I AM SOMEONE
<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
13 สิงหาคม 2558

ดูแข่งวัวเทียมเกวียน ที่เมืองเพชร

ในราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จังหวัดเพชรบุรีจะจัดงานพระนครคีรี เมืองเพชร ซึ่งภายในงานนอกจากจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆบนพระนครคีรี หรือเขาวังแล้ว ยังมีงานประเพณีหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเพชรบุรีเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ การแข่งขันวัวเทียมเกวียน โดยจัดขึ้นตรงลานกว้างริมถนนเพชรเกษม อำเภอบ้านลาด

การแข่งขันวัวเทียมเกวียนนั้น ถือว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ไม่มีในจังหวัดอื่น นอกจากที่เพชรบุรี โดยวัวที่นำมาเข้าแข่งขัน ใช่ว่าจะเป็นวัวนม หรือวัวเนื้ออย่างที่เราเห็นทั่วๆไป แต่เป็นวัวที่เขาเลี้ยงขึ้นเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ รูปร่างลักษณะวัวประเภทนี้จะกระเดียดไปทางม้ามากกว่า เนื่องจากมีรูปร่างที่เพรียวกว่า กล้ามที่ขาเป็นมัดๆ ไม่มีไขมันมาพอกบริเวณหน้าท้อง และบางตัวก็ทำท่าพยศอย่างลืมตัวนึกว่าตัวเองเป็นม้าก็มี ดังนั้น วัวประเภทนี้จึงวิ่งเร็วกว่าวัวทั่วๆไปมาก

การแข่งขันวัวเทียมเกวียนจะจัดการแข่งขันเป็นประจำที่อำเภอบ้านลาด โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีวัวส่งวัวเข้าแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ผู้ที่ส่งวัวเขาประกวดส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือชาวบ้านที่มีฐานะดีหน่อย เนื่องจากวัวประเภทนี้มีราคาที่ค่อนข้างแพง ลานที่เขาใช้จัดการแข่งขันก็เป็นทุ่งกว้างที่อยู่ข้างคันนา มีต้นตาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีเป็นฉาก

การแข่งขันจะแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ วัวเทียมเกวียนประเภทความเร็ว และวัวเทียมเกวียนประเภทความสวยงาม สำหรับประเภทความเร็วนั้น เกวียนที่ใช้จะมีสภาพที่ไม่แข็งแรงนัก เพราะเขาทำขึ้นเพื่อให้เกวียนพังโดยเฉพาะ ขณะแข่งก็จะมีคนบังคับคนหนึ่งอยู่บนเกวียน และวิธีที่เขาจะทำให้วัววิ่งไปได้เร็ว เขาก็จะใช้ปฏักคอยทิ่มบนหลังวัวเพื่อเป็นการกระตุ้นให้วัววิ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้น ใครที่ไม่รู้ว่า ฏ. ปฏัก ในพยัญชนะไทยของเราเป็นอย่างไรก็สามารถมาดูได้จากการแข่งขันประเภทนี้ ดูแล้วก็อดเจ็บแทนวัวไม่ได้ เพราะหนังวัวไม่ใช่หนังช้าง หนาน้อยกว่าหลายเท่า คาดว่าเวลาที่มันโดนทิ่มตำมันก็คงเจ็บพอสมควร บางรายเลือดออกซิบๆบนหลังเลยก็มี หากนักอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือมูลนิธิรักสัตว์มาเห็น ต้องต่อต้านการแข่งขันนี้แน่นอน

เมื่อถึงเวลาแข่งขัน ก็จะมีเกวียนสองเล่ม โดยเกวียนแต่ละเล่มจะวัวสองตัวมาช่วยลาก ระยะทางประมาณ 100 เมตร กติกาก็เหมือนๆกับการวิ่งแข่งทั่วไปคือ จมูกตัวไหนถึงเส้นชัยก่อนก็ชนะ พอให้สัญญาณวัวทั้งสี่ตัวก็ถีบตัวออกอย่างรวดเร็วราวกับกินยาบ้าเข้าไป ขณะที่คนที่อยู่บนเกวียนก็คอยเอาปฏักทิ่มอย่างแรง เพื่อให้วิ่งนำคู่ต่อสู้ และเมื่อวัวยิ่งวิ่งเร็วเท่าไร เกวียนที่มันลากก็ลากไปเร็วขึ้นเท่านั้น บ้างก็วิ่งชนกันเอง จนเกวียนบางเล่มถึงขนาดกระจุยตั้งแต่ยังไม่ถึง 50 เมตร ล้อกระเด็นไปคนละทิศละทาง ทำเอาคนที่อยู่บนเกวียนก็หลุดล่วงไปกองกับพื้นโดยที่วัวไม่หันมาใยดี ตั้งหน้าตั้งตาวิ่งลูกเดียวอย่างไม่รู้จุดหมาย นับว่าเจ็บตัวน่าดูสำหรับคนขับเกวียน แต่เขาคงไม่ยี่หระกับบาดแผลที่ได้รับ แม้หลายคนจะเลือดอาบก็ตาม เขาก็ยังคงยิ้มแป้นอย่างภาคภูมิใจที่ได้ลงแข่งขัน และเต็มใจให้ความสนุกสนานแก่ผู้มาชม สำหรับเกวียนที่พังก็เข็นไปซ่อมกันแถวนั้นนั่นแหละ เขาจะมีแผนกวิศวกรรมเกวียนอยู่ไม่ไกล ซ่อมเสร็จก็เอามาแข่งกันต่อ

ส่วนเจ้าวัวสี่ตัวนั้น ถ้าไม่มีใครไปเบรกมัน มันก็วิ่งไปเรื่อยๆ จนเข้ารกเข้าพงไปเจอตอนั่นแหละมันถึงจะหยุด เล่ากันว่าบางตัวหลุดหายไปอยู่ในราชภัฏเพชรบุรีเลยก็มี วันรุ่งขึ้นค่อยไปตามกลับ หรือไม่มันก็กลับมาเอง การแข่งขันวัวเทียมเกวียนประเภทความเร็วนี้สร้างความครึกครื้นสนุกสนาน ขำขัน และตื่นเต้นเร้าใจให้แก่ผู้ชม และเจ้าของวัวเป็นอย่างมาก แม้จะได้เงินรางวัลไม่มากนัก แต่ชาวบ้านลาดก็ยังพร้อมใจกันเอาวัวมาเข้าแข่งขันกันทุกปี

การแข่งขันอีกประเภทหนึ่งคือ วัวเทียมเกวียนประเภทความสวยงาม ประเภทนี้จะไม่เน้นความเร็ว แต่จะให้วัวแต่งตัวให้สวยงาม แล้วเอามาเดินลากเกวียนโชว์ความสวยงาม ให้กรรมการตัดสิน โดยเกวียนที่ใช้จะมีความแข็งแรงทนทาน และสวยงามกว่าเกวียนประเภทแรก กรรมการที่ตัดสินเล่าว่าเกวียนที่นำมาใช้แข่งขันนั้น ไม่ได้สร้างขึ้นง่าย ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญในการทำอย่างยิ่งว่าทำอย่างไรให้เกวียนมีความสมดุล ดังนั้นในการคัดเลือกไม้ การกะวางน้ำหนักจึงต้องมีการคำนวณมาเป็นอย่างดี ไม่ให้คว่ำหรือหงายมากเกินไป ถ้าวัวย่างสบาย คนขี่เกวียนเองก็จะได้ไม่ลำบากเท่าใดนัก ฉะนั้นถ้าจะเรียกผู้ที่สร้างเกวียนว่า “วิศวกรเกวียน” ก็น่าจะได้อยู่

สำหรับประเภทสวยงามนั้น ก็จะมีวัวสองตัวต่อเกวียนหนึ่งเล่มเช่นกัน ส่วนกติกาการแข่งขันก็แค่ให้เดินตามคนที่นำทางสองรอบสนามให้กรรมการดู ซึ่งเขาจะตัดสินจากไหวพริบของวัวว่าสามารถเดินหรือย่างได้ตรงตามคนนำหรือไม่ พร้อมเพรียงกันมากน้อยแค่ไหน จังหวะการย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ขณะเดียวกันยังดูความสวยงามของขนวัว รูปร่างลักษณะวัว และความสมบูรณ์ด้วย ประเภทนี้วัวจะไม่เหนื่อยนัก แต่อาจจะเหนื่อยตรงที่ต้องเสริมสวย เพราะแต่ละตัวเครื่องทรงเยอะเป็นพิเศษ ต้องสวมปลอกเขา ห้อยกระดึง มีกระจังติดที่หน้าผาก สีสันสวยงามตามแต่เจ้าของจะสรรหามาให้ ไม่รู้วัวมันจะตลกตัวเองหรือไม่ที่แต่งตัวอลังการเหลือเกิน ถ้าเป็นคนก็คงจะคล้ายลิเกประมาณนั้น

ความสนุกสนานของการแข่งขันประเภทนี้ก็คือ ความดื้อของวัวแต่ละคู่นั่นเอง บางตัวก็ไม่สนใจคนจูงเอาเสียเลย จะย่างตามใจฉัน จนคนจูงต้องไปเบียดๆหน้าวัวให้เดินตาม ซึ่งก็จะเป็นการเสียคะแนนไปเพราะกติกาห้ามคนจูงถูกตัววัว บางคู่ก็ไม่สามัคคีกัน ตัวหนึ่งจะไปอีกทาง แต่อีกตัวหนึ่งจะมาอีกทาง สร้างความหนักใจให้คนจูงอีก

กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจในงานประเพณีการแข่งขันวัวเทียมเกวียน ได้แก่ การแข่งขันล้มวัวด้วยมือเปล่า เรียกได้ว่า ใครที่รักสัตว์ ไม่ชอบการทารุณกรรมล่ะก็ เลิกดูการแข่งขันนี้ไปได้เลย เพราะดูแล้วนอกจากจะโกรธแค้นคนที่เข้าแข่งขันแล้ว ยังพาลจะไม่รับประทานเนื้อวัวอีกด้วย

การแข่งขันล้มวัวด้วยมือเปล่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใดก็ตามที่คิดว่าเจ๋งกว่าวัวเข้ามาสมัครล้มวัว คือทำให้วัวล้มลงนั่นเอง ไม่ต้องถึงกับฆ่าแกงมัน ซึ่งแน่นอนผู้ที่สมัครก็คงไม่พ้นเด็กหนุ่มๆ ที่มีกำลังวังชาดี กล้าที่จะไปปล้ำกับวัววัยกระเตาะในสนามได้ โดยวัวที่เอามาลงสนามนั้น เป็นลูกวัวที่ตัวไม่โตนัก เขาก็ยังไม่งอก เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอันตรายได้

กติกาการแข่งขันนั้น เขาจะให้ผู้แข่งขันจับฉลากเลือกเบอร์ของวัวที่จะล้ม เมื่อปล่อยลงสนาม ก็จะมีวัวหลายๆตัววิ่งปนกัน แล้วผู้แข่งขันก็ต้องพยายามปล้ำตัวที่เลือกไว้ให้ล้มลงให้ได้ในเวลาที่จำกัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะปราบวัวเด็กที่แสนซนพวกนี้ และแม้จะเป็นวัวเด็กก็ตาม แต่มันก็มีเลือดนักสู้อยู่เต็มเปี่ยม มันไม่ได้ยอมให้ล้มง่ายๆ เหมือนกัน สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมันยังมีอยู่ เพื่อนก็ช่วยเพื่อน มีการวิ่งชนบ้าง กั๊กไว้ไม่ให้จับบ้าง เป็นที่สนุกสนานของผู้ชมส่วนใหญ่ แต่ไม่สบายใจนักสำหรับผู้ชมบางคน ก็อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ ถ้าเห็นภาพแล้วอาจทนดูไม่ได้เลยทีเดียว เนื่องจากการทำให้วัวล้มนั้นไม่ใช่เรื่องหมูๆเลย วัวมันมีสี่ขา มีจุดศูนย์ถ่วงดีกว่าคนซึ่งยืนสองขาเยอะ ดังนั้นการจับมันล้มก็คือการจับคอมันบิดๆๆๆ เรียกว่า คอวัวแทบจะหักก็ว่าได้ เพราะต้องออกแรงบิดเยอะเหลือเกิน หน้าวัวก็เหยเกแล้ว มันจึงยอมล้ม ไม่อย่างนั้นคอมันคงหมุนได้รอบ คนที่เข้าแข่งขันก็ต้องเป็นคนใจเด็ดจริงๆ ถึงกล้าที่จะปล้ำกับวัวได้

ในตอนกลางคืนของงานเทศกาลดังกล่าว ก็ยังมีการแข่งขันอีกอย่างหนึ่งที่ระทึกใจยิ่งกว่า นั่นคือ การแข่งขันวิ่งวัวลาน ซึ่งนับเป็นกีฬาที่เล่นกันมากในจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งโบราณนานนับร้อยปีมาแล้ว จนกลายเป็นกีฬาประจำจังหวัดที่มีแข่งขันกันตลอดทั้งปีตามงานวัดต่างๆ การแข่งขันประเภทนี้จะจัดขึ้นประมาณ 4 ทุ่มเป็นต้นไปกระทั่งถึงเช้า เพราะเป็นการแข่งขันที่ใช้เวลานานมาก วัวต้องใช้พละกำลังมหาศาล จึงไม่เหมาะที่จะแข่งตอนกลางวัน ไม่เช่นนั้นวัวอาจเป็นลมได้ (แต่คนน่าจะเป็นลมมากว่า เพราะแดดร้อนเหลือเกิน) และเป็นเวลาที่ชาวนาชาวไร่เสร็จจากงานแล้วด้วย จึงมีเวลาที่จะเอาวัวมาแข่งขันกันได้

การแข่งขันวัวลาน เรียกความสนใจจากผู้ชมท้องถิ่น รวมทั้งผู้ชมต่างถิ่นได้เป็นอย่างดี เพราะมีผู้พากย์ท้องถิ่นที่พากย์จนได้อารมณ์ และวงดนตรีไทยที่มีทั้งปี่ชวา กลอง ตะโพน ระนาดก็รัวดังตลอดการแข่งขัน สร้างความระทึกให้แก่วัวที่เข้าแข่งไม่น้อย

กีฬาวัวลาน จะมีเสาหลักอยู่ตรงกลางลาน และมีวัว 18 ตัวผูกเรียงหน้ากระดานกัน ตัวสุดท้ายเรียกว่า “วัวนอก” ตัวรองสุดท้ายเรียกว่า “วัวรอง” ส่วนตัวถัดมาจากวัวรอง เรียกว่า “วัวคาน” วัวทั้งสามตัวสุดท้ายนี้จะต้องแข็งแรงพอตัว เพราะจะเป็นตัวที่วัดความแพ้ชนะกัน หากวัวนอกไม่สามารถวิ่งมาปาดหน้าวัวรองและวัวคานได้ก็แพ้ไป แต่ถ้าเมื่อไรที่สามารถวิ่งปาดหน้าได้ก็ถือว่าชนะทันที กีฬาประเภทนี้นอกจากจะแข่งขันเพื่อความสนุกสนานตื่นเต้นแล้ว ยังมีเรื่องของเงินเดิมพันเข้ามาด้วย เพราะวัวแต่ละตัวราคาไม่ใช่น้อยๆ คงไม่เลี้ยงเพื่อมาวิ่งให้เหนื่อยเพียงอย่างเดียว

ในการแข่งขัน วัวตัวในสุดที่อยู่ติดเสาหลัก จะย่างช้าๆ วนไปรอบๆเสา โดยมีเด็กตัวเล็กๆไปยืนคุมอยู่อย่างไม่รู้สึกเกรงกลัว ท่าทางจะชินเสียแล้วด้วยซ้ำ ตัวถัดๆมาก็จะย่างเร็วขึ้นเรื่อยๆ และประมาณตัวที่ 10 จะเริ่มวิ่งแทนการย่างแล้ว ส่วนวัวคาน วัวรอง และวัวนอก จะมีเจ้าของวิ่งตามเอาปฏักยาวไปทิ่มหลังให้วิ่งเร็วขึ้น เหมือนขี่ม้าแล้วเอาแส้ฟาดนั่นแหละ แต่กับวัวใช้ปฏักทิ่มแทน มันคงเจ็บน่าดู เพราะเขาไม่ได้ทิ่มเบาๆ นะ ยิ่งช้ามันก็จะโดนทิ่มแรงขึ้น วัวคานและวัวรองก็ต้องทิ่มเพื่อไม่ให้วัวนอกวิ่งตัดหน้าได้ บางตัวเลือดออกก็มี เห็นแล้วก็อดสงสารไม่ได้ มันเหนื่อยมากพอแล้ว ยังต้องมาเจ็บตัวอีก

กีฬาชนิดนี้จึงไม่เหมาะกับคนขวัญอ่อนที่ไม่ชอบภาพหวาดเสียว และอาจคิดว่าเป็นการเอาสัตว์มาทารุณกรรมได้ จึงควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกที่ชื่นชอบไปก็แล้วกัน เพราะมันเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน จะไปยกเลิกกันง่ายๆนั้น คงไม่ได้ เช่นเดียวกับการชนไก่นั่นเอง แต่ไม่ต้องถึงกับเสียเลือดเสียเนื้อ หรือสู้ยิบตาขนาดไก่ชน เพียงแต่เอามันเข้าว่าก็พอแล้ว

การได้มีโอกาสมาสัมผัสกับประเพณีพื้นบ้านอย่างประเพณีการแข่งขันวัวเทียมเกวียนนี้ก็ได้ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนเมืองเพชรมากขึ้น ใครว่าคนเมืองเพชรดุ ที่ไหนได้ใจดียิ่งนัก ถามอะไรก็ตอบ อะไรที่ไม่รู้ไม่เข้าใจก็แนะนำหรืออธิบายจนแจ่มแจ้ง เต็มใจที่บอกเล่าอย่างภาคภูมิใจในประเพณีของชาวบ้านลาด
บรรดาชาวต่างชาติเองที่เข้ามาชมงานนี้ก็ต้องทึ่งกับความสามารถในการสร้างเกวียนของวิศวกรเกวียนเมืองเพชร และศิลปะในการขี่เกวียนโดยเฉพาะการแข่งขันต่างๆ ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีของคนเมืองเพชรอย่างชัดเจน แล้วคนไทยเองจะไม่ลองมาเยือนเมืองนี้กันสักหน่อยหรือ นอกจากขนมหวานอันเลื่องชื่อแล้ว วัวของเขาก็แรงจริงๆ นับเป็นเสน่ห์ของจังหวัดเพชรบุรีที่น่าหลงใหลทีเดียว

###############
สารคดีท่องเที่ยวเรื่องนี้เขียนในราวปี 2544 ตอนนี้ไปทำรายการท่องเที่ยวและไปถ่ายทำที่บ้านลาด เมืองเพชร เราเขียนเพื่อจะส่งไปนิตยสารท่องเที่ยวเล่มนึงชื่อเที่ยวสนุก ที่มีไมตรี ลิมปิชาติเป็นบก. เขาสนใจนะ แต่เราไม่มีรูปประกอบให้ เพราะสมัยนั้นไม่มีกล้องถ่ายรูป ไม่ได้ถ่ายเอาไว้เลย น่าเสียดาย...



Create Date : 13 สิงหาคม 2558
Last Update : 13 สิงหาคม 2558 21:06:52 น. 0 comments
Counter : 1103 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Alex on the rock
Location :
มหาสารคาม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




Blog นี้เป็นพื้นที่ส่วนตัว เป็นความเห็นส่วนตัว ผู้อ่านอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนใน Blog กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพและเคารพสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของเจ้าของ Blog ด้วย หากผู้อ่านที่แสดงความคิดเห็นไม่อาจจะปฏิบัติตามนี้ได้ เจ้าของ Blog สามารถลบความคิดเห็นของท่านโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ
[Add Alex on the rock's blog to your web]