Be a master of your destiny, not a slave of your own fears.
<<
มกราคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
21 มกราคม 2554

แนวคิดมุมกลับเรื่องสุขภาพดีทั่วหน้า

21 มกราคม 2553


เมื่อเร็วๆนี้ในหลายประเทศในโลกได้เริ่มพิจารณาว่าดัชนีวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP (Gross Domestic Consumption) ซึ่งเป็นดัชนีมาตรฐานที่ใช้วัดความกินดีอยู่ดีของประชากรในแต่ละประเทศนั้นอาจจะไม่ใช่ดัชนีเหมาะสมอย่างแท้จริง เนื่องจาก GDP นั้นถูกคำนวณจากพื้นฐานมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ หรือมองในเรื่องของรายได้ของประเทศนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศทั่วโลกก็พบว่าประเทศที่มี GDP สูงๆ นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนในประเทศนั้นๆ จะมีสภาวะของกินดีอยู่ดีเสมอไป เพราะค่า GDP นั้นเป็นค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ


หรือเราอาจจะพอยังจำกันได้เมื่อมงกุฏราชกุมารของภูฏาน จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ขึ้นเป็นพระราชาธิบดีของประเทศภูฏานได้เคยตรัสไว้ว่า ที่ประเทศของพระองค์นั้นไม่สนใจเรื่อง GDP แต่ดัชนีวัดความกินดีอยู่ดีของประชาชนภูฏานที่ประเทศท่านใช้คือ GDH (Gross Domestic Happiness) บางครั้งก็ใช้คำว่า GNH (Gross National Happiness) หรือดัชนีความสุขมวลรวมภายในประเทศเป็นเครื่องชี้วัดแทน โดยมีแนวคิดที่ว่าประเทศภูฏานนั้นมีเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศคือทำให้ประชาชนชาวภูฏาน มีความสุข แทนที่จะมองว่าความสุขได้เป็นสิ่งที่เกิดจากการพัฒนาประเทศ


แนวคิดของประเทศภูฏานนั้นเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยในเรื่องของการมองจากเหตุไปหาผล คือการพัฒนาให้ประชาชนมีสภาพชีวิตที่กินดีอยู่ดี มีความสุข ประเทศก็จะพัฒนาเติบโตขึ้น ไม่มองจากผลไปหาเหตุอย่างที่เห็นกันอยู่ในดัชนีชี้วัดผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP ที่หลายประเทศทั่วโลกใช้วัดกันอยู่ในทุกวันนี้ คือถ้าประชาชนมีรายได้ดีประชาชนก็จะมีความกินดีอยู่ดี มีชีวิตที่มีความสุข 


แนวคิดมุมกลับของภูฏานนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนานาประเทศ ซึ่งศาสตราจารย์โจเซฟ สติ้กลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีค.ศ. 2001 ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ในสมัยรัฐบาลของนายบิล คลินตัน และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าเศรษฐกรและรองประธานอาวุโสของธนาคารโลกในช่วง ค.ศ. 1997-2000 ก็มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันว่า GDP ไม่น่าจะเป็นดัชนีชี้มาตรฐานชีวิตของประชาชนในแต่ละประเทศ ซึ่งข้อเขียน หนังสือ หรือคำปราศัยของศาสตราจารย์โจเซฟ สติ้กลิตซ์ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกในเรื่องแนวคิดของการเปลี่ยนดัชนี GDP ไปที่จะหันไปใช้ดัชนีชี้วัดอื่น


ศาสตราจารย์สติ้กลิตซ์เองก็ยังเคยมาบรรยายเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2552 ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรณีศึกษาที่คลาสสิกของศาสตราจารย์สติ้กลิตซ์ก็คือการสร้าง ‘คุก’ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ท่านกล่าวว่าหากการปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการคำนวณ GDP ก็คือค่าใช้จ่ายภาครัฐแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีจำนวนของคุก มากกว่าจำนวนมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเงินที่รัฐจ่ายในการสร้างคุกจำนวนมากถูกนำมาคำนวณเพื่อหาค่า GDP ทำให้ค่า GDP ของประเทศสูงขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็อาจจะทำให้คนแปลความผิดไปว่าค่า GDP ที่สูงขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ผกผันโดยตรงกับการกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศนั้นๆ อันที่จริงแล้วอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป


ได้อ่านแนวคิดมุมกลับแบบนี้ก็ผมเลยลองหันมาดูเรื่องระบบการบริการสาธารณสุขในบ้านเราบ้างหรือที่เรียกว่าระบบ ‘เหมาจ่ายรายหัวโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ซึ่งในปี 2553 นั้นมีค่าใช้จ่ายรายหัวเหมาจ่ายในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ 2,462.25 บาทต่อคน ซึ่งเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 89,385 ล้านบาท จัดให้กับประชากรในระบบที่มีสิทธิจำนวน 47.29 ล้านคน ซึ่งระบบนี้รัฐบาลไทยหวังว่าจะทำให้ทุกคนมีสุขภาพดีจากการให้บริการสาธารณสุขกับคนทั้งประเทศ โดยให้บริการสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ และได้รับการรักษาพยาบาลฟรี และหวังว่าแนวคิดในลักษณะนี้จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพและมีชีวิตที่ดีขึ้น


อธิบดีกรมบัญชีกลางได้ให้ความคิดเห็นไว้ในเดือนสิงหาคม 2553 ว่าหากเราไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของ 3 กองทุนคือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการซึ่งปีมูลค่ารวมประมาณ 2แสนล้านแล้ว ในอีก 5 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็อาจจะพุ่งขึ้นเป็น 4แสนล้าน และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้รายงานว่า การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2553 คาดว่ามีปริมาณ 30,619.4 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 13.6 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะพออนุมานได้ว่าหลังจัดให้มีระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศโดยรวมนั้นอาจจะไม่ได้ทำให้สุขภาพของคนไทยนั้นดีขึ้น หากเรามองสถานการณ์นี้เช่นเดียวกับการมองแนวคิดเรื่องการหาดัชนีชี้วัดอื่นมาแทน GDP แล้ว ก็อาจจะมองเห็นในลักษณะเดียวกันคือ นโยบายประกันสุขภาพดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดำเนินการจากผลไปหาเหตุ โดยมองว่าการให้การรักษาพยาบาลที่ดีและครอบคลุมนั้นจะทำให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้น


แต่หากเรามองมุมกลับเราอาจจะเห็นรูปแบบนโยบายการให้บริการสาธารณสุขของภาครัฐในปัจจุบันนี้ กำลังให้รางวัลกับผู้ที่ทำร้ายสุขภาพของตัวเองและลงโทษผู้ที่มีสุขภาพดีหรือเปล่า เพราะในเรื่องหลักประกันสุขภาพนั้นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง รักษาระวังตัวดีไม่เข้าโรงพยาบาลนั้นกลับได้รับรางวัลอะไรในรูปของการให้บริการสาธารณสุขที่น้อยมาก การให้บริการสาธารณสุขในบ้านเรานั้นแค่รับมือกับความเจ็บป่วยแต่เพียงอย่างเดียวก็ดูว่างานจะล้นมือเสียแล้ว นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายบริหารก็ยังต้องรับมือกับเรื่องของค่าใช้จ่ายการสาธารณสุขที่พุ่งขึ้นสูงมากในขณะเดียวก็ต้องบริหารรายได้เพื่อให้อยู่รอดตามแนวคิดของระบบบริการสาธารณสุขใหม่ ซึ่งตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 15 ตุลาคม2553 ระบุว่า “โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึง 191 แห่งจากทั้งหมด 832 แห่ง เงินหมดเกลี้ยง ชนิดไม่มีเหลือแม้กระทั่งเงินบำรุงโรงพยาบาลไว้ใช้ยามฉุกเฉิน…และมีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรงในอนาคต”


งานด้านการป้องกันด้านสุขภาพนั้นหากพิจารณาดีๆ อาจจะเห็นได้ว่าได้รับการให้ความสำคัญน้อยกว่างานด้านบำบัดและรักษา ในแนวคิดมุมกลับนั้นอาจจะเป็นการตั้งคำถามที่ว่า มีความเป็นได้มากแค่ไหนที่ภาครัฐจะสนับสนุนอย่างจริงจังให้คนหันมาใส่ใจป้องกันรักษาสุขภาพของตนเองมากกว่าที่จะมานั่งรักษาคนเจ็บป่วยในกรณีที่เป็นโรคที่ไม่ได้เป็นสภาพพยาธิที่เกิดขึ้นจากวัยหรือตามธรรมชาติ หรือพูดง่ายๆ ว่าใครที่เจ็บป่วยจากการใช้สุขภาพที่ผิด ก็มีหน้าที่จะต้องจ่ายเงินรักษาสุขภาพของตัวเอง เงินส่วนที่เหลือนั้นจะนำไปเป็นรางวัลให้กับผู้ที่รักษาสุขภาพได้ดี


วิธีคิดมุมกลับที่ผมกล่าวถึงก็คือมองจากเหตุไปหาผล โดยมีแนวคิดว่าเป้าหมายของการบริการสาธาณสุขคือการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเอง และเมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดี คนเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติให้รุดหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มากกว่าจะเป็นการมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีผ่านการบริการสาธารณสุขที่แทบไม่มีค่าใช้จ่าย หรือคิดง่ายๆ ก็คือทำอย่างไรให้ประชาชนหนีห่างจากการรักษาโรคแต่เข้าใกล้การป้องกันโรคนั่นเอง


หากเสนอแต่วิธีคิดอาจจะมองไม่เห็นแนวปฏิบัติดังนั้นแนวปฏิบัติที่อยากจะนำเสนอก็คือ แนวคิดของการให้แรงจูงใจให้คนต้องการมีสุขภาพดีโดยการสนับสนุนด้านการเงินเพิ่มเติมจากมาตรการปกติ ยกตัวอย่างเช่นการจัดให้มีบริการตรวจสุขภาพกับประชาชนฟรีประจำปี โดยผู้ที่เข้ามารับการตรวจสุขภาพนั้นเมื่อตรวจแล้วไม่พบว่ามีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ตามพยาธิสภาพที่ควรจะเป็น และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพก็จะได้รับเงินส่งเสริมสุขภาพจากรัฐเพื่อนำกลับไปใช้บำรุงสุขภาพของตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีและพร้อมที่จะรับเงินส่งเสริมสุขภาพเพิ่มเติมอีกในปีถัดไป


ด้วยวิธีการนี้อาจจะทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่หาเช้ากินค่ำที่ไม่มีเวลาให้เจ็บป่วย เพราะถ้าเจ็บป่วยนั้นก็อาจจะหมายถึงการขาดรายได้และผลที่ตามมาก็กลายเป็นปัญหาสังคมอีกมากมายเช่น ขโมย ยาเสพติด เหล้า ทำผิดกฏหมาย สุดก็ตามด้วยโรคร้ายอื่นๆ และยังส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมในสังคม


รายได้ที่เกิดจากการทำสุขภาพให้ดีนั้นไม่ได้มีแค่เงินที่รัฐจัดมาสนับสนุนหน่วยงานสาธาณสุขแต่อย่างเดียวหรอกครับ แต่เป็นรายได้ที่ไม่ต้องจ่ายออกไปไม่ว่าจะเป็นค่าจัดซื้อยาจากต่างประเทศ ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ในการรักษาที่ต้องนำเข้า ค่าเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ หรือค่าใช้จ่ายอื่นอีกมากมายที่จะสามารถประหยัดได้และนำเงินเหล่านั้นมาปันส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี


การใช้ดัชนี GDP เพื่อวัดความร่ำรวยของประเทศที่ทั่วโลกใช้ยังถึงเวลาที่ปรับเปลี่ยนได้ แนวคิดการให้บริการสาธาณสุขในบ้านเราก็น่าจะปรับเปลี่ยนได้เหมือนกัน ความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในระยะแรกอาจจะมีมากแต่ สุขภาพของประชน สุขภาพการเงิน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาจจะเห็นได้มากกว่าในระยะยาวครับ

บุริม โอทกานนท์


บรรณานุกรม


//www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=311&Itemid=54


//news.giggog.com/272708


//www.templeboxing.com/index.php?topic=1589.0


//www.oknation.net/blog/jantira/2009/08/23/entry-1


//www.thaihospital.org/board/index.php?topic=725.0


//www.ryt9.com/s/oie/1053083


//www.happyhospital.org/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=7&topic_id=1992&topic_no=1466&page=1&gaction=on


//bit.ly/fnJhWP






Free TextEditor


Create Date : 21 มกราคม 2554
Last Update : 23 มกราคม 2554 21:20:50 น. 1 comments
Counter : 736 Pageviews.  

 


โดย: wbj วันที่: 21 มกราคม 2554 เวลา:21:27:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jazz-zie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





ค้นหาใน GOOGLE.CO.TH
[Add Jazz-zie's blog to your web]