จดหมายน.ฟรังซิสเกี่ยวกับวิทยาลัยและกิจการแพร่ธรรมในกัว





นักบุญอิกญาซีโอ แห่งโลโญลา ผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต เพื่อนของนักบุญฟรังซิส
(ที่มา : //www.jesuit.org.uk/)


จดหมายของฟรังซิส เซเวียร์
ถึงคุณพ่ออธิการอิกญาซีโอแห่งโลโยลา

ขอพระหรรษทานและความรักของพระคริสตเจ้าสถิตกับท่าน


       โดยพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้า บางคนที่นี่ได้ตั้งวิทยาลัยสงฆ์แห่งกัวขึ้น มีงานที่จะต้องทำมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันและเราก็ต้องขอบพระคุณพระเจ้าอีกในการสร้างบ้านอบรมได้สำเร็จ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงจะกลับใจคนต่างศาสนาได้มากทีเดียว อาคารของวิทยาลัยอยู่ในมือของมนุษย์ที่มีคุณธรรมดีและมีฐานะสูงส่ง คือท่านข้าหลวงผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างยิ่งใหญ่ และหวังกันว่าจะช่วยยังพระศาสนาให้เจริญได้ 


ข้าพเจ้าหวังว่าด้วยความปรารถนาดีและเงินทุนของท่าน[1]วิทยาลัยจะเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็ว เรามีวัดอยู่ใกล้ๆกับวิทยาลัยด้วย เป็นอาคารที่ออกแบบได้อย่างงดงามลงตัว แม้ว่าจะลงรากฐานไว้ตั้งแต่นานมาแล้ว ตอนนี้ผนังก็เสร็จเรียบร้อย เรากำลังสร้างหลังคากันอยู่ และน่าจะเปิดเสกได้ในฤดูร้อนหน้า ถ้าท่านอยากทราบขนาดของมัน มันมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของโบสถ์ในมหาวิทยาลัยซอร์บอร์นแห่งปารีส เงินสนับสนุนวิทยาลัยที่ได้รับมามีเพียงพอที่จะเลี้ยงดูนักศึกษาได้กว่าร้อยคนอย่างสบาย ๆ ชาวบ้านคิดว่าจำนวนนักศึกษาจะต้องเพิ่มขึ้นมาก ๆ ในอนาคต


ข้าพเจ้าหวังในความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้า ว่าในอีกไม่กี่ปีนักศึกษาจากที่นี่ จะออกไปแพร่ธรรมในบ้านเกิดของตนเอง และสร้างพระศาสนจักรให้แพร่ขยายขึ้น จากที่เริ่มต้นมานี้ ข้าพเจ้าหวังว่าในระยะเวลาอีก 6 ปี เราจะมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 300 คน มาจากทุกเชื้อชาติภาษา และจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขา ศาสนาคริสต์จะเติบโตอย่างกว้างขวาง


ท่านข้าหลวงสัญญาว่า หากพวกคนต่างศาสนามีเวลาว่างให้สักเล็กน้อย(เพราะท่านกำลังทำสงครามกับพวกเขาอยู่)ท่านจะเร่งโครงการก่อสร้างให้เสร็จในเร็วพลันท่านกล่าวว่าไม่มีงานใดในอินเดียที่จะสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เท่านี้แล้ว เป็นการอุทิศบ้านให้กับพระคริสต์และท่านเชื่อว่าด้วยกุศลจากกิจการนี้ จะช่วยให้ท่านมีชัยเหนือพวกนอกรีตได้ ท่านยังเชื่อในความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าที่จะได้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก


ดังนั้น ข้าพเจ้าวอนขอท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในพระนามพระคริสตเยซู พระเจ้าของเราและโดยพระศาสนาเที่ยงแท้ของพระองค์ โปรดอุทิศคำภาวนาให้กับท่านข้าหลวง Don Martin Sousa และภาวนาเพื่อสมาคมของเราด้วย ขอพระเจ้าโปรดสนับสนุนกิจการของท่านและให้ความช่วยเหลือท่านให้การปกครองประเทศอินเดียเพื่อท่านจะได้ผ่านโลกอนิจจังนี้ไปได้ และไม่สูญเสียอะไรไปเลยในชีวิตนิรันดร




Don Martin Sousa 

ข้าหลวงโปรตุเกสแห่งกัว (1542-1545)

(ที่มา : https://pt.wikipedia.org/wiki/Martim_Afonso_de_Sousa)


และจริงแท้แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าด้วยคุณธรรมความดีของท่านข้าหลวง ทำให้ท่านปฏิบัติกับข้าพเจ้าอย่างรักใคร่ข้าพเจ้าจึงไม่อาจรักท่านได้น้อยกว่าที่ท่านรักข้าพเจ้าเพราะหน้าที่ของเราทั้งคู่ก็เหมือนกัน คือเพื่อพระเกียรติมงคลของพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าจะไม่ลืมบุญคุณของท่านข้าหลวงเลย หรือหากข้าพเจ้าจะลืมท่านไป ข้าพเจ้าคงจะต้องได้รับโทษอาญาอันสาสมจากพระเป็นเจ้าในฐานที่ไม่รู้คุณคน ท่านข้าหลวงยังเขียนจดหมายไปกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับวิทยาลัยด้วย และถ้ากิจการลุล่วงไปได้ด้วยดี พระเจ้าอยู่หัวคงจะกราบทูลไปยังพระสันตะปาปาให้ส่งพวกเราในคณะเยซูอิตมายังอินเดีย เพื่อเป็นกำลังสำคัญสำหรับวิทยาลัยต่อไป


บางคนเรียกวิทยาลัยใหม่นี้ว่า “วิทยาลัยนักบุญเปาโลกลับใจ” แต่บางคนก็เรียกวิทยาลัยนี้ว่า ซานตาเฟ (ความเชื่อศักดิ์สิทธิ์) ชื่อหลังถูกใจข้าพเจ้ามากกว่า และนักเรียนจากวิทยาลัยนี้ก็คงจะเป็นผู้เพาะปลูกความเชื่อเช่นนั้น ลงในจิตใจของผู้ที่ไม่เชื่อ



วิทยาลัยเซนต์ปอลที่เมืองกัว ปัจจุบันเหลือเพียงประตู เพราะมีการย้าย

สถานที่ออกไปภายหลัง

(ที่มา : //www.telegraphindia.com/)


ดังนั้นจุดประสงค์หลักของวิทยาลัยคือการนำเด็กชายชาวพื้นเมืองจากนานาชาติ ที่นับถือศาสนาคริสต์ ผู้มีสมรรถภาพและได้รับการอบรมแล้ว จะถูกส่งกลับไปบ้านเมืองของตน ข้าพเจ้าไม่รู้จะสรรหาคำขอบคุณประการใดสำหรับบุญคุณของท่านข้าหลวงที่มีต่อคณะของเรา ท่านประสงค์ให้ท่านโลโญลารับรู้ทางจดหมาย ว่าจำเป็นจะต้องมีการอบรมเยาวชนในอินเดียเพื่อท่านจะได้ตระเตรียมนักบวชที่จะส่งมาทำงานของคณะเรา 


ท่านข้าหลวงรับปากเป็นธุระในการสร้างวิทยาลัยจนสำเร็จและท่านโลโยลาจะต้องเป็นผู้จัดการให้มีครูสำหรับเยาวชนทั้งหลาย เพื่อเกียรติของพระศาสนาและความรุ่งเรืองในประเทศนี้ และสมเด็จพระสันตะปาปาจะได้ทรงกำหนดให้มีพระคุณการุณย์สำหรับการสวดภาวนาเพื่อวิญญาณในไฟชำระทุกครั้ง ที่มีการถวายมิสซาบนพระแท่นในโบสถ์แห่งนี้ เช่นเดียวกับที่ได้กระทำในโรม ท่านข้าหลวงปรารถนาจะให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่แสวงบุญและได้รับพระคุณการุณย์ท่านเองก็กระตือรือร้นรอคอยการอนุญาตจากสันตะสำนักอยู่ เพื่อประโยชน์ของวิญญาณมนุษย์จำนวนมาก


 จากข้อตั้งใจเช่นนี้ท่านคงจะได้เห็นจิตใจที่ศรัทธาอย่างยิ่งยวดของท่านข้าหลวงแล้ว ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอร้องท่านแทนท่านข้าหลวงว่า โปรดส่งพระสงฆ์สัก 3 รูปและครูสอนวิชามนุษยศาสตร์สักคนมาที่นี่ ท่านข้าหลวงยังได้เขียนจดหมายไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว (ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจไม่ผิด) ให้ในหลวงทรงกราบทูลสมเด็จพระสันตะปาปาให้ส่งชาวคณะเรามา 4 คนและโปรดให้ขอพระคุณการุณย์ (Indulgence) สำหรับวัดของเราในอินเดียมาด้วย ซึ่งจะฝากเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้มากับบรรดาบราเดอร์ของเราที่กำลังจะมา


ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับปลูกฝังความจริงอันเป็นนิรันดร์สำหรับวิญญาณชาวโปรตุเกสทั้งปวงในอินเดีย สำหรับพณฯท่านข้าหลวง ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคงจะได้เขียนจดหมายไปหาท่านโลโยลาด้วยตัวเองแม้ว่าท่านจะไม่เคยพบเจอท่านเลยก็ตาม แต่ท่านก็ตั้งใจจะทำงานอุทิศให้ท่านเช่นเดียวกัน ได้โปรดกรุณาสวดภาวนาให้พณฯท่าน และส่งสายประคำที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเสกให้ท่านสักสองสายเป็นของขวัญสำหรับท่านข้าหลวงและภริยาด้วย ทั้งพระคุณการุณย์ที่ได้รับผ่านสายประคำและในฐานะที่เป็นของขวัญจากท่าน คงจะสร้างความปลาบปลื้มแก่ท่านมิใช่น้อย 

               ตอนนี้ข้าพเจ้าต้องขอจบจดหมายแล้ว ขอพระคริสตเจ้าผู้ทรงความเมตตาหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณารวมเราไว้ใต้กฏแห่งชีวิตเดียวกัน เพื่อที่จะได้รับความยินดีที่จะรวมกันอีกครั้งหลังความตายในความชื่นชมยินดีนิรันดร


จากบุตรชายที่เล็กน้อยที่สุดของท่าน และจากที่ห่างไกลที่สุด


Francis. Goa, Oct. 18, 1543.


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กราบเรียน


คุณพ่ออธิการอิกญาซีโอแห่งโลโญลา

ขอพระหรรษทานและความรักของพระคริสตเยซูสถิตกับท่านและอวยพรท่านเสมออา แมน

            ข้าหลวงแห่งอินเดียผู้ซึ่งเราทั้งหมดทั้งที่อยู่ที่นี่และอยู่ที่โรมเป็นหนี้บุญคุณ  ท่านรักคณะของเราและร้อนรนที่จะช่วยเหลืองานต่าง ๆ ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนจดหมายมาถึงท่านเกี่ยวกับงานทางด้านจิตวิญญาณในประเทศทางตะวันออกเหล่านี้ คำขอของท่านเป็นประโยชน์ต่อฤทธิ์กุศลและคุณธรรม ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอกล่าวกับท่านในนามของท่านข้าหลวง


         ในที่แรกนั้น ชาวอินเดียให้ความเคารพนักบุญโทมัสอัครสาวกมาก ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ของอินเดียท่านข้าหลวงเองก็ได้สนับสนุนกิจการศรัทธานี้ และส่งเสริมการเทอดเกียรติท่านนักบุญเสมอ ๆ ท่านหวังว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะประทานพระคุณการุณย์พิเศษแก่ผู้ที่ไปแก้บาปรับศีลในวันฉลองนักบุญโทมัสและอีก 7 วันหลังจากนั้นด้วย ท่านรับรองว่าหากได้มีกิจการเสริมศรัทธาเช่นนั้น ก็จะเป็นการเชิญชวนให้ชาวโปรตุเกสทุกคน (ทุกคนที่นี่เป็นทหาร) ให้ไปร่วมพิธีกรรมและรับศีลศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น



นักบุญโทมัส อัครสาวก ที่เชื่อกันว่ามาแพร่ธรรมที่อินเดีย

           ชาวอินเดียยังเป็นใหญ่ในแผ่นดินลึกแต่ชาวโปรตุเกสเป็นเจ้าทะเล ในอินเดียนี้ เทศกาลมหาพรตตกไปอยู่ในฤดูร้อน และช่วงเวลาของมหาพรตส่วนมากมักจะหมดไปกับกิจการทางทหารและการสำรวจทะเลทหารโปรตุเกสเกือบทั้งหมดแทบจะไม่มีเวลามาเข้าร่วมรับศีลศักดิ์สิทธิ์ และพลีกรรมในเทศกาลมหาพรตเลย ดังนั้น ท่านข้าหลวงจึงมีความคิดที่จะขอรับพระคุณการุณย์จากสมเด็จพระสันตะปาปาสำหรับผู้มาร่วมพิธีในเทศกาลมหาพรต


             ในลำดับต่อไปท่านได้ขอร้องให้ท่านกรุณาติดต่อสันตะสำนักสำหรับกิจการเกี่ยวกับโรงพยาบาลในเมืองนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลเป็นที่แจกจ่ายพระคุณการุณย์แก่คนป่วยด้วย หากคนป่วยเหล่านั้นแก้บาปรับศีล และขณะที่พวกเขาใกล้ตายก็ขอให้ได้รับพระพรเช่นกัน ท่านข้าหลวงเชื่อว่า พระพรเหล่านั้นจะช่วยให้คนไข้มารับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งคนที่ป่วยไข้และสบายดีย่อมสักการะพระเป็นเจ้าเช่นกัน และเพื่อจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนต่างศาสนาที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองนี้ด้วย

              อีกครั้งหนึ่งท่านข้าหลวงมีศรัทธาเป็นพิเศษต่อพระมารดามารีย์ท่านจัดการเทอดเกียรติแม่พระเป็นอันมากในอินเดียและอยากให้มีงานฉลองพิเศษสำหรับแม่พระ ในเมืองกัวนี้ ภายในรัศมี 10 ไมล์ก็มีวัดที่ใช้ชื่อแม่พระจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นวัดที่มีคนศรัทธามากและร่ำรวย ดังจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรมอาคารที่หรูหราสวยงาม เต็มไปด้วยของตกแต่งและภาชนะศักดิ์สิทธิ์มากมายมีพระสงฆ์จำนวนมาก และมีการฉลองสักการบ่อยครั้งด้วย แต่ละวัดก็จะจัดการฉลองผลัดเปลี่ยนกันไปเพื่อเทอดเกียรติพระมารดามารีย์

ท่านข้าหลวงมีความประสงค์จะเพิ่มพูนความศรัทธาให้มากยิ่งขึ้นอีก ท่านได้ขอร้องให้มีพระคุณการุณย์พิเศษสำหรับผู้ที่ไปแก้บาปรับศีลในวัดเหล่านี้ โดยเฉพาะในอินเดียที่ต้องการพระพรของพระเจ้ามากกว่าประเทศคริสตังอื่น ๆ เพราะจำนวนประชากรชาวคริสต์กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ชาวโปรตุเกสที่นี่เองก็มีมหาศาลทั้งชาวอินเดียที่กลับใจก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จำนวนพระสงฆ์กลับมีน้อยอย่างน่าประหลาดใจจนไม่พอที่จะฟังสารภาพบาปได้หมดในเทศกาลมหาพรต 

ท่านข้าหลวงมีคำสั่งว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นี่จะต้องแก้บาปและรับศีล ท่านจึงขอร้องสันตะสำนักผ่านทางท่านให้ภาวนาเป็นพิเศษสำหรับอินเดียด้วยเพื่อพวกเราจะได้รับความสุขนิรันดร


   ในเมืองนี้และในเมืองท่าต่าง ๆ ที่มีคริสเตียนอยู่ เรามีคณะภราดาของผู้ตั้งใจดีที่จะทำงานอุทิศตัวเพื่อคนจนและชาวพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ดั้งเดิมหรือคนต่างศาสนาที่กลับใจ เรียกว่าคณะภราดาแห่งเมตตาธรรม ทั้งหมดเป็นชาวโปรตุเกส ความร้อนรนมุ่งมั่นของพวกเขาที่จะช่วยเหลือคนยากจนช่างน่าอัศจรรย์ใจ 

ดังนั้นท่านข้าหลวงจึงวิงวอนสันตะสำนักผ่านทางท่าน สำหรับพระคุณการุณย์ปีละครั้งหลังจากแก้บาปรับศีล และในเวลาใกล้จะตายสำหรับพวกเขา พวกเขาทั้งหมดแต่งงานแล้วดังนั้นท่านข้าหลวงจึงขอพระคุณเหล่านี้ให้ภรรยาของเหล่าภราดาด้วย

     ชาวโปรตุเกสมิได้เป็นเจ้ามหาสมุทรอินเดียเท่านั้นแต่ยังปกครองดินแดนและชายฝั่งต่าง ๆ ที่ ๆ พวกเขาตั้งครอบครัวมีลูกเมีย บางแห่งก็อยู่ห่างไกลมากๆ จากกัวก็มีโมลุคกะ ซึ่งห่างออกไป 1000 ลีคที่นั่นพระราชาแห่งโปรตุเกสตั้งเมืองป้อม และมีชุมชนคริสเตียนขนาดใหญ่ และห่างจากกัวไป 500 ลีค ก็มีเมืองออมุส Ormuz เมืองสำคัญที่เคยถูกโปรตุเกสยึดครอง, 400 ลีคไปยัง Diu และ 300 ลีคไปยังโมซัมบิค และ 900 ลีคไปยัง Sofala เมืองเหล่านี้ต่างมีผู้แทนพระสังฆราชแห่งกัวประจำอยู่ทั้งสิ้น 


ซึ่งจากระยะทางไกลเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านสังฆราชจะไปเยี่ยมเยียนด้วยตัวเองท่านข้าหลวงรับรู้ถึงความจำเป็นของการยืนยันความเชื่อและการรับศีลกำลังสำหรับชาวคริสต์ที่อาศัยท่ามกลางพวกป่าเถื่อน และมักจะเกิดความขัดแย้งกับชนต่างศาสนา ท่านได้ขอร้องไปยังพระสันตะปาปาให้บรรดาตัวแทนพระสังฆราชแห่งกัวในดินแดนต่าง ๆ เหล่านั้น มีอำนาจที่จะโปรดศีลกำลังแทนพระสังฆราชที่ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนดินแดนในเขตปกครองของท่านได้ทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว


   ในประเทศนี้อากาศแปรปรวนมาก ที่ชายฝั่งด้านหนึ่งเป็นฤดูร้อน ขณะที่อีกฝั่งเป็นฤดูหนาวขณะที่บางคนต้องผจญกับอากาศหนาว เรากำลังถูกแดดแผดเผา และความร้อนก็ร้อนจนไม่น่าเชื่อดวงอาทิตย์ร้อนจัดมากจนปลาแทบจะเน่าทั้ง ๆ ที่พึ่งจะตาย ดังนั้นในฤดูร้อนเช่นนี้เมื่อทะเลด้านหนึ่งกำลังถูกสำรวจ อีกฝั่งหนึ่งก็แทบจะปิดตายไปเลย อากาศร้อนทำให้ทุกคนกลัวที่จะออกเรือ และดังที่ข้าพเจ้าเคยเล่าไปแล้ว ในเทศกาลมหาพรต ทหารในกองทัพก็จะลงเรือไปพิชิตทะเลต่าง ๆ บรรดาพ่อค้าเองก็ทำเช่นนั้นด้วย สำหรับชาวโปรตุเกส การเป็นเจ้าทะเลสำคัญกว่าการพิชิตดินแดนมันเกี่ยวพันกับการค้าที่มาจุนเจือครอบครัวด้วย

 พวกโปรตุเกสประพฤติดังนี้ทำให้เทศกาลมหาพรตแทบจะไม่มีคนมาวัดและถูกละเลย ไม่มีใครอดอาหารกันเลย ท่านข้าหลวงบอกให้ข้าพเจ้าเขียนมาถึงท่านดังนี้ด้วยว่าหากเป็นไปได้ ขอให้ท่านช่วยกราบทูลอ้อนวอนพระสันตะปาปาให้เลื่อนเวลาของเทศกาลมหาพรตของดินแดนตะวันออก ให้อยู่ในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมจะได้หรือไม่ เพราะในช่วงนั้นอากาศคลายความร้อนลงแล้ว การสำรวจก็น้อยลง เพราะทะเลเริ่มแปรปรวนและอากาศที่อบอุ่นก็ทำให้ชาวบ้านอดอาหารได้ง่ายขึ้นพวกเขาก็จะได้ประพฤติตามกฎของพระศาสนจักรได้ง่ายกว่า ทั้งการแก้บาปรับศีล

         ขอให้ท่านได้รับรางวัลสำหรับความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในกิจการที่กระทำสำหรับประเทศเหล่านี้ และท่านจะได้รับส่วนแบ่งแห่งผลของพระหรรษทานและฤทธิ์กุศลของพระเป็นเจ้า


ป.ล. เมื่อข้าพเจ้าออกจากลิสบอนข้าพเจ้าได้เขียนถึงท่านเกี่ยวกับวิทยาลัยของคณะที่ในหลวงจะทรงให้ตั้งขึ้นที่ Coimbra[2] เป็นมหาวิทยาลัยเปิด พระองค์ให้ข้าพเจ้าให้เขียนมาหาท่านเพื่อจะได้รู้ว่า พระองค์ดำริจะช่วยเหลือในการก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน เพราะในโปรตุเกสขาดแคลนคนที่เหมาะสมจะออกไปอบรมคนต่างศาสนาในดินแดนห่างไกล แต่ข้าพเจ้าเองบัดนี้ก็อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ด้วยพระเมตตาของพระคริสต์โปรดให้ข้าพเจ้ารับรู้เถิดว่าท่านได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง


ลูกที่รักของท่านในพระคริสต์

ฟรังซิส

Goa, Oct. 20, 1543.



[1] เงินบริจาคของวิทยาลัยในกัวในขั้นแรกได้มา 800 เหรียญคราวน์ เชื่อกันว่ามาจากการเก็บภาษีจากพวกนักบวชต่างศาสนา

[2] วิทยาลัยแห่งนี้ตั้งขึ้นโดยความตั้งใจของอิกญาซิโอเพื่อสนับสนุนการแพร่ธรรมในอินเดีย




Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 0:54:41 น.
Counter : 932 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments