รอด ตง พรึง เต้า หัวเทียน คอสอง ตามคำอธิบายของเสฐียรโกเศศ
จากหนังสือ "ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน" ของเจ้าคุณอนุมานราชธนครับ

คราวนี้จะพูดถึงไม้รอด รอด คือไม้ที่สอดเข้าไปในรูเสา ซึ่งเจาะไว้จากเสาต้นหนึ่งไปยังเสาอีกต้นหนึ่งทางด้านสกัด สำหรับยึดเสาตอนที่จะวางพื้นเป็นคู่ๆกันไป สอดรอดและเอาเครื่องบนขึ้นคุมกันเสร็จแล้วจึงจะวางตงตามแบนบนหลังรอด (ปูตั้งไม่ได้ เพราะไม่มีตะปูตรึง) แล่นไปตามยาวของห้องและวางพื้นตามขวาง ทับตงได้ต่อไป เสร็จวางพื้นจึงจะเข้าไม้พรึง วางเหนือไม้รอด


พรึง เป็นไม้กระดานวางตั้งปิดหัวตงด้านสกัด และปิดหัวกระดานพื้นด้านข้าง ไม้พรึงจึงเป็นดังกรอบล่างของเรือน และเป็นเครื่องบังคับขนาดของเรือนไปในตัว บางทาบบนอกเสาทุกต้น เพราะฉะนั้นก่อนขุดหลุมจึงวางพรึงตอกหลักหมายหลุมแบ่งห้อง และทั้งบังคับให้ทรงเรือนสอบบน ไม้รอดนั้นจะมีขนาดหนาอยู่ในราว ¼ ของด้านยาวของรูที่เจาะ








เรือนสมัยใหม่มีตะปูใช้แล้ว จึงใช้แผ่นไม้หนาตีตะปูตรึงกับเสายึดกันไว้ ไม่ต้องใช้รอด ไม้ยึดเสาอย่างนี้เรียกว่า อะเส จะแปลว่าอะไร และจะเป็นคำมาจากภาษาใดไม่ทราบ เคยแปลกันอย่างลากเข้าความวว่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า อัดเซ คืออัดไว้ให้แน่นเพื่อกันเซ อะเส นั้นเดี๋ยวนี้เรียกกันว่าคาน นี่ก็ใช้แทนรอดนั่นเอง แต่หากวางทอดไปตามยาวของตัวเรือน ลางแห่งก็ใช้คู่ เจาะรูรอดแล้วจึงเจาะรูเต้าและควั่นหัวเทียนปลายเสา


เต้า คือไม้ที่ยื่นออกจากเสาทางด้านข้างของเรือน ใต้ขื่อลงมาราวศอกหนึ่ง เป็นเครื่องรับเชิงกลอนชายคา เต้าชนิดนี้เรียกว่า เต้าราย เพราะรายไปทุกเสาตลอดจนเสาดั้ง คู่กับ เต้ารุม ซึ่งเป็นคู่เต้าอยู่เฉพาะแต่ที่เสามมุมมารับเชิงกลอนด้านสกัดตัวหนึ่ง กับด้านข้างอีกตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นเสามุมต้นหนึ่งๆ จึงมีเต้าสองตัวทแยงกันคนละด้าน ถ้าที่ตรงนี้มีเสารายรับเต้า ก็ไม่เรียกว่า เต้ารุม แต่เรียกว่า ขื่อรุม ที่ปลายเต้าไม้ติดเชิงกลอนรอบทั้งสี่ด้าน เพราะฉะนั้นที่ปลายเต้าทุกตัวจึงหลั่นเป็นเดือยไว้รับรูไม้เชิงกลอน






หัวเทียน เป็นเดือยหัวเสาสำหรับสวมรูขื่อ ใช้ควั่นหรือหั่นหัวเสาให้รอบแล้วบากข้างทิ้งเสีย ให้เหลือแต่แกนในกลมยาวอย่างมากไม่เกิน 4 นิ้ว ควั่นหรือหั่นหัวเทียนอย่างนี้ ในภาษาช่างเรียกว่า หลั่นหัวเทียน ระยะตั้งแต่หัวเทียนลงมาถึงหลังเต้าเรียกว่า คอสอง



การเจาะสลักรอด จะให้สูงจากพื้นดินเพียงใด ก็แล้วแต่ส่วนสูงของเรือน ตัวเรือนนั้นแบ่งความสูงออกเป็นสองส่วน ส่วนจากหลังรอดขึ้นไปจนถึงหัวเทียน เรียกว่า เดี่ยวบน อีกส่วนหนึ่ง ตั้งแต่หลังรอดไปจนถึงพื้นดิน เรียกว่า เดี่ยวล่าง หรือ เดี่ยวล่องถุน ในตำรากล่าวว่า ถ้าปลูกเรือนวัดแต่ดินขึ้นไปถึงรอดเท่าเดี่ยว ดีนัก






นี่หมายความว่า เรือนมีเดี่ยวบนกับเดี่ยวล่างเท่ากันเป็นดี แต่ช่างเขาว่ารูปทรงเรือนจะไม่งาม เพราะไขราและปีกนก กินเดี่ยวบนหายไปส่วนหนึ่ง ทำให้รูปทรงตัวเรือนดูเตี้ยไป เพราะเหตุนี้ ช่างจึงมักไขเดี่ยวบนให้สูงกว่าเดี่ยวล่างเสียส่วนหนึ่ง คือถ้าเดี่ยวล่างสูง 4 ศอก ดังนี้เป็นต้น รูปทรงเรือนจะดูงาม


ถ้าต้องการพื้นเรือนต่ำ ก็ต้องลดเดี่ยวลงมาตามส่วนให้เข้ากัน มิฉะนั้นเดี่ยวบนสูง เดี่ยวล่างสั้น จะดูรูปเรือนตอนบนสูงตะเหลนเป๋น แต่ล่องถุนเตี้ย เป็นอย่างคนสูงแต่ช่วงขาสั้น ไม่บอกก็รู้ได้ว่าไม่งาม ในตำรากล่าวว่า ถ้าเดี่ยวสูงกว่าพื้นมักแพ้เจ้าเรือน ถ้าเดี่ยวบนสั้น เดี่ยวล่างสูง ก็เป็นอย่างคนช่วงตัวสั้นแต่ขายาว เป็นเรื่องไม่งาม ตรงนี้ในตำรากล่าวไว้ว่า ถ้าพื้นสูงกว่าเดี่ยวจะไร้ทรัพย์


เรือนที่ลดส่วนเดี่ยวบนและเดี่ยวล่างให้ต่ำกว่ากำหนดมี่กล่าวมาขั้นต้น มักเป็นเรือนที่ปลูกในที่โล่ง เช่น กลางทุ่ง กลางนา ถ้าพายุพัดแรงเต็มหน้าไม่มีอะไรบัง จึงต้องปลูกให้เป็นเรือนต่ำกว่าปกติไว้เป็นดี อย่างนี้ช่างปลูกเรือนคงถือเอาตามพื้นดิน และดินฟ้าอากาศเป็นหลัก มากกว่าจะถือตรงตามตำรา



Create Date : 03 พฤษภาคม 2554
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 19:54:37 น.
Counter : 4508 Pageviews.

1 comment
ฝาเรือนไทย ตามคำอธิบายของเสฐียรโกเศศ
ผมได้หนังสือดีมีประโยชน์มาเล่มหนึ่ง จากสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชื่อ “ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน” แต่งโดย เสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน เห็นว่าน่าจะเป็นที่สนใจของหลายๆคน ก็เลยขอเอามารีวิวบางบทนะครับ โดยเฉพาะบทที่ผมชอบ และใช้ประโยชน์มากที่สุด คือบทที่ว่าด้วยเรื่องของ “ฝาเรือน” ครับ ก็คัดลอกมาลงเลย อาจจะอ่านยากบ้างแต่มีประโยชน์มากๆสำหรับผู้ที่สนใจเรือนไทย



ท่านเจ้าคุณแบ่งฝาเรือนออกเป็น 4 ประเภทคือ


1. ฝาประจำห้อง ได้แก่ฝาด้านแป (ด้านยาว) หรือด้านข้าง สมัยใหม่มักทำฝาประจำห้องข้างหน้าของเรือนติดต่อกับระเบียงเป็นฝาเฟี้ยม

2. ฝาประจันห้อง คือ ฝากั้นห้อง

3. ฝาหุ้มกลอง คือ ฝาด้านขื่อ หรือด้านสกัด ที่เรียกว่าหุ้มกลอง คือต้องหุ้มฝาประจำห้องเป็นอย่างเอาหนังหุ้มกลอง เพราะฉะนั้นเรือนด้านสกัดกลางบางทีจึงเรียกว่าด้านหุ้มกลอง ถ้าเข้าฝาด้านยาวหุ้มด้านสกัดอย่างต่อหีบ เขาถือว่าเป็นอย่างโลงผี ห้ามไม่ให้ทำ ถ้าคิดถึงลักษณะเรือนที่ปลูกตามตะวัน ด้านสกัดจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก เวลาต้นฤดูฝน พายุฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะซัดสาดเข้ามาทางด้านสกัดตะวันตกถูกเต็มหน้า พอเข้าปลายฤดูฝน เป็นมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (จริงๆน่าจะเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ ? (ผู้เรียบเรียง)) เรือนทางด้านสกัดทิศตะวันออก ก็ถูกฝนสาดเต็มที่ อาจทำให้ฝาตอนต่อเชื่อมกันเกิดผุได้ง่ายขึ้น ถ้าเข้าฝาเป็นอย่างหุ้มกลองฝนสาดแทรกเข้าไปในเรือนได้ยาก เพราะไม่มีช่องเข้า ก็นับว่าดีอยู่ที่ห้ามไม่ให้เข้าฝาอย่างโลงผี

ยิ่งกว่านั้นฝาด้านหุ้มกลองยังต้องทำเป็น 2 กระแบะ มีกระแบะเดียวเขาถือว่าเป็นฝาโลงผี เหตุนี้จึงต้องมีเสาตั้งสำหรับแบ่งฝาแต่ละด้านให้เป็น 2 กระแบะ

4. ฝาเสี้ยว คือฝาระเบียง เพราะรูปเสี้ยวเทไปตามรูปหลังคาระเบียง ฝานั้นจะใช้วัตถุอะไรก็เรียกชื่อไปตามวัตถุนั้น เช่น กรุงด้วยกระแชงอ่อนหรือเสื่อลำแพนก็เป็นฝากระแชงอ่อน ฝาเสื่อลำแพนเป็นต้น เรือนที่กรุด้วยสิ่งเหล่านี้มักเรียกกันย่อๆว่า เรือนฝากรุ ถ้าขัดด้วยไม้ไผ่ซีกก็เรียกว่าเรือนฝาขัดแตะ ถ้าเข้าฝาด้วยไม้กระดานก็เรียกว่าฝากระดานเป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นจึงเรียกเรือนแยกเป็นสองชนิดคือ เรือนฝากรุ และ เรือนฝากระดาน การเข้าฝากระดานท่านห้ามไม่ให้เข้าแผ่นกระดานฝาตามขวางคือตามแนวนอน ถือว่าเป็นโลงผี ห้ามอย่างนี้ก็มีเหตุผลเหมือนกัน เพราะเปลืองไม้กระดานและเปลืองเวลารางลิ้นบังใบโดยใช่เหตุ ทั้งเป็นฝาที่ไม่มีลูกตั้ง ถ้ามีก็จะมีห่าง มีแต่เข้าลิ้นบังใบกระดานซึ่งมีความยาวเช่นนั้นอาจจะบิดเกะกะทำให้รางลิ้นนั้นเสียได้ง่ายและก็ไม่แข็งแรงด้วย ไม่เหมือนดังฝาเกล็ดตีด้วยตะปูติดกับไม้ลูกตั้ง นี่ก็เกิดหลังฝาปะกน

แต่เรือนโบราณอย่างดีมักใช้ทำเป็นฝาปะกน ดั่งจะเห็นได้จากเรือนเก่าๆ มีฝาเป็นไม้แผ่นสี่เหลี่ยมใหญ่บ้างเล็กบ้าง เป็นอย่างไม้กระดานลูกฟัก เรียงสลับกันเป็นแถวและเป็นระยะ แผ่นใหญ่เรียงตามยาวเป็นแถวอยู่ตอนล่างใต้หน้าต่าง เรียกว่า ล่องตีนช้าง มีจำนวนแล้วแต่จะแบ่งตามขนาดของเนื้อที่ ตอนเหนือหน้าต่างขึ้นไป ก็มีลูกฟักเป็นขนาดเดียวกันเรียกว่า ลูกฟักคอสอง


ระหว่างช่องสองข้างหน้าต่างเป็นลูกฟักขนาดเล็ก แต่รูปยาวเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียกว่า “ลูกฟักล่องปะกน” หรือถ้าเป็นฝาเสี้ยวของระเบียง ไม้ลูกฟักอาจยักเยื้องให้เข้ากัน

ไม้ที่ตั้งขึ้นไปตามความสูงสำหรับยึดลูกฟักด้านตั้งเรียกว่า “ลูกตั้ง”

ไม้อันนอนยึดหัวท้ายลูกฟักตามแนวนอนเรียกว่า “เซง”

การทำฝาขัดแตะหรือกรุด้วยแฝกด้วยคาก็มีฝาลูกตั้งและเซงเหมือนกัน ถ้าฝาเรือนแบบใหม่ก็มีแต่ลูกตั้งไม่มีเซง


การทำฝาปะกนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องเสียเวลาทำ เพราะต้องเข้าเดือยและรางลิ้นกันมาก เป็นไม้แผ่นสั้นๆแทบทั้งนั้น ช่างลางคนอธิบายว่าเดิมทีจะเป็นเรือนของนายช่าง คือเก็บเอาไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบกัน ด้วยตนเป็นช่างอยู่ในตัวจะทำอย่างไรก็ได้ ภายหลังคนอื่นเห็นดีก็เอาอย่างบ้าง หรือจะเรียนมาจากฝากรุ คือ กรุด้วยกก ปรือ หรือคา ฝากรุก็มีลูกตั้งและเซงคั่นเป็นห้องๆ ทำนองเดียวกันกับฝาปะกน แต่ก็น่าจะเชื่อว่าฝากรุตามชนบทคงมีเกิดมาก่อนเพราะหาวัตถุทำได้ แต่เช่นนั้นซึ่งน่าจะตรงข้ามกับชาวกรุง หาไม้กระดานได้ง่าย นี่เป็นเรื่องสันนิษฐานกันเอาตามเรื่อง ความจริงเดิมจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ

คำว่าเซงและปะกนจะเป็นคำไทยหรือคำมาจากภาษาอื่นใดก็ยังสืบสวนไม่ได้ความ ทั้งเรือนที่เป็นเรือนฝาแบบนี้ จะมีแต่ของไทยหรือมีอยู่ในชาติอื่นอย่างไรบ้าง ก็ยังไม่มีทางจะทราบได้ จึงต้องระงับการค้นคว้าไว้พลางก่อน


ผมลองหาภาพมาประกอบจะได้เข้าใจง่ายๆนะครับ



1 ฝาสายบัว
2 ฝาปะกน
3 ล่องตีนช้าง
4 ลูกฟักคอสอง
5 ไม้คั่นลูกฟักแนวนอน หรือ เซง
6 ไม้คั่นลูกฟักแนวตั้ัง หรือ ลูกตั้ง
7 เสาดั้งสำหรับแบ่งฝาหุ้มกลองออกเป็๋น 2 กระแบะ

จะเห็นว่าเรือนหรือกุฏิหลังนี้มีฝาสองแบบ คือส่วนตัวเรือนด้านหุ้มกลองเป็นฝาสายบัว ส่วน ฝาเสี้ยว (ฝาด้านขวา) เป็นฝาปะกน ที่เรียกฝาเสี้ยวเพราะช่วงบนขาดครึ่งตามแนวหลังคาปีกนกครับ



Create Date : 27 เมษายน 2554
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 19:54:10 น.
Counter : 6734 Pageviews.

1 comment
ประตูหน้าต่างเรือนไทย ในประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน
ประตูหน้าต่างเรือนไทย ในประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน

ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง "ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน" ของพระยาอนุมานราชธน แล้วรู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะหาปราชญ์คนใดในไทยที่เขียนหนังสือได้ลุ่มลึกและกว้างขวางเช่นนี้ ท่านเจ้าคุณมีความรู้ทั้งด้านคติความเชื่อ สถาปัตยกรรม ภูิมิศาสตร์ และศิลปะ เรียกได้ว่ามีความรู้รอบตัวทีเดียว หลายๆเรื่องที่สงสัยก็มากระจ่างเพราะหนังสือเล่มนี้นี่เอง

อาจจะอ่านยากหน่อยถึงยากมาก แต่ถ้าสนใจจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะท่านที่ชื่นชอบเรือนไทยและสถาปัตยกรรมไทยนะครับ


"คราวนี้จะพูดถึงประตูหน้าต่าง ว่าโดยลักษณะหน้าต่าง และประตูของเรือนฝากรุฝากระดานก็เหมือนกัน จะต่างกันที่ขนาดเท่านั้น เรือนหลังหนึ่งต้องมีหน้าต่างและประตูเป็นจำนวนคี่ อันที่จริงขนาดเรือนบังคับอยู่ในตัวแล้ว ว่าหน้าต่างจะต้องเป็นคี่ เพราะหน้าต่างเขาวางห้องละหน้าต่าง เรือนตามปกติมีสามห้อง ที่จะเป็นสองห้องไม่สู้ทำกัน ถือว่าเป็นอย่างเชิงตะกอนร้านม้าเผามีของเก่า ซึ่งมี 6 เสาเท่ากับสองห้องเรือน ทำห้องเดียวคือเท่าตัว ก็จะได้รูปห้องเป็นสี่เหลี่ยมไปไม่งาม

เรือนสี่ห้องหกห้องแปดห้องซึ่งเป็นจำนวนคู่ก็ไม่ทำกัน มีทำกันอยู่บ้างก็เรือนทิมแถวหรือตึกแถว แต่ถ้ามีห้าห้องเจ็ดห้องเป็นกำหนดจำนวนคี่ (เจ็ดห้องเก้าห้องมักมีแต่โบสถ์วิหาร) ที่ไม่ทำให้มากห้องเพราะจะยาวเป็นห้องแถวเสียไม่งาม ไม่มีใครเขาทำ นอกจากจะร่นระยะเสาห้องให้แคบเข้า

เพราะฉะนั้นที่ยายศรีประจันเรียก ห้อง มีห้าห้องฝากระดาน จากยายทองประศรีที่มาขอนางพิมให้เจ้าพลายแก้ว เห็นจะเป็นเรือนร่นเสาห้องกระมัง หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นความคิดของกวี เหตุนี้ การปลูกเรือนจึงยึดขนาดเรือนสามห้องเป็นปกติ ห้องหนึ่งไม่ให้ยาวกว่า 6 ศอก ถ้ายาวกว่านี้จะต้องเพิ่มจันทันพราง เพื่อช่วยน้ำหนักรับหลังคา


ถ้าปลูกเรือนหลังหนึ่งแล้วไม่พออยู่ ก็ปลูกใหม่อีกหลังหนึ่งเป็นเฉลียง เป็นหอ เป็นพะไล ต่อกันออกไป เมื่อจำนวนห้องบังคับไว้เป็นสามตอนอย่างนี้ หน้าต่างด้านข้างทางหลังของตัวเรือนจึงต้องเป็นสามช่อง ส่วนด้านสกัดมีหน้าต่างระหว่างเสาดั้งด้านละสองช่อง รวมกันเป็นหน้าต่าง 7 ช่อง ช่องเป็นจำนวนคี่อยู่ในตัว


ประตูก็เหมือนกัน มักมีประตูเดียวคือทำฝาประจันห้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นห้องโถงไว้สำหรับรับแขกหรือทำงานการอะไร เช่นสวดมนต์เลี้ยงพระเป็นต้น อีกสองส่วนเป็นห้องแล่นตลอดไม่มีฝาประจันห้อง ใช้รวมกันเป็นห้องนอนตามปกติมีประตูเข้าออกตรงห้องกลาง เพราะเหตุดังนั้นจึงเป็นประตูเดียว


ที่พูดมานี้เฉพาะตัวเรือนจึงไม่รวมจำนวนประตูหน้าต่างของระเบียง ตามตำราห้ามไม่ให้ทำประตูหน้าต่างรวมกันเป็น 9 ช่อง เพราะเป็นว่าทวารทั้งเก้าไม่ดี แต่ไม่ดีเพราะเหตุผลอย่างไรไม่กล่าว ถ้ากั้นฝาตลอดทั้งสามห้องก็จะต้องมีประตูทุกห้อง รวมกันก็เป็น 3 ประตู รวมประตูระเบียงอีก 1 ก็เป็น 4 ประตู ตำราห้าม ที่ห้ามก็เห็นว่าถูก เพราะห้องจะมืดและไม่มีห้องโถงสำหรับทำงานการและรับแขก ถ้ากั้นฝาด้านหน้าตลอด แต่ด้านในห้องไม่กั้นปล่อยใหเล่นตลุยถึงกัน ไม่มีฝาประจันห้องอย่างนี้ จะทำประตูเข้าออกประตูเดียวก็ได้ แต่ก็ไม่เห็นมีใครทำกัน นอกจากกุฏิพระ



ประตูหน้าต่างและบานทำด้วยไม้แผ่นเดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีกรอบเช็ดหน้า หรือบานกบ อย่างประตูสมัยปัจจุบัน (ถ้าเป็นโรงเรือนกระต๊อบเลวๆ ก็ทำบานกรุและบานหน้าต่างเป็นบานค้ำ) และเปิดทางเข้าโรงเรือน จะเปิดออกนอกเหมือนสมัยใหม่ไม่ได้ เพราะบานมีเดือยทั้งนั้น ถ้าถูกฝนสาด น้ำฝนอาจจะแทรกเข้าไปขังอยู่ตามซอกรู ทำให้เกิดผุขึ้น


การเจาะรูเดือยสำหรับบานจึงต้องเจาะให้ทะลุเพื่อป้องกันน้ำขัง ที่ใต้และเหนือหน้าต่างข้างในมีไม้รีบ ตัวล่างเรียกว่า ไม้รับบาน ตัวบนเรียกว่า ไม้ทับหลังบาน ถ้ารับบานประตู เรียกว่า ไม้ธรณี ตัวบนก็เรียกอย่างเดียวกับหน้าต่าง ที่เรียกผิดกัน เพราะไม้ธรณีวางอยู่ที่ต่ำ เห็นจะติดมาจากประตูโรงซึ่งอยู่ติดกับพื้นดิน จึงได้ชื่อว่าธรณี


ไม้ธรณีนั้นถ้าเป็นเรือนสามัญก็เป็นไม้ขนาดมีหน้าแคบ กว้างราว 2-3 นิ้วเท่านั้น เวลาปิดประตูก็ไม่เห็นไม้ธรณี เพราะมีหน้ากระดานพอดีกันกับความหนาของประตู ต่อเมื่อเปิดบานประตูจึงจะเห็น ถ้าเป็นโบสถ์วิหารหรือสถานที่ปลูกสร้างขนาดใหญ่ มักมีธรณีประตูเป็นไม้มีขนาดหน้ากว้างตั้งศอก เพื่อให้ได้ขนาดเข้ากับความหนาของผนังที่เจาะเว้าเข้าไป


เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าข้างในประตู ที่จะไม่ให้เหยียบธรณีประตูจึงขัดข้อง ผิดกับเรือนสามัญซึ่งมีธรณีเป็นไม้หน้าแคบ ก้าวข้ามธรณีไปได้สะดวกด้วยเหตุดังนี้ ถ้าเป็นธรณีขนาดกว้าง เขาจึงมีไม้กระดานอีกแผ่นหนึ่งวางทับธรณีประตูอีกที ไม้นี้มีความกว้างยาวเท่ากันพอดีกับธรณีประตู ทำไมจึงห้ามไม่ให้เหยียบธรณีประตูจะกล่าวเป็นความเห็นไว้ในบทที่ 4 การเจาะรูเดือยสำหรับรับบานประตูให้ปิดเปิดได้ เรือนแต่ก่อนใช้เจาะเป็นรูครกที่ไม้ธรณี แล้วเอาไม้ไผ่ตัดเป็นปล้องสั้นๆ สวมลงในรูครกสำหรับเดือยประตูเพื่อกันรูคราก ถ้าเป็นประตูโรงก็ใช้ปล้องไม้ไผ่ฝังลงในดิน


ถ้าเป็นเรือนชั้นดีหรือเป็นโบสถ์วิหารมีธรณีขนาดกว้าง เขามีวงแหวนทำด้วยเหล็กหรือทองเหลืองสวมรูครกเพื่อกันคราก และบานติดกลอนไม้สำหรับขัดใน เมื่อปิดประตูหน้าต่าง กลอนขัดนี้ตามขวางของบาน เรียกว่า ดาล เวลาใส่เรียกว่า ลั่นดาล เพราะฉะนั้น ลางทีจึงเรียกบานประตูหน้าต่างว่า ใบดาล ถ้าโรงเรือนบานกรุ ก็เรียกว่า ขัดดาล เฉพาะที่บานประตูด้านนอกมักเจาะเป็นรูไว้รูหนึ่ง เรียกว่า รูดาล สำหรับเอาเหล็กสอดเข้าไปในรูปิดเปิดดาลได้ในตัว เหล็กนี้เป็นรูปยาวตอนกลางหักเป็นมุม หรือข้อศอก เรียกว่า ลูกดาล


โดยเหตุที่ลูกดาลนี้เป็นของทำง่าย ใครๆอาจทำลูกดาลมาไขได้ เวลาอยู่ คนข้างในลั่นดาลแล้ว ก็มักมีหมุดเสียบขัดอีกทีเพื่อป้องกันคนไข นี่ว่าแต่เฉพาะบานประตู ถ้าบานหน้าต่างก็ใช้ไม้กลอนเสียบลงรูที่ไม้รับบานได้ทีเดียว รอบประตูและหน้าต่างข้างนอกมีกรอบไม้ประกอบ เรียกว่า เช็ดหน้า เวลาปิดประตูหน้าต่างแล้ว จะเห็นตรงที่บานมาประจบกัน มีไม้เป็นสันแล่นตลอดปิดช่องไม้นี้เรียกว่า ไม้อกเลา (ในภาษาไทยใหญ่ คำว่าเลาแปลว่าตรงยาวอย่างไม้ไผ่)


กลางอกเลาเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า “ประจำยาม” หัวท้ายมีรูปครึ่งสามเหลี่ยม เรียกว่า ลูกฟักบนลูกฟักล่าง ใต้บานประตูหน้าต่างทำเป็นกรอบแกะเป็นลวดลาย เรียกว่าหย่อง ประตูหน้าต่างรวมทั้งกรอบเช็ดหน้าจะต้องมีรูปสอบบน เพื่อให้เข้ากันกับตัวเรือน ซึ่งทำสอบบนอยู่แล้ว ดังจะกล่าวในตอนหลัง การปรุงฝาและประตูหน้าต่าง ย่อมทำ และปรุงพร้อมเสร็จกันไปในตัว เว้นแต่บานยังไม่ติด ไปติดเอาเมื่อเข้าประกอบกับตัวเรือน ปรุงฝาและประตูหน้าต่างเข้าไว้เป็นกระแบะๆ ฝาด้านสกัดด้านละ 2 กระแบะอยู่ระหว่างเสาดั้ง ฝาประจำห้องด้านหลัง 3 กระแบะด้านหน้า 2 กระแบะ เพราะทิ้งว่างไว้เป็นห้องโถงเสียห้องหนึ่ง ฝาประจันห้องกระแบะ 1 ซึ่งเป็นกระแบะใหญ่กว่าเพื่อน รวมกันเป็นฝา 10 กระแบะ (ไม่รวมฝาระเบียง)


เหตุนี้การรื้อเรือนย้ายไปปลูกใหม่จึงทำง่าย เพราะถอดฝาออกได้เป็นกระแบะๆ ถึงเครื่องเรือนตอนอื่นก็เหมือนกัน ถอดง่ายเพราะเข้าเดือยและตรึงหมุดไว้เท่านั้น หมุดนี้โดยทั่วไปมักใช้ไม้ไผ่แก่ๆทำ"




ภาพตัวอย่างเรือนไทยครับ จะเห็นว่า ด้านสกัด มีฝาเรือนเป็น 2 กระแบะ และหน้าต่างจะเปิดเข้าไปด้านใน ไม่เหมือนสมัยใหม่ที่เปิดออก หลังนี้จากวัดยุคันธาวาส นนทบุรี




เรือนไทยรุ่นหลังบางแห่งจะมีหน้าต่างเปิดออกครับ หลังนี้จากวัดตองปุ ลพบุรี เป็นฝาสายบัว




Create Date : 27 เมษายน 2554
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 19:53:46 น.
Counter : 6574 Pageviews.

4 comment
กรอบเช็ดหน้าประตู ตามคำอธิบายของเสฐียรโกเศศ
คำอธิบายของเจ้าคุณอนุมานฯ จากหนังสือเรื่อง ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน ครับ



เช็ดหน้า หรือกรอบเช็ดหน้า วงเช็ดหน้า คือกรอบประตูหน้าต่างแห่งเรือนตึก ที่ใช้คำอย่างนั้นที่แต่ก่อนเขาจะผูกผ้าขาวเท่าผืนผ้าเช็ดหน้าทำขวัญเมื่อยกขึ้นตั้ง เป็นสิ่งเดียวกันกับที่เรียกว่า กบ วงกบ ช่องกบ และบานกบ ความหมายสำคัญของคำนี้อยู่ที่กบ คือตัดไม้แหลมดุจปากกบ เข้าปากกบให้เลี้ยวไป เมื่อเลี้ยวไปรอบตัวจึงได้เรียกว่าวงกบ ถ้าเป็นแต่ช่องเปล่าไม่มีบาน จึงเรียกว่าช่องกบ ที่เรียกบานกบนั้น ควรจะมีบานปิดช่องกบด้วย จึงควรเรียกบานกบ คือวงกับอันมีบานปิด


นี่เป็นตัวอย่างบานหน้าต่างครับ




1.ประจำยามหรือประจำยามอก
2.ลูกฟักบน
3.ลูกฟักล่าง
4.อกเลา
5.กรอบเช็ดหน้าหรือวงกบ
6.บานหน้าต่าง หรือบานกบ หรือใบดาล

อีกภาพเป็นช่องประตูฐานันดรสูงครับ คล้ายกับกรอบซุ้มเรือนแก้ว




Create Date : 27 เมษายน 2554
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 19:52:45 น.
Counter : 3190 Pageviews.

0 comment

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments