"ความสามัคคีปรองดอง เป็นกำลังอย่างสูงสุดของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ความสามัคคีของคนในชาติ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และทำให้สังคมไทย ร่มเย็นเป็นสุข" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สนใจลงโฆษณา ในพื้นที่ข้างบน ติดต่อ email : nana_sara1000@ymail.com
Home Lover’s Corner นานา สาระ๑๐๐๐ นานา สารพัด พระพุทธประวัติ ภาคพิเศษ
Travel Around the World Real Estate Buyer's Guide สุขภาพกาย สุขภาพใจ Pets & Animals
ปางพระพุทธรูปตามพุทธประวัติ Horoscope 12 ราศี พระพุทธศาสนา World of Beautiful Musics

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๗ : นางวิสาขา มหาอุบาสิกาทรงขอให้ประทานพร

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๗ : นางวิสาขา มหาอุบาสิกาทรงขอให้ประทานพร


ครั้งที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถี แคว้นโกศล อันเป็นอารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวาย

เมื่อนางวิสาขาทราบว่าบัดนี้พระพุทธองค์เสด็จจาริกมาแสดงธรรมโปรดในเมืองของตน ก็บังเกิดความยินดี รีบมาฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา พร้อมทั้งกราบทูลอารธนาให้พระผู้มีพระภาคเจ้านำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จไปรับภัตตาหารที่คฤหาสน์ของตน

ในวันรุ่งขึ้นหลังจากจัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตเรียบร้อยแล้ว นางวิสาขาจึงสั่งให้หญิงรับใช้มานิมนต์พระสงฆ์ พอดีในเช้าวันนั้นฝนตกหนักพระบรมศาสดาได้มีบัญชาให้พระสงฆ์อาบน้ำฝน สมัยนั้นยังไม่มีผ้าอาบน้ำฝน หญิงรับใช้ได้มาพบพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน เข้าใจว่าเป็นพวกนักบวชลัทธิชีเปลือยจึงกลับไปบอกแก่นางวิสาขา ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ถวายภัตตาหารและพระบรมศาสดาได้กระทำภัตกิจเสร็จแล้วนางจึงเข้าไปกราบทูลของประทานพร ๘ ประการ คือ

๑. ขอให้ได้ถวาย ผ้าวัสสิกสาฏก ได้แก่ ผ้าอาบน้ำฝนสำหรับพระภิกษุ
สงฆ์
๒. ขอให้ได้ถวาย อาคันตุกภัตร ได้แก่ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่มา
จากต่างถิ่น
๓. ขอให้ได้ถวาย คมิกภัตร ได้แก่ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่
เตรียมจะเดินทาง
๔. ขอให้ได้ถวาย คิลานภัตร ได้แก่ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่
อาพาธ (ป่วยไข้)
๕. ขอให้ได้ถวาย คิลานุปัฏฐากภัตร ได้แก่ อาหารสำหรับพระผู้พยาบาล
ภิกษุอาพาธ
๖. ขอให้ได้ถวาย คิลานเภสัช ได้แก่ ยาสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธ
๗. ขอให้ได้ถวาย ธุวยาคู ได้แก่ ข้าวยาคูสำหรับพระภิกษุสงฆ์
๘. ขอให้ได้ถวาย อุทกสาฏก ได้แก่ ผ้าอาบน้ำฝนสำหรับภิกษุณี


เมื่อพระบรมศาสดาตรัสถามว่า เธอเห็นประโยชน์อะไรในพร ๘ ประการ นางวิสาขาได้ชี้แจงรายละเอียดโดยยกตัวอย่างมาประกอบเป็นข้อๆ เช่นกรณีที่พระสงฆ์ต้องเปลือยกายอาบน้ำเป็นต้น พระพุทธองค์จึงตรัสอนุโมทนา ยังความปลื้มปีติแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกาอย่างหาที่สุดมิได้




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2554    
Last Update : 28 สิงหาคม 2554 14:37:22 น.
Counter : 2603 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๖ : พระเจ้าปเสนทิโกศล

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๖ : พระเจ้าปเสนทิโกศล


เหตุการณ์ประมาณปีที่ 22 เมื่อเทียบอายุพระเจ้าปเสนทิโกศลขณะนั้นอายุประมาณ 57 ปี ซึ่งมีอายุพอๆกับพระพุทธเจ้า ในพรรษาที่ 22 นี้พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่เชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี


พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามหาโกศล เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เมื่อได้เจริญวัยได้ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา ณ สำนักตักกสิลานี้ เจ้าชายมีพระสหายอีก ๒ พระองค์ ที่เป็นศิษย์ร่วมรุ่นกัน คือ เจ้าชายมหาลิ จากเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี และเจ้าชายพันธุละจากเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ


เมื่อจบการศึกษาแล้วต่างก็แยกย้ายกันกลับมาตุภูมิ และได้แสดงศิลปวิทยาให้พระประยูรญาติได้ชมโดยทั่วหน้ากัน พระเจ้ามหาโกศลได้มอบพระราชบัลลังก์ให้พระเจ้าปเสนทิโกศลขึ้นครองราชย์แทนในเวลาต่อมา ส่วนเจ้าชายพันธุละถูกคู่อริกลั่นแกล้ง แม้การแสดงศิลปวิทยาท่ามกลางพระประยูรญาติจะจบลงด้วยความพอใจของมหาสมาคม แต่เจ้าชายพันธุละทรงน้อยพระทัย จึงหนีออกจากเมืองกุสินารา มาขอถวายตัวเข้ารับราชการรับใช้พระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ทรงดีพระทัยมาก จึงทรงแต่งตั้งให้พันธุละเป็นเสนาบดี


พระเจ้าปเสนทิโกศลเดิมทีนับถือนิครนถ์ (ลัทธิชีเปลือย) และเชื่อถือในการบูชายัญของพราหมณ์อีกด้วย เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังไม่เลิกบูชายัญ และยังติดต่อกับพวกชีเปลือยอยู่ ครั้งหนึ่ง ขณะที่อยู่สำนักพระพุทธเจ้า พอดีเหล่าชีเปลือยเดินผ่านมาใกล้ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลประคองอัญชลีประกาศว่า ขอนมัสการพระคุณเจ้าทั้งหลาย แล้วหันมาทูลพระพุทธเจ้าว่า สมณะเหล่านั้นเป็นอรหันต์
พระพุทธเจ้าตรัสเตือนสติว่า

"มหาบพิตรเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอรหันต์
จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ
จะรู้ว่ามีความสะอาดหรือไม่ ด้วยการทำงาน (หรือเจรจา)
จะรู้ว่ามีปัญญาหรือไม่ ด้วยการสนทนา
จะรู้ว่ากำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ ก็ต้องเมื่อตกอยู่ในอันตราย"


ในสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิศาสนา ตั้งตนเป็นศาสดาสั่งสอนธรรมอยู่หลายท่าน ที่มีชื่อเสียงได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ ๖ ท่าน คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถนาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ และอชิตเกสกัมพล ซึ่งมักจะรวมเรียกว่าศาสดาทั้ง ๖










พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบกิตติศัพท์ดังกล่าว จึงมีพระประสงค์จะพบพระอรหันต์ผู้ประกาศตนว่าเป็นพุทธะเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) จึงโปรดให้นิมนต์ศาสดาทั้ง ๖ ไปรับพระราชทานอาหารในพระราชวัง แล้วทรงตรัสถามตรงๆ ว่าท่านทั้งหลายสามารถปฏิญาณได้หรือไม่ว่าเป็นพุทธะ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธญาณ

ศาสดาทั้ง ๖ เกรงพระบรมเดชานุภาพของพระราชา คิดว่าถ้าหากทูลว่าตนเป็นพุทธะ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสถามธรรมที่ลึกซึ้งอันเป็นพุทธวิสัย จะไม่อาจทูลตอบได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะถูกลงโทษฐานหลอกลวงมหาชนว่าเป็นพุทธะจึงได้นิ่งเสีย ไม่มีผู้ใดกล้าปฏิญาณว่าตนเองเป็นพุทธะ เมื่อถูกถามซ้ำอีกไม่มีทางตอบบ่ายเบี่ยงเป็นอย่างอื่น จึงต้องยอมรับว่าพวกตนมิได้เป็นพุทธะ เป็นแต่คณาจารย์ธรรมดา คำที่เล่าลือกันว่าเป็นพุทธะนั้นเป็นเรื่องของสาวกบริวารที่ยกย่องกันเอง


เมื่อพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในแคว้นโกศล มีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบริจาคทรัพย์สร้างวัดในกรุงสาวัตถีเมืองหลวงของแคว้นโกศลหลายแห่ง เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวันมหาวิหารและนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างวัดบุพพาราม










คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แล้วทูลถามว่าท่านพระโคดมทรงปฏิญาณได้หรือไม่ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ทรงปฏิญาณว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่าบรรพชิตเหล่าอื่น เช่น ศาสดาทั้ง ๖ เมื่อพระองค์ตรัสถามว่าท่านเหล่านั้นปฏิญาณได้หรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ไม่มีผู้ใดปฏิญาณสักคน ทั้งๆที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอายุมากแล้ว เป็นเจ้าลัทธิที่มหาชนยกย่อง ส่วนพระพุทธเจ้ายังทรงหนุ่มอยู่ ผนวชมาก็ไม่สู้นาน ไฉนพระองค์จึงกล้าปฏิญาณเล่า พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า "ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นของ ๔ อย่างว่าเป็นของเล็กน้อย"คือ

(1) อย่าดูถูก ดูหมิ่นกษัตริย์ว่ายังทรงพระเยาว์
(2) อย่าดูถูก ดูหมิ่นงูว่าตัวเล็ก
(3) อย่าดูถูก ดูหมิ่นไฟว่าเล็กน้อย
(4) อย่าดูถูก ดูหมิ่นภิกษุว่ายังหนุ่มอยู่

ของ ๔ อย่างนี้ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะพระมหากษัตริย์แม้ยังทรงพระเยาว์ แต่ก็มีพระราชอำนาจมาก หากทรงพิโรธขึ้นอาจลงพระราชอาญาอย่างหนักได้ งูพิษแม้ตัวเล็กก็กัดคนให้ตายได้ ไฟเพียงเล็กน้อยก็อาจเผาบ้านเรือนผลาญชีวิตคนได้ พระภิกษุแม้ยังหนุ่ม แต่ก็เป็นผู้มีศีล ผู้ใดประทุษร้ายต่อภิกษุผู้มีศีล ผลแห่งกรรมชั่วย่อมแผดเผาผู้นั้น บุตรภรรยาและทรัพย์สมบัติของผู้นั้นย่อมพินาศ


เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้าแจ่มแจ้งนัก และปฏิญาณตนเป็นอุบาสกของถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประกอบพิธีบูชายัญยิ่งใหญ่ มีการตระเตรียมฆ่าสัตว์อย่างละ ๗๐๐ เพราะสุบินได้ยินเสียงประหลาด บังเอิญว่าพระนางมัลลิกา พระมเหสีทรงทัดทาน การฆ่าสัตว์ครั้งมโหฬารจึงไม่เกิดขึ้นและเป็นผู้ชักจูงพระองค์เข้าสู่พระพุทธศาสนา

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นผู้อุปถัมภ์ทุกศาสนาให้ความสำคัญศาสนาต่างๆ ทัดเทียมกัน ต่อเมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาน้อมเอาพระรัตนตรัยมาเป็นสรณะเด็ดขาดแล้ว จึงทรงเลิกการกระทำที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนชีวิต และนำเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นแบบอย่างดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

ส่วนพระนางมัลลิกา เป็นสาวิกาผู้บรรลุโสดาบันตั้งแต่อายุยังน้อย มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อมาเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ย่อมมีอิทธิพลต่อความเชื่อของพระราชสวามีและแนะนำให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาในที่สุด กอปรกับสุทัตตคหบดี เพราะฉะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงถวายความอุปถัมภ์ ดูแลพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์อย่างดี พระองค์เองเสด็จเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลถามปัญหาธรรมและฟังพระพุทธโอวาทอยู่เสมอ




 

Create Date : 07 สิงหาคม 2554    
Last Update : 7 สิงหาคม 2554 11:08:12 น.
Counter : 12686 Pageviews.  

พุทธประวัติตอนที่ ๑๔๕ : นางสามาวดี เอตทัคคะในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา

พุทธประวัติตอนที่ ๑๔๕ : นางสามาวดี เอตทัคคะในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา



นางสามาวดี เอตทัคคะในฝ่ายผู้อยู่ด้วยเมตตา

นางสามาวดี เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่าภัททวดีย์ แห่งเมืองภัททวดีย์ เดิมชื่อว่า “สามา” และบิดาของนางเป็นสหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากันกับโฆสกเศรษฐี แห่งเมืองโกสัมพี เศรษฐีตกยาก ครั้นต่อมา เกิดโรคอหิวาต์ระบาดในเมืองภัททวดีย์ เศรษฐีภัททวดีย์ ต้องพาภรรยาและลูกสาวอพยพหนีโรคร้ายไปยังเมืองโกสัมพี เพื่อขอพักอาศัยกับโฆสกเศรษฐีผู้เป็นสหาย แต่บังเอิญโชคร้ายประสบเคราะห์กรรมซ้ำเข้าอีก คือ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองโกสัมพีแล้ว ด้วยสภาพร่างกายที่อดอาหารมาหลายวัน อีกทั้งความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล ทำให้ไม่กล้าไปพบสหายด้วยสภาพอย่างนั้น จึงพักอาศัยในศาลาใกล้ๆโรงทานของโฆสกเศรษฐีนั้น ตั้งใจว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้วจึงจะเข้าไปหาเพื่อน วันรุ่งขึ้น ให้ลูกสาวเข้าไปรับอาหารที่โรงทานของโฆสกเศรษฐี เมื่อได้มาแล้วภัททวดีย์เศรษฐีกับภรรยาบริโภคอาหารเกินพอดี ไฟธาตุไม่สามารถจะย่อยได้จึงถึงแก่ความตายทั้งสองคน เหลือแต่นางสามา เป็นกำพร้าพ่อแม่อยู่แต่ผู้เดียว












ได้นามว่าสามาวดี

ต่อมาโฆสกเศรษฐีได้พบนางสามา ได้ทราบประวัติความเป็นมาของนางโดยตลอดแล้วเกิดความรักความสงสาร จึงรับนางไว้เลี้ยงดูดุจลูกสาวแท้ ๆ ของตน และยกนางไว้ในฐานะธิดาคนโต อีกทั้งได้มอบหญิงบริวารให้อีก ๕๐๐ คน ตามปกติที่บ้านของโฆสกเศรษฐี เมื่อเวลาแจกทานจะมีเสียงเซ็งแซ่จากการยื้อแย่งของผู้มาขอรับแจกทาน ท่านเศรษฐีก็ฟังทุกวนจนเคยชิน แต่เมื่อนางสามาเข้ามาอยู่ในบ้านของท่านเศรษฐีแล้ว เห็นความไม่เรียบร้อยดังกล่าว จึงคิดหาทางแก้ไข นางจึงให้คนทำรั้วมีประตูทางเข้า-ทางออก ให้ทุกคนเรียงแถวตามลำดับเข้ารับแจกทาน ทุกอย่างก็เรียบร้อยไม่มีเสียงเซ็งแซ่เหมือนแต่ก่อน โฆสกเศรษฐีพอใจเป็นอย่างยิ่งกล่าวยกย่องชมเชยในความฉลาดของนางเป็นอันมาก หลังจากนั้น นางจึงได้ชื่อว่า “สามาวดี” (วดี = รั้ว) และต่อจากนั้นไม่นาน นางก็ได้รับการอภิเษกเป็นอัครมเหสี ของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพีนั้น



นางสามาวดีบรรลุโสดาปัตติผล

ในบรรดาหญิงบริวารของนางสามาวดี ๕๐๐ คนนั้น หญิงคนหนึ่งชื่อนางขุชชุตตรา รับหน้าที่จัดซื้อดอกไม้มาให้นางสามาวดีทุกวัน ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่นางไปซื้อดอกไม้ตามปกตินั้น ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาในบ้านของนายสุมนมาลาการผู้ขายดอกไม้ จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อนำดอกไปให้นางสามาวดีแล้ว ได้แสดงธรรมที่ตนฟังมานั้นแก่นางสามาวดี พร้อมทั้งหญิงบริวาร จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมดต่อจากนั้น นางสามาวดี พร้อมด้วยบริวารมีจิตศรัทธาเลื่อมใสตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัย พากันสนใจในการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และสมาทานรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำ ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าอุเทนได้พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี มาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สอง และได้นางมาคันทิยา สาวงามแห่งแคว้นกุรุ มาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สาม และด้วยความงามเป็นเลิศ ทำให้พระเจ้าอุเทนทรงสิเนหานางมาคันทิยายิ่งนัก ได้พระราชทานหญิงบริวาร ๕๐๐ คนไว้คอยรับใช้นาง



นางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระศาสดา

ก่อนที่นางมาคันทิยา จะได้รับการอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนนั้น เดิมทีนางเป็นธิดาของเศรษฐีในแคว้นกุรุ เนื่องจากนางมีรูปงามดุจนางเทพอัปสร จึงมีเศรษฐี คฤหบดี ตลอดจนพระราชา จากเมืองต่างๆ ส่งสารมาสู่ขอมากมาย แต่บิดามารดาของนางก็ปฏิเสธทั้งหมดด้วยคำว่า “พวกท่านไม่คู่ควรแก่ธิดาของเรา” นางจึงครองความเป็นโสดเรื่อยมา พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของสองสามีภรรยา จึงเสด็จมายังแคว้นกุรุ ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของนางออกไปธุระนอกบ้าน พบพระศาสดาในที่ไม่ไกลจากบ้านของตนนัก เห็นพระลักษณะถูกตาต้องใจและคิดว่า “บุรุษผู้นี้แหละคู่ควรกับลูกสาวของเรา” พราหมณ์จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดาให้คอยอยู่ตรงนี้ก่อน ตนจะกลับไปบอกนางพราหมณีภรรยาและนำลูกสาวมายกให้ จากนั้นก็รีบกลับไปบ้านแจ้งแก่ภรรยาว่าพบชายผู้คู่ควรกับลูกสาวแล้ว ขอให้รีบแต่งตัวลูกสาวแล้วพาออกไปโดยด่วน ฝ่ายพระบรมศาสดามิได้ประทับอยู่ตรงที่เดิม แต่ได้อธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ แล้วเสด็จไปประทับในที่ไม่ไกลจากที่นั้น สองสามีภรรยาพร้อมด้วยลูกสาวมาคันทิยา มาถึงที่นั้น ไม่เห็นพระพุทธองค์ในที่นั้นก็มองหาจนพบรอยพระบาท พราหมณ์ผู้สามีจึงกล่าวว่า “นี่แหละคือรอยเท้าของชายคนนั้น” เนื่องจากนางพราหมณีผู้ภรรยามีความเชียวชาญเรื่องมนต์ทำนายลักษณะฝ่าเท้า จึงบอกแก่สามีว่า “รอยเท้านี้มิใช่รอยเท้าของคนเสพกามคุณ เพราะธรรมดารอยเท้าของคนที่มีราคะ จะมีรอยเท้ากระหย่งคือเว้าตรงกลาง คนที่มีโทสะ รอยเท้าจะหนักส้น คนที่มีโมหะ รอยเท้าจะหนักที่ส่วนปลาย แต่รอยเท้านี้เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส ดังนั้น เจ้าของรอยเท้านี้จะไม่มีความยินดีในกามคุณ”

ฝ่ายพราหมณ์ผู้สามีไม่เชื่อคำนำนายของภรรยา พยายามมองหาจนพบพระบรมศาสดาแล้วกล่าวกับภรรยาว่า “ชายคนนี้แหละเป็นเจ้าของรอยเท้านั้น เป็นผู้ที่คู่ควรกับลูกสาวของเรา” แล้วเข้าไปกราบทูลว่า:-
“ท่านสมณะ ข้าพเจ้าจะยกธิดาให้เป็นคู่ชีวิตแก่ท่าน” พระผู้มีพระภาค ตรัสห้ามแล้วตรัสต่อไปว่า:-
“ดูก่อนท่านพราหมณ์ เมื่อตถาคตตรัสรู้ใหม่ๆ ธิดามาร ๓ คน ซึ่งมีร่างกายเป็นทิพย์สวยงามกว่าลูกสาวของท่านหลายเท่านัก มาประเล้าประโลมเราที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เรายังไม่สนใจไม่พอใจ เหตุไฉนจะมาพอใจยินดีในลูกสาวของท่านที่ร่างกายเต็มไปด้วยมูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ถ้าเท้าของเราเปื้อนฝุ่นธุลีมา และลูกสาวของท่านเป็นผ้าเช็ดเท้า เรายังไม่ปรารถนาจะถูกต้องลูกสาวของท่านแม้ด้วยเท้าเลย”

เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดสองสามีภรรยาจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วกราบทูลขออุปสมบทปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสอง ท่านฝ่ายนางมาคันทิยา ได้ยินพระดำรัสของพระศาสดาโดยตลอด รู้สึกโกรธที่พระพุทธองค์ตำหนิประณามว่าร่างกายของนางเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสถูกต้องแม้ด้วยเท้า จึงผูกอาฆาตจองเวรต่อพระศาสดา เมื่อบิดามารดาออกบวชหมดแล้ว นางจึงได้ไปอยู่อาศัยกับน้องชายของบิดาผู้เป็นอา ต่อมาอาของนางคิดว่าหลานสาวผู้มีความงามเป็นเลิศอย่างนี้ ย่อมคู่ควรแก่พระราชาเท่านั้น จึงนำไปถวายเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน จ้างนักเลงด่าพระพุทธองค์


สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จมายังเมืองโกสัมพี มีพระอานนท์เถระตามเสด็จมาด้วย พระนางมาคันทิยา ได้โอกาส จึงว่าจ้างทาส กรรรมกร และนักเลงพวกมิจฉาทิฏฐิ ผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้ติดตามด่าพระพุทธองค์ไปในทุกหนทุกแห่งทั่วทั้งเมืองด้วยคำด่า ๑๐ ประการ คือ เจ้าเป็นโจร เป็นคนพาล เป็นคนบ้า เป็นอูฐ เป็นลา เป็นวัว เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้ามีแต่ทุคติอย่างเดียว พระอานนท์เถระได้ฟังแล้วสุดที่จะทนไหว จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอื่น พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า:-
“อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”
“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า:-
“ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วย่อมไม่เกิน ๗ วัน ก็จะสงบระงับไปเอง”



นางสามาวดีถูกใส่ความเรื่องไก่

พระนางมาคันทิยา เมื่อไม่สามารถจะทำให้พระพุทธองค์อับอายจนหนีไปยังเมืองอื่นได้ก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดอุบายใส่ความแก่พระนางสามาวดีและบริวารผู้มีศรัทธาในพระพุทธองค์ โดยส่งข่าวไปบอกแก่อาของตนขอให้ส่งไก่เป็น ที่ยังมีชีวิตมาให้ ๘ ตัว และไก่ตายอีก ๘ ตัว เมื่อได้ไก่มาตามต้องการแล้วจึงเข้ากราบทูลพระเจ้าอุเทนว่า:-
“ข้าแต่สมมติเทพ ท่านปุโรหิตส่งไก่มาเป็นบรรณาการแด่พระองค์ เพคะ”
“ผู้ใด มีความชำนาญในการแกงอ่อมไก่บ้าง ?” พระราชาตรัสถาม
พระนางสามาวดีกับหญิงบริวาร “เพคะ” พระนางมาคันทิยา กราบทูล จึงรับสั่งให้ส่งไก่ไปให้พระนางสามาวดีเพื่อจัดการแกงมาถวาย พระนางมาคันทิยา ส่งไก่เป็นไปให้ ส่วนพระนางสามาวดีเห็นว่าไก่ยังมีชีวิตอยู่จึงไม่ทำถวาย เพราะว่าตนสมาทานศีล ๘ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์จึงส่งไก่กลับคืนไปพระนางมาคันทิยา ได้กราบทูลแนะนำต่อพระสวามีอีกว่า:-
“ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงรับสั่งให้ส่งไก่ไปใหม่พร้อมทั้งบอกว่าให้แกงไปถวายแก่พระสมณโคดม”
พระราชาทรงกระทำตามที่พระนางแนะนำ แต่พระนางมาคันทิยาได้เปลี่ยนเอาไก่ที่ตายแล้วส่งไปให้ พระนางสามาวดีเห็นว่าเป็นไก่ที่ตายแล้ว และเป็นการแกงเพื่อนำไปถวายพระสมณโคดม จึงช่วยกันรีบจัดการแกงไปถวายด้วยความปีติและศรัทธา พระนางมาคันทิยารู้สึกดีใจที่เหตุการณ์เป็นไปตามแผน จึงกราบทูลยุยงว่า การกระทำของพระนางสามาวดีไม่น่าไว้วางใจดูประหนึ่งว่าเอาใจออกห่างพระองค์ปันใจให้พระสมณโคดม เวลาใช้ให้แกงมาถวายพระองค์ก็ไม่ทำ แต่พอบอกให้แกงไปถวายพระสมณโคดมกลับทำให้อย่างรีบด่วนพระเจ้าอุเทน ได้สดับคำของพระนางมาคันทิยา แล้วทรงอดกลั้นนิ่งเฉยไว้อยู่ จนกระทั่งพระนางมาคันทิยา ต้องคิดหาอุบายร้ายด้วยวิธีอื่นต่อไป



ถูกใส่ความเรื่องงู

ตามปกติ พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระมเหสีทั้ง ๓ คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และ พระนางมาคันทิยา ตามวาระแห่งละ ๗ วัน ครั้นอีก ๒-๓ วัน จะถึงวาระเสด็จไปประทับที่ปราสาทของพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา ได้วางแผนส่งข่าวไปถึงอา ให้ส่งงูพิษที่ถอนเขี้ยวพิษออกแล้วมาให้นางโดยด่วน เมื่อได้มาแล้วจึงใส่งูเข้าไปในช่องพิณซึ่งพระเจ้าอุเทนทรงเล่นและนำติดพระองค์เป็นประจำ แล้วนำช่อดอกไม้ปิดช่องพิณไว้ ก่อนที่พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปยังปราสาทของพระนางสามาวดีนั้น พระนางมาคันทิยา ได้ทำทีเป็นกราบทูลทัดทานว่า “ขอพระองค์ อย่าเสด็จไปเลย เพราะว่าเมื่อคืนนี้ หม่อมฉันฝันไม่เป็นมงคล เกรงว่าพระองค์จะได้รับอันตราย” เมื่อพระราชาไม่เชื่อคำทัดทานจึงขอติดตามเสด็จไปด้วย ขณะที่พระนางสามาวดีและหญิงบริวารปรนนิบัติพระเจ้าอุเทนอยู่ และทรงวางพิณไว้บนพระแท่นบรรทมนั้น พระนางมาคันทิยา ก็ทำเป็นเดินไปเดินมาใกล้ๆบริเวณนั้น เมื่อไม่มีใครสังเกตเห็นจึงดึงช่อดอกไม้ที่ปิดช่องพิณออก และงูที่อดอาหารมาหลายวันได้เลื้อยออกมาพ่นพิษแผ่พังพาน พระราชาทอดพระเนตรเห็นงูก็ตกพระทัยกลัวมรณภัยจะมาถึง จึงด่าตวาดพระนางสามาวดีที่คิดปลงพระชนม์ และตำหนิพระองค์เองที่ไม่เชื่อคำทัดท่านของพระนางมาคันทิยา ด้วยเพลิงแห่งความโกรธจึงตัดสินพระทัยประหารชีวิตพระนางสามาวดีและหญิงบริวารด้วยพระองค์เอง



อานุภาพแห่งเมตตาธรรม

พระเจ้าอุเทนทรงยกคันธนูประจำพระองค์ขึ้นสายแล้วพาดลูกศรอาบยาพิษโก่งคันธนูเล็งเป้าไปที่พระอุระของพระนางสามาวดี ซึ่งประทับอยู่ข้างหน้าแห่งหญิงบริวาร ก่อนที่ลูกศรจะแล่นออกจากคันธนูนั้น พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า:-
“แม่หญิงสหายทั้งหลาย ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี เธอทั้งหลายจงเจริญเมตตาจิตให้สม่ำเสมอ ส่งไปให้แก่พระราชา แก่พระเทวีมาคันทิยา และแก่ตนเอง อย่าถือโทษโกรธต่อใครๆเลย”
ครั้นให้โอวาทจบลง หญิงเหล่านั้นก็ปฏิบัติตาม เมื่อพระราชาปล่อยลูกศรออกไป แทนที่ลูกศรจะพุ่งเข้าสู่พระอุระพระนางสามาวดี แต่หวนกลับพุ่งเข้าหาพระอุระของพระองค์เสียอง จึงสะดุ้งตกพระทัยพลางดำริว่า:-
“ธรรมดาลูกศรนี้ย่อมแทงทะลุแม้กระทั่งแผ่นหิน บัดนี้ สิ่งที่เป็นวัตถุที่จะกระทบในอากาศก็ไม่มี เหตุใดลูกศรจึงหวนกลับเข้าหาเรา ลูกศรนี้แม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ แต่ก็ยังรู้จักคุณของพระนางสามาวดี เราเสียอีกแม้เป็นมนุษย์กลับไม่รู้คุณของพระนาง”

ทันใดนั้น ท้าวเธอทิ้งคันธนูแล้วประนมหัตถ์ประคองอัญชลี กราบที่พระบาทของพระนางสามาวดี อ้อนวอนให้พระนางยกโทษให้ และขอถึงพระนางเป็นที่พึ่งตลอดไป พระนางสามาวดีกราบทูลให้พระราชาทรงถึงพระบรมศาสดาเป็นสรณที่พึ่งเหมือนอย่างที่นางกระทำอยู่ ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าอุเทนทรงมีศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ทรงรักษาศีลฟังธรรมร่วมกับพระนางสามาวดีตามกาลเวลาและโอกาสอันสมควร



พระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็นพร้อมหญิงสหาย

ความจริงแล้ว พระนางมาคันทิยา มีความโกรธแค้นต่อพระบรมศาสดาที่ทรงประณามว่า “นางมีร่างกายเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ ไม่ปรารถนาจะสัมผัสแม้ด้วยเท้า” และนางก็ได้ชำระความแค้นด้วยการว่าจ้างนักเลงให้ตามด่าพระพุทธองค์ไปส่วนหนึ่งแล้ว ในส่วนของพระนางสามาวดีนั้น ที่นางต้องโกรธแค้นด้วยก็เพราะสาเหตุหนึ่งเป็นพระมเหสีคู่แข่ง แต่ที่สำคัญก็คือพระนางมีศรัทธาในพระสมณโคดม เมื่อแผนการทำลายพระนางสามาวดี ที่ทำไปหลายครั้งแล้วนั้น ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ครั้งหลังสุดยังทำให้พระเจ้าอุเทนพระสวามี ไปมีศรัทธาเลื่อมใสในพระสมณโคดมอีกด้วย ยิ่งทำให้พระนางมาคันทิยาเพิ่มความโกรธแค้นยิ่งขึ้น แล้วแผนการอันโหดเหี้ยมของพระนางก็เกิดขึ้นอีกครั้ง วันหนึ่งขณะที่พระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสราชอุทยาน พระนางมาคันทิยาสั่งคนรับใช้ให้เอาผ้าชุบน้ำมันแล้วนำไปพันที่เสาทุกต้น ในปราสาทของพระนางสามาวดี พูดเกลี้ยกล่อมให้พระนางและบริวารเข้าไปรวมอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วจึงลั่นกลอนข้างนอกแล้วจุดไฟเผาพร้อมทั้งปราสาท พระนางสามาวดี ขณะเมื่อไฟกำลังลุกลามเข้ามาใกล้ตัวอยู่นั้น มีสติมั่นคงไม่หวั่นไหว ให้โอวาทแก่หญิงบริวารทั้ง ๕๐๐ ให้เจริญเมตตาไปยังบุคคลทั่วๆไปแม้ในพระนางคันทิยา ให้ทุกคนมีสติ ไม่ประมาท ให้มีจิตตั้งมั่นในเวทนาปริคคหกัมมัฏฐานอย่างมั่นคง บางพวกบรรลุอนาคามิผล ก่อนที่จะถูกไฟเผาผลาญกระทำกาละถึงแก่กรรม ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยกันทั้งหมด




ชดใช้กรรมเก่า

ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมหัตครองราชย์สมบัติในกรุงพาราณสี ได้ถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์เป็นประจำ และนางสามาวดีกับหญิงสหาย ๕๐๐ คน ก็เกิดอยู่ในพระราชนิเวศน์นั้นด้วย ได้ช่วยทำกิจบำรุงเลี้ยงพระปัจเจกพุทธะทั้ง ๘ นั้น ต่อมาพระปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งได้ปลีกตัวไปเข้าฌานสมาบัติในดงหญ้าริมแม่น้ำ ส่วนพระราชาได้พาหญิงเหล่านั้นไปเล่นน้ำกันทั้งวัน พวกผู้หญิงพออาบน้ำนานๆก็หนาว จึงพากันขึ้นมาก่อไฟที่กองหญ้าผิง พอไฟไหม้กองหญ้าหมดก็เห็นพระปัจเจกพุทธะถูกไฟไหม้ ต่างพากันตกใจ เพราะเป็นพระปัจเจกพุทธะของพระราชา ด้วยเกรงว่าจะถูกลงโทษจึงช่วยกันทำลายหลักฐาน ด้วยการช่วยกันหาฟืนมาสุมจนท่วมองค์พระปัจเจกพุทธะจนแน่ใจว่าหมดฟืนนี้ พระปัจเจกพุทธะก็คงจะถูกเผาไม่เหลือซาก แล้วก็พากันกลับพระราชนิเวศน์ ความจริงบุคคลแม้จะนำฟืนตั้ง ๑,๐๐๐ เล่มเกวียนมาสุม ก็ไม่อาจทำให้พระปัจเจกพุทธะเกิดความรู้สึกแม้สักว่าอุ่นๆได้ ดังนั้น ในวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธะออกจากสมาบัติแล้วก็เสด็จไปตามปกติ ส่วนหญิงเหล่านั้นเมื่อตายแล้วถูกไหม้ในนรกหลายพันปี พ้นจากนรกแล้วถูกเผาอย่างนี้อีก ๑๐๐ ชาติ นี้เป็นผลกรรมของพระนางสามาวดีกับหญิงสหาย กรรมใหม่ให้ผลทันตา


พระเจ้าอุเทนทรงรู้สึกสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่พระนางสามาวดี ประสบเคราะห์กรรมเช่นนี้ ทรงมีพระดำริว่า ถ้าจะคุกคามถามพระนางมาคันทิยาก็คงจะไม่ยอมรับ จึงออกอุบายตรัสปราศรัยกับอำมาตย์ทั้งหลายว่า:-
“ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนนี้เราจะลุกจะนั่งจะไปในที่ใดๆ ก็หวาดระแวงสงสัยกลัวภัยอยู่รอบข้าง ด้วยพระนางสามาวดีคิดประทุษร้ายต่อเราเป็นนิตย์ บัดนี้พระนางตายแล้ว เรารู้สึกสบายใจไม่ต้องหวาดระแวงอีกแล้ว และการกระทำอันนี้ก็คงเป็นการกระทำของคนที่รักและห่วงใยในตัวเรา ปรารถนาดีต่อเราอย่างแน่นอน”
“พระนางมาคันทิยา ประทับอยู่ในที่นั้นด้วย เมื่อได้ยินพระดำรัสนั้นแล้วจึงกราบทูลว่า:-
“ข้าแต่สมมติเทพ ใครอื่นจะกล้ากระทำ การงานนี้เหม่อมฉันได้สั่งให้อาของหม่อมฉันลงมือกระทำ เพคะ”

พระราชาจึงตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้มีความรักในเรา เสมอกับเจ้านี้ไม่มีอีกแล้ว เราจะให้พรแก่เธอ ขอให้เธอจงเรียกญาติของเธอมารับพรจากเราเถิด”
พระราชา พระราชทานสิ่งของรางวัลอันมีค่าแก่บรรดาญาติๆ ของพระนางมาคันทิยาผู้มาถึงก่อน แม้คนอื่นพอทราบข่าวก็ติดสินบนขอเป็นญาติกับพระนางคันทิยา มาขอรับรางวัลด้วย พระราชารับสั่งให้จับบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดให้ขุดหลุมฝังแค่สะดือ ใช้ฟางข้าวคลุมปิดข้างบน จุดไฟเผาทั้งเป็นแล้ว ใช้ไถเหล็กไถซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ส่วนพระนางมาคันทิยาผู้เป็นต้นเหตุ พระองค์รับสั่งให้เฉือนเนื้อของพระนาง นำไปทอดน้ำมันเดือดแล้วนำมาให้พระนางกิน ทรงกระทำอย่างนี้ จนกระทั่งพระนางสิ้นพระชนม์ไปบังเกิดในทุคติ ซึ่งกล่าวได้ว่าพระนาง ได้รับผลแห่งกรรมในอัตภาพนี้เหมาะสมแล้วส่วนพระนางสามาวดี ผู้มีปกติอยู่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตาวิหาร) ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้อยู่ด้วยเมตตา


TraveLArounD




 

Create Date : 30 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 30 กรกฎาคม 2554 13:44:42 น.
Counter : 2663 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๔ : พระกีสาโคตมีเถรี

พระกีสาโคตมีเถรี


พระกีสาโคตมีเถรี ถือกำเนิดในสกุลคนเข็ญใจในกรุงสาวัตถี บิดามารดาตั้งชื่อให้นางว่า “โคตมี” แต่เพราะความที่นางเป็นผู้มีรูปร่างบอบบาง คนทั่วไปจึงพากันเรียกว่า “กีสาโคตมี” นางได้อยู่ร่วมกับสามีจนมีบุตรหนึ่งคน แต่ไม่นานบุตรของนางก็ถึงแก่ความตาย นางห้ามมิให้คนนำบุตรของนางไปเผา เพราะนางไม่เคยเห็นคนตาย จึงอุ้มร่างบุตรชายที่ตายแล้วนั้นเที่ยวเดินถามตามบ้านเรือนต่างๆ ว่ามียารักษาบุตรของนางบ้างหรือไม่ คนทั้งหลายพากันคิดว่า “นางคงจะเป็นบ้า จึงเที่ยวหายารักษาคนตายให้ฟื้น” อุบาสกผู้มีปัญญาคนหนึ่งเห็นกิริยาของนางแล้วจึงกล่าวกับนางว่า “แม่หนู ฉันเองไม่รู้จักยารักษาลูกของเธอหรอก แต่พระสมณโคดมขณะนี้ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน พระองค์ท่านรู้จักยาที่จะรักษาลูกของเธอได้”








นางรู้สึกดีใจที่ทราบว่า มีคนสามารถรักษาลูกน้อยของนางให้หายได้ จึงอุ้มลูกน้อยรีบมุ่งตรงไปยังพระวิหารเชตวัน เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วทูลถามหายาที่จะนำมารักษาลูกของนางให้หายได้ พระพุทธองค์ รับสั่งให้นางไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาด ที่ได้จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถให้เป็นเครื่องปรุงยาได้ ในดวงจิตของนางคิดว่า ของสิ่งนี้หาไม่ยาก นางอุ้มร่างลูกน้อยเข้าไปในหมู่บ้าน ออกปากขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งแต่บ้านหลังแรกเรื่อยไป ปรากฏว่าทุกบ้านมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดทั้งนั้น แต่พอถามว่าที่บ้านนี้เคยมีคนตายหรือไม่ เจ้าของบ้านต่างก็ตอบเหมือนกันอีกว่า “ที่บ้านนี้ คนที่ยังเหลืออยู่นี้น้อยกว่าคนที่ตายไปแล้ว” เมื่อทุกบ้านต่างตอบกันอย่างนี้ นางจึงเข้าใจว่า “ความตายนั้นเป็นอย่างไรและคนที่ตาย ก็มิใช่ว่าจะตายเฉพาะลูกของเธอเท่านั้น ทุกคนเกิดมาก็ต้องตายเหมือนกันหมด” นางจึงวางร่างลูกน้อยไว้ในป่าแล้ว กลับไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ไม่สามารถจะหาเมล็ดพันธุ์กาดจากบ้านเรือนที่ไม่เคยมีคนตายได้”


พระพุทธองค์ ได้ทรงสดับคำกราบทูลของนางแล้วตรัสว่า “ โคตมี เธอเข้าใจว่าลูกของเธอเท่านั้นหรือที่ตาย อันความตายนั้นเป็นของธรรมดาที่มีคู่กับสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลก เพราะว่ามัจจุราชย่อมฉุดคร่าสัตว์ทั้งหมด ผู้มีอัธยาศัยเต็มเปี่ยมไปด้วยกิเลสตัณหา ให้ลงไปในมหาสมุทรคือ อบายภูมิ อันเป็นเสมือนว่าห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น ” นางได้ฟังพระดำรัสของพระบรมศาสดาจบลง ก็ได้บรรลุผลดำรงตนอยู่ในพระโสดาบันแล้วกราบทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดารับสั่งให้ไปบรรพชาในสำนักของภิกษุณีสงฆ์ นางบวชแล้วได้นามว่า “ กีสาโคตมีเถรี ”


วันหนึ่งพระเถรีได้ไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เห็นแสงประทีปที่จุดอยู่ลุกโพลงขึ้นแล้วหรี่ลงสลับกันไป นางจึงถือเอาดวงประทีปนั้นเป็นอารมณ์ กรรมฐานว่า “สัตว์โลกก็เหมือนกับแสงประทีปนี้ มีเกิดขึ้นและดับไป แต่ผู้ถึงพระนิพพานไม่เป็นอย่างนั้น”


ขณะนั้น พระผู้มีประภาคประทับอยู่ภายในพระคันธกุฎิ ทรงทราบด้วยพระญาณว่านางกำลังยึดเอาเปลวดวงประทีปเป็นอารมณ์กรรมฐานอยู่นั้น จึงทรงแผ่พระรัศมีไปปรากฏประหนึ่งว่าพระองค์ประทับนั่งตรงหน้าของนางแล้วตรัสว่า:- “อย่างนั้นแหละโคตมี สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นและดับไป เหมือนเปลวดวงประทีปนี้ แต่ผู้ถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมไม่ปรากฏอย่างนั้น ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะเดียวของผู้เห็นพระนิพพาน ย่อมประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นพระนิพพานนั้น”


เมื่อสิ้นสุดพระพุทธดำรัส นางก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ดำรงตนเป็นพระเถรีผู้เคร่งครัดในการใช้สอยบริหาร ยินดีเฉพาะผ้าไตรจีวรที่มีสีปอนๆ และเศร้าหมอง เที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงได้ประทานแต่งตั้งพระเถรีนี้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง





 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2554 21:04:28 น.
Counter : 9923 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๓ : สิงคาลมานพ


หลังจากที่โปรดเหล่าชฎิล พระพุทธองค์ได้เสด็จจากอุรุเวลาไปสู่นครราชคฤห์ตามที่เคยได้สัญญาไว้กับพระเจ้าพิมพิสารว่า เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้ว จักเสด็จกลับมาสั่งสอนพระราชาและประชาชนแห่งนครนั้นให้รู้ตามด้วย พระเจ้าพิมพิสารและชาวนครราชคฤห์ ได้ทำการต้อนรับพระองค์ ด้วยความยินดีอย่างสูงสุดในข้อที่ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเสด็จมาโปรดเขาเหล่านั้น


ณ ที่สวนตาลหนุ่มแห่งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงสั่งสอนชี้แจงด้วยพระหฤทัยอันเต็มไปด้วยพระกรุณา โดยวิธีต่างๆ จนกระทั่งพระราชาและประชาชนเหล่านั้น มีความเข้าใจในธรรม ประกาศตนเป็นพระสาวกของพระองค์ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงแสดงความเคารพนับถือ ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ให้ปรากฏออกมาโดยการทรงถวายอุทยานเวฬุวัน ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข


เช้าวันหนึ่ง พระองค์เสด็จออกจาอุทยานเวฬุวัน เพื่อไปบิณฑบาตในนครราชคฤห์ ในระหว่างทางพระองค์ได้ทรงพบชายหนุ่มคนหนึ่งเนื้อตัวเปียกชุมไปหมด ราวกับว่าเพิ่งขึ้นมาจากน้ำ ยืนอยู่กลางถนน ทำอาการโค้งตัวนบไหว้ทิศทั้งสี่ คือทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ แล้วไหว้แหงนขึ้นไปบนฟ้าและไหว้ลงไปทางพื้นดินแทบเท้าของตนในที่สุด และได้โปรยเมล็ดข้าวไปทุกทิศ ในขณะที่ตนกำลังทำการนบไหว้


พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรดูชายหนุ่มคนนั้น ซึ่งกระทำพิธีอันแปลกประหลาดอยู่บนทางสาธารณะจนเสร็จแล้ว ได้ตรัสถามเขาว่า ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น ชายหนุ่มคนนั้นได้ทูลตอบว่า เขาทำเช่นนั้นตามคำสั่งของบิดาซึ่งได้สั่งให้เขากระทำทุกๆเวลาเช้า เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งชั่วร้ายทุกประการ มิให้เข้ามาสู่ตัวเขาทางทิศทั้งสี่และจากเทวดาในเบื้องบนและจากปีศาจในเบื้องต่ำ บิดาของเขาได้ขอร้องเขาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อกำลังจะสิ้นชีพ ให้เขาทำเช่นนั้น ดังนั้น เขาจึงไม่อาจฝ่าฝืนความประสงค์ของบิดา นับตั้งแต่วันที่บิดาของเขาสิ้นชีพเป็นต้นมา เขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีขาดสักวันเดียว


พระพุทธองค์ได้ทรงฟังคำตอบของเขาดังนั้นแล้ว ได้ตรัสว่า "เป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่รักษาคำมั่นสัญญาอันได้ให้ไว้กะบิดา ขณะที่จะสิ้นชีพอย่างซื่อสัตย์แต่ว่าสิ่งที่ท่านกระทำนั้น ยังไม่ตรงตามที่บิดาของท่านมุ่งหมาย "


"ข้อบิดาของท่านสั่งให้ท่านทำการนบไหว้ และโปรยอาหารไปทางทิศตะวันออกนั้น บิดาของท่านหมายความว่าท่านจะต้องแสดงความเคารพสักการะต่อบุคคล ซึ่งให้กำเนิดชีวิตแก่ท่าน โดยเฉพาะ ก็คือมารดาบิดานั่นเอง, การนบไหว้ทางทิศใต้นั้น บิดาของท่านหมายถึงการเคารพสักการะครูบาอาจารย์ ซึ่งสั่งสอนวิชาความรู้ให้ท่าน, การนบไหว้ทางทิศตะวันตกนั้น หมายถึงการทนุถนอมเลี้ยงดูบุตรและภรรยา, การนบไหว้ทางทิศเหนือหมายถึงการเคารพนับถือสงเคราะห์วงศ์ญาติและมิตรสหาย, การนบไหว้ทางทิศเบื้องบนหมายถึงการสักการะบูชาบุคคลผู้มีความดี ความงาม ความประเสริฐ เช่น สมณะและพราหมณ์ เป็นต้น, สำหรับการไหว้ลงเบื้องต่ำทางพื้นดินนั้น หมายถึงการยอมรับนับถือสิทธิในการแสวงสุข และการมีชีวิตของสัตว์ต่ำๆ ทุกประเภทแม้แต่สัตว์ที่ถือกันว่าเล็กและเลวที่สุด ซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดิน บิดาของท่านมุ่งหมายอย่างนี้ จึงได้สั่งให้นบไหว้เช่นนั้น และเป็นการป้องกันอันตรายทุกอย่างอันจะมาถึงทางจากทุกทิศทุกทาง ได้จริง"


พระองค์ได้ทรงอธิบายให้ชายหนุ่มซึ่งมีนามว่า สิงคาละ คนนี้ เข้าใจโดยละเอียด ในสิ่งที่เขาจะต้องประพฤติต่อตนเอง และต่อบุคคลอื่น เพื่อให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พระองค์ได้ทรงแนะนำให้สิงคาละเว้นจากการฆ่า, เว้นจากการลักขโมย, จากการล่วงเกินคนรักของบุคคลอื่น, จากการพูดเท็จ, และการดื่มน้ำเมาทุกชนิด พระองค์ทรงแนะนำให้เขาทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เพื่อการสะสมทรัพย์และในการรักษาทรัพย์ซึ่งหามาได้แล้ว แต่ก็อย่าได้หลงละโมภหรือบริโภคใช้สอยทรัพย์นั้น เพื่อประโยชน์แก่ตนแต่ผู้เดียว และไม่ใช้ทรัพย์ไปในทางสุรุ่ยสุร่ายอย่างโง่เขลา ทรงแนะให้ใช้ทรัพย์จำนวนหนึ่งในสี่ เพื่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวหนึ่งในสี่ในการขยายการงานอาชีพของตนให้กว้างขวางออกไป หนึ่งในสี่ในการช่วยเหลือคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ และอีกหนึ่งในสี่เก็บไว้เป็นทุนสำรองเมื่อคราวภัยพิบัติเกิดขึ้นจักได้ใช้สอยทันท่วงที


สิงคาละได้ตั้งใจฟังคำแนะนำของพระองค์ด้วยความเคารพและได้กราบทูลแก่พระองค์ว่าเมื่อบิดาของเขายังมีชีวิตอยู่นั้น เขาเองได้กล่าวกับบิดาของเขาอยู่บ่อยๆ ถึงข่าวเล่าลืออันเกี่ยวกับพระองค์ว่าทรงเป็นศาสดาเอกและได้พยายามขอร้องให้บิดาของเขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อรับคำสั่งสอน แต่บิดาของเขาได้ปฏิเสธเสียทุกคราวไป โดยพูดว่าลำบากเกินไปบ้าง เหนื่อยเปล่าบ้าง ไม่มีเวลาบ้าง ไม่มีเงินที่จะใช้จ่ายในการเดินทางบ้าง กล่าวดังนี้แล้วชายหนุ่มชื่อสิงคาละนั้นได้ทูลขอร้องให้พระพุทธองค์ทรงยกโทษให้แก่บิดาของเขา และตัวเขาเอง ขอสมัครเป็นสาวกของพระองค์ ยืนยันในการที่จะทำการไหว้ทิศทั้งหก ตามวิธีที่พระองค์แนะนำโดยครบถ้วนจนตลอดชีวิต


(จากสิงคาโลวาทสูตร ในคัมภีร์ฑีฆนิกาย)







 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2554 18:52:27 น.
Counter : 2271 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ยินดีต้อนรับทุกท่านที่แวะเข้ามาชม blog มีข้อคิดเห็น เชิญ comment มาได้นะครับ ถ้าตอบได้ จะตอบให้ทันทีครับ แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องขอเวลา จะค้นคว้ามาให้อ่านกัน ท่านที่จะถามคำถาม หรือติดต่อเรื่องบทความ ได้ทาง Email :- d_sign_place@yahoo.com ครับ


เรื่องต่างๆที่ผมได้เขียนหรือรวบรวม เรียบเรียงมานี้ ยินดีให้ทุกท่านได้อ่านเป็นวิทยาทานและเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำไปโพสต่อใน website สาธารณะ หรือ website อื่นใดที่ไม่ใช่ทางพาณิชย์ กรุณาระบุที่มา คือ https://www.travelaround.bloggang.com และนามปากกาผู้เขียนคือ TraveLArounD ด้วย

แต่ขอสงวนสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ ในเชิงพาณิชย์ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จะถูกดำเนินคดี ตามกฏหมายลิขสิทธิ์

ส่วนบทความหรือภาพถ่ายใดๆ ที่ได้นำมาจาก website อื่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องนั้นๆ เป็นการถ่ายทอดจากวิจารณญาณแล้วว่า มีความถูกต้องเป็นจริง มากที่สุด และได้นำมาจาก website ที่เป็นสาธารณะ ถ้าเรื่องราวหรือภาพของท่านที่ได้นำมาถ่ายทอดนี้ ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน กรุณาแจ้งมาทาง email :– nana_sara1000@ymail.com ผมจะทำการลบข้อมูลหรือภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ออกทันที

Acknowledges that I try to write or report accurately but postings may contain fact , speculation or rumor. I find images from the Web that are believed to belong in the public domain. If any stories or images that appear on the site are in violation of copyright law, please email to :- nana_sara1000@ymail.com and I will remove the offending information as soon as possible.


Website counter
: Users Online









ที่ดินเชียงใหม่ ทางไปแม่ริม ใกล้ศาลากลาง และสนามกีฬา 700 ปี ติดน้ำปิง ในหมู่บ้านเพชรริมปิง พื้นที่ 667 ตารางวา @ 14,000.- บาท สภาพแวดล้อมดี สนใจติดต่อ โทร. 0859559950



DESIGN PLACE CO.,LTD. รับออกแบบ และตกแต่งภายใน บ้านพักอาศัย ในแบบไทย และไทยร่วมสมัย



มรดก ฉบับที่ 1

มรดก ฉบับที่ 2

มรดก ฉบับที่ 3

มรดก ฉบับที่ 4

มรดก ฉบับที่ 5

มรดก ฉบับที่ 6

มรดก ฉบับที่ 7

ช่วยสนับสนุนการจัดทำ BLOG ด้วยการซื้อหนังสือ "มรดก" 1ชุด 7เล่ม (หนังสือเก่า) ในราคาชุดละ 700 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์)

สนใจสั่งซื้อทาง E-mail :- nana_sara1000@ymail.com



New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add travelaround's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.