ร่องรอยนักเรียนนอกแบบฝรั่งรุ่นแรกของสยาม



นักเรียนนอกรุ่นแรกของสยาม ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกนั้น โดยทั่วไปเราจะนึกถึงอันโตนิโอ ปินโต ลูกครึ่งโปรตุเกส และกลุ่มนักเรียนทุนของพระนารายณ์ที่ไปฝรั่งเศสเมื่อ 300 ปีก่อน ไม่รู้ว่ามีเก่ากว่านี้ไหม

.
.
แต่จากบันทึกของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ธรรมทูตแห่งเอเชีย ท่านได้กล่าวถึงพระภิกษุ (Bonze) (คำๆนี้หมายถึงพระในศาสนาพุทธ เป็นคำโปรตุเกส มีที่มาจากภาษาจีน ก็มาจากคำว่าภิกษุนั่นเอง) ที่มาเรียนในวิทยาลัยเซนต์ปอลของท่าน ที่ก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2085 (รัชกาลพระไชยราชา) ที่เมืองกัว ประเทศอินเดีย ซึ่งทุกวันนี้เหลือแต่ซาก ที่สำคัญคือ ท่านกล่าวว่าพระภิกษุเหล่านี้มาจากเปกู (หงสาวดี) และสยาม

 


“ที่นี่มีภาษาที่ใช้พูดกัน 12 หรือ 13 ภาษา นอกจากภาษาถิ่นอินเดียจากทุกภูมิภาค ยังมีชาวแอฟริกา ชาวมาเลย์ ชาวจีน ผู้คนจากหมู่เกาะโมลุกกะ พระภิกษุหลายรูป (Bonzes) จากหงสาวดีหรือสยาม มีนักศึกษาหนุ่ม ๆ จากเอธิโอเปียหลายคน เมื่อปีที่แล้ว มีพระสังฆราชชาวอบิสซีเนียองค์หนึ่ง เพิ่งถึงแก่มรณภาพที่นี่ เรายังมีผู้ลี้ภัยจากศรีลังกาที่มาเรียนคำสอนที่นี่หลายคน มีราชทูตลังกา จากกรุงศิริวัฒนปุระ (แคนดี้) มาพำนักอยู่ และยังมีชาวญี่ปุ่นอีก 3 คนด้วย”
.
.


ซากวิทยาลัยเซนต์ปอล ที่เมืองกัว อินเดีย
(ที่มา : https://www.gettyimages.com/detail/photo/catholic-community-ruined-gateway-of-jesuit-high-res-stock-photography/521393674)

เราไม่ทราบว่าพระภิกษุเหล่านั้นไปทำอะไรในวิทยาลัยคริสตัง อาจจะไปเรียนศาสนศึกษารุ่นแรก ๆ ก็ได้มั้ง เพราะขนบของสยามโบราณ นักศึกษาที่จะออกไปเรียนต่างประเทศได้ ก็มีแต่พระภิกษุเท่านั้น (เช่นไปเมืองมอญ ไปศรีลังกา)

 

และถ้าหากบันทึกของท่านเป็นจริง สยามก็มีนักเรียนนอก (แบบตะวันตก) รุ่นแรก ๆ เมื่อเกือบ 500 ปีก่อนทีเดียว


(อ้างอิงจากบันทึกของนักบุญฟรังซิส https://archive.org/stream/lifeofstfrancisx00stewrich#page/264/mode/2up/search/30%2C000)




Create Date : 07 มิถุนายน 2561
Last Update : 7 มิถุนายน 2561 14:10:19 น.
Counter : 703 Pageviews.

2 comment
บันทึกของนักบุญฟรังซิสในมะละกา


นักบุญฟรังซิสออกเดินทางจากเมืองกัวในอินเดียไปมะละกา (ปัจจุบันอยู่ในมาเลเซีย) ในปี 1545 และใช้มะละกาเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาไปสู่หมู่เกาะโมลุกกะและโมโร ในแถบอินโดนีเซีย

ในปลายเดือนกันยายนปี1545  นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ได้มาถึงเมืองมะละกา ชื่อเสียงของท่านจะดำรงอยู่ในเมืองนี้ไปอีกตราบนานเท่านานชายแก่คนหนึ่งได้กล่าวไว้ในปี 1616 ว่า“ตอนที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้เห็นคุณพ่อเซเวียร์ด้วยตาของตนเองเมื่อตอนที่ท่านขึ้นฝั่งครั้งแรกที่มะละกาประชาชนต่างวิ่งกรูกันมาที่อาเพื่อต้อนรับท่าน พวกเขาตะโกนอย่างยินดีว่า“บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้มาถึงที่นี่แล้ว”



(แผนที่มะละกา ที่มา : https://khleo.tripod.com/oldpics.htm)

ก่อนที่ชาวโปรตุเกสจะเข้ามาเมืองแห่งนี้ปกครองโดยราชวงศ์มาลายูซึ่งยอมรับนับถือศาสนาอิสลามชาวโปรตุเกสได้ยึดครองมะละกาในปี1511 อัลบูเคิร์กคีข้าหลวงโปรตุเกสในอินเดีย ได้ยึดเมืองนี้จากพวกมุสลิมและสร้างป้อมปราการรวมทั้งโบสถ์ขึ้น ใช้เป็นฐานทัพสำหรับกองทหารในการดูแลอินเดียตะวันออก แต่ก็มีอุปสรรคเกิดขึ้นเพราะมีค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการดูแลป้อม

เมืองมะละกานั้นคึกคักอย่างยิ่งเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งชาวอินเดีย ชาวอาหรับ ชาวจีน ชาวตะวันออกกลางแล้วชาวโปรตุเกส ในขณะนั้นยอดแหลมของโบสถ์ก็แข่งกับหอสวดมนต์ของมัสยิดแล้วอย่างไรก็ตาม จนกระทั่งบัดนี้ศาสนาคริสต์ก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าเครื่องมือทางการเมืองของโปรตุเกส

ในปี1521 ชาวสเปนได้เดินทางมายังตะวันออกเข้ามาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นการยากที่จะกล่าวว่าขอบเขตของสเปนอยู่ตรงไหนและโปรตุเกสอยู่ตรงไหน และมักจะมีปัญหาการขัดแย้งกันระหว่างสุลต่านพื้นเมืองและผู้มาใหม่อย่างอยู่บ่อยครั้ง


ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ซาเวียร์เขียนจดหมายไปหาบาทหลวงในโปรตุเกสว่า

“ข้าพเจ้าเทศน์สอนในอาสนวิหารทุกวันอาทิตย์เริ่มรู้สึกไม่ค่อยพอใจในคำเทศน์เหล่านั้นมากนักเท่าๆ กับผู้ฟังที่จะต้องอดทนฟังข้าพเจ้า ทุกวันเป็นเวลา 1ชั่วโมงหรือกว่านั้น ข้าพเจ้าสอนเด็ก ๆ ให้สวดภาวนาและประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อคอยฟังคำสารภาพบาปของผู้ป่วยทำมิสซาและพูดคุยกับพวกเขา ข้าพเจ้ายุ่งอยู่กับการฟังสารภาพบาปและไม่สามารถที่จะรับฟังพวกเขาได้ทั้งหมดงานหลักอย่างหนึ่งของข้าพเจ้าก็คือการแปลบทสวดจากภาษาลาตินไปยังภาษาที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้ในแถบนี้การไม่รู้ภาษาก็เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง”

“ขณะที่ข้าพเจ้ารอคอยลมมรสุมอยู่ที่ซานโทเม (ในอินเดีย) เพื่อที่จะออกเดินทางไปมะละกา ข้าพเจ้าได้พบพ่อค้าคนหนึ่งที่มีเรือพร้อมสินค้า และได้พูดคุยกับเขาเรื่องเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าแล้วในที่สุด พระเจ้าก็ได้สอนเขาว่า มีสินค้าอื่น ๆ ที่เขาไม่เคยรู้จักหรือเคยซื้อขายมาก่อน(หมายถึงสวรรค์) ดังนั้นเขาจึงละทิ้งเรือและสินค้านั้นเสีย และติดตามข้าพเจ้าไปยังMacacares โดยตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างยากจนถ่อมตัว และรับใช้พระเป็นเจ้าเขามีอายุ 35 ปี เคยเป็นทหารมาก่อน และใช้ชีวิตทางโลกอย่างเต็มที่แต่ตอนนี้เขากลายมาเป็นทหารของพระคริสต์ เขาออกคำสั่งตัวเองให้สวดภาวนาชายผู้นี้มีชื่อว่า Jaun d’Eyro”

เมื่อข้าพเจ้าไปถึงมะละกาก็มีจดหมายจำนวนมากจากโรมและโปรตุเกสส่งมาให้ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้อ่านกลับไปกลับมาหลายรอบ จนรู้สึกว่าพวกพี่น้องของข้าพเจ้าก็อยู่ที่นี่ด้วยแม้ว่าจะไม่ใช่ร่างกาย อย่างน้อยก็ด้วยจิตวิญญาณ

“เหนือกว่าสิ่งใดทั้งหมดพี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าภาวนาให้พวกท่านโดยอาศัยความรักของพระเจ้าเพื่อที่จะให้ส่งมิชชันนารีในบรรดาหมู่คณะของเราออกมาทุกปีเพราะพวกเขาเป็นที่ต้องการมาก การที่จะมาอยู่ท่ามกลางคนนอกศาสนานั้นการศึกษาสูงไม่จำเป็นเลย แต่การบำเพ็ญภาวนาทางจิตต่างหากที่พวกเขาจำเป็นต้องทำดังนั้นข้าพเจ้าขอสรุปว่าการภาวนานั้น จะช่วยวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ประทานพละกำลังในจิตวิญญาณของเราให้เต็มและนำไปสู่การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์”

วันที่10 เดือนพฤศจิกายน 1514 เมืองมะละกา

………….......................................................................................................................

นักบุญฟังซิสเซเวียย้ำว่าการศึกษาสูงนั้นไม่จำเป็นเลยท่ามกลางคนนอกศาสนาซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าประสบการณ์ต่างหากที่จะเป็นบทเรียนที่จำเป็นที่สุด

ในลิสบอนท่านได้เคยโต้เถียงกับนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลาเพื่อนของท่าน เพื่อที่จะให้ส่งคนมาช่วยงานท่านในเอเซีย แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่รู้หนังสือมากนักก็ตามนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ได้เน้นย้ำความตั้งใจเช่นนี้อีกครั้งในจดหมายฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ท่านกลับจากหมู่เกาะโมลุกกะท่านก็เปลี่ยนความคิดนี้อย่างสิ้นเชิง อาจเนื่องด้วยความล้มเหลวของ FranciscoMansillas ก็เป็นได้ เมื่อท่านสั่งให้เขาเดินทางไปหมู่เกาะโมลุกกะเขากลับปฏิเสธที่จะไป

เมื่อกลับมาพิจารณาดูเอกสารในปี1552 จะเห็นได้ว่าท่านเปลี่ยนความคิดไป โดยเน้นว่าท่านต้องการ “มากกว่า” คนที่ศรัทธาอย่างเรียบง่ายอย่างเช่นตัวอย่างจดหมายที่ส่งไปยัง Gaspar Barzee ท่านกล่าวว่า

“ขอให้ระวังว่า ท่านจะไม่ได้รับเอาบุคคลที่มีความสามารถน้อยอยุติธรรมและไร้เหตุผล คนอ่อนแอที่ไม่ควรค่า” (มาอยู่ด้วย)

ในเอกสารชิ้นเดียวกันยังกล่าวต่อไปอีกว่า

“อย่ารับเอาคนที่ไร้ความสามารถสำหรับหมู่คณะเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้รับการศึกษา”

และอีกครั้ง

“จงระมัดระวังว่าท่านจะไม่บวชพวกเขาคนใดคนหนึ่งให้เป็นบาทหลวงเพราะคุณพ่ออิกญาซีโอ ได้สั่งห้ามเอาไว้หนักหนาว่าถ้าหากว่าพวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือและมีประสบการณ์การทำงานหลายปี(เขาก็ไม่มีสิทธิ์จะบวช)”

ในสมัยนั้นมีข่าวลือนินทาเต็มไปหมด เกี่ยวกับบรรดาบาทหลวงที่ไม่มีการศึกษาหรือมีความสามารถไม่พอ ดังนั้นท่านจึงกำชับนักหนาว่า คนที่จะบวชได้จะต้องได้รับการเล่าเรียนที่เพียงพอฟรังซิสยังได้กำชับอีกว่า ในหมู่คณะของท่าน ควรจะมีคนจำนวนเพียงเล็กน้อยแต่ต้องมีประสิทธิภาพดีกว่ามีคนจำนวนมากแต่ไร้ประสิทธิภาพและความสามารถ

ท่านยังย้ำต่อไปว่าอย่าบวชคนที่ไม่มีความรู้เข้ามาอยู่ในคณะเยซูอิต ประสบการณ์ของท่านในภาคเอเชียนั้นทำให้ท่านคิดว่า คนที่ดีพอนั้นหายากเสียเหลือเกิน

อีกประโยคนึงในจดหมายของท่านที่กล่าวว่าการไม่รู้จักภาษาพื้นเมืองนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง ทำลายความเชื่ออย่างผิด ๆของนักเขียนบางคนที่กล่าวว่า นักบุญฟรังซิสเซเวียร์มีพระพรทางด้านการพูดภาษาต่างๆและบางคนยังกล่าวอีกว่า ท่านไม่เคยมีอุปสรรคเลยในการเรียนรู้ภาษาพื้นเมือง

หลังจากที่นักบุญฟรังซิสเซเวียร์อยู่ที่เมืองมะละกาได้1 เดือน ท่านก็ได้เขียนจดหมายไปหาเพื่อนที่เมืองกัวประเทศอินเดีย เกี่ยวกับการทำงานของท่านที่มะละกาในหมู่ชาวโปรตุเกสและพวกครึ่งชาติ

“ข้าพเจ้าไม่ได้ขาดแคลนงานทางฝ่ายจิตวิญญาณเลยทั้งในด้านการเทศน์สอนวันอาทิตย์และวันฉลองอื่น ๆรวมทั้งฟังสารภาพบาปของคนไข้ตามโรงพยาบาลจำนวนมากด้วยข้าพเจ้ายังออกเยี่ยมและอยู่กับคนพื้นเมืองชาติภาษาต่าง ๆข้าพเจ้าออกสอนศาสนาตลอดเวลาให้กับบรรดาเด็ก ๆ ที่เพิ่งจะเปลี่ยนศาสนาเพื่อที่จะให้พวกเขามีศรัทธาและโดยความช่วยเหลือขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราข้าพเจ้าได้สร้างสันติในระหว่างพวกทหารและประชาชนในยามค่ำคืนข้าพเจ้าออกไปเดินทั่วเมืองพร้อมกับสั่นกระดิ่งสวดภาวนาให้กับวิญญาณในไฟชำระ โดยนำเด็ก ๆ จำนวนมากไปด้วยเพื่อที่จะได้สอนหลักข้อเชื่อต่าง ๆ”

บุคคลหนึ่งที่ฟรังซิสเปลี่ยนศาสนาให้เป็นหมอชาวยิว พวกยิวมักจะมาฟังท่านเทศน์และเยาะเย้ยถากถางท่าน รวมทั้งชักชวนให้ชาวยิวอื่นๆ ต่อต้านบรรดามิชชันนารีด้วย แต่ฟรังซิสกลับเข้าไปคุยกับเขาตัวต่อตัวและรับประทานอาหารในบ้านของเขา ต่อมาไม่นานเขาก็เปลี่ยนศาสนาและรักษาความเชื่อไว้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

การประกาศศาสนาของท่านที่เมืองมะละกาก็คล้ายคลึงกับที่อินเดียคือเข้าไปในย่านของชาวยุโรป ตักเตือนพวกเขาเกี่ยวกับศีลธรรม และผูกมิตรกับชาวบ้านบุคลิกของท่านนั้นร่าเริงอยู่เสมอ เต็มไปด้วยความอดทนและเห็นอกเห็นใจ

บางครั้งบรรดาทหารโยนไพ่ทิ้งในขณะที่ท่านเข้ามาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ แต่ท่านกลับบอกให้พวกเขาเล่นเกมต่อไปท่านกล่าวว่าทหารก็ควรจะประพฤติตัวเหมือนทหาร ไม่จำเป็นจะต้องให้เหมือนกับนักบวช (แต่ก็ไม่จำเป็นที่พวกเขาจะต้องประพฤติตัวเหมือนสัตว์ร้าย)แล้วท่านก็ใช้โอกาสเหล่านี้ในการพูดถึงข่าวดีของพระคริสต์ต่อไป

ในที่สุดแล้วท่านก็ประพฤติตัวเหมือนอย่างทหารเมื่ออยู่กับทหารแล้วเหมือนกับพ่อค้าเมื่ออยู่กับพ่อค้านี่คงจะเป็นพรสวรรค์ของท่านอย่างหนึ่งในการปรับตัวเพื่อช่วยให้การประกาศข่าวดีของพระเป็นเจ้าในหมู่คนบาปเป็นไปได้อย่างราบรื่น

บรรดาลูกเรือที่ท่านโดยสารมาด้วยนั้นเกือบทั้งหมดก็เป็นคนที่แทบจะไม่มีความหวังในชีวิต หรือเป็นคนอับโชคที่มาขอคำปรึกษาจากท่านก็ด้วยเหตุนี้เมื่อนักบุญฟรังซิสเซเวียร์เห็นชีวิตของคนเหล่านั้นก็ได้ออกไปพบพวกเขาบนเรือบ่อย ๆท่านจะคุยกับพวกเขาถึงเรื่องที่เขาชำนาญและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางศาสนาที่จับอกจับใจซึ่งหลายครั้งท่านก็ต้องหลีกเลี่ยงหัวข้อที่จะรบกวนจิตใจของพวกเขาเกินไป

ลูกเรือคนหนึ่งรู้สึกถึงความสุภาพอ่อนโยนของท่านและได้เปิดใจคุยกับท่าน เล่าว่าเขาทำบาปต่าง ๆมามากมายและมีความปรารถนาที่จะกลับคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าในที่สุดเขาก็บอกกับท่านว่าจะสารภาพบาปให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเขาก็หลบหน้านักบุญฟรังซิสเซเวียร์มาตลอด ไม่ยอมสารภาพบาปสักที จนวันหนึ่งมีโอกาสพบกันโดยบังเอิญที่ชายหาดแล้วเขาก็หลบหน้าท่านอีกต่อไปไม่ได้ จึงกล่าวกับท่านว่า

“คุณพ่อครับท่านพร้อมจะฟังสารภาพบาปของผมเมื่อไร”

ฟรังซิสยิ้มแล้วตอบว่า“เพื่อนรัก และเมื่อไหร่ล่ะฉันจะได้รับฟังเธอ”

ทั้งสองจึงเดินไปด้วยกันบนหาดทรายฟรังซิสทำสำคัญมหากางเขน ส่วนเขาก็เริ่มต้นสารภาพบาปแต่การสารภาพของเขาเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก และตะกุกตะกัก ฟรังซิสจึงนำเขาไปยังโบสถ์น้อยแห่งหนึ่งใกล้กับชายหาดเขาจึงได้สารภาพบาปที่กระทำมาทั้งหมดด้วยอาการของคนที่เป็นทุกข์ถึงบาปอย่างแท้จริงและในที่สุด ในเวลาต่อมาอีกหลายปี ผู้ชายคนนี้ก็สิ้นใจในศีลในพรของพระเจ้า ในฐานะคนที่กลับใจอย่างสงบสุข

Valignano กล่าวว่ามะละกาเปลี่ยนไปมากหลังจากที่เซเวียร์มาเยือนเขาออกไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนต่าง ๆ ที่ได้รับการเพาะปลูกความเชื่อไว้แล้วให้ได้เห็นด้วยตาของท่านเองวัดทุกอย่างเป็นไปตามสมควร ความผิดอะไรที่ควรแก้ไขกิจกรรมอะไรที่ควรดำเนินต่อไปมิชชันนารีคนไหนหรือแบบไหนที่ควรจะถูกส่งออกไปเผยแพร่ศาสนา





Create Date : 07 มิถุนายน 2561
Last Update : 7 มิถุนายน 2561 11:42:09 น.
Counter : 522 Pageviews.

0 comment
จดหมายนักบุญฟรังซิสในหมู่บ้านชาวประมง (2)


จดหมาย ที่เหลือจากนักบุญฟรังซิสนี้เองทำให้เราล่วงรู้การเทศน์สอนช่วงแรก ๆ ในอินเดียของท่านได้ เราทราบว่าท่านไม่มีผู้ช่วยเหลือใด ๆ เลยนอกจากนักเรียนจากวิทยาลัยเซนต์ปอล 2 คนในเวลานั้น มันซิอัสกับคุณพ่อปอลแห่งคาเมริโนยังไม่มาถึง ฟรังซิสอาจจะกลับไปกัวครั้งหนึ่งหลังจากอยู่ที่ปารวาส ท่านคงจะเขียนจดหมายนี้ในตอนเดินทางกลับ ท่านข้าหลวงแห่งกัวได้ขอร้องให้ท่านเขียนเรื่องพระคุณการุณย์ดังเราจะเห็นในบทสุดท้ายของจดหมาย เพื่อที่จะเสนอไปทางสันตสำนักท่านเดินทางกลับมาที่ชายฝั่งอีกพร้อมกับมันซิอัสและให้คุณพ่อปอลแห่งคาเมริโนไว้เป็นมหาธิการที่วิทยาลัยเมืองกัว


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถึงชาวคณะของเราในโรม

ขอพระหรรษทานและความเมตตาของพระคริสต์ช่วย

เหลือเราตลอดไปอาแมน

     นี่เป็นปีที่ 3 แล้วที่ข้าพเจ้าออกจากโปรตุเกสข้าพเจ้าเขียนถึงท่านเป็นครั้งที่ 3 เช่นกันแต่ได้รับจดหมายตอบกลับเพียงครั้งเดียวจากท่าน ซึ่งลงวันที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 1542พระเป็นเจ้าทรงเป็นพยานว่าข้าพเจ้ายินดีเพียงไร ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้รับเมื่อ 2เดือนก่อน ช้ากว่ากำหนดไปเล็กน้อย เพราะเรือต้องหยุดรอในฤดูหนาวที่โมซัมบิค

ข้าพเจ้าและฟรังซิสมันซิอัส ใช้ชีวิตร่วมกันในพระคริสต์ที่โคโมริน พวกเขามีจำนวนมากและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เมื่อข้าพเจ้ามาถึงที่นี่ครั้งแรก ได้ถามชาวบ้านว่ารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ และรู้คำสอนอะไรมากกว่าตอนที่เป็นคนนอกศาสนาบ้างเขาตอบเพียงแค่ว่า เขารู้ว่าตัวเองเป็นชาวคริสต์เท่านั้นแต่พวกเขาพูดภาษาโปรตุเกสไม่ได้เลยเขาไม่รู้รหัสธรรมล้ำลึกใดๆเกี่ยวกับข้อศาสนาของเรา เราต่างไม่เข้าใจกันข้าพเจ้าพูดภาษาคาสติเลียน และพวกเขาพูดภาษามะละบาร์ดังนั้นข้าพเจ้าจึงแสวงหาคนที่สามารถพูดได้ 2 ภาษา เราค้นหากันหลายวันและยากมากที่จะแปลคำสอนเป็นภาษามะละบาร์ที่นี่ข้าพเจ้าเรียนรู้ด้วยจิตใจและข้าพเจ้าเริ่มที่จะท่องเที่ยวไปตามหมู่บ้านริมชายหาดสั่นกระดิ่งเรียกบรรดาเด็กๆมารวมกัน ข้าพเจ้าทำเช่นนี้วันละ 2 ครั้งเพื่อสอนคำสอน เมื่อผ่านไปเดือนกว่าเด็กๆ ก็เรียนรู้ได้ดี จึงได้กำชับให้พวกเขากลับไปสอนพ่อแม่ ครอบครัวและเพื่อนบ้านด้วย

ทุกๆวันอาทิตย์ข้าพเจ้ารวบรวมพวกเขาในวัด ชาวบ้านมากันอย่างพร้อมเพรียงและมีความยินดีที่จะได้เรียนคำสอน ดังนั้น ข้าพเจ้าเริ่มโดยออกพระนามพระตรีเอกภาพพระบิดา พระบุตร และพระจิต ข้าพเจ้าสวดบทข้าแต่พระบิดาเสียงดัง บทวันทามารีอาและบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้าในภาษาของประเทศนี้พวกเขาสวดตามคำต่อคำด้วยเสียงดังและด้วยหัวใจที่เชื่อหนักแน่นมั่นคง ข้าพเจ้าใช้บทยืนยันความเชื่อมากกว่าบทอื่นๆและบอกพวกเขาว่าผู้ที่เชื่อตามนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวคริสต์หลังจากนั้นก็ตามด้วยบัญญัติสิบประการ สอนกฏต่างๆของชาวคริสต์ว่าใครก็ตามที่ทำตามเช่นนี้อย่างซื่อสัตย์ก็จะเป็นชาวคริสต์ที่ดีและคริสเตียนแท้และจะได้รับความรอดนิรันดรและใครก็ตามที่ไม่ทำตามแม้แต่ข้อเดียวก็จะเป็นคริสเตียนที่ไม่ดีพวกเขาจะถูกโยนลงไฟนรก ยกเว้นแต่ว่าจะได้สำนึกบาปแล้วข้าพเจ้าแสดงกฎอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นเหตุเป็นผลเช่นนี้กับพวกเขาสำหรับคนที่จะรับศีลล้างบาปข้าพเจ้าให้พวกเขาท่องบทสารภาพบาป ให้พวกเขายืนยันความเชื่อ และเตรียมตัวอย่างดีกิจกรรมทั้งหมดจบลงด้วยบทซัลเวเรยีนา วิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระมารดาของเรา

มีคนจำนวนมากลับใจเป็นคริสเตียนและข้าพเจ้าเหนื่อยล้ามากที่จะล้างบาปผู้คนทั้งหมู่บ้านในวันเดียวหลายครั้งที่ข้าพเจ้าไม่มีแรงและไม่มีเสียงจะเปล่งบทแสดงความเชื่อออกมาจำนวนเด็กทารกที่ล้างบาปและเด็กเล็กๆที่มาเรียนคำสอนมีเยอะจนน่าตกใจทีเดียวเด็กๆพวกนี้เป็นพระพรของพระเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นคนดีกว่าบรรดาบรรพบุรุษพวกเขาจะรักกฏของพระ และมีความร้อนรนอย่างล้นเหลือที่จะเรียนรู้พระศาสนาของเราและสอนคนอื่นๆอีกด้วย


พวกเขาเกลียดชังรูปเคารพนอกรีตอย่างยิ่งและไม่ชอบการปฏิบัตินอกรีตด้วยเมื่อรู้ว่าบรรดาพ่อแม่ของเขายังแอบทำพิธีนอกรีตอยู่ เด็กๆจะรีบมาบอกข้าพเจ้าแล้วเมื่อข้าพเจ้ารู้ว่ามีการบูชาเทพเจ้านอกรีตแล้วก็จะไปที่นั่นพร้อมกับกลุ่มเด็กๆจำนวนมากผู้ซึ่งจะทำให้ปีศาจต้องอับอายด้วยการดูถูกเหยียดหยามมันตรงกันข้ามกับที่มันได้รับเกียรติจากการบูชาของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อไปถึงพวกเขาจะวิ่งไปยังรูปเคารพเหล่านั้น ผลักให้ล้มลงและถ่มน้ำลายรดทุบตีเตะต่อยจนกระทั่งแตกเป็นชิ้น ๆ”


ข้าพเจ้าอาศัยอยู่กับหมู่บ้านคริสตชนนี้กว่า4 เดือนแล้ว ใช้เวลาในการแปลคำสอน พวกชาวบ้านมักจะมาตามข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนไข้ซึ่งเมื่อไปถึงข้าพเจ้าก็จะอ่านพระวรสารเหนือพวกเขา[1]ในเวลาอื่นๆเราก็จะทำงานประจำวัน เช่น สอนเด็กๆ โปรดศีลล้างบาป และตอบคำถามยากๆฝังศพคนตาย ข้าพเจ้าทำทั้งหมดด้วยความยินดีพวกชาวบ้านเชื่ออย่างเต็มใจว่าศาสนาของเราสามารถบรรเทาความเจ็บไข้ได้และถ้าข้าพเจ้าไม่สามารถไปเยี่ยมคนไข้ด้วยตนเองได้ข้าพเจ้าก็จะส่งเด็กๆที่ข้าพเจ้าเชื่อใจไปแทน พวกเขาจะไปหาคนไข้รวบรวมครอบครัวและเพื่อนบ้านมาสวดบทข้าพเจ้าเชื่อร่วมกัน และกระตุ้นเตือนให้คนเจ็บมีกำลังใจว่าจะได้รับสุขภาพที่ดีกลับมาหลังจากนั้นก็จะร้องเพลงสวดด้วยกัน ด้วยความศรัทธาและร้อนรนซื่อๆของเด็กเหล่านี้ก็ได้ทำให้คนป่วยจำนวนมากฟื้นคืนสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ

พระองค์ช่างดีอะไรเช่นนี้ พระเจ้าทรงโปรดให้การเจ็บไข้เหล่านี้เป็นโอกาสที่จะเรียกคนป่วยกลับคืนสู่ความรอดและนำพวกเขามาสู่ศรัทธาได้ทันที


ข้าพเจ้ายังกำชับให้เด็ก ๆ สอนพื้นฐานคำสอนคริสเตียนให้กับคนไม่รู้ตามบ้านบนถนน และตามสี่แยก เมื่อเห็นว่าหมู่บ้านใดมีความเชื่อมั่นคงดีแล้วข้าพเจ้าก็ออกไปยังที่อื่นๆ และทิ้งสำเนาคำสอนเอาไว้ทั้งบอกคนที่รู้หนังสือให้คัดลอกเก็บไว้ และย้ำให้ชาวบ้านท่องทุกๆวันเมื่อถึงวันฉลองต่างๆข้าพเจ้าก็ให้พวกเขามาชุมนุมกันร้องเพลงเกี่ยวกับความเชื่อพื้นฐานข้าพเจ้ามีหมู่บ้านที่ดูแลทั้งหมด 30 หมู่ และได้รวบรวมหนุ่มๆที่ฉลาดเอาไว้เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการชุมนุมท่านข้าหลวงดอนมาติน อัลฟอนโซยังได้บริจาคเงินกว่า 4000 เหรียญทองฟานัมต่อปีเพื่อเป็นเงินเดือนสำหรับครูคำสอนเหล่านี้ และหวังว่าจะมีการส่งครูคำสอนบางคนไปที่โปรตุเกสเพราะท่านเขียนขอร้องไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวแล้ว


“ผู้คนเหล่านี้แท้จริงแล้วมีสติปัญญาดีบางคนก็แสดงความเฉลียวฉลาดอย่างน่าทึ่ง จนข้าพเจ้ามั่นใจว่าหากเขาได้รับการสั่งสอนอย่างดีแล้ว เขาจะเป็นชาวคริสต์ที่ดีเลิศทีเดียวคนเหล่านี้มีเหตุผลเดียวที่จะไม่มาเป็นคริสตังก็คือไม่มีใครเดินทางมาสั่งสอนชี้นำทางให้เขาเป็นคริสตังได้ ข้าพเจ้าคิดอยากจะออกเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยทั่วทั้งยุโรปโดยเฉพาะในปารีส ตะโกนร้องเหมือนคนบ้าเผื่อว่าใครก็ตามที่ถูกฝึกให้เรียนหนังสือมากกว่าฝึกงานเมตตาจิตจะได้เกิดความสำนึกบ้างว่า น่าโศกเศร้าเพียงใดที่วิญญาณจำนวนมากจะต้องสูญเสียไปเพียงเพราะไม่มีใครนำเขาไปรู้จักพระเยซูคริสต์บางทีพวกนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ที่ได้เล่นเกมกับการศึกษามามาก อาจจะกลับใจพิจารณามโนธรรมใหม่เพื่อเข้าถึงความจริงอันเป็นนิรันดรจะได้ละทิ้งความทะเยอทะยานปรารถนาฝ่ายข้างโลก แสวงหาเลือกเอาน้ำพระทัยของพระ และร้องออกมาจากส่วนลึกของจิตใจว่า“ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่แล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงพระประสงค์ให้ข้าฯทำสิ่งใดโปรดส่งข้าพเจ้าไปยังที่ ๆ พระองค์ต้องการเถิด แม้แต่ในอินเดียก็ตาม! พระเจ้าผู้ทรงพระทัยดี!ชาวบ้านเหล่านี้จะเปี่ยมด้วยความยินดีเพียงใดหนอจากการวางใจในพระองค์และปลอดภัยในจิตวิญญาณตราบจนถึงชั่วโมงสุดท้ายในชีวิตที่ซึ่งเราจะต้องผ่านการพิพากษาอันเข้มงวดและไม่มีใครหนีรอดไปได้พวกเขาคงจะยินดีอย่างยิ่งทีเดียวเหมือนกับคำพูดของคนใช้ที่ดีในพระวรสารที่ว่า“นายเจ้าข้า ท่านให้เงินข้าพเจ้า 5 ตาแลนต์ นี่ ข้าพเจ้าทำกำไรเพิ่มได้อีก 5ตาแลนท์” พวกเขาทำงานหนักทั้งวันทั้งคืนเพื่อจะได้รับความรู้ใหม่ๆและร้อนรนที่จะเข้าใจวิชาต่างๆที่ศึกษา แต่พวกเขาใช้เวลาไปกับการเรียนเท่านั้นมิได้สนใจที่จะสั่งสอนความรอดทางวิญญาณเลยพวกเขาอยู่ห่างไกลจากการเตรียมพร้อมที่จะคิดบัญชีตัวเองต่อหน้าพระเป็นเจ้าเมื่อพระองค์จะตรัสกับเขาว่า “จงให้บัญชีของท่านแก่เราเถิด”ข้าพเจ้ากลัวว่าคนเหล่านี้ ผู้ใช้เวลามากมายในมหาวิทยาลัยเพื่อจะศึกษาศิลปศาสตร์เสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์เพื่อแสวงหาเกียรติยศเพื่อจะเป็นพระราชาคณะมากกว่าที่จะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และการผูกมัดตัวเองกับเกียรติเช่นนี้ย่อมเป็นกับดัก ข้าพเจ้าเคยผ่านมันมาแล้วเท่าที่เคยรู้มา คนฉลาดเหล่านี้เรียนให้สูง พัฒนาตัวเองให้เก่งกาจเพื่อหวังจะได้รับตำแหน่งสูง ๆ ในพระศาสนจักรแต่พวกเขาก็เสียเวลาไปอย่างไรค่าเพราะสิ่งต่างๆที่พวกเขาทำมุ่งตรงไปที่ผลประโยชน์ของตัวเองหาใช่มุ่งศึกษาเพื่อความดีของส่วนรวมไม่พวกเขาเกรงว่าพระเจ้าจะไม่เป็นความปรารถนาที่สองของเขานี่คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ละทิ้งทุกสิ่งและมาทำตามพระประสงค์ของพระข้าพเจ้าสารภาพต่อพระเจ้าว่า ข้าพเจ้าตัดสินใจแล้วเพราะข้าพเจ้าไม่สามารถกลับไปยุโรปด้วยตนเองได้ ว่าจะเขียนไปยังมหาวิทยาลัยแห่งปารีสไปหาอาจารย์ Cornet และ Picard เพื่อแจ้งให้ท่านทราบว่ามีคนนอกรีตอีกเป็นพันๆที่สามารถนำเข้ามาเป็นคริสตังได้โดยปราศจากปัญหายุ่งยากถ้าหากเรามีเพียงชายหนุ่มสักคนที่สามารถแสวงหาน้ำพระทัยของพระ ไม่ใช่น้ำใจของตัวและดังนั้น พี่น้องที่รัก กรุณาภาวนาต่อพระเป็นเจ้าให้ส่งคนเช่นนั้นมาทำงานในสวนองุ่นของพระองค์เถิด”

ข้าพเจ้าเขียนมาถึงท่านเมื่อปีที่แล้วเรื่องวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในเมืองกัว และโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นเรื่องการวางโครงสร้างอาคารนั้นเสร็จสิ้นไปแล้วและมีนักเรียนต่างศาสนาจำนวนมากจากหลากหลายชาติมาเรียนที่นี่ บางคนเรียนภาษาละตินบางคนเรียนอ่านและเขียน คุณพ่อปอลเป็นอธิการใหญ่ของวิทยาลัย ท่านทำมิสซาทุกวันฟังสารภาพบาป และให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง วิทยาลัยนี้กว้างขวางมาก มีนักเรียนถึง500 คน และมีสิ่งต่างๆเพียงพอแล้ว เงินทุนก็มีบริจาคเข้ามาจากผู้ใจศรัทธาหลายคนโดยเฉพาะท่านข้าหลวง คริสตชนที่นี่ต่างขอบคุณพระเจ้าสำหรับสามเณราลัยที่มีชื่อเรียกว่าซานตาเฟเราหวังว่าจะกลับใจคนต่างศาสนาได้มากมายด้วยความโปรดปรานของพระเป็นเจ้าและคงจะส่งนักเรียนเหล่านี้ออกไปตามดินแดนที่พระศาสนจักรภาคตะวันออกปกครองไปถึง

“ที่นี่เรามีพวกนอกศาสนาที่เรียกว่าพราหมณ์พวกเขาบูชาพระเจ้าหลายองค์กระทำพิธีกรรมที่ลี้ลับเหนือธรรมชาติในเทวาลัยและบูชารูปเคารพ ข้าพเจ้าคงจะนิยามพวกเขาด้วยคำพูดของดาวิดว่า“โปรดนำข้าพเจ้าออกจากจากกลุ่มชนที่ไม่บริสุทธิ์และชั่วร้ายด้วยเถิดพระเจ้าข้า”พวกพราหมณ์เป็นนักโกหกและขี้โกงจนเข้ากระดูกดำ พวกเขาศึกษาเรียนรู้อย่างเดียวคือจะทำอย่างไรจึงจะโกงคนยากจนได้ พวกเขาประกาศกับชาวบ้านว่าพระเจ้าต้องการทรัพย์สินเพื่อสร้างวิหารใหม่ ซึ่งจริง ๆแล้วก็เป็นเงินที่พวกพราหมณ์เองต้องการ หรือเป็นสิ่งของที่ครอบครัวของพราหมณ์ต้องการดังนั้นเขาจึงหลอกลวงชาวบ้านที่น่าสงสารว่า รูปเคารพเหล่านั้นสามารถกินและดื่มได้หรือตื่นและหลับได้เหมือนกับมนุษย์สามัญ ชาวบ้านน่าสงสารที่เคร่งครัดมาก ๆจึงต้องถวายบูชาให้เทพวันละ 2 รอบ คือก่อนอาหารเย็นและก่อนอาหารค่ำเป็นเงินจำนวนหนึ่ง


พวกพราหมณ์จะกินเลี้ยงและดื่มไปพร้อมกับเสียงกลองเพื่อให้พวกชาวบ้านเชื่อว่าเทพเจ้ากำลังเสวยอยู่ด้วยและหากใครไม่ยอมถวายทรัพย์สินที่ต้องการพวกเขาก็จะอ้างว่าจะเป็นการทำให้เทพเจ้าพิโรธ และส่งภัยพิบัติต่าง ๆ นานามาให้ทั้งโรคระบาด ผีร้ายต่าง ๆ ชาวบ้านที่น่าสงสารก็จะเชื่อฟังอย่างไม่ยั้งคิดพวกพราหมณ์ไม่พอใจที่ข้าพเจ้ารู้ทันและพยายามส่งของขวัญต่าง ๆ มาติดสินบนแต่ข้าพเจ้าก็ส่งคืนทั้งหมด ในที่สุดพวกเขาก็สารภาพว่าเขาเชื่อว่ามีพระเจ้าหนึ่งเดียวเช่นกัน และสวดภาวนาให้กับข้าพเจ้าด้วยแต่ข้าพเจ้าตอบปฏิเสธไปว่า ข้าพเจ้ามาเพื่อประกาศยกเลิกการนับถือศาสนาที่เท็จเทียมหากพวกเขาจะอยู่ในหนทางที่หันหลังให้กับศาสนาพราหมณ์แล้วข้าพเจ้าก็คงยินดีสวมกอดพวกเขาด้วยศาสนาของพระเยซูคริสต์ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่กับพวกพราหมณ์ ข้าพเจ้าไม่สามารถกลับใจใครได้เลยนอกจากชายหนุ่มเพียงคนเดียว


วันหนึ่งข้าพเจ้าเดินผ่านเทวาลัยฮินดูซึ่งในนั้นมีพราหมณ์อยู่กว่า 200 คน พวกเขาพร้อมใจกันออกมาพบข้าพเจ้าและได้สนทนากันกว่าชั่วโมง หลังจากข้าพเจ้าถามพวกเขากลับไปว่าพระเจ้าของเขาบัญญัติอะไรบ้างเพื่อจะได้รับชีวิตที่มีความสุขพวกเขาถกเถียงกันและส่งคนหนึ่งมาตอบข้าพเจ้า เป็นพราหมณ์ชราที่ดูมีประสบการณ์มีอายุกว่า80 ปี เขากลับย้อนถามข้าพเจ้าว่า “แล้วพระเจ้าของพวกคริสเตียนกำหนดอะไรไว้บ้าง”ข้าพเจ้าสังเกตพฤติกรรมของเขาและนิ่งอยู่ไม่ยอมตอบจนกว่าเขาจะตอบคำถามแรกของข้าพเจ้าก่อนในที่สุดเขาก็สังเกตได้ว่าข้าพเจ้าจงใจที่จะไม่ตอบก่อน จึงกล่าวว่าเทพเจ้าของพวกเขามีบัญญัติ 2 ประการเท่านั้นที่จะช่วยให้ชีวิตได้รับความสุขสมบูรณ์ข้อแรกคือห้ามฆ่าโค เพราะว่าในรูปของโค พระเป็นเจ้าจะได้รับการเคารพคำตอบนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องลดความโกรธลง กลายเป็นความเศร้าใจสังเวชเพราะนี่คือความมุ่งหมายของปีศาจที่ดลใจให้พวกเขาเคารพบูชาพวกมันด้วยหัวใจที่มืดบอดแทนที่จะนมัสการพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้


ข้อที่สองคือต้องแสดงความกรุณาต่อเหล่าพราหมณ์ซึ่งเป็นนักบวช เมื่อรับฟังแล้วดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้พวกเขาฟังบ้าง โดยเริ่มจากการประกาศบทข้าพเจ้าเชื่อฯด้วยเสียงอันดัง และบอกพวกเขาว่า สวรรค์เป็นอย่างไร นรกเป็นอย่างไรหลังจากพวกเขาฟังถ้อยคำเหล่านี้แล้ว ก็กรูกันมาสวมกอดข้าพเจ้าและประกาศว่าพระเจ้าของชาวคริสต์คือพระเจ้าเที่ยงแท้ และกฎของพระองค์ก็มีเหตุผลสมบูรณ์พวกเขาถามต่อไปอีกว่า วิญญาณของมนุษย์นั้นเหมือนกับวิญญาณของสัตว์ ที่ต้องสูญสลายไปพร้อมกับร่างกายหรือไม่ในข้อนี้ต้องขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ที่ช่วยประทานพระญาณสอดส่องลงมาให้ข้าพเจ้าจึงได้ตอบพวกเขาไปอย่างสมบูรณ์ข้าพเจ้าสามารถกล่าวพิสูจน์ความเป็นอมตะของวิญญาณได้พวกเขายังถามข้าพเจ้าวิญญาณออกจากร่างกายได้อย่างไรหลังความตาย และเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในความฝันด้วยหรือเปล่า


    สุดท้าย พวกเขาถามข้าพเจ้าว่า พระเป็นเจ้ามีสีผิวอะไรเพราะเขาเห็นว่ามนุษย์มีผิวกายหลายสีและด้วยเหตุที่ชาวอินเดียมีผิวสีดำจึงคิดว่าพระเป็นเจ้าควรต้องมีผิวกายสีดำ และเป็นสีดำอย่างยิ่งด้วยนอกจากนั้นรูปเคารพเหล่านี้ยังถูกทาด้วยน้ำมันจนเป็นมันลื่น ส่งกลิ่นประหลาด ๆ นั่นทำให้ดูยิ่งน่าเกลียดขึ้นไปอีกจากที่โดยปกติก็น่าเกลียดอยู่แล้วข้าพเจ้าสามารถตอบคำถามพวกเขาด้วยเรื่องราวทางศาสนาได้ทั้งหมดจนกระทั่งเป็นที่พอใจแล้ว ก็มาถึงจุดประสงค์ของการแพร่ธรรม คือขอให้พวกเขายอมรับพระคริสต์ศาสนาแต่ทว่าพวกเขากลับลังเลและพูดกันว่าหากเปลี่ยนศาสนาแล้วพวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างไรและใครจะมาหาเลี้ยงพวกเขาได้”


“แม้ว่าคนในแถบนี้จะไม่มีความรู้ไม่รู้หนังสือ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ข้าพเจ้าได้พบพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งที่มีการศึกษาดีเขาบอกว่าได้รับการศึกษามาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงของอินเดียด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงอยากจะสอนศาสนาเขาโดยลำพังในที่สุดเขาก็ยอมบอกความลับทางศาสนาของเขา ซึ่งข้าพเจ้ารับรองว่าจะไม่บอกกับใครข้อหนึ่งในหลายข้อก็คือ ในที่สุดแล้วมีพระเป็นเจ้าเที่ยงแท้แค่องค์เดียวเป็นพระผู้สร้างฟ้าและแผ่นดิน เป็นผู้ที่เรามนุษย์สมควรจะกราบสักการะเขาบอกว่ารูปเคารพต่าง ๆ นั้นแท้จริงเป็นรูปจำลองของปีศาจพวกพราหมณ์มีตำรับตำราต่าง ๆ ที่บรรจุคำสอนของพระเจ้าเที่ยงแท้ไว้แต่เวลาเรียนนั้นต้องใช้ระบบมุขปาฐะคือถ่ายทอดปากต่อปากก็เหมือนกับที่เราเรียนในภาษาลาติน เขาได้อธิบายข้อความเชื่อต่าง ๆของเขากับข้าพเจ้าโดยลำพัง


เขาย้ำอีกว่า ในวันสำคัญทางศาสนาของพราหมณ์พวกเขาจะไปชุมนุมกันสวดซ้ำ ๆ ว่า “โอ้พระเจ้า ข้าพเจ้าอ้อนวอนพระองค์ตลอดนิรันดร”พวกเขาปฏิญาณว่าจะต้องสวดซ้ำ ๆ เช่นนี้ด้วยเสียงต่ำ เขายังอธิบายว่า ด้วยกฎของธรรมชาติพวกพราหมณ์สามารถมีภรรยาได้หลายคน และในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ยังเสริมว่า ในอนาคตจะมีวันที่มนุษย์ทั่วทั้งโลกจะนับถือศาสนาเดียวกัน เมื่ออธิบายจบเขาก็ขอให้ข้าพเจ้าช่วยอธิบายข้อความเชื่อในศาสนาคริสตังและสัญญาว่าจะเก็บไว้เป็นความลับ แต่ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าจะไม่สอนสักคำเดียวถ้าท่านไม่สัญญาว่าจะเผยแพร่พระคริสต์ธรรมออกไป หลักธรรมของศาสนาคริสตังก็คือ“ผู้ที่เชื่อและได้รับศีลล้างบาปก็จะรอด”ด้วยพระวาจานี้และด้วยคำอธิบายของข้าพเจ้า ก็เป็นการสรุปบทข้าพเจ้าเชื่อฯทั้งครบชายหนุ่มรีบจดบันทึกไว้อย่างระมัดระวัง รวมทั้งเรื่องของบัญญัติสิบประการด้วย


ในที่สุดเขาก็เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเขาได้ฝันว่าตัวเขาเองกลายเป็นชาวคริสต์ด้วยความยินดีอย่างล้นเหลือและกลายเป็นพี่น้องร่วมงานกับข้าพเจ้า เขาขอให้ข้าพเจ้าล้างบาปเขาอย่างลับ ๆแต่ด้วยการกระทำเช่นนี้ย่อมขัดกับความชอบธรรมและไม่ถูกต้องข้าพเจ้าจึงมิได้ล้างบาปให้เขา แต่มั่นใจว่าด้วยพระเมตตาของพระเป็นเจ้าวันหนึ่งเขาจะกลายเป็นชาวคริสต์ที่ดีข้าพเจ้าจึงย้ำให้เขาออกไปประกาศแก่คนไม่รู้หนังสือทั้งหลายว่ามีพระเจ้าเที่ยงแท้แต่องค์เดียว ผู้ทรงสร้างสวรรค์และแผ่นดิน แต่เขากลับขอร้องข้าพเจ้าว่าเขาจำเป็นต้องยึดมั่นในคำสัญญาที่ให้ไว้กับอาจารย์เพราะหากเขาประกาศความลับนี้ออกไป เขาอาจถูกวิญญาณชั่วร้ายเข้าสิงได้”


ข้าพเจ้าคงไม่มีอะไรจะเล่าให้ท่านฟังนอกจากความชื่นชมยินดีอย่างล้นเหลือที่พระเป็นเจ้าประทานให้ผู้รับใช้ของพระองค์ผู้ทำงานในสวนองุ่นที่ป่าเถื่อน และในที่แห่งเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าเชื่ออย่างมั่นคงว่าหากจะมีความจริงและความสุขแท้สถิตอยู่ที่ใด ก็ต้องเป็นดินแดนแห่งนี้เป็นแม่นมั่น ข้าพเจ้ามักจะได้ยินคำพูดของบรรดามิชชันนารีที่ทำงานของพระเจ้าบางคน เขามักจะร้องออกมาว่า

“ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนพระองค์อย่าประทานความสุขในโลกนี้แก่ข้าพเจ้ามากมายนักหรืออย่างน้อย เพราะพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์โปรดกรุณานำข้าพเจ้าไปยังดินแดนบรมสุขเถิด”เพราะใครก็ตามที่ได้ลิ้มรสความหวานซึ้งในจิตวิญญาณของตนก็ไม่คิดว่าการมีชีวิตยืนยาวโดยมิได้เห็นพระพักตร์ของพระองค์นั้นจำเป็นอีกต่อไป”


นี่คือการปลอบโยนจิตใจของข้าพเจ้าพี่น้องที่รัก ข้าพเจ้าระลึกถึงท่านทั้งหลายแล้วก็คิดถึงตัวเองในอดีตข้าพเจ้าเสียเวลาอันมีค่าไปอย่างไร้ประโยชน์ และเกิดผลทางจิตวิญญาณน้อยเหลือเกินแม้จะได้เห็นตัวอย่างชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์และได้สนทนาธรรมเกี่ยวกับความรู้ด้านเทววิทยากับท่านอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณคำภาวนาของท่าน พระเป็นเจ้าประทานพระหรรษทานให้ข้าพเจ้าผ่านทางท่านที่ได้ตั้งใจดูแลและวิงวอนเพื่อข้าพเจ้าพระองค์ทรงเผยให้เห็นบาปอันนับไม่ถ้วนที่ข้าพเจ้าได้กระทำ และทรงประทานพละกำลังให้ข้าพเจ้าปลูกฝังความเชื่อลงในวิญญาณของคนนอกศาสนา

ขอขอบพระคุณพระเป็นเจ้าตลอดนิรันดร และขอบคุณสำหรับความกรุณาของท่านด้วยพระพรมากมายที่ข้าพเจ้าได้รับมาในปัจจุบันนั้น ข้าพเจ้าต้องขอบพระคุณพระเป็นเจ้าโดยเฉพาะเมื่อได้ทราบข่าวว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงรับรองคณะของเราแล้วข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ว่าในขณะนี้พระองค์ทรงมีผู้แทนอย่างเป็นทางการแล้ว

ตอนนี้ข้าพเจ้าต้องจบจดหมายแล้วข้าพเจ้าอ้อนวอนต่อพระเจ้าทรงผู้รวมเราเข้าในทางแห่งชีวิตแล้วก็ได้ทรงแยกเราออกไปเสียห่างกันเพื่องานในพระศาสนาของพระคริสต์ และในที่สุดขอโปรดทรงรวมเราเข้าอีกครั้งเข้าอาศัยในบ้านบรมสุขแท้ที่ซึ่งพระองค์จะประทานพระหรรษทาน ให้เรามั่นคงในการสวดภาวนาร่วมกันกับผู้อื่นโดยเฉพาะกับบรรดาวิญญาณของทารกที่ข้าพเจ้าได้โปรดศีลล้างบาปและร่วมกับเด็กๆผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงเรียกจากโลกนี้ไปอาศัยในบ้านแท้ของพระองค์ในสวรรค์ก่อนจะพ้นวัยไร้เดียงสา ข้าพเจ้าคิดว่าผู้คนเหล่านี้มีมากกว่า 1,000 คนข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนพวกเขาอย่างไม่หยุดหย่อนขอให้พวกเขาเสนอวิงวอนพระเป็นเจ้าให้นำชีวิตที่เหลือของเรา (หรือในอีกแง่หนึ่งคือชีวิตในห้วงเวลาเนรเทศนี้) ขอพระองค์โปรดชี้นำให้เราเข้าใจพระประสงค์และทำงานของพระองค์ให้สำเร็จไปอย่างบริบูรณ์ด้วยเถิด


ฟรังซิส

จากเมืองโคชิน 31 ธันวาคม 1543



[1]การอ่านพระวรสารที่กล่าวถึงนี้หมายถึงบทแรกของพระวรสารนักบุญยอห์น ที่ใช้อ่านในตอนจบมิสซา (ยอห์น 1-14)เป็นธรรมเนียมที่จะอ่านบทนี้ต่อหน้าคนป่วย โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการรับเอากาย อีกธรรมเนียมที่คล้ายๆกันคือให้ใครคนใดคนหนึ่งถือบทคัดลอกพระวรสารตอนนี้ขับร้องบทลูกแกะพระเจ้า หรือใส่สายจำพวก






Create Date : 08 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 6 มิถุนายน 2561 17:39:05 น.
Counter : 1041 Pageviews.

0 comment
นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ในหมู่บ้านชาวประมง (1)



หลังจากฟรังซิสไปถึงเมืองกัวแล้ว ก็ได้รับคำแนะนำให้ออกไปดูแลกลุ่มคริสตชนชาวปารวาส ที่เป็นชาวประมงงมหอยมุกในชายฝั่งโคโมรินในอินเดียใต้ ชาวปารวาสยากจนมาก จนชาวโปรตุเกสเองก็ไม่ลงไปตั้งถิ่นฐานแถบนั้น ท่านออกไปสอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาปให้ผู้คนกว่า 30 หมู่บ้าน



ฟรังซิสในหมู่ชาวประมงปารวาส

ภารกิจ ของฟรังซิสไม่ได้จำกัดตามพวกโปรตุเกสที่อาศัยอยู่แค่ในเมืองกัวเท่านั้นแต่ยังกระจายออกไปถึงชาวพื้นเมืองอินเดียในแหลมทางใต้สุดด้วยโดยไปทางตะวันออกเรื่อย ๆ จากแหลมโคโมรินไปจนถึงตรงข้ามเกาะที่นักประวัติศาสตร์รุ่นโบราณเรียกว่า Rammanakoyel 

คนพื้นเมืองที่นี่คือพวก ปารวาส เป็นคนวรรณะต่ำ ยากจน มีอาชีพหลักคือทำประมงและเก็บหอยมุก ซึ่งไข่มุกในดินแดนแถบนี้ได้ชื่อว่ามีคุณภาพสูงรองจากไข่มุกจากบาเรห์นทีเดียว พวกเขามีสภาพชีวิตไม่ดีนักและไม่สามารถป้องกันตัวเองจากบรรดาเจ้านายที่กดขี่ได้ เมื่อชาวโปรตุเกสเข้ามายังอินเดียนั้น พวกปารวาสอยู่ใต้ปกครองของพวกมุสลิม แต่พวกเขาก็มีเจ้านายปกครองตัวเองเป็นหุ่นเชิด เพื่อที่จะได้เก็บภาษีไข่มุกไปบรรณาการเจ้าผู้ปกครองอีกต่อหนึ่ง อย่างไรก็ตามด้วยสถานะที่ไม่มั่นคงเช่นนี้ ทำให้ชาวโปรตุเกสเข้าไปมีอิทธิพลได้ง่ายและมีการเผยแผ่ศาสนาตามมา ชาวโปรตุเกสเริ่มเข้ามายึดครองแหล่งงมหอยมุกนี้

ตั้งแต่ปี 1525โดยขับไล่มุสลิมออกจากเมืองกัลยาปัฏ

นัม 



(บน) แหลมกัลยากุมารี ปลายสุดของอินเดีย 

เป็นแหล่งงมไข่มุก 

(ที่มา : en.wikipedia.org/wiki/Pearl_Fishery)


ที่ Tuticorin เมืองกลางชายฝั่ง ชาวมุสลิมคนหนึ่งได้ตัดหูของชาวปารวาส ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการดูหมิ่นดูแคลนอย่างหนักจนชาวปารวาสทนไม่ได้ จึงฆ่าเขาเสีย เกิดการต่อสู้กันจนชาวปารวาสล้มตายไปหลายคน พวกเขาจึงจับอาวุธขึ้นสู้ และรวมกำลังจากหมู่บ้านต่าง ๆ จัดการสังหารหมู่ชาวมุสลิมเสีย แต่ชาวปารวาสนั้นอ่อนแอกว่า ไม่ชอบสงครามรักสงบและแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก แม้ว่าพวกเขาจะมีกษัตริย์ แต่สุดท้ายก็ถูกข่มขู่กลับจากบรรดาชาวมุสลิมที่มีกำลังกองเรือมากกว่า

และด้วยคำแนะนำของอัศวินคริสเตียนชาวพื้นเมืองชั้นสูงคนหนึ่ง ที่เคยเดินทางไปโปรตุเกสและได้รับความโปรดปรานจากกษัตริย์พวกเขาจึงร้องขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพโปรตุเกสที่เมืองโคชิน และส่งบรรดาขุนนางของเขาไปที่นั่นเรื่องนี้พิจารณากันในหมู่ชาวโปรตุเกสว่าน่าจะเป็นผลดีในการประกาศพระวรสารของพระคริสต์ท่ามกลางพวกเขาทั้งพวกเขาก็จะไม่ถูกข่มเหงอีกต่อไปรวมทั้งเป็นโอกาสที่จะให้คนพื้นเมืองละทิ้งความเชื่องมงายด้วย

นอกจากนี้พวกโปรตุเกสยังเห็นเป็นข้อดีในการยืมมือชาวพื้นเมืองกำจัดชาวมุสลิมออกไป และหลังจากกำจัดมุสลิมไปได้แล้วโปรตุเกสก็จะได้รับไข่มุกจำนวนมากเป็นค่าปฏิกรณ์สงคราม กองทัพโปรตุเกสที่เมืองโคชินยอมช่วยเหลือชาวปารวาสโดยมีข้อแม้ว่าพวกเขาจะต้องยอมรับนับถือศาสนาคริสต์ บรรดาขุนนางที่เป็นทูตไปยังโคชินต่างยอมรับข้อเสนอของโปรตุเกสและยอมรับศีลล้างบาป[1]และรับปากว่าบรรดาเพื่อนร่วมชาติของตนก็จะรับศีลล้างบาปด้วยพวกโปรตุเกสจึงไปขับไล่มุสลิมออกจากชายฝั่ง และคืนดินแดนให้พวกปารวาสมีการส่งพระสงฆ์บางรูปไปดูแลพวกเขาด้วย 

หัวหน้าของคณะมิชชันนารีชื่อ Miguel Vaz เป็นตัวแทนของพระสังฆราชแห่งกัว ด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวปารวาสทั้งหมดจึงเข้ารับศีลล้างบาปในปี1532 เป็นเวลา 10 ปี ก่อนการมาถึงของฟรังซิสเซเวียร์แต่งานแพร่ธรรมก็ไม่ได้เจริญก้าวหน้าต่อไป ฟรังซิสได้ยินเรื่องปารวาสมาจากมิเกลวาส ผู้แนะนำให้ท่านเดินทางไปดูแลชุมชนคริสตชนแห่งนี้ พวกเขาไม่มีพระสงฆ์และไม่ได้รับการอบรมใดๆหลังจากการล้างบาปครั้งแรกฟรังซิสพบว่าพวกเขาไม่มีความรู้อะไรเลย ยกเว้นว่าพวกเขาเป็นชาวคริสต์ดังนั้นท่านจึงเดินทางออกจากกัวในฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกับที่ท่านมาถึงอินเดีย เพื่อมาดูแลชาวปารวาส

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ปล. ความขัดแย้งระหว่างชาวปารวาสกับชาวอาหรับเกิดขึ้นในปี 1532 ชาวปารวาสจึงขอความช่วยเหลือไปยังโปรตุเกส ในปี 1535 พวกโปรตุเกสยกทัพมาช่วย โดยมี Pedro vaz  เป็นแม่ทัพ และขับไล่ชาวอาหรับออกไป เพื่อเป็นการตอบแทน ชาวปารวาสต้องหันมานับถือศาสนาคริสต์ ชาวโปรตุเกสเห็นความสำคัญของไข่มุกจึงเข้าควบคุมพื้นที่นี้อย่างจริงจัง

ชาวปารวาสคนแรกที่รับศีลล้างบาปที่โคชินชื่อ Avho ตอนนั้นอายุ 70 ปีแล้ว พวกชาวมุสลิมที่รู้ข่าวนี้ส่งเงินสินบนไปให้โปรตุเกสที่โคชินเพื่อจะซื้อเขาแต่บรรดาพนักงานเห็นแก่วิญญาณของชาวปารวาสมากกว่าและหลังจากที่โปรตุเกสจัดการสังหารชาวมุสิลมไปกว่า 20,000 คนแล้ว ชาวบ้านปารวาสทั้งหมดก็รับศีลล้างบาป


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



(บน) หมู่บ้านชาวประมงของชาวปารวาส ที่ตุติโคริน ในศตวรรษที่ 17 (หลังฟรังซิส 200 ปี)

(ที่มา : en.wikipedia.org)


จดหมายถึงคุณพ่ออิกญาซีโอ

เจ้าคณะเยสุอิตที่กรุงโรม

ขอพระหรรษทานและความเมตตาของ   

พระคริสต์ เจ้าช่วยเหลือเราตลอดไปอาแมน


"ข้าพเจ้าเขียนมาจากเมืองกัวเพื่อเล่าเรื่องราวการเดินทางของข้าพเจ้าที่แหลมโคโมริน

ข้าพเจ้าออกเดินทางกับนักศึกษาพื้นเมืองหลายคนจากกัวเขาเหล่านี้รับการอบรมเรียบร้อยดีตั้งแต่เป็นเด็กเกี่ยวกับจารีตพิธีกรรมและตอนนี้ก็ได้รับศีลน้อยแล้วพวกเราตรงไปยังหมู่บ้านที่เพิ่งจะรับศีลล้างบาปไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนแถบนั้นกันดารและยากจนมากเกินกว่าพวกโปรตุเกสจะยอมไปอาศัยอยู่พวกเขาไม่มีพระสงฆ์อยู่ด้วยเลยพวกเขารู้แค่ว่าเป็นชาวคริสต์และไม่รู้อะไรมากกว่านี้ 


ไม่มีใครทำมิสซาให้พวกเขาไม่มีใคร  สอนคำสอน ไม่มีบทข้าแต่พระบิดา วันทามารีอา หรือบัญญัติสิบประการข้าพเจ้าต้องทำงานหนักมากที่สุดตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ ข้าพเจ้าออกเดินไปทั่วหมู่บ้านและล้างบาปเด็กๆที่ยังไม่ได้ล้างบาป ผู้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามือไหนซ้ายหรือขวาพวกหนุ่มๆก็ไม่ยอมให้ข้าพเจ้าหยุดพัก กิน หรือนอนจนกว่าข้าพเจ้าจะสอนให้เขาสวดภาวนา ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจเป็นครั้งแรกว่า“พระอาณาจักรสวรรค์ก็เป็นเช่นนี้”


ข้าพเจ้าเริ่มสอนให้พวกเขารู้จักพระตรีเอกภาพและเริ่มสอนสัญลักษณ์ของอัครสาวก บทข้าแต่พระบิดา วันทามารีอาแล้วข้าพเจ้าก็ได้พบบางคนที่มีสติปัญญาสูงส่งในพวกเขาและถ้าได้รับการขัดเกลาที่ถูกต้อง พวกเขาก็คงจะเป็นคริสเตียนที่ยอดเยี่ยมทีเดียว

วันหนึ่งข้าพเจ้าเดินไปบนถนนไปยังหมู่บ้านของคนต่างศาสนาที่ไม่มีใครอยากกลับใจเป็นคริสเตียนแม้ว่าหมู่บ้านข้าง ๆ จะกลับใจแล้วก็ตาม พวกเขาบอกว่าพระเจ้าในเขตบ้านของพวกเขาสั่งห้ามไม่ให้เขากลับใจ ที่นั่นมีผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์เธอเจ็บท้องจะคลอดบุตรมา 3 วันแล้ว แต่คลอดไม่ได้ พวกชาวบ้านสวดมนต์อ้อนวอนแต่คำอ้อนวอนของพวกเขาไม่ไปถึงพระเป็นเจ้า เพราะพวกเทพเจ้าทั้งหลายล้วนมาจากปีศาจ

ข้าพเจ้าไปถึงที่นั่นพร้อมผู้ช่วยคนหนึ่งและได้ร้องเรียกพระนามพระเป็นเจ้าโดยลืมไปว่าอยู่ในดินแดนของคนแปลกหน้าข้าพเจ้าคิดถึงพระวาจาที่ว่า “แผ่นดินเป็นของพระเจ้าและสิ่งสร้างทั้งปวงในแผ่นดินเต็มเปี่ยมด้วยพระเมตตาของพระเจ้า”ข้าพเจ้าพยายามจะแปลบทนี้ เพื่อจะอธิบายเธอให้เข้าใจถึงศาสนาของเราและด้วยพระเมตตาของพระ หญิงนั้นเข้าใจคำพูดของเราในที่สุดข้าพเจ้าถามเธอว่าอยากจะเป็นคริสเตียนไหม เธอตอบสนองด้วยความยินดีว่าเธอปรารถนาจะเป็นคริสเตียน

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวพระวรสารต่อเธอนี่คงเป็นครั้งแรกที่พระวาจาของพระคริสต์จะได้ยินกันในดินแดนนี้ แล้วก็ได้โปรดศีลล้างบาปเธอ โดยไม่ต้องเล่าให้ยืดยาวทันใดนั้นเธอผู้ฝากความหวังเอาไว้ในพระคริสตเยซูเต็มเปี่ยมแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาหลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ล้างบาปให้สามีของเธอลูก ๆ ของเธอและทารกน้อยคนนั้นในวันที่เขาเกิดพอดี รวมทั้งครอบครัวทั้งหมดด้วย 

ทั้งครอบครัวเป็นผลจากข่าวดีของพระเป็นเจ้าข้าพเจ้าไปพบผู้นำชุมชนและอวยพรเขาในพระนามพระเยซู และแนะนำให้รู้จักศาสนาคริสต์แต่พวกเขากล่าวว่าเขาไม่อาจละทิ้งศาสนาของบรรพชนได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้านาย

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไปพบเจ้านายของพวกเขา เมื่อเขาฟังข้าพเจ้าเล่าถึงศาสนาคริสตังแล้วเขาก็กล่าวว่าเป็นการดีถ้าจะนับถือคริสต์ศาสนาและยินดีที่จะละทิ้งสิ่งที่เขารักมาสู่อ้อมกอดของพระเยซูคริสต์แต่แม้ว่าเขาจะยอมให้คนอื่นๆนับถือ ตัวเขาเองกลับไม่ยอม อย่างไรก็ตามชาวบ้านเกือบทั้งหมดก็มีศรัทธาขึ้นมาได้มีผู้คนจากทุกชนชั้นและทุกช่วงอายุ มารับศีลล้างบาป เมื่องานที่นี่จบลงแล้วข้าพเจ้าไปที่เมืองตุติโคริน ชาวบ้านที่นั่นต้อนรับข้าพเจ้าดีมากเราหวังว่าจะทำงานเก็บเกี่ยววิญญาณในพื้นที่แถบนี้ได้มากมาย

ท่านข้าหลวงประหลาดใจมากที่ได้ทราบว่ามีผู้คนจำนวนมากยอมกลับใจหลังจากที่ได้ช่วยพวกเขาขับไล่มุสลิมศัตรูเก่า ทั้งหมดเป็นชาวประมงตามชายฝั่งทำอาชีพหาปลาและงมหอยมุก พวกมุสลิมมักจะรังควานชาวบ้านอยู่เสมอๆ เมื่อท่านข้าหลวงทราบความก็ได้จัดการอย่างเด็ดขาดมีคนล้มตายมากมายและได้ยึดเรือของพวกเขาท่านคืนเรือให้กับชาวบ้านและมอบเรือของพวกมุสลิมให้กับคนยากจน เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณาท่านเองก็ได้รับประสบการณ์ของการเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าจากชัยชนะครั้งนี้ 

ชาวมุสลิมถูกปราบอย่างราบคาบ พวกเจ้านายถูกจองจำ ชาวปารวาสที่เข้ารีตต่างรักท่านข้าหลวงเหมือนบิดาข้าพเจ้ายากที่จะอธิบายว่าท่านมีบุญคุณเพียงใดในการปลูกสวนองุ่นใหม่ให้ข้าพเจ้าดูแลและนี้ก็ถือเป็นฤทธิ์กุศลอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์ศาสนาของเราท่านคิดจะรวบรวมคริสตชนพื้นเมืองที่กระจัดกระจายในที่ห่างไกลมาไว้บนเกาะเดียวกันและให้พวกเขามีกษัตริย์เพื่อที่จะจัดการความยุติธรรมและคอยดูแลความปลอดภัยต่างๆ

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าถ้าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงล่วงรู้กิจการเหล่านี้ ท่านจะชื่นชมยินดีและโปรดปรานท่านข้าหลวงเพียงใดและคงจะประทานสมณสาส์นออกมาขอบใจท่านเป็นแน่แท้ ท่านเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องและขอบคุณในฐานะที่เป็นผู้นำคริสตชนและคอยห่วงใยการดูแลฝูงแกะของพระคริสต์มีแกะเพียงไม่กี่ตัวที่ถูกทำลายโดยหมาป่านอกรีต ข้าพเจ้าคิดว่าท่านน่าจะเขียนจดหมายไปหาท่านข้าหลวงด้วยตัวเองท่านคงจะยินดีมากที่ได้รับจดหมายจากท่านโลโญลา และโปรดกรุณาสวดภาวนาให้ท่านด้วยเพื่อความรอดจะได้มาถึงท่านในที่สุด

สำหรับข้าพเจ้าเองด้วยความดีอันหาที่สุดมิได้ของพระเป็นเจ้า และด้วยความศักดิ์สิทธิ์และคำภาวนาของเหล่าชาวคณะข้าพเจ้าหัวงว่าเราจะได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ในชีวิตนี้ก็คงเป็นในชีวิตหน้าเพื่อเราจะได้มีชีวิตร่วมกันในความสุขนิรันดร


บุตรของท่านในพระคริสต์

ฟรังซิส

Tuticorin (ฤดูใบไม้ผลิปี 1543)


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ กิจการสงครามของข้าหลวงโปรตุเกสแห่งเมืองกัว คือ Martin Alfonso de Sousa ครั้งนี้เป็นที่พอใจของชาวปารวาสมาก แต่เราไม่ทราบวันเวลาที่แท้จริง น่าจะประมาณปี 1542 เป็นปีเดียวกับที่ฟรังซิสไปเยือนชาวปารวาส ท่านข้าหลวงและกองทัพเดินทางไปที่ Batecala เมืองในเขตของ Canara ห่างจากกัวไป 25 ลีก พระราชินีของเมืองนี้ปฏิเสธจะจ่ายบรรณาการและสนับสนุนพวกโจรสลัด โปรตุเกสจึงยึดเมืองได้แต่ก็ทะเลาะกันเอง จึงพลาดท่าเสียทีแก่ศัตรู จนต้องถอยทัพออกมา ต่อมาท่านข้าหลวงจึงจัดการแก้แค้นโดยให้เผาเมืองและทำลายดินแดนนี้ มีบันทึกว่า “ทั้งเมืองเต็มไปด้วยเลือดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทุกเพศ และทุกวัย ก่อนจะถูกเผาป่าไม้ทั้งหมดถูกตัดทำลายลง (Faria y Sousa, t. ii. p. i. ch. xi.). หลังจากนั้นในปี 1543 หรือ 1544 ท่านข้าหลวงเดินเรือไปยังมะละบาร์และชายฝั่งทะเลที่ทำประมงโดยเรือ 45 ลำโดยมีจุดประสงค์จะทำลายเทวาลัยอันร่ำรวยในอาณาจักรพิษณคฤห์ (Bisnaghur) ที่อยู่ไม่ห่างจาก Meliapor มีชื่อว่า วัด Tremele กล่าวกันว่าการรบในครั้งนี้เป็นพระราชบัญชาจากกษัตริย์โปรตุเกสโดยตรงเพื่อแก้แค้นแทนการบุกรุกดินแดนที่เป็นพันธมิตรกับพระองค์ มีความเป็นไปได้ว่าเพราะความร่ำรวยของวัดแห่งนี้ ทำให้ข้าหลวงโปรตุเกสต้องการทำสงคราม แต่ต่อมาโปรตุเกสเปลี่ยนแผนไปโจมตีเทวาลัยแห่งอื่นแทน คือวัดที่ Tebelicate ใกล้กับ Celecoulan ซึ่งอยู่ในเขตแดนของอาณาจักร Travancore เงินที่ได้จากการปล้นวัดนี้ถูกส่งไปยังโปรตุเกส เป็นไปได้ว่าการเดินทัพของข้าหลวงในครั้งนี้ จะเป็นการถือโอกาสจัดการกับชาวมุสลิมที่รังควานชาวปารวาสของนักบุญฟรังซิสด้วยแต่ก็ไม่ได้สำคัญพอจนมีการบันทึกเอาไว้ในเอกสารประจำปีของโปรตุเกส




Create Date : 27 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 23:46:38 น.
Counter : 782 Pageviews.

0 comment
จดหมายน.ฟรังซิสเกี่ยวกับวิทยาลัยและกิจการแพร่ธรรมในกัว





นักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโญลา ผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต เพื่อนของนักบุญฟรังซิส
(ที่มา : //www.jesuit.org.uk/)


จดหมายของฟรังซิส เซเวียร์
ถึงคุณพ่ออธิการอิกญาซีโอแห่งโลโยลา

ขอพระหรรษทานและความรักของพระคริสตเจ้าสถิตกับท่าน


       โดยพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า บางคนที่นี่ได้ตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งกัวขึ้น มีงานที่จะต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันและเราก็ต้องขอบพระคุณพระเจ้าอีกในการสร้างบ้านอบรมได้สำเร็จ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะกลับใจคนต่างศาสนาได้มากทีเดียว อาคารของวิทยาลัยอยู่ในมือของมนุษย์ที่มีคุณธรรมดีและมีฐานะสูงส่ง คือท่านข้าหลวงผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ และหวังกันว่าจะช่วยยังพระศาสนาให้เจริญได้ 


ข้าพเจ้าหวังว่าด้วยความปรารถนาดีและเงินทุนของท่าน[1]วิทยาลัยจะเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็ว เรามีวัดอยู่ใกล้ๆกับวิทยาลัยด้วย เป็นอาคารที่ออกแบบได้อย่างงดงามลงตัว แม้ว่าจะลงรากฐานไว้ตั้งแต่นานมาแล้ว ตอนนี้ผนังก็เสร็จเรียบร้อย เรากำลังสร้างหลังคากันอยู่ และน่าจะเปิดเสกได้ในฤดูร้อนหน้า ถ้าท่านอยากทราบขนาดของมัน มันมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของโบสถ์ในมหาวิทยาลัยซอร์บอร์นแห่งปารีส เงินสนับสนุนวิทยาลัยที่ได้รับมามีเพียงพอที่จะเลี้ยงดูนักศึกษาได้กว่าร้อยคนอย่างสบาย ๆ ชาวบ้านคิดว่าจำนวนนักศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้นมาก ๆ ในอนาคต


ข้าพเจ้าหวังในความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้า ว่าในอีกไม่กี่ปีนักศึกษาจากที่นี่ จะออกไปแพร่ธรรมในบ้านเกิดของตนเอง และสร้างพระศาสนจักรให้แพร่ขยายขึ้น จากที่เริ่มต้นมานี้ ข้าพเจ้าหวังว่าในระยะเวลาอีก 6 ปี เราจะมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 300 คน มาจากทุกเชื้อชาติภาษา และจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขา ศาสนาคริสต์จะเติบโตอย่างกว้างขวาง


ท่านข้าหลวงสัญญาว่า หากพวกคนต่างศาสนามีเวลาว่างให้สักเล็กน้อย(เพราะท่านกำลังทำสงครามกับพวกเขาอยู่)ท่านจะเร่งโครงการก่อสร้างให้เสร็จในเร็วพลันท่านกล่าวว่าไม่มีงานใดในอินเดียที่จะสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เท่านี้แล้ว เป็นการอุทิศบ้านให้กับพระคริสต์และท่านเชื่อว่าด้วยกุศลจากกิจการนี้ จะช่วยให้ท่านมีชัยเหนือพวกนอกรีตได้ ท่านยังเชื่อในความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าที่จะได้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก


ดังนั้น ข้าพเจ้าวอนขอท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในพระนามพระคริสตเยซู พระเจ้าของเราและโดยพระศาสนาเที่ยงแท้ของพระองค์ โปรดอุทิศคำภาวนาให้กับท่านข้าหลวง Don Martin Sousa และภาวนาเพื่อสมาคมของเราด้วย ขอพระเจ้าโปรดสนับสนุนกิจการของท่านและให้ความช่วยเหลือท่านให้การปกครองประเทศอินเดียเพื่อท่านจะได้ผ่านโลกอนิจจังนี้ไปได้ และไม่สูญเสียอะไรไปเลยในชีวิตนิรันดร




Don Martin Sousa 

ข้าหลวงโปรตุเกสแห่งกัว (1542-1545)

(ที่มา : https://pt.wikipedia.org/wiki/Martim_Afonso_de_Sousa)


และจริงแท้แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าด้วยคุณธรรมความดีของท่านข้าหลวง ทำให้ท่านปฏิบัติกับข้าพเจ้าอย่างรักใคร่ข้าพเจ้าจึงไม่อาจรักท่านได้น้อยกว่าที่ท่านรักข้าพเจ้าเพราะหน้าที่ของเราทั้งคู่ก็เหมือนกัน คือเพื่อพระเกียรติมงคลของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าจะไม่ลืมบุญคุณของท่านข้าหลวงเลย หรือหากข้าพเจ้าจะลืมท่านไป ข้าพเจ้าคงจะต้องได้รับโทษอาญาอันสาสมจากพระเป็นเจ้าในฐานที่ไม่รู้คุณคน ท่านข้าหลวงยังเขียนจดหมายไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับวิทยาลัยด้วย และถ้ากิจการลุล่วงไปได้ด้วยดี พระเจ้าอยู่หัวคงจะกราบทูลไปยังพระสันตะปาปาให้ส่งพวกเราในคณะเยซูอิตมายังอินเดีย เพื่อเป็นกำลังสำคัญสำหรับวิทยาลัยต่อไป


บางคนเรียกวิทยาลัยใหม่นี้ว่า “วิทยาลัยนักบุญเปาโลกลับใจ” แต่บางคนก็เรียกวิทยาลัยนี้ว่า ซานตาเฟ (ความเชื่อศักดิ์สิทธิ์) ชื่อหลังถูกใจข้าพเจ้ามากกว่า และนักเรียนจากวิทยาลัยนี้ก็คงจะเป็นผู้เพาะปลูกความเชื่อเช่นนั้น ลงในจิตใจของผู้ที่ไม่เชื่อ



วิทยาลัยเซนต์ปอลที่เมืองกัว ปัจจุบันเหลือเพียงประตู เพราะมีการย้าย

สถานที่ออกไปภายหลัง

(ที่มา : //www.telegraphindia.com/)


ดังนั้นจุดประสงค์หลักของวิทยาลัยคือการนำเด็กชายชาวพื้นเมืองจากนานาชาติ ที่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้มีสมรรถภาพและได้รับการอบรมแล้ว จะถูกส่งกลับไปบ้านเมืองของตน ข้าพเจ้าไม่รู้จะสรรหาคำขอบคุณประการใดสำหรับบุญคุณของท่านข้าหลวงที่มีต่อคณะของเรา ท่านประสงค์ให้ท่านโลโญลารับรู้ทางจดหมาย ว่าจำเป็นจะต้องมีการอบรมเยาวชนในอินเดียเพื่อท่านจะได้ตระเตรียมนักบวชที่จะส่งมาทำงานของคณะเรา 


ท่านข้าหลวงรับปากเป็นธุระในการสร้างวิทยาลัยจนสำเร็จและท่านโลโยลาจะต้องเป็นผู้จัดการให้มีครูสำหรับเยาวชนทั้งหลาย เพื่อเกียรติของพระศาสนาและความรุ่งเรืองในประเทศนี้ และสมเด็จพระสันตะปาปาจะได้ทรงกำหนดให้มีพระคุณการุณย์สำหรับการสวดภาวนาเพื่อวิญญาณในไฟชำระทุกครั้ง ที่มีการถวายมิสซาบนพระแท่นในโบสถ์แห่งนี้ เช่นเดียวกับที่ได้กระทำในโรม ท่านข้าหลวงปรารถนาจะให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่แสวงบุญและได้รับพระคุณการุณย์ท่านเองก็กระตือรือร้นรอคอยการอนุญาตจากสันตะสำนักอยู่ เพื่อประโยชน์ของวิญญาณมนุษย์จำนวนมาก


 จากข้อตั้งใจเช่นนี้ท่านคงจะได้เห็นจิตใจที่ศรัทธาอย่างยิ่งยวดของท่านข้าหลวงแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอร้องท่านแทนท่านข้าหลวงว่า โปรดส่งพระสงฆ์สัก 3 รูปและครูสอนวิชามนุษยศาสตร์สักคนมาที่นี่ ท่านข้าหลวงยังได้เขียนจดหมายไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว (ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจไม่ผิด) ให้ในหลวงทรงกราบทูลสมเด็จพระสันตะปาปาให้ส่งชาวคณะเรามา 4 คนและโปรดให้ขอพระคุณการุณย์ (Indulgence) สำหรับวัดของเราในอินเดียมาด้วย ซึ่งจะฝากเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้มากับบรรดาบราเดอร์ของเราที่กำลังจะมา


ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับปลูกฝังความจริงอันเป็นนิรันดร์สำหรับวิญญาณชาวโปรตุเกสทั้งปวงในอินเดีย สำหรับพณฯท่านข้าหลวง ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงจะได้เขียนจดหมายไปหาท่านโลโยลาด้วยตัวเองแม้ว่าท่านจะไม่เคยพบเจอท่านเลยก็ตาม แต่ท่านก็ตั้งใจจะทำงานอุทิศให้ท่านเช่นเดียวกัน ได้โปรดกรุณาสวดภาวนาให้พณฯท่าน และส่งสายประคำที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเสกให้ท่านสักสองสายเป็นของขวัญสำหรับท่านข้าหลวงและภริยาด้วย ทั้งพระคุณการุณย์ที่ได้รับผ่านสายประคำและในฐานะที่เป็นของขวัญจากท่าน คงจะสร้างความปลาบปลื้มแก่ท่านมิใช่น้อย 

               ตอนนี้ข้าพเจ้าต้องขอจบจดหมายแล้ว ขอพระคริสตเจ้าผู้ทรงความเมตตาหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณารวมเราไว้ใต้กฏแห่งชีวิตเดียวกัน เพื่อที่จะได้รับความยินดีที่จะรวมกันอีกครั้งหลังความตายในความชื่นชมยินดีนิรันดร


จากบุตรชายที่เล็กน้อยที่สุดของท่าน และจากที่ห่างไกลที่สุด


Francis. Goa, Oct. 18, 1543.


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กราบเรียน


คุณพ่ออธิการอิกญาซีโอแห่งโลโญลา

ขอพระหรรษทานและความรักของพระคริสตเยซูสถิตกับท่านและอวยพรท่านเสมออา แมน

            ข้าหลวงแห่งอินเดียผู้ซึ่งเราทั้งหมดทั้งที่อยู่ที่นี่และอยู่ที่โรมเป็นหนี้บุญคุณ  ท่านรักคณะของเราและร้อนรนที่จะช่วยเหลืองานต่าง ๆ ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนจดหมายมาถึงท่านเกี่ยวกับงานทางด้านจิตวิญญาณในประเทศทางตะวันออกเหล่านี้ คำขอของท่านเป็นประโยชน์ต่อฤทธิ์กุศลและคุณธรรม ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอกล่าวกับท่านในนามของท่านข้าหลวง


         ในที่แรกนั้น ชาวอินเดียให้ความเคารพนักบุญโทมัสอัครสาวกมาก ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของอินเดียท่านข้าหลวงเองก็ได้สนับสนุนกิจการศรัทธานี้ และส่งเสริมการเทอดเกียรติท่านนักบุญเสมอ ๆ ท่านหวังว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะประทานพระคุณการุณย์พิเศษแก่ผู้ที่ไปแก้บาปรับศีลในวันฉลองนักบุญโทมัสและอีก 7 วันหลังจากนั้นด้วย ท่านรับรองว่าหากได้มีกิจการเสริมศรัทธาเช่นนั้น ก็จะเป็นการเชิญชวนให้ชาวโปรตุเกสทุกคน (ทุกคนที่นี่เป็นทหาร) ให้ไปร่วมพิธีกรรมและรับศีลศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น



นักบุญโทมัส อัครสาวก ที่เชื่อกันว่ามาแพร่ธรรมที่อินเดีย

           ชาวอินเดียยังเป็นใหญ่ในแผ่นดินลึกแต่ชาวโปรตุเกสเป็นเจ้าทะเล ในอินเดียนี้ เทศกาลมหาพรตตกไปอยู่ในฤดูร้อน และช่วงเวลาของมหาพรตส่วนมากมักจะหมดไปกับกิจการทางทหารและการสำรวจทะเลทหารโปรตุเกสเกือบทั้งหมดแทบจะไม่มีเวลามาเข้าร่วมรับศีลศักดิ์สิทธิ์ และพลีกรรมในเทศกาลมหาพรตเลย ดังนั้น ท่านข้าหลวงจึงมีความคิดที่จะขอรับพระคุณการุณย์จากสมเด็จพระสันตะปาปาสำหรับผู้มาร่วมพิธีในเทศกาลมหาพรต


             ในลำดับต่อไปท่านได้ขอร้องให้ท่านกรุณาติดต่อสันตะสำนักสำหรับกิจการเกี่ยวกับโรงพยาบาลในเมืองนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลเป็นที่แจกจ่ายพระคุณการุณย์แก่คนป่วยด้วย หากคนป่วยเหล่านั้นแก้บาปรับศีล และขณะที่พวกเขาใกล้ตายก็ขอให้ได้รับพระพรเช่นกัน ท่านข้าหลวงเชื่อว่า พระพรเหล่านั้นจะช่วยให้คนไข้มารับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งคนที่ป่วยไข้และสบายดีย่อมสักการะพระเป็นเจ้าเช่นกัน และเพื่อจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนต่างศาสนาที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองนี้ด้วย

              อีกครั้งหนึ่งท่านข้าหลวงมีศรัทธาเป็นพิเศษต่อพระมารดามารีย์ท่านจัดการเทอดเกียรติแม่พระเป็นอันมากในอินเดียและอยากให้มีงานฉลองพิเศษสำหรับแม่พระ ในเมืองกัวนี้ ภายในรัศมี 10 ไมล์ก็มีวัดที่ใช้ชื่อแม่พระจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นวัดที่มีคนศรัทธามากและร่ำรวย ดังจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรมอาคารที่หรูหราสวยงาม เต็มไปด้วยของตกแต่งและภาชนะศักดิ์สิทธิ์มากมายมีพระสงฆ์จำนวนมาก และมีการฉลองสักการบ่อยครั้งด้วย แต่ละวัดก็จะจัดการฉลองผลัดเปลี่ยนกันไปเพื่อเทอดเกียรติพระมารดามารีย์

ท่านข้าหลวงมีความประสงค์จะเพิ่มพูนความศรัทธาให้มากยิ่งขึ้นอีก ท่านได้ขอร้องให้มีพระคุณการุณย์พิเศษสำหรับผู้ที่ไปแก้บาปรับศีลในวัดเหล่านี้ โดยเฉพาะในอินเดียที่ต้องการพระพรของพระเจ้ามากกว่าประเทศคริสตังอื่น ๆ เพราะจำนวนประชากรชาวคริสต์กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวโปรตุเกสที่นี่เองก็มีมหาศาลทั้งชาวอินเดียที่กลับใจก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวนพระสงฆ์กลับมีน้อยอย่างน่าประหลาดใจจนไม่พอที่จะฟังสารภาพบาปได้หมดในเทศกาลมหาพรต 

ท่านข้าหลวงมีคำสั่งว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่จะต้องแก้บาปและรับศีล ท่านจึงขอร้องสันตะสำนักผ่านทางท่านให้ภาวนาเป็นพิเศษสำหรับอินเดียด้วยเพื่อพวกเราจะได้รับความสุขนิรันดร


   ในเมืองนี้และในเมืองท่าต่าง ๆ ที่มีคริสเตียนอยู่ เรามีคณะภราดาของผู้ตั้งใจดีที่จะทำงานอุทิศตัวเพื่อคนจนและชาวพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ดั้งเดิมหรือคนต่างศาสนาที่กลับใจ เรียกว่าคณะภราดาแห่งเมตตาธรรม ทั้งหมดเป็นชาวโปรตุเกส ความร้อนรนมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะช่วยเหลือคนยากจนช่างน่าอัศจรรย์ใจ 

ดังนั้นท่านข้าหลวงจึงวิงวอนสันตะสำนักผ่านทางท่าน สำหรับพระคุณการุณย์ปีละครั้งหลังจากแก้บาปรับศีล และในเวลาใกล้จะตายสำหรับพวกเขา พวกเขาทั้งหมดแต่งงานแล้วดังนั้นท่านข้าหลวงจึงขอพระคุณเหล่านี้ให้ภรรยาของเหล่าภราดาด้วย

     ชาวโปรตุเกสมิได้เป็นเจ้ามหาสมุทรอินเดียเท่านั้นแต่ยังปกครองดินแดนและชายฝั่งต่าง ๆ ที่ ๆ พวกเขาตั้งครอบครัวมีลูกเมีย บางแห่งก็อยู่ห่างไกลมากๆ จากกัวก็มีโมลุคกะ ซึ่งห่างออกไป 1000 ลีคที่นั่นพระราชาแห่งโปรตุเกสตั้งเมืองป้อม และมีชุมชนคริสเตียนขนาดใหญ่ และห่างจากกัวไป 500 ลีค ก็มีเมืองออมุส Ormuz เมืองสำคัญที่เคยถูกโปรตุเกสยึดครอง, 400 ลีคไปยัง Diu และ 300 ลีคไปยังโมซัมบิค และ 900 ลีคไปยัง Sofala เมืองเหล่านี้ต่างมีผู้แทนพระสังฆราชแห่งกัวประจำอยู่ทั้งสิ้น 


ซึ่งจากระยะทางไกลเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านสังฆราชจะไปเยี่ยมเยียนด้วยตัวเองท่านข้าหลวงรับรู้ถึงความจำเป็นของการยืนยันความเชื่อและการรับศีลกำลังสำหรับชาวคริสต์ที่อาศัยท่ามกลางพวกป่าเถื่อน และมักจะเกิดความขัดแย้งกับชนต่างศาสนา ท่านได้ขอร้องไปยังพระสันตะปาปาให้บรรดาตัวแทนพระสังฆราชแห่งกัวในดินแดนต่าง ๆ เหล่านั้น มีอำนาจที่จะโปรดศีลกำลังแทนพระสังฆราชที่ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนดินแดนในเขตปกครองของท่านได้ทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว


   ในประเทศนี้อากาศแปรปรวนมาก ที่ชายฝั่งด้านหนึ่งเป็นฤดูร้อน ขณะที่อีกฝั่งเป็นฤดูหนาวขณะที่บางคนต้องผจญกับอากาศหนาว เรากำลังถูกแดดแผดเผา และความร้อนก็ร้อนจนไม่น่าเชื่อดวงอาทิตย์ร้อนจัดมากจนปลาแทบจะเน่าทั้ง ๆ ที่พึ่งจะตาย ดังนั้นในฤดูร้อนเช่นนี้เมื่อทะเลด้านหนึ่งกำลังถูกสำรวจ อีกฝั่งหนึ่งก็แทบจะปิดตายไปเลย อากาศร้อนทำให้ทุกคนกลัวที่จะออกเรือ และดังที่ข้าพเจ้าเคยเล่าไปแล้ว ในเทศกาลมหาพรต ทหารในกองทัพก็จะลงเรือไปพิชิตทะเลต่าง ๆ บรรดาพ่อค้าเองก็ทำเช่นนั้นด้วย สำหรับชาวโปรตุเกส การเป็นเจ้าทะเลสำคัญกว่าการพิชิตดินแดนมันเกี่ยวพันกับการค้าที่มาจุนเจือครอบครัวด้วย

 พวกโปรตุเกสประพฤติดังนี้ทำให้เทศกาลมหาพรตแทบจะไม่มีคนมาวัดและถูกละเลย ไม่มีใครอดอาหารกันเลย ท่านข้าหลวงบอกให้ข้าพเจ้าเขียนมาถึงท่านดังนี้ด้วยว่าหากเป็นไปได้ ขอให้ท่านช่วยกราบทูลอ้อนวอนพระสันตะปาปาให้เลื่อนเวลาของเทศกาลมหาพรตของดินแดนตะวันออก ให้อยู่ในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมจะได้หรือไม่ เพราะในช่วงนั้นอากาศคลายความร้อนลงแล้ว การสำรวจก็น้อยลง เพราะทะเลเริ่มแปรปรวนและอากาศที่อบอุ่นก็ทำให้ชาวบ้านอดอาหารได้ง่ายขึ้นพวกเขาก็จะได้ประพฤติตามกฎของพระศาสนจักรได้ง่ายกว่า ทั้งการแก้บาปรับศีล

         ขอให้ท่านได้รับรางวัลสำหรับความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในกิจการที่กระทำสำหรับประเทศเหล่านี้ และท่านจะได้รับส่วนแบ่งแห่งผลของพระหรรษทานและฤทธิ์กุศลของพระเป็นเจ้า


ป.ล. เมื่อข้าพเจ้าออกจากลิสบอนข้าพเจ้าได้เขียนถึงท่านเกี่ยวกับวิทยาลัยของคณะที่ในหลวงจะทรงให้ตั้งขึ้นที่ Coimbra[2] เป็นมหาวิทยาลัยเปิด พระองค์ให้ข้าพเจ้าให้เขียนมาหาท่านเพื่อจะได้รู้ว่า พระองค์ดำริจะช่วยเหลือในการก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน เพราะในโปรตุเกสขาดแคลนคนที่เหมาะสมจะออกไปอบรมคนต่างศาสนาในดินแดนห่างไกล แต่ข้าพเจ้าเองบัดนี้ก็อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ด้วยพระเมตตาของพระคริสต์โปรดให้ข้าพเจ้ารับรู้เถิดว่าท่านได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง


ลูกที่รักของท่านในพระคริสต์

ฟรังซิส

Goa, Oct. 20, 1543.



[1] เงินบริจาคของวิทยาลัยในกัวในขั้นแรกได้มา 800 เหรียญคราวน์ เชื่อกันว่ามาจากการเก็บภาษีจากพวกนักบวชต่างศาสนา

[2] วิทยาลัยแห่งนี้ตั้งขึ้นโดยความตั้งใจของอิกญาซิโอเพื่อสนับสนุนการแพร่ธรรมในอินเดีย




Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 0:54:41 น.
Counter : 813 Pageviews.

0 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments