พระเจ้าหย่อนตีนที่นครวัด (Walking Buddha in Angkor Wat)



พระพุทธรูปลีลาหรือพระเจ้าหย่อนตีนนั้นแสดงเหตุการณ์หลายตอนในพุทธประวัติแต่ส่วนมากจะเป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่เดิมเราเชื่อกันว่า พระพุทธรูปลีลาในศิลปะสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพม่าหรือศิลปะลังกาและนำมาแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดบางประการ โดยเฉพาะการลีลาโดยเขย่งปลายพระบาทและการทำลีลาลอยตัวไม่ยึดติดกับผนัง ซึ่งไม่มีศิลปะใดสร้างได้เพราะจำเป็นต้องอาศัยการคำนวณรับน้ำหนักพระบาทเป็นอย่างดี ในศิลปะลังกาและพม่าการเสด็จลงจากดาวดึงษ์เป็นเพียงการเหลื่อมพระบาทเท่านั้นไม่มีการยกส้นพระบาทอย่างในศิลปะสุโขทัย อย่างไรก็ตาม จากภาพสลักนี้ที่ค้นพบในระเบียงคดชั้นสามของปราสาทนครวัดเราพบว่า พระพุทธรูปโกลนนี้แสดงอิริยาบถลีลาโดยเขย่งปลายพระบาทแล้ว จึงเชื่อว่าการเขย่งปลายพระบาทอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในศิลปะสุโขทัยแต่อาจจะมีการสร้างมาแล้วในศิลปะเขมรในยุคบายน (เพราะลักษณะพระเศียรที่มีการสร้างรัศมีทรงกรวยแหลมคล้ายกับศิลปะอินเดียแบบปาละที่เข้ามามีอิทธิพลในช่วงศิลปะบายน)

Some scholar said the beginning of Walking Buddha image was found in Ceylon or Myanmar in the Descent from Tavatimsa heaven scene and were imitated by artisan from Buddhist world around southeast Asia especially in Sukhothai art in Thailand.





Create Date : 24 ตุลาคม 2559
Last Update : 31 ตุลาคม 2559 10:57:09 น.
Counter : 687 Pageviews.

0 comment
ศาลาหลังนี้หายไปแล้ว (วัดพนัญเชิง)

วันนี้ (18 มกราคม 2557) รุ่นน้องผมคนหนึ่งไปเที่ยววัดพนัญเชิงอยุธยา มาครับ และมาเล่าให้ฟังในเฟซบุ๊คว่า ศาลาปั้นหยาหลังหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหายไปแล้วครับ มันคงจะเกะกะกีดขวางทางการจราจรกระมังครับ ทางวัดจึงรื้อออกไปไม่รู้ว่ารื้อออกไปไว้ที่ไหน แต่รู้สึกเสียดายมากๆครับถ้าทางวัดยังเก็บรักษาไว้ก็ยังดี เพราะสภาพศาลายังสวยงามอยู่ ไม่ได้ทรุดโทรมผุพังสมควรแก่การรื้อเลยครับ

จึงขอบันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่ง วัดพนัญเชิงเคยมีศาลาสวยๆแบบนี้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาครับ



gก


ภาพแรกถ่ายเมื่อเดือนมกราคม ปี 2556 ครับ ส่วนภาพล่างถ่ายต้นปี 2557 



Create Date : 18 มกราคม 2557
Last Update : 18 มกราคม 2557 21:52:53 น.
Counter : 789 Pageviews.

0 comment
ตาลปัตรสมัยลพบุรี (Ceremonial fan in Khmer art)

ไม่ง่ายนัก ที่เราจะพบเห็น ตาลปัตรสมัยโบราณ

 ผมติดค้างตัวเองมานานว่าพัดของพระสงฆ์รุ่นแรกนั้นหน้าตาอย่างไรเราไปวัดก็เห็นหลวงพ่อถือๆกันมาเป็นพัดหน้านางด้ามยาวสร้างสรรค์เป็นรูปภาพสวยงามหลากหลาย บางทีก็เขียนจารึกรายนามคนทำตาลปัตรถวายพระบางอันก็เขียนเป็นตราประจำหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่เห็นบ่อยที่สุด คือ “ไปไม่กลับหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”นับว่าเป็นครีเอถีป แอสเสสซอรี่จริงๆนะครับประโยชน์ของตาลปัตร เท่าที่เห็นๆพูดๆกันก็คือใช้บังหน้าพระตอนสวดมนต์ไม่ให้วอกแวกแต่ผมเคยเห็นครั้งหนึ่งว่า ท่านก็ใช้แปะโพยบทสวดด้วยเหมือนกันในกรณีที่ไม่ได้สวดบทนั้นบ่อยๆ (เช่นการถวายอดิเรกต่อพระเจ้าแผ่นดิน)

พูดถึงตาลปัตรนี่แม้จะไม่จัดเป็นหนึ่งในอัฏบริขาร แต่ก็สำคัญกับพระมากๆและมีการพัฒนาต่อๆกันมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นพัดหน้านางสวยงามด้ามงาแบบที่เราเห็นในปัจจุบันผมก็พยายามหาคำตอบอยู่บ่อยๆว่าพัดโบราณมันหน้าตายังไงเพราะพัดที่เราเห็นสวยๆปักดิ้นทองแบบนี้มันเริ่มสมัยรัชกาลที่ 5 ลงมาทั้งนั้น

ทีนี้ก็ลองมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งศรีลังกา ทั้งพม่า ใช้พัดด้ามสั้นนิดเดียว ของลังกานั้น ด้ามตรงๆตัวพัดคล้ายรูปใบโพธิ์ ส่วนของพม่านั้นด้ามขดไปมาและเหมือนวิชนีที่พัดจากด้านข้างมากกว่า คงจะไม่ได้เอาไว้ปิดหน้าตอนสวดมนตร์เป็นแน่แท้แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ พัดในไทยโบราณจะมาจากไหน ก็ต้องมองไปที่เขมรเพราะเขมรเป็นต้นทางศิลปะไทยมาก่อน 

ภาพนี้มาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังจันทรเกษมอยุธยาครับ เป็นพระพุทธเจ้าทรงเครื่องประทับถือตาลปัตรด้ามสั้น คล้ายๆไม้ปิงปองพระหัตถ์หนึ่งวางบนสันพัด อีกพระหัตถ์จับด้าม การจับตาลปัตรแบบนี้ปรากฏอีกที่หน้าบันวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง สุโขทัยด้วยและสืบเนื่องต่อๆลงมาจนถึง วัดโบสถ์สามเสน ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่เรายังเห็นเค้าของการถือตาลปัตรด้ามสั้นแปลว่าพระภิกษุสยามเมื่อสามร้อยปีก่อนก็ยังไม่ใช้ตาลปัตรแบบบังหน้าเรื่องนี้ในลาลูแบร์มีเขียนภาพพระเอาไว้ชัดเจนครับ





ไว้ว่างๆผมจะลองหาภาพตาลปัตรจากแหล่งอื่นๆที่กล่าวมา มาโพสท์ให้ชมกันนะครับ



Create Date : 18 มกราคม 2557
Last Update : 18 มกราคม 2557 21:11:40 น.
Counter : 852 Pageviews.

0 comment
ภาพถ่ายเก่าวัดพนัญเชิง (The old picture of Wat Pananchoeng)

วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันทุกวันนี้ ถ้าไปบ่อยๆจะนึกภาพออกเองล่ะครับว่าวุ่นวายขนาดไหน เมื่อรถเฉียดปากประตูที่ทำเป็นหัวเม็ดยักษ์เข้าไปก็จะเห็นลานซีเมนต์ร้อนกรุ่นขนาดเจียวไข่ได้สีขาวสะอาดและสะท้อนชวนให้เกิดฝ้าและต้อกระจก ร้านค้าเรียงรายกันเป็นตับๆ ยังครับพอท่านลงจากรถ จุดมุ่งหมายของทุกคนคือ หลวงพ่อพนัญเชิงครับ พระพุทธรูปใหญ่สูงกว่า 17เมตรอันเป็นศรีของกรุงมา 690 ปี (ปี 2557)ดังนั้น ถ้าท่านไม่ไปแต่เช้าจริงๆท่านจะยัดอยู่ในวิหารที่เต็มไปด้วยควันธูปประตูไม้แกะสลักสมัยอยุธยาตอนปลายไม่เคยถูกเปิดอย่างปรานีปราศรัยและสองหูจะก้องไปด้วยมธุรสวาจาที่ผู้ดูแลวัดอวยพรอย่างเป็นระบบ

“รวยๆๆๆ เฮงๆๆๆ”

“เอามือตบกระเป๋า”

“เอ้าเอาผ้าห่มหลวงพ่อคลุมศีรษะก่อนนะครับ”

ฯลฯ

ใครที่อยากรวยมาไหว้หลวงพ่อจะกลับไปรวยหรือเปล่าก็แล้วแต่ความขยันหมั่นเพียรและบุญทำกรรมแต่งมานะครับ ส่วนวัดแน่นอน รวย!!

ผมไม่ได้บอกว่าวัดรวยผิดนะครับอย่างน้อยก็มีข้อดีก็คือ เมื่อน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554วัดพนัญเชิงเป็นวัดเดียวที่ “เอาอยู่”เป็นพื้นที่แห้งสนิทแห่งเดียวในกรุงศรีอยุธยา เพราะบารมีขององค์หลวงพ่อนี่แหละ(ก็มาจากทรัพย์บริจาคของเหล่าญาติโยมทั้งหลายกลายเป็นพนังกั้นน้ำสูงลิบ)

ถ้าท่านนึกภาพวัดแน่นๆคนล้นหลามในวันอาทิตย์ออกแล้ววันนี้ขอเอาภาพถ่ายเก่ามาให้ชมกันนะครับ ภาพนี้มาจากพิพิธภัณฑ์ของเล่น เกริกยุ้นพันธุ์ ท่านมีภาพถ่ายเก่าไว้มากทีเดียว เสียดายที่จัดแสดงไม่หมดและถ่ายมาจากในตู้กระจกจึงมองอะไรไม่เห็นได้มากนัก

เป็นอย่างไรครับเงียบสงบดีไหม สมัยก่อนองค์หลวงพ่อก็คงจะประดิษฐานอย่างเงียบๆในพระคันธกุฎีของท่านญาติโยมก็ไม่ได้แห่มามากมายอย่างทุกวันนี้ ซึ่งมันเต็มไปด้วยเต็นท์ หลังคาวิหารและโบสถ์สองหลังข้างหน้า ถ้าไปจะไม่ได้เห็นแล้ว เพราะวัดท่านกางเต็นท์คลุมรอบอาคารทั้งสองจนหมดผังอันงามสง่าจึงหดหายหมดไป กลายเป็นทัศนูจาด (ทัศนะ สมาสกับ อุจาด)

ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้บรรยากาศแบบนี้กลับมาอีกจังครับ 




s



Create Date : 18 มกราคม 2557
Last Update : 18 มกราคม 2557 20:37:19 น.
Counter : 2156 Pageviews.

0 comment
ค่าถ่ายภาพพระบาทวัดวรโพธิ์
(When I try to see the Buddha foot print at Wat varaBhodi, 
Ayutthaya.)

พระบาทวัดวรโพธิ์ เป็นพระบาทที่ถ่ายรูปยากที่สุดวัดหนึ่งในประเทศไทย เพราะเจ้าอาวาสท่านหวงมาก บอกว่า ถ้าจะถ่ายต้องไปขอหนังสือจากอาจารย์ก่องแก้วมาก่อน แล้วแกก็เอาสีทองมาทาไว้ (กันขโมย)

ผมเคยไปขอถ่ายครั้งหนึ่งแล้ว ท่านไม่ให้ถ่าย บอกว่าต้องมีหนังสือ ให้ดูได้อย่างเดียว ซึ่งแค่เห็นลายกนกที่ขอบฐาน ก็บอกอายุได้แล้วว่าน่่าจะอยู่ในรุ่นอยุธยาตอนกลางลงมา หลังจากน. ณ ปากน้ำแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงพระบาทองค์นี้เป็นจริงเป็นจังนัก

ค่าถ่ายรูปพระบาทครั้งนี้ ผมจ่ายไปเกือบพัน!!! เพราะต้องแลกกะหน้าแข้งข้างขวาให้หมาวัดที่มันหมั่นเขี้ยว รุมเป็นสิบ สุดท้ายหวงไม่หวงก็ต้องยอมละ ถ่ายได้ทุกซอกทุกมุม

เหมือนพระท่านจะรู้ว่าหมาวัดนี้ดุ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลท่านมีพร้อมครับ ตอนแรกก็ราดด้วยน้ำเกลือ แอลกอฮอล์ ยาแดง ยาเหลือง ประดังประเดกัน กลัวสุดฤทธิ์!!
แล้วรีบวิ่งไปโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ก่อนกลับท่านให้น้ำมันเมดอินวัดวรโพธิ์มาขวดนึง ใช้แก้เมื่อยขบ โอ้....ขอบพระุคุณมากครับ เฮ้อออ


เสียค่ายาไป 833 บาท ต้องฉีัดสามเข็ม ทั้งบาดทะยัก พิษสุนัขบ้า แล้วต้องไปฉีดอีกสามเข็ม ที่โรงบาลในกรุงเทพ

ค่าถ่ายรูปครั้งนี้ แพงสุดยอด!!!



ลายฐานเก่าแก่มาก อาจร่วมสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัดจุฬามณี ที่พิษณุโลกครับ




อีกสักภาพนะครับ ต่อไปวัดจะจัดสร้างมณฑปพระบาทแล้ว แต่โครงการยังไม่เริ่มต้น ท่าทางจะอีกยาวนานครับ

วัดนี้หมาเยอะมาก พระท่านว่าคนชอบเอามาปล่อย ขนาดติดป้ายด่าแล้วก็ยังมีมาเรื่อยๆ แต่ก็มีสัตวแพทย์มาฉีดยาทุกสามเดือน อ้อ...หมาที่กัดผมมีชื่อด้วยครับ สีดำเลยชื่อมอมแมม ยังไงก็วิ่งไปฉีดยาก่อนเพื่อความปลอดภัยครับ




(บล๊อกนี้อัพขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้อง คอมเมนต์เดิมอาจหายไปครับ)



Create Date : 27 เมษายน 2554
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2558 23:27:18 น.
Counter : 984 Pageviews.

2 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments