"ความสามัคคีปรองดอง เป็นกำลังอย่างสูงสุดของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ความสามัคคีของคนในชาติ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และทำให้สังคมไทย ร่มเย็นเป็นสุข" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สนใจลงโฆษณา ในพื้นที่ข้างบน ติดต่อ email : nana_sara1000@ymail.com
Home Lover’s Corner นานา สาระ๑๐๐๐ นานา สารพัด พระพุทธประวัติ ภาคพิเศษ
Travel Around the World Real Estate Buyer's Guide สุขภาพกาย สุขภาพใจ Pets & Animals
ปางพระพุทธรูปตามพุทธประวัติ Horoscope 12 ราศี พระพุทธศาสนา World of Beautiful Musics

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๒ : เจ้าอชาติศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร

ในช่วงปีที่ 17 พระพุทธเจ้าทรงย้อนกับมายังแคว้นมคธ กรุงราชคฤห์อีกครั้ง แล้วประทับจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ เพื่อทรงดำเนินเผยแผ่พระสัทธรรมต่อไป

ในขณะที่พระเทวทัต ยุยงให้เจ้าชายอชาติศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร จนเจ้าชายอชาติศัตรูทรงเชื่อ ส่วนพระเทวทัตเองก็พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าอีกทางหนึ่ง


โดยเจ้าอชาติศัตรูพยายามปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ด้วยการแอบเอาดาบเข้าไปในห้องบรรทมของพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารรู้สึกองค์เสียก่อน เจ้าชายอชาติศัตรูจึงตกใจทำดาบที่แอบไว้กับกายตกลงบนพื้น พระเจ้าพิมพิสารเห็นก็รู้ว่าเจ้าชายอชาติศัตรูประสงค์จะปลงพระชนม์พระองค์ เพราะต้องการราชสมบัติ แต่ด้วยความเมตตาในเจ้าชายอชาติศัตรูราชโอรส พระเจ้าพิมพิสารจึงมอบราชสมบัติทั้งหมดให้เจ้าชายอชาติศัตรูเสียเลย พระเจ้าอชาติศัตรูจึงได้ครองกรุงราชคฤห์ และเป็นกำลังให้กับพระเทวทัตที่พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า


แม้เจ้าชายอชาตศัตรูได้ขึ้นครองบัลลังก์แล้วก็ตาม แต่พระเทวทัตก็ยังไม่หยุดแผนการชั่วร้าย ยังยุยงให้ประหารพระบิดาเพื่อมิให้เปลี่ยนใจกลับมาขึ้นครองราชย์อีก แต่เจ้าชายอชาตศัตรูยังไม่สั่งประหารด้วยศาตรา แต่สั่งให้เอาพระบิดาใส่เข้าในเรือนอบ เพื่อให้อดอาหารตาย แต่ก็ยังอนุญาตให้พระมารดาเข้าเยี่ยม ซึ่งพระมารดาก็เข้าเยี่ยมโดยแอบซ่อนอาหารเขาไปถวายอยู่อย่างสม่ำเสมอ พระเจ้าพิมพิสารจึงไม่สวรรคตดังประสงค์ ในที่สุดก็ไม่ยอมให้พระมารดาเข้าเยี่ยม แต่พระเจ้าพิมพิสารที่ไม่มีพระกระยาหาร กลับยังดํารงพระชนม์อยู่ได้ด้วยความสุขประกอบด้วยมรรคผล (ทรงเป็นพระโสดาบัน) ด้วยวิธีเดินจงกรม พระวรกายของพระองค์ก็เปล่งปลั่งยิ่งขึ้น









พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงบังคับช่างกัลบกเอามีดโกนผ่าพระบาททั้ง ๒ ของพระบิดา แล้วเอาน้ำมันผสมเกลือทา แล้วย่างด้วยถ่านไม้ตะเคียนซึ่งติดไฟคุไม่มีเปลวเลย พระราชาพิมพิสารทรงเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง จนถึงแก่สวรรคต


ในวันเดียวกันนั่นเอง พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติพอดี พวกอํามาตย์จึงปรึกษากันว่าหนังสือ ๒ ฉบับ คือข่าวพระโอรสประสูติฉบับหนึ่ง และข่าวพระบิดาสวรรคตฉบับหนึ่ง มาถึงในขณะเดียวกันพอดี พวกเราจักทูลข่าวพระโอรสประสูติก่อน จึงเอาหนังสือข่าวประสูตินั้นทูลถวายในพระหัตถ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู












ความรักลูกเกิดขึ้นแก่พระองค์ในขณะนั้นทันที ท่วมไปทั่วพระวรกายแผ่
ไปจดเยื่อในกระดูก ในขณะนั้นพระองค์จึงได้รู้ซึ้งถึงคุณของพระบิดาว่า
แม้เมื่อเราเกิด พระบิดาของเราก็คงเกิดความรักอย่างนี้เหมือนกัน จึงรีบ
มีรับสั่งอํามาตย์ว่า จงไปปล่อยพระบิดาของเรา พวกอํามาตย์ทูลว่า
พระองค์สั่งให้ปล่อยอะไรพระเจ้าข้า แล้วถวายหนังสือแจ้งข่าวอีกฉบับ
หนึ่งที่พระหัตถ์ พอทรงทราบความเป็นไปดังนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู
ทรงกันแสง เสด็จไปเฝ้าพระมารดา ทูลว่า ข้าแต่เสด็จแม่ เมื่อหม่อมฉัน
เกิด พระบิดาของหม่อมฉันเกิดความรักหม่อมฉันหรือไม่ พระนาง
เวเทหิมีรับสั่งว่า เจ้าลูกโง่ เจ้าพูดอะไร เวลาที่ลูกยังเล็กอยู่ เกิดเป็น
ฝีที่นิ้วมือ ครั้งนั้นพวกแม่นมทั้งหลายไม่สามารถทําให้ลูกซึ่งกําลังร้องไห้
หยุดร้องได้ จึงพาลูกไปเฝ้าเสด็จพ่อของลูกซึ่งประทับนั่งอยู่ในโรงศาล
เสด็จพ่อของลูกได้อมนิ้วมือของลูกจนฝีแตกในพระโอษฐ์นั้นเอง เสด็จพ่อของลูกมิได้เสด็จลุกจากที่ประทับ แต่ทรงกลืนพระบุพโพปนพระโลหิตนั้นด้วยความรักลูก เสด็จพ่อของลูกมีความรักลูกถึงปานนี้ พระเจ้าอาชาตศัตรูทรงกันแสงคร่ำครวญ จึงได้จัดการถวายเพลิงพระศพพระบิดา




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2554 20:43:32 น.
Counter : 10165 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๑ :ทรงโปรดอุคคะคฤหบดี

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๑ :ทรงโปรดอุคคะคฤหบดี

อุคคะคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลี
เอตทัคคะในทางผู้ถวายสิ่งที่น่าพอใจ


คฤหบดีชาวเมืองเวสาลีคนหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ยกย่องว่าเป็นยอดของผู้ถวายสิ่งที่น่าพอใจ ด้วยเพราะท่านมีร่างกายสูงเป็นสง่าทั้งมีคุณธรรมสูง ท่านจึงได้ชื่อว่าอุคคะ (หรืออุคคตะ) เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกท่านก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลต่อมาไม่นาน ท่านก็ได้บรรลุอนาคามิผล

ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านแก่แล้ว ท่านนั่งอยู่ที่สงัดแห่งหนึ่ง ได้เกิดความคิดขึ้นว่า ท่านชอบใจสิ่งใด ท่านก็จะถวายสิ่งนั้นแด่พระพุทธองค์ เพราะท่านเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตรงตามพระพุทธพจน์ที่ท่านได้ฟังมาเองว่า "ผู้ให้สิ่งที่พอใจ ย่อมได้สิ่งที่พอใจ" ครั้นคิดเช่นนั้นแล้วก็ตั้งจิตปรารถนาขอให้พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดถึงบ้านของตน พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงได้เสด็จไปปรากฏพระองค์ที่ประตูบ้านของท่านพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์

ท่านทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดถึงบ้าน จึงรีบกระวีกระวาดออกไปต้อนรับ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ รับบาตรของพระพุทธองค์ แล้วกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของตน เมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้ประทับนั่งบนอาสนะอันสมควร แล้วได้ถวายขาทนียโภชนียาหาร คือของเคี้ยวของฉันที่มีรสอร่อยยิ่งแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นพระประมุข

ขณะที่พระองค์กำลังเสวยอยู่นั้นคฤหบดีและคนอื่น ๆ ต่างก็คอยปรนนิบัติอยู่อย่างใกล้ชิด ต่างก็ชื่นชมยินดีอยู่ในรูปโฉมของพระพุทธองค์ บ้างก็มีความศรัทธาใคร่จะฟังกระแสพระราชดำรัส บ้างก็นิยมติดใจในพุทธลีลาส และสีของสบง จีวร

ครั้นพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านจึงกราบทูลว่าสิ่งใดที่ท่านพอใจ สิ่งนั้นท่านก็ได้ถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นพระประมุข สำเร็จตามความตั้งใจแล้ว

เมื่อเสวยเสร็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุโมทนาเป็นคาถาว่า "ผู้ให้สิ่งที่พอใจ ย่อมได้สิ่งที่พอใจ ผู้ใดเต็มใจถวายเครื่องนุ่งห่ม ที่นั่งที่นอน ข้าวน้ำ และปัจจัยต่างๆ ในท่านผู้ประพฤติตรงทั้งหลาย ผู้นั้นรู้จักการเสียสละ การบริจาค และการอนุเคราะห์ในพระอรหันต์ผู้เปรียบเสมือนนาบุญ ผู้ให้สิ่งที่พอใจย่อมได้สิ่งที่พอใจ ดังนี้"

ตั้งแต่บัดนั้นมา ท่านก็ได้ถวายสิ่งที่ตนพอใจแก่พระสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขเสมอ




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2553    
Last Update : 15 ธันวาคม 2553 22:23:02 น.
Counter : 803 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๐ : นายสุมนมาลาการ

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๔๐ : นายสุมนมาลาการ


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ตรัสพระธรรมเทศนา เรื่องนายมาลาการ ว่า "ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ" ดังนี้

นายมาลาการนั้น เป็นผู้ที่บำรุงพระเจ้าพิมพิสารด้วยดอกมะลิ ๘ ทะนานแต่เช้าตรู่ทุกวัน ได้ทรัพย์วันละ ๘ กหาปณะ ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อนายมาลาการถือดอกไม้ พอเข้าไปสู่พระนคร แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า อันมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงเปล่งพระรัศมี ๖ ประการ เสด็จเข้าไปสู่พระนคร เพื่อบิณฑบาต


นายมาลาการบูชาพระศาสดาด้วยดอกไม้

ครั้นนายมาลาการเห็นอัตภาพพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นกับด้วยรัตนะอันมีค่าและทองอันมีค่า แลดูพระสรีระของพระพุทธองค์อันพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ จึงมีจิตเลื่อมใส แล้วคิดว่า "เราจักทำการบูชาอันยิ่งแด่พระศาสดาอย่างไรหนอ?" เมื่อไม่เห็นสิ่งอื่น จึงคิดว่า "เราจักบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกไม้เหล่านี้" แต่ก็คิดอีกว่า "ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้สำหรับบำรุงพระราชาประจำ, พระราชา เมื่อไม่ทรงได้ดอกไม้เหล่านี้ พึงให้จองจำเราบ้าง พึงให้ฆ่าเราบ้าง พึงขับไล่เสียจากแว่นแคว้นบ้าง, เราจะทำอย่างไรหนอ?"

แต่แล้วกลับคิดได้ว่า "พระราชาจะทรงฆ่าเราเสียก็ตาม ขับไล่เสียจากแว่นแคว้นก็ตาม แต่พระราชานั้น พระราชทานแก่เรา เพียงทรัพย์สักว่าเลี้ยงชีพในอัตภาพนี้, ส่วนการบูชาพระศาสดา อาจเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่เราในโกฏิกัปเป็นอเนกทีเดียว" นายมาลาการคิดว่า "จิตเลื่อมใสของเราไม่กลับกลายเพียงใด เราจักทำการบูชาเพียงนั้นทีเดียว" เมื่อคิดสละชีวิตของตน แด่พระตถาคตแล้ว เขาจึงมีจิตเบิกบานและแช่มชื่น เพื่อบูชาพระศาสดา









ความอัศจรรย์ของดอกไม้ที่เป็นพุทธบูชา

นายมาลาการซัดดอกไม้ ๒ กำขึ้นไปในเบื้องบนแห่งพระตถาคตก่อน ดอกไม้ ๒ กำนั้นได้ตั้งเป็นเพดานในเบื้องบนพระเศียร เขาซัดดอกไม้ ขึ้นอีก ๒ กำ ดอกไม้ ๒ กำนั้นได้ย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระหัตถ์ขวา โดยอาการอันมาลาบังไว้ เขาซัดดอกไม้อื่นอีก ๒ กำ ดอกไม้ ๒ กำนั้น ได้ห้อยย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระปฤษฎางค์ เขาซัดดอกไม้อีก ๒ กำที่เหลือ ดอกไม้ ๒ กำนั้น ก็ห้อยย้อยลงมาตั้งอยู่ทางด้านพระหัตถ์ซ้าย อย่างนั้นเหมือนกัน. ดอกไม้ ๘ ทะนานเป็น ๘ กำ แวดล้อมพระตถาคต ทั้ง ๔ ด้าน มีทางพอเป็นประตู เดินไปข้างหน้าได้เท่านั้น ทั้งขั้วดอกไม้ทั้งหมดได้หันหน้าเข้าข้างใน, หันกลีบออกข้างนอก แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า ราวกับล้อมด้วยแผ่นเงิน


นายมาลาการบอกแก่ภรรยา

นายมาลาการเต็มเปี่ยมด้วยปีติ ครั้นเมื่อได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ได้ถือเอากระเช้าเปล่ากลับสู่เรือน
ครั้งนั้น ภรรยาถามเขาว่า "ดอกไม้อยู่ที่ไหน?"
มาลาการ “เราบูชาพระศาสดาแล้ว”
ภรรยา “บัดนี้ ท่านจักทำอะไรแด่พระราชาเล่า?”
มาลาการ “พระราชาจะทรงฆ่าเราก็ตาม ขับไล่จากแว่นแคว้นก็ตาม, เราสละชีวิตบูชาพระศาสดาแล้ว”

ภรรยาไม่เลื่อมใสฟ้องพระราชา

แต่ภรรยาของเขาเป็นหญิงอันธพาล ไม่มีความเลื่อมใสในพระปาฏิหาริย์ กลับด่าเขา แล้วกล่าวว่า "ธรรมดาพระราชาทั้งหลายเป็นผู้ดุร้าย กริ้วคราวเดียวก็กระทำความพินาศมาก ด้วยการตัดมือและเท้าเป็นต้น ความพินาศพึงมีแก่เรา เพราะกรรมที่เธอกระทำ" แล้วเธอจึงพาพวกบุตรไปเข้าเฝ้า พระราชาตรัสเรียกมาถามว่า "อะไรกันนี่?"

เธอจึงกราบทูลว่า "สามีของหม่อมฉัน เอาดอกไม้สำหรับบำรุงพระองค์ ไปบูชาพระศาสดาแล้ว กลับมือเปล่ามาสู่เรือน เมื่อถูกหม่อมฉันถามว่า ‘ดอกไม้อยู่ไหน?’ ก็กล่าวคำชื่อนี้, หม่อมฉันด่าเขาแล้วกล่าวว่า ‘ธรรมดาพระราชาทั้งหลายเป็นผู้ดุร้าย กริ้วคราวเดียว ก็กระทำความพินาศมาก ด้วยการตัดมือและเท้าเป็นต้น, ความพินาศพึงมีแก่เรา เพราะกรรมที่เธอกระทำ’ ดังนี้แล้ว ก็ละทิ้งเขามาในที่นี้; กรรมที่เขากระทำ จะเป็นกรรมดีก็ตาม จะเป็นกรรมชั่วก็ตาม, กรรมนั้นจงเป็นของเขาผู้เดียว, ขอเดชะ พระองค์จงทรงทราบความที่หม่อมฉันละทิ้งเขาแล้ว


พระราชาทรงทำเป็นกริ้ว

แต่พระราชาที่ทรงบรรลุโสดาปัตติผล ด้วยถึงพร้อมด้วยศรัทธา เป็นอริยสาวกด้วยการเห็นทีแรก ทรงดำริว่า "โอ! หญิงนี้เป็นอันธพาล ไม่ยังความเลื่อมใสในคุณเห็นปานนี้ให้เกิดขึ้น."

ท้าวเธอจึงทำเป็นกริ้ว ตรัสว่า "เจ้าพูดอะไร แม่? นายมาลาการนั้นกระทำการบูชา ด้วยดอกไม้สำหรับบำรุงเราหรือ?" หญิงนั้นทูลว่า "ขอเดชะ พระเจ้าข้า."

พระราชาตรัสว่า "ความดีอันเจ้าทิ้งเขาแล้ว, เรารู้กิจที่ควรกระทำแก่นายมาลาการผู้กระทำการบูชา ด้วยดอกไม้ทั้งหลายของเรา" ทรงส่งหญิงนั้นไปแล้ว รีบเสด็จไปในสำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว เสด็จเที่ยวไปด้วยพระศาสดา

พระศาสดาทรงทราบความเลื่อมใสแห่งพระหฤทัยของพระราชานั้น เสด็จเที่ยวไปสู่พระนครตามถนนแล้ว ได้เสด็จไปสู่พระทวารแห่งพระราชมนเทียรของพระราชา. พระราชาทรงรับบาตร ได้ทรงมีพระประสงค์จะเชิญเสด็จพระศาสดาเข้าไปสู่พระราชมนเทียร. ส่วนพระศาสดาได้ทรงแสดงพระอาการที่จะประทับนั่งในพระลานหลวงนั่นเอง. เมื่อพระราชาทรงทราบพระอาการนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้กระทำปะรำในทันที พระศาสดาทรงประทับนั่งกับหมู่ภิกษุแล้ว.

เพราะ พระศาสดา มีความปริวิตกว่า ‘ถ้าว่าเราพึงเข้าไปนั่งในภายในไซร้ มหาชนจะไม่พึงได้เห็นเรา คุณของนายมาลาการจะไม่พึงปรากฏ แต่ว่ามหาชนจักได้เห็นเรา ผู้นั่งอยู่ ณ พระลานหลวง, คุณของนายมาลาการจักปรากฏ.’


พระราชาได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ แล้วตามส่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับวัดเวฬุวันแล้ว จึงมีรับสั่งให้นายสุมนมาลาการเข้าเฝ้า
เมื่อนายสุมนมาลาการมาเข้าเฝ้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารตรัสยกย่องสรรเสริญนายสุมนมาลาการว่าเป็นมหาบุรุษ แล้วพระราชทานสิ่งของ ๘ ชนิด คือช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับใหญ่ กหาปณะ นารี อย่างละแปด ที่นำมาจากราชตระกูล และบ้านส่วยอีก ๘ ตำบล


พระศาสดาตรัสสรรเสริญนายมาลาการ

เมื่อกลับถึงวัด พระอานนท์ได้ทูลถามถึงผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้จักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ดอกไม้เหล่านั้นจึงตกลงที่ประตูกุฎีนั้นแล

ในเวลาเย็น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรม เรื่องการบูชาพระพุทธเจ้าของนายสุมนมาลาการแล้วได้รับของพระราชทาน ๘ อย่างจากพระเจ้าพิมพิสาร พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้เอิบอิ่ม มีความสุขใจ นั่นแหละเรียกว่า กรรมดี"
นายสุมนมาลาการ เป็นอุบาสกที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนได้ท่านได้เสียสละชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า นั่นคือ สละชีวิตเพื่อทำความดี รักษาความดีเอาไว้ แม้ชีวิตจะหาไม่ก็ตาม จึงเป็นบุคคลที่ควรยกย่องและเป็นแบบอย่างได้




 

Create Date : 12 กันยายน 2553    
Last Update : 12 กันยายน 2553 22:42:09 น.
Counter : 16249 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๓๙ : ทรงโปรดอาฬวกยักษ์

พระพุทธเจ้าทรงย้อนกลับมายังกรุงสาวัตถีแคว้นโกศล แล้วทรงเสด็จไปยังเมืองอาฬวี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีไป 30 โยชน์ (480 กิโลเมตร)
เจ้าผู้ครองนครอาฬวี ชอบการล่าสัตว์ เป็นกิจวัตร วันหนึ่งพลัดหลงเข้าไปใต้ต้นไทร ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามของอาฬวกยักษ์ จึงถูกยักษ์จับไว้ เพื่อกินเป็นอาหาร ด้วยความกลัวตายจึงเอาตัวรอดด้วยการต่อรอง เจ้าอาฬวีสัญญาว่าจะส่งคนมาแลกชีวิต วันละหนึ่งคนทุกวัน ยักษ์จึงยอมปล่อยตัว ในตอนแรกทรงส่งนักโทษมาให้ก่อน จนนักโทษหมดจึงส่งเด็กมาแทน พระบรมศาสดาได้ทราบด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปยังที่อยู่ของยักษ์ แล้วแสดงธรรมโปรดจนอาฬวกยักษ์ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน

เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “จงออกไปเถิดสมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละท่าน” แล้วได้เสด็จออกไป
อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “จงเข้ามาเถิดสมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละท่าน” แล้วได้เสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓ ... แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าจงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรท่าน เราจักไม่ออกไปละท่านจงกระทำกิจที่ท่านจะพึงกระทำเถิดฯ

“อา... ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหากะท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้ง จักฉีกหัวใจของท่านหรือจักจับที่เท้าทั้งสองของท่านแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฯ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรายังไม่มองเห็นบุคคลผู้ที่จะพึงควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้ง จะพึงฉีกหัวใจของเรา หรือจะพึงจับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาได้ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดูกรท่าน ก็และท่านหวังจะถามปัญหาก็จงถามเถิดฯ”

ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้ อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ อะไรเล่าเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐที่สุดฯ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ศรัทธาเป็นทรัพย์ เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ สัจจะแลเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าว ชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐที่สุดฯ”
อาฬวกยักษ์กล่าว “บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้อย่างไร บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้อย่างไร บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไรฯ”
พระผู้มีพระภาคตอบ “บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญาฯ”













อาฬวกยักษ์กล่าว “บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร ย่อมหาทรัพย์ได้อย่างไร ย่อมได้ชื่อเสียงอย่างไร ย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้อย่างไร บุคคลละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไรฯ”
พระผู้มีพระภาคตอบ “บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อบรรลุนิพพานเป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา บุคคลผู้มีธุระกระทำสมควร มีความหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือนมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ ผู้นั้นแล ละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ชื่อเสียงยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งการได้ปัญญายิ่งไปกว่าธรรมะก็ดี เหตุแห่งการผูกมิตรยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านไปถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิดฯ”
อาฬวกยักษ์กล่าว “บัดนี้ ข้าพระองค์จะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากทำไมเล่า วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัดประโยชน์อันเป็นไปในภพหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองอาฬวี เพื่อประทับอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัดพระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ที่บุคคลถวายทานแล้ว เป็นทานมีผลมาก ข้าพระองค์จักนอบน้อมพระสัมมาพุทธเจ้า และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้านจากเมืองสู่เมืองฯ

หลังจากจบคำสนทนาและการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เหล่าพวกอาฬวกยักษ์ 84000 ตน ก็บรรลุเป็นพระอริยะ ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป แล้วพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่เมืองอาฬวีนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็ดำเนินเสด็จออกโปรดสัตว์ตามพุทธกิจ




 

Create Date : 16 เมษายน 2553    
Last Update : 12 กันยายน 2553 22:43:13 น.
Counter : 2397 Pageviews.  

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๓๘ :ทรงโปรดอสุรินทราหู

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๓๘ : ทรงโปรดอสุรินทราหู


ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถีครั้งนั้น อสุรินทราหู อุปราชแห่งท้าวเวปจิตติ อสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับคำสรรเสริญถึงพระเกียรติคุณของพระบรมศาสดาจากสำนักเทพยดาทั้งหลายว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงเพียบพร้อมไปด้วยวิชชาและจรณะ ทรงรู้แจ้งโลก" เมื่ออสุรินทราหู ได้ฟังแล้ว ก็มีความปรารถนาใคร่ที่จะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่มาหวนคำนึงว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นมนุษย์มีพระวรกายที่เล็ก ถ้าเราจะไปเฝ้าก็ต้องก้มลงมอง เป็นความลำบากมาก ซึ่งตัวเราเองก็ไม่เคยก้มเศียรให้แก่ใคร" เมื่ออสุรินทราหูได้หวนคำนึงด้วยประการดังนี้แล้ว ก็ระงับการที่จะไปเฝ้าพระบรมศาสดา

แต่ครั้นได้เห็นเหล่าเทพยดาทั้งหลาย ที่พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นจำนวนมาก ๆ ความคิดที่จะไปเฝ้าก็เกิดขึ้นอีก ทั้งยังได้ทราบพระคุณสมบัติของพระบรมศาสดาว่า "พระองค์ทรงมีพระพักตร์เบิกบานเสมอ ทรงมีการปฏิสันถารอันดี" ดังนั้น ณ เพลาราตรีหนึ่ง อสุรินทราหูจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ ก่อนที่อสุรินทราหูจะไปเฝ้านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณเป็นอย่างดี ทั้งทรงทราบถึงความในใจของอสุรินทราหูด้วย ทรงรับสั่งแก่พระอานนท์ว่า "ดูกร อานนท์ เธอจงจัดสถานที่รับรองที่บริเวณพระคันธกุฏี อันเป็นสถานที่กว้างใหญ่ เธอจงลาดบรรจถรณ์ของตถาคตไว้ ณ ที่นั้น ด้วยตถาคตจะนอนรอรับอสุรินทราหู เพื่อให้โอกาสแก่อสุรินทราหูได้เห็นตถาคตอย่างใกล้ชิด และถนัดชัดเจน"













ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จบรรทม ณ พระแท่นที่ประทับ ทรงกระทำปาฏิหาริย์ เนรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่ากายของอสุรินทราหูหลายเท่า ซึ่งพระรูปนี้ จะปรากฏเฉพาะแต่อสุรินทราหูแต่ผู้เดียวเท่านั้น เมื่อได้เวลา อสุรินทราหูก็เข้าไปเฝ้า ครั้นเห็นพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจ กล่าวคือ แม้แต่เพียงพระบาททั้งสองข้างที่ซ้อนกันอยู่ ก็สูงและใหญ่กว่าตนเสียอีก อสุรินทราหูได้เข้าไปใกล้แล้ว ถวายอภิวาท แทนที่จะก้มลงดูพระผู้มีพระภาคดังที่คิดไว้แต่แรกนั้น กลับต้องแหงนหน้าชมพระพุทธลักษณะอันงดงาม นับแต่พื้นพระบาทจนถึงพระพักตร์ เมื่ออสุรินทราหูได้ยลพระรูปลักษณะแล้วก็บังเกิดความปลาบปลื้มเป็นยิ่งนัก


ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งปฏิสันถาร เพื่อให้เกิดความชื่นบานแก่อสุรินทราหูยิ่งขึ้น แล้วตรัสว่า "อสุรินทราหู บุคคลทั้งหลายเมื่อได้ทราบ ข่าวเล่าลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ หากยังไม่ได้เห็น ยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แก่ใจตนแล้ว ไม่พึงติชมก่อน อสุรินทราหู ท่านคงเข้าใจว่า ท่านมีร่างกายใหญ่กว่าเทพยดาและอสูรทั้งหลาย จริงอยู่ บรรดาอสูรทั้งหลายในอสูรพิภพนั้นมีร่างกายเล็กกว่าท่าน แต่ท่านคิดหรือเปล่าว่า ในที่อื่นอาจมีร่างกายใหญ่กว่าท่าน เหมือนปลาใหญ่ในหนองคลองบึง มันอาจคิดว่าตัวมันโตกว่าปลาทั้งหมด ไม่มีปลาตัวใดจะเสมอได้ เพราะมันยังไม่ได้เห็นปลาในมหาสมุทร อสุรินทราหู แม้ท่านเองก็มีความรู้สึกเช่นนั้น ดูกร อสุรินทราหู บรรดาพรหมทั้งหลายในพรหมโลกชั้นบนทั้งหมด ล้วนมีร่างกายใหญ่กว่าท่าน ถ้าท่านมีความปรารถนาจะใคร่ชมพรหมเหล่านั้น ตถาคตจะพาท่านไป และไปชมได้ในขณะนี้ "


ครั้นอสุรินทราหูได้สดับพระพุทธดำรัสแล้ว จึงทูลขอประทานพระกรุณาให้พาไปชมพรหมทั้งหลายในพรหมโลก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูไปยังพรหมโลกทันทีทันใดนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นไปปรากฎพระองค์ ณ พรหมโลกแล้ว บรรดาพรหมทั้งหลายต่างก็มาเฝ้าเป็นอันมาก บรรดาพรหมที่พากันมาเฝ้าเหล่านั้น ล้วนแต่มีร่างกายใหญ่กว่าอสุรินทราหูทั้งนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมีพระวรกายปรากฏใหญ่กว่ามหาพรหมเหล่านั้นทั้งหมด


ส่วนอสุรินทราหูคงมีร่างกายเท่าเดิม จึงบังเกิดความหวาดกลัวตัวสั่นเทา ได้หลบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) พระผู้มีพระภาคเจ้า ปรากฏเหมือนแมงมุมที่เกาะปลายจีวรแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าฉะนั้น ท้าวมหาพรหมได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาพาเอาตัวอะไรขึ้นมาด้วยพระเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบว่า "ดูกร ท้าวมหาพรหม ผู้นี้ คือ อสุรินทราหู ซึ่งเธอสำคัญตัวว่ามีร่างกายที่ใหญ่โต ใคร่อยากที่จะได้เห็นผู้ที่มีร่างกายใหญ่กว่าตนนี้ ยังจะมีอยู่หรือไม่ ตถาคตจึงได้พาเธอขึ้นมาบนพรหมโลกนี้ เพื่อที่จะให้เธอได้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง"


ท้าวมหาพรหมจึงกราบทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า "เป็นจริงเช่นนั้นพระเจ้าข้า อันว่าธรรมดาวิสัยของคนที่มีทิฐิมานะอันกระด้าง ย่อมสำคัญตัวเองว่าเหนือกว่าบุคคลผู้อื่นอยู่เสมอ"
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พรหมโลกพอสมควรแก่เวลา พระองค์ก็ตรัสอำลาท้าวมหาพรหม พระองค์ทรงพาอสุรินทราหู กลับลงมายังพระเชตวันมหาวิหาร ทรงทรมาน (แสดงธรรมโปรด) อสุรินทราหูให้ลดทิฐิมานะอันกระด้างลงได้ ครั้งนั้น อสุรินทราหูกลับมีใจเลื่อมใสในพระคุณของพระบรมศาสดา ได้เล็งเห็นวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ แล้วกราบทูลลากลับที่อยู่แห่งตน


จากเรื่องราวดังกล่าว จะเห็นได้ว่า พระราหู หรืออสุรินทราหู นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีจิตใจหยาบช้า หรือ แข็งกระด้าง เกินกว่าที่พระพุทธองค์จะทรงโปรดได้ และเมื่อพระราหูได้มีโอกาสฟังพระธรรมของพระพุทธองค์บ่อยครั้งเข้า (เมื่อคราวขึ้นมาไล่จับพระอาทิตย์ และ พระจันทร์ อมเล่น) ก็มีจิตน้อมนำให้ใฝ่ในธรรม










พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายแนบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย ( หมอน ) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ ( รักแร้ ) เราจะพบพระพุทธรูปปางนี้ ได้หลายๆแห่ง ที่เรามักเรียกกันว่าพระนอน ที่จริงแล้ว พระนอนยังมีปางอื่นๆอีกหลายปางมาก แต่ปางที่นิยมสร้างให้ใหญ่โตมากๆ ก็จะเป็นปางนี้ เพื่อเป็นการแสดงความศรัทธาที่มีต่อ พระพุทธองค์ ในการโปรดอสุรินทราหูนั่นเอง






 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 0:47:46 น.
Counter : 4438 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ยินดีต้อนรับทุกท่านที่แวะเข้ามาชม blog มีข้อคิดเห็น เชิญ comment มาได้นะครับ ถ้าตอบได้ จะตอบให้ทันทีครับ แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องขอเวลา จะค้นคว้ามาให้อ่านกัน ท่านที่จะถามคำถาม หรือติดต่อเรื่องบทความ ได้ทาง Email :- d_sign_place@yahoo.com ครับ


เรื่องต่างๆที่ผมได้เขียนหรือรวบรวม เรียบเรียงมานี้ ยินดีให้ทุกท่านได้อ่านเป็นวิทยาทานและเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำไปโพสต่อใน website สาธารณะ หรือ website อื่นใดที่ไม่ใช่ทางพาณิชย์ กรุณาระบุที่มา คือ https://www.travelaround.bloggang.com และนามปากกาผู้เขียนคือ TraveLArounD ด้วย

แต่ขอสงวนสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ ในเชิงพาณิชย์ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จะถูกดำเนินคดี ตามกฏหมายลิขสิทธิ์

ส่วนบทความหรือภาพถ่ายใดๆ ที่ได้นำมาจาก website อื่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องนั้นๆ เป็นการถ่ายทอดจากวิจารณญาณแล้วว่า มีความถูกต้องเป็นจริง มากที่สุด และได้นำมาจาก website ที่เป็นสาธารณะ ถ้าเรื่องราวหรือภาพของท่านที่ได้นำมาถ่ายทอดนี้ ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน กรุณาแจ้งมาทาง email :– nana_sara1000@ymail.com ผมจะทำการลบข้อมูลหรือภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ออกทันที

Acknowledges that I try to write or report accurately but postings may contain fact , speculation or rumor. I find images from the Web that are believed to belong in the public domain. If any stories or images that appear on the site are in violation of copyright law, please email to :- nana_sara1000@ymail.com and I will remove the offending information as soon as possible.


Website counter
: Users Online









ที่ดินเชียงใหม่ ทางไปแม่ริม ใกล้ศาลากลาง และสนามกีฬา 700 ปี ติดน้ำปิง ในหมู่บ้านเพชรริมปิง พื้นที่ 667 ตารางวา @ 14,000.- บาท สภาพแวดล้อมดี สนใจติดต่อ โทร. 0859559950



DESIGN PLACE CO.,LTD. รับออกแบบ และตกแต่งภายใน บ้านพักอาศัย ในแบบไทย และไทยร่วมสมัย



มรดก ฉบับที่ 1

มรดก ฉบับที่ 2

มรดก ฉบับที่ 3

มรดก ฉบับที่ 4

มรดก ฉบับที่ 5

มรดก ฉบับที่ 6

มรดก ฉบับที่ 7

ช่วยสนับสนุนการจัดทำ BLOG ด้วยการซื้อหนังสือ "มรดก" 1ชุด 7เล่ม (หนังสือเก่า) ในราคาชุดละ 700 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์)

สนใจสั่งซื้อทาง E-mail :- nana_sara1000@ymail.com



New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add travelaround's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.