จำลองพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์

      พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นเป็นหนึ่งในพระที่นั่ง 3 องค์ที่สำคัญที่สุดในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา โดยมีนามคล้องจองกันอย่างไพเราะว่า พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท และพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ โดยพระที่นั่งองค์นี้ สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (และต่อมาก็ใช้ตั้งพระบรมศพของพระองค์ด้วย) องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนฐานสูง ใช้โครงสร้างผนังก่ออิฐถือปูน แทรกด้วยศิลาแลงเพื่อรับน้ำหนักตามเทคนิคแบบตะวันตก เป็นทำนองพระที่นั่งสูงสำหรับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำในแม่น้ำลพบุรีหรือคลองเมืองทางด้านทิศเหนือของพระราชวังหลวง แต่เดิมเชื่อกันว่าพระที่นั่งองค์นี้คงจะมีลักษณะเป็นจตุรมุขทำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากในพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ได้กล่าวว่าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนั้น สร้างโดยมีขนาดสูงใหญ่เท่าพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เข้าใจว่าคงจะหมายถึงความสูง อย่างไรก็ตามจากการขุดค้นเมื่อไม่นานมานี้พบว่าแผนผังของพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์นั้นเป็นผังจตุรมุขที่มีแขนยาวไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับผังของพระที่นั่งวิหารสมเด็จ และพระสรรเพชญปราสาท ดังนั้นการที่เชื่อกันว่า พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในสมัยรัตนโกสินทร์ก็คงจะเป็นข้อมูลที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในที่สุด
.

.

ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดได้กล่าวถึงพระที่นั่งองค์นี้ว่า

“พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มหาปราสาท ยอดมณฑป 5 ยอดนั้นอยู่ในกำแพงพระราชสถานชั้นต้นทิศเหนือริมน้ำ มีมุขโถงออกไปข้างทิศเหนือ เป็นพระที่นั่งเย็นองค์หนึ่ง มีบุษบกแว่นฟ้าตั้งในมุขโถง ริมชานชาลาพระมหาปราสาทสุริยาศน์อมรินทร์นั้นมีพระตำหนักใหญ่ 5 ห้อง ฝากระดานหลังเจียด พื้นฝาทาแดงเขียนลายทองทรงข้าวบิณฑ์ เทพพนมพรหมพักตร์ เป็นพระตำหนักฝ่ายในหลังหนึ่ง แล้วมีพระตำหนักใหญ่ 5 ห้องทาฝาแดงเปล่า เรียงต่อกันมาเป็นพระตำหนักสำหรับประทมเพลิงอยู่ริมประตูต้นส้มโอหลังหนึ่งอยู่ฝ่ายใน และฝ่ายทิศใต้พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มหาปราสาทนั้น มีพระตำหนักตึกหลังน้อย ไว้พระรูปสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า กับเครื่องพระแสงต้นด้วย ฝาปิดทองหลังคามีช่อฟ้าหางหงส์ มีเกยอยู่หน้ามุขพระตำหนักนั้น”




 



Create Date : 26 มิถุนายน 2562
Last Update : 26 มิถุนายน 2562 21:07:04 น.
Counter : 4148 Pageviews.

1 comment
จำลองพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์

เมื่อหลายปีก่อนผมได้ลองทำภาพจำลองพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ซึ่งเป็นพระที่นั่งกลางสระแก้วในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ด้วยโปรแกรม sketchup แต่ปัจจุบันเหลือเพียงรากฐานก่ออิฐในผังจตุรมุขเท่านั้น อย่างไรก็ตามค่อนข้างโชคดีที่มีคำพรรณนาเกี่ยวกับรายละเอียดของพระที่นั่งองค์นี้ในเอกสารหลักฐานที่ชื่อว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นคำให้การของชาวกรุงศรีอยุธยาที่ตกไปเป็นเชลยในเมืองพม่า แล้วต่อมาก็ได้แปลกลับมาเป็นภาษาสยามอีกทีหนึ่ง ในคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นกล่าวถึงพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ว่า
 

“อนึ่งพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์มหาปราสาทนั้น เป็นยอดมณฑปยอดเดียวมีมุขโถงยาวออกมาจากมุขใหญ่ทั้ง 4 ด้าน มุขโถงทั้ง 4 ทิศนั้นมีพระแท่นแว่นฟ้าบุษบกตั้งในมุขโถงทั้ง 4 มีเกย หน้ามุขโถงมีบันไดนาคราช 2 ข้าง เกยทั้ง 4 เกยมีกำแพงแก้วล้อมรอบชาลาพระมหาปราสาท แล้วมีสระล้อมรอบกำแพงแก้วชาลาพระมหาปราสาททั้ง 4 ด้าน กว้างด้านละ 6 วา ในสระระหว่างมุขโถงมุขพระมหาปราสาทด้านเหนือนั้น มีพระตำหนักปลูกปักเสาลงในสระด้านเหนือหลังหนึ่ง ห้าห้องฝากระดานเขียนลายรดน้ำทองคำเปลวพื้นทารัก มีช่อฟ้าหางหงส์มุขซ้อน 2 ชั้น มีพระบัญชรลูกกรงเหล็ก ระเบียงชานเฉลียงรอบนั้นมีลูกมะหวดกลึง ล้อมรอบมีสะพานลูกกรงข้ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระตำหนัก พระตำหนักนี้เป็นที่มีเทศนาพระมหาชาติคำหลวงทุกปีมิได้ขาด ในสระระหว่างมุขโถงด้านใต้นั้น ปลูกพระที่นั่งปรายข้าวตอกหลัง 1 เสาลงในสระ หลังคามีช่อฟ้าหางหงส์มุขซ้อน 2 ชั้น ฝาไม่มีมีแต่ลูกกรงมะหวดรอบพระเฉลียง เสาลายลงรักเขียนทองคำเปลวลายทรงเข้าบิณฑ์ มีภาพพรหมสรกริบวินต้นเสาปลายเสา มีสะพานลูกกรงข้ามมาจากพระมหาปราสาทถึงพระที่นั่งปรายข้าวตอกพระที่นั่งปรายข้าวตอกนี้ สำหรับเสด็จลงประทับโปรยข้าวตอกพระราชทานปลาหน้าคน และปลากระโห้ ปลาตะเพียนทอง และปลาต่างๆในท้องสระ ในระหว่างมุมมุขโถงด้านตะวันออกนั้นปลูกเป็นพระที่นั่งทอดพระเนตรดาว เสาลงในท้องสระ ไม่มีหลังคามีแต่พื้นและลูกกรงมะหวดรอบ มีสะพานข้ามสระออกมาจากมุมมุกพระมหาปราสาทถึงพระที่นั่งทรงดาว”
.
.

อาจจะกล่าวได้โดยสรุปว่าพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์นี้ตั้งอยู่กลางสระ ที่มีประตูน้ำสำหรับไขน้ําเข้าออกเพื่อรักษาความสะอาดในสระแก้วต่อเนื่องกับคลองฉะไกรใหญ่หรือคลองท่อ ซึ่งเป็นของเมืองทางทิศตะวันตกติดกับพระราชวังหลวง ที่รอบสระน้ำแห่งนี้ทั้ง 4 ทิศมีพระที่นั่งอยู่ 4 องค์คือ

1.พระที่นั่งปรายข้าวตอก สำหรับโปรยข้าวตอกพระราชทานปลาในสระแก้ว

2. พระที่นั่งชมดาว สำหรับทอดพระเนตรจันทรุปราคาและสุริยุปราคา

3.พระที่นั่งทรงธรรม สำหรับเทศนาพระมหาชาติคําหลวงเป็นประจำทุกปี

4. พระที่นั่งทรงปืนซึ่งเป็นตึกใหญ่เป็นท้องพระโรงอยู่ทางท้ายสระ



 



Create Date : 26 มิถุนายน 2562
Last Update : 26 มิถุนายน 2562 20:49:23 น.
Counter : 1977 Pageviews.

0 comment
จำลองพระที่นั่งจอมทอง




พระที่นั่งจอมทองนั้น เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่อยู่ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่หน้าวิหารพระโลกนาถทางฝั่งเหนือของพระวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมเห็นได้ชัดว่าน่าจะสร้างหรือปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะลักษณะของช่องหน้าต่างรูปกลีบบัวอิทธิพลเปอร์เซีย และการยกมุขออกมาหลายชั้นคล้ายกับวัดเพลงร้างในจังหวัดนนทบุรี ด้านหน้าของวิหารนี้เป็นมุขเด็จ ขณะที่ด้านหลังมีการก่อมุขกะเปาะออกมาสามมุข ปัจจุบันไม่ทราบแน่ชัดว่าเคยประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด แต่ยังเหลือซากของพระพุทธรูปนาคปรกอยู่องค์หนึ่ง


พระที่นั่งองค์นี้เคยปรากฏนามในคำให้การชาวกรุงเก่าว่าเป็นที่บอกหนังสือพระสงฆ์ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์พระองค์นี้เคยทรงพระผนวชเป็น พระภิกษุมาก่อนครองราชทรงดำรงตำแหน่งพระพิมลธรรมอนันตปรีชา เชื่อได้ว่าพระองค์คงจะมีความรู้ความสามารถในทางศาสนามากจนถึงกับสามารถสอนหนังสือให้กับบรรดาพระสงฆ์ได้


ผมได้ลองทำภาพ reconstruction ของอาคารหลังนี้ขึ้นมาใหม่จากซากของอาคารเดิมที่ไม่มีหลังคาแต่มีตัวกำแพงผนังอยู่ค่อนข้างครบถ้วน ดังนั้นจึงสามารถสันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมของอาคารได้ เพราะลองทำออกมาแล้วก็ดูคล้ายกับอาคารในกลุ่มวัดบ้านดาบ และวัดโบสถ์โก่งธนูที่ลพบุรี รวมทั้งวัดชุ้งที่สระบุรี ซึ่งมีหลังคาปีกนกยื่นออกมาไม่มากนัก ตัวผนังสอบเข้าเล็กน้อย เป็นรูปแบบอาคารที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย





ด้านหน้าของพระที่นั่งครับ




ลองจัดไฟตอนกลางคืนบ้าง





Create Date : 29 มกราคม 2562
Last Update : 29 มกราคม 2562 18:44:21 น.
Counter : 2129 Pageviews.

0 comment
วัดนอตเตรอดาม เดอ ลอเรตโต ลพบุรี



วัดนอตเตรอดาม เดอ ลอเรตโต ลพบุรี

เราต่างก็รู้ดีว่าคอนสแตนตินฟอลคอนได้รับพระราชบัญชาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างบ้านหลวงรับราชทูตที่ริมวัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรี ซึ่งได้รับการออกแบบและตกแต่งอย่างหรูหราอลังการที่สุดเท่าที่วิศวกรรมของชาวสยามจะเลือกอำนวยได้ ดังนั้นสิ่งก่อสร้างในบ้านหลังนี้จึงมีลักษณะแบบศิลปะบาโรก ซึ่งกำลังเฟื่องฟูอยู่ในฝรั่งเศส แต่ใช้ช่างชาวสยาม เราจึงเห็นรูปแบบของหน้าจั่ว สามเหลี่ยมแบบเรอเนสซองซ์อยู่ในทุกที่ อย่างไรก็ตามมีสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งภายในบ้านหลวงรับราชทูตที่สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปะสยามโดยแท้   นั่นก็คือโบสถ์น้อย chapel ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของบรรดาบาทหลวงและราชทูต ที่รู้จักกันในชื่อวัดแม่พระแห่งลอเรตโต หรือนอตเตรอดาม แห่งลอแรตต์ (Notre-Dame de Luarette)"



โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นตามแบบศิลปะไทยแต่ใช้แผนผังแบบกากบาทคล้ายกับไม้กางเขน ทำให้เป็นอาคารทรงจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนและเจาะช่องหน้าต่างบางช่องซึ่งทำให้คิดว่าแต่เดิมอาจจะมีการประดับกระจกสีก็เป็นได้


จากบันทึกการเดินทางครั้งที่ 2 พ. ศ. 2230 ของบาทหลวงตาชาร์ด ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาพำนักในประเทศสยามในระยะเวลานั้นได้กล่าวถึงโบสถ์แห่งนี้ว่า


"ฟอลคอลได้สร้างขึ้นอุทิศถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า โรงสวดหลังนี้ซึ่งอยู่ที่เมืองละโว้กำลังสร้างใกล้จะเสร็จอยู่แล้ว ครั้งเมื่อท่านเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์มานั้น ก็ได้ใช้สถานที่นี้แลเป็นที่กล่าว มิสซาตลอดเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่นั่น แต่ครั้งนั้นยังไม่ทันได้ตกแต่งประดับประดาอะไรเลย...ไม่มีโรงสวดในบ้านของเอกชนที่จะหรูหราและกว้างขวางเท่าหลังนี้เลย 



โรงสวดหลังนี้ไม่มีความสม่ำเสมอและได้ส่วนสัดตามรสนิยมของผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรม เพราะว่า ม.ก็องสตังซ์ไม่มีสถาปนิกจึงให้สร้างไปตามความเห็นดีเห็นงามของตนเอง แต่ก็ยากที่จะตำหนิเขาได้เหมือนกัน หินอ่อนอันมีค่าซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันและมีราคาแพงมากในชมพูทวีป ถูกนำมาใช้อย่างไม่อั้น" 



"ไม่ว่าจะทอดสายตาไปทางไหน ตั้งแต่หลังคาโรงสวดลงมาถึงพื้นชั้นล่างก็เห็นแต่ทองคำและการทาสีไว้ทั้งสิ้นภาพวาดอันแสดงต่อเนื่องกันโดยลำดับถึงรหัสต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ทั้งฉบับเก่าและฉบับใหม่ไม่สู้จะงามนัก แต่ก็ให้สีสันได้ดีถึงขนาดและจิตรกรซึ่งมีสัญชาติเป็นชาวญี่ปุ่นได้แสดงประจักษ์ไว้ว่า วิจิตรศิลป์นั้นได้รับการยกย่องและการศึกษากันมาแล้วเป็นอย่างดีในชมพูทวีป เท่าๆ กับในทวีปยุโรปเหมือนกันและจิตรกรชาวอินเดียกับชาวจีนนั้นมีฝีไม้ลายมือมิได้เป็นรองไปกว่าจิตรกรชาวยุโรปชั้นครูเลยสักนิด 


ตู้ศีลซึ่งกำลังทำอยู่ขณะนี้ เมื่อเสร็จแล้วจะมีขนาดใหญ่มากและเป็นเงินทึบทั้งหลัง ไม่มีแผ่นลูกไม้ถักบนเครื่องประดับแต่ผ้าที่ใช้คลุมนั้นสวยงามอย่างยิ่งและบางเบามาก หลังคาโรงสวดหลังนี้ทำซ้อนเป็นสามชั้นเหมือนหลังคาพระอุโบสถ มุงด้วยแผ่นตะกั่วถ้ำ อันเป็นโลหะชนิดหนึ่งเนื้อค่อนข้างขาว มีส่วนผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว แต่มีความเบากว่าโลหะทั้งสองอย่างนี้มาก และมีลูกกรงระเบียงสูงขนาดยืนเท้าแขนได้ล้อมโดยรอย และคั่นเรือนสองหลังที่ ม.ก็องสตังซ์ให้สร้างขึ้นที่เมืองละโว้  เพราะคนสยามถือเคล็ดในเรื่องนี้และอ้างว่าต้องปันเขตพัทธสีมา อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยแยกออกห่างจากบ้านเรือนที่ผู้คนอยู่อาศัยตรงหน้าประตูซึ่งออกไปสู่ถนน มีลานขนาดใหญ่พอใช้ทำเป็นรูปอัฒจันทร์ต้องขึ้นบันไดไปสิบสองหรือสิบห้าขั้น ตรงกลางนั้นมีมหากางเขนอันใหญ่ทำด้วยศิลา ซึ่งคงจะปิดทองในโอกาศต่อไป ตั้งอยู่บนฐานแท่นอันกว้าง ซึ่งการประดับลวดลายและโครงสร้างนั้นแตกต่างกับสถาปัตยกรรมของเรามาก 

.

.

โดยรอบลานนี้สิ่งปลูกสร้างคล้ายเฉลียงทางเดินซึ่งมีหลังคาคลุมสูงประมาณสามฟุต มีช่องกุฏิเล็กในผนังเรียงรายไปเป็นระยะๆ เพื่อตงตะเกียงโคม ซึ่งเขาจุดทิ้งไว้ตั้งแต่ต้นๆ พิธีถวายบูชาในวันมหาสมโภชไปกระทั่งถึงวันรุ่งขึ้น...นามว่านอเตรอะ-ดาม เดอ ลอแรตต์ (Notre-Dame de Luarette)"


โบสถ์แห่งนี้ได้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาของบรรดาบาทหลวงคณะเยซูอิตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์อยู่เป็นระยะๆ คอนสแตนตินฟอลคอนและภรรยาเองก็ใช้โบสถ์แห่งนี้ประกอบพิธีมิสซาด้วย เช่นพิธีมิสซาใหญ่ตอนเที่ยงคืนในวันพระคริสตสมภพ ของปีพ.ศ 2230  แต่หลังจากที่พระยาวิชาเยนทร์อำนาจลงและพระเพทราชาก่อการปฏิวัติขับไล่บรรดาชาวฝรั่งเศสออกจากกรุงสยามไปแล้ว โบสถ์แห่งนี้ก็คงถูกทิ้งร้างไปตามกาลเวลา


ในสมัยรัตนโกสินทร์มีชาวต่างชาติบางคนที่ทราบเรื่องราวการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของออกญาวิชาเยนทร์ ก็ได้เดินทางขึ้นมายังลพบุรีเพื่อเยี่ยมเยียนโบสถ์หลังนี้ เช่นในกรณีของพระสังฆราชจอห์นบัปติสต์ ปาเลอกัว ท่านได้กล่าวว่าโบสถ์แห่งนี้เคยถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นวัดในศาสนาพุทธและมีการนำพระพุทธรูปไปตั้งไว้บนพระแท่นบูชา แต่ก็ไม่สามารถมีผู้ใดเข้าไปพำนักได้นานนัก เชื่อกันว่าใครก็ตามที่ไปอาศัยอยู่ในโบสถ์แห่งนี้มักจะมีอันเป็นไปหรือป่วยไข้ จนโบสถ์ถูกทิ้งร้างไป


เซอร์จอห์นเบาว์ริงซึ่งเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญากับกรุงสยามในช่วงรัชกาลที่ 4  ก็ได้ขึ้นมาเยี่ยมเยียนโบสถ์แห่งนี้ด้วย เขายังได้เก็บเอาหัวเสาจำหลักของวัดแห่งนี้กลับไปยังอังกฤษทั้งยังบันทึกไว้ว่า


"วังของฟอลคอลยังปรากฏให้เห็นอยู่ที่เมืองลพบุรี เมืองนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.1143 ทั้งยังมีซากของโบสถ์คริสเตียนปรากฏอยู่ โบสถ์นี้ฟอลคอลเป็นผู้จัดตั้งขึ้น และตามคำบอกเล่าที่สืบทอดกันมานั้ร เล่าว่าฟอลคอลถูกประหารในโบสถ์แห่งนี้ ข้าพเจ้าได้นำส่วนยอดของเสาหินในโบสถ์ซึ่งสลักเสลาตกแต่งด้วยทองติดตัวมาด้วยจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของโบสถ์คริสเตียนแห่งแรกที่สร้างขึ้นบนแผ่นดินสยาม...

.

.

คำจารึกคำจารึก "พระเยซู พระผู้ไถ่บาป" (Jesus Hominum Salvator) ยังคงปรากฏอยู่เหนือซุ้ม-ที่อยู่เหนือแท่นบูชาซึ่งขณะนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป"



เนื่องจากโบสถ์แห่งนี้อยู่ในสภาพดี เมื่อเทียบกับโบราณสถานอื่นๆในกรุงศรีอยุธยา เพราะสภาพชำรุดทรุดโทรมส่วนมากเกิดจากการทิ้งร้างและการโจรกรรม โครงสร้างหลักของอาคารและผนังจึงยังอยู่ครบถ้วน ยกเว้นแต่หลังคาเท่านั้นที่หักพังไป จึงง่ายต่อการสันนิษฐานรูปแบบสมบูรณ์ ผมจึงลองใช้โปรแกรม sketchup และ vray  Render ดูว่าพอจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร หลังคานั้นก็ยึดเอาตามแบบที่บาทหลวงตาชาร์ดกล่าวไว้ว่ามุงด้วยดีบุก ก็คงจะมีสีเงินออกดำคล้ายกับหลังคาของพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นตัวอย่างอาคารในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่กี่หลังที่ยังใช้ดีบุกมุงหลังคา อีกหลังนึงก็คือพระที่นั่งไชยชุมพลซึ่งเป็นพระที่นั่งขนาดเล็กบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง




ได้ลองทำแบบสันนิษฐานข้างในไว้ด้วยครับ ตาชาร์ดบอกว่าหรูหรามาก พระแท่นบุด้วยเงินตามสไตล์บารอค ซึ่งยังหลงเหลือมากในแถบฟิลิปปินส์ บ้านเราน่าจะเป็นตัวอย่างเดียวที่เคยมี





Create Date : 11 ตุลาคม 2561
Last Update : 12 ตุลาคม 2561 9:34:35 น.
Counter : 1590 Pageviews.

0 comment
จำลองตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
 จำลองตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ ที่วัดพุทไธสวรรย์ครับ ผมคิดว่าตำหนักหลังนี้ น่าจะเป็นศาลาการเปรียญมากกว่า เพราะมีการต่อชานออกมา จึงจำลองชานไว้ด้วยครับ ปัจจุบัน เหลือแต่ซากโครงไม้เสียแล้ว





Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 22:29:47 น.
Counter : 10300 Pageviews.

0 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments