ตำนานปูไม้กางเขน

ปูกางเขน หรือในภาษาไทยเรียกว่าปูม้าเข้ารีต ปูตัวนี้มีลักษณะเด่นกว่าปูตัวอื่นๆคือมีลายรูปไม้กางเขนอยู่กลางกระดอง ซึ่งลายนี้ มีตำนานอ้างไปถึงเซนต์ฟรานซิสเซเวียร์ นักบวชคริสต์ผู้ร่วมก่อตั้งคณะเยซูอิต เมื่อห้าร้อยกว่าปีก่อน

ชาวอินเดียที่เข้ารีตแถวเมืองกัวประเทศอินเดีย และแถวๆมะละกาเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งเซนต์ฟรานซิสโดยสารเรือแถวๆมะละกา(บางตำนานก็ว่าแถวๆเกาะชวาตะวันออก) แล้วเกิดพายุใหญ่ท่านสวดภาวนาแล้วจุ่มไม้กางเขนลงน้ำทะเล ทันใดนั้นทะเลก็สงบลงแต่ท่านเกิดทำกางเขนหลุดมือตกน้ำไป ก็เกิดเสียดาย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะทะเลก็ลึก

ส่วนบางตำนานบอกว่าท่านโยนไม้กางเขนลงทะเล

วันต่อมาท่านขึ้นฝั่งที่เกาะเซรัมก็เจอปูน้อยตัวนึงคีบกางเขนขึ้นมาจากทะเลมาให้ท่านท่านดีใจมากจึงเอาไม้กางเขนอวยพรและทาบลงบนตัวปูน้อยเกิดเป็นรอยไม้กางเขนอยู่บนกระดองปูจนทุกวันนี้

ภาพจาก//www.uniprot.org/taxonomy/65693





Create Date : 19 มีนาคม 2555
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2558 0:05:18 น.
Counter : 1707 Pageviews.

0 comment
วิหารพระเขี้ยวแก้วแห่งลังกาทวีป


“เมืองแคนดี้” เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา เป็นราชธานีสุดท้ายแห่งราชวงศ์ที่ปกครองเกาะศรีลังกามากว่า 2500 ปีโดยไม่ขาดสาย เมืองหลวงแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเกาะบนที่ราบสูง โอบล้อมด้วยขุนเขา เพื่อป้องกันการจู่โจมจากการล่าเมืองขึ้นในช่วง 500 ปีก่อน และเป็นสถานที่สำคัญซึ่งประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ ที่เป็นของคู่บ้านคู่เมืองของชาวลังกามาเนิ่นนาน ผู้ใดที่ครอบครองพระเขี้ยวแก้ว ก็เท่ากับได้ปกครองลังกาทวีป และด้วยความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ จึงมีอันต้องย้ายสถานที่ประดิษฐานอยู่เรื่อยๆ หลายครั้งในตลอดพันกว่าปี ทุกครั้งที่มีเหตุวุ่นวายทางการเมือง รบกับพวกทมิฬโจฬะบ้าง หรือกษัตริย์ย้ายเมืองหลวง ก็ต้องอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วติดตามไปด้วยเสมอ




วัดพระเขี้ยวแก้วราว 100 ปีก่อน จากเวป//lankapura.com/?s=Sri+dalada


วัดพระเขี้ยวแก้วราว 100 ปีก่อน จากเวป//lankapura.com/?s=Sri+dalada

พระเขี้ยวแก้วแต่เดิมครอบครองโดยกษัตริย์อินเดียแห่งแคว้นกลิงคะ และได้รับอัญเชิญมาลังกาทวีปโดยเจ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าชายทันฐะ พระสวามี โดยทรงซ่อนไว้ในมวยผม ทรงขึ้นฝั่งที่ลังกาปัฏฏนะ และถวายพระเขี้ยวแก้วแด่กษัตริย์ลังกาผู้ปกครองกรุงอนุราธปุระ พระนามกิรติศรีเมฆวรรณ (ค.ศ.301-328) พระองค์โปรดให้ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนั้นไว้ในวิหารเมฆคีรี หรือปัจจุบันคือ อิสุรุมุนิยะ (Isurumuniya) ใกล้พระราชวัง และนับถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมในการครองลังกาทวีป

ในสมัยโปลนนารุวะ เมืองหลวงแห่งที่ 2 พระเขี้ยวแก้วถูกย้ายมาประดิษฐานพร้อมกับบาตรของพระพุทธองค์ ณ อาตะทาเค ซึ่งพระเจ้าวิชัยพาหุโปรดให้สร้างถวาย

แม้ในสมัยถัดๆมา ลังกาจะย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง จากอนุราธปุระ สู่โปลนนารุวะ ทัมพะเทนิยะ ยะปะหุวะ กุรุเนคะละ พระเขี้ยวแก้วก็ย้ายตามไปด้วย จนกระทั่งถึงสมัยอาณาจักรคัมโปละ พระเขี้ยวแก้ว ประดิษฐานที่วิหารนิยามคามปายะ (Niyamgampaya) ในเมืองหลวงคือ โกฏเฏ

นอกจากพระเขี้ยวแก้วจะเป็นของสำคัญล้ำค่าสำหรับชาวลังกาแล้ว สำหรับชาวต่างชาติเองก็เป็นที่ปรารถนาด้วยเช่นกัน เช่น มาร์โคโปโล บันทึกไว้ว่า พระเจ้ากุบไลข่าน ส่งราชทูตมาขอ (แกมบังคับ) ให้ส่งพระเขี้ยวแก้ว พระเกศาธาตุ และบาตรของพระพุทธองค์ไปให้จีน อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ลังกาก็มิอาจถวายให้ได้ดังพระราชประสงค์ แต่กลับส่งพระเขี้ยวแก้วจำลองไปถวาย ซึ่งจีนก็ยังยินดีและจัดพิธีบูชาอย่างยิ่งใหญ่

อีกครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 15 ในสมัยพระเจ้าวีรพาหุ นายพลเจิ้งเหอผู้คุมกองเรือยักษ์แห่งราชวงศ์หมิง มาถึงศรีลังกา และจับตัวกษัตริย์ลังกาพร้อมพระราชวงศ์ส่งไปถวายจักรพรรดิจีน ซึ่งมีความคลุมเครือทางเอกสารว่าพระเขี้ยวแก้วถูกอัญเชิญไปด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีการกล่าวถึงพิธิเฉลิมฉลองพระเขี้ยวแก้วอยู่ในรัชกาลถัดๆมา

ในสมัยศตวรรษที่ 16 เริ่มยุคแห่งการล่าอาณานิคม นโยบายเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสมัยนั้น ไม่เป็นมิตรต่อศาสนาพุทธนัก พระเขี้ยวแก้วจึงจำต้องย้ายตามกษัตริย์ลังกาไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้หนีจากเงื้อมมือของพวกโปรตุเกส มีบางกระแสเล่าว่า พระเขี้ยวแก้วถูกพวกโปรตุเกสตำและเผาไฟทิ้งเสียแล้ว แต่ได้แสดงปาฏิหาริย์กลับมารวมองค์กันเหมือนเดิม ในสมัยนี้พระสงฆ์พุทธต่างหวาดกลัว การศาสนาก็เสื่อมโทรมลง

จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะที่ 2 พระองค์โปรดให้ย้ายพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐาน ณ กรุงแคนดี้ หรือศิริวัฒนปุระ และโปรดให้สร้าง ฮาตะทาเค หรือวิหารพระเขี้ยวแก้วขึ้นใหม่ ตามบันทึกของพวกดัทช์ว่ามี 2 ชั้น

ยุคปลายของแคนดี้เต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวายทางการเมือง พวกโปรตุเกสยังคงรบกับศรีลังกา โดยมีชาวดัทช์คอยส่งเสริม บางคราวก็เข้าข้างลังกา ซึ่งทำให้วิหารพระเขี้ยวแก้วเสียหาย และมีการสร้างใหม่กันเนืองๆ





ลักษณะศิลปกรรม

วัดพระเขี้ยวแก้ว หรือ ศรีทาลทะ มาลิกาวะ หรือ Sri Dalada maligawa (เรียกโดยทั่วไปว่า ศรีดาละดา) แปลว่า พระราชวังแห่งพระเขี้ยวแก้ว (มาลิกาวะ แปลว่าพระราชวัง) ชื่อนี้เป็นชื่อทางการของ ทาละทาเค (Dalaga-ge) ซึ่งแปลว่า วิหารประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ถือว่าเป็นวัดหลวงที่อยู่ใกล้กับพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ลังกา สิ่งก่อสร้างในระยะแรกสุดในรัชสมัยพระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะ เมื่อห้าร้อยปีก่อน ไม่ปรากฏร่องรอยเหลืออยู่แล้ว

ในคัมภีร์จุลวงศ์ บรรยายลักษณะวิหารพระเขี้ยวแก้วในสมัยพระเจ้าวิมาลาธรรมสุริยะที่ 2 (สมัยซ่อมแล้ว) ไว้ว่า

“เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระทันตธาตุของพระพุทธองค์ กษัตริย์ได้สร้าง ปราสาท 3 ชั้น อันงดงาม ตกแต่งด้วยงานศิลปะอันเลิศ โปรดให้ประดับพระสถูปบรรจุพระทันตธาตุด้วยเงิน ทอง และหินมีค่า”

และในจุลวงศ์ยังกล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ในสมัยหลังลงมา ในรัชกาลพระเจ้านเรนทรสิงหะไว้ว่า
“พระองค์ได้ทอดพระเนตรวัดซึ่งพระราชบิดาสร้างไว้ มีสภาพเสื่อมโทรมลงก็สลดพระทัย จึงโปรดให้สร้างวิหารสองชั้น มีประตูตบแต่งด้วยวัตถุมีค่าที่ส่องประกาย ประกอบลวดลายปูนปั้น แลดูเหมือนภูเขาเงิน ทรงให้ทำหลังคาอันงดงาม และประดับจิตรกรรมชาดก 32 เรื่องไว้บนกำแพง”

พระเจ้านเรนทรสิงหะ มิได้ซ่อมวิหารของพระราชบิดา แต่โปรดให้สร้างวิหารขึ้นมาใหม่ มี 2 ชั้น ใกล้กับ วิหาร 3 ชั้นหลังเก่า ตามที่ชาวดัทช์เขียนไว้ในแผนที่ เรียกวิหารพระเขี้ยวแก้วเดิมว่า วัดเก่า และวิหารของพระเจ้านเรนทรสิงหะว่าวัดใหม่


สิ่งก่อสร้างที่สะดุดตาบริเวณหน้าวัดพระเขี้ยวแก้ว ที่ทุกคนจะต้องเห็นเมื่อไปเยือน คืออาคารแปดเหลี่ยม หรือ ปัฏฏิริปปุวะ (Pattirippuwa) ที่มีคูน้ำคั่น เป็นอาคารที่ต่อเติมเข้าไปภายหลัง โดยกษัตริย์องค์สุดท้ายของแคนดี้ ซึ่งทรงสร้างได้สัดส่วนงดงามยิ่ง เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างชื่อดังของแคนดี้ คือ เทวันทระ มูลจารี ในอดีตใช้เป็นศาลาที่ประทับของกษัตริย์ เพิ่งจะโอนย้ายให้วัดในภายหลัง และใช้เป็นหอสมุดจนถึงทุกวันนี้

รอบๆคูน้ำมีกำแพงรูปคลื่นคั่นอยู่ เรียกเป็นภาษาสิงหลว่า Diyareli Bemma หรือกำแพงคลื่นไหล ล้อไปกับสายน้ำในคู ในกำแพงเจาะรูเล็กๆสำหรับวางประทีป ลายคลื่นไหลเช่นนี้ยังปรากฏในงานจิตรกรรมสิงหลด้วย ในชื่อ Walakulu Bemma หรือลายเมฆไหล


(ภาพกำแพงชั้นล่างเป็นแบบลายน้ำ ชั้นบนเป็นแบบลายเมฆ)

ทางเข้าหลัก เรียกว่า มหาวัลลกฑะ Maha valakada สร้างบนสะพานข้ามคูน้ำ ก่อนถึงทางเข้าประตู จะมีหินรูปวงกลม ซึ่งในไทยจะเรียกว่า อัฒจันทร์ ตกแต่งลวดลาย หินนี้เรียกว่า Sandakada Pahana


มหาวัลลกฑะหรือทางเข้าหลัก


อัฒจันทร์บนพื้นทางเข้า จากเวป //www.serendib.btoptions.lk/article.php?issue=17&id=399

ทางเข้าประตูจะต้องผ่านซุ้มมกรโตรณะ ซึ่งมีทวารบาลหรือ Doratupalas เฝ้าอยู่ ทางเข้าวัดจะเป็นอุโมงค์แคบๆเรียกว่า อัมพะรวะ Ambarawa เมื่อลอดอุโมงค์เข้าไปก็จะเป็นลานชั้นล่างของวัด เรียกว่า "pallemaluwa" เป็นที่ตั้งของศาลาสำหรับชาวประโคม หรือศาลากลอง เรียกว่า Hewisi Mandapaya ด้านล่างนี้มีห้องเก็บสมบัติ ซึ่งได้จากสัตบุรุษที่มาถวายของแด่พระเขี้ยวแก้ว เก็บรวบรวมกันไว้อย่างยาวนาน เรียกว่า Maha Aramudala

ส่วนพระเขี้ยวแก้วนั้นจะประดิษฐาน ณ ชั้นบนของวิหาร ซึ่งประกอบด้วย 3 ห้องใหญ่ๆ คือ Handun Kunama หรือระเบียงไม้สักทองขัดมันเงางาม ต่อเข้าไปยังห้อง คันธกุฎี หรือกุฏีของหอม อันเป็นชื่อกุฏิของพระพุทธเจ้า เป็นห้องที่ 2 และห้องที่ 3 ซึ่งอยู่ในสุด คือ เรียกว่า "Vadahitina Maligawa" ซึ่ง ณ ที่นี้เป็นบริเวณประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว บานประตูของห้องนี้ทำฝังด้วยงาประดับอย่างงดงาม

พระเขี้ยวแก้วอยู่ในผอบ 7 ชั้น ประดับด้วยหินมีค่า ซึ่งถวายเพิ่มเติมต่อๆกันมาโดยกษัตริย์และชาวลังกาและยังมีผอบสำหรับออกแห่ในพิธี Perahera อีกด้วย

ทุกๆวันจะมีพิธีสรงน้ำถวายพระเขี้ยวแก้ว โดยพระสงฆ์จากวัดมัลวัตตะ และอัสคีรีวิหาร สลับสับเปลี่ยนกันไปทุกปี ซึ่งพระสงฆ์จากวัดมัลลวัตตะ หรือวัดบุปผาราม นี้เอง ที่สืบวงศ์มาแต่สงฆ์สยามวงศ์ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งพระเจ้าบรมโกศทรงส่งสมณฑูตไปสืบศาสนาที่ศรีลังกา


สถูปบรรจุพระเขี้ยวแก้ว จาก//daladamaligawa.org/relic.htm

ภาพถ่ายเก่าพระเขี้ยวแก้ว เมื่อ 1920 ครับ



Create Date : 30 มกราคม 2555
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 23:47:45 น.
Counter : 1538 Pageviews.

0 comment
ความเป็นมาของต้นคริสต์มาส
ลมหนาวในกรุงเทพฯปีนี้อาจจะแผ่วไปบ้าง แต่บรรยากาศของการเฉลิมเฉลิมเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ออกจะดูครึกครื้นคึกคัก ก็เหมือนกับทุกๆปี ที่วันหยุดยาวเป็นช่วงที่ทุกคนรอคอย ตามร้านค้าต่างๆจัดการลดราคารับปีใหม่ ในกรุงเทพช่วงนี้มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่แสงไฟ สายรุ้ง และต้นคริสต์มาส กรุงเทพฯกลายเป็นส่วนหนึ่งของสากลโลกที่กระแสอนุรักษ์นิยมตายไปพร้อมกับคำบ่นของคนรุ่นเก่าแล้ว ต้นคริสต์มาสไม่ใช่ของใหม่ เหมือนกับที่ทุกคนรู้จักซานตาคลอส (ผมเคยอ่านนิยายเก่าๆ มีตัวละครตัวหนึ่งถามว่า “ไอ้ตัวซานตาคลอสนี่มันเป็นยังไง จึงกลับมาคิดว่า มีหลายอย่างที่เรารู้จักแบบผิวเผิน เพียงเพราะรูปร่างภายนอกเท่านั้น) ดังนั้น ก็ควรที่จะรู้จักความเป็นมาของการประดับประดา “ต้นคริสต์มาส” กันบ้าง เพื่อไม่ให้ความเป็นสากลนี้กลวงโหว่เกินไปนัก

ต้นคริสต์มาสเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับฤดูหนาว มากเสียกว่าจะเกี่ยวข้องกับการประสูติของพระเยซูคริสต์เสียอีก ถึงแม้ในระยะเริ่มต้นจะมีความเกี่ยวข้องเชิงสัญลักษณ์กับพระคริสต์บ้างก็ตาม เช่น การระลึกถึงต้นไม้แห่งชีวิต ในสวนเอเดน ที่อาดัมและอีฟ กินลูกของมัน ซึ่งเป็นผลไม้ต้องห้ามที่พระเป็นเจ้าทรงไม่อนุญาต

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ที่ทำบาปแรก จึงแยกออกจากพระเป็นเจ้าเพราะต้นไม้ ในพันธสัญญาเดิม ขณะเดียวกับ การใช้ต้นคริสต์มาสฉลองการประสูติของพระเป็นเจ้าที่เสด็จมา “โปรดโลก” ก็แสดงให้เห็นถึงการกลับคืนดีระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ผ่านทางต้นไม้ในพันธสัญญาใหม่ หรือยุคของพระเยซูคริสต์ เช่นกัน


จะเห็นได้ว่า การประดับดวงดาวบนยอดของต้นสน จึงเป็นตัวแทนของ “ดวงดาวแห่งเบธเลเฮม” ดาวอัศจรรย์ที่แจ้งข่าวประสูติของพระคริสต์ ให้พวกโหราจารย์จากตะวันออกไกลได้รับรู้ หรือการประดับเทวดา (มีหลายรูปแบบ ทั้งบินว่อนหรือเป่าแตร) ก็แสดงถึงเทวดาที่มาแสดงความยินดีในคืนประสูติของพระคริสต์ ตามที่เขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

แต่ต้นคริสต์มาสยังมีความหมายมากกว่านั้น และมีรากเหง้าไปไกลยิ่งกว่า

ตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์ที่อยู่ในเขตหนาวจะเข้าใจดีถึงความทรมานจากการขาดแคลนอาหาร หิมะ และความมืดมนเหน็บหนาว ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงตายได้ ดังนั้น จึงมีการใช้ต้นไม้ที่เขียวตลอดทั้งปืทั้งชาติ มาเป็นสัญลักษณ์ของการมีชัยชนะเหนือความหนาวนั้น ต้นไม้เหล่านั้นก็คือ ไม้จำพวกสน ที่แม้ว่าต้นไม้อื่นๆจะทิ้งใบไปจนเหลือแต่กิ่งก้านแห้งๆตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง แต่ต้นสนก็ยังทนทานชูใบสีเขียวอยู่ได้ แม้จะซุกอยู่ใต้กองหิมะก็ตาม


คติการใช้ต้นไม้สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของการมีชัยชนะต่อฤดูหนาวและความอดอยากขาดแคลนนี้ มีลักษณะค่อนข้างเป็นสากล สืบย้อนไปได้ถึงยุคอียิปต์ทีเดียว โดยชาวอียิปต์จะเฉลิมฉลองวันที่สั้นที่สุดของปีในฤดูหนาว ด้วยการนำกิ่งอินทผาลัมมาไว้ในบ้าน เป็นสัญลักษณ์ของ “ชัยชนะของชีวิตต่อความตาย”

ชาวโรมันเฉลิมฉลองเทพแซทเทิร์นนุส เทพแห่งการกสิกรรมในฤดูหนาวเช่นกัน โดยใช้กิ่งสนสีเขียวมาประดับประดาบ้าน และจุดไฟเพื่อให้แสงสว่างนำทางชีวิต ส่วนนักบวชชาวดรูอิค (ความเชื่อพื้นเมืองในอังกฤษ เกี่ยวข้องกับการนับถือธรรมชาติ) ใช้กิ่งฮอลลี่และมิสเซิลโทล ซึ่งไม่เคยเหี่ยวแห้งมาแขวนไว้เหนือประตูบ้าน เพื่อขับไล่วิญญาณที่ชั่วร้าย

ส่วนการประดับต้นคริสต์มาสของชาวคริสเตียน ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการใช้งานกันอย่างจริงๆจังๆเมื่อไหร่ ซึ่งจากหลายแหล่งก็อ้างว่าเป็นต้นกำเนิดของการประดับประดาต้นคริสต์มาสทั้งสิ้น ทั้งในอังกฤษ และเยอรมัน บางที่มากล่าวว่า ในยุคกลาง (ราวๆพันปีก่อน) ชาวเยอรมันและแสกนดิเนเวียจะใช้ต้นสนสีเขียววางไว้ในบ้าน โดยหวังว่าฤดูใบไม้ผลิจะมาถึงโดยเร็ว

ในการเล่นละครเกี่ยวกับเหตุการประสูติของพระคริสต์ในวันคริสต์มาส จะมีการตั้งต้นสนขนาดใหญ่ ที่แสดงถึงต้นไม้แห่งชีวิตในสวนเอเดน แขวนลูกแอปเปิล อันหมายถึงผลไม้ต้องห้าม ซึ่งอีฟได้เด็ดดึงผลของมันมากิน (จริงๆไม่มีใครรู้ว่าต้นไม้นี้คืออะไร แต่ไม่ใช่แอปเปิลแน่นอน ในสมัยต่อๆมาจะเปลี่ยนแอปเปิลเป็นลูกบอลกลมๆแวววาวแ่ทน เหมือนที่เห็นประดับกันทุกวันนี้)

และยังมีเรื่องเล่ากึ่งๆตำนานว่า ต้นคริสต์มาสน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในเยอรมัน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ราวๆสี่ห้าร้อยปีก่อน) โดยมาร์ติน ลูเธอร์ นักปฏิรูปศาสนาคนสำคัญ ผู้เป็นต้นกำเนิดของนิกายโปรแตสแตนท์ ระหว่างทางเดินกลับบ้าน ท่านได้พบกิ่งสนที่ยังสดอยู่ซุกอยู่ใต้กองหิมะ งดงามอยู่ใต้แสงจันทร์ ท่านประทับใจมาก เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงได้ประดับกิ่งสนไว้พร้อมจุดเทียน เพื่อถวายเกียรติแด่วันประสูติของพระคริสต์

ชาวเยอรมันจึงน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆในยุโรปที่ใช้ต้นคริสต์มาส ไม่ว่าจะเกิดจากการแสดงละครหรือด้วยความตั้งใจของมาร์ติน ลูเธอร์ก็ตาม โดยในสมัยแรกๆ จะมีการแขวนลูกแอปเปิล อันหมายถึงผลไม้ต้องห้ามในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม และขนมเวเฟอร์ แสดงแทนศีลมหาสนิท ซึ่งหมายถึงการไถ่โลกของพระคริสต์ในพันธสัญญาใหม่ และมีประเพณีว่า จะไม่ตกแต่งต้นคริสต์มาสเด็ดขาด จนกว่าจะถึงวันคริสต์มาสอีฟ (24 ธันวาคม) เพื่อระลึกถึงบาปแรก ของอาดัมกับอีฟที่ได้ล่วงละเมิดกินผลไม้ต้องห้ามในสวนสวรรค์

ความนิยมการใช้ต้นคริสต์มาสแพร่กระจายออกไปอย่างช้าๆ จากเยอรมันออกไปสู่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา และได้รับความนิยมอย่างเป็นสากลตั้งแต่คริสตศวรรษที่ 19 เป็นต้นไป โดยมีประเพณีการประดับไม่เหมือนกันในแต่ละที่ ในยุคเริ่มแรก เยอรมันยังคงเริ่มประดับในวันที่ 24 ธ.ค. ส่วนในอเมริกา จะไม่ประดับก่อนสัปดาห์ที่ 2 ในเดือนธันวาคม และจะประดับไปจนถึงวันที่ 6 มกราคม ซึ่งเป็นวัน Epiphany หรือฉลองพระคริสต์แสดงองค์แก่โหราจารย์จากตะวันออกไกล บางแห่งอนุญาตให้ประดับต้นคริสต์มาสได้ถึงปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นกุมภาพันธ์ หากเกินกว่านี้ จะถือว่าอาจนำโชคร้ายมาให้


ในที่สุด ต้นไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์ที่เคยใช้ในฐานะชัยชนะต่อฤดูหนาว ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลพระคริสตสมภพอย่างกลมกลืน และพัฒนาต่อไปจนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองปีใหม่อย่างเป็นสากล โดยความหมายดั้งเดิมแบบคริสเตียนลบเลือนไปจนหมด จากที่เคยตกแต่งตามโบสถ์หรือตามบ้านผู้คน ทุกวันนี้เราพบต้นคริสต์มาสได้ทุกที่ แทบจะทุกแห่งหน ทั้งตามห้างร้าน บริษัท หรือสนามบิน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนบางกลุ่มที่ถือเรื่องละเอียดอ่อนทางศาสนา พยายามตั้งชื่อต้นคริสต์มาสใหม่ เช่น ในปี 2005 เทศบาลเมืองบอสตัน ให้เป็น “ต้นวันหยุด” (Holidays tree) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีใครเรียกตาม และในปีเดียวกัน สนามบินซีแอทเติล ได้จัดการเก็บต้นคริสต์มาสทั้งหมดในสนามบินกลางคัน เนื่องจากมีรับไบ (ศาสนาจารย์ชาวยิว) บางคนพยายามแขวน “เมโนราห์” อันเป็นสัญลักษณ์รูปเชิงเทียน 9 กิ่งของศาสนายูดายบนต้นคริสต์มาส ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีการใช้ต้นคริสต์มาสเป็นพื้นที่แสดงออกของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ดังนั้น ทางสนามบินจึงตกแต่งต้นคริสต์มาสด้วยหิมะปลอมเท่านั้น และไม่มีการใช้สัญลักษณ์ใดๆบนต้นไม้นี้ (ซึ่งบางทีก็เรียกต้นไม้ที่ไม่มีการตกแต่งเหล่านี้ว่า ต้นยูล (Yule tree) แทน


ปีนี้ที่ทำงานของผมก็เต็มไปด้วยต้นคริสต์มาสเหมือนกัน ทั้งต้นใหญ่ยักษ์หน้าบริษัทและต้นเล็กต้นน้อยสำหรับแผนกต่างๆ ประเพณีการตกแต่งต้นคริสต์มาสกลายเป็นเรื่องสากลของแทบทุกชาติ ที่รับวัฒนธรรมตะวันตกผ่านระบบทุนนิยมเสรีไปแล้ว แม้ว่าการใช้ต้นคริสต์มาสจะไม่เหลือแม้แต่ความหมายดั้งเดิม ที่ใช้แสดงความหวังของการผ่านเข้าสู่ฤดูกาลที่อบอุ่นกว่า หรือความหมายของวันประสูติของพระคริสต์

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เห็นแสงไฟระยิบระยับ เราก็ยังรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของการเฉลิมฉลองและวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง นับว่าต้นคริสต์มาสได้สร้างความหมายใหม่ในตัวมันเองอีกแบบหนึ่งในเมืองร้อนๆอย่างกรุงเทพพระมหานครของเรา สุขสันต์วันคริสต์มาสและสวัสดีปีใหม่ครับ



Create Date : 02 ธันวาคม 2554
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2558 0:06:03 น.
Counter : 676 Pageviews.

0 comment
สมุดบันทึกของผม
เวลาไปเที่ยวดูโบราณสถานตามต่างจังหวัด ผมมักจะมีสมุดบันทึกเล่มเล็กๆติดตัวไว้เล่มนึง ส่วนมากก็จะเป็นสมุดสเก็ตช์ของศิลปากร เล่มเขียวๆฟ้า เพราะหน้ามันเยอะดี แต่ถ้าให้ดีต้องแบบสันห่วง จะได้เสียบดินสอปากกาได้
สมุดพวกนี้มีไว้สำหรับขีดเขียนเวลาเหม่อลอยขณะนั่งรถเดินทาง แต่จุดประสงค์หลักก็คือใช้สำหรับวาดรูป สเก็ตช์ภาพโบราณสถานตามที่เห็น เพราะบางครั้งภาพถ่ายมันบันทึกเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เช่น ภาพรวม แผนผัง การวางตัวของโบราณสถาน ทิศทาง ลวดบัวปูนปั้นที่หากถ่ายรูปไปก็จะงง แกะไม่ออกแน่ๆ รวมทั้งตำแหน่งของปูนปั้น จิตรกรรมฝาผนัง ของพวกนี้กล้องถ่ายภาพไม่มีทางบันทึกได้แน่นอน รวมทั้งวันที่ วิธีเดินทางด้วย



ส่วนใหญ่การพกสมุดบันทึกแบบนี้ จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการถ่ายภาพ กับการเขียนภาพ หากทำทั้งสองอย่างมันจะไม่ได้ดีสักอย่าง เพราะเราจะมัวแต่วุ่นวายกับภาพในเลนส์กับภาพในสมุด แล้วละเลยโบราณสถานที่ตั้งใจจะมาดูจริงๆไป บางครั้งเรามองโบราณสถานผ่านกล้อง ซึ่งถูกจำกัดด้วยกรอบเล็กๆนิดเดียว ทำให้พลาดโอกาสที่จะเห็นภาพรวมในมุมกว้างด้วยสายตาของเรา และประสบการณ์ของเราที่มีต่อวิธีการใช้พื้นที่ของโบราณสถาน ที่คนโบราณออกแบบมาสำหรับมุมมองของมนุษย์ ไม่ใช่กล้องหรือหน้ากระดาษ



มีอาจารย์บางท่านบอกว่า เมื่อไปสำรวจโบราณสถาน สิ่งแรกที่ควรทำคือ เดินวนให้รอบเสียก่อน อย่าเพิ่งเข้าไปในพื้นที่ ดูบริบทของสถานที่ให้เคลียร์ จากนั้นค่อยๆตีวงให้แคบเข้า และควรเข้าตามตรอกออกตามประตู ไม่ใช่เดินเทิ่งๆเข้าไปถึงตัวอาคารประธานเลย เพราะแต่ก่อนเขาต้องมีกำหนดว่า จะต้องเข้าทางนี้ๆ มีทางเข้ากี่ชั้น ประตูกี่แห่ง กว่าจะเข้าไปถึงส่วนสำคัญสุดของโบราณสถานได้ (ในกรณีที่มีขนาดใหญ่อย่างปราสาทหินต่างๆ)


หากมีแผนที่หรือแผนผังไปด้วยจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ควรสังเกตอีกอย่างคือ ทางน้ำ ภูเขา และถนน คนโบราณสร้างโบราณสถาน จำเป็นต้องมีทางคมนาคมครับ ทั้งภูเขาและทางน้ำต่างเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญ ไม่ใช่พระอินทร์มาสร้างถึงจะเนรมิตได้คล่องๆ เมื่อก่อนนิยมสัญจรกันด้วยทางน้ำ เพราะฉะนั้น โบราณสถานในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน บางครั้งจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน และอาจมีความเกี่ยวเนื่องกันทางใดทางหนึ่ง ของที่อยู่ไกลกันก็ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา



โอว.....กลับมาพูดถึงสมุดบันทึกต่อดีกว่าครับ ถ้าไปต่างประเทศก็ลงทุนซื้ออีกเล่มนึงเลย เพราะเราไม่เคยไปจะได้ถือโอกาสจดบันทึกได้อย่างละเอียด ไม่เบียดเบียนกับส่วนอื่น กลับมาก็เก็บไว้ให้เรียบร้อย เข้ากรุไปเลยเพราะหวงมาก (หายไปหลายเล่มแล้วเสียดายจริงๆ) ผมเป็นคนความจำสั้นเหมือนปลาทองครับ ชื่อวัดแปลกๆ เรียกยากๆนอกระบบบาลีสันสกฤตยิ่งจำยาก (ยากสุดคือวัดภาษาพม่า อย่างมาเยบอนทาปยาลา กว่าจะจำได้แทบกระอักออกมาเป็นภาษาตระกูลธิเบตพม่า)

ทุกวันนี้มีสมุดบันทึกหลายเล่ม นานๆก็เอาออกมาดูทีเวลานึกชื่อวัดไม่ออก บางเล่มหายไปวางลืมไว้ที่อื่น เสียดายสุดๆครับ





ภาพข้างบนเป็นสเกตช์ธรรมาสน์วัดเสาธงทอง ที่ลพบุรี อายุในช่วงอยุธยาตอนกลาง (300 ปีอัพ) จากวังนารายณ์ครับ


ภาพ"กระทง" จากธรรมาสน์วัดเดียวกัน เป็นดอกโบตั๋นครับ






























ภาพสเกตซ์ส่วนมากเขียนขึ้นตอนเร่งรีบ มีเวลาไม่มากนัก ส่วนหนึ่งก็คือผมเป็นคนขี้เกรงใจเพื่อน มันอยากเดินไปไหนก็ต้องเดินตามไป ยกเว้นบางวันอารมณ์ดีๆไปคนเดียว ก็จะมีเวลานั่งพิจารณารายละเอียดมากขึ้น เสียดายไม่ค่อยมีโอกาสอย่างนั้น เพราะไม่ชอบไปคนเดียว อิอิ



Create Date : 25 พฤษภาคม 2554
Last Update : 25 พฤษภาคม 2554 16:14:02 น.
Counter : 1863 Pageviews.

6 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments