"ความสามัคคีปรองดอง เป็นกำลังอย่างสูงสุดของชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ความสามัคคีของคนในชาติ จะทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นอุปสรรค และทำให้สังคมไทย ร่มเย็นเป็นสุข" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สนใจลงโฆษณา ในพื้นที่ข้างบน ติดต่อ email : nana_sara1000@ymail.com
Home Lover’s Corner นานา สาระ๑๐๐๐ นานา สารพัด พระพุทธประวัติ ภาคพิเศษ
Travel Around the World Real Estate Buyer's Guide สุขภาพกาย สุขภาพใจ Pets & Animals
ปางพระพุทธรูปตามพุทธประวัติ Horoscope 12 ราศี พระพุทธศาสนา World of Beautiful Musics

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
สมุหนายก และ แม่ทัพใหญ่
ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3


ชาติกำเนิด และการศึกษา


เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นบุตรคนที่สี่ของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก บรรพบุรุษของท่านเป็นพราหมณ์ ชื่อสิริวัฒนะ รับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตำแหน่งราชปุโรหิต บิดาของท่านเป็นข้าหลวงเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เจ้าพระยาบดินทรเดชา เกิดวันพุธ เดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘ ตรงกับวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๓๑๘ ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรีด้านตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตกรุงเทพมหานคร (คือบริเวณสะพานข้างโรงสีหน้ากระทรวงมหาดไทย) ได้รับการศึกษาตามแบบบุตรหลานขุนนาง ซึ่งสันนิษฐานว่าศึกษาอักขรสมัยในสำนักพระวันรัตน์ (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่ เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเป็นผู้มีบุคลิกเข้มแข็ง เฉียบขาด มีความอดทน เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความละเอียดรอบคอบและเข้าใจบุคคลอื่น รู้เท่าทันเหตุการณ์











การรับราชการ


ท่านได้เข้ารับราชการตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยบิดาได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นเสมอใจราช ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพรหมสุรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวา เมื่อกลับจากรับราชการที่เมืองเขมร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาราชโยธา และต่อมาได้เป็น พระยาเกษตรรักษา ว่าการกรมนา ฝ่ายพระราชวังบวร ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์โดยลำดับจาก พระยาราชสุภาวดี เป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก และเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา สมุหนายก ในขณะที่ท่านมีอายุ ๕๓ ปี

ผลงาน ในฐานะแม่ทัพ ท่านสามารถนำทัพออกรบจนประสบผลสำเร็จ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้
- ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๖๙-๒๓๗๒
- สงครามระหว่างไทยกับญวน พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐
- ปราบการจลาจลในเขมร พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๒












วีรกรรมเจ้าพระยาบดินทรเดชา


ในปลายรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ญวนชิงเมืองกัมพูชาไปจากไทย ครั้นปีพุทธศักราช ๒๓๗๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขุนนางญวนที่ปกครองเมืองไซ่ง่อนของญวนเกิดกบฏต่อประเทศญวน และขอความช่วยเหลือจากไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นโอกาสที่จะชิงกัมพูชาคืนจากญวน จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกำลังกองทัพบก และให้เจ้าพระยาพระคลังหน (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปสมทบกับกองทัพบกตีเมืองไซ่ง่อน แต่กองทัพไทยไม่สามารถสู้รบกับกองทัพญวนที่มีกำลังเหนือกว่ามาก จึงจำต้องถอยทัพกลับ เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้วางกลยุทธ์ในการถอยทัพให้ปลอดภัยจากกกองทัพญวนหลายรูปแบบ เป็นผลให้กองทัพญวนที่ไล่ติดตามมาได้รับความเสียหายยับเยิน ไม่สามารถทำลายกองทัพไทยได้

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๗๗ เจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดกองทัพที่พระตะบองออกขับไล่ญวนที่เมืองโพธิสัตว์ พนมเปญ และกำปอด รุกไล่กองทัพญวนทั้งสามเมืองแตกพ่ายยับเยิน แม่ทัพญวนยอมแพ้ ทำพิธีมอบธงชัยประจำกองทัพของญวนให้แก่กองทัพไทย ณ เมืองโพธิสัตว์ หลังจากนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ยังสู้รบกับญวนอีกหลายครั้ง เป็นเวลานาน ถึงปีพุทธศักราช ๒๓๙๐ ญวนจึงยอมคืนเขมรให้เป็นเมืองของไทยตามเดิม การรบระหว่างไทยกับญวนในสงครามชิงเมืองเขมรใช้เวลาประมาณ ๑๔ ปี วีรกรรมครั้งนี้ เป็นผลให้ยุติสงครามญวนและไทย และ ได้เมืองเขมรกลับคืนมาตามเดิม











ผลงานด้านการทูตและการเมือง ท่านมีความสามารถในการเจรจาโต้ตอบเชิงการทูต ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำสงคราม เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยไม่ต้องใช้กำลัง เช่น การเจรจาปล่อยญวนที่เมืองโพธิสัตว์ เจรจาปัญหาญวนเกลี้ยกล่อมเขมร และการแต่งตั้งพระองค์ด้วงไปปกครองเขมร

ผลงานด้านเศรษฐกิจ ท่านสามารถแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจแตกสลายของเขมรในช่วงการทำสงครามติดต่อกันถึง ๑๔ ปี โดยการหาเสบียงอาหารให้เพื่อบรรเทาความขาดแคลน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ราษฎรทำนาไม่ได้ผล ก็กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ก็จะโปรดยกเว้นไม่เก็บค่านา แม้แต่การจัดหาตุ่มใส่น้ำให้เขมรที่เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านก็ยังเอาใจใส่ไม่ละเลย

ผลงานด้านรักษาความสงบเรียบร้อย ท่านได้รับมอบหมายจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทำการดูแลเมืองเขมร ซ่อมแซมป้อมค่ายเมืองพระตะบอง สำหรับใช้เป็นฐานกำลังของไทยที่จะคุมเชิงและควบคุมเขมรในความสนับสนุนของพระองค์ด้วงกษัตริย์ของเขมร โดยเอาใจใส่ตรวจตราดูแลความมั่นคงและปลอดภัยให้ และจัดการสร้างเมืองอุดงมีชัย มีการขุดคูเมืองเชิงเทิน สร้างป้อมค่ายให้แข็งแรง ท่านนำนโยบายห้ามสูบฝิ่น ซื้อขายฝิ่นไปใช้ในเขมร อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาโจรผู้ร้าย ท่านจะกวดขันห้ามปรามเมื่อจับจะทำโทษอย่างหนัก ไม่เว้นแม้แต่บุตรของท่าน

ผลงานด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ท่านสืบทอดพระพุทธศาสนาหลายอย่าง ดังนี้
สร้างวัดใหม่ ได้แก่
- วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก เวิ้งนครเกษม)
- วัดเทพลีลา (วัดเทพลีลา หรือวัดตึกคลองตัน)
- วัดพระยาทำ (วัดกระโดน) อ.กบินทร์บุรี จ.สระแก้ว
- วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
- วัดโรงเกวียน อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
- วัดตาพระยา อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
- วัดหลวงบดินทร์ อ.กบินทร์บุรี จ.สระแก้ว
- วัดที่เมืองพระตะบอง และเมืองอุดงมีชัย
ปฏิสังขรณ์วัดที่ชำรุดทรุดโทรม ได้แก่
- วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)
- วัดปริณายก (วัดพรหมสุรินทร์)
- วัดช่างทอง (ที่เกาะเรียน อยุธยา)
- วัดวรนายกรังสรรค์ (เขาดิน) อยุธยา
- วัดศาลาปูน กรุงเก่า
- วัดอรัญญิก แขวงเมืองสระบุรี










เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๓๙๒ ด้วยโรคปัจจุบัน (อหิวาตกโรค) ที่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง (บริเวณเชิงสะพานหัน กับบ้านดอกไม้) รวมสิริอายุ ๗๒ ปี ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากผลงานและคุณความดีที่ปรากฏต่อประเทศชาติ ทำให้อนุชนรุ่นหลังสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเพื่อเคารพสักการะและระลึกถึง พระคุณของท่าน มากมายหลายแห่ง ดังนี้
- เมืองอุดงมีชัย ประเทศเขมร
- วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) มีศาลเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างเสร็จในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อประดิษฐานรูปหล่อของเจ้าพระยาบดินทรเดชา รูปหล่อ หล่อขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๑ - ๒๔๔๗ โดยปั้นจากภาพเขียนที่ถ่ายแบบมาจากรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาให้สร้างไว้สักการะตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๒



















- วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร
- ค่ายบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ อ.มะขาม จ.จันทบุรี
- ค่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ ๑๒ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
- ค่ายบดินทรเดชา กรมทหารราบที่ ๑๖ อ.เมือง จ.ยโสธร
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2533 ให้เป็นสถานที่ ที่รวบรวมและจัดแสดงโบราณต่างๆ ประวัติ วีรกรรมและโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวข้องกับท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทยสำหรับเยาวชนและชุมชนได้ศึกษา และเพื่อฉลองครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้ง โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อปีพ.ศ. 2539 ในปัจจุบัน บทบาทของพิพิธภัณฑ์ได้ขยายขอบข่ายไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครู อาจารย์ ที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเชิงบูรณาการ ได้อย่างผสมกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือคณิตศาสตร์
















- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๒
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ๔
- โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี
- พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แขวงวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร


TraveLArounD



เรียบเรียงจาก
//www.bodin.ac.th/BodinSchool/InfoSchool/chaophraya.html
//www.chakkrawat.org/myforum/index.php?topic=82.0
//web.schq.mi.th/~afed/mil_museum_2007/heroes_badindecha.htm
ภาพ
//gallery.bodinzone.com/
//polizehero.diaryis.com/?20080816.200809
//www.watchakkawat.com/history.php




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2552 19:53:28 น.
Counter : 13953 Pageviews.  

รำลึก 100 ปี พระบรมรูปฯทรงม้า

รำลึก 100 ปี พระบรมรูปฯทรงม้า


ปีนี้ เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี พระบรมรูปทรงม้า ที่นับเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์แห่งแรกของสยามประเทศ ที่ทรงเสด็จฯ ไปเป็นแบบสร้างถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำหรับผู้ที่นับถือเสด็จพ่อ ร.5 พระบิดาของประชาชนชาวสยาม ในอดีต ต่อเนื่องมายังประชาชนชาวไทย ในปัจจุบัน จึงขอนำประวัติการสร้าง “พระบรมรูปฯทรงม้า” มาให้ร่วมรำลึกถึงกัน











อดีตเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ได้มีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องด้วยพระราชวงศ์จักรีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยรัตนโกสินทร์ นั่นคือ งานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก อันเป็นพระราชพิธีมหามงคลที่มีความหมายยิ่ง ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 กล่าวคือ ในปีพ.ศ.2450 เมื่อถนนราชดำเนินสร้างแล้วเสร็จ และได้เริ่มลงมือสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ในปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติมาครบ 40 ปีบริบูรณ์ นับเป็นการครองราชย์ที่ยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในพระราชวงศ์จักรี ก่อนหน้านั้น คือ รัชกาลที่ 1 ถึงที่ 4 ยังความปลาบปลื้มปีติมาสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วทั้งแผ่นดินในยุคนั้น

ทางราชการได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเริ่มต้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ร.ศ.126 (พ.ศ.2450) อันเป็นปีที่ทรงครองราชย์มาครบ 39 ปี ย่างขึ้นปีที่ 40 เสมอด้วยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

รัชกาลที่ 5 จึงได้เสด็จฯไปยังมณฑลพิธี ณ กรุงเก่า (จ.อยุธยา) เพื่อสักการะบูชาดวงพระวิญญาณของพระเจ้าแผ่นดินไทยในอดีตกาล พิธีนี้เรียก งานพระราชพิธีรัชมงคล ที่กรุงเก่า จัดตามพิธีกรรมแบบโบราณ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2450









พอถึงเดือนพฤศจิกายนปีถัดไป (พ.ศ.2451) ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงศานุวงศ์ ปรึกษากันจัดงานสมโภชราชสมบัติครบ 41 ปีขึ้น โดยคณะกรรมการอันประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นองค์ประธาน ได้มีมติให้จัดงานฉลองสมโภชติดต่อกัน 3 วัน3 คืน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2451

กำหนดการสำคัญๆ ของงาน คือ
(1) การกราบบังคบทูลถวายพระบรมรูปทรงม้า
(2) การแห่กระบวนรถมอเตอร์คาร์เฉลิมพระเกียรติ และ
(3) การเลี้ยงพระราชทานและอุทยานสโมสร เป็นต้น

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นประธานในการจัดงานสมโภช เนื่องจากพระองค์ยังทรงอยู่ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป โดยใช้ชื่อการจัดงานครั้งนี้ว่า “พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก”


ในตอนแรก ทรงมีพระราชดำริที่จะใช้เงินบริจาค ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์เก็บรวบรวมกันถวายจากงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2446 หรือบางทีเรียก งานพระราชพิธีทวีธาภิเษก มาใช้ในการสร้างพระบรมรูปทรงม้า แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ทูลขอร้องให้ประชาชนมีโอกาสร่วมบริจาคเพิ่มเติมด้วย และจะให้เป็นเรื่องของงานรัชมังคลาภิเษกคราวนี้แทน จึงควรที่จะชักชวนให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสบริจาคทรัพย์ตามกำลังเพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นเงินเฉลิมพระขวัญ หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ทำขวัญ” แล้วแต่จะทรงใช้สอยเงินนั้นตามพระราชหฤทัย นอกจากนี้แล้วยังมีเสนาบดีบางคนเห็นว่าควรจะสร้างสิ่งอันใดไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติด้วย ซึ่งข้อตกลงนี้เห็นควรให้รอมติ ต่อเมื่อรู้ยอดเงินเฉลิมพระขวัญเสียก่อน









ในขณะเดียวกันก็ได้ทราบข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จไปทอดพระเนตรพระราชวังแวร์ซาย ณ ประเทศฝรั่งเศส และสนพระทัยพระรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงม้า หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ลานข้างพระราชวัง ทรงปรารภว่าถ้ามีพระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ตั้งไว้ในสนามที่ถนนราชดำเนินเชื่อมกับพระที่นั่งอนันตสมาคมคงจะสง่างามดี เหมือนเช่นที่มักมีกันตามประเทศต่างๆ ในยุโรป สืบราคาสร้างพระบรมรูปเช่นนั้นว่าราว ๒๐๐,๐๐๐ บาท ในขณะนั้น


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จไปทำการตกลงและเลือกชนิดโลหะด้วยพระองค์เอง ในการสร้างพระบรมรูปทรงม้า ทรงเสด็จไปประทับเป็นแบบ ให้นายช่างปั้นหุ่น ขณะที่เสด็จประทับอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้ามีขนาดใหญ่มาก และต้องใช้กรรมวิธีที่สลับซับซ้อนเพื่อหล่อพระบรมรูปทรงม้า คณะผู้ดำเนินการจึงได้ติดต่อให้ประติมากรชาวฝรั่งเศสชื่อ จอร์จ เออร์เนสต์ ซอลโล (Georges Ernest Saulo) ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการปั้นหล่อเป็นผู้รับผิดชอบการสร้างพระบรมรูปทรงม้า โดยพระรูป มีขนาดโตเท่าพระองค์จริง เสด็จประทับอยู่บนหลังม้าพระที่นั่ง โดยม้าพระที่นั่งนั้นมิใช่ปั้นจากแบบม้าพระที่นั่งจริง แต่เป็นม้าที่บริษัทได้ปั้นเป็นแบบเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว พระบรมรูปทรงม้าหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ วางบนแท่นศิลาอ่อน สูง ๖ เมตร กว้าง ๒ เมตร ยาว ๕ เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมา มีโซ่ขึงล้อมรอบกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๑ เมตร ตรงฐาน (ด้านขวามีอักษรฝรั่งเศสจารึกชื่อช่างปั้นและช่างหล่อชาวไว้ว่า C.MASSON SEULP 1980 และ G.Paupg Statuare และด้านซ้ายเป็นชื่อบริษัทที่ทำการหล่อพระบรมรูปทรงม้าว่า SUSSF Fres FONDEURS. PARIS) สำหรับแท่นศิลาอ่อนด้านหน้า มีแผ่นโลหะจารึกอักษรไทย ติดประดับแสดงพระบรมราชประวัติและพระเกียรติคุณ ลงท้ายด้วยคำถวายพระพรให้ทรงดำรงราชสมบัติอยู่ยืนนาน








พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้า สร้างเสร็จเรียบร้อยและส่งถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2451 ครั้นถึงวันพุธที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกันอันเป็นวันประกอบพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นที่ลานพระราชวังดุสิต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกและน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงประกอบพิธีเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นปฐมฤกษ์และประกาศพระเกียรติคุณให้ปรากฏไว้สืบไป


















อนึ่ง ระหว่างการเสด็จประพาสกรุงฝรั่งเศส พ.ศ.2450 นั้น นอกจากจะได้เสด็จฯไปประทับเป็นแบบหล่อพระบรมรูปฯแล้ว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างของที่ระลึกเพิ่มเติม สำหรับงานมหามงคลครั้งนี้โดยเฉพาะ มีอาทิ เหรียญเสมาห้อยคอเด็ก และ เหรียญรัชมังคลาภิเษก โดยว่าจ้างโรงกษาปณ์ฝรั่งเศสจัดทำ และยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ แสตมป์ที่ระลึกเป็นตราพระบรมรูปทรงม้า จารึกอักษรแจ้งการรัชมังคลาภิเษกบนดวงแสตมป์ ของที่ระลึกที่กล่าวถึงนี้ถูกนำออกใช้และแจกพระราชทานตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ศกนั้นเป็นต้นไป










ส่วนการบริจาคเงินจากประชาชนนั้น เหล่าผสกนิกรต่างร่วมใจกันบริจาคเงินกันเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมถวายความจงรักภักดี ที่มีอยู่อย่างท่วมท้น คณะกรรมการจึงสำรวจยอดเงินเฉลิมพระขวัญ ปรากฏว่า มีประชาชนยินดีถวายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ้นประมาณ ๑ ล้าน ๒ แสนบาท เสนาบดีจึงลงมติ แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กราบทูลขอถวายพระบรมรูปทรงม้านั้นเป็นของขวัญทูลเกล้าฯ จากประชาชนชาวไทย สนองพระมหากรุณาธิคุณในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงปรากฏพระบรมรูปทรงม้าขึ้น ณ พระลานพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยประการฉะนี้ โดยได้สร้างแล้วเสร็จพร้อมกราบบังคมทูลถวายฯ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑


สำหรับเงินเฉลิมพระขวัญที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าอีกประมาณเกือบ ๑ ล้านบาท ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายตามมติเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริว่า จะนำเงินนั้นไปใช้ประการใด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยเพื่อสนองคุณความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อพระองค์นั้น แต่ยังไม่ทันตกลงว่าจะทำประการใด ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ของพระองค์ โดยโปรดให้ใช้เงินเฉลิมพระขวัญที่ยังเหลืออยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย โดยก่อตั้งสถานศึกษาระดับสูงขึ้น และตั้งชื่อขึ้นตามพระปรมาภิไธย ว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”











พอถึงวันงาน (11 พฤศจิกายน 2451) เวลา 08.00 น. ตอนเช้าอันเป็นศุภฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับ ณ ปะรำพิธี เบื้องหน้าพระบรมรูปทรงม้า และได้ทรงกล่าวสุนทรพจน์ขอบพระทัยประชาชน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจจัดงานถวายฉลองสิริราชสมบัติเป็นที่พึงพอพระทัย ทั้งยังได้ตรัสย้อนหลังไปถึงความเปลี่ยนแแปลงและก้าวหน้าของสยามตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

ปิดท้ายด้วยพระพจนารถอันลึกซึ้งกินใจตอนท้ายว่า

"เราขอแสดงความขอบใจท่านทั้งหลาย พร้อมกันกับด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ทั้งอาณาประชาราษฎรของเรา ในการที่ได้ยกย่องให้เกียรติอันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราแต่เวลายังมีชีวิต จะเปนที่ตั้งแห่งความพอใจของเราอยู่เปนนิจนิรันดร บัดนี้เรามีความยินดีรับคำเชื้อเชิญของท่านทั้งหลายแล้ว และจะได้เปิดถาวรอนุสาวรี อันเปนเครื่องหมายแห่งความสโมสรสามัคคีของชาติชาวสยาม ขอให้ตั้งอยู่เปนเครื่องหมายน้ำใจของชาติอันใหญ่ อันจะมีสืบไปทุกชั่วทุกชั้นในกาลภายน่า"








พร้อมกันนี้ทรงรับการถวายพระราชสมัญญานาม "ปิยมหาราช" ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคิดขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย อันมีความหมายว่า "ทรงเป็นมหาราชาผู้เป็นที่รักของประชาชน" ซึ่งระบุอยู่บนแผ่นทองสำริดที่ฐานของพระบรมรูปทรงม้า ตราบจนทุกวันนี้

TraveLAround



ปล. ตอนนี้ผมเขียนบล็อกมาได้กว่า 730 เรื่องแล้ว ล้วนเป็นสาระน่ารู้ต่างๆ ท่านที่เข้ามาชมบล็อกใหม่ ผมได้จัดทำเป็นสารบัญ แบบหนังสือให้ดูหัวเรื่องได้ง่ายที่ group :
นานา สาระ๑๐๐๐

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับบ้านและการตกแต่ง รวมรวมแยกไว้ในหมวด Home Lover’s Corner สามารถคลิ๊กที่ ลิงค์ด้านบนได้เลยครับ

หมายเหตุ : website อื่นๆหลาย ที่ได้นำเอาเรื่องที่ผมเขียนไว้ ไปลงต่อในลักษณะของเนื้อหา ต้องได้รับอนุญาตก่อน ถ้าต้องการบทความใดไปใช้ โดยให้ติดต่อขออนุญาต ก่อนทาง Email : nana_sara1000@ymail.com มิฉะนั้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายลิขสิทธิ์


เรียบเรียงจาก
//oldforum.serithai.net
//www.matichon.co.th
//miraclemoon.exteen.com





 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2551 0:40:28 น.
Counter : 6872 Pageviews.  

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

รำลึกพระนางเรือล่ม

อนุสรณ์แห่งความรักระหว่างพระมหากษัตริย์และพระมเหสี โดยเป็นความรักของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นั้น ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่า ความรักที่เจ้าชายชาห์ จฮาน ที่มีต่อพระนางมุมตัส มาฮาล พระชายา เลย แม้ว่า อนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก คือ "ทัชมาฮาล" ซึ่งเป็นสุสานแห่งความรักที่เจ้าชายชาห์ จฮาน ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บพระศพของพระนางมุมตัส มาฮาล พระชายาจะดูยิ่งใหญ่กว่าก็ตาม











สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือพระนามที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “พระนางเรือล่ม” หลังจากที่ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุ พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลำดับที่ 50 มีพระมารดาคือ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน ปีวอก พ.ศ. 2403 ณ พระบรมมหาราชวัง พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงถวายองค์เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 17 พรรษาหลวง เวลานั้นพระบรมราชสวามีแก่ชันษากว่า 7 ปี


ด้วยมีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่นๆ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้ชิดดั่งเป็นปิยมหาราชินีเสมอ นอกจากทรงมีพระรูปโฉมงดงามแล้ว ก็ยังทรงมีพระสติปัญญาฉลาดล้ำ ทรงมีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ปฏิบัติข้อราชการและรับสั่งด้วยความเฉียบคมชัดเจนเสมอเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ข้าหลวงชาววังทั่วไปซึ่งเล่าขานกันว่าพระอุปนิสัยรับสั่งเฉียบคมนี้ทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว











ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยิ่งทรงมีพระเมตตาและห่วงใยพระมเหสีผู้เป็นที่สนิทเสน่หาพระองค์นี้ยิ่งขึ้น ทรงใส่พระทัยตลอดเวลาและเสด็จมาประทับเฝ้าพระอาการในช่วงที่ประสูติพระราชธิดาด้วย เมื่อประสูติพระราชธิดา "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ฯ" แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระราชทานของขวัญแก่พระองค์เจ้าสุนันทาฯ เป็นนาฬิกาฝังเพชรและพระธำมรงค์ประดับเพชร 2 วง ซึ่งนับว่าสูงค่ากว่าของขวัญที่เคยพระราชทานแก่พระมเหสีและเจ้าจอมอื่น ๆ ทั้งปวง


สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงมีพระราชธิดา พระองค์แรกเมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ขณะกำลังเสด็จฯ มายัง พระราชวังบางปะอินพระองค์ก็ทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 การเดินทางนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เสด็จประทับบนเรือพระที่นั่งกับพระราชธิดา โดยมีพระพี่เลี้ยงตามเสด็จด้วย เมื่อเรือที่ประทับแล่นตามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ถูกเรือพระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถบรมราชชนนี พันปีหลวงแล่นแซง อีกทั้งนายท้ายเรือของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ เมาเหล้าขาดสติในการบังคับเรือ จึงทำให้เรือล่มลง แต่ไม่มีผู้ใดกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากเกรงกลัวกฎมณเฑียรบาลที่ว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสีมิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร ทั้งที่พระองค์ก็ทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงต้องสิ้นพระชนม์ไปพร้อมๆกัน ด้วยพระชนมายุเพียง ๒๑ พรรษาเท่านั้น รวมทั้งพระพี่เลี้ยง รวมทั้งสิ้น 4 ศพ ที่จมอยู่ใต้ท้องเรือโดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย












ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่างๆออกไปก่อน ในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดัน โดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์สิ้นพระชนม์”


หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงวรศักดาซึ่งจูงเรือสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง” อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก” ซึ่งกรมหมื่นอดิศรและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้นพระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่ง ห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่นๆดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์ 5 เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม”


พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวช ภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่เสด็จทิวงคต และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424












โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นนี้ก่อนเกิดเหตุ ได้มีลางร้ายมาเตือนล่วงหน้าแล้วโดยก่อนที่เรือจะล่มในคืนหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ครุ่นคิดถึงการเสด็จฯไปพระราชวังบางปะอิน ในวันรุ่งขึ้นว่าต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับพระองค์เป็นแน่ แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงชะตากรรมไม่ได้จนพบจุดจบในที่สุด


เล่ากันว่าขณะกำลังงมค้นหาพระศพในวันที่เรือพระที่นั่งล่ม โดยชาวบ้านแถวนั้นทนเห็นเหตุการณ์ไม่ไหว พยายามช่วยลงมางม ค้นหาพระศพก็เกิดเหตุอัศจรรย์ที่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ถึงขนาดทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ก็ไม่สามารถพบพระศพ จึงต้องไปเชิญหลวงจีนท่านหนึ่งนามว่า “สกเห็ง” ซึ่งเชี่ยวชาญทางวิปัสสนานั่งทางในมาทำการเสี่ยงทาย โดยเสกถ้วยน้ำชาให้ลอยไปตามกระแสน้ำหากถ้วยชาจมลงตรงจุดใด ก็ให้ชาวบ้านและทหารช่วยกันลงไปงมหา ซึ่งในที่สุดก็สามารถหาพระศพจนพบ ลักษณะพระศพที่เห็นนำความเศร้าสลดมาสู่สายตาผู้พบเห็นยิ่งนัก เป็นภาพพระนางโอบพระธิดาไว้แนบอก และพระศพที่พบก็จมอยู่ใต้ซากเรือพระที่นั่งนั่นเอง



พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกันแสง
ต่อมาเมื่อทรงทราบว่าพระมเหสีผู้เป็นที่รักสิ้นพระชนม์ พระองค์ถึงกับทรุดพระวรกายและรับสั่งให้แพทย์หลวงทำการแก้ไขด้วยหวังว่าพระมเหสีจะฟื้นคืนพระชนม์ชีพ และให้ชาวบ้านมาช่วยแก้ไขอีกจนบ่าย 3 เศษ


ยามเมื่อเชิญพระศพกลับพระนครนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกันแสง ทรงประทับอึ้ง ตรัสอันใดมิออก ทรงโศกสลด มิได้บรรทมหลายวันหลายคืน พระพักตร์ซีดและพระเนตรแดงช้ำ พร่ำอาลัยรักในพระมิ่งมเหสีและพระราชธิดาน้อย ซึ่งกำลังอยู่ในพระชันษาน่ารัก


ความอาดูรนี้ปรากฎในบันทึกพระประวัติของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ว่า
"...ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิปโยคมีความเศร้าโศกเป็นอันมาก จนไม่มีใครจะเข้ารอพระพักตร์ ได้มีพระกระแสรับสั่งให้ปิดพระทวารกั้นเป็นพิเศษ...ฯลฯ


...ขณะที่ทรงได้ยินเสียงกลองชนะประโคมพระศพขึ้นครั้งไร ก็ทรงพระกันแสงพิลาปร่ำรำพันไปต่าง ๆ นานา จนกระทั่งประชวรพระวาโยไป เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ก็เข้านวดฟั้นคั้นพระบาท และคอยเอาน้ำหอมกับทรงดมรอพระนาสิกไว้ให้คลายพระประชวร..."


การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ในครั้งนั้นมีเสียงร่ำลือในวังหลวงอย่างอื้ออึงว่า เพราะเป็นแผนการที่จงใจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ จากความอิจฉาริษยาของบรรดามเหสี และสนมนางในที่คิดหาหนทางกำจัด จนทำให้พระนางอันเป็นที่รักของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ต้องมาสิ้นพระชนม์ท่ามกลางข้อกังหา และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน และชาววังในยุคนั้น ก็ยังมีเรื่องน่าพิศวงอันเกิดจากอาถรรพณ์ของดวงพระวิญญาณตามมาด้วย


อนุสรณ์สถานแห่งรักด้วยอาลัยยิ่ง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต่างโศกสลดกันไปทั่วในการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเองก็ทรงตรมระทมทุกข์ ถึงขนาดเสด็จไปทรงเปิดพระโกศ เพื่อทอดพระเนตรพระศพของพระองค์เจ้าสุนันทาฯ อยู่หลายคราว


หลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์และอนุสาวรีย์ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทั้งที่น้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี และที่พระราชวังบางปะอิน อันเป็นสถานที่ที่พระนางทรงโปรดปรานยิ่ง และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงให้จารึกคำแสดงความอาลัยด้วยลายพระหัตถ์ ดังนี้


"ที่รฤกถึงความรัก แห่ง สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อรรคมเหษี อันเสดจทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความสุขสบายแลเปนที่เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก แลที่สนิทอย่างยิ่งของเธอ อนุสาวรี นี้สร้างขึ้น โดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เปนสวามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิต ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย จุลศักราช 1243"


เวลานั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและโปรดเกล้า ฯ สถาปนาพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี" พระองค์ต่อไป


ภายในศาลเดิม








“พระนางเรือล่ม” ดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่วัดกู้

ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ณ “วัดกู้” ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งในอดีตสถานที่นี้คือ จุดเกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ยุคแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เพราะเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ทรงสิ้นพระชนม์จากเรือพระที่นั่งล่มที่หน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของพระองค์ ซึ่งต่อมาหลังจากผ่านเหตุการณ์นี้มานานมากแล้ว ก็ยังเกิดเรื่องเล่าถึงดวงวิญญาณพระนางเรือล่มตามมามากมาย


มีผู้พบเห็น และร่วมอยู่ในเหตุการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของดวงพระวิญญาณพระนางเรือล่มหลายครั้ง โดยชาวบ้านในละแวกวัดเล่าว่า ในสมัยก่อนที่หน้าศาลของพระนางเรือล่ม มักมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นเสมอ โดยหลายๆครั้ง จะมีฝูงจระเข้ว่ายน้ำมาคำนับที่หน้าศาลอยู่เป็นประจำ ทั้งที่ปกติจระเข้มักว่ายอยู่ใต้น้ำ แต่อาจเป็นเพราะจระเข้รับรู้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ท่าน ดังนั้นเวลาว่ายน้ำผ่านหน้าศาลทีไร จระเข้ทุกตัวเป็นต้องลอยตัวขึ้นมาคำนับทุกครั้งไป


ศาลใหม่ริมน้ำ








นอกจากนี้ยังเคยเกิดเหตุการณ์แปลกๆ ขึ้นกับคนต่างถิ่น ที่ไม่เคยรู้จักเรื่องราวของพระองค์ท่าน บางคนดั้นด้นมาที่วัดกู้ทั้งๆที่ไม่เคยมา ก็เพราะเขาฝันว่ามีผู้หญิงสูงศักดิ์ท่านหนึ่งมาเข้าฝันบอกให้มาที่วัดกู้แล้วจะมีโชค เมื่อมาถึงก็ต้องตกตะลึง เมื่อมาเห็นภาพ และพระรูปปั้นที่อยู่ในศาลนั้นเหมือนกับผู้หญิงในความฝันไม่ผิดเพี้ยน


อาถรรพณ์จากความศักดิ์สิทธิ์ของพระนางเรือล่มยังมีเล่ากันต่อมาอีกว่า เคยมีบางคนลบหลู่ไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ พูดจาดูหมิ่นขณะพูดจบไม่ทันไรก็มีอาการแปลกๆเกิดขึ้น โดยจู่ๆก็วิ่งไปที่ท่าน้ำไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำท่าจะกระโดดน้ำตาย หรืออย่างบางคนที่ชอบมาท้าสาบานที่ศาลของพระองค์ว่า ถ้าผิดจริงขอให้จมน้ำตาย ปรากฏว่าได้ตายสมใจ โดยตายอยู่ในอ่างน้ำตื้นๆ ดังนั้นถ้าใครคิดมาลองสาบานอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าที่ศาลพระนางเรือล่มที่วัดกู้ ต้องขอบอกก่อนว่าอย่าเสี่ยงเป็นอันขาด


ทุกวันนี้ชาวบ้านแถบ จ.นนทบุรี และผู้ที่มาจากต่างจังหวัดยังคงแวะเวียนมากราบไหว้พระนางเรือล่มที่ศาลอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่นิยมนำมาถวายพระองค์ท่านก็คือกล้วยเผา มะพร้าวอ่อนและพวงมาลัยมะลิสด ส่วนศาลที่เห็นในปัจจุบันจะมี 2 ศาล คือศาลที่อยู่ริมน้ำกับศาลที่ตั้งอยู่ภายในวัด ซึ่งศาลนี้อันที่จริงเป็นศาลเดิม เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ศาลนี้เดิมก็อยู่ริมน้ำ แต่เพราะเวลาผ่านไปทำให้ดินทับถมกลายเป็นแผ่นดินงอกใหม่ ศาลนี้เลยกลายเป็นตั้งอยู่บนดินไป


ความรักและความอาลัยในตัวสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ นี้ ทำให้พระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกสลดถึงที่สุด และได้ทรงสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมเหสีอันเป็นที่รักของพระองค์


เหตุการณ์คราวนั้นถึงกับทำให้ “เจ้าเหนือหัว” ของคนไทย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ถึงกับทรงพระกรรณแสง เพราะเป็นที่รู้กันตามประวัติศาสตร์ว่า ในบรรดาพระมเหสีและเจ้าจอมทั้งหลายนั้น “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” หรือที่เราคนไทยคุ้นกับพระนามของพระองค์ว่า “พระนางเรือล่ม” นั้นทรงเป็น “ที่รัก” และโปรดปรานยิ่งของ “องค์พระพุทธเจ้าหลวง”




สำหรับ "อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น ก็มีอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระราชธิดาแล้ว ก็ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงด้วยความอาลัยรัก พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ที่อนุสาวรีย์นั้นด้วย โดยมีข้อความอาลัยลึกซึ้งว่า
"ที่รฤกถึงความรัก แห่งสมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชาเทวีอรรคมเหษี อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยมีความสุขสบายและเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รัก แลที่สนิทยิ่งของเธอ อนุสาวรีย์นี้ สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เป็นสวามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิต ถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย"











สถูปพระนางเรือล่ม เเปลกตากว่าที่อื่นด้วยรูปทรงปิรามิด
ส่วนที่จังหวัดจันทบุรี ก็มีอนุสาวรีย์แห่งความรักนี้เช่นกัน โดย "สถูปพระนางเรือล่ม" นี้ ตั้งอยู่ที่น้ำตกพลิ้ว ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงโปรด หลังจากที่เคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้วเมื่อปี พ.ศ.2417











อนุสาวรีย์แห่งนี้มีลักษณะที่แปลกแตกต่างจากอนุสาวรีย์อื่นๆ ตรงที่เป็นสถูปทรงปิรามิด ที่ภายในบรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าฯ ไว้ โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงนี้ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า “ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว”











อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่สวนสราญรมย์
ในกรุงเทพมหานครเองก็มีอนุสรณ์ที่รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเช่นกัน โดย "อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" นั้น ตั้งอยู่ภายในสวนสราญรมย์ สวนสาธารณะภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ พระราชวังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น



สำหรับตัวอนุสาวรีย์นั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ณ บริเวณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยทรงพระสำราญเมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาวมียอดเป็นปรางค์เป็นที่บรรจุพระอัฐิและมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัสของพระองค์บนแผ่นหินอ่อน อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ท่ามกลางต้นลั่นทมส่งกลิ่นหอมเย็น บรรยากาศสงบเป็นอย่างยิ่ง









สุนันทานุสาวรีย์ ภายในสุสานหลวงวัดราชบพิธฯ
ในสุสานหลวงของ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นสุสานหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนพระราชโอรสธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็มี "สุนันทานุสาวรีย์" ซึ่งเป็นที่บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



สุนันทานุสาวรีย์นี้สร้างเป็นรูปแบบเจดีย์สีทอง โดยมีเจดีย์ที่มีลักษณะคล้ายกันอีก 3 องค์ ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สว่างวัฒนา) สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เสาวภาผ่องศรี) และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

แม้อนุสรณ์แห่งความรักของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้นจะไม่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าทัชมาฮาล แต่ก็แสดงออกถึงความรักและอาลัยในพระราชหฤทัยของพระองค์ได้เป็นอย่างดียิ่ง

TraveLArounD


ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาชมบล็อกใหม่ ผมได้จัดทำเป็นสารบัญ แบบหนังสือให้ค้นดูหัวเรื่องได้ง่ายที่ group : นานา สาระ๑๐๐๐ เพราะเรื่องต่างๆ เขียนไว้ กว่า 1400 เรื่องแล้ว

หมายเหตุ : ขณะได้มี website อื่นๆหลาย website ได้นำเอาเรื่องที่ผมเขียนไว้ ไปลงต่อในลักษณะของเนื้อหา โดยไม่ได้รับอนุญาตใดๆ ถ้าต้องการบทความใดไปใช้ ขอให้ติดต่อขออนุญาต ก่อนทาง Email : nana_sara1000@ymail.com มิฉะนั้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ส่วนผู้ที่ต้องการนำเรื่องไปโพสต่อ เพื่อเผยแพร่ โดยมิใช่ทางการค้า ขอให้ติดต่อขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนโพส

เรียบเรียงจาก
นิตยสารหญิงไทยโดย คุณสายทิพย์
marinerthai.com
//www.marinerthai.com/sara/view.php?no=1180
ทะเลตะวัน
//www.bloggang.com/viewblog.php%3Fid%3Dmy-way%26group%3D12%26page%3D2




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2554 10:35:59 น.
Counter : 8029 Pageviews.  

พระราชพิธีโสกัณฑ์ โบราณราชประเพณีที่ไม่มีวันหวนคืน

พระราชพิธีโสกัณฑ์


ชาวไทยสมัยก่อน นิยมให้บุตร ธิดา ไว้ผมจุกตามแบบแผนโบราณ เป็นคติความเชื่ออย่างหนึ่ง เริ่มตั้งแต่เมื่อเด็กอายุราว 5 ปี จนโดเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ 11-13 ปี ก็จะกระทำพิธีตัดจุก หรือโกนจุก (ผมแกละ หรือผมเปียนี่ เขาทำพิธีตัดกันด้วยรึเปล่าไม่ทราบ ไม่เห็นกล่าวถึง) พิธีโกนจุกนั้นถือเป็นพิธีมงคล มีการทำพิธีมงคล ทำมิ่งชิงขวัญต่างๆ หลากหลายอย่าง โดยเฉพาะพิธีตัดจุกของพระราชโอรส และพระราชธิดาซึ่งเรียกว่า พระราชพิธีโสกัณฑ์นั้น จะจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ มีพิธีและการละเล่นประกอบพิธียิ่งใหญ่มโหฬารมาก น่าเสียดาย...ถึงแม้การไว้จุก ยังมีกันอยู่ประปราย ไม่ได้สูญหายไปเสียเลย แต่ในราชสำนักนั้น ไม่ได้มีการไว้จุกกันอีกแล้ว พระราชพิธีนี้จึงเป็นเพียงอดีต ที่ไม่หวนคืนอีกอย่างหนึ่งไป


ภาพเขียนเขาไกรลาส ในงานโสกัณฑ์ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เขียนโดยพระวรรณวาดวิจิตร(ทอง)









พระราชพิธีโสกัณฑ์ในสมัยรัตนโกสินทร์

การประกอบพระราชพิธีโสกัณฑ์ ที่ย้อนไปถึงกรุงสุโขทัย หรืออยุธยานั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เราสามารถลำดับเหตุการณ์ได้จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ คือพระราชพิธีโสกัณฑ์ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งนับเป็นพระองค์สุดท้ายที่ได้มีจัดพิธีกันขึ้น ในประเทศไทย ถ้าผู้เข้าพิธีมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า ก็จะเรียกพิธีว่า พระราชพิธีเกศากัณฑ์ แต่ก็เป็นพิธีหลวงเช่นเดียวกัน จะต่างกันที่ขนาด การแต่งองค์ทรงเครื่องและกระบวนแห่ จะลดลงตามลำดับเกียรติยศของเจ้านายผู้จะเข้าพิธี


พระราชโอรสและพระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔ ทรงไว้จุก










พิธีการโกนจุกนั้น พระมหากษัตริย์ทรงให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ถ้าบรรดาขุนนางหรือราษฎร จะโกนจุกลูกหลาน ก็โปรดให้มีหมายบอกเข้ามา ทรงพระราชทานเงินช่วยเสมอ ในพระราชพิธีโสกัณฑ์นี้ จะมีการประกอบพระราชพิธีทางศาสนาอยู่ด้วย มีทั้งทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ โดยทางพระพุทธศาสนาจัดพระราชพิธีสงฆ์บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนพระราชพิธีพราหมณ์นั้น ตั้ง ณ หอเวทวิทยาคม ในพระบรมมหาราชวัง การสรงน้ำนั้นจะมี 2 แบบคือ ทำพิธีสรงน้ำบนเขาไกรลาสจำลองที่สร้างขึ้น หรือสร้างพระแท่นสรงน้ำบนลานมุมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยพิธีสรงน้ำบนเขาไกรลาสนั้น จะประกอบพิธีขึ้นเฉพาะกับพระเจ้าลูกเธอที่ดำรงพระยศ “เจ้าฟ้า” เท่านั้น



สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โสกัณฑ์ เมื่อพ.ศ.๒๔๔๖











งานโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาท (รัชกาลที่ ๕) พ.ศ.๒๔๐๘












เขาไกรลาสที่จะใช้ประกอบพระราชพิธีนั้น จะประกอบพิธีสรงน้ำบนตั่งไม้อุทุมพร เชิงเขาที่จำลองขึ้น มีสระที่สมมติว่าเป็นสระอโนดาตของเขาไกรลาส (สร้างโดยใช้โครงปิดกระดาษอัดแข็ง ต่อมาจะจำลองเขามอขนาดใหญ่ขึ้นแทน ประดับด้วยต้นไม้และรูปสัตว์ต่างๆ ให้ดูเหมือนเขาจริงๆ) บนยอดเขา มีบุษบกตั้งอยู่ ประดับตกแต่งด้วยม่านลายทองแผ่ลวดพื้นสักหลาด ผูกบังทั้ง 4 ด้านของชั้นแท่นบุษบก มีม่านพื้นทองลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บนบุษบกทั้ง 4 ด้าน มีชาววังคอยชักไขม่าน ข้างละคน ที่พื้นบุษบกปูเสื่ออ่อน ตั้งเตียง



พระแท่นสรงในงานพระราชพิธีโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุปธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย











เขาไกรลาสในงานพระราชพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ๋ เฉพาะพระเจ้าลูกเธอ ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า










รูปสัตว์ที่จำลองขึ้นประดับเขาไกรลาส จะมี ราชสีห์ ช้าง ม้า โค โดยจะทำขนาดใหญ่พอสมควร และสามารถพ่นน้ำออกทางปากได้ เพื่อเจ้าฟ้าที่โสกัณฑ์แล้ว จะได้สรงน้ำที่ไหลออกมาจากสัตว์จำลองนั้นด้วย ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคล เพราะไหลลงมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอิศวร เพราะพระราชพิธีนี้ เป็นคติความเชื่อและประเพณีที่เรารับมาจากศาสนาพราหมณ์ เมื่อมีการโสกัณฑ์ พระเจ้าลูกเธอที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า ก็จะสมมติให้เจ้านายผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งเป็นพระอิศวร เสด็จมาเป็นประธานในพิธีและประทานพรให้มีความเจริญรุ่งเรือง



พระราชพิธีโสกัณฑ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวารวดี (รัชกาลที่ ๖) โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๕











เหรียญที่ระลึก พระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย รับพระสุพรรณบัฐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร









พระราชพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ่

โดยทั่วไปในพระราชพิธีโสกัณฑ์พระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าหลานเธอ มักจะนิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์บ่าย เป็นเวลา 3 วัน ถ้าโสกัณฑ์พระเจ้าลูกเธอ ร่วมกับพระเจ้าหลานเธอ ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ 50 รูป และจะประกอบพิธีร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ และพระราชพิธีตรียัมปวายด้วย ในภายหลัง



สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวารวดี (รัชกาลที่ ๖) โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๕












เจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิ์เดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่๗) ทรงฉลองพระองค์ก่อนโสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๔๘









การแต่งกาย

เจ้านายที่จะโสกัณฑ์ ในวันงานจะแต่งองค์อย่างพระราชกุมาร ทำไรไว้ขอบรอบจุก เน้นด้วยการใช้สำลีพันปลายใช้ชุบน้ำหมาดๆ แล้วชุบเขม่าทารอบไรจุกนั้น โกนพระเกศารอบจุก ล้างศีรษะให้สะอาด อาบน้ำทาขมิ้นบางๆ เกล้าจุกปักปิ่น ใส่มาลัยรอบจุก หรือใส่เกี้ยวแบบต่างๆตามลำดับยศศักดิ์ ผัดพักตร์และองค์ให้ขาวนวล ทรงฉลององค์ชุดใหม่ประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดา ที่เหมาะกับฐานะ แล้วขึ้นพระราชยานเข้าขบวนแห่ ไปประกอบพระราชพิธี เวลาได้ฤกษ์โสกัณฑ์ ชาวภูษามาลา จะถอดเกี้ยวออก วางไว้บนพาน และแบ่งพระเกศาจุกออกเป็น 3 ปอย ปอยแรกให้ผู้เป็นประธาน เป็นผู้ตัด ปอยที่ 2 ให้ผู้เป็นใหญ่ในตระกูลตัด ปอยที่ 3 ให้บิดาตัด ขณะที่ได้ฤกษ์ตัดนั้น โหรจะบอกด้วยการลั่นฆ้องชัย เป่าสังข์ เป่าแตร และประโคมปี่พาทย์



สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพรัตน์ดาราฯ โสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๓๙ ทรงฉลองพระองค์ในคราวเสด็จฟังสวดพระพุทธมนต์ ก่อนโสกัณฑ์ พระหัตถ์ซ้ายทรงยาดม พระหัตถ์ขวาทรงตะบองเพชร










หลังจากโสกัณฑ์แล้ว ก็จะเสด็จไปถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ถวายสบงและเครื่องไทยทาน แล้วจึงเสด็จไปสรงน้ำที่เขาไกรลาส มีเสนาบดี 4 คน ที่รับสมมติเป็นท้าวจตุโลกบาล เดินเคียงพระเสลี่ยงไปสรงน้ำ ณ พระแท่นสรง เชิงเขาไกรลาส เชิงเขาทำเป็นสระอโนดาตน้อยๆ พราหมณ์ถวายน้ำกลศ น้ำสังข์ แล้วจึงเสด็จเข้าไปในพลับพลาเปลื้องเครื่องทรง ผลัดพระภูษา แล้วเสด็จขึ้นบนยอดเขา เฝ้าพระอิศวร พระอิศวรจะเสด็จลงมารับถึงกลางบันใดนาคขึ้นไปถึงชั้นพระแท่น




พิธีโสกัณฑ์ พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๗๓ รัชกาลที่๗ ทรงคอยรับพระกรพระองค์เจ้าวิมลฉัตร ในพระบรมมหาราชวัง











เมื่อพระอิศวรประทานพรแล้ว พระเจ้าลูกเธอฯ เสด็จกลับลงไปด้านทิศตะวันออก แล้วเวียนรอบเขาไกรลาสจากซ้ายไปขวา 3 รอบ แล้วเสด็จกลับเข้าในพระราชวังตามทางที่แห่มา ในตอนบ่ายจะประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภช ซึ่งส่วนมากจะสมโภช ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แต่บางครั้งก็สมโภช ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อสมโภชเสร็จ ก็เป็นอันเสร็จพิธี วันรุ่งขึ้นก็อัญเชิญพระเกศาไปลอยแม่น้ำ เป็นอันเสร็จพิธีโสกัณฑ์อย่างใหญ่



เขาไกรลาสในพิธีเกศากัณฑ์









งานมหรสพสมโภช

มหรสพในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นใน ที่เป็นผู้ชายแสดงได้แก่ โมงครุ่ม และกุลาตีไม้ ส่วนที่เป็นผู้หญิงแสดงได้แก่ รำต้นไม้ทอง-เงิน และแทงวิสัย (ผู้แสดงถือหอกอย่างเสี้ยวกาง ถือหอกแทงกัน) นอกเขตประตูพระบรมมหาราชวังชั้นในออกมานั้น มีการเล่นคือ สิงโต กระตั้วแทงควาย ญวนหก ไม้ต่ำสูง ไม้ลอยเป็นต้น (ปัจจุบันการละเล่นหลายชื่อก็ไม่เคยได้ยินอีกเลย กระตั้วแทงควายนี่ เหมือนกระตั้วแทงเสือรึปล่าวก็ไม่รู้)



การละเล่นสมโภช ชุดโมงครุ่ม












บริเวณงานพระราชพิธีโสกัณฑ์ รับพระสุพรรณบัตร สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เมื่อพ.ศ.๒๔๓๓









พระราชพิธีโสกัณฑ์ นับเป็นพระราชพิธีสำคัญในอดีต ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรม ประเพณีไทยได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายที่พระราชพิธีนี้ เป็นโบราณราชประเพณีที่ไม่มีวันหวนคืน


TraveLArounD





ปล. ท่านที่เพิ่งเข้ามาชมบล็อกใหม่ ผมได้จัดทำเป็นสารบัญ แบบหนังสือให้ค้นดูหัวเรื่องได้ง่ายที่ group : นานา สาระ๑๐๐๐ เพราะเรื่องต่างๆ เขียนไว้ กว่า 1430 เรื่องแล้ว

หมายเหตุ : ขณะได้มี website อื่นๆหลาย website ได้นำเอาเรื่องที่ผมเขียนไว้ ไปลงต่อในลักษณะของเนื้อหา โดยไม่ได้รับอนุญาตใดๆ ถ้าต้องการบทความใดไปใช้ ขอให้ติดต่อขออนุญาต ก่อนทาง Email : nana_sara1000@ymail.com มิฉะนั้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ส่วนผู้ที่ต้องการนำเรื่องไปโพสต่อ เพื่อเผยแพร่ โดยมิใช่ทางการค้า ขอให้ติดต่อขออนุญาตให้ถูกต้องก่อนโพส

ภาพและเรื่องคัดย่อจาก
มรดก ฉบับที่ 4




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2550    
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 20:18:01 น.
Counter : 12995 Pageviews.  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระสุปฏิปันโน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระสุปฏิปันโน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นพุทธศาสนิกที่เป็นแบบอย่างแก่ชาวไทยทั้งปวง นับแต่ที่พระองค์ท่านออกทรงผนวช และตลอดมา ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริม บำรุงพระพุทธศาสนาตลอดมา ทั้งยังทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จเยี่ยมเยือนและสนทนาธรรมกับพระสุปฏิปันโนทั้งหลายที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ทั่วทั้งประเทศเป็นพระจริยาวัตรที่พวกเราจะได้เห็นกันบ่อนๆ ไม่ว่าจะใกล้ไกล เพียงใด บางครั้งต้องเสด็จด้วยความลำบากเพราะระยะทางไกล และกันดาร แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคของพระองค์ท่าน ที่จะได้เฝ้ากราบสนทนาธรรมกับบรรดาพระสุปฏิปันโนแต่ละรูป ทำให้พระองค์ท่าน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเข้าพระทัยในหลักธรรมอย่างถ่องแท้ ลึกซึ้งพระองค์หนึ่งของแผ่นดินไทย

ในวาระเฉลิมฉลอง ครบรอบพระชนมพรรษา 80 พรรษานี้ จึงได้นำภาพในอดีตของพระองค์ท่านมาให้ได้ชม ได้ปลาบปลื้มใจกันทั่วทุกคนครับ




1. พระเจ้าอยู่หัวฯกับสมเด็จพระสังฆราชฯ



2. พระเจ้าอยู่หัวฯกับหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี



3. พระเจ้าอยู่หัวฯกับครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า



4. พระเจ้าอยู่หัวฯกับใต้ซือเย็นบุญ วัดทิพย์วารีวิหาร



5. พระเจ้าอยู่หัวฯกับหลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล



6. พระเจ้าอยู่หัวฯและพระราชินี กับหลวงปู่ฝั้น วัดป่าอุดมสมพร



7. พระเจ้าอยู่หัวฯกับหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง



8. พระเจ้าอยู่หัวฯและพระราชินีกับหลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากแป้ง



9. พระเจ้าอยู่หัวฯกับหลวงปู่หลุย วัดถ้ำผาบิ้ง



10. พระเจ้าอยู่หัวฯกับหลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง



11. พระเจ้าอยู่หัวฯกับครูบาวงศ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



12. พระเจ้าอยู่หัวฯกับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 4 ธันวาคม 2550 0:11:13 น.
Counter : 3521 Pageviews.  

1  2  

travelaround
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]





ยินดีต้อนรับทุกท่านที่แวะเข้ามาชม blog มีข้อคิดเห็น เชิญ comment มาได้นะครับ ถ้าตอบได้ จะตอบให้ทันทีครับ แต่ถ้าไม่ทราบ ต้องขอเวลา จะค้นคว้ามาให้อ่านกัน ท่านที่จะถามคำถาม หรือติดต่อเรื่องบทความ ได้ทาง Email :- d_sign_place@yahoo.com ครับ


เรื่องต่างๆที่ผมได้เขียนหรือรวบรวม เรียบเรียงมานี้ ยินดีให้ทุกท่านได้อ่านเป็นวิทยาทานและเพื่อการศึกษา ถ้าจะนำไปโพสต่อใน website สาธารณะ หรือ website อื่นใดที่ไม่ใช่ทางพาณิชย์ กรุณาระบุที่มา คือ https://www.travelaround.bloggang.com และนามปากกาผู้เขียนคือ TraveLArounD ด้วย

แต่ขอสงวนสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ ในเชิงพาณิชย์ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง จะถูกดำเนินคดี ตามกฏหมายลิขสิทธิ์

ส่วนบทความหรือภาพถ่ายใดๆ ที่ได้นำมาจาก website อื่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบเรื่องนั้นๆ เป็นการถ่ายทอดจากวิจารณญาณแล้วว่า มีความถูกต้องเป็นจริง มากที่สุด และได้นำมาจาก website ที่เป็นสาธารณะ ถ้าเรื่องราวหรือภาพของท่านที่ได้นำมาถ่ายทอดนี้ ไปละเมิดลิขสิทธิ์ของท่าน กรุณาแจ้งมาทาง email :– nana_sara1000@ymail.com ผมจะทำการลบข้อมูลหรือภาพที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ออกทันที

Acknowledges that I try to write or report accurately but postings may contain fact , speculation or rumor. I find images from the Web that are believed to belong in the public domain. If any stories or images that appear on the site are in violation of copyright law, please email to :- nana_sara1000@ymail.com and I will remove the offending information as soon as possible.


Website counter
: Users Online









ที่ดินเชียงใหม่ ทางไปแม่ริม ใกล้ศาลากลาง และสนามกีฬา 700 ปี ติดน้ำปิง ในหมู่บ้านเพชรริมปิง พื้นที่ 667 ตารางวา @ 14,000.- บาท สภาพแวดล้อมดี สนใจติดต่อ โทร. 0859559950



DESIGN PLACE CO.,LTD. รับออกแบบ และตกแต่งภายใน บ้านพักอาศัย ในแบบไทย และไทยร่วมสมัย



มรดก ฉบับที่ 1

มรดก ฉบับที่ 2

มรดก ฉบับที่ 3

มรดก ฉบับที่ 4

มรดก ฉบับที่ 5

มรดก ฉบับที่ 6

มรดก ฉบับที่ 7

ช่วยสนับสนุนการจัดทำ BLOG ด้วยการซื้อหนังสือ "มรดก" 1ชุด 7เล่ม (หนังสือเก่า) ในราคาชุดละ 700 บาท (รวมค่าส่งทางไปรษณีย์)

สนใจสั่งซื้อทาง E-mail :- nana_sara1000@ymail.com



New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add travelaround's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.