รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
27 กุมภาพันธ์ 2554
 
All Blogs
 

อวิชชาคือโมหะ ใช่หรือไม่

ถ้าท่านถามผมว่า อวิชชาคือโมหะ ใช่หรือไม่
คำตอบจากผม คือ ไม่ใช่ครับ

แต่ท่านอาจได้ยินได้อ่านจากที่อื่น จากครูบาอาจารย์อื่น ที่กล่าวว่า อวิชชาคือโมหะ
ซึ่งผมจะไม่ขอไปยุ่งเกี่ยวด้วย ท่านอื่นจะว่าอย่างไร เป็นเรื่องของเขา

ที่ผมว่า อวิชชาไม่ใช่โมหะ เพราะมันเป็นคนละตัวกัน และ หน้าที่ของมันก็ต่างกันครับ

***
ผมจะกล่าวถึง.โมหะ.ก่อน

ถ้าท่านลงมือฝึกฝนการเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิได้ดีพอระดับหนึ่ง ท่านจะเห็นได้ว่า
โมหะคือความดำมืดที่เข้าครอบงำจิต ผลก็คือ ท่านจะกลายเป็นคนที่สูญเสียความรู้สึกตัวไป

ดังนั้น การทำลายโมหะ ก็เพียงแต่ขอให้ท่านมีความรู้สึกตัวอยู่เท่านั้น โมหะก็เข้ามาไม่ได้
เขียนอย่างนี้เหมือนง่ายจังนะครับ แต่ในการปฏิบัติจริงไม่ง่ายเลย ที่ใครสักคนจะให้มีความรู้สึกตัวอยู่ได้เสมอๆ ได้บ่อย ๆ ได้ตลอดเวลา

ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจ โมหะ จะเหมือนกับอาการที่ท่านอยู่ในที่มืด ท่านมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะมันไม่มีแสงสว่างให้ท่านมองเห็นอะไรได้

ในชีวิตจริง อาการโมหะนี้จะเกิดได้จาก 2 ลักษณะคือ

1.. เกิดจากจิตถูกตัณหาดึงให้ไหลไปยึดกับอายตนะใด อายตนะหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ชายหนุ่มเห็นสาวสวยหุ่นดี หน้าตาดี จิตถูกตัณหาดึงให้ไหลออกผ่านทางประสาทตาไปยึดติดกับภาพของสาวสวยหุ่้นดีนั้น ทำให้เกิดการสูญเสียความรู้สึกตัวไป

2.. เกิดจากการหลงคิด จิตไหลเข้าไปเกาะยึดกับความคิด

*****

ทีนี้ท่านอาจจะมีคำถามในใจต่อไปอีกว่า ถ้าอย่างนั้น ถ้าไม่มีโมหะ มีความรู้สึกตัวอยู่ แค่นี้ก็ไม่มีกิเลสแล้วใช่หรือไม่

ผมก็ขอตอบว่า ไม่ใช่ครับ

ผมจะยกตัวอย่างให้เห็น ในคนที่อกหัก เขาเป็นทุกข์มาก เขาก็รู้ว่าเขาเป็นทุกข์มาก แต่เขาไม่สามารถสลัดหลุดออกจากอาการอกหักได้ การที่เขารู้ว่ากำลังเป็นทุกข์ นี่เขากำลังมีความรู้สึกตัวอยู่แล้ว แต่จิตใจเขามีกิเลสคือความกลุ้มใจทีเกิดขึ้นในความรักทีไม่สมหวัง โดยตัณหานี้จะถูกมัดจิตของเขาให้จมอยู่กับความคิดทีเป็นทุกข์ในเรื่องความรัก

ถ้าท่านกำลังมีจิตใจดีอยู่ มีความร้สึกตัวดีอยู่ ตัณหาไม่กำเริบในจิตใจ ถ้าท่านอยู่ในสภาพอย่างนี้ ในขณะนั้น ท่านไม่มีกิเลสครับ แต่เป็นการไม่มีกิเลสอย่างชั่วคราว เพราะว่า อาการไม่รู้สึกตัว หรือ อาการตัณหากำเริบ จะโผล่มาเมื่อไรก็ได้ ถ้ามันโผล่มาเมื่อไร นั้นคืออาการที่กิเลสมาเยือนถึงบ้านแล้ว

ผมได้กล่าวถึงกฏ 3 ข้อในการปฏิบัติไว้ คือ
1.รู้สึกตัว
2.ผ่อนคลาย เฉยๆ สบาย ๆ อย่าตึงเครียด
3.ไม่ต้องอยากรู้อะไร แต่ให้จิตเขารู้เอง
ขอให้ท่านสังเกตกฏ 3 ข้อนี้ ถ้าท่านอยู่ในสภาพอย่างนี้เมื่อไร จิตท่านตอนนั้นไม่มีกิเลสอยู่ครับ และถ้าท่านอยู่ในกฏ 3 ข้อนี้ได้เสมอๆ จิตท่านก็ไม่มีกิเลสอยู่เสมอ ๆ

ถ้าการปฏิบัติของท่านคือการทำลายกิเลส กฏ 3 ข้อนี้ก็คือการทำลายกิเลสตามจุดมุ่งหมายแล้ว

ถ้าวันใดในขณะที่ท่านกำลังอยู่ในกฏ 3 ข้อนี้ แล้วท่านเกิดเป็นลมล้มฟุบขาดใจลงไปทันทีทันใด ก็เป็นอันหวังได้ว่า ท่านมีสุขคติอันมีที่ไปอย่างแน่นอนครับ

****************

ผมจะเขียนถึง อวิชชา ต่อไป

อวิชชา คือ การไม่รู้จริงในกลไกอาการของ จิต
เมื่อไม่รู้จริง จะเกิดผลดังนี้
1..ไม่รู้ว่า ในขณะนี้ จิตถูกครอบงำอยู่หรือไม่
2...ความไม่รู้แจ้งถึงความเป็นอนัตตาของจิต
3.. ไม่รู้แจ้งถึงความเป็นสุญญตา

ที่ว่าไม่รู้แจ้ง หมายความว่า ยังมองไม่ออกว่า ที่แท้แล้ว ตัวตนนั้นมันไม่มี แต่มันเป็นอนัตตา มันเป็นสุญญาตา เหตุทีไม่รู้แจ้ง เพราะจิตถูกครอบงำอยู่

การรู้แจ้งในอาการดังกล่าว คือ การทำลายล้างอวิชชา เป็นการรู้แจ้งในความจริงของธรรมชาติอย่างแท้จริง

การรู้แจ้งอย่างนี้ได้นั้น จะต้องมาจาก.ปัญญาญาณ.ของนักภาวนา ที่.เห็น.สภาวะของสุญญาตาได้ เห็นอาการเปลี่ยนแปลงของจิตได้แล้ว

เมื่อนักภาวนาลงมือฝึกฝนการเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ อย่างถูกต้อง โดยเริ่มต้นจากการที่จิตไม่มีกำลังความตั้งมั่นเลย ใหม่ ๆ สิ่งที่นักภาวนาจะได้จากการฝึกฝน คือ การมีสัมมาสติ และ การมีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่้นเพิ่มขึ้น พอกำลังสัมมาสติ สัมมาสมาธิเพิ่มมากขึ้นจากเดิมได้ถึงระดับหนึ่ง นักภาวนาจะเริ่มเห็นอาการของขันธ์ 5 ที่เป็นไตรลักษณ์ได้ นักภาวนาจะเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ตามที่สอนปัญจวัคคีย์ไว้ว่า ที่ว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ ๆ เรา เป็นอย่างนี้เอง

เมื่อนักภาวนาภาวนาต่อไปอีก ความตั้งมั่นของกำลังจิตมีมากขึ้น นักภาวนาจะเริ่มมีความสามารถเห็นดวงจิตของตนเองได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยเห็นอาการของขันธ์ 5 มาแล้ว
ในระยะแรกเริ่มนี้ นักภาวนาจะเห็นดวงจิตของตนเอง เป็นดวงหรือเป็นเม็ด
และการที่ดวงจิตไปเห็นอาการของขันธ์ 5 ด้วย ก็จะเกิดเป็นสภาวะของคู่ขึ้น
คือ มีผู้เห็น ซึ่งก็คือ ดวงจิต และ มีสิ่งที่ถูกเห็น คืออาการของขันธ์ 5

เมื่อนักภาวนาฝึกฝนต่อไป กำลังสัมมาสมาธิตั้งมั่นมากขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ
ที่ยากที่จะเขียนอธิบายได้ แต่นักภาวนาจะเห็นอาการอย่างหนึ่งในจิตใจที่มีการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำในนักภาวนาเห็นสภาพดวงจิตที่เคยเป็นดวงหรือเป็นเม็ดอยู่ ได้แตกสลายออก กลายเป็นสภาพของความว่างเปล่า แต่ยังคงมีสภาพแห่งอาการรู้ที่ปรากฏอยู่เท่านั้น
(หมายเหตุ 1 ...คล้าย ๆ กับลูกโป่งที่แตกออก แล้วตัวแก๊สในลูกโป่งก็พุ่งออกมาจากลูกโป่งนั้น แต่ตัวแก๊สเป็นความว่างเปล่ายังคงอยู่ แต่ตัวลูกโป่งได้แตกทำลายไปแล้ว )

(หมายเหตุ 2.. ก่อนหน้านี้ เมื่อดวงจิตเป็นดวงอยู่ จะเป็นว่า มีดวงจิตเป็นดวงหรือเป็นเม็ดและมีสภาพรู้ แต่เมื่อดวงจิตแตกสลายออก จะกลายเป็นว่า ดวงจิตไม่เป็นดวงแล้วแต่เป็นความว่างเปล่า แต่ยังมีสภาพรู้ปรากฏอยู่เช่นเดิม นี่คือความแตกต่างระหว่าง 2 สถานะ)

การเปลี่ยนแปลงนี้ที่จิตกลายสภาพเป็นความว่างเปล่า จะส่งผลให้ความว่างเปล่าครอบคลุมเป็นวงกว้างออกไปและสภาวะแห่งของคู่ก็สิ้นสุดลง จะเหลืออยู่แต่ความว่างเปล่าและการทำงานของอายตนะที่ปรากฏอยู่ในความว่างเปล่าเท่านั้น

นี่คือสภาวะแห่งวิชขาที่ทำลายล้างอวิชชา ที่นักภาวนาจะได้พบเห็นเองเมื่อภาวนาถึงจุดนี้
นักภาวนาจะเข้าใจความไม่มีตัวตนเมื่อถึงจุดนี้

****
ท่านจะเห็นได้ใช่ใหมครับว่า โมหะ และ อวิชชา นั้น เป็นคนละอย่างกัน ไม่เหมือนกัน
ทำหน้าทีต่างกัน

โมหะ ถูกทำลายเพราะมีความรู้สึกตัว
อวิชชา ถูกทำลายเพราะมีปัญญาญาณ

ในคนที่กำลังไม่มีโมหะครอบงำจิต เขายังมีอวิชชาอยู่
แต่คนที่ไม่มีอวิชชาแล้ว เขาไม่มีโมหะอย่างแน่นอนครับ

*****




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2554
14 comments
Last Update : 22 ตุลาคม 2561 8:09:35 น.
Counter : 1959 Pageviews.

 

ขออนุโมทนาสาธุครับ

 

โดย: shadee829 27 กุมภาพันธ์ 2554 10:44:04 น.  

 

ผมติดตามบล๊อกของท่านเรื่อยๆครับ สาธุ
ผมขอเป็นแฟนคลับของบล๊อกท่านด้วยครับ 55+

 

โดย: คนไม่ธรรมดา IP: 223.205.6.120 27 กุมภาพันธ์ 2554 17:43:33 น.  

 


อนุโมทนา ครับ
ขอรบกวนถาม นักภาวนาจำเป็นต้องเห็นดวงจิตของตนเองทุกคนไหมครับ

 

โดย: ทำไม่เป็น IP: 115.87.189.246 27 กุมภาพันธ์ 2554 18:26:10 น.  

 

ถ้านักภาวนาต้องการเดินทางให้ไกล เดินทางให้ถึงที่หมายปลายทาง การเห็นดวงจิตตนเองเป็นสิ่งจำเป็นมาก
ถ้าไม่เห็น ก็ไปไม่ได้ไกล ไปไม่ได้สุดทาง

ทีนี้ผมจำเป็นต้องเพิ่มเติมให้เข้าใจในเรื่องการเห็นดวงจิตของตนเอง ที่ว่าเห็นนั้น จะต้องมาจากการเกิด ญาณ จึงจะเห็นได้ และ การเกิด ญาณ ก็จะต้องผ่านระดับของการมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นได้เสียก่อน

ดังนั้นผู้ที่ออกเดินทาง จำเป็นอยางยิ่งที่ต้องผ่านขั้นแรก คือการฝึกฝนอย่างถูกต้อง ให้มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก่อน เมื่อฝึกอย่างถูกต้อง กำลังสัมมาสติจึงจะเพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มขึ้น สัมมาสมาธิก็จะตั้งมั่น แล้วในระดับต่อไป นักภาวนาจะเกิดญาณขึ้นมาได้ อันเป็นผลมาจากที่มีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่นนั้นแหละ ทีนี้ พอเกิด ญาณ ก็จะเห็นดวงจิตของตนเองเป็นดวงหรือเป็นจุดก่อนได้แล้ว แล้วจึงจะมีการพัฒนาปัญญาให้เกิดปัญญาญาณ เห็นดวงจิตเป็นสุญญตาได้ต่อไปอีกทีหนึ่ง

จะเห็นว่า การพัฒนากำลังสัมมาสติ สัมมาสมาธิ และ ญาณปัญญามันมีอยู่ ถ้าใครมีความคิดจะเดินทางลัด เข้าสู่ระดับญาณเพื่อ่เห็นดวงจิตได้ ในทัศนะของผมจะได้ว่า เป็นไปไม่ได้ครับ ที่จะข้ามขั้นตอนแบบนั้น

 

โดย: นมสิการ 27 กุมภาพันธ์ 2554 18:45:43 น.  

 

ยังไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ่งเกี่ยวกับคำว่าอวิชชาครับ ไม่ทราบว่าคือวิชาที่ผู้ฝึกสมาธิสายฤิทธิ์ใช้กันหรือเปล่าครับ

 

โดย: เนื้อนาบุญ IP: 125.26.83.225 27 กุมภาพันธ์ 2554 21:29:01 น.  

 

ผมไม่เข้าใจคำถามทีว่า .ไม่ทราบว่าคือวิชาที่ผู้ฝึกสมาธิสายฤิทธิ์ใช้กันหรือเปล่าครับ.

ผมจะเปรียบอวิชชาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น อวิชชามันจะคล้าย ๆ กับ .จอกแหน. ในบ่อน้ำ .จอกแหน. สีเขียวที่มันเหมือนใบไม้เล็ก ๆ ที่มันลอยอยู่เต็มในบ่อน้ำ ธรรมชาติของมัน มันจะปกคลุมผิวน้ำจนเต็ม ถ้าสมมุมติมีใครเอาก้อนหินโยนลงไปในน้ำ .จอกแหน.จะแตกตัวออกจากกัน และจะเห็นผิวน้ำได้สักครู่ แล้ว .จอกแหน.จะกลับมาลอยติดกันใหม่ปกคลุมผิวน้ำอีกครั้ง

ลักษณะของอวิชชา จะคล้ายๆ อย่างนั้น คือ มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่พยายามจะดึงจิตให้เป็นดวงเป็นเม็ดอยู่เสมอ เมื่อจิตเป็นดวงเป็นเม็ด จิตมันจะง่ายต่อตัณหาที่จะดึงจิตที่เป็นดวงนี้ไปเกาะติดกับอะไรสักอย่าง

แต่ถ้าใครมีวิชชา คือ มีความสามารถในการควบคุมมัน ไม่ให้จิตรวมตัวเป็นดวงอีก แต่เมื่อจิตถูกควบคุมได้ไม่ให้เป็นเม็ดเป็นดวง มันจะแตกกระจายออกเหมือนแก๊สที่ไม่มีตัวตน ถ้าเป็นแก็สไม่มีตัวตน ตัณหาก็ไม่สามารถจะดึงแก๊สให้ไปติดกับอะไรได้อีก เมื่อจิตเป็นแก๊สที่แตกกระจาย นักภาวนาจะเห็นสภาพของการไร้ตัวตนที่แท้จริงปรากฏขึ้น มันจะเป็นอย่างนี้ครับ

ส่วนสายฤทธิ์อะไรนั้น ผมไม่ทราบครับ เพราะผมก็ไม่มีฤทธิ์อะไรเลย

 

โดย: นมสิการ 28 กุมภาพันธ์ 2554 6:37:44 น.  

 

กราบขอบคุณมากครับอาจารย์ จากคำตอบผมคงเข้าใจผิดครับคิดว่า
อวิชชา คือ วิชาเกี่ยวกับอภินิหารต่างๆ เช่น ทางไสยศาสตร์ ปลุกเสกเครื่องลางของขลังอย่างนี้อะครับ
มีเรื่องเรียนถามอาจารย์อีกสักข้อครับ เกี่ยวกับอาการย่ำคิดย่ำทำ
จะเป็นผลดีในทางปฏิบัติไหมครับ อย่างเวลาเราฝึกรู้สึกตัว มันรู้สึกว่า บางครั้งมันบอกกับตัวเองถี่เหลือเกิน อย่าง 1 นาทีอาจจะบอกกับตัวเองซัก 40-50ครั้งน่ะครับ ผมเองเคยฝึกการทำสมาธิแบบ ภาวนาพุท โธ มาก่อน อาจจะไปติดเหมือนการภาวนาทุกอริยาบท ไม่ทราบควรจะแก้อย่างไงดีครับ ไม่ทราบอาจารย์จะเข้าใจ
คำถามผมหรือเปล่านะครับ รู้สึกเกรงใจอาจารย์มากๆเลยครับขอกราบขอโทษไว้นะที่นี้ด้วยนะครับ

 

โดย: เนื้อนาบุญ IP: 101.108.193.139 28 กุมภาพันธ์ 2554 18:48:31 น.  

 

การภาวนานั้น จะมี 2 จุดมุ่งหมายกล่าวคือ
1.. ฝึกฝนเพื่อให้จิตเกิดการแยกตัวออกจากขันธ์ 5 ...อันเป็นสำหรับคนใหม่ที่เริ่มต้น
2.. ฝึกฝนเพื่อควบคุมจิตไม่ให้สร้างจิตตสังขาร ในกรณีที่เราไม่ต้องการจิตตสังขาร ..อันนี้สำหรับมือเก่าที่ผ่านข้อ 1 มาได้แล้ว

ย้ำคิดย้ำทำในความเห็นของผม เป็นจิตตสังขารอย่างหนึ่ง ถ้าสำหรับมือใหม่ เมื่อจิตตสังขารเกิดบ่อย นักภาวนายังมีตัณหาที่แรงกล้า เมื่อเกิดย้ำคิดย้ำทำ ก็จะทำให้การแยกตัวของจิตเพื่อให้ออกจากขันธ์ 5 เป็นไปได้ยากลำบากขึ้น

ในความเห็นของผมนั้น ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ดีสำหรับทางภาวนา แต่อาจดีสำหรับทางโลก เพื่อกันลืม การท่องบ่อย ๆ จะทำให้ไม่ลืม

ในการบริกรรมใด ๆ นั้น ผมก็เคยบริกรรมมาก่อนครับ ผมพบว่า การบริกรรมนั้นมันจะต้องมีเทคนิคเหมือนกัน คือ บริกรรมแล้วจิตจะต้องแยกตัวออกจากคำบริกรรมจึงจะไปได้ดี แต่ถ้าบริกรรมแบบจิตแนบแน่นกับคำบริกรรมเป็นเนื้อเดียว อย่างนี้ จิตจะไม่แยกตัวครับ เรื่องนี้ ผมเขียนมากไม่ได้ เพราะนักภาวนาที่บริกรรมมีมากหลายสำนัก เขียนไปแล้วกระเทือนกัน
แต่ในความเห็นของผม ถ้านักภาวนาบริกรรมเป็นชนิดที่บริกรรมแล้วจิตแยกตัวจากคำบริกรรม จะได้ผลดีเช่นกันครับ

สำหรับการแก้ใขนั้น ถ้าคุณไม่สามารถบริกรรมแบบจิตแยกตัวออกจากคำบริกรรมได้ ผมแนะนำว่า ก็อย่าบริกรรมครับ ไม่ต้องบริกรรม และให้ฝึกเคลื่อนไหวแบบมีสติแทน เช่นการเดินจงกรม อาจใช้เวลาสักหน่อย เพราะคุณไปชินกับคำบริกรรมแล้ว แต่ผมคาดว่า น่าจะแก้ปัญหาเรื่องของคุณได้ครับ

ผมเปิด blog เพื่อเป็นธรรมทาน ผมก็อายุมากขึ้นทุกปี จะอยูุ่อีกนานเท่าใดก็ไม่ทราบได้ คำถามที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ ล้วนเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ไม่ต้องเกรงใจครับ ถ้าผมเกิดไม่อยู่แล้ว คุณก็ต้องไปหาคนแนะนำคนใหม่อีก ดังนั้น ตอนนี้ ผมยังอยู่ มีอะไรก็ถาม ๆ มาได้ครับ ผมไม่เคยจำกัดคำถามที่เป็นประโยชน์ ผมพร้อมจะตอบให้หายสงสัยในสิ่งที่ผมรู้

 

โดย: นมสิการ 28 กุมภาพันธ์ 2554 19:14:11 น.  

 



ขอบคุณครับ

 

โดย: ทำไม่เป็น IP: 61.90.107.176 28 กุมภาพันธ์ 2554 20:28:12 น.  

 

ขออนุโมทนาสาธุ....เข้าใจชัดเจนมากขึ้นครับ
-----------------------------------------------

 

โดย: ลุง 'บุรีราช' IP: 125.27.179.188 1 มีนาคม 2554 8:52:32 น.  

 

ตอนนี้ยังไม่ค่อยสงสัยวิธีปฏิบัติครับ ทำไปเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าผมปฏิบัติหย่อนไปรึป่าว จิตยังไม่ตั้งมั่นเลยครับ
*จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไรครับ

 

โดย: คนไม่ธรรมดา IP: 223.204.172.130 1 มีนาคม 2554 19:11:38 น.  

 

*จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไรครับ*

จิตตั้งมั่น คือ จิตไม่วิ่งไปวิ่งมาครับ แต่มันจะนิ่งอยู่ในฐานของมันเอง

คุณเคยดูเขาแข่งเทนนิสไหมครับ เขาจะมีกรรมการนั่งอยู่ที่เก้าอี้สูง ๆ เพื่อเฝ้าดูการแข่งขัน กรรมการคนนี้จะนั่งอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เขาก็เห็นทุกอย่างของการแข่งขัน อาการจิตตั้งมั่นมันจะคล้ายแบบนั้น

เก้าอี้กรรมการ ก็เหมือนฐานของจิต
ตัวกรรมการ ก็เหมือนตัวจิต

ตัวผู้เล่นเทนนิส เปรียบเหมือนอาการของขันธ์ 5 ที่มันแปรเปลี่ยนไปมา ไม่อยูุ่นิ่ง เมื่อนักเทนนิสเล่นไป กรรมการก็เห็นอยู่ แต่กรรมการจะไม่ลงจากเก้าอี้เลย เพียงเฝ้าดูการเล่นอยู่เท่านั้น

เรื่องจิตตั้งมั่น ไม่ใช่ฝึกได้ง่าย ๆ นะครับ
นอกจากจะฝึกถูกทางแล้ว ยังต้องขยันฝึกอีกด้วย และต้องใช้เวลานานมาก ๆ กว่าจะตั้งมั่นได้ดีจริง ๆ

แต่ถ้าตั้งมั่นได้แปร็บ ๆ ละก็ อันนี้ไม่ยากครับ คือตั้งเพียงชั่วครู่ แล้วก็หลุดออกมาแล้วครับ ตัวสัมมาสตินีัแหละครับ คือตัวที่ทำให้จิตตั้งมั่นได้ เมื่อตั้งมั่นได้เมื่อไร ก็เป็นสัมมาสมาธิครับ

ขอเพียงรู้ทางในการฝึกฝน แล้วหมั่นฝึก ใช้เวลาสักหน่อย ค่อยเป็นค่อยไป สัก 5 ปีขึ้นไป ก็น่าจะตั้งมั่นได้ดีพอสมควรแล้ว

ที่น่าเห็นใจ คือ พวกฝึกผิดนะครับ ถ้าฝึกผิด ชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่มีทางตั้งมั่นได้เลย

อาการที่ฝึกผิด ก็เหมือนกับกรรมการเทนนิส เห็นผู้ตีเทนนิสตีไม่ถูกใจ ลงจากเก้าอี้กรรมการ แล้วไปเล่นเทนนิสซะเอง

คงพอมองออกนะครับ อย่าใจร้อนครับ ใจเย็น ๆ ฝึกถูกทาง อย่างไรซะก็ได้แน่ครับ

แต่แน่ใจนะครับว่า ฝึกถูกทางอยู่ ขอให้ฟัง CD ของกิจกรรมครั้งที่ 1 ประกอบด้วยครับ ผมมีพูดในนั้นไว้ แล้วตอนฝึกก็ใช้กฏ 3 ข้อครับ

 

โดย: นมสิการ 1 มีนาคม 2554 19:38:31 น.  

 

ขอบคุณมากครับ ผมจะฝึกเรื่อยๆ

 

โดย: คนไม่ธรรมดา IP: 223.204.172.130 1 มีนาคม 2554 19:47:09 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 15:20:44 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.