รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
14 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ลักษณะอาการของการรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติ



ในการฝึกฝนการเจริญสติปัฏฐานนั้น นักภาวนาสมควรจะฝึกฝนทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าได้มีการดัดแปลงเสริมแต่งใด ๆ ลงไปในจิตใจ เพราะนั้นคือการผิดธรรมชาติ แล้วการภาวนาจะไม่ได้ผลดี

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี่คือ สภาวะจริงของคนของสัตว์
แต่มีสภาวะที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยที่มันแปรเปลี่ยนไป มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตน

จิตรู้ เป็น สิ่งทีมหัศจรรย์ที่สุดในบรรดาสภาวะทั้งหมด ถ้าท่านปฏิบัติได้ถึงที่ ท่านจะพบกับ จิตรู้ หลังจากที่ได้ทำลายเปลือกหุ้มที่เป็นลูกโป่งแล้ว นักภาวนาจะพบกับสิ่งมหัศจรรย์ที่สุด คือ การไม่มีอะไรเลย แต่มีการรูับรู้สภาวะธรรมได้ ในตำราในพุทธศาสนาได้บอกว่า คนประกอบด้วย ธาตุ6 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ

ผมเข้าใจเอาเองว่า จิตรู้ ที่ทำลายลูกโป่งแตกแล้วนี่แหละ คือ วิญญาณธาตุ มันว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย มันเป็นสุญญาตา แต่มีความสามารถพิเศษที่จะ .รับรู้. ได้

เมื่อ จิตรู้ มันว่างเปล่า มันไม่มีอะไรเลย ดังนั้น มันจึงไม่มี มวลสาร ไม่มีน้ำหนัก
เมื่อ ไม่มีน้ำหนัก ก็แปลว่า มันจะ .เบา.

นี่คือสภาพธรรมชาติแห่งการรับรู้ว่า ในขณะที่กำลังรับรู้ที่เป็นธรรมชาติได้อยู่ นักภาวนาจะรู้สึกว่า ตัวเบา จิตเบา

ขอให้ดูภาพข้างบนด้านซ้ายมือ ภาพนี้เป็นภาพเก่า ทีผมเคยใช้มาก่อน แต่ก็ใช้ได้ดีสำหรับเรื่องนี้

ในการรับรู้สภาวะของ.จิตรู้. นั้น มันจะรับรู้ได้แบบทั่ว ๆ ที่ไม่สามารถเจาะจงได้ มันจะรับรู้แบบสมดุลย์ กล่าวแบบง่าย ๆ ให้เข้าใจกัน ก็คือ ตาก็มองเห็น หูก็ได้ยิน จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นก็ได้รส กายก็รู้สัมผัส เมื่อมีสภาวะแห่งจิตใจเกิดขึ้น ก็รู้ได้

ในการรับรู้แบบสมดุลย์แบบนี้ จิตรู้ จะรับรู้อะไรก็ได้ แล้วแต่เขาจะไปรับรู้เอง นักภาวนาไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปบังคับว่า ต้องรับรู้อย่างนั้นอย่างนี่นะ เช่น นักภาวนาที่ไม่เข้าใจการทำงานการรับรู้ของจิตที่ใช้อาณาปานสติ ก็มักจะเข้าใจว่า ต้องรู้ลมหายใจอย่างเดียว นี่คือการเข้าใจผิดเสียแล้ว ถ้ารู้แบบนี้ รู้อย่างเดียว เป็นการรู้ที่ไม่สมดุลย์แล้ว

ในการรู้ที่สมดุลย์ จิตรู้ จะรู้แบบผ่าน ๆ พอรู้แล้วจะไม่จับยึดสิ่งที่ถูกรู้ มันจะรู้อย่างโน้นที อย่างนี้ทีอย่างรวดเร็ว จนเหมือนกับว่า รู้ได้พร้อม ๆ กันครั้งละหลาย ๆ อย่าง การรู้แบบนี้จะเป็นลักษณะที่รู้ได้เบา ๆ รู้ไม่แนบแน่นในสิ่งที่ถูกรู้ บางอาจารย์จะเรียกอาการแบบนี้ รู้แล้วปล่อย หรือ บางท่านก็เรียกว่า รู้แล้วทิ้ง

***นี่คือ สภาพการรู้ที่เป็นธรรมชาติของจิตรู้ รู้ที่เป็นอิสระ รู้แล้วไม่ยึดติดในสิ่งทีไปรู้เข้า***

ถ้าไม่เป็นธรรมชาติละ คือ การรู้ที่มีการจงใจ แทรกแซง เช่น การพยายามที่จะรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ต้องการรู้ให้ชัด เห็นให้ชัด ได้ยินได้ชัด นี่คือความรู้สึกในทางโลก ที่คนทั้งหมดคุ้นเคยกับสภาพแบบนี้ แล้วนำมาใช้ด้วยในการปฏิบัติธรรม แต่มันไม่เป็นธรรมชาติครับ

บางอาจารย์ที่เขาสอนกรรมฐาน ผมเคยได้พบมาเช่นกัน เขามักจะพูดกับคนที่มาเรียนมา .ต้องรู้.บ้าง .รู้ให้ชัด.บ้าง แล้วก็นำคำบาลีมาอ้างบ่อย ๆ ถ้าผมจำไม่ผิด จะเป็นคำว่า ปะชานาติ (ถ้าคำนี้ผิดไป ก็ขออภัยด้วย) ทำให้นักภาวนาตึความไปตามความคุ้นเคยทางโลกว่า ต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้ให้ชัด ถ้าไม่ชัด นี่คือผิด

ซึ่งจริง ๆ แล้ว การรู้ที่เป็นธรรมชาติไม่ไช่แบบนั้นเลย การรู้ที่เป็นธรรมชาตินั้น จะเป็นการรู้ที่รู้เบา ๆ เหมือนไม่ชัด จะรู้อะไรก็ได้ บังคับไม่ได้ด้วย และก็อย่าไปบังคับ ต้องให้จิตเขารู้เอง อย่าไปตั้งเป้าหมายว่า ต้องรู้ลมหายใจนะ ต้องรู้เท้ากระทบพื้นนะ ต้องรู้มือที่กำลังเคลื่อนนะ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ
และการรู้นี้ .ต้องรู้. ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน ในความเป็นธรรมชาตินััน การรู้ จะขึ้นกับความเป็นอิสระของจิตใจและกำลังแห่งสติสัมปชัญญะ ถ้าท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านจะพบว่า ท่านจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง(หรือจะเรียกว่า เผลอไป ก็ได้) ธรรมชาติของท่านจะเห็นแบบนี้
ยิ่งในการฝีกฝนในชีวิตประจำวันด้วยแล้ว การไม่รู้เพราะเผลอมีมากกว่า การรู้ เสียอีก
แต่ถ้าท่านชำนาญขึ้น จิตมีพลังสติสัมปชัญญะมากขึ้น ท่านจะรู้ มากกว่า เผลอ

ที่ผมเขียนว่า " ..ถ้าท่านชำนาญขึ้น จิตมีพลังสติสัมปชัญญะมากขึ้น ท่านจะรู้ มากกว่า เผลอ... ) นี้ ผมหมายความว่า ท่านต้องชำนาญขึ้นจากการฝึกฝนที่ให้รู้แบบเป็นธรรมชาติเองทีละนิด ผมไม่ได้บอกท่านว่า .ไม่ให้เผลอ. แล้วท่านก็ไปนั่งทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้เผลอ ถ้าทำอย่างนี้ ก็ไม่เป็นธรรมชาติครับ

ในการฝึกฝน ท่านสมควรหมั่นฝึกฝนให้เป็นธรรมชาติอยู่เสมอ ใหม่ ๆ จะเผลอมาก รู้น้อย
พอการฝึกฝนที่เป็นธรรมชาตินี้ส่งผล ท่านจะรู้มาก เผลอน้อย และ ท่านจะคงการเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป เพราะนี่คือธรรมชาติแท้ของท่านแล้ว ที่ท่านฝึกมา

แต่ถ้าท่านไปทำอะไรไม่ให้เผลอ ท่านสร้างมันขึ้นมาที่ไม่เป็นธรรมชาติ พอท่านหยุดสร้าง ท่านก็จะเผลอมากเช่นเดิมอีก แล้วท่านก็จะล้มเหลวกับการภาวนาได้

การรู้ที่เป็นธรรมชาตินั้น เวลาท่านฝึกฝน ท่านสมควรเข้าใจว่า ท่านกำลังทำเล่น ๆ ไม่จริง ๆ นี่ไม่ใช่การฝึกทหารครับ และท่านสมควรทำแบบผ่อนคลาย อย่าได้เครียดกับการฝึกฝน อย่าตั้งเป้าหมายในจิตใจของท่านว่า ต้องให้ได้เวลาเท่านั้นเท่านี้ ถ้าทำไม่ถึงเวลาเป้ามหายจะไม่เลิก อะไรทำนองนี้ มันจะเครียดแล้วท่านจะฝึกไม่ได้ดีครับ

สรุปให้สั้น ๆ สำหรับการฝึกฝน
1..ให้รู้สึกตัว แล้ว ให้รู้เอง รู้อะไรก็ได้ ไม่รู้ก็ยังได้เลย
2..ให้สบาย ๆ เหมือนฝึกเล่น ๆ อย่าเครียด
3..เวลารู้ จะรู้ที่เบา ๆ เหมือนไม่ชัด และไม่สามารถบังคับการรู้ได้




Create Date : 14 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:12:14 น. 13 comments
Counter : 2343 Pageviews.

 
การรู้ที่เป็นธรรมชาติ จะหาได้ง่าย ๆ จากในชีวิตประจำวันของท่านเอง เมื่อท่านทำของตกลงที่พื้น ท่านก้มตัวลงเก็บของนั้นขึ้นมา ท่านเคยสังเกตอาการรู้ไหมในขณะที่กำลังก้มตัวลงเก็บของในเวลาสั้น ๆ ท่านลองสังเกตดูซิครับ

เมื่อเป็นคนฝึกฝนใหม่ การกระทำอะไรที่ใช้เวลานานยาว ความเป็นธรรมชาติจะหมดไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น กิจกรรมสั้น ในชีิวิตประจำวันที่เกิดขึ้น เช่น ขณะนั่งอยู่ ก็ลุกขึ้นไปรับโทรศัพท์ที่ดังขึ้น การลุกขึ้นจากที่นั่งแล้วเดินไปดื่มน้ำ ช่วงเวลาสั้น ๆ นี่แหละ เป็นธรรมชาติมาก ถ้าท่านสังเกตมันอยุ่เงียบ ๆ ท่านจะเข้าใจในความเป็นธรรมชาติของการรู้ได้เลยว่า มันหน้าตาอย่างนี้นะ


โดย: นมสิการ วันที่: 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา:8:08:47 น.  

 
เรียนถามอาจารย์ครับ

ขอเกริ่นนิดหน่อยนะครับ ผมฝึกดูลมหายใจตามแบบของอาจารย์คือ ดูอาการไหวๆเวลาหายใจ ตอนแรกดูได้เฉพาะตอนกอดอก ต่อมาไม่ต้องกอดอกก็ดูได้ ต่อมาดูได้เวลาเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่ยังสังเกตุว่าไม่ได้ดูทั้งหมดแต่มีการบังคับบ้างเล็กน้อย แต่การบังคับน้อยลงเรื่อยๆ

อาการที่อาจารย์เคยว่าเวลามองอะไรแล้วเหมือนยิงกระสุนออกจากตา ผมเคยรู้สึกประมาณเดือนที่แล้ว แต่คิดว่าคิดไปเอง ไม่ได้สนใจ จนอาจารย์บรรยายในวันกิจกรรมจึงเข้าใจว่าผมเห็นจริง แต่ผมเห็นแค่ประมาณ 2 วัน จากนั้นไม่เห็นอีก

เวลาแปรงฟันหรือใส่เสื้อผ้า ก็จะรู้สึกตาเบลอๆ หน่อย ความคมชัดลดลงแต่ประสาทสัมผัสอื่น เหมือนรับรู้ได้พอๆกัน

ตอนนี้เวลานั่งทำในรูปแบบ รู้สึกเหมือนเส้นเลือดไหวๆ ในตัว ผมเคยถามอาจารย์วันกิจกรรมว่า ถือว่าเป็นการรู้การเปลี่ยนแปลงในกายใช่หรือไม่ อาจารย์บอกว่าใช่ เป็นการรู้ลม บางทีผมจะรู้สึกได้เองเวลาตั้งใจทำอะไร
เช่นตั้งใจฟัง ตั้งใจอ่านหนังสือ แต่เวลาปกติไม่ค่อยรู้สึก

ผมพบว่าตอนนี้ ถ้าผมเอาจิตไปไว้ช่วงหน้าอก (ไม่เจาะจง รู้แต่ว่าบริเวณช่วงกลางๆลำตัว) ผมจะรุ้สึกนิ่งๆ สายตาลดความคมชัด ออกเบลอๆหน่อย แต่ก็ยังมองเห็น หู และสัมผัสทางกาย รู้สึกลดลง เหมือนกับลดความเด่นชัดอย่างหนึ่ง แต่เหมือนรับรู้หลายอย่างพร้อมกันแต่ไม่เด่นเลยสักอย่าง และรู้อาการไหวๆของกระบังลมและเส้นเลือด บางทีแขน บางทีตัว ทำแบบนี้ดูหนังก็ได้ ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ ผมคิดว่าสนุกดีก็เลยชอบทำบ่อยๆ

ผมขอเรียนถามถาจารย์ครับ ว่าผมควรจะทำแบบนี้หรือเปล่า (เอาจิตไปไว้ช่วงกลางๆลำตัว แล้วนิ่งๆ ดูอาการไหวๆของเส้นเลือด) ผมรู้สึกว่าสนุกดีครับ คือผมเริ่มสับสนเล็กน้อยเรื่องการรู้กายน่ะครับ ว่าเราห้ามทำอะไรทั้งสิ้นต้องรู้เองรู้อะไรก็รู้อันนั้น หรือทำจิตแบบนี้แล้วดูอาการไหวๆไปเรื่อยๆ พอหยุดรู้สึกก็ทำใหม่ครับ

เพราะผมสงสัยว่าในการฝึกการเคลื่อนไหวเช่นฝึกยกมือ หรือขยับมือ ก็มีการกระทำแล้วดูอาการไหวๆ มันเหมือนหรือต่างกับผมทำนิ่งๆแล้วดูอาการเลือดไหวๆ อย่างไรครับ

ขอคำแนะนำอาจารย์ด้วยนะครับ ที่อธิบายยืดยาว อาจารย์จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการฝึกของผมครับ

ขอบคุณครับ


โดย: pisitH IP: 125.25.87.175 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา:19:03:46 น.  

 
ถ้าผมเอาจิตไปไว้ช่วงหน้าอก (ไม่เจาะจง รู้แต่ว่าบริเวณช่วงกลางๆลำตัว)
...
ที่คุณเล่ามา ผมเคยเล่นมาก่อนครับ ถ้าถามผมว่า ควรทำไหม ผมบอกได้ว่า แล้วแต่คุณครับ มันไม่มีข้อเสีย แต่สิ่งที่คุณเล่นแบบนี้ มันจะรู้แค่กายครับ มันไปไม่ถึงการรู้ตัวจิต แต่ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องความทุกข์ใจ คุณใช้แบบนี้เล่น จะหยุดทุกข์ได้เร็วดี ก็สมควรใช้มันตอนมีทุกข์ครับ

การไปถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้น ต้องรู้ทั้งกายและทั้งตัวจิต ซึ่งตัวจิตนั้นมันจะตระหง่านเด่นชัดอยู่ที่บริเวณใบหน้า แต่การฝึกแบบรู้ทั้งกายและทั้งจิต จะมีจุดด้อยตรงที่ว่าถ้าตัวจิตยึดทุกข์เข้าไปแล้ว และถ้านักภาวนาที่กำลังจิตไม่พอจะแกะทุกข์ไม่ออกหรือแกะได้แต่แกะยากเสียเวลานาน โดยเฉพาะนักภาวนาที่ไม่รู้จักการรู้กายในแบบวิธีที่คุณเล่ามานั้น

การฝึกในระดับสูุงนั้น นักภาวนาสมควรฝึกแบบรูุ้ทั้งกายและทั้งจิต แต่ฝึกด้วยใจที่ว่างเปล่า คือ ไม่มีความอยากในจิตใจเลย ใจจะนิ่งเฉยและใจมันจะจืดสนิทเหมือนเป็นคนที่ไร้อารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น คุณอาจจะมองใจจืดแบบนี้ออกได้ ใจที่จืดสนิทนั้น ตัวใจจะไม่มีอะไรเลย ไม่เป็นกลุ่มก้อนใด ๆ นี่เป็นทางตรงเข้าสู่่สุญญตา



โดย: นมสิการ วันที่: 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา:20:35:48 น.  

 
สุญญตา คือ ความไม่มีอะไร
คำว่าไม่มีอะไร นี้หมายความว่า ไม่มี ไม่ใช่ว่างนะครับ

ผมยกตัวอย่าง สมมุติว่าห้องนี้ว่าง คือ ไม่มีของใด ๆ เลย เวลาเปิดประตูเข้าไปดูุห้อง จะเห็นแต่ความว่างเปล่า นี่คือว่างแต่ยังมีห้อง

แต่สุญญาตานั้น ไม่มีห้องเลย จึงว่างเพราะไม่มีห้อง มันต่างกันอย่างนี้ครับ

สภาวะแห่งสุญญาตา ไม่มีพลังงานของตัวจิตรู้ปรากฏให้นักภาวนาไปสัมผัสถึง คงมีแต่สถาวะแห่งการรู้ได้อยู่เท่านั้น

พระป่าบอกว่า สภาพแห่งการไม่มีจิต เคยได้ยินไหมครับ...


โดย: นมสิการ วันที่: 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา:20:43:23 น.  

 
เรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมครับ

การไปถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้น ต้องรู้ทั้งกายและทั้งตัวจิต ...
การรู้ทั้งกายและจิตต้องทำอย่างไรครับ การฝึกเคลื่อนมือแล้วดูอาการไหวๆใช่หรือไม่ครับ

รบกวนอาจารย์แนะนำหน่อยครับ

ขอบคุณครับ


โดย: pisitH IP: 125.25.87.175 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2553 เวลา:21:10:14 น.  

 
วิธีปฏิบัติรู้ทั้งกายและตัวจิต
ก็คือ สิ่งที่ผมได้อธิบายไว้ในวันกิจกรรมนั้นเอง
1..รู้สึกตัว
2..เฉย ๆ สบาย ๆ อย่าได้เครียด
3..อย่าอยากรู้อะไร แต่ให้รู้เอง
4..ตาเพียงลืมขึ้น จะเห็นภาพแบบ panorama อย่าได้จ้องอะไร
ตาจะมัว หรือ ชัด ถูกทั้งคู่

การฝึกแบบนี้ไปเรื่อย ๆ นักภาวนาจะมีสัมมาสมาธิที่ตั้งมั่น
แล้วก็จะเดินทางไปเรือย ๆ จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

นักภาวนาจะพลาด ก็ข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อที่เขียนไ้ว้ โดยเฉพาะข้อ 3 นี่จะพลาดง่าย เนื่องจากว่า เวลาภาวนาไปแล้ว มีสภาวะธรรมเกิดขึ้น
เป็นแบบนี้ ก็พยายามจะรักษาสภาวะธรรมให้ได้แบบเดิมไว้ เพราะคิดว่า นี่คือ step แห่งความก้าวหน้า พอพยายามทำ ก็ผิดเลย นี่ืคือความอยากที่ซ่อนไว้โดยที่นักภาวนาไม่เข้าใจ

อริยสัจจ์ข้อที่ 2 สมุทัย คือ ตัณหา ให้ละเสีย นี่คือ การไร้ความอยากในการภาวนา มันจะเฉย ๆ สงบ ๆ นิ่ง ๆ จืด ๆ อย่างนั้นแหละ ไปแบบนี้ เหมือนคนไร้ิจิตใจ


โดย: นมสิการ วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:1:17:36 น.  

 
ลองดูวิดิโอ ซ้ำอีกทีครับ ตอนแรก ๆ เลย
การดูซ้ำ จะทำให้เราเห็นจุดบกพร่องของเราได้ว่า พลาดตรงไหน
ไป ผมไม่ปิดบังวิชาครับ รู้อย่างไร บอกไปอย่างนั้น
บางคนอาจเห็นว่า บอกง่าย ๆ คงมีอะไรกั๊กไว้
ไม่ใช่อย่างนั้นครับ
แต่วิธีการปฏิบัติเป็นแค้อย่างนั้นจริง ๆ


โดย: นมสิการ วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:1:22:01 น.  

 
เมื่อภาวนาไป ปัญญาจะเกิดขึ้นตามลำดับแห่งความตั้งมั่นแห่งสัมมาสมาธิ ซึ่งนักภาวนา้ต้องรอคอย เร่งให้เกิดไม่ได้เลย แต่ถ้าสมาธิถึงก็ไปได้เอง การทำลายเปลือกอวิชชาก็เกิดเองทั้งสิ้น นักภาวนาเพียงหมั่นเจริญสัมมาสมาธิให้ตั้งมั่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ศีล ...ความเป็นปรกติแห่งจิตใจ จืด ๆ สงบ ๆ นิ่ง ๆ
(สัมมา)สมาธิ ....ความตั้งมั่นแห่งจิต ไม่ไหลไปมาตามอายตนะที่กระทบสัมผัส
ปัญญา... ความรู้ที่เกิดเองจากการเห็นสภาวะธรรมอันเนื่องด้วยความตั้งมั่นแห่ง(สัมมา)สมาธิ

เมื่อพระอภัยมณีแอบตามภรรยาของตนไป เห็นภรรยากลายร่างเป็นนางมารร้ายผีเสื้อสมุทรทีกัดกินเนื้อมนุษย์ พระอภัยมณีก็เข้าใจความเป็นจริงได้ทันที ปัญญามันจะคล้าย ๆ แบบนี้ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาอะไรเลย ถ้าคิด ก็เป็นจินตมยปัญญา ไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ที่เกิดจากการรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง และบางครั้ง ก็ไม่รู้ด้วยว่า สิ่งทีตนเห็นนั้น มันคืออะไร ซึ่งก็ไม่ใช่เรืองใหญ่โตอะไร ไม่รู้ว่าคืออะไรก็ไม่เป็นไร เพราะจิตเขาเห็นก็ใช้ได้แล้ว มันเป็นปัญญาของจิตก็ใช้ได้แล้ว


โดย: นมสิการ วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:1:30:52 น.  

 
เรียนอาจารย์ครับ

เริ่มเข้าใจแล้วครับ

ผมค่อยๆดู รู้สึกว่าเป็นตามที่อาจารย์ว่าไว้คือพยายามรักษาสภาวะโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เหมือนนิ่งๆ ไป ไม่ใช่อาการรู้ ปล่อย สบายๆ คงเป็นการไปเผลอบังคับจิต ช่วงนี้ผมทานยาแก้แพ้ ทำให้บางทีง่วงๆ เบลอๆ ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นที่ยา แต่ตอนนี้คิดว่าอาการใจมัวๆ น่าจะมาจากการบังคับจิตจนไม่เป็นธรรมชาติ

ผมจะใช้ 4 ข้อที่อาจารย์แนะนำเป็นหลักในการฝึกฝนครับ

ขอบคุณครับ


โดย: pisitH IP: 115.87.238.216 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:9:30:52 น.  

 
การปฏิบัติ ข้อ3 นี่ยากที่สุด เพราะเมื่อไหร่ที่เราคิดจะปฎิบัติแบบสบายๆ ไม่เครียด เมื่อมันเป็นความอยาก กล่าวได้ว่ามันเป็นตัณหาหรือเปล่า ต้องหยุดก่อนสักพัก เมื่อคิดจะทำต้องทำเลย โดยไม่หวังผลอะไรหรืออยากรู้อยากเห็นสภาวะธรรม แค่ให้จิตรับรู้ พิจารณา สิ่งทีเข้ามาในมโนทวาร เท่านั้นใช่ไหมคะ สังเกตุดูว่าเมื่อไหร่ที่เราตั้งใจ มันจะฟุ้ง ไม่เกิดแม้แต่สมาธิ เพราะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จิตอาจถูกบังคับตามความอยาก ความตั้งใจ เป็นเช่นนั้นหรือไม่


โดย: cakecode วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:10:06:27 น.  

 
ตอบคุณ cakecode

1..การปฏิบัติ ข้อ3 นี่ยากที่สุด เพราะเมื่อไหร่ที่เราคิดจะปฎิบัติแบบสบายๆ ไม่เครียด เมื่อมันเป็นความอยาก กล่าวได้ว่ามันเป็นตัณหาหรือเปล่า

>>> ผมแนะนำอย่างนี้ครับ ในระยะที่กำลังฝึกฝนอยู่ นักภาวนาจะมองตัวเอง
ไม่ออกว่า นี่คือความอยากหรือไม่ เมื่อมองไม่ออก ก็ยากจะตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่เพื่อให้ภาวนามีความก้าวหน้าในระยะฝึกฝน ขอให้ฝึกฝนไปโดยที่ตนเองรู้สึกว่าสบาย ๆ ไม่เครียด ไม่มีความอยากภายในจิตใจ ก็แล้วกัน
ข้อแนะนำก็คือ เวลาฝึก ให้เข้าใจว่า นี่คือการทำเล่น ๆ เหมือนซ้อมทำ ไม่ใช่ของจริง การที่เราฝึกแบบเล่น ๆ แบบนี้ จะช่วยเรื่องนี้ได้มาก

2.เมื่อคิดจะทำต้องทำเลย โดยไม่หวังผลอะไรหรืออยากรู้อยากเห็นสภาวะธรรม แค่ให้จิตรับรู้ พิจารณา สิ่งทีเข้ามาในมโนทวาร เท่านั้นใช่ไหมคะ

>>> เวลาเราทำอะไรเล่น ๆ ก็ไม่หวังผลแล้วครับ ไม่ต้องหวังผล ไม่ต้องอยากรู้อะไรเลย รู้สึกตัว เฉย ๆ สบาย ๆ เท่านั้น จิตมันจะรู้อะไรก็ช่างมัน
ปล่อยมันทำงานของมันไปอย่างอิสระของมันเอง และก็ไม่ต้องไปคิดอะไรด้วยเช่น ว่า อ๋อ นี่ลมออกนะ อ๋อ นี่ลมเข้านะ ก็ไม่ต้องไปคิดแบบนี้ ถ้าจะรู้ลม เพียงรู้สึกถึงอาการกระเพื่อมๆ กระเพื่อม สั่น ๆ ไหว ๆ ก็พอแล้ว

คำว่า พิจารณาสิ่งที่เข้ามาในมโนทวาร นั้น ขอให้เข้าใจว่า เพียงการที่จิตไปรับรูุ้เข้า ก็ใช้ได้แล้วครับ ไม่ต้องไปใช้ความคิดอื่นใดประกอบในการปฏิบัติเลย

3.. สังเกตุดูว่าเมื่อไหร่ที่เราตั้งใจ มันจะฟุ้ง ไม่เกิดแม้แต่สมาธิ เพราะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ จิตอาจถูกบังคับตามความอยาก ความตั้งใจ เป็นเช่นนั้นหรือไม่

>>> การตั้งใจ ถ้ามากไป มันทำให้เครียดครับ จึงเกิดอาการแบบนั้นขึ้นมา เพื่อมันเกินธรรมชาติไป การปฏิบัตินั้น เพียงรู้สึกตัวธรรมดานี่เอง ใหม่ ๆอาจต้องประคองความรู้สึกตัวไว้บ้างก็ได้ แต่อย่าเกร็ง อย่าเครียด ก็ใช้ได้แล้ว
ฝึกใหม่ ๆ คนมักจะกลัวเรื่องเผลอ จึงตั้งใจมากเพื่อไม่ให้เผลอ แต่ตั้งใจมาก ก็เป็นข้อเสีย ทึ่มันตึงมากไป การฝึก เราเพียงประคองไปเบา ๆ สบาย ๆ อาจมีเผลอบ้าง ก็ช่างมัน รุ้สึกตัว ก็กลับมาประคองความรุ้สึกตัวเบา ๆ สบาย ๆ ต่อไปอีก เราฝึกแบบนี้ ก็จะมีการพัฒนาการดีขึ้น
แต่ถ้าเราตั้งใจมาก เครียดหนัก การพัฒนาการจะไปได้ช้าหรือไปไม่ได้เลยก็ได้ครับ

***ผมแนะนำเพิ่มเติมอย่างนี้
ฤดูหนาว เป็นฤดูที่คนไทยจะชอบไปท่องเที่่ยง ลองหาโอกาสไปท่องเที่ยวที่สบาย ๆ แล้วสังเกตจิตใจตนเองตอนไปท่องเที่ยว มันจะปลอดโปร่ง สบาย ๆ ไม่เครียด เมื่อเราเข้าใจสภาพจิตใจแบบนั้นได้แล้ว เวลาฝึก ก็ประคองจิตใจเบา ๆ ให้สบายๆ ไม่เครียดแบบเช่นเดียวกับเมื่อไปเที่ยว แล้วฝึกไปเสมอ ๆ ก็จะมีการพัฒนาการดีขึ้นไปทีละนิด



โดย: นมสิการ วันที่: 15 พฤศจิกายน 2553 เวลา:11:16:34 น.  

 
เพิ่มเติม คำตอบของคุณ cakecode

เราใช้เทคนิคการมองภาพก็ได้ ในขณะที่จิตใจของเราดีพร้อมที่จะฝึกฝน คือ มันจะสบาย และ ตาที่เรามองภาพ มันจะเป็นภาพกว้าง ๆ แบบ panorama

ถ้าเราเห็นภาพที่เรามองแล้วมันกว้าง ๆ อยู่ ก็แสดงว่า จิตใจของเรานี้ดีพร้อมสำหรับการฝึกฝนได้แล้ว


โดย: นมสิการ วันที่: 16 พฤศจิกายน 2553 เวลา:6:24:51 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:15:29:35 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.