|
 |
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
 |
10 มิถุนายน 2549
|
|
|
|
แฟรนไชส์ร้านอาหารไทย: อีกครึ่งที่ขาดหายไป
วันนี้ผมจะท่านผู้อ่านย้อนอดีตไปช่วงปีพ.ศ. 2518 - 2519 ถนนทางเข้าหาดบางแสนที่จังหวัดชลบุรี มีร้านขายก๋วยเตี๋ยวขายดีอยู่เจ้าหนึ่งตั้งอยู่ในซอยถนนดินปนลูกรังแคบๆ ฝั่งตรงข้ามกับ ม.ศ.ว. บางแสน หรือมหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน ร้านนี้ในตอนแรกไม่มีป้ายหน้าร้านมีแต่ป้ายชื่อร้านที่ทำด้วยกระดาษแข็งแปะผมแผ่นโพมแขวนห้อยอยู่ด้านหน้าเตาน้ำซุป ในยามที่ลมพัดป้ายชื่อร้านก็แกว่งฉวัดเฉวียงไปมาอยู่เหนือหัวคนปรุงก๋วยเตี๋ยว ถึงจะรู้ดีว่าแม้ลมจะพัดป้ายชื่อร้านที่ว่าขาดตกลงมาก็คงไม่มีอันตรายสักเท่าใดแต่ผมก็อดหวาดเสียวว่ามันจะตกลงมาจริงๆ ไม่ได้อยู่หลายครั้งหลายหน
ร้านก๋วยเตี๋ยวร้านขายดีร้านนี้ชื่อ เติม-วัน ทุกกลางวันจะเห็นผู้คนออกันแน่นขนัดเพื่อรอทานก๋วยเตี๋ยว บางรายหาที่นั่งไม่ได้ถึงกับต้องยืนทานก๋วยเตี๋ยวซึ่งมีให้เห็นอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะเวลากลางวัน แต่ดูเหมือนทุกคนที่มาทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านนี้ช่างมีน้ำอดน้ำทนกันเสียจริง บนขอบถนนใหญ่หน้าม.ศ.ว. บางแสนท่านจะเห็นรถยนต์จอดเรียงกันเป็นแนวยาว อีกทั้งมอเตอร์ไซด์ที่ขับเข้ามาจอดหน้าร้านเพื่อสั่งซื้อก๋วยเตี๋ยวกลับไปทานที่บ้าน
เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนี้เป็นสามี ภรรยารุ่นคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่งที่กำลังกำลังปรุงก๋วยเตี๋ยวกันอย่างเร่งร้อน เนื่องจากสงสารลูกค้าทั้งหลายที่ต้องมานั่งรอกันทีละนานๆ กว่าจะได้ลิ้มรสก๋วยเตี๋ยวกันก็มักจะเข้าไปบ่ายโข คุณลุงร้านนี้ชื่อเติม ส่วนคุณป้าชื่อวัน ซึ่งชื่อของคนทั้งสองกลายมาเป็นชื่อของร้านว่า เติม-วัน โดยปริยาย แต่ที่ผู้คนจำร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ได้ดีไม่ใช่เพราะชื่อร้านเติม-วันแต่กลับเป็นเมนูก๋วยเตี๋ยวของร้านที่มีชื่อฟังดูพิสดาร อย่างเป็นต้นว่า ดู๋ดี๋ ขลุกขลิก แสบภูธร แสบนครบาล แสบต.ช.ด. เอ็ม16 และชื่อแปลกๆ อื่นๆ อีกมากมาย แต่ละชื่อสื่อมีความหมายโดยนัยของลักษณะก๋วยเตี๋ยวที่ถูกปรุงขึ้นมา เช่น ดู๋ดี๋ คือวุ้นเส้นต้มยำใส่น้ำแต่พอแฉะ ตามด้วยหมูต้ม ฝานบางๆ ใส่ถั่วงอกและที่แปลกในตอนนั้นคือการปรุงก๋วยเตี๋ยวโดยมีมะนาวเป็นตัวชูรส ส่วน ขลุกขลิก คือบะหมี่ที่ใส่หมูต้ม ถั่วงอก น้ำมะนาวและเติมน้ำซุปให้พอขลุกขลิก หรือ แสบภูธรคือ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสเผ็ดจัดจ้าน เมื่อได้ลองก๋วยเตี๋ยวของร้านนี้ ลูกค้าหลายๆ คนก็ต้องเรียกหาชามที่สอง
ทุกกลางวัน ร้านเติม-วันนี้มักจะขายหมดก่อนที่ลูกค้าจะหมดอยู่เสมอ คุณลุงเติมและเติมและคุณยายวันเห็นใจลูกค้าที่มาแล้วไม่ได้ทาน กอปเสียงต่อว่าต่อขานว่าถ้าก๋วยเตี๋ยวหมดแล้วจะรู้ได้อย่างไร น่าจะบอกกันก่อนจะได้ไม่ต้องแวะเข้ามาในซอย ด้วยเหตุนี้ทำให้คุณลุงกับคุณป้าต้องหากลยุทธ์โดยการสร้างสัณญาณที่จะแจ้งให้ลูกค้าทราบสถานะของร้าน โดยติดป้ายที่เป็นคำกลอนไว้ในร้าน โดยให้ลูกค้าสังเกตดูสีธงที่ชักขึ้นเหนือหลังคาร้าน บทกลอนที่ว่ามีดังนี้ครับ เห็นธงเขียวเลี้ยวมาเถิดเปิดสำนัก ธงชมพูรู้ประจักษ์สำนักปิด แต่ในร้านไม่ได้มีแต่บทกลอนบอกถึงยามเปิดหรือปิดร้านเท่านั้น แต่ด้วยความที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนที่ข้างฝาเราก็จะเห็นคำกลอน คำขวัญอื่นๆ แปะไว้อยู่ทั่วเช่น รักเติม วันละนิดจิตแจ่มใส
ร้านเติม-วันขายดีอยู่อย่างนี้มาเป็นปีๆ จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ยินว่ามีคนมาซื้อกิจการของร้านพร้อมสูตรก๋วยเตี๋ยวของลุงเติมกับยายวันไป แล้วก็ย้ายร้านไปตั้งที่ใหม่ซึ่งก็ไม่ไกลกับร้านเติม-วันเจ้าเก่าสักเท่าไร คืออยู่ในซอยเดียวกันนั่นเองแต่ขยายขนาดของร้านให้ใหญ่ขึ้นสามารถรองรับคนได้มากขึ้น ร้านนี้เมื่อย้ายมาใหม่ก็ไม่ได้ชื่อร้านเติม-วันเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป แต่ร้านมักเป็นที่รู้จักกันในชื่อร้านก๋วยเตี๋ยว ดู๋ดี๋ เพราะเมนูชื่อพิสดารและนโยบายการชักธงบอกเวลาปิดเปิดร้านกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของร้านค้าบทบังชื่อเจ้าของเดิมไป เมื่อถึงคราวย้ายร้านไปที่ทำเลใหม่ลูกค้าร้านเดิมของร้านเติม-วันก็ไม่ได้หนีหายไปไหนเพราะผู้ซื้อกิจการของจากคุณลุงเติม กับคุณยายวันนั้นยังยึดถือวิธีปรุงก๋วยเตี๋ยวอันขึ้นชื่อลือชาอยู่อย่างเคร่งครัด ทำให้ลูกค้าก็ยังแน่นขนัดอยู่เหมือนเดิม รสชาติของก๋วยเตี๋ยวนั้นก็คงเส้นคงวา อาหารชื่อพิสดารในเมนูก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ทุกอย่างก็คงยังมีอยู่ แทบจะเรียกว่าเหมือนเดิมทุกอย่าง ขาดแต่ไม่มีลุงเติม กับยายวันมาทำก๋วยเตี๋ยว เหมือนแต่ก่อนและบทโคลงกลอนที่เคยมีติดอยู่บนข้างฝาอยู่มากมายค่อยๆ เริ่มมีน้อยลงและอรรถรสของบทกวีก็ไม่จัดจ้านเหมือนกับสมัยที่ยังมีคุณลุงเติมกับคุณยายวันเป็นทั้งผู้ปรุงทั้งก๋วยเตี๋ยวและโคลงกลอนเหล่านั้น ผมได้ทราบต่อมาว่าร้านก๋วยเตี๋ยวดูดี๋ หรือก๋วยเตี๋ยวชักธงนี้ในภายหลังได้ขายแฟรนไชส์ออกไปในหลายจังหวัดนอกเหนือจากที่ชลบุรีแล้วก็เห็นว่ามีสาขาที่อื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นสาขาในกรุงเทพฯที่มีอยู่ด้วยกันหลายสาขา หรือสาขาในต่างจังหวัดอย่างที่เชียงใหม่ ปทุมธานี
ว่ากันไปแล้วที่มาที่ไปของก๋วยเตี๋ยวดูดี๋หรือก๋วยเตี๋ยวชักธงที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวไทยในยุคแรกๆ นั้นก็มีที่มาที่ไปไม่ได้ต่างจากการเริ่มต้นของเรย์ คร็อกเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสฟู๊ด แม็คโดนัลด์ชื่อดังที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน เริ่มจากการที่เรย์ คร็อกซึ่งในขณะนั้นเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องผสมมิลค์เชค เรย์พบว่าในใบสั่งซื้อสินค้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเมืองซานเบอร์นาดิโน มลรัฐแคลิฟอร์เนียนต้องการซื้อเครื่องผสมมิลค์เชคที่สามารถผสมมิลค์เชคในทีเดียว 8 แก้วซึ่งในตอนนั้นเครื่องผสมมิลค์เชคที่ดีที่สุดทำได้เพียง 6 แก้วต่อครั้งเท่านั้น เรื่องนี่ทำให้เรย์เกิดความสงสัยว่า ธุรกิจร้านอาหารในลักษณะใดที่ต้องใช้เครื่องผสมมิลค์เชคที่ทำได้รวดเดียว 8 แก้ว เพื่อตอบข้อสงสัยของตัวเอง เรย์จึงต้องเดินทางไปดูให้เห็นกับตาที่ซานเบอร์ดิโน เมื่อเรย์ไปถึงที่ซานเบอร์ดิโนเขาก็พบว่าร้านดังกล่าวเป็นร้านขายแฮมเบอร์เกอร์ ที่ขายดิบขายดีมีคนยืนรอต่อคิวใต้ซุ้มประตูสีทองเพื่อที่จะซื้อแฮมเบอร์เกอร์และมันฝรั่งทอดที่แสนกรอบอยู่ยาวเหยียด นอกจากนี้เรย์ยังประทับใจในการให้บริการของร้านที่ทำให้ลูกค้าซื้ออาหารได้สะดวกรวดเร็ว เรย์เริ่มสนใจที่จะร่วมเป็นเจ้าของในร้านอาหารแห่งนี้ ซึ่งเขาต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดจนในที่สุดมิสเตอร์มอริสและริชาร์ด แม็คโดนัลด์ ผู้ก่อตั้งร้านแม็คโดนัลด์ก็ยอมขายแฟรนไชส์ให้เรย์ในที่สุด ในเวลาต่อมาร้านแม็คโดนัลด์ก็ได้ตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของเรย์ เรย์ คร็อกพยายามปลุกปั้นร้านแม็คโดนัลด์จนกระทั่งในปัจจุบันร้านอาหารแม็คโดนัลด์เป็นร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 30,000 แห่งตั้งอยู่ใน 121ประเทศทั่วโลก ผมคิดว่าปรัชญาหลักที่เรย์ คร็อกได้ทิ้งไว้ให้ผู้บริหารรุ่นต่อมาได้สืบทอดก็คือ
1. อาหารที่มีคุณภาพสม่ำเสมอในทุกร้านของแม็คโดนัลด์ในทุกแห่งทั่วโลก ด้วยความคิดที่ว่าเมื่อท่านทานแฮมเบอร์ในคำแรกท่านจะรู้ได้ทันที่ว่านี่คือแฮมเบอร์เกอร์ของร้านแม็คโดนัลด์เนื่องจากการควบคุมและตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารที่เข้มงวดทุกขั้นตอน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นในการปรับเพิ่มเมนูให้ตรงกับความการในท้องถิ่น เช่นท่านอาจเห็นว่าแม็คโดนัลด์มีเมนูอาหารประเภทไก่ในประเทศไทย แต่ไม่มีเมนูนี้ในอีกหลายประเทศ 2. ร้านแม็คโดนัลด์ทุกร้านมีรูปแบบการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เป็นกันเองนอกจากนี้ยังปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นอยู่อย่างตลอดเวลา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือถ้าท่านไปซื้ออาหารที่ร้านแม็คโดนัลด์ท่านจะเห็นกล่องสีเหลืองข้างบนมีปุ่มกดสีแดงซึ่งนาฬิกานับเวลาถอยหลัง ทันทีที่ท่านสั่งอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วพนักงานจะให้ท่านกดปุ่มการนับเวลาถอยหลัง หากพนักงานไม่สามารถจัดอาหารให้ท่านได้ภายใน 1 นาทีถือว่าทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก ทางร้านก็จะเตือนตัวเองด้วยการ ให้คูปองที่จะนำไปแลกโค๊กหรือมันฝรั่งทอดถุงเล็กได้ฟรีเป็นการตอบแทน 3. ความมีเอกลักษณ์ของความเป็นแม็คโดนัลด์ ท่านคงจะสังเกตุเห็นร้านอาหารแม็คโดนัลด์อยู่ทั่วไปในย่านการค้าต่างๆ แต่ที่น่าสนใจคือร้านแม็คโดนัลด์มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมากคือเมื่อท่านเห็นร้านอาหาร สีแดง เหลือและเครื่องหมายที่คล้ายตัวเอ็มในภาษาอังกฤษ ท่านคงบอกได้ทันที่ว่าร้านอาหารดังกล่าวคือร้านแม็คโดนัลด์ นอกจากนี้ถ้าท่านเข้าไปในร้านท่านจะมีรู้สึกเหมือนอยู่ในบรรยากาศที่คุ้นเคยไม่ว่าจะร้านแม็คโดนัลด์นั้นจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ตาม 4. การคัดเลือกผู้เข้าร่วมธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ (Franchise) ที่เข้มงวด ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น Master Franchisee ต้องเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิการขายที่มีความเข้าใจในปรัชญาของร้านอาหารแม็คโดนัลด์อย่างถ่องแท้ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ Franchiser นอกจากนี้ยังต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและยังต้องเป็นผู้ที่สามารถมองเห็น และแสวงหาโอกาสและลู่ทางการขยายธุรกิจให้เติบโตได้
อย่างที่ผมได้นำเสนอว่าที่มาของร้านก๋วยเตี๋ยวชักธงและร้านแม็คโดนัลด์ไม่ได้มีความแตกต่างกันสักเท่าไร ความแตกต่างของร้านทั้งสองเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของร้านหลังจากที่ได้ก่อตั้งขึ้นมา ทางร้านแม็คโดนัลด์นั้นสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างอย่างรวดเร็ว ขยายสาขาใหม่ๆออกไปอย่างมากมาย ซึ่งมีกระจายอยู่ในหลายร้อยประเทศทั่วโลก ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาเห็นร้านแฮมเบอร์เกอร์สีแดงเหลืองก็รู้ได้แทบจะทันทีหรือคาดเดากันเอาไว้ก่อนว่าคือร้านแม็คโดนัลด์ ร้านอาหารฟาสฟู๊ดที่ขายอาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนี้เหล่าตัวการ์ตูนที่แม็คโดนัลด์สร้างขึ้นมาอย่าง โรนัลด์ แม็คโดนัลด์ก็เป็นที่ติดอกติดใจของเด็กๆ รวมทั้งผู้ใหญ่หลายๆคน ตัวการ์ตูนเหล่านี้กลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้เสริมให้กับร้านเมคโดนัลด์ โดยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการส่งเสริมการขายที่ได้ประสบความสำเร็จ ยิ่งคนเข้ามาทานอาหารในร้านมากเท่าไรโอกาสของการขยายกิจการก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนบทเรียนที่ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความยิ่งใหญ่ของร้านอาหารไม่ได้มีแค่รสอาหารที่ถูกปากเท่านั้น ยังมีส่วนผสมอื่นๆ ที่ทำให้ร้านอาหารร้านใหญ่ๆ เหล่านี้โดดเด่นเหนือร้านอาหารอื่น ส่วนผสมอื่นๆ ที่ผมว่าคือก็ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Self-identity) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ก่อให้ร้านเกิดความแตกต่าง (Differentiation) เกิดจุดขายที่ไม่เหมือนใครและทำให้ผู้คนรู้จักจดจำร้านได้
ต้องอย่าลืมนะครับว่าองค์ประกอบของการเติบโตของแม็คโดนัลด์นั้นไม่ได้มาจากอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงองค์ประกอบร่วมอื่นๆ ที่ทำให้แม็คโดนัลด์เป็นแม็คโดนัลด์ ไม่ใช่แค่ร้านฟาสฟู๊ดที่ขายอาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์ ความเป็นแม็คโดนัลด์ที่ผมว่ายังรวมไปถึง ความเป็นมาของร้าน ชื่อเสียงที่ไว้ใจได้ของร้าน บรรยากาศ บริการ ความเป็นกันเอง ความสนุกที่เกิดขึ้นจากการไปที่ร้าน (โดยเฉพาะกลุ่มเด็กๆ) องค์ประกอบอันหลังนั้นเป็นความอร่อยที่ซ่อนเร้นอยู่ในร้านแม็คโดนัลด์และเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบกันได้ยากยิ่ง ลองคิดดูซิครับอาหารที่แสนอร่อยนั้นอาจจะถูกเลียนแบบกันได้ง่ายๆ เพียงแค่ใครคนใดคนหนึ่งเรียนรู้สูตรของการปรุงอาหารนั้นหรือลอกเลียนแบบสูตรได้อย่างใกล้เคียง แต่เพื่อที่จะให้เหมือนกับร้านแม็คโดนัลด์แทบทุกกระเบียดนิ้วเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากความมีเอกลักษณ์ของแม็คโดนัลด์นั้นยากที่จะจับต้องได้ ดังนั้นผู้ที่คิดจะเลียนแบบจึงทำได้มากที่สุดก็แค่ คล้าย แต่มักจะไม่ เหมือน เพราะอะไรที่จับต้องได้ยากนั้น จะมีความลำบากที่จะทำให้ได้เหมือนต้นตำรับ สิ่งเหล่านี้นี่ละครับที่ทำให้แม็คโดนัลด์เป็นร้านอาหารที่ไม่เหมือนใคร หันกลับมามองในอีกข้างร้านก๋วยเตี๋ยวก็เช่นกัน ร้านที่ปรุงก๋วยเตี๋ยวที่มีรสชาติได้ใกล้เคียงหรือเหมือนกับก๋วยเตี๋ยวดูดี๋สูตรเด็ดของคุณลุงเติมกับคุณยายวัน อาจจะมีนับสิบแห่งกระจายไปอยู่ทั่วประเทศ แต่หากร้านปราศจากเอกลักษณ์ที่คุณลุงเติม คุณยายวันได้สร้างขึ้นมาในสมัยนั้นแล้วร้านก๋วยเตี๋ยวชักธงวันนี้ก็คงจะไม่ต่างจากร้านก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ ที่เป็นก๋วยเตี๋ยวเด็ดสูตรมะนาวที่ขายกันอยู่อย่างดาดดื่นๆ เพราะใครๆ ที่ทำธุรกิจก็มักจะกลัวว่าจะขายความเป็นตนเองไม่ออก ด้วยเหตุนี้ร้านเหล่านั้นจึงต้องหาทางออกโดยการขายความเป็นคนอื่น เพราะความดังของคนอื่นทำให้ก๋วยเตี๋ยวของเขาขายได้ แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าความเป็นคนอื่นนั้นมาจากไหน และคนอื่นคนนั้นคือใคร ผมอยากสนับสนุนให้ร้านอาหารไทยๆ ที่มีจุดกำเนิดที่น่าสนใจอย่างก๋วยเตี๋ยวชักธง มีเรื่อราวเล่าขานมากมายอันน่าติดตาม มีจุดขายที่หลายคนต้องเกรงขามและอยากจะเลียนแบบ เรียกคืนเอกลักษณ์อันโดดเด่นของความเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยแสนดังกลับมา ไม่ว่าจะเป็นบทกลอนที่ติดอยู่ข้างฝา เติมเต็มด้วยประวัติความเป็นมาของร้านที่น่าติดตาม การต้อนรับที่มีอย่างเป็นกันเอง รวมถึงได้เรียนรู้เข้าถึงจิตวิญาณของผู้ปรุงก๋วยเตี๋ยวเด็ดสูตรมะนาว ซึ่งในวันนี้ผมคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่น่าจะใช่แค่เมนูอาหารและธงที่ชักขึ้นสู่ยอดเสา เพราะร้านในวันนี้ไม่ได้มีลูกแน่นขนัดอย่างแต่ก่อน การชักธงขึ้นเสาก็คงไม่มีประโยชน์อะไรและก็คงไม่มีใครอยากจะรู้ความหมายของธงสีต่างสี ที่ชักขึ้นสู่ยอดเสา ผมคิดว่ายังไม่สายที่จะเรียกอร่อยที่แฝงเร้นของร้านกลับคืนมาและผมว่านี่คืออีกครึ่งหนึ่งที่ของร้านที่ขาดหายไป
นอกจากร้านก๋วยเตี๋ยวชักธงแล้วผมยังเห็นร้านอาหารไทยที่มีศักยภาพสูงในการขยายกิจการในรูปแบบแฟรนไชส์อีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นร้านเย็นตาโฟทรงเครื่องของอาจารย์มัลลิการ์ ที่มีสโลแกนแสนคมบาดตาเช่น สำหรับคน (ชอบ) เส้นใหญ่ ที่ทุกวันมีคนออรอคิวทานก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟกันอยู่อย่างแน่นขนัด หรือร้านมนต์นมสดเสาชิงช้าที่ยังคงความเอกลักษณ์ของความเป็นมนต์นมสดได้อย่างเหนียวแน่นทุกกระเบียดนิ้ว และร้านอาหารไทยอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งที่เจ้าของร้านอาหารเหล่านี้ต้องพึงระลึกไว้เสมอ คือมีร้านเล็ก ร้านย่อย ที่พร้อมจะขายอาหารจานดังของคนอื่นอยู่มากมาย อย่าให้ความอร่อยของร้านท่านหยุดอยู่แค่รสอาหารเท่านั้นนะครับ ควรจะเติมเต็มความอร่อยของร้านด้วยเอกลักษณ์อย่างอื่นๆ อีกเพื่อที่จะไม่ให้อีกครึ่งหนึ่งของความอร่อยขาดหายไป
Create Date : 10 มิถุนายน 2549 |
Last Update : 10 มิถุนายน 2549 0:24:45 น. |
|
29 comments
|
Counter : 2384 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: ต้อมครับ IP: 222.123.227.218 วันที่: 20 มิถุนายน 2550 เวลา:2:14:50 น. |
|
|
|
โดย: ต้อมครับ IP: 222.123.227.218 วันที่: 20 มิถุนายน 2550 เวลา:2:16:16 น. |
|
|
|
โดย: Max77 IP: 203.146.63.185 วันที่: 28 มิถุนายน 2550 เวลา:23:10:38 น. |
|
|
|
โดย: นีรนุช จำปาแขม IP: 125.26.15.1 วันที่: 2 สิงหาคม 2550 เวลา:18:00:10 น. |
|
|
|
โดย: ขวัญชนก IP: 124.120.209.181 วันที่: 17 กันยายน 2550 เวลา:16:33:44 น. |
|
|
|
โดย: วนิสรา IP: 125.27.65.129 วันที่: 25 กันยายน 2550 เวลา:14:22:22 น. |
|
|
|
โดย: ดล IP: 125.27.77.62 วันที่: 25 ตุลาคม 2550 เวลา:19:08:42 น. |
|
|
|
โดย: ติ๊ก IP: 203.113.80.14 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2550 เวลา:13:38:01 น. |
|
|
|
โดย: เจ IP: 202.149.113.226 วันที่: 18 ธันวาคม 2550 เวลา:15:30:43 น. |
|
|
|
โดย: retger IP: 125.24.135.207 วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:11:11:31 น. |
|
|
|
โดย: tong IP: 202.80.240.3 วันที่: 24 มีนาคม 2551 เวลา:13:48:50 น. |
|
|
|
โดย: น้องแป้งหอม IP: 222.123.77.57 วันที่: 16 เมษายน 2551 เวลา:14:02:15 น. |
|
|
|
โดย: ติ๊ก IP: 118.174.149.122 วันที่: 16 พฤษภาคม 2551 เวลา:10:56:57 น. |
|
|
|
โดย: ผึ้ง IP: 202.91.19.204 วันที่: 3 มิถุนายน 2551 เวลา:21:43:11 น. |
|
|
|
โดย: ไนซ์ IP: 118.173.218.109 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:11:18:23 น. |
|
|
|
โดย: ap IP: 119.31.58.88 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:14:31:23 น. |
|
|
|
โดย: จู้จี้ IP: 125.27.68.123 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:13:12:14 น. |
|
|
|
โดย: นุก IP: 124.122.185.10 วันที่: 16 มีนาคม 2552 เวลา:20:52:54 น. |
|
|
|
โดย: นาย IP: 203.156.162.1 วันที่: 22 เมษายน 2552 เวลา:10:28:12 น. |
|
|
|
โดย: arare IP: 125.27.35.64 วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:18:21:34 น. |
|
|
|
โดย: ผึ้ง IP: 118.173.84.89 วันที่: 9 ตุลาคม 2552 เวลา:11:53:56 น. |
|
|
|
โดย: เติ้ล IP: 124.122.243.184 วันที่: 6 ธันวาคม 2552 เวลา:18:19:06 น. |
|
|
|
โดย: เนติ สัจจวิโส IP: 113.53.81.204 วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:42:02 น. |
|
|
|
โดย: ตาล IP: 112.143.5.71 วันที่: 29 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:10:09 น. |
|
|
|
โดย: อ้น IP: 125.24.54.204 วันที่: 25 ตุลาคม 2553 เวลา:15:23:01 น. |
|
|
|
โดย: นายทรงยศ ศรีโสดา IP: 125.26.213.66 วันที่: 29 ตุลาคม 2553 เวลา:11:18:50 น. |
|
|
|
โดย: ปั๊มก๊าซ NGVบางบัวทอง IP: 125.25.251.251 วันที่: 10 ธันวาคม 2553 เวลา:10:19:58 น. |
|
|
|
โดย: เจ้าของสุตร IP: 119.42.79.148 วันที่: 12 ธันวาคม 2554 เวลา:10:48:59 น. |
|
|
|
โดย: ร้านก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋ IP: 1.0.157.243 วันที่: 15 เมษายน 2559 เวลา:12:23:48 น. |
|
|
|
| |
|
 |
Jazz-zie |
|
 |
|
|