การเดินทางของจิตวิญญาณใน Life of Pi


วันนี้ได้ดูหนังเรื่อง Life of Pi อีกครั้ง หลังจากหนังเข้ามาน้านนาน หนังของอังลีที่ทำออกมาได้ชวนตั้งคำถามจนนอนไม่หลับ มันเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณของตัวละครเอกที่ค่อย ๆ พัฒนาจากความเป็นเด็กไร้เดียงสา เข้าไปสู่การตั้งคำถามมากมายในชีวิตและการแสวงหาความหมายที่แท้จริงของการดำรงอยู่ จนต้องลุกขึ้นมาเขียนนี่แหละครับ มันสร้างคำถามปลายเปิดที่ตอบยังไงก็ไม่ถูก ตอบยังไงก็ไม่ครบสมบูรณ์ สมชื่อ Pi ซึ่งเป็นจำนวนอตรรกยะที่ไม่มีสิ้นสุด จะเรียกว่าเป็นหนังปรัชญา หนังศาสนา หรือวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็ได้ ชาวพุทธดูแล้วอาจเกิดคำถามในใจมากมาย แต่ในที่นี้ผมขอมองจากในแง่ศาสนานะครับ


ขอเริ่มต้นที่ชื่อของพระเอก ไพ  Pi คืออะไร? ในหนังกล่าวว่าพาย มาจากคำว่า piscine ซึ่งเป็นชื่อสระว่ายน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส เนื่องจากลุงของเขาเป็นนักว่ายน้ำ และกล่าวกับเขาว่าสระว่ายน้ำแห่งนี้มีน้ำที่ใสสะอาดมาก จนผู้ที่ลงไปว่ายน้ำในสระแห่งนี้อาจจะมองเห็นจิตวิญญาณของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดภาพยนตร์ก็แสดงออกมาให้เห็นอย่างจะแจ้งว่า การเข้าถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของไพ ไม่ได้เกิดขึ้นในสระว่ายน้ำขนาดเล็กอันราบเรียบเงียบสงบ แต่เกิดขึ้นภายใต้พายุอันน่าสะพรึงกลัวของสระว่ายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่แทบจะไร้ขอบเขตคือมหาสมุทรแอตแลนติก


เมื่อไพเข้าโรงเรียน เขามีปัญหากับชื่อของเขาเพราะเพื่อนๆมักจะล้อว่า ไพ นั้นแปลว่า “ฉี่” เขาจึงพยายามค้นหาความหมายอื่นมาอธิบายชื่อของเขาเสียใหม่ นี่เป็นครั้งแรกที่ไพพยายามหาความหมายให้กับชีวิตของตัวเอง ที่สื่อออกมาในรูปสัญลักษณ์ของการค้นหาความหมายของชื่อตัวเอง


ในที่สุดเขาก็พบความหมายของชื่อ ไพ ในเชิงคณิตศาสตร์ ไพ เป็นจำนวนอตรรกยะที่ไม่มีวันสิ้นสุด 3.1428….. ไปเรื่อย ๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งยาวยืด มันเปรียบเหมือนกับความคิดของพระเอกคือ Pi ที่แสวงหาสัจธรรมจากศาสนาเทวนิยมสามศาสนา ที่ถือว่าเป็นศาสนาหลักใหญ่ในอินเดีย คือ ฮินดู คริสต์ และอิสลาม เขาทดลองไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่อิ่มเอมเป็นที่พอใจ ทั้งยังเกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในครอบครัวของเขานั้น บิดาเป็นผู้ที่ไม่เชื่ออะไรเลย ทั้งยังต่อต้านความเชื่อเหนือธรรมชาติ ขณะที่มารดานั้น นับถือศาสนาฮินดูตามครอบครัวและมีทัศนะที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ศาสนาในทัศนะของมารดานั้นเป็นเสมือนการเชื่อมโยงตัวเองกับอดีตและความสัมพันธ์ของตระกูล มากกว่าจะให้คำตอบในการแสวงหาความหมายในชีวิตอย่างแท้จริง แต่ไพก็ได้พบแนวทางการทำความดีจากศาสนาทั้งสาม


อย่างไรก็ดี ชื่อของ Pi ดันไปพ้องกับคำว่าฉี่ ก็เหมือนกับตัวเขาเองที่ถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนเพราะเรื่องชื่อ และถูกครอบครัวล้อเรื่องการนับถือศาสนาไปทั่วไม่จบสิ้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้ สัจธรรมกับเรื่องตลกไร้สาระจึงปนกันอยู่อย่างมีนัยยะ แล้วแต่มุมมองของผู้ชม ว่ามีแนวคิดแบบสสารนิยมหรือจิตนิยม


ในเมืองดาร์จิลิง บาทหลวงท่านหนึ่งได้ถามเขาขณะที่แอบเข้าไปดื่มน้ำมนต์ในโบสถ์ว่า “กระหายไหม” แล้วหยิบแก้วน้ำมาให้ ไพแค่จิบ ไม่ได้ดื่มทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ในใจเขากระหายที่จะรู้สัจธรรมที่ไม่มีสิ้นสุด เหมือนจำนวนอตรรกยะ เหมือนเขายังไม่ไว้วางใจพอที่จะดื่ม เขายังไม่ได้พิสูจน์หรือทดลอง หรืออันที่จริงแล้วเขาอาจจะต้องการเพียงการหยิบยืมส่วนดีของแต่ละศาสนาอย่างละนิดละหน่อยมาผสมผสานกัน

ไพมหัศจรรย์ใจกับความอลังการและลึกลับของศาสนาฮินดู ความรักของศาสนาคริสต์ และความศรัทธาของอิสลาม อย่างไรก็ตาม บาทหลวงบอกไพว่า “มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยการทำความดี แต่เข้าถึงได้เมื่อผ่านความทุกข์ยากไปแล้ว” ซึ่งไพจะเข้าใจความหมายนี้เมื่อเขาอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร เมื่อเขาเข้านอน เขากล่าวขอบคุณพระกฤษณะที่ทำให้เขารู้จักพระเยซู


บ้านของเขาทำกิจการสวนสัตว์ในเมืองปอนดีเชอรี่ อาณานิคมเก่าของฝรั่งเศสในอินเดีย ไพก็เกิดและเติบโตขึ้นในสวนสัตว์ ซึ่งในภาพยนตร์เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยรูปงูที่กำลังไต่อยู่บนต้นไม้ ชวนให้ระลึกถึงปีศาจที่ปลอมแปลงมาในรูปงู มาล่อลวงมนุษย์ให้หลงผิด ซึ่งปรากฏในบทปฐมกาลจากพระคัมภีร์ไบเบิล ผู้เขียนอาจต้องการสื่อว่าไพเติบโตขึ้นมาในสภาวะแวดล้อมที่ใสบริสุทธิ์อยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง เสมือนอาดัมกับเอวามนุษย์คู่แรกที่อยู่ในสวนเอเดน ซึ่งยังไม่รู้จักความบาป ความชั่วหรืออารมณ์ในเชิงลบใดๆ


วันหนึ่งไพแอบไปเล่นกับเสือตัวใหม่ชื่อริชาร์ด ปาร์กเกอร์ เขาโดนพ่อดุอย่างรุนแรงที่มาเล่นเสี่ยงอันตรายกับเสือที่ไม่มีวันเชื่อง ไพบอกกับพ่อว่า “เสือมันก็มีวิญญาณความรู้สึก ผมเห็นมันในดวงตา” พ่อกลับตอบว่า “สัตว์มันไม่มีวิญญาณหรอก สิ่งที่เห็นในตาเป็นเพียงแค่อารมณ์ของเราเท่านั้น” แล้วก็เอาแพะมาให้เสือกินต่อหน้าลูกชายวัยเด็ก เพื่อสอนความจริงที่โหดร้ายของโลก ตั้งแต่นั้นมาโลกของพายก็มีได้บริสุทธิ์ใสสะอาดอีกต่อไป ผมคิดว่าการที่ไพเข้าไปเล่นกับเสือร้ายในกรงขัง เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขาที่จะต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ความรู้สึกแปลกปลอม ที่ตัวเองไม่เคยสัมผัสมาก่อน อย่างไรก็ดี เขาไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกับเสือร้ายอันเป็นอุปมาของอารมณ์เช่นนี้เลย ด้วยว่า เขาถูกปกป้องดูแลจากครอบครัว ที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันแปลกปลอมเลย เสือร้ายของไพจึงเป็นเพียงแต่เสือที่อยู่ในกรง ไม่มีโอกาสได้ออกมาโลดเล่นภายนอก ตั้งอยู่ใน Comfort Zone ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่อาจรู้จักความรู้สึกภายในของตนเองอย่างแท้จริงก็เป็นได้

.

.

วันหนึ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง กิจการสวนสัตว์ของครอบครัวกำลังจะล้มละลาย เขากับครอบครัวต้องย้ายไปอยู่ในแคนาดา ขนสวนสัตว์ไปขายที่นั่นด้วยทางเรือ ระหว่างทางเรือประสบกับพายุรุนแรงพายุ เรือของเขาล่มลงกลางแปซิฟิก เมื่อพายุสงบลง ไพติดอยู่ในเรือชูชีพกับสัตว์ห้าตัว คือ ม้าลาย ไฮยีน่า ลิงอุรังอุตัง และเสือ ซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นจินตนาการของการมองโลก เพื่อการปลอบประโลมใจตัวเอง เพราะสัตว์ทุกตัวจริง ๆ แล้วควรจะเป็นมนุษย์เรือแตก ที่เข่นฆ่ากันเองเพราะความขัดสนในเรือชูชีพ รวมทั้งแม่ของเขาที่ถูกฆ่าด้วย ไพเลือกที่จะมองความจริงไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ไม่ได้มองตามความเป็นจริงที่ตาเห็น ซึ่งความจริงนั้นอาจจะฆ่าเขาให้ตายด้วยความรู้สึกเศร้าสะเทือนใจสิ้นหวัง เขากลับเลือกที่จะมองเหมือนที่พ่อของเขาเคยพูดคือ “สัตว์มันไม่มีวิญญาณ สิ่งที่เห็นเป็นเพียงอารมณ์เท่านั้น” ไพเลือกที่จะมองทุกอย่างบิดเบี้ยวออกไป เพื่อสร้างกลไกปกป้องตัวเองจากความเลวร้ายที่แสดงออกจากตัวมนุษย์ในยามคับขัน


แต่อย่างไรก็ดี สุดท้ายตัวของเขาเองก็ได้ระเบิดอารมณ์ออกมาด้วยการสร้าง “เสือ” ที่กระโจนออกมาฆ่าไฮยีน่า (ตัวแทนของพ่อครัวที่ฆ่าแม่) ในชีวิตที่ผ่านมา ไพไม่เคยทำบาป เขาเป็นฮินดูมังสวิรัติที่เคร่งครัด การปล่อยเสือทะยานออกมาจากตัว เป็นอารมณ์ใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคย เขาไม่สามารถจัดการมันได้ ทำให้ไพต้องจมปลักอยู่กับเสือนั้นไปตลอดการเดินทาง ไม่ว่าเสือนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม อาจจะเป็นอารมณ์ความโกรธแค้นที่พ่อครัวฆ่าแม่ หรือความสำนึกผิดของเขาต่อบาปที่ฆ่าพ่อครัวให้ตาย หลังจากลองผิดลองถูกมานาน ไพตัดสินใจจะจัดการกับเสือดุร้ายโดยการค่อย ๆ ฝึกให้มันเชื่อง ตรงนี้ถ้าจะคิดแบบพุทธ ๆ ก็คงคล้ายกับการตระหนักรู้สติของตนเอง อย่างไรก็ตาม ไพ ทำให้มันเชื่องไม่ได้ เพราะสุดท้ายมันก็กลับเข้าไปหลบในหลังคาผ้าใบเรือเพียงชั่วคราว นั่นเท่ากับเขาซุกซ่อนเก็บความโกรธแค้นและความรู้สึกผิดเอาไว้ โดยมิได้รู้เท่าทันหรือจัดการกับอารมณ์อย่างเกิดประสิทธิผล


ไพเขียนไดอารี่ทุกวัน จนวันหนึ่ง ไดอารี่ปลิวตามลมไปในพายุ เขารำพึงว่า “โลกแห่งความจริงและโลกแห่งความฝันมันแยกกันไม่ออกเสียแล้ว” เพราะไดอารี่ที่จับต้องได้คือความจริงที่เป็นพยานทำให้เขาระลึกถึงอดีตและความจริงในเรือที่แตก  ถึงตอนนี้ความจริงไม่มีความหมายกับเขาอีกต่อไป


แต่เมื่อ Diary พัดไปพร้อม กับพายุที่ทำให้เขาเกือบตาย เขากลับพบว่าในความ “ไม่จริง” นั้น พายุไม่ได้เอาชีวิตเขาไปด้วย เขากล่าวขอบคุณพระเจ้าที่ไว้ชีวิตเขาไว้ พายุซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของความว้าวุ่นกระวนกระวายใจ แต่เมื่อเขายอมรับความทุกข์ที่เข้าในชีวิต ด้วยการขอบคุณพระเจ้าในภาวะทุกข์ทรมานได้ เขาก็ได้พบกับการจัดการอารมณ์แบบใหม่ที่ตามมา คือระหว่างพายุนี้ เสือริชาร์ดปาร์กเกอร์ก็สิ้นฤทธิ์ลง เป็นครั้งแรกที่ไพเข้าไปใกล้ตัวมัน กระทั่งยกหัวของมันขึ้นมาหนุนบนตักได้ นั่นอาจจะหมายถึงการเข้าใจอารมณ์ของตนเองเป็นครั้งแรก ไพสามารถทำให้อารมณ์ของเขากลับมาเชื่องได้แล้ว หลังผ่านความสับสนวุ่นวายใจครั้งใหญ่ในรูปของพายุที่ทำลายทุกอย่าง แต่กลับให้ชีวิตใหม่แก่เขา

.

.

สิ่งที่ตามมาหลังพายุก็คือทะเลที่สงบเงียบจนสะท้อนแผ่นฟ้าสีทอง เรียบราบราวกับกระจก อุปมาเหมือนจิตใจของไพที่เข้าสู่ความสงบแล้ว เพราะเขาปราบเสือร้ายจนเชื่อง ที่ท้ายเรือ เสือตัวนั้น (อารมณ์) นั่งมองลงไปที่ก้นสมุทร เขามองตามลงไป และมองเห็นจักรวาลทั้งหมดทั้งมวล ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาหมึกที่กินปลาวาฬ สัตว์ต่าง ๆ ที่จมน้ำตาย ปลาที่เปลี่ยนร่างไปชั่วพริบตาให้ความรู้สึกราวกับการเวียนว่ายตายเกิด หน้าของแม่ และเรือที่จม มันช่างเหมือนกับจักรวาลที่อยู่ในปากของพระกฤษณะในนิทานภาพที่เขาเห็นตอนเด็ก ๆ (พระกฤษณะแสดงองค์เป็นนารายณ์วิศวรูป จักรวาลทั้งมวลอยู่ในพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นจักรวาล) ไพเริ่มตระหนักแล้วว่า หลังจากจัดการกับอารมณ์ที่สับสนวุ่นวายภายในจิตใจของเขาแล้ว ตนเองกำลังเข้าถึงความจริงของจักรวาล ตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งอันเล็กจ้อยในความยิ่งใหญ่นั้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของมหาสมุทร


ต่อมาไม่นาน เรือมาเกยตื้นบนเกาะมหัศจรรย์แห่งหนึ่ง มันมีชีวิตและเต็มไปด้วยต้นไม้ประหลาด มีฝูงตัวเมียร์แคตไร้เดียงสานับล้าน มีบ่อน้ำจืดใสแจ๋วที่เขาลงไปเล่นด้วยความกระหาย แต่เมื่อค่ำลง บ่อน้ำนั้นกลับกลายเป็นกรดที่ฆ่าปลาทุกตัว และต้นไม้นั้นก็กลายเป็นไม้กินคน เขาพบฟันมนุษย์ซี่หนึ่งในดอกบัวประหลาดกลางป่า เขาตระหนักได้ว่านี่คือเกาะกินคนเสียแล้ว (ดอกบัวที่อยู่กลางป่านั้น เป็นท่ารำแบบอินเดียของนางเอก ถ้าจะวิเคราะห์ก็คือ การค้นพบความจริง (ดอกบัว) ท่ามกลางอวิชชา ภายในดอกบัวมีฟัน อันอาจหมายถึงความตายถูกห่อหุ้มปลอมแปลงด้วยสิ่งสวยงามและสับสนในโลก ถ้าพูดแบบพุทธ ๆ ก็คือนิรวาณ อันแปลว่า ไม่มีป่าอีกต่อไป)


ไพรำพึงกับตัวเองว่า “เมื่อตอนกลางวันพระเป็นเจ้าทรงให้ชีวิต แต่พอตกกลางคืนพระองค์ก็ทวงมันกลับไป” เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นทุกวันบนเกาะแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม บนเกาะแห่งนี้เขาก็ได้พบกับการพักผ่อนและอาหารมากพอที่จะยังชีพและเดินทางต่อได้ ไพเอ่ยขอบคุณพระเจ้าอีกครั้งว่า

“ในยามที่พระเป็นเจ้าดูเหมือนจะละทิ้งเขาไป พระองค์เฝ้าดูแลอยู่”

“ในยามที่ประสบความทุกข์ยาก พระองค์เฝ้าดูแลอยู่”


ชั่วขณะที่เขาอยู่บนเกาะนั้น เขาจึงพบทั้งสัจธรรมของการเกิดดับ และการพักผ่อนในพระเป็นเจ้า แต่เขาก็ตัดสินใจเดินทางต่อไป เมื่อเขาถอยออกห่างจากเกาะนั้นในระยะพอสมควรจึงเห็นว่า ตัวเกาะมีสัณฐานเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย การเกิดและการดับเป็นปกติของโลกที่ไม่ควรตั้งคำถามหรือชวนให้เกิดความโศกเศร้า หรือตีโพยตีพาย บ่นว่าต่อพระเจ้าขอให้พระองค์ช่วยทำให้สิ่งที่ “เป็นปกติ” ผ่านพ้นไปตามวิสัยความอ่อนแอตามประสามนุษย์ เพราะทุกอย่างล้วนถูกสร้างและถูกทำลายเป็นปกติทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยนัยยะนี้ไพได้ทำความเข้าใจพระเป็นเจ้ามากขึ้นอีกครั้ง เขาอำลาตัวเมียร์แคท ซึ่งไร้เดียงสาเสียจนไม่กลัวคนและไม่รู้จักกลัวเสือ ในที่นี้ผมเองก็ตีความว่า เมียร์แคทน่าจะหมายถึง วิญญาณทั้งปวงที่รวมอยู่ในปรมาตมัน เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ที่ไม่รู้จักแม้แต่อารมณ์ (คือเสือที่ดุร้าย) ผู้ที่กลับไปรวมกับพระผู้เป็นเจ้าย่อมเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ไม่รู้จักแม้แต่ความดีและความชั่ว แต่ในตอนนี้ก็ไม่ใช่เวลาที่ไพจะกลับไปรวมกับปรมาตมัน เขาจึงเลือกที่จะเดินทางต่อไป

.

.

เรือชูชีพของไพและเสือมาขึ้นที่หาดเม็กซิโก ที่นั้น ริชาร์ด ปาร์กเกอร์ เสือที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูเดินจากเขาเข้าไปในป่าโดยไม่หันกลับมามอง และเขาก็ไม่ได้เจอริชาร์ดอีกเลย เสมือนว่าอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆถูกสลัดทิ้งไปแล้ว เมื่อเขารอดชีวิตและกลับมาถึงฝั่งพร้อมกับความศรัทธาใหม่ เขาได้พบพระเจ้าที่ไม่ได้มาจากการปฏิบัติศาสนกิจอันเรียกว่าความดี ที่มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละศาสนา แต่เป็นพระเจ้าในธรรมชาติที่พบหลังจากฝ่าฟันอุปสรรคความทุกข์ยากและการตั้งคำถามมากมายต่างหาก ภายไม่ได้พบพระเป็นเจ้าในสระว่ายน้ําขนาดเล็กจ้อยอันราบเรียบ แต่พบพระองค์ผ่านทางการใช้ชีวิตประเชิญหน้ากับความทุกข์ยากในสระว่ายน้ำอันดุร้ายด้วยพายุและไร้ขอบเขตของมหาสมุทร





Create Date : 09 มกราคม 2561
Last Update : 10 มกราคม 2561 9:00:06 น.
Counter : 1760 Pageviews.

1 comment
จิตรกรรมสะกัดหน้าอุโบสถวัดราชสิทธารามที่เพิ่มเติมเข้ามา


 ผมเพิ่งเห็นภาพถ่ายเก่าจากคลังสไลด์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี เป็นจิตรกรรมสะกัดหน้า (ผนังด้านหน้าพระประธาน) ของอุโบสถวัดราชสิทธาราม ฝั่งธนบุรี พบว่าถูกทำลายจากความชื้น หลุดร่อนออกไปจนเหลือแต่เนื้ออิฐแดงๆ เราจึงไม่อาจทราบได้ว่า ส่วนที่หลุดลอกนั้น เขียนเรื่องอะไรบ้าง แต่ในปัจจุบัน เรากลับพบว่า มีการเขียนภาพเพิ่มเติมเข้าไปจนครบทั้งผนัง ซึ่งไม่แน่ใจว่า ช่างสมัยใหม่ทราบได้อย่างไรว่า จิตรกรรมโบราณก่อนการหลุดร่อนเขียนเรื่องอะไรบ้าง อาจจะมีข้อดีตรงที่ทำให้วัดสวยงามสมบูรณ์ แต่ก็ผิดหลักการบูรณะที่จำเป็นจะต้องรักษาสภาพเดิมเอาไว้ให้ครบถ้วนที่สุด เพราะลูกหลานของเราอาจจะเข้าใจผิดได้ในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการอนุรักษ์ครับ



จิตรกรรมจากภาพถ่ายเก่า หลุดลอกไปหมดเพราะความชื้นจากใต้ดิน (บน)



จิตรกรรมในสภาพปัจจุบัน มีการเขียนเพิ่มเติมจนเต็มทั้งผนัง โดยไม่มีหลักฐานว่า ของเก่าเคยเขียนเรื่องอะไรมาก่อน



Create Date : 10 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2559 21:27:52 น.
Counter : 987 Pageviews.

0 comment
ประตูวัดราชโอรสที่เปลี่ยนแปลงไป


ผม ได้มีโอกาสพบภาพถ่ายเก่าของวัดราชโอรสาราม จอมทอง จะถ่ายในปีใดไม่ทราบ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ซุ้มประตูวัดที่ปัจจุบันเป็นทรงจีนนั้น ในสมัยโบราณเป็นซุ้มทรงพระราชนิยม ไทย - จีน ที่นิยมในช่วงรัชกาลที่ 3 เป็นประตูซุ้มกลีบบัวมียอด คล้ายๆกับซุ้มประตูพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม จึงน่าจะเก็บบันทึกไว้ เพราะเข้าใจผิดมานาน วัดซ่อมของเดิมและสร้างของใหม่เมื่อใด อันนี้ไม่ทราบครับ


อันนี้ภาพถ่ายเก่าจากคลังสไลด์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ

ภาพปัจจุบัน (ล่าง) ซุ้มประตูกลายเป็นแบบจีนแล้ว มีสิงโตเพิ่มเข้ามาด้วย วัดสร้างเนียนมากครับ จนนึกว่าฝีมือช่างรัชกาลทีี่ 3 บางครั้งอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ถ้าไม่ทราบข้อมูล มาก่อน ผมก็เพิ่งทราบเหมือนกัน







Create Date : 10 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2559 21:19:53 น.
Counter : 1625 Pageviews.

0 comment
ลิสต์รายชื่อจิตรกรรมสมัยอยุธยา




ลิสต์รายชื่อ จิตรกรรมสมัยอยุธยานี้ ผมนั่งระลึกมาจากที่เคยเดินทางไปส่องตามวัดต่างๆในภาคกลาง และต่างจังหวัด ประกอบกับหนังสือ "จิตรกรรมไทยประเพณี เล่มที่ 1 " ของกรมศิลปากร ก็ได้รายชื่อจิตรกรรมฝาผนังมาจำนวนหนึ่ง แต่คิดๆไปแล้ว มันเหลืออยู่น้อยจริงๆ เมื่อเทียบกับจำนวนวัดมากมายมหาศาลในอยุธยา (ราวๆ 400 วัด แต่ในตัวจังหวัดเหลือจิตรกรรมอยู่แค่ 3-4 วัดเท่านั้น) ส่วนจังหวัดรอบๆอยุธยาบางจังหวัดก็ไม่เหลือเลย เพราะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมไปหมด อย่างอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ที่มีวัดสมัยอยุธยาเยอะๆ ก็ไม่มีจิตรกรรมสมัยอยุธยาเหลือ ไปเหลือตกค้างอีกทีแถบเพชรบุรี นนทบุรี และบางกอก อันเป็นเมืองท่าเก่าของอยุธยา และเมื่อย้ายเมืองหลวง วัดสมัยอยุธยาก็ได้รับอานิสงส์ปฏิสังขรณ์ไม่โรยร้าง จึงพอเหลือวัดเก่าๆแถบฝั่งธนที่ยังรักษาจิตรกรรมแบบอยุธยาตอนปลายไว้บ้าง

เพราะจิตรกรรมไทยเปราะบางมาก ไม่ได้ซึมเข้าไปในเนื้อปูนเหมือนกับจิตรกรรมจีนหรือยุโรป ประกอบกับอากาศที่ชื้น ฝนตกบ่อย  หลังคาที่รั่วง่าย และคนไทยจำนวนมากไม่มีจิตสำนึกอนุรักษ์ เมื่อเห็นใกล้พังก็ลบเขียนใหม่ สบายและง่ายกว่ามานั่งซ่อมครับ

รายชื่อวัดที่มีจิตรกรรมสมัยอยุธยา

สมัยสุโขทัย

1. เจดีย์ทรงปราสาทยอดวัดเจ็ดแถว          ศรีสัชนาลัย

2. เจดีย์วัดเก้ายอดศรีสัชนาลัย

3. วัดพระเชตุพนสุโขทัย (ลายเส้น)

4. วัดศรีชุมสุโขทัย (ลายเส้น)

5. วัดศรีสวายในคูหาปรางค์

6. วัดช้างล้อมศรีสัชนาลัย (เหลือลายเส้น)

7. วัดตระพังทองหลาง(เหลือลายเส้น)

สมัยอยุธยาตอนต้น

1. วัดมหาธาตุอยุธยา (ซุ้มเรือนแก้วในปรางค์บริวาร)

2. วัดราชบูรณะ ในกรุปรางค์ประธาน (แต่เดิมมีในเจดีย์บริวารแต่ถล่มไปแล้ว)

3. วัดมหาธาตุลพบุรี (มีในปรางค์บริวาร)

4. วัดมหาธาตุราชบุรี

5. วัดพระราม(อาจจะเป็นงานซ่อมในสมัยอยุธยาตอนปลาย)

6. วัดนครโกษาในปรางค์

สมัยอยุธยาตอนกลาง

       ไม่มีเหลือเลยนอกจากตามสมุดข่อยเล็กน้อย และตามบางกรุ เช่น กรุวัดเชิงท่าอาจจะเก่าถึงอยุธยาตอนกลาง หรือวัดสิงหาราม และวัดพระศรีสรรเพชญ์

สมัยอยุธยาตอนปลาย

1. คูหาปรางค์บริวารวัดไชยวัฒนารามและตามระเบียงคด

2. วัดเขาเหลือ ราชบุรี

3. วัดปราสาท นนทบุรี

4. วัดช่องนนทรี

5. วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี

6. วัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี

7. ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา

8. วัดใหม่ประชุมพล อยุธยา ในคูหาเจดีย์และในตำหนัก

9. วัดพระศรีสรรเพชญ์ แผ่นโลหะจารและเคยมีซากจิตรกรรมที่คูหาเจดีย์ประธาน โดนลบหมดแล้ว

10. หอไตรวัดบางขนุน นนทบุรีเคยมีจิตรกรรมเทพนม โดนซ่อมเหลือแต่ลายกาวน้ำบนขื่อ

11.หอเขียนวังสวนผักกาด(อาจเป็นงานรัตนโกสินทร์ตอนต้น)

12.กุฏิวัดกษัตราธิราช อยุธยา (ไม่ทราบว่ายังเหลืออยู่หรือไม่)

13.วัดเชิงท่า ในกรุปรางค์ เป็นอดีตพุทธลบเลือนมาก

14. วัดสิงหาราม ในกรุปรางค์ (กลบฝังไปแล้ว)

15. วัดพระงาม ในกรุปรางค์ (ร้าง)

16. วัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี

17. วัดศาลาปูน (เทพชุมนุมอาจเป็นของเก่า)

18. วัดบรมพุทธาราม ในบานแผละข้างประตู

19. วัดกุฎีดาว อยุธยา เคยมีลายพุ่มข้าวบิณฑ์แต่ลบเลือนไปหมดแล้ว

20.วัดราชประดิษฐาน เคยมีจิตรกรรมฝาผนังรอดมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันไม่มีแล้ว

21. วัดยม อยุธยา เคยมีจิตรกรรมฝาผนัง รอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 คัดลอกไว้ในสมุดข่อย

22.สมุดภาพไตรภูมิฉบับต่างๆ เช่น ฉบับกรุงเบอร์ลินฉบับบริติชมิวเซียม ฉบับ 6 และ 10

23. ตู้พระธรรมต่างๆยังคงเหลือเป็นจำนวนหนึ่ง

จิตรกรรมสมัยกรุงธนบุรี และต้นกรุงที่คาบเกี่ยวกับอยุธยาตอนปลาย

1. สมุดภาพไตรภูมิฉบับธนบุรี

2. หอไตรวัดระฆัง กรุงเทพฝีมือพระอาจารย์นาค สมัยรัชกาลที่ 1

3. จิตรกรรมวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ กรุงเทพ) ถูกระเบิดทำลายไปหมดแล้ว

4. วัดภุมรินทร์กุฎีทอง อัมพวา เชื่อว่าเป็นงานเขียนยุครัชกาลที่ 1

5. วัดใหม่เทพนิมิตร ธนบุรี

6. วัดดุสิตาราม กรุงเทพ บางผนัง

7. วัดไชยทิศ กรุงเทพบางผนัง

8. พระที่นั่งพุทไธสวรรย์วังหน้า  บางผนัง

9. วัดราชสิทธาราม(บางผนัง)

10. ฝากุฏิวัดบางแคใหญ่ อัมพวา (สันนิษฐานว่าสมัยรัชกาลที่2)

11. วัดชมภูเวก นนทบุรี

12. วัดประดู่ทรงธรรม อยุธยา

13. วัดช้างใหญ่ อยุธยา

14. วัดกู้ นนทบุรี (หมายเลข 11 -14 ยังกำหนดอายุได้แน่นอน ฝีมือสกุลช่างเดียวกันอาจใหม่ลงมาถึง ร.4)

15. วัดโบสถ์สามเสน กรุงเทพ

16. วัดรวกบางบำหรุ กรุงเทพ (เหลือเรือนแก้วหลังพระประธาน)

17. วัดพระยาศิริไอสวรรย์ กรุงเทพ (เทพชุมนุมชุดบนอาจเก่าถึงสมัยอยุธยา)

18. วัดกลางวรวิหาร (สมุทรปราการ)






Create Date : 03 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2559 13:47:19 น.
Counter : 2995 Pageviews.

0 comment
วัดยางป่าที่หายไป


ผมหารูปถ่ายเก่าวัดยาง (ร้าง) ในอำเภอบางกรวย นนทบุรี แห่งนี้ไม่เจอแล้ว เมื่อปีที่แล้วเข้าไป มันเป็นซากโบราณสถาน ที่เหลือแต่ผนังโบสถ์เก่าพังๆสี่ด้าน หลังคาไม่มี มีหลวงพ่อพระประธานอยู่องค์เดียว ตั้งอยู่ในสวนบางกรวย พอไปอีกครั้ง โบสถ์งอกครับ โบสถ์งอก 

บางกรวยมีวัดกว่า 60 แห่งริมคลองอ้อม (ที่ยาวแค่ 17 กิโล) มีวัดไม่พอใช้หรือครับ ถึงต้องไปก่อโบราณสถานขึ้นมาใหม่ บางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพระไม่ใช้วัดด้วยกัน ต้องสร้างใหม่อยู่เรื่อย แล้วกรมศิลป์เข้าไปขุดหรือยัง เทคอนกรีตเป็นลานร้อนไปหมด





Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 10:56:31 น.
Counter : 2839 Pageviews.

4 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments