วัดละมุด สมุทรสงคราม กับภูมิปัญญาการวางผังวัด





วัดละมุด นี้เป็นวัดเก่าแก่โบราณโบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควอ้อม ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา สมุทรสงคราม ตัวแควอ้อมก็เป็นแม่น้ำแม่กลองสายเก่านั่นเอง ดังนั้นจึงมีวัดโบราณกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด ไล่มาตั้งแต่เมืองราชบุรียันอัมพวา ถ้าเดินตามแม่น้ำสายนี้ก็จะเห็นวัดเก่ามากมายเช่นวัดเหมืองใหม่ วัดบางเกาะเทพศักดิ์ วัดบางสะแก วัดเสด็จ และวัดละมุดนี่เอง

 แต่ถ้าดูจากตัวเสมาแล้ว ดูเหมือนว่าวัดละมุดจะเก่าแก่กว่าเพื่อน เพราะเป็นเสมาหินทรายแดงขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าสกุลช่างอัมพวาทั่วไปยังไม่มีกระจังที่เอว
.
.
วัดนี้เป็นวัดเล็ก ๆ ที่ท่านเจ้าอาวาส คือหลวงพ่อเทพใจดีมีเมตตา ทั้งวัดมีพระอยู่แค่สองรูปเท่านั้นเอง ท่านว่าแถวนี้มีวัดเยอะเกินไป จนชาวบ้านก็แบ่งกระจายกันไปขึ้นตามวัดใหญ่ ๆ กันหมด ท่านเพิ่งมาอยู่วัดนี้ได้ปีเดียว และดูเหมือนจะมีงานโยธาให้ท่านทำไปอีกนาน
.
.

 

บริเวณวัดนอกจากเสมาเก่าและโบสถ์หลังน้อยแล้ว ก็มีเพียงศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ สภาพค่อนข้างทรุดโทรม สมภารท่านว่ามันเป็นศาลาพิสดารนอกรีต เพราะไปเอาศาลาตั้งไว้ติดกับเตาเผาศพ เขาไม่ทำกัน แล้วท่านก็กรุณาสอนวิธีวางผังวัดว่าวางอย่างไรจึงจะเป็นมงคลตามทิศต่างๆ

 

วิธีวางผังแบบคร่าว ๆ ที่ท่านสอนก็ง่ายมาก คือเอาพระอุโบสถและพระประธาน เป็นหลัก


หน้าโบสถ์ห้ามตั้งอะไรเด็ดขาด ท่านเรียกว่าทิศปราชิก ถ้ากุฏิสมภารไปอยู่ตรงนั้น มีการสึกแน่นอน
.
.
หลังโบสถ์ก็ห้ามเอาอะไรไปสร้างเด็ดขาด ท่านเรียกทิศอะไรจำไม่ได้แล้ว แต่ท่านว่าทางเหนือเขาเอาเจดีย์ไปตั้งไว้ เรียกว่าเอาพุทธคุณไปค้ำ หรือมิฉะนั้นก็กันไม่ให้ใครอุตริไปสร้างกุฏิอยู่หลังโบสถ์
.
.
ส่วนทิศทั้ง 4 นั้นวางตามแนวทแยง จะสร้างกุฏิเจ้าอาวาสตรงไหนก็ดีทั้งหมด มีทิศลาภ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ทิศอุตตมะ (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ทิตสมถะ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ส่วนอีกทิศนึงจำไม่ได้เรียกว่าทิศอะไร 
.

 

ท่านว่ากุฏิสมภารของทางแม่กลองกับทางเมืองเพชรนั้นวางต่างกัน กุฏิของทางแม่กลองนั้น มักจะวางในทิศอุตตมะ ดังนั้นเมืองแม่กลองจึงมีพระเก่งๆทางด้านพุทธคุณหลายรูป เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่มีเกจิอาจารย์มากเป็นอันดับต้นๆในประเทศไทยที่เดียว
.

 

ส่วนทางเมืองเพชรนั้นเขานิยมวางกุฏิทางด้านลาภะ 

ส่วนที่ตั้งเมรุของวัดแห่งนี้ ท่านว่าดันไปตั้งอยู่เลยหน้าโบสถ์ขึ้นไป ซึ่งถือกันว่าผิดธรรมเนียมเพราะว่าโบสถ์ควรจะอยู่หน้าสุด เขาเรียกว่าผีมันแรง ดังนั้นโครงการหลักของท่านในการปรับปรุงวัดแห่งนี้ก็คือย้ายเมนออกไปตั้งอยู่ในทิศสมถะ ซึ่งเป็นทิศสำหรับสุสาน ป่าช้าและเมรุโดยเฉพาะ
.
.
ท่านสมภารยังกรุณาสอนอีกว่าการมาเป็นสมภารนั้น ถ้าจะอยู่ให้ยืดไม่ควรดูดวงสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม เพราะของพวกนี้จะเข้าตัวคนทำเสียเอง ฉิบหายวายป่วงกันมาเยอะแล้ว 
.
.
และมีสิ่งก่อสร้างหลัก ๆ ในวัดที่ไม่ควรจะไปยุ่งกับเขาเลยก็คือ เจดีย์ ต้นไม้ใหญ่ และบ่อน้ำ ของพวกนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีเจ้าของเขาหวงห้ามรักษาอยู่ สมภารที่ไปแตะต้องมักจะมีอันเป็นไป ท่านว่าวัดท่านก็มีตะเคียนอยู่ต้นนึง ว่าง ๆ ท่านก็ไปคุยด้วย มีคนมาขอหวยเหมือนกันแต่ว่าไม่ได้ครึกครื้นนัก

 

.
.
ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจดีสำหรับการวางผังวัดในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า วัดบ้านนอกเขาไม่สนใจเรื่องแผนภูมิจักรวาลเท่าไหร่นัก แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์เสียมากกว่า ถ้ามีตำราเล่มไหนเขียนออกมาอย่างชัดเจนน่าจะสนุกในการวิเคราะห์ผังวัดของต่างจังหวัด 
.
.
ลืมเล่าเรื่องธรรมาสน์ไปเสียเลย เอาเป็นว่าเป็นธรรมาสน์ฝีมือช่างพื้นบ้านอายุไม่เกินรัชกาลที่ 7 ครับ สลักลายสิงห์บ้าง กวางบ้าง ทรงงามดีพอสมควรครับ

 








Create Date : 16 ตุลาคม 2561
Last Update : 16 ตุลาคม 2561 13:54:26 น.
Counter : 3046 Pageviews.

1 comment
ธรรมาสน์วัดชลอ ที่รอการซ่อมมานานแสนนาน


วัดชลอ เป็นวัดโบราณ เขียนว่า ชลอ ผิดกับคำว่า ชะลอ ในสมัยปัจจุบัน (บ้านผมอยู่ใกล้วัดนี้ ทำให้เขียนคำนี้ผิดมาตลอด) ตอนเด็กๆก็ต้องพึ่งพาอาศัยวัดนี้เป็นที่ลงเรือไปเรียนเอย ไปทำงานเอย เพราะวัดนี้อยู่ตรงทางแยก ระหว่างคลองบางกรวย กับคลองอ้อมนนท์ พูดง่ายๆ คือ มีแม่น้ำกระเพาะหมู 2 คด คดแรกคือบางกอกน้อย คดสองคืออ้อมนนท์ สมัยพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ขุดคลองเชื่อม 2 กระเพาะหมูเข้าด้วยกัน กลายเป็นคลองบางกรวย

วัดชลอก็อยู่ตรงแยกนี้พอดี เลยมีข้อสันนิษฐานกันว่า ชื่อของวัดมาจาก ช้า และ รอ คือหยุดรอดูว่า 3 แยกนั้นจะมีเรือมาจากทิศไหนบ้าง เดี๋ยวจะชนกันตูมตามตกน้ำตาย ตรงปากคลองนอกจากวัดแล้ว ก็ยังมีศาลเจ้าจีน (ทรงไทย) ทำด้วยไม้เหลืออีกหลังหนึ่ง เป็นศาลเล็กๆ เท่านั้นเอง โบราณเขาเล่ากันว่าเป็นเจ้าพ่อไชยสิทธิ เจ้าแม่ไชยศร มีบริวารเป็นตะเข้ใหญ่ขุดวังอยู่ตรงคุ้งน้ำหน้าวัด ใครอยากเห็นก็ไปขอเจ้าพ่อดู ปัจจุบันคงไม่มีอะไรเหลือ เพราะลงเขื่อนล้ำคลองกันจนแม่น้ำเก่าเหลือนิดนึง

ปากคลองบางกรวยแต่ก่อนก็เจริญ มีตึกแถวร้านค้า มีธนาคารออมสินด้วย ตลาดแต่เดิมอยู่ริมน้ำ ตอนผมเด็ก ๆ ก็ได้มาฝากเงินแบงค์นี้เป็นครั้งแรก แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างเป็นอดีต น้ำท่วมหลายรอบทำให้ตลาดย้ายมาอยู่บนบก ธนาคารออมสินก็ย้ายไปที่อื่น เหลือแต่ตึกเก่าๆร้างๆเท่านั้นเอง

ตัววัดนั้น แม้จะติดคลอง แต่ก็หันหน้าเข้าแผ่นดิน คือถือทิศตะวันออก - ตะวันตก เคร่งครัดมาก ดังนั้น ใครมาขึ้นเรือที่ท่า จะต้องเดินอ้อมโบสถ์ไปเข้าประตูอีกทิศหนึ่ง สมัยผมเด็กๆ โบสถ์นี้โทรมมาก เกือบจะปิดตาย ข้างในมีพระโลหะขนาดยักษ์เต็มไปหมด ล้วนแล้วแต่เป็นสกุลช่างเสาชิงช้า ไม่เก่าแก่อะไร บดบังพระประธานเดิมสมัยอยุธยา ปัจจุบันพระเหล่านี้กรมศิลป์จัดแจงย้ายออกมาตั้งหน้าวัดหมดแล้ว

กลับมาเรื่องธรรมาสน์ละกันนะครับ

ผมก็อาศัยวัดชลอขึ้นลงเรือหางยาวมาหลายสิบปี แต่ไม่เคยรู้เลยว่าวัดนี้มีธรรมาสน์เก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี

ธรรมาสน์วัดชลออาจจะประสบเคราะห์กรรมเลวร้ายหน่อย คนที่มาเที่ยววัดดนี้ คงจะเคยเห็นโบสถ์รูปเรือสุพรรณหงษ์ขนาดยักษ์ ที่สร้างมา 30 กว่าปีแล้วก็ไม่เสร็จสักที เพราะฉันนัั้น ธรรมาสน์จึงซวยไปด้วย ไม่มีใครเหลียวแล สักสองสามปีก่อน กรมศิลป์มาบูรณะโบสถ์เก่าจนงดงามไปแล้ว แต่คิดว่าคงไม่มีใครเห็นธรรมาสน์นี้ เพราะมันซุกอยู่ก้นศาลา มีโต๊ะหมู่บังไปหมด

ถ้าให้ผมกำหนดอายุ ผมว่าน่าจะเป็นอยุธยาตอนปลาย สุดๆ ครับ หรืออาจจะเลทลงมาถึงต้นกรุง แต่ฝีมือมันบ้านๆ เลยกำหนดอายุยาก แต่ถึงจะบ้าน เขาก็ลูกเล่นแปลกตา เช่น แถวกระจังรวนที่กลายรูปมาจากขาสิงห์ลอย ยังรักษาโครงของขาสิงห์เอาไว้ น่าจะมีแค่องค์เดียวในไทยที่มีลูกเล่นเช่นนี้

หรือการใส่ลายนกคาบลงไปในพนัก ดูแปลกตาน่าเอ็นดู ไม่เคยเห็นที่ไหน

หรือการใส่ครุฑแบก ที่พบน้อย เพราะหายกันไปหมดแล้ว เหลืออยู่ครึ่งตัวเท่านั้นเอง กระจกเกรียบสีเขียวปีกแมลงทับก็ยังวูบวาบเหมือนเดิม รีบมาชมกันนะครับ เดี๋ยวจะผุพังไปหมดเสียก่อน




(ภาพชิ้นส่วนที่ถอดแยกออกของธรรมาสน์วัดชลอ)






Create Date : 03 กันยายน 2560
Last Update : 3 กันยายน 2560 19:52:00 น.
Counter : 2117 Pageviews.

0 comment
ลิสต์รายชื่อธรรมาสน์สมัยอยุธยา



ผมลองลิสต์รายชื่อธรรมาสน์สมัยอยุธยา ที่ยังหลงเหลืออยู่ครับตั้งแต่อยุธยาตอนกลางจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวรัชกาลที่ 1 ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานตกค้างจากช่างกรุงศรีเช่นกัน

 ในสมัยอยุธยาตอนกลางนั้นผมตัดแบ่งโดยใช้รูปแบบของ “กระทง” รองรับที่นั่ง ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย จะใช้ “กระจัง”ทั้งนี้ ธรรมาสน์เกือบทุกหลังไม่มีประวัติการสร้างเลย ยกเว้นธรรมาสน์วัดมณีชลขันธ์เพียงหลังเดียวที่มีจารึกว่าสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ดังนั้น เราจึงใช้รูปแบบทางศิลปกรรมโดยใช้วิวัฒนาการลวดลายไทยและสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเราไม่อาจกำหนดอายุได้อย่างชัดเจน เพราะลวดลายบางลายอาจตกค้างอยู่ในสกุลช่างต่าง ๆ เช่น สกุลเพชรบุรี สกุลอุตรดิตถ์ ซึ่งมีลายแบบอยุธยาตอนปลายแต่ยังตกค้างมาถึงสมัยกรุงเทพเพราะช่างไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงรูปแบบหวือหวาเหมือนในราชธานี ดังนั้นถ้าหากจะพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ควรกล่าวว่า ธรรมาสน์หลังนี้มีรูปแบบร่วมกับศิลปะอยุธยา มากกว่า "เป็นธรรมาสน์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา" เพราะบางครั้ง ช่างก็ไม่ได้ตายตามกรุงไปด้วย ยังคงสืบทอดขนบบางขนบลงมาถึงกรุงเทพ จนกว่าจะมีพระราชนิยมหรือความนิยมแบบใหม่ๆเข้ามาเปลี่ยนแปลง เช่น ได้รับอิทธิพลจีน ทำมังกรพันเสา หรือ ใช้ลายแบบฝรั่ง เป็นต้น

อนึ่ง การแบ่งอายุด้วยลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างละเอียดนั้นผมได้อธิบายในบล็อกอื่นๆแล้วครับ ในที่นี้ของเป็นเพียงแค่ลิสต์รายชื่อเท่านั้นเผื่อใครสนใจจะได้ตามไปชมดูได้ ต้องรีบนิดนึง เพราะกำลังจะพังไปหมดหรือไม่ก็เสร็จโจรขโมยของวัดครับ ในที่นี้ยังไม่ได้เขียนถึงธรรมาสน์สมัยกรุงเทพที่มีงามๆหลายองค์กระจัดกระจายตามวัดหลวง ถ้ามีเวลาจะลองเขียนอีกทีครับ ท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถคอมเมนต์ได้ครับ ผมจะได้ตามไปชมบ้าง

ธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนกลางหรือยังเก็บรูปแบบอยุธยาตอนกลางไว้โดยใช้กระทง

1. ธรรมาสน์วัดโคกขามสมุทรสาคร ธรรมาสน์หลังนี้น่าจะเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

2. ธรรมาสน์วัดศาลาปูน(ชั้นบนศาลาการเปรียญ)

3. ธรรมาสน์วัดเสาธงทองลพบุรี (จัดแสดงในวังนารายณ์)

4. ธรรมาสน์วัดนางพญา พิษณุโลก

5. ธรรมาสน์วัดยางพิษณุโลก

6. ธรรมาสน์วัดกำแพงบางปะอิน อยุธยา (ซ่อมหมดแล้ว)

7. ธรรมาสน์วัดครุฑอยุธยา (อาจเก่ารองจากธรรมาสน์วัดโคกขาม)

ธรรมาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย

1. ธรรมาสน์วัดมณีชลขันธ์จัดแสดงในวังนารายณ์ มีจารึกสร้างสมัยพระนารายณ์

2. ธรรมาสน์วัดขนอนอยุธยา เป็นฝาแฝดของธรรมาสน์วัดมณีชลขันธ์

3. ธรรมาสน์วัดสำโรงนนทบุรี

4. บุษบกวังปลายเนินเป็นช่างเดียวกับวัดสำโรง นนทบุรี

5. ธรรมาสน์วัดค้างคาวนนทบุรี เป็นธรรมาสน์กลมองค์เดียวในไทย

6. ธรรมาสน์วัดบางอ้อยช้าง

7. ธรรมาสน์วัดสิงห์ นนทบุรี คล้ายวัดบางอ้อยช้าง

8. ธรรมาสน์วัดมหาธาตุพิษณุโลก (งานช่างหลวงสมัยพระเจ้าบรมโกศ)

9. ธรรมาสน์วัดใหญุ่สุวรรณารามเพชรบุรี

10. ธรรมาสน์วัดในกลาง เพชรบุรี

11. ธรรมาสน์วัดชลอ นนทบุรี

12. ธรรมาสน์วัดนางกุย อยุธยาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

13. ธรรมาสน์วัดราชบูรณะ พิษณุโลกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

14. ธรรมาสน์วัดกุฎีทองอยุธยา

15. ธรรมาสน์วัดธรรมาราม อยุธยา

16. ธรรมาสน์วัดหาดทราย เพชรบุรี (หายไปแล้ว)

17. ธรรมาสน์วัดแก้วไพฑูรย์ บางขุนเทียน (มี 2 องค์)

18. ธรรมาสน์วัดบางยี่ขัน กรุงเทพ

19. ธรรมาสน์วัดขุนจันทร์ กรุงเทพ

20. ธรรมาสน์วัดท่าบางสีทอง (น่าจะเป็นงานซ่อม)

21. ธรรมาสน์วัดโชติการาม นนทบุรี

22. ธรรมาสน์วัดบูรพาราม โคราช

23. ธรรมาสน์วัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี

24. ธรรมาสน์วัดเพชรพลี เพชรบุรี

25. ธรรมาสน์วัดเขาบันไดอิฐ

26. ธรรมาสน์วัดพระนอน เขาวัง (พังไปแล้ว)

27. ธรรมาสน์วัดเชิงท่า อยุธยา

28. ธรรมาสน์วัดมะขาม ปทุมธานี

29. ชิ้นส่วนธรรมาสน์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

30. ธรรมาสน์วัดโพธิ์เผือก อยุธยา

31. ธรรมาสน์วัดโบสถ์ อ.วัดโบสถ์ พิษณุโลก

32. ธรรมาสน์วัดกลางบางแก้ว

33. ธรรมาสน์วัดพระรูป

34. ธรรมาสน์วัดราชธานี สุโขทัย

35. ธรรมาสน์วัดหนองโว้ง สุโขทัย

ธรรมาสน์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1)

1. ธรรมาสน์วัดวรจรรยาวาส กรุงเทพ

2. ธรรมาสน์วัดจุฬามณี อัมพวา

3. ธรรมาสน์วัดปากน้ำภาษีเจริญ (อาจเก่าถึงอยุธยา)


(ล่าง ธรรมาสน์วัดท่าบางสีทอง นนทบุรี)




Create Date : 04 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 28 กรกฎาคม 2560 9:27:15 น.
Counter : 2827 Pageviews.

2 comment
เตียงสวดที่หายไปจากวัฒนธรรมภาคกลาง


ธรรมาสน์ยาว เป็นของที่หายไปจากวัฒนธรรมภาคกลางแล้วครับ ไม่เคยเห็นที่ไหนใช้อีกเลย เพราะมันสูงแล้วพระต้องปีน เดี๋ยวนี้เขาตั้งอาสนะยาว ขึ้นลงสะดวกมีไมโครโฟน แต่ก่อนสมัยโบราณ เวลามีงานศพคนร่ำรวยเขาก็สร้างทีหลังหนึ่งเขาเอาไว้สวดศพโดยเฉพาะ บางทีก็เลยเรียกว่า “สังเค็ด” (แต่สังเค็ดจริงๆจะเป็นอะไรก็ได้คล้ายๆของที่ระลึกในงานศพ เช่น นาฬิกา ตาลปัตร เพราะไปสับสนว่า พอเสร็จงานศพก็ถวายวัดเช่นกัน)ในทางเหนือก็จะเรียกเตียงสวด สำหรับพระนั่งได้ 4 รูป สวดศพได้พอดีเราจะเห็นการใช้เตียงสวดแบบนี้ในงานพระบรมศพ งานพระศพของเจ้านายพระองค์ต่างๆในปัจจุบันแต่ก็ไม่ได้มีการสร้างใหม่ให้สวยงามอีกแล้ว เป็นเพียงเตียงปะรำดาดผ้าขาวเท่านั้นแต่ในอดีตนั้น ธรรมาสน์ยาวจะตกแต่งอย่างอลังการเหมือนปราสาทองค์เล็กๆปิดทองล่องชาดประดับกระจก ทำมุขประเจิดสันหลังคาติดบราลี บางแห่งก็ทำยอดปราสาทเสียด้วย เช่นที่วัดใหญ่พิษณุโลก ส่วนมากเชื่อว่าเป็นของตกค้างมาจากงานพระบรมศพแล้วถวายมาตามวัดหลวง แพร่หลายมากในสมัยอยุธยา และติดค้างมาในสมัยกรุงเทพเล็กน้อยก่อนจะหายไปเลย ยกเว้นในงานหลวงเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างอลังการอีกแล้ว
 (แต่ในล้านนายังคงมีใช้อยู่ แล้วมักสร้างอย่างลำลอง ดังปรากฏที่วัดพระธาตุลำปางหลวงและวัดพระแก้วดอนเต้าหลายหลัง)

รายชื่อธรรมาสน์ยาวในภาคกลาง

1. วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี (สมัยอยุธยาตอนปลาย)

2. วัดบางขุนเทียนนอก(สมัยรัตนโกสินทร์)

3. วัดมะขาม ปทุมธานี(สมัยรัตนโกสินทร์)

4. วัดพระมหาธาตุ พิษณุโลก (สมัยอยุธยาตอนปลาย)

5. วัดเชิงท่า อยุธยา (สมัยอยุธยาตอนปลาย)

6. วัดบางขนุน นนทบุรี (สมัยรัตนโกสินทร์)

7. วัดศาลาปูนอยุธยา (สมัยอยุธยาตอนปลาย)

8. วัดราชาธิวาส(งานกรมนริศฯเลียนแบบวัดมหาธาตุ พิษณุโลก)

9. วัดรวก บางบำหรุ อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (สมัยรัตนโกสินทร์)

10. วัดชนะสงคราม (สมัยรัตนโกสินทร์)

11. วัดหนองโว้ง สวรรคโลก (สมัยรัตนโกสินทร์)

12. วัดราชธานี สุโขทัย (สมัยรัตนโกสินทร์)

13. วัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย (สมัยรัตนโกสินทร์)

14. วัดปฐมบุตรอิศราราม กรุงเทพฯ เข้าใจว่าฝีมือพระยาโบราณราชธานินทร์ท่านสร้างไว้
15. ธรรมาสน์ยาววัดศรีสุดาราม คลองบางกอกน้อย

      เท่าที่เห็นนี้มีประมาณสิบกว่าหลังครับอาจจะมีซุกซ่อนอยู่ตามวัดต่างๆ เช่น วัดสุวรรณดารารามที่อยุธยาเขาก็ว่ามีในศาลาการเปรียญ (ซึ่งไม่เคยเปิดเลย) จึงไม่เคยได้ชมและไม่มีภาพเลยครับ

    1. วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี (ช่างหลวงศิลปะอยุธยา)


2. วัดเชิงท่า อยุธยา (สมัยอยุธยาตอนปลาย)



3. วัดพระมหาธาตุ พิษณุโลก (งานหลวงสมัยอยุธยา 


4. วัดบางขนุน นนทบุรี (ศิลปะรัตนโกสินทร์)

   5. วัดมะขาม ปทุมธานี (สมัยรัตนโกสินทร์)

6. วัดชนะสงคราม (อาจไม่ใช่เตียงสวดสำหรับพระ 4 รูป) (ที่มา : Palawat Pomajcha


   7. วัดราชธานี สุโขทัย (สมัยรัตนโกสินทร์)


   8. วัดหนองโว้ง สวรรคโลก (สมัยรัตนโกสินทร์)

   9. วัดสุวรรณาราม คลองบางกอกน้อย (สมัยรัชกาลที่ 3)

10. วัดราชาธิวาส (ฝีพระหัตถ์สมเด็จครู)

11. วัดรวกบางบำหรุ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร


12. วัดบางขุนเทียนนอก ยังหาภาพไม่ได้ครับ


 ท่านใดมีข้อมูลธรรมาสน์ยาวในภาคกลางเพิ่มเติม ช่วยแจ้งด้วยนะครับ 




Create Date : 31 ตุลาคม 2559
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2561 9:46:04 น.
Counter : 4834 Pageviews.

0 comment
ธรรมาสน์วัดปากน้ำ อัมพวา


ธรรมาสน์วัดปากน้ำ (อมรวิมลจันทร์) อัมพวา จ.สมุทรสงครามนอกจากเสนาสนะใหญ่โตในวัดนี้แล้ว บนศาลาการเปรียญไม้หลังมหึมาของที่นี่ก็มีธรรมาสน์แปลกๆอาจจะไม่เก่ามากนัก (น่าจะประมาณรัชกาลที่ 5 พิจารณาร่วมกับตัวศาลาและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ)แต่ก็มีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ คือเป็นธรรมาสน์ยอดน้ำเต้า แบบชฎายอดน้ำเต้าทั้งหลายพบเห็นลักษณะแบบนี้ไม่มากนัก ดูไม่ค่อยลงตัว เพราะเส้นมันเกินขอบจอมแหออกมาแต่ก็ทำได้ดี ลวดลายแกะสลักสวยงาม ช่างมีความครีเอท แต่คงไม่ผ่านคิวซีจึงมีแค่องค์เดียว ไม่ปรากฏที่อื่น ๆ อีก






Create Date : 31 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 13:05:51 น.
Counter : 843 Pageviews.

0 comment
1  2  3  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments