Group Blog
All Blog
|
พระปิณโฑลเหาะขึ้นหยิบบาตรในจิตรกรรมวัดอุมลอง อ.เถิน
ภาพพระปิณโฑลภารทวาชเถระเหาะขึ้นหยิบบาตรไม้จันทน์ ในจิตรกรรมวัดอุมลอง อำเภอเถิน จังหวัดลำปางพระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นพระเถระที่แต่เดิมเคยเป็นอลัชชีมาก่อน เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเนื่องจากต้องการลาภในการบิณฑบาต เพราะท่านเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าฉันอาหารจุมาก แต่ก่อนท่านเคยตั้งตนเป็นอาจารย์สอนเหล่าศิษย์ แต่ด้วยความที่ท่านมีนิสัยกินจุ บรรดาลูกศิษย์จึงละทิ้งท่านไปหมด ท่านต้องได้รับความยากลำบากมาก จนเห็นว่าบรรดาภิกษุของพระพุทธองค์ได้รับบิณฑบาตมาก จึงมาอาศัยบวชในศาสนาพุทธบ้าง แต่ในที่สุดหลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็สำเร็จอรหันต์ และถือว่าเป็นพระเถระที่มีฤทธิ์มาก เรื่องราวของท่านโด่งดังจากการเป็นต้นบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์แสดงปาฏิหาริย์ มีเศรษฐีผู้หนึ่งคลางแคลงใจว่าในโลกนี้จะมีพระอรหันต์อยู่หรือไม่ จึงนำปุ่มไม้แก่นจันทน์อันมีค่ามากไปแกะเป็นบาตร แล้วนำไปแขวนไว้บนยอดเสาอันสูง พร้อมทั้งประกาศว่าหากพระอรหันต์มีจริงในโลก ก็ให้แสดงฤทธิ์เหาะขึ้นไปเอาบาตรมา เศรษฐีจะยอมรับนับถือเป็นสรณะไปตลอดชีวิต บรรดาเดียรถีย์ผู้เป็นอาจารย์หลักทั้ง 6 คน ต่างให้ศิษย์มาขอรับบาตรไม้แก่นจันทน์จากเศรษฐี แต่ท่านไม่ยินยอมให้ พร้อมบอกว่าหากต้องการก็ให้เหาะขึ้นไปหยิบเอาเอง พระปิณโฑลภารทวาชะได้ทราบข่าวดังนั้นก็เกรงว่าผู้คนทั่วไปจะสำคัญผิดว่าโลกนี้ปราศจากพระอรหันต์ ท่านจึงแสดงฤทธิ์ใช้เท้าคีบแผ่นศิลาขนาดใหญ่ เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้แก่นจันทร์กลางอากาศ ลอยอยู่เหนือเรือนของเศรษฐี เศรษฐีผู้นั้นเกรงว่าแผ่นศิลาจะตกลงมาทับเรือนของตนก็ตกอกตกใจก้มลงกราบ บรรดาฝูงชนก็เข้ามารุมล้อมพระเถระขอให้แสดงฤทธิ์อีก จนเกิดเป็นเรื่องวุ่นวาย ความทราบไปถึงพระพุทธองค์ ก็ทรงเรียกพระปิณโฑลภารทวาชะไปสอบสวน พร้อมทั้งติเตียนท่านว่าไม่ควรแสดงฤทธิ์ และทรงกำหนดพุทธบัญญัติว่าห้ามพระภิกษุแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์อีกต่อไป ส่วนบาตรไม้จันทน์นั้นทรงโปรดให้ภิกษุนำไปบดทำยาหยอดตา ทั้งทรงบัญญัติห้ามภิกษุใช้บาตรไม้อีกต่อไป จิตรกรรมภาพพระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปหยิบบาตรปุ่มไม้จันทน์ เหนือเหล่าเดียรถีย์นั้น ไม่ค่อยปรากฏมากนักในจิตรกรรมไทย เท่าที่ผมนึกออกอีกแห่งหนึ่งก็คือจิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ การที่ได้มาพบที่คอสองวิหารวัดอุมลอง อำเภอเถินจังหวัดลำปาง แม้ตัวของจิตรกรรมจะไม่เก่าแก่มากนัก คือประมาณรัชกาลที่ 5 ลงมา แต่ก็ถือว่าช่างเขียนน่าจะเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติอย่างละเอียดทีเดียว ปฏิจจสมุปบาทในศาลาวัดแก้วไพฑูรย์
เมื่อหลายปีที่แล้วก่อนที่ศาลาวัดแก้วไพฑูรย์จะซ่อม (ราว ๆ ปี 2553) มีปริศนาธรรมภาพหนึ่งเขียนคน 4 คนติดอยู่ในวงกลม ตีความไม่ออก เราก็งงมานานว่ามันหมายถึงอะไร เพราะภาพเขียนก็เลือนลาง ถามใครก็ไม่ได้ความ จนเมื่อวานไปเที่ยวเล่นวัดชลประทานฯ ปากเกร็ด ได้หนังสือของท่านพุทธทาสมาจากร้านหนังสือของวัด ชื่อสมุดภาพปริศนาธรรมไทย ท่านใช้หนังสือบุดภาคใต้จากไชยามาถอดเรื่องปฏิจจสมุปบาท แบ่งเป็นสองภาคคือ สายเกิดกับสายดับ หรืออกุศลมูลกับกุศลมูล . . ท่านพุทธทาสบรรยายว่า คนทั้ง 4 ที่ติดอยู่ในวงกลมคือ เกิด แก่ เจ็บตาย จากสมุดไชยาจะมีวงกลมซ้อนอีกชั้น ชั้นนอกเป็นคน 6 คน คืออารมณ์ 6 คือหลงใน รูป รส กลิ่นเสียง โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หากหลงในอารมณ์เหล่านี้อยู่ก็ยังวนเวียนอยู่กับการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เปรียบเสมือนปลาที่ติดในน้ำ ไม่อาจรู้จักโลกที่พ้นน้ำขึ้นไปได้ . . . ทำให้ตีความต่อไปได้ว่า คอสองของวัดแก้วไพฑูรย์คงเขียนปฏิจจสมุปบาทเป็นแน่แท้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่เขียนน้อยเพราะเข้าใจยากมาก ที่พบหลักฐานมีไม่กี่ภาพ ส่วนมาจากเจอตามสมุดข่อย ไม่ค่อยเจอในจิตรกรรมฝาผนัง . . . ทีนี้น่าสนใจว่าวงจรแบบนี้ มันดันไปคล้าย ๆ กับ ภวจักร ของทางตันตระเค้า แต่ในทางตันตระนั้น เขาอธิบายไว้ว่า 6 ช่องหมายถึงภูมิทั้ง 6 สายที่สัตว์อาจจะไปเกิดได้ คือ เทวดา สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดียรฉาน และมนุษย์ ซึ่งไม่แน่ใจว่า การติดอยู่กับอารมณ์บางอย่างมีผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ต่างกันหรือไม่ แต่น่าสนใจว่าช่างสยามนำความคิดการแสดงออกแบบนี้มาจากไหน เป็นอิทธิพลตันตระหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ ภาพเขียนบนคอสองชุดนี้ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่ารัชกาลที่ 3 ถูกเขียนซ่อมเสียเละเทะหมดแล้วโดยช่างที่มีความชำนาญต่ำแต่มีอหังการ์มาก ไม่เคารพว่าฝีมือครูอายุกว่า 150 ปี ควรเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชมบ้าง โบราณสถานไม่ใช่แกลอรี่ ไม่ใช่ที่อวดฝีมือของใคร ![]() (ภาพเกิด แก่ เจ็บ ตาย จากคอสองศาลาวัดแก้วไพฑูรย์ ปัจจุบันซ่อมจนหมดสภาพแล้ว) ![]() (ภาพภวจักร หรือวงจรปฏิจจสมุปบาท ตามแบบศิลปะตันตระของธิเบต)
เลยขอลงต่อไป สำหรับใครไปไม่ทันจะได้เหลือเป็นหลักฐานไว้ เพราะปริศนาธรรมของวัดนี้เขียนซับซ้อน เป็นเรื่องราวปฏิจจสมุปบาท แต่มันมีไม่ครบหรอก เพราะตอนไปก็ลบเลือนไปมากแล้ว แถมมีท่อพีวีซีวางทับด้านล่างภาพด้วย อนาจจริง ๆ . .
ฉากนี้เขียน "มุญจิตุกัมมะยะตาญาณ" เป็นญาณที่ 6 หลังจากผู้ประพฤติโยคาวจรเหนื่อยหน่ายกับสังสารวัฏแล้ว ก็ถึงความรู้สึกอยากจะออกไปพ้นจากกองทุกข์ในสังสารวัฏนี้โดยเร็ว ภาพโบราณมีการอุปมาญาณนี้ไว้หลายแบบ เช่น พระจันทร์อยากรีบออกจากปากราหู ปลาอยากหลุดจากเบ็ด หรือกวางอยากหลุดจากบ่วงแร้ว แต่ในวัดแก้วไพฑูรย์เขียนเป็นภาพนักโทษที่ทุกข์ทรมานจากเครื่องจองจำ อยากจะหลุดออกไปให้พ้น ๆ เสียที
. . ส่วนอีกญาณหนึ่ง เป็นญาณที่ 7 หรือ ปฏิสังขานุปัสสะนาญาณ "ปฏิสังขา" แปลว่า พิจารณาหาทาง คือการพยายามหาทางพ้นทุกข์ อุปมาเหมือนชายจับงูในสุ่มขึ้นมาก็นึกว่าเป็นปลา พอเห็นว่าเป็นงูอาจจะกัดจนตายได้ จึงรีบคว้าคองู แกะไม่ให้มันพันแขน แกว่งจนงูน่วม แล้วเขวี้ยงจนพ้นตัว แล้วตามไปตีซ้ำให้ตายอีกที ท่านเปรียบงูเหมือนกิเลส มีพิษร้าย ทำเล่นด้วยไม่ได้ ต้องหาทางกำจัดเสียให้พ้นๆ
ส่วนภาพภิกษุที่นั่งอยู่ในภาพ เป็นพระโยคาวจร หรือพระผู้กำลังหาทางดับทุกข์ นั่งพิจารณาญาณลำดับต่างๆอยู่ ตอนต่อไป จะเป็นเรื่อง "อวิชชา" แสดงออกด้วยภาพคนผิงไฟ และคนเลี้ยงไก่ชน รูปคนผิงไฟนั้นมักจะพบทั่วไปในศิลปะไทย มักมีผ้าขะม้าคลุมหัวด้วย เช่นที่หอเขียน วังสวนผักกาด แต่ที่นี่มีความหมายต่างออกไป ไม่ใช่ภาพกากโดยปกติ แต่เป็นเรื่อง "อวิชชา" หรือความเห็นผิด อุปมาคนที่หลงบูชาของร้อนอย่างไฟ ว่าเป็นสิ่งดีสิ่งงาม ถือเป็นหนึ่งในอาการหลงใน "ภัย" 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ โลภะ คือ หลงเพราะรัก แสดงเป็นภาพคนหลงเลี้ยงไก่ชน หลงตัวกูของกู ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งไม่เป็นแก่นสาร โทสะ คือหลงด้วยความโกรธ แทนด้วยภาพคนบูชาไฟ โมหะ คือความหลงเห็นผิด แสดงด้วยภาพคนเห็นงูเป็นปลา (ภาพด้านบน) ภาพคนชนไก่แทบจะไม่ชัดเลยครับ เพราะถ่ายตอนศาลายังโทรมๆไฟก็มืดๆ เสด็จออกผนวชที่ปราสาทตาพรหม
ปราสาทตาพรหม เป็นปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเขมร ทรงสร้างอุทิศให้พระราชมารดา ในชื่อเดิมคือ ราชวิหาร โดยรูปเคารพประธานคือนางปรัชญาปารมิตา เทพีในศาสนาพุทธมหายานอันเป็นบุคลาธิษฐานของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร ดังนั้นรูปสลักต่างๆในวิหารหลังนี้จึงเป็นรูปสลักในศาสนาพุทธทั้งสิ้นอันเราชาวไทยที่คุ้นเคยอยู่แล้วน่าจะดูได้เข้าใจง่าย ดังเช่นรูปนี้คือภาพการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์หรือการเสด็จออกผนวชในเวลากลางคืนของเจ้าชายสิทธัตถะ ช่างสลักแอบไว้กับเสาประดับกรอบผนัง ที่ทำเป็นลวดลายใบไม้ม้วนและแทรกเอาไว้ที่ปลายของลายก้านขดเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะออกไปพร้อมกับมหาดเล็กคู่ใจคือนายฉันนะที่เกาะหางม้าออกไป แม้ว่าพื้นที่จะน้อยแต่เราก็ทราบได้ว่าเป็นการออกผนวชแน่นอนจากรูปของจตุโลกบาลที่รองกีบเท้าม้าไว้ไม่ให้เกิดเสียงดังเมื่อทรงหลบจากกำแพงเมืองได้แล้ว ก็เสด็จไปตัดพระเกศาริมฝั่งแม่น้ำอโนมาทรงโยนขึ้นไปบนท้องฟ้า พระอินทร์ซึ่งรอท่าไว้แล้วก็เสด็จลงมารับพระเกศาไว้นำไปบรรจุไว้ในเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ![]() จตุโลกบาลรองกีบเท้าม้ากัณฐกะ ![]() เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี ศศชาดก กระต่ายกระโดดเข้ากองไฟ
ศศชาดก (ชาดกกระต่าย) เป็นเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกระต่าย กระโดดเข้ากองไฟเพื่อให้เนื้อเป็นทานแก่ฤาษี พระอินทร์เห็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ จึงเขียนรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์ ชาดกที่เห็นนี้เป็นลายรดน้ำ ปรากฏที่หีบพระธรรมจากวัดพิชัยญาติการาม ฝั่งธนบุรีครับ อยู่ในโบสถ์ นานๆจะเห็นเขียนชาดกเรื่องเล็กๆแบบนี้สักที เรื่องนี้ฮิตมากในฝ่ายนิกายมหายานครับ
![]() พระสุธน+มโนราห์เวอร์ชั่นอินโดนีเซียจากบุโรพุทโธ
เรื่องพระสุธนมโนราห์ นั้นเป็นนิทานเก่าแก่ของอินเดีย และพบแพร่หลายทั่วไปในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในบ้านเราพบบนเสมาสมัยทวารวดี ส่วนที่สมบูรณ์เต็มๆเรื่องนั้น ก็คงต้องยกให้บุโรพุทโธ ที่ประเทศอินโดนีเซียครับ ขอยกเฉพาะบางภาพมาเล่ากันไว้นะครับ เริ่มต้นเรื่องเลยครับ พระเจ้านันทราช แห่งเมืองมหาปัญจาล ส่งพราหมณ์เฒ่าไปประกอบพิธี ในภาพนี้ เป็นฉากพราหมณ์เฒ่ากระทำมนตร์ให้พญานาคชมพูจิตร้อนรนอยู่ไม่ได้ จนต้องขึ้นมาจากน้ำครับ ![]() ภาพด้านล่างนี้คือการคล้องนางกินรีมโนราห์ ซึ่งจริงๆพญานาคก็ไม่อยากให้ยืมบ่วงบาศ แต่เนื่องจากทราบด้วยญาณว่าพระสุธนและนางกินรีเคยมีบุพเพสันนิวาสต่อกัน จึงให้ยืมได้ พรานบุญจึงไปแอบเฝ้าอยู่ริมสระที่นางมโนราห์และพี่สาวทั้งหกจะลงเล่นน้ำ พอได้โอกาสก็คล้องได้นาง รีบเอากลับไปเมืองปัญจาล ![]() เมื่อพรานบุญคล้องได้นางมโนราห์ จากการช่วยเหลือของพญานาคชมพูจิตแล้ว ก็เอานางไปถวายพระสุธน ได้รับความโปรดปรานมาก จนกระมั่งพราหมณ์ปุโรหิตอิจฉา เพราะต้องการถวายลูกสาวของตนเป็นพระชายาแทน เมื่อพระสุธนออกไปรบ พระราชบิดาของพระองค์ทรงพระสุบินร้าย จึงตามพราหมณ์มาแก้ความฝัน พราหมณ์จึงออกอุบายลวงให้เชื่อว่าพระสุธนกำลังพ่ายแพ้ศึก ทางแก้ก็คือต้องให้บูชายัญสัตว์สี่ขาสองขา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนางมโนราห์ด้วย ![]() เรื่องต่อไปนี้เป็นตอนมโนราห์บูชายัญครับ ท้าวอาทิตยวงศ์ให้ก่อกองไฟเพื่อจะบูชายัญสิงสาราสัตว์ นางมโนราห์แสร้งทำเป็นยินยอม แต่ขอร้องว่าก่อนตายจะขอรำบวงสรวงเสียก่อน ขอยืมปีกและหางเพื่อที่จะร่ายรำเป็นครั้งสุดท้าย พอได้ที นางก็บินหนีไป (ในอินโดนีเซีย มโนราห์เป็นนางฟ้า ไม่ใช่กินรี จึงไม่มีปีกครับ) ![]() |
ปลาทองสยองเมือง
![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
Friends Blog
Link |