไม่อร่อยทันที และเกิดไม่พอใจในรสอาหารนั้น

นักภาวนาทีซื่อสัตย์ต่อตนเอง เขาจะรู้ตัวตอนน๊อตหลุดนั้นได้เองว่า เขาได้ปฏิบัติผิดพลาดไปแล้ว
แต่ถ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง เขาก็จะไม่ยอมรับอาการที่กดข่มที่ไม่สำเร็จ

เรื่องอย่างนี้ ปิดไม่มิดหรอกครับ ถึงแม้หลอกตัวเอง ก็หลอกไม่ได้นาน เพียงแต่ว่าปากยังแข็งอยู่เท่านั้น จึงไม่ยอมรับออกมา

7..ชี้ให้ชัดถึงความต่างระหว่างข้อ 5 และ ข้อ 6 ว่าต่างกันอย่างไร

ตอบ..ขอให้ท่านอ่านข้อนี้ให้ดี ๆ เพื่อจะได้เข้าใจให้ตรงทาง

ข้อ 5 นั้นคือสิ่งที่ผมแนะนำ คือ ท่านต้องฝึกฝนบ่อย ๆ ด้วยการรู้กายและกฏ 3 ข้อ
พอท่านเกิดอาการจิตไหวขึ้นมาเพราะมีแรงกระทบกระแทก ท่านอย่าไปกดมันครับ ท่านต้องให้จิตเกิดการไหวขึ้นก่อน พอจิตไหวแล้วแต่ไม่ยอมหยุด ทีนี้ท่านสมควรหยุดจิตนั้นโดยเร็วทีสุด จะหยุดอย่างไรก็ได้ จะกดข่มจิตอย่างที่ผมเขียนไว้ในข้อ 6 ก็ได้

ข้อ 6 นั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่แนะนำคือ การไปกดข่มจิตให้นิ่งก่อนเพื่อไม่ให้จิตมีการไหวตัวเลย

ข้อดี ข้อเสีย ผมมีเขียนไว้แล้วข้างต้น กลับไปอ่านอีกครั้งได้ครับ

8..การวัดผลในระดับที่สอง...ควบคุมความคิดได้หรือไม่

ตอบ..นักภาวนาที่ผ่านระดับที่ 1 ในข้อ 5 มาแล้วอย่างโชกโชน (เน้นย้ำว่า อย่างโชกโชน )
จึงจะสามารถเข้าสู่ในระดับนี้ได้

นักภาวนาทีมีกำลังสัมมาสติ และ สัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น จะเกิด.ญาณปัญญา.เห็นตัวจิตได้และเห็นอาการของจิตได้ (เช่นความคิดต่าง ๆ )

นักภาวนาจะ.เห็น.ได้เลยว่า จิตมีอาการอย่างไรอยู่ มีความคิดเกิดอยู่หรือไม่ และ นักภาวนาสามารถจะควบคุมความคิดให้หยุดคิด หรือ ให้คิดต่อได้หรือไม่

ถ้านักภาวนายังควบคุมจิตไม่ให้หยุดคิดได้ (คือ จิตยังคิดอยู่เมื่อมีการสัมผัสต่าง ๆ เข้ามาทางระบบประสาท ) เขายังต้องฝึกฝนต่อไปด้วยกฏ 3 ข้อแต่ตอนนี้ เขาจะเห็นทั้งกายและเห็นทั้งจิต ซึ่งไม่เหมือนคนใหม่ที่เห็นจิตไม่ได้ เขาต้องฝึกต่อไปจนสามารถควบคุมจิตได้

เมื่อจิตถูกควบคุมสำเร็จ เขาจะไม่มีความคิดเกิดเมื่อไม่ต้องการจะคิดเลย เขาจะเห็นเฉย ๆ ได้ยินเฉยๆ ดังเช่นพระพุทธเจ้าสอนท่านพาหิยะว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน (ท่านสามารถหาอ่านได้ในอินเตอร์เนท เรื่องท่านพาหิยะ)

การควบคุมความคิดได้แล้ว นักภาวนาจะพบกับสภาวะของสุญญาตา อันเป็นธรรมชาติแท้ ที่เป็นธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา

เนื่องจากเป็นสภาวะแห่งสุญญาตา นักภาวนาจะเห็นได้ว่า จิตนั้นเป็นความว่าง มันจะนิ่งเฉย ๆ แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่การกดข่มดังเช่นข้อ 6 เรื่องฝุ่นใต้พรม แต่สุญญตานี่มันไม่มีฝุ่นครับ

สภาวะสุญญาตานั้น นิ่งเพราะนักภาวนาเห็นเป็นสภาวะทีว่างเปล่าของจิต
ฝุ่นใต้พรม นิ่งเพราะกดข่มให้นิ่ง แต่นักภาวนาไม่เห็นจิตที่ว่างเปล่า
ซึ่งไม่เหมือนกันเลย

9..ผมได้เสนอแนวทางการวัดผลสำหรับคนรุ่นปัจจุบันให้ท่านพิจารณา แต่ถ้าท่านภาวนาได้ถึงในข้อ 8 ท่านจะสามารถอ่านพระไตรปิกฏได้เข้าใจ และจะใช้การวัดผลแบบพระไตรปิฏกได้

ในการภาวนานั้น ผลการเกิดขึ้นของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ จะต้องเกิดขึ้นเองจากการฝึกฝนที่ถูกต้อง เมื่อเกิดแล้ว นักภาวนาจึงจะเกิดปัญญารู้แจ้ง อันเป็นภาวนามยปัญญาอย่างแท้จริง และเข้าใจในธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้

****
เรื่องท้ายบท

ในพระไตรปิฏกได้มีการกล่าวถึง พระใบลานเปล่าที่เป็นถึงพระเถระ พระใบลานเปล่ารู้ธรรมเป็นอันมากจากสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ที่พระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกได้แสดงเอาไว้ในยุคนั้น แต่ท่านไม่อาจเข้าใจธรรมได้จริงเพราะไม่มีภาวนามยปัญญา นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ลำพังเพียงอ่านธรรมและรู้จากการอ่านธรรมในพระไตรปิฏกยังไมอาจหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้จริง ต้องลงมือฝึกฝนอย่างถูกทางตามคำสอนในอริยสัจจ์ 4 จึงจะถึงทางแห่งการสิ้นทุกข์ได้

ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเจริญสมาธิเถิด เพราะเมื่อจิตตั้งมั่น เธอจักเห็นธรรมได้ตามความเป็นจริง


Create Date : 06 มีนาคม 2554
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:06:51 น. 14 comments
Counter : 1495 Pageviews.

 
ขออนุโมทนาค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ปูจะค่อย ๆ พิจารณาดูนะคะ


โดย: benyapa IP: 75.141.112.10 วันที่: 6 มีนาคม 2554 เวลา:22:36:03 น.  

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 6 มีนาคม 2554 เวลา:22:59:58 น.  

 
ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ


โดย: ยิ่งเอก IP: 125.24.72.55 วันที่: 7 มีนาคม 2554 เวลา:9:01:09 น.  

 
อธิบายได้ดีมากครับ

โดยเฉพาะ ข้อ 6.2
ที่จะรุนแรงหลุดมากกว่าคนปกติซะอีก

ธรรมะ ปัจจุบันถูกเติมแต่งด้วยความ
เชื่อและประเพณีจนกลายเป็น
ความยุ่งยากไปซะมาก

ที่จริง ธรรมดาจนเกินกว่า
บุคคลธรรมดา จะเข้าถึง ไปซะงั้น
เพราะบุคคลธรรมดาจะถูกสิ่งต่างๆ
เกลาไปไกล จนเกินจะเข้าถึง


โดย: billy IP: 119.46.176.222 วันที่: 7 มีนาคม 2554 เวลา:9:52:21 น.  

 
ขออนุโมทนาครับ อาจารย์

อาการโกรธนี่ ดับลงได้เป็นเสี้ยววินาทีจริงครับ
ขออนุญาตคัดลอกบทความนี้ไว้เพื่ออ้างอิง และเป็นแผนที่สำหรับเดินทางไกลนะครับ

ขอให้อาจารย์รักษาสุขภาพด้วยครับ
-@^_^@-


โดย: Littleyogi IP: 223.206.195.84 วันที่: 7 มีนาคม 2554 เวลา:9:57:43 น.  

 
โมทนาสาธุค่ะ


โดย: chaosy วันที่: 8 มีนาคม 2554 เวลา:22:55:57 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

หวัดดีค่ะ ขออนุญาติแบ่งปันลิงค์ไปยัง เฟชบุ๊ค ด้วยนะคะ ถ้าคุณเล่นเฟชบุ๊ค อย่าลืม แอด "ธรรมะ สบายใจ" เป็นเพื่อนด้วยนะคะ จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันค่ะ ขอบคุณค่ะ


โดย: แม่ออมบุญ วันที่: 9 มีนาคม 2554 เวลา:16:57:09 น.  

 
อธิบายได้ดีครับ...พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพานไปแล้ว...เพราะฉะนั้นอย่าไปเหมารวมเอาว่าอย่างนั้นไม่มีอย่างโน้นไม่มีในพระไตรปิฎก การจะรู้แจ้งเห็นธรรมไม่ได้อยู่ที่การจำได้หมายรู้หรือพูดได้ หากแต่อยู่ที่การปฏิบัติได้...ซึ่งเป็นของเฉพาะตนเท่านั้น


โดย: ชัชชัย IP: 172.17.70.2, 202.94.77.110 วันที่: 9 มีนาคม 2554 เวลา:17:08:11 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณนมสิการ ดิฉันเคยไปร่วมฟังการบรรยายเรื่องการฝึกสติ เมื่อครั้งที่1 การฝึกที่ดิฉันฝึกดูกาย ดูธรรมชาติการเคลื่อนตัว เปลี่ยนแปลง จนสามารถตัดความคิดปรุงแต่งได้เร็ว จนเกิดภาวะจิตว่าง เห็นแต่กายที่มีการขยับ แต่พอจิตคิดมันจะเหมือนมีคนอีกคนในตัวเราคอยรำพึงว่าจิตคิดนี้เป็นกุศล หรืออกุศล เป็นเรื่องอตีด อนาคต มันมาเมื่อไหร่ เพราะอะไร บ้างก็ว่าเกิดจากขันธ์5 ที่จิตยังคำนึงอยู่
อาการที่ว่าดิฉันหลงไปหรือเปล่า


โดย: cakecode วันที่: 9 มีนาคม 2554 เวลา:18:09:54 น.  

 
ไม่หลงครับ เป็นเพราะว่า จิตมันยังคิดอยู่นะครับ ขอให้หมั่นฝึกฝนเพื่อการรู้กายไปเรื่อย ๆ ครับ

ผมคิดว่า จิตรู้ของคุณยังเป็นดวงอยู่ การที่จิตรู้เป็นดวงอยู่นี้ จิตมันยังปรุงแต่งอยู่ครับ ขอให้หมั่นฝึกต่อไปเรื่อย ๆ สักวัน เมื่อกำลังจิตตั้งมั่่นพอ จะเกิดปรากฏการณ์เกิดขึ้นเองสำหรับตัวคุณ ที่จิตรู้จะแตกออกดังลูกโปร่งแตกครับ

อย่าท้อนะครับ ผมอ่านที่คุณถามมา ผมจำได้ คุณเดินได้ค่อนข้างดี มีความก้าวหน้าพอสมควร การฝึกพื้นฐานที่รู้กายด้วยการไร้ตัณหาจะนำพาไปสู่ปลายทางได้ครับ

ไม่ต้องคิดอะไรเลย ฝึกอย่างเดียว เดียวจิตมีกำลังมากขึ้น จิตเขาจะรู้จะเห็นได้มากขึ้นเองครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 9 มีนาคม 2554 เวลา:18:31:15 น.  

 
อนุโมทนาสาธุ..ครับ


โดย: ลุง 'บุรีราช' IP: 125.27.174.168 วันที่: 10 มีนาคม 2554 เวลา:19:17:36 น.  

 
สาูธุ..ครับ


โดย: สูญญ IP: 223.206.58.194 วันที่: 11 มีนาคม 2554 เวลา:8:50:35 น.  

 
อนุโมทนาสาธุคะอ.นมสิการ
เป็นคำแนะนำเข้าใจง่าย ทำให้เห็นระดับการฝึกสติของตนเองได้ชัดเจน มากๆคะ


โดย: Nim IP: 58.11.194.13 วันที่: 11 มีนาคม 2554 เวลา:20:16:15 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:15:20:11 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.