I AM SOMEONE
<<
มีนาคม 2560
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
12 มีนาคม 2560

วิถี ตัวตน คนอีสาน

(บทความนี้เขียนเมื่อต้นปี 2559 เพื่อส่งประกวดสื่อบ้านนอก แนวคิดวิถีชนบท แต่ตกรอบผ่านไป 1 ปี จึงนำมาเผยแพร่)

กว่าแปดปีแล้วที่ผู้เขียนซึ่งเป็นคนต่างถิ่นมาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่มหาสารคาม จังหวัดที่อยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน พื้นที่ที่มีเรื่องราว วิถีชีวิต อาหารการกิน และสภาพแวดล้อมอย่างทุ่งนา และแม่น้ำลำคลอง ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของเมืองหลวงโดยสิ้นเชิง จึงมักถูกเรียกว่า “บ้านนอก”

ภูมิทัศน์บ้านนอก

ทุ่งนาแถบนี้เป็นที่เพาะปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ถึงฤดูเก็บเกี่ยวหากไม่มีเงินจ้างรถไถ ชาวนาที่อยู่ละแวกใกล้เคียงก็จะช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว และตอบแทนกันด้วยการทำอาหารให้กิน บางบ้านปลูกข้าวไว้กินเองเป็นหลัก รวมทั้งพืชผักต่างๆ เหลือจึงค่อยขาย เข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง หากซื้อข้าวจากเกษตรกรเหล่านี้ ก็จะได้ข้าวดีมีคุณภาพ เขาปลูกแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะไม่ได้เน้นที่ปริมาณผลผลิต แต่เน้นความปลอดภัยต่อการบริโภคของตนเอง ปีใดน้ำมากก็ทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง น้ำน้อยต้องงดทำนาปรังและหันไปทำมาหากินอย่างอื่นทดแทน

มหาสารคามเป็นจังหวัดที่แม่น้ำชีไหลผ่านหลายอำเภอ และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าฤดูน้ำหลาก หรือน้ำแล้ง ก็ดูจากระดับน้ำของแม่น้ำสายนี้เป็นหลัก

ชาวบ้านริมน้ำชีในอำเภอกันทรวิชัย บางคนก็พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อน้ำชีลดลงมากจนเดินข้ามฝั่งได้ พวกเขาจะพากันลงไปงมหอยน้ำจืดชนิดหนึ่งเรียกว่าหอยทราย เขาเล่าว่าหลายปีแล้วที่ไม่ได้กินหอยชนิดนี้เพราะน้ำลึก พอฤดูแล้งน้ำตื้นก็งมง่ายกว่า อย่างน้อยก็ช่วยให้พอมีรายได้จากการงมหอยที่ร้อยวันพันปีแทบไม่เคยได้กิน แต่หากเลือกได้ พวกเขาเลือกที่มีน้ำปกติดีกว่า ส่วนชาวบ้านที่หาปลาขนาดใหญ่ไม่ต้องพูดถึง หากเจอสภาพทั้งร้อนทั้งแล้ง ไม่ว่าจะเป็นปลาในกระชังหรือนอกกระชังก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ที่เหลือพอที่จะช้อนสวิงหาได้ก็คงเป็นปลาซิวปลาสร้อยพอเอาไปทำปลาร้าปลาจ่อมกินประทังชีวิตไปวันๆ

แม่น้ำชีต่างไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ใช่แค่เพียงขนาดเท่านั้น แต่วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำทั้งสองนี้ก็ต่างกัน แม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองหลวง จะใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ไม่ได้พึ่งพาอาศัยแบบคนบ้านนอกที่ใช้แม่น้ำเพื่อดำรงชีพมากกว่า ดังนั้น คนที่อยู่ริมน้ำชี มักจะลงหลักปักฐานอย่างถาวร เพราะเขาเชื่อว่าน้ำชีมีสินในน้ำที่พวกเขาหากินได้ไม่มีวันหมด น้ำท่วมน้ำแล้งอย่างไร ก็ยังคงเป็นคนริมชีอยู่เช่นเดิม

ความเจริญคืบคลาน

ภาพชีวิตของคนอีสานในท้องถิ่นที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ ปนเปไปกับคนท้องถิ่นอื่นๆ ที่เข้ามาร่ำเรียน ทำงาน และทำธุรกิจกับเมืองที่ถูกขนานนามว่า เมืองแห่งการศึกษา หรือตักสิลานคร และด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ความเจริญหลายๆ อย่างคืบคลานเข้าสู่ชนบท ถัดจากตัวเมืองของจังหวัดประมาณสิบกิโล ก็เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตขามเรียงในอำเภอกันทรวิชัย

ความเจริญจู่โจมเข้ามาถึงคนบ้านนอกหลากหลายรูปแบบและรวดเร็ว แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีการคัดค้านการสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่โดยอ้างว่าจะทำลายการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบบ้านๆ อย่างร้านโชห่วยของคนท้องถิ่น แต่ที่สุดก็พ่ายต่อทุนนิยม เพราะนิสิตนักศึกษาต้องการมากกว่าห้างท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมและร้านสะดวกซื้อทั่วไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จึงผุดขึ้นในเขตใกล้มหาวิทยาลัยโดยไม่อาจปฏิเสธได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างงานให้คนในท้องถิ่นได้ส่วนหนึ่งด้วย

แน่นอนว่าเมื่อมีห้าง ก็เป็นการสะท้อนถึงความเจริญที่แผ่ขยายเข้ามาชัดเจนขึ้น ราคาที่ดินเขยิบพุ่งสูงขึ้นราวกับแนวรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แต่ต่างกันตรงที่ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัย ยิ่งใกล้เขตมหาวิทยาลัย ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ยิ่งแพง ผู้ซื้อที่ดินตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยเพิ่งจะมาก่อนตั้งเล่าว่าย่านนี้เงียบจนไม่มีใครสนใจ ถนนหนทางยังเป็นดินลูกรัง ขายที่ดินกันแค่ไร่ละหมื่น เพราะมีแต่ทุ่งนากับป่ารกชัฏ พอประชากรเริ่มมากขึ้น นิสิตเพิ่มขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัยสูงขึ้น จากไร่ละหมื่น ขยับเป็นไร่ละแสน และไร่ละล้าน จนบางแปลงไร่ละสิบล้านก็มี

เงินเปลี่ยนชีวิต

เมื่อเห็นที่ดินขายได้ราคา เจ้าของที่ดินรอบๆ มหาวิทยาลัย จึงพากันทยอยขายกันถ้วนหน้า มีเงินให้ลูกหลานอพยพไปตั้งรกรากใหม่ที่อำเภออื่น จังหวัดอื่น บ้างก็ไปอยู่กรุงเทพฯ หรือปริมณฑลเลยก็มี หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา เพียงเพราะขายที่ดินซึ่งเป็นเรือกสวนไร่นาของบรรพบุรุษ ส่วนบางคนขายที่ดินแค่บางส่วนก็ไม่ได้ย้ายถิ่นฐานไปไหน แค่มีนาผืนน้อยลง ทำนาน้อยลง รายได้ก็ลดน้อยลง จึงผันตัวเองไปเป็นแรงงานรับจ้างในมหาวิทยาลัย แม่บ้านตามหอพัก แม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ หรือคนล้างจานตามร้านอาหาร ฯลฯ แล้วแต่ความสามารถที่มี

มีเรื่องราวเล่ากันว่าก่อนจะมีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตขามเรียงแห่งนี้ ทางการได้ขอรับบริจาคที่ดินจากชาวบ้านเพื่อก่อสร้าง ชาวบ้านต่างก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยจะนำความเจริญทางด้านการศึกษามาให้ลูกหลานตน พวกเขาก็ยินดี แม้จะไม่ได้เงินก้อนแต่ก็ได้กุศลอันยิ่งใหญ่ ผู้บริหารสมัยนั้นสัญญาว่าจะรับคนในชุมชนและลูกหลานเข้าทำงานที่นี่ด้วย กระทั่งก่อสร้างเสร็จ ตำแหน่งที่เหมาะสมกับคนในชุมชนและลูกหลานก็คือ ลูกจ้างที่ใช้แรงงานไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชั่วคราวตำแหน่งแม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คนขับรถ คนสวน เป็นต้น ส่วนตำแหน่งที่สูงกว่านั้น ก็ต้องสอบแข่งขันกันกับคนอื่นๆ เหมือนคนทั่วไป ไม่มีอภิสิทธิ์สำหรับเจ้าของที่ดินเดิมใดๆ กาลเปลี่ยน คนเปลี่ยน สัญญาก็เปลี่ยนเช่นกัน

ส่วนบางคนไม่ยอมขายที่ดิน โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ริมชี แต่เมื่อเห็นเม็ดเงินมหาศาลจากจำนวนนิสิตที่เพิ่มขึ้นจึงแปลงสภาพบ้านตนเองเป็นหอพัก บ้านเช่า หรือประกอบกิจการค้าขายแทน เช่น ร้านอาหาร ร้านซักรีด ร้านซ่อมรถ ร้านเสริมสวย ร้านโชห่วย เป็นต้น ซึ่งจะต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้วยเมื่อเลือกที่จะอาศัยรวมกับนิสิตจำนวนมาก ทั้งมลภาวะทางเสียง ขยะที่เพิ่มปริมาณขึ้น น้ำประปาที่แย่งกันใช้กัน และสภาพการจราจรที่หนาแน่นจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง วิถีชีวิตที่เคยเงียบสงบก็ต้องปรับตัวจากการรายล้อมไปด้วยร้านอาหาร ผับบาร์ หรือแม้แต่การตั้งวงกินเหล้ายันเช้า นอกจากเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์เท่านั้นที่นิสิตกลับภูมิลำเนากันไปหมด วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่นจึงกลับมาช่วงเวลาสั้นๆ

สังคม ประเพณี วัฒนธรรมที่สัมผัสได้

ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย เดิมเคยเป็นที่อาศัยของชนเผ่าไทญ้อซึ่งอพยพจากนครพนมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ว่ากันว่าชาวไทญ้อมักจะเลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ติดกับแม่น้ำ จึงเลือกแม่น้ำชี ซึ่งมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ การคมนาคมขนส่งสะดวก และมักจะตั้งชื่อชุมชนขึ้นต้นด้วยคำว่า “ท่า” จึงเป็นที่มาของชุมชนท่าขอนยาง จากหมู่บ้านก็ขยายเป็นตำบลจวบจนปัจจุบัน

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าเมื่อความเจริญรุกคืบ คนพื้นถิ่นบางส่วนก็อพยพออกไปอยู่ที่อื่น บ้างก็ล้มหายตายจาก ดังนั้นชาวไทญ้อจึงลดจำนวนลง แต่ประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่างก็ยังคงมีอยู่ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทั้งหลายก็พยายามจะอนุรักษ์และรณรงค์ให้ลูกหลานชาวไทญ้อสืบทอดต่อไป โดยเฉพาะภาษาไทญ้อซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่น่าศึกษา

อย่างโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม มีครูซึ่งเป็นชาวไทญ้อที่มุ่งอนุรักษ์ภาษาไทญ้อ เพื่อให้เด็กๆ รุ่นหลังได้เรียนรู้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ยังมีความพยายามรักษาวัฒนธรรมอันเก่าแก่นี้ไว้ แม้จะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันก็ตาม แต่ก็ทำให้เด็กนักเรียนโรงเรียนนี้ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง

จุดเด่นที่ผู้เขียนเห็นในตัวคนอีสานคือเป็นคนใจบุญสุนทาน ชอบทำบุญ เข้าวัดเข้าวา ทุกหมู่บ้านจะมีวัด มีทั้งวัดบ้านและวัดป่าตามแต่จะศรัทธา หากเป็นวัดป่า จะถวายแค่ภัตตาหารเช้า เพราะพระวัดป่าฉันมื้อเช้ามื้อเดียว ชาวบ้านนิยมใส่บาตรด้วยข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน แล้วหย่อนลงในบาตร จนเป็นวัฒนธรรมทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีงานบุญฮีตสิบสองตลอดทั้งปี นับเป็นความผูกพันศรัทธากันระหว่างพระกับชาวบ้าน อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาต่างถิ่นได้เรียนรู้ประเพณีของท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ที่ท่าขอนยางมีงานประเพณีอย่างไหลเรือไฟในวันออกพรรษาเช่นเดียวกับจังหวัดที่อยู่ริมโขงอย่างนครพนม แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงมากเท่า แต่พวกเขาก็ยังคงอนุรักษ์ประเพณีรวมทั้งความเชื่อเรื่องของตำนานจระเข้ของชุมชนท่าขอนยางไว้อย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ ปีในพิธีไหลเรือไฟจะมีการปล่อยจระเข้กระดาษขนาดใหญ่ฝีมือพระและชาวบ้านลงแม่น้ำ ภายในงานมีทั้งการแสดงหมอลำ งานวัดเอิกเกริก จนชาวบ้านไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่พวกเขาก็ยินดี เพราะนอกจากได้สนุกสนานด้วยแล้ว ยังได้ทำบุญใหญ่ และที่สำคัญ บ้านที่อยู่ละแวกวัดได้เปิดเป็นที่รับฝากรถมอเตอร์ไซค์ของบรรดาผู้มาร่วมงานสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

เมื่อขึ้นไปบนศาลาวัดในคืนจัดงาน จะเห็นภาพของหญิงชราหลายสิบคนนุ่งขาวห่มขาวนอนกางมุ้งเรียงกันเป็นระเบียบ เพื่อที่รุ่งเช้าจะได้ทำบุญใส่บาตรโดยพร้อมเพรียงกัน ผู้เขียนถามคุณยายคนหนึ่งที่ยังไม่เข้านอนว่า “เครื่องเสียงในงานวัดดังขนาดนี้ นอนหลับหรือ?” คุณยายตอบด้วยรอยยิ้มว่า “หลับสิ เพราะทำสมาธิแล้วก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยจึงหลับไปเอง” นี่เป็นความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวบ้านละแวกนี้อย่างแท้จริง และยินดีที่ได้เห็นลูกๆ หลานๆ เป็นร้อยเป็นพันขึ้นมากราบพระบนศาลาโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการรบกวนการนอนแต่อย่างใด

นอกจากความศรัทธาอันเปี่ยมล้นในพระพุทธศาสนาแล้ว ชาวบ้านยังศรัทธาในการศึกษาด้วย อย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าเขายินดีจะยกที่ดินบริจาคให้เพื่อการก่อสร้างมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อทราบว่าใครเป็นครูเป็นอาจารย์ พวกเขาจะยกย่องนับถือ หวังว่าจะได้พึ่งพาอาศัย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านจะยกมือไหว้ครูอาจารย์ที่อายุน้อยกว่าโดยไม่ลังเล
ส่วนนักเรียนนักศึกษาก็มีสัมมาคารวะเช่นกัน แม้จะเป็นพ่อค้าแม่ขาย ยาม แม่บ้าน พวกเขาก็ยินดีที่จะยกมือไหว้อย่างไม่ขัดเขิน กลายเป็นภาพที่น่าประทับใจ ส่วนสรรพนามที่เด็กเรียกผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่เครือญาติของตน โดยมากเด็กๆ จะไม่เรียกว่า “ลุง” หรือ ”ป้า” แต่ใช้คำที่แสดงความใกล้ชิดมากกว่านั้นว่า “พ่อ” หรือ “แม่” หากอาวุโสมากหน่อย ก็จะเรียกว่า “พ่อใหญ่” หรือ “แม่ใหญ่” ขณะที่ผู้ใหญ่ก็แทนตัวเองว่า “พ่อ” หรือ “แม่” เช่นกัน ฟังดูเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันและอบอุ่นดี

ผู้เขียนพูดได้เต็มปากว่าคนอีสานมีน้ำใจ หากเดินผ่านหน้าบ้านขณะที่เขากำลังกินข้าวกันอยู่ แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน แน่นอนว่าจะต้องได้ยินเสียงคำว่า “กินข้าวกัน” เสมอ จนเป็นเหมือนคำทักทายที่ได้ยินบ่อยกว่าคำว่าสวัสดีเสียอีก

หากเป็นคนอีสานแท้ๆ ไปไหนมาไหนจะพกกระติบข้าวเล็กใหญ่ตามแต่ปริมาณการบริโภคของแต่ละคน เผื่อข้าวบ้านอื่นไม่ถูกปาก ก็ยังมีข้าวกับแจ่วบองหรือปลาร้าสับจ้ำกินได้โดยไม่ยอมที่จะอด ร้านอาหารบางร้านไม่ตำหนิหรือห้ามลูกค้าหากจะสะพายกระติบข้าวเหนียวมาเอง เพราะรู้ดีว่าบางบ้านปลูกข้าว ก็ย่อมอยากกินข้าวในนาของตน และยังประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย ถือเป็นน้ำใจที่มีให้กันแบบที่ผู้เขียนยังไม่เห็นจากที่อื่นมาก่อน

พูดถึงอาหารการกิน ปลาร้าคือ อาหารหลักของคนอีสาน เป็นการถนอมอาหารที่เป็นภูมิปัญญาอันปราดเปรื่องของบรรพบุรุษ จนทุกวันนี้ปลาร้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงรสในอาหารหลายๆ ชนิด เรียกได้ว่า ถ้าไม่ใส่ปลาร้า อาหารนั้นก็ไม่นัว หรือไม่กลมกล่อมเท่าใดนัก และเมื่อได้กลายเป็นสินค้าหรือของฝากขึ้นชื่อของภูมิภาคอย่างปลาร้าบอง จึงจำเป็นจะต้องปรุงให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้นด้วย

ส่วนความแซบนั้น ถ้าภาษาอีสานก็หมายถึงอร่อย แต่สำหรับคนภาคอื่นจะเข้าใจว่าหมายถึงเผ็ดหรือรสจัด ฉะนั้นไม่ว่าอาหารชนิดใด หากถูกปากคนอีสาน ก็จัดว่าแซบได้ทั้งสิ้น สำหรับความเผ็ดก็ต้องยกนิ้วให้คนอีสานเช่นกัน พวกเขากินเผ็ดได้กินจนไม่ต้องนับเม็ดพริกที่ใส่ในส้มตำเลยทีเดียว

บุคลิกเฉพาะอีกอย่างหนึ่งของคนอีสานคือ ชอบพบปะสังสรรค์และร้องรำทำเพลงมากเป็นพิเศษ แม้จะมีการร่ำสุราร่วมด้วยอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนานครื้นเครงเป็นกันเองของพวกเขา ยิ่งที่ใดมีความบันเทิงประเภทหมอลำแล้วล่ะก็ พวกเขาแทบจะลืมเลือนความทุกข์และหายเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอย่างปลิดทิ้ง

ยืนหยัดอย่างยั่งยืน

แม้จะถูกเรียกขานว่าคนอีสานเป็นคนบ้านนอก แต่ใช่ว่าเขาจะไม่ใช่คนไทย เขายังมีหัวใจและความเป็นไทยที่ภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์อยู่เต็มเปี่ยม พวกเขาภูมิใจที่มีเลือดอีสาน ไม่เคยลืมถิ่นฐานบ้านเกิดหรือชาติกำเนิดของตนไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด

คนอีสานรุ่นใหม่มักจะได้รับการสนับสนุนให้เรียนสูงๆ เพื่อชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นเก่า ที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำไร่ทำนาหาเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาสูงจะส่งพวกเขาไปยังเมืองหลวงจนหมด บัณฑิตส่วนหนึ่งไม่ทอดทิ้งบ้านเกิด พวกเขายังคงอยู่รับใช้บ้านเกิดเมืองนอนอยู่อย่างมุ่งมั่น หลายคนได้เข้าไปสัมผัสกับความเจริญในเมืองใหญ่มาแล้ว แต่ก็มิได้พึงใจนักกับการใช้ชีวิตที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน ดูเหมือนเวลาเดินเร็วกว่าลมหายใจเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษา หนุ่มสาวชาวอีสานหลายคนจึงเลือกทำงานที่อีสาน ไม่ว่าจะเป็นงานราชการในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน ประกอบธุรกิจขนาดเล็กของตนเอง หรือแม้แต่กลับไปรับมรดกการเป็นเกษตรกรของบุพพการีต่อด้วยความเต็มใจ

คนรุ่นใหม่หลายๆ คนตั้งใจทำงานที่บ้านเกิด เขาไม่ได้รู้สึกเสียหน้าหรืออับอายที่ทำงานเงินเดือนน้อยกว่าคนเมืองหลวง แต่เขากลับภาคภูมิใจที่ได้รับใช้ภูมิลำเนา มีความสุขที่ได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว ชีวิตไม่ต้องรีบเร่ง มีข้าวในนา ปลาร้าเต็มไห ผักในสวนปลูกไว้กินเอง บ้านไม่ต้องเช่า สุขภาพจิตดี ขณะเดียวกันคนรุ่นเก่าเองก็พอใจที่เห็นลูกหลานมีการมีงานทำ และยังอยู่ดูแลกัน ไม่ต้องรอพบหน้าค่าตาเฉพาะเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

คนรุ่นเก่าที่แม้จะมีการศึกษาไม่สูงนัก แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานเสมอไป ภาครัฐควรจะเปิดโอกาสให้พวกเขาพัฒนาอาชีพด้วยการอบรมทักษะเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอีสานด้วย เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร การสร้างรายได้จากภูมิปัญญา การสร้างอาชีพเสริมในฤดูแล้งที่ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อไม่ให้คนชนบทอพยพไปทำงานในเมืองหลวงด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในแต่ละท้องถิ่น โดยสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ให้เล็งเห็นศักยภาพของคนชนบทอย่างคนอีสาน ซึ่งมีจุดแข็งอยู่ที่ความจริงใจ มีน้ำใจ แบ่งปัน รู้คุณ อดทน และพอเพียง

ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่น่าจะลงทุนในภูมิภาคนี้ อาทิ การขยายกิจการ หรือจับตลาดที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แล้วสร้างธุรกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างธุรกิจด้านการเกษตร แทนที่จะขนส่งผลิตผลการเกษตรไปยังส่วนกลางหรือปริมณฑล ก็ปรับเปลี่ยนเป็นสร้างศูนย์กลางกระจายสินค้าเกษตรกรรมในภูมิภาคนี้ เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว หรือกัมพูชา เข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งคนอีสานในหลายจังหวัดก็สามารถสื่อสารด้วยภาษาของประเทศเพื่อนได้ดีอยู่แล้ว

ไม่เพียงแต่ด้านเกษตรกรรมเท่านั้น ด้านหัตถกรรมหรืองานฝีมือก็ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเช่นกัน เพื่อให้สินค้าประเภทนี้ได้รับการยอมรับโดยต่อยอดจากหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือโอท็อป สามารถเปิดตลาดต่างประเทศทั้งในอาเซียน และทั่วโลก โดยจัดตั้งเป็นศูนย์แสดงและจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งอาจจะเลือกเมืองรองๆ ที่ไม่ใช่เป็นหัวเมืองหลักของภูมิภาค อีกทั้งยังช่วยสร้างจุดขายให้จังหวัดนั้นๆ ได้ด้วย เช่น สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ซึ่งมีท่าอากาศยานรองรับการคมนาคมเป็นอย่างดี หากศักยภาพของจังหวัดต่างๆ และคนในพื้นที่ได้รับการพัฒนา เชื่อได้ว่าคนบ้านนอกก็สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ไม่แพ้คนเมือง รวมทั้งความเจริญที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นชนบทก็จะยั่งยืนโดยไม่ทำลายตัวตนดั้งเดิมของพวกเขาอย่างแน่นอน

แม้ว่าเงิน และความเจริญ จะมีบทบาทในชีวิตของคนบ้านนอกเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจิตวิญญาณความเป็นอีสานของเขาจะถดถอยลง ตราบใดที่โครงสร้างครอบครัว และสังคมในภูมิภาคนี้ยังคงเข้มแข็งเช่นนี้ตลอดไป.




 

Create Date : 12 มีนาคม 2560
3 comments
Last Update : 17 พฤษภาคม 2562 11:28:36 น.
Counter : 1524 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณอุ้มสี

 


บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
กาบริเอล Travel Blog ดู Blog
ชลบุรีมามี่คลับ Literature Blog ดู Blog
Quel Klaibann Blog ดู Blog
ออมอำพัน Literature Blog ดู Blog
ปรัซซี่ Review Food Blog ดู Blog
ไม่ต้องหวานซึ้ง...ก็นึ่งได้ Food Blog ดู Blog
Alex on the rock Literature Blog ดู Blog

I am อีสาน

 

โดย: อุ้มสี 12 มีนาคม 2560 23:21:21 น.  

 

อ่านแล้วคิดถึงบ้านขึ้นมาทันทีเลย ได้ความรู้เพิ่มด้วย เราเป็นคนมหาสารคาม โดยกำเนิด อยู่อำเภอกันทรวิชัย ยังไม่เคยรู้มาก่อนเลยค่ะ ว่าบ้านท่าขอนยาง เคยเป็นที่อาศัยของของชนเผ่าไทญ้อ อ่านแล้วเห็นภาพชัดเจนเลยค่ะ ความเจริญเข้ามารวดเร็วมาก ย่านที่ตั้งมหาวิทยาลัย สมัยก่อนมีแต่ทุ่งนาค่ะ ตั้งแต่ห้างค้าปลีกมาเปิด ตลาดสดบ้านดินดำก็ปิดตัวไป ความเจริญเข้ามาเปลื่ยนวิถีชีวิตบางส่วน ตอนเด็กๆ จำได้ว่า เคยขอกันกินได้ ปัจจุบันนี้อะไรๆก็ต้องใช้เงินค่ะ

 

โดย: Mul (สมาชิกหมายเลข 3531664 ) 17 มีนาคม 2560 4:13:25 น.  

 

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 3263256 13 กรกฎาคม 2560 2:48:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Alex on the rock
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




Blog นี้เป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว ผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนใน Blog กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพและเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของเจ้าของ Blog ด้วย หากผู้อ่านที่แสดงความคิดเห็นไม่อาจจะปฏิบัติตามนี้ได้ เจ้าของ Blog สามารถลบความคิดเห็นของท่านโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ
[Add Alex on the rock's blog to your web]